สตูล

ประวัติศาสตร์จังหวัดสตูล

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าในสมัยดังกล่าวยังไม่มีเมืองสตูล คงมีแต่หมู่บ้านเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบใกล้ฝั่งทะเล

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สตูลเป็นเพียงตำบลซึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองไทรบุรีชื่อตวนกูอับดุลละ โมกุมรัมซะ ถึงแก่กรรมน้องชายชื่อตนกูดีบาอุดดีน ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมือง (รายามุดา) ได้เป็นเจ้าเมืองแทน ต่อมาไม่นานนักก็ถึงแก่กรรมและไม่ปรากฏว่าตวนกูดี-มาอุดดีนมีบุตรหรือไม่ ต่อมาปรากฏว่าบุตรชายของตวนกูอับดุลละ โมกุมรัมซะ จำนวน ๑๐ คน ซึ่งต่างมารดากันได้แย่งชิงกันเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ซึ่งเป็นผู้กำกับหัวเมืองฝ่ายตะวันตก จึงได้พิจารณานำตัวตวนกูปะแงรัน และตวนกูปัศนู ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไทรบุรี (ตวนกูอับดุลละ โมกุมรัมซะ) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ กรุงเทพฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตวนกูปะแงรันซึ่งเป็นบุตรคนโตให้เป็นพระรัตนสงครามรามภักดีศรี ศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชบดินทร์ สุรินทวังษาพระยาไทรบุรี และทรงแต่งตั้งตวนกูปัศนู เป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง)
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ มีข้าศึกยกตีเมืองถลางในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ พระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) ได้ส่งกองทัพจำนวน ๒,๕๐๐ คน ไปช่วยรบกับข้าศึกที่เมืองถลาง และในปี พ.ศ. ๒๓๕๕ พระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) ได้ยกกองทัพไปตีได้เมือง แป-ระ ทำให้เมืองดังกล่าวเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงเทพฯ ด้วยความดีความชอบทั้งสองครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี
ต่อมาไม่นานนัก เจ้าพระยาไทรบุรี (ตวนกูปะแงรัน) เกิดแตกร้าวกับพระยาอภัยนุราช (ตวนกูปัศนู) ผู้เป็นรายามุดา ปรากฏข้อความในหนังสือเก่าที่เมืองนครศรีธรรมราชว่าการแตกร้าวเกิดขึ้นเพราะพระยาอภัยนุราชขอเอาที่กวาลามุดาเป็นบ้านส่วย เจ้าพระยาไทรบุรีไม่ยอมให้ที่ดังกล่าวจะให้ที่อื่นแทน พระยาอภัยนุราชไม่ยอมรับ และต่างฝ่ายก็ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพัทลุงเป็นข้าหลวงออกไปว่ากล่าวไกล่เกลี่ยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ แต่เจ้าพระยาไทรบุรีกับพระยาอภัยนุราชไม่ปรองดองกัน ในที่สุดจึงโปรดให้ย้าย พระอภัยนุราชไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองไทรบุรี และทรงตั้งตวนกูอิบราฮิมเป็นราคามุดาเมืองไทรบุรี เหตุการณ์ที่เกิดแตกร้าวจึงสงบกันไป
ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับเมืองไทรบุรีในครั้งนี้ไว้ว่า “ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวก คือพวกเจ้าพระยาไทรปะแงรัน พวก ๑ พวกพระยาอภัยนุราช พวก ๑ พวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราช ได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทย แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูล ต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อวงศ์ของพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น”
ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๓ ได้มีข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่า ข้าศึกเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองไทย และได้คิดชักชวนเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ให้เข้าเป็นพวกยกมาทำศึกอีกทางหนึ่งด้วย จึงโปรดให้มีท้องตราสั่งออกไปให้สืบสวนและให้กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา ไปตั้งต่อเรือที่เมืองสตูล เพื่อเป็นการคุมเมืองไทรบุรีไว้ด้วย
ในปีพุทธศักราช ๒๓๖๔ ตนกูม่อม ซึ่งเป็นน้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้เข้ามาฟ้องต่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เอาใจออกห่างและไป เผื่อแผ่แก่ข้าศึก จึงโปรดเกล้าให้มีตราลงไปหาตัวเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ามาเพื่อไต่ถาม เจ้าพระยาไทรบุรีได้ทราบท้องตราแล้วก็เลยตั้งแข็งเมือง ต้นไม้เงินต้นไม้ทองก็ไม่ส่งเข้าไปทูลเกล้าถวายตามกำหนด จึงโปรดให้มีตราลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราชว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เอาใจเผื่อแผ่แก่ข้าศึกเป็นแน่เลยจะละไว้ให้เมืองไทรบุรีเป็นไส้ศึกอีกทางหนึ่งไม่ได้ ให้พระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพลงไปตีเมืองไทรบุรีเอาไว้ในอำนาจเสียให้สิทธิ์ขาด
ในเวลานั้น พระยานครศรีธรรมราช ได้ต่อเรือรบเตรียมไว้ที่เมืองตรังและเมืองสตูลแล้ว เมื่อได้รับท้องตราให้ไปตีเมืองไทรบุรี จึงได้เตรียมจัดกองทัพ และทำกิติศัพท์ให้ปรากฏว่าจะยกไปตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรี และได้สั่งให้เจ้าพระยาไทรบุรีเป็นกองลำเลียงส่งเสบียงอาหาร แต่เจ้าพระยาไทรบุรีก็บิดพริ้วไม่ยอมส่งเสบียงอาหารมาให้ พระยานครศรีธรรมราชจึงได้ยกกองทัพบก กองทัพเรือพร้อมด้วยกองทัพเมืองพัทลุง และเมืองสงขลายกทางบกลงไปตีเมืองไทรบุรีพร้อมกัน ได้สู้รบกันเล็กน้อย กองทัพพระยานครศรีธรรมราช ก็ได้เมืองไทรบุรีในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ส่วนเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก (เกาะปีนัง) พระยานครศรีธรรมราชจึงให้พระยาภักดีบริรักษ์ (ชื่อ แสง เป็นบุตรของพระยานครศรีธรรมราช) เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และให้นายนุช มหาดเล็ก (เป็นบุตรอีกคนหนึ่งของพระยานครศรีธรรมราช) เป็นปลัดอยู่รักษาราชการที่เมืองไทรบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง พระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอศวรรย์ ขัณฑเสมาตยาชิตสิทธิสงครามรามภักดี พิริยะพาหะ พระยาไทรบุรี และตั้งนายนุชมหาดเล็ก เป็นพระยาเสนานุชิต ตำแหน่งปลัดเมืองไทรบุรี เมืองไทรบุรีตั้งอยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่ นั้นมา
ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๓ ตนกูเดน ซึ่งเป็นบุตรของตนกูรายา ผู้ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดากันกับเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้เที่ยวลอบเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าไปเป็นสมัครพรรคพวกได้มากแล้วก็ยกเข้าไปตีเมืองไทรบุรีได้ พระยาอภัยธิเบศร์ เจ้าเมืองไทรบุรีและคนไทยในเมืองไทรบุรีต้องถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพัทลุง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชทราบเรื่อง แล้วมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ยกลงไป ๔ กอง คือ พระยาณรงค์ฤทธิโกษา คุมลงไปกองหนึ่ง พระยาราชวังสัน กองหนึ่ง พระยาพิชัยบุรินทรา กองหนึ่ง พระยาเพชรบุรี (ชื่อ ศุข ได้เป็นเจ้าพระยายมราชในรัชกาลที่ ๔) อีกกองหนึ่ง กองทัพทั้ง ๔ กองนี้ ยกลงไปถึงเมืองสงขลาแล้วก็ได้ทราบความว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชไปยังเมืองไทรบุรีแล้ว ดังนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ทั้ง ๔ กอง จึงได้ยกไปทางบริเวณ ๗ หัวเมือง แต่กำลังไม่พอที่จะไปรักษาความสงบได้ เนื่องด้วยเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ได้ยกพวกขึ้นมาช่วยพวกบริเวณ ๗ หัวเมืองด้วย จึงได้มีใบบอกขอกำลังเพิ่มเติมจากกรุงเทพฯ อีก ได้โปรดให้เจ้าพระยาคลัง (ชื่อ ดิศ ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาราชประยูรวงค์) ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งในครั้งนั้นดำรงตำแหน่งทั้งที่สมุหพระกลาโหมและกรมท่า เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพเรือตามลงไปอีกทัพหนึ่ง
ฝ่ายเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชลงไปยังเมืองไทรบุรี ได้สู้รบกับพวกตนกูเดน และกองทัพไทยได้เข้าล้อมพวกตนกูเดนไว้ ตนกูเดนกับพวกหัวหน้าเห็นว่าจะหนีไม่พ้นแน่ก็พากันฆ่าตัวตาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้เมืองไทรบุรีกลับมาเป็นของไทยดังเดิม
ในปีพุทธศักราช ๒๓๘๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าได้เกิดความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเมืองไทรบุรีเนื่องจากตนกูมะหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) และได้หลบหนีไปเป็นสลัดอยู่ในทะเลฝ่ายตะวันตก ได้กลับยกพวกเข้ามาคบคิดกับหวันมาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าสลัดอยู่ที่เกาะยาว แขวงเมืองภูเก็ต เที่ยวชักชวนผู้คนเข้ามาเป็นพวกได้จำนวนมากขึ้นแล้ว จึงได้ยกพวกเข้ามาตีเมืองไทรบุรีอีก ในขณะนั้นพระยาอภัย-ธิเบศร์ (แสง) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีกับพระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรีเป็น บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรีอยู่และเห็นว่าจะอยู่รักษาเมืองไว้มิได้ จึงต้องถอยมาตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองพัทลุง แล้วมีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ
ในเวลานั้น ข้าราชการผู้ใหญ่ทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชและพระยาสงขลา เป็นต้น ได้เข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และช่วยงานทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อตนกูมะหะหมัดสหัสและหวันมาลีตีได้เมืองไทรบุรีแล้ว ก็มีใจกำเริบ ด้วยรู้แน่ว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทางห้วเมืองปักษ์ใต้ส่วนมากไม่อยู่จึงได้คบคิดกันยกพวกเข้าตีได้เมืองตรัง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราชได้อีกเมืองหนึ่งครั้นเมื่อได้เมืองตรังแล้ว ก็ยกพวกเข้ามาเพื่อจะตีเมืองสงขลาต่อไปแล้วแต่งคนให้ชักชวนเกลี้ยกล่อมทางบริเวณ ๗ หัวเมือง ให้กำเริบขึ้นอีก เมื่อมีข่าว เข้ามาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ผู้ว่าราชการเมืองทางปักษ์ใต้รีบกลับออกไปรักษาเมืองทันที ถึงกระนั้นก็ยังทรงพระวิตกอยู่ ด้วยคราวนี้พวกสลัดเข้ามาตีได้เมืองตรัง และยกกำลังประชิดเมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ด้วย เกรงว่าพวกบริเวณ ๗ หัวเมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองระแงะ เมืองสายบุรี เมืองรามัญ และเมืองยะลา รวมทั้งเมือง กลันตัน ตรังกานู จะกำเริบขึ้นมาอีก จึงทรงพระราชดำริให้จัดกองทัพใหญ่ยกออกไปจากกรุงเทพฯ เหมือนอย่างที่เคยโปรดให้เจ้าพระยาคลัง ออกไปเมื่อคราวก่อน เป็นแต่เปลี่ยนให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์-รัตนราชโกษา (ชื่อ ทัด เป็นน้องเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และได้เป็นเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ในรัชกาลที่ ๔) ตำแหน่งจางวางพระคลังสินค้าเป็นแม่ทัพยกไปเมืองสงขลา
ส่วนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเมื่อไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็เกณฑ์ผู้คนจากเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) ซึ่งเป็นพระยาไทรบุรี พระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรี และพระยาวิชิตสรไกร ยกลงไปตีเมืองไทรบุรีคืนจากพวกสลัดที่ยึดเมืองอยู่ เมื่อพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด) ยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองสงขลานั้น ได้ทราบว่าพระยาไทรบุรี พระเสนานุชิต และพระวิชิตสรไกร ยกกองทัพเข้าตีเมืองไทรบุรีคืนได้แล้วในปลายปี พ.ศ. ๒๓๘๑
พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา จึงได้จัดการเมืองไทรบุรีให้เป็นที่เรียบร้อยกันต่อไป และได้พิจารณาเห็นว่าพระยาไทรบุรีและพระยาเสนานุชิตเป็นคนไทย จะให้อยู่รักษาเมืองไทรบุรีต่อไปก็จะได้รับความยุ่งยาก เนื่องจากบุตรหลานของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) จะยกมารบกวนย่ำยีบ้านเมืองอีก ดังนั้น ในปี พ. ศ. ๒๓๘๒ จึงได้จัดแบ่งแยกแขวง อำเภอเมืองไทรบุรีออกเป็น ๔ เมือง คือ
๑. เมืองกุปังปาซู ตั้งให้ตนกูอาเส็น เป็นเจ้าเมือง
๒. เมืองปลิส ตั้งให้เสสอุเส็น เป็นเจ้าเมือง
๓. เมืองสตูล ตั้งให้ตนกูมัดอาเก็บ เป็นเจ้าเมือง
๔. เมืองไทรบุรี ตั้งให้ตนกูอาหนุ่ม เป็นผู้ว่าราชการเมือง
เมืองทั้ง ๔ เมืองนี้ คงให้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไปดังเดิม สำหรับเมืองสตูลซึ่งตนกูมัดอาเก็บ เป็นเจ้าเมืองนั้นปรากฏว่า ตนกูมัดอาเก็บเป็นวงศ์ญาติของเจ้าเมืองไทรบุรีคนเก่า และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กวาลามุดา แขวงเมืองไทรบุรี ตนกูมัดอาเก็บรับตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลอยู่นานถึง ๓๗ ปี ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์มหินทรายานุวัตรศรีสตูล รัฐจางวางและก็ถึงแก่กรรมในปีนั้น
ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา กล่าวถึงชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูลไว้ว่า ชื่อตนกูเดหวาได้เป็นพระยาสตูล ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจว่า ตนกูมัดอาเก็บมีชื่อเรียกกันง่ายๆว่า "ตนกูเดหวา" และที่ได้กล่าวไว้ว่าได้แบ่งเมืองไทรบุรีเป็น ๓ เมืองนั้น ถ้านับดูจำนวนแล้วก็จะเป็น ๔ เมือง รวมทั้งเมืองไทรบุรีด้วย ส่วนรายชื่อผู้ว่าราชการเมืองนั้น พงศาวดารเมืองสงขลากล่าวไว้ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ คือ สลับชื่อผู้ว่าราชการเมืองไทรบุรีเป็นยมตวัน ที่แท้คือ ตนกูอาหนุ่ม และที่ว่าตนกูอาหนุ่มเป็นพระยาปังปะสู นั้นที่จริงคือ ตนกูอาสัน เป็นเจ้าเมืองกูปังปาซู จะขอนำข้อความในพงศาวดารเมืองสงขลายกมากล่าวอ้างไว้ดังนี้ คือ
“ส่วนเมืองไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพให้พระยาไทรบุรีบุตรเจ้าพระยานคร กลับไปรักษาราชการอยู่ตามเดิม ให้ตนกูเดหวาเปนผู้ว่าราชการเมืองสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้ปลัดเมืองพัทลุงไปว่าราชการเมืองพัทลุง และยกที่พะโคะ แขวงเมืองพัทลุงให้เปนแขวงเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพจัดราชการเรียบร้อยแล้ว จึงมีหนังสือออกไปหาพระยาเพ็ชรบุรีพระสุนทรนุรักษ์ (บุญศรี) ซึ่งรักษาราชการอยู่ที่เมืองสงขลาสองปี และได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้วจึงได้ยกกองทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ นำข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เมืองไทรบุรีนั้นครั้นจะให้คนไทยเปนผู้ว่าราชการเมืองสืบต่อไป คงจะไม่เปนการเรียบร้อย ควรแบ่งเมืองไทรบุรีออกเปนสามเมืองเหมือนอย่างเมืองตานี จึงจะเปนปกติเรียบร้อยได้ขอรับพระราชทานให้ยมตวัน ซึ่งเปนพระยาไทรบุรีมาแต่ก่อนเปนพระยาไทรบุรีสืบต่อไป ให้ตนกูอานมเปนพระยาบังปะสู ให้ตนกูเสดอะเส็ม เปนพระยาปลิส ให้ตนกูเดหวาเปนพระยาสตูล แต่ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงเปนพระยาพัทลุง ส่วนพระยาพัทลุงบุตรเจ้าพระยานครนั้น ควรพาตัวเข้ามาทำราชการเสียในกรุงเทพฯ แต่เมืองพังงานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ขอรับพระราชทานให้พระยาไทรบุรี บุตรเจ้าพระยานครไปเปนพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราตั้งเจ้าเมืองแล ผู้ว่าราชการเมือง ออกมาตามความเห็นพระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพราชการบ้านเมืองก็เปนปกติ ไม่มีขบถสืบต่อมาจนทุกวันนี้”
ในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลายังได้กล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า
“ ครั้นปีมะโรง ฉศก. ศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ถึงกำหนดงวดส่งต้นไม้ทองเงิน เมืองสตูลหาส่งต้นไม้ทองเงินไม่ พระยาสงขลา (เลี้ยนเว้ง) ต้องทำต้นไม้ทองเงินแทนเมืองสตูล แล้วแต่งให้ตนกูเดหวา ทำต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ให้ตนกูเดหวาเป็นพระยาสตูล พระยาสตูล (เดหวา) กราบถวายบังคมลากลับออกมาเมืองสตูล ในปีนั้นพระยาสตูลกับพระยาปลิสวิวาทกันด้วยเรื่องเขตแดน จึงโปรดเกล้าฯ มีตราออกมาให้เมืองนครกับเมืองสงขลา พร้อมกันออกไปชำระสะสางให้เป็นที่ตกลงเรียบร้อยแก่กัน แล้วให้ปักหลักแดนไว้ให้มั่นคง อย่าให้เกิดวิวาทกันต่อไป ครั้งนั้นพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จึงได้มีใบบอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาพอยกเมืองสตูล ให้ขึ้นอยู่กับเมืองนคร เหตุด้วยเมืองสงขลาบังคับบัญชาเมืองแขก ๗ เมืองเต็มกำลังแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลอยู่กับเมืองนครตั้งแต่นั้นมา”
ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๒ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระยากะบังปะซูถึงแก่กรรม พระยาไทรบุรี เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเมืองกะบังปะซูให้รวมอยู่ในเมืองไทรบุรีตามเดิม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกะบังปาซูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นจึงมีเมืองที่มีผู้ว่าราชการเมือง ๓ เมือง คือเมืองไทรบุรี เมืองปลิส และเมืองสตูล อนึ่ง กล่าวกันว่าพระยาไทรบุรีผู้นี้เป็นผู้เข้าออกในกรุงเทพฯ เนืองๆ เหมือนกับผู้สำเร็จราชการหัวเมืองไทย โดยสารเรือกลไฟมาทางเมืองสิงคโปร์บ้าง เดินทางมาลงเรือ ณ เมืองสงขลาบ้าง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เหมือนขุนนางไทยทุกครั้ง เป็นการคุ้นเคยสนิทต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ต่อมาพระยาสตูลมีหนังสือบอกให้พระปักษาวาสะวารณินทร์ ผู้ช่วยราชการซึ่งเป็นบุตร ผู้ใหญ่คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเข้ามายังเมืองนครศรีธรรมราช มีใบบอกให้กรมการล่ามนำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย โดยพระยาสตูลมีหนังสือบอกมาว่า ทุกวันนี้พระยาสตูลชราตามืดมัวแล้วจะว่าราชการเมืองต่อไปมิได้ขอรับ พระราชทานพระปักษาวาสะวารณินทร์ว่าราชการบ้านเมืองต่อไป จึงทรงพระราชดำริว่า พระยาสตูลรักษาบ้านเมืองมามิได้มีเหตุผลเกี่ยวข้องแก่บ้านเมือง ควรจัดการให้สมควร ความปรารถนาพระยาสตูลจึงจะชอบ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระปักษา-วาสะวารณินทร์ เป็นพระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดี ศรีอินดาราวิยาหยา พระยาสตูล ให้เอาเครื่องยศพระยาสตูลคนเก่าพระราชทานแก่พระยาสตูลคนใหม่ แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มยศพระยาสตูลคนเก่าขึ้นเป็น พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัตร ศรีสกลรัฐ มหาปธานาธิการ ไพศาล-สุนทรจริต สยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูล พระราชทานเครื่องยศพานทองโปรดเกล้าฯ ให้มอบสัญญาบัตรเครื่องยศพระยาสตูลคนใหม่ออกไปพระราชทาน ณ เมืองสตูล
ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ จีนเมืองภูเก็ตกบฏฆ่าฟันไพร่บ้านพลเมือง เอาไฟเผากุฏิ วิหาร ตึกเรือนโรงกรมการ ราษฎรแตกตื่นเป็นอันมาก เจ้าหมื่นเสมอใจราช ข้าหลวงรักษาราชการเมืองภูเก็ต มีหนังสือบอกข้อราชการของกองทัพเมืองไทรบุรี เมืองปลิส เมืองสตูล มาช่วยระงับจีนขบฏเมืองภูเก็ต เจ้าพระยาไทรบุรี พระยาปลิส พระยาสตูล ให้คนคุมไพร่รีบยกไปเมืองภูเก็ตทันราชการแล้ว เจ้าพระยาไทรบุรี ได้ไปปรึกษาราชการกับข้าหลวงเมืองภูเก็ต เจ้าพระยาไทรบุรี พระยาปลิส พระยาสตูล นายทัพ นายกอง มีความชอบในราชการแผ่นดินในครั้งนั้นพระยาอภัยนุราช พระยาสตูล ได้รับพระราชทานช้างเผือกสยาม ขั้นที่ ๔ ชื่อ ภูษนาภรณ์
ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๒ เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูอามัด) ถึงแก่อสัญกรรม มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้พระมนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงเมืองตรังรับไปฟังราชการ ณ เมืองไทรบุรี พระยามนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงมีหนังสือบอกให้หลวงโกชาอิศหากถือมา ว่าราชการเมืองไทรบุรีเรียบร้อย พระยาสตูล พระยาปลิส พระอินทรวิไชย พระเกไดสวรินทร์ พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ พระเกษตรไทยสกลบุรินทร์ ตนกูอาเด ลงชื่อประทับตราปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เจ้าพระยาไทรบุรีมีบุตรชายใหญ่ ๒ คน คนหนึ่งชื่อ ตนกูไซ-นาระชิด อายุได้ ๒๒ ปี คนหนึ่งชื่อ ตนกูฮามิด อายุ ๑๖ ปี ตนกูไซนาระชิด เป็นที่ควรจะได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้าพระยาไทรบุรีต่อไป ตนกูฮามิดเป็นน้อง ควรรับราชการรองลงมา จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูไซนาระชิด เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราช-มุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี พระราชทานพานทอง ตนกูฮามิด เป็นที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา พระราชทานพานครอบทอง
ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๔ พระยาไทรบุรีไซนาระชิดถึงแก่อสัญกรรม พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ (ตนกูฮามิด) รายามุดา เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสรีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา ผดุงทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขต ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เมืองปลิส และเมืองสตูลเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลไทรบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรีมีข้อความตามกระแสพระราชดำริในการตั้งมณฑลไทรบุรี ต่อไปนี้คือ
"ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบ ทั่วกันว่า
๑. ทรงพระราชดำริเห็นว่า หัวเมืองมลายูฝ่ายตะวันตกมีอยู่ ๓ เมือง คือเมืองไทรบุรี ๑ เมืองปลิส ๑ เมืองสตูล ๑ และหัวเมืองทั้ง ๓ นี้ ควรจะจัดให้มีแบบแผนบังคับบัญชาการเป็นอย่างเดียวกัน ให้ราชการบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
๒. ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แลกรุงเทพมหานครเป็นอันมากมาเนืองนิตย์ และมีสติปัญญาอุตสาหะ จัดการเมืองไทรบุรีเจริญเรียบร้อยยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
๓. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งเจ้าพระยาไทรบุรีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการเมืองปลิส ๑ เมืองสตูล ๑ รวมทั้งเมืองไทรบุรีด้วยเป็น ๓ เมือง
๔. ให้เจ้าพระยาไทรบุรี มีอำนาจที่จะตรวจตราบังคับบัญชาผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล แลมีคำสั่งให้จัดการบ้านเมืองตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตทุกอย่าง เพื่อให้ ราชการบ้านเมืองเหล่านั้นเรียบร้อยและเจริญขึ้นและให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล ศรีตวันกรมการเมืองทั้งสองนั้นฟังบังคับบัญชา เจ้าพระยาไทรบุรีในที่ชอบด้วยราชการทุกประการ
๕. ผู้ว่าราชการเมืองปลิส และเมืองสตูลคงมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวศรีตวันกรมการไพร่บ้านพลเมืองนั้นๆ แลรับผิดชอบในราชการบ้านเมืองทุกอย่าง แต่ต้องกระทำตามบังคับแลคำสั่งของเจ้าพระยาไทรบุรี ตามบรรดาการที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น
๖. ต้นไม้เงินทองเมืองปลิส เมืองสตูลซึ่งข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเคยบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ นั้น แต่นี้ไปเมื่อถึงกำหนดให้เจ้าพระยาไทรบุรีบอกนำส่งเข้ามากรุงเทพฯ
๗. ข้อราชการบ้านเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล เคยมีใบบอกต่อข้าหลวงเทศาภิบาลฝ่ายตะวันตก เพื่อแจ้งข้อราชการหรือหารือราชการก็ดี หรือเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี แต่นี้ไปให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูลมีใบบอกไปยังเจ้าพระยาไทรบุรี เพื่อแจ้งข้อราชการหรือหารือราชการหรือเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ เหมือนเช่นนั้น แต่ในราชการบางอย่างซึ่งเคยเป็นแบบแผนเคยมีท้องตราจากกรุงเทพฯ ตรงไปตามหัวเมืองก็ดี ที่หัวเมืองเคยบอกตรงเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี ก็ให้คงเป็นไปตามแบบแผนเดิมนั้น แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าพระยาไทรบุรีทราบด้วย
แต่การที่ว่ามาในข้อนี้ ไม่เกี่ยวข้องถึงฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายร้องทุกข์หรือเพื่อจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยเฉพาะการเช่นนี้ย่อมเป็นราชประเพณีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาท แลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไป มิได้เลือกหน้าใครจะถวายก็ได้ไม่ห้ามปราม
๘. ผลประโยชน์ของผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูล เคยได้ในตำแหน่งเท่าใดให้คงได้อย่างแต่ก่อน ส่วนผลประโยชน์ ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเหล่านั้นได้เคยให้ประจำตำแหน่งศรีตวันกรมการเท่าใด ถ้าศรีตวันกรมการเหล่านั้นยังรับราชการบ้านเมืองตามสมควรแก่หน้าที่ ก็ให้คงได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเดิมและเงินผลประโยชน์ เงินภาษีอากรที่ได้ในเมืองปลิส เมืองสตูล มากน้อยเท่าใด เงินเมืองใดให้จัดจ่ายให้ราชการทำนุบำรุงในเมืองนั้น และให้มีบัญชีทั้งรายรับ และรายจ่ายแยกออกเป็นเมืองๆ อย่าให้ปะปนกัน
๙. ตำแหน่งแลเกียรติยศบรรดาศักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองปลิส เมืองสตูลและศรีตวันกรมการเมืองทั้งสองเมืองนั้น เคยมีมาประการใดก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น การที่จะเลือกสรรตั้งแต่ศรีตวันกรมการผู้ใหญ่เมืองปลิสและเมืองสตูลนั้น ตำแหน่งใดว่างลงให้เจ้าพระยาไทรบุรี ปรึกษาหารือด้วยผู้ว่าราชการเมืองนั้น เลือกสรรผู้ซึ่งสมควรแล้วมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล เมื่อทรงพระราชดำริเห็นชอบแล้วก็จะได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตามธรรมเนียม ส่วนแต่งตั้งกรมการผู้น้อยนั้น ให้ผู้ว่าราช-การเมืองปลิส เมืองสตูล หารือต่อเจ้าพระยาไทรบุรี เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรีเห็นชอบด้วยแล้วก็ตั้งได้
๑๐. เจ้าพระยาไทรบุรีต้องมีใบบอกรายงานการที่ได้จัดแลเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตแขวงเมืองปลิส และเมืองสตูล เข้ามากราบบังคมทูลเนืองๆ แลบรรดาการที่เจ้าพระยาไทรบุรีจะจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเมืองปลิส เมืองสตูล และการใดก็ให้มีใบบอกเข้ามาขอรับพระราชทานพระบรม-ราชานุญาตตามแบบแผนขนบธรรมเนียมในราชการ"
เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) จากหนังสือสัญญานี้ยังผลให้ไทรบุรีและปลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลคงเป็นของไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๓)

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้
คำว่า สตูล มาจากภาษามาลายูว่า สโตย แปลว่ากระท้อน อันเป็นต้นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่บริเวณเมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า “นครสโตยมำ-บังสการา” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “สตูล” แห่งเมืองพระสมุทรเทวา
จังหวัดสตูล แม้จะอยู่รวมกับไทรบุรีในระยะเริ่มแรกก็ตาม แต่จังหวัดสตูลก็เป็นจังหวัดที่มีดินแดนรวมอยู่ในประเทศไทยตลอดมา ระยะแรกๆ จังหวัดสตูลแบ่งการปกครองออกเป็น ๒ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอมำบัง อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอละงู ซึ่งอยู่ในการปกครองของอำเภอทุ่งหว้า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล
สำหรับอำเภอทุ่งหว้า ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือกลไฟจากต่างประเทศ ติดต่อไปมาค้าขายและรับส่งสินค้าเป็นประจำ สินค้าสำคัญของอำเภอทุ่งหว้า คือ พริกไทย เป็นที่รู้จักเรียกตามกันในหมู่ชาวต่างประเทศว่า “อำเภอสุไหงอุเป” ต่อมาเมื่อประมาณปี ๒๔๕๗ การปลูกพริกไทยของอำเภอทุ่งหว้าได้ร่วงโรยลง จึงทำให้ราษฎรในท้องที่หันมาปลูกยางพาราแทน จึงขาด สินค้าออกที่สำคัญของท้องถิ่น ชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายต่างพากันอพยพกลับไปยังต่างประเทศ ราษฎรในท้องที่ก็พากันอพยพไปหาทำเลทำมาหากินในท้องที่อื่นกันมาก โดยเฉพาะได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งกันที่กิ่งอำเภอละงูกันมากขึ้น ทำให้ท้องที่กิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทางกลับกัน ทำให้อำเภอทุ่งหว้าซบเซาลง
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการพิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้น มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าอำเภอทุ่งหว้า จึงได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอละงูเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอละงู และยุบอำเภอทุ่งหว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่ากิ่งอำเภอทุ่งหว้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอละงู ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กระทรวงมหาดไทยได้ออกพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอทุ่งหว้าขึ้นเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอทุ่งหว้า เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ท้องที่อำเภอเมืองสตูล มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่ โดยทั่วๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงประกาศแบ่งท้องที่อำเภอเมืองสตูล ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง ให้เรียกว่ากิ่งอำเภอควนกาหลง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๙ กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะกิ่งอำเภอ ควนกาหลง ขึ้นเป็นอำเภอให้ชื่อว่า อำเภอควนกาหลง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าท้องที่กิ่งอำเภอควนกาหลง อำเภอ เมืองสตูล มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงประกาศแบ่งท้องที่กิ่งอำเภอควนกาหลง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง เรียกชื่อว่า กิ่งอำเภอท่าแพ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าท้องที่อำเภอเมืองสตูล มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก ท้องที่บางตำบลอยู่ห่างไกลจากอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฎรไม่ทั่วถึง สภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไป เชื่อว่าจะเจริญต่อไปในภายหน้า จึงประกาศแบ่งท้องที่อำเภอเมืองสตูล ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ๑ แห่ง เรียกว่า กิ่งอำเภอควนโดน เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐

ปัจจุบันนี้ จังหวัดสตูล แบ่งการปกครองออกเป็น ๕ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ
๑. อำเภอเมืองสตูล
๒. อำเภอละงู
๓. อำเภอทุ่งหว้า
๔. อำเภอควนกาหลง
๕. อำเภอควนโดน
๖. กิ่งอำเภอท่าแพ (ขึ้นอยู่กับการปกครองของอำเภอเมืองสตูล)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8