พัทลุง

ประวัติศาสตร์จังหวัดพัทลุง
ประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง
เมืองพัทลุงมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสืบต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ โดยมีชุมชนเกิดขึ้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาก่อนแล้วเกิดเป็นเมืองขึ้นทางฝั่งตะวันออกเรียกชื่อว่าเมืองสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาถูกกองเรือพวกโจรสลัดรุกราน จึงมีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่บริเวณบางแก้ว ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เรียกชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองพัทลุง มีอำนาจครอบคลุมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนที่เมืองสทิงพระ เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเมืองสงขลาเป็นเมืองปากน้ำ แต่เมืองพัทลุงก็มีฐานะเป็นเมืองบริวารของแคว้นนครศรีธรรมราชมาตลอด แม้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แต่เมืองพัทลุงก็ยังตกเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ต่อมาในสมัยระบบกินเมืองระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษ ที่ ๒๕ ราชธานีได้รับผลประโยชน์เพียงน้อยนิด โดยเฉพาะในสมัยที่ตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันท-โรจวงศ์ปกครองเมือง ราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึงทั้งๆ ที่แยกเมืองสงขลาออกจากเมืองพัทลุงไปนานแล้ว ขณะเดียวกันมหาอำนาจตะวันตกก็คุกคามเข้ามารอบด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้วในกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ก็ทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรีบจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมาลายูเสียใหม่ เพื่อ ดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ามณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยระบบเทศาภิบาล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๖ รัฐบาลพยายามลดอำนาจและอิทธิพลของตระกูล ณ พัทลุง และตระกูลจันทโรจวงศ์ตลอดมาในสมัยระบบเทศาภิบาล แต่แล้วเมื่อมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งแรกในสมัยระบบประชาธิปไตย เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กลับได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันจังหวัดนี้กลับกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของภาคใต้ เพื่อเข้าใจถึงเรื่องราวดังกล่าวผู้เขียนจะแบ่งประวัติศาสตร์พัทลุงออกเป็น ๒ สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สันนิษฐานได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุคือ ขวานหินขัดสมัยหินใหม่ หรือชาวบ้าน เรียกว่า ขวานฟ้าที่พบจำนวน ๕๐-๖๐ ชิ้น(๑) ในเขตท้องที่อำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน และอำเภอ ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ปรากฏว่าท้องที่เหล่านี้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือประมาณ ๒,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว(๒) มีชุมชนเกิดขึ้นแล้ว โดยใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือสับตัด
สมัยประวัติศาสตร์
อายุตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันพอจะแบ่งได้เป็น ๔ สมัย คือ สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยระบบกินเมือง สมัยระบบเทศาภิบาล และสมัยระบบประชาธิปไตย

สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง
ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๒๐ เมื่อบริเวณสันทรายขนาดใหญ่ กว้าง ๕–๑๒ กิโลเมตร ยาว ๘๐ กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลาหรือบริเวณที่ต่อมาภายหลังชาวพื้นเมืองเรียกว่า แผ่นดินบก ซึ่งเป็นที่ดอน เป็นแผ่นดินเกิดใหม่ชายฝั่งทะเลหลวง ทำให้ผู้คนอพยพจากบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพภูมิ-ประเทศบริเวณนี้มีความเหมาะสมหลายประการกล่าวคือ เป็นสันดอนน้ำไม่ท่วม สามารถตั้งบ้านเรือนสร้างศาสนสถานได้สะดวกดี มีที่ราบลุ่มกระจายอยู่ทั่วไปกับที่ดอนเป็นบริเวณกว้างขวางพอที่จะเพาะปลูกได้อย่างพอเพียง ประกอบกับเป็นบริเวณอยู่ห่างไกลจากป่าและภูเขาใหญ่ ภูมิอากาศดี ไม่ค่อยมีไข้ป่ารบกวน อีกประการหนึ่ง สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลกับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก เพราะอยู่ติดกับทะเล ชุมชนแถบแผ่นดินบกจึงเจริญเติบโตรวดเร็วกลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมาลายูตอนเหนือไปในที่สุด ศูนย์กลางที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณสทิงพระ เรียกชื่อเมืองว่าสทิงพระ มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา(๓) ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นชุมชนนับถือศาสนาฮินดู(๔) มีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นของบรรดารัฐต่างๆ ที่เข้มแข็งและมีนโยบายจะควบคุมเส้นทางการค้าที่ผ่านทางคาบสมุทรมาลายูมาตลอดเวลา เช่น รัฐฟูนันลังกาสุกะ ศรีวิชัย(๕)
ต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเมื่อใดเมืองสทิงพระถูกกองทัพเรือ จากอาณาจักรทะเลใต้ชวา สุมาตรายกมาทำลาย เมืองเสียหายยับเยิน พลเมืองแตกกระจัดกระจายอพยพหนีภัยไปอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลากันมาก เพราะตัวเมืองอยู่ใกล้ทะเลหลวง คือ ห่างเพียง ๑ กิโลเมตร ทำให้ข้าศึกเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ทันรู้ตัว เมืองสทิงพระจึงอ่อนกำลังลงมาก หลังจากนั้นพวกโจรสลัดยกมาปล้นสดมภ์ และในที่สุดก็สามารถยึดเมืองได้ ทำให้มีการย้ายศูนย์การปกครองไปอยู่ทางฝั่งตะวันตก โดยย้ายไปอยู่บริเวณบางแก้ว หรือปัจจุบันเรียกว่า โคกเมือง อยู่ในอำเภอเขาชัยสน ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้ว และชื่อเมืองพัทลุงน่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้(๖) คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙(๗)มีอำนาจครอบคลุมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระ ชาวเมืองนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก
ในขณะเดียวกันแคว้นตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน และมีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘(๘)สามารถขยายอำนาจเข้ามาปกครองดินแดนทั้งแหลมมาลายู โดยปกครองดินแดนในรูปของเมืองสิบสองนักษัตร(๙) ทำให้เมืองพัทลุงต้องกลายเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้ตรางูเล็กเป็นตราของเมือง(๑๐)และในตำนานนางเลือดขาวตำนานเมืองพัทลุงก็กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชของนครศรีธรรมราชด้วย ดังข้อความในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ รัชสมัยสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า
“นางและเจ้าพระยา (คือนางเลือดขาวและกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทังบางแก้วเล่าแล กุมารก็เสียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธ-รูปเป็นหลายตำบลจะตั้งเมืองมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้าหาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมโศกราช ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” (๑๑)
เมืองพัทลุงมีความสัมพันธ์กับแคว้นนครศรีธรรมราชอย่างใกล้ชิด เป็นเมืองพี่เมืองน้องกันเพราะแม้เมืองพัทลุงจะขึ้นกับแคว้นนครศรีธรรมราช แต่มีลักษณะเป็นเมืองอิสระในทางการปกครองอยู่มาก สังเกตจากสมุดเพลาตำรากล่าวว่า แต่เดิมนั้นเมืองพัทลุงเก่าครั้งมีชื่อว่า เมืองสทิงพระ ทางฝ่ายอาณาจักรเจ้าเมืองมีฐานะเป็นเจ้าพญาหรือเจ้าพระยา ทางฝ่ายศาสนจักรเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นเมืองพาราณสี แสดงให้เห็นว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มีบริวารมากศูนย์กลางจึงมีฐานะเป็นกรุง คือกรุงสทิงพระคล้ายกับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งทีเดียว และมีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก เปรียบได้กับเมืองพาราณสี (ชื่อกรุงที่เป็นราชธานีของแคว้นกาศีของอินเดีย) ส่วนแคว้นนครศรีธรรมราชเปรียบประดุจเป็นเมืองปาฏลีบุตร (เป็นเมืองหลวงแคว้นมคธ) ฉะนั้นแคว้นนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุงคงจะเคยเป็นเมืองศูนย์กลางทางพุทธศาสนาเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเมืองพัทลุงนั้นติดต่อกับหัวเมืองมอญและลังกามานานไม่ต่ำกว่า พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมาแล้ว พระสงค์คณะลังกาป่าแก้วจึงเจริญมากในบริเวณนี้ วัดสำคัญ ๆ ไม่ว่าวัดสทัง วัดเขียน วัดสทิงพระ วัดพระโค ล้วนขึ้นกับคณะลังกาป่าแก้วทั้งสิ้น(๑๒)
ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยเพิ่งเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ทางแคว้นนครศรีธรรมราชยังคงมีอำนาจแผ่ไปทั่วแหลมมาลายู ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุจีนว่า จักรพรรดิของจีนเคยส่งทูตมาขอร้องอย่าให้สยาม (นครศรีธรรมราช) รุกรานหรือรังแกมาลายู เลย(๑๓)เมืองพัทลุงจึงคงจะยังขึ้นกับแค้วนนครศรีธรรมราชต่อมาอีกกว่าศตวรรษเพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมานั้น อาณาเขตของอยุธยายังแคบมาก กล่าวคือ ทิศเหนือจดชัยนาท ทิศตะวันออกจดจันทบุรี ทิศตะวันตกจดตะนาวศรีและทิศใต้จดแค่นครศรีธรรมราช(๑๔)เพิ่งปรากฏหลักฐานการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงดึงอำนาจทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลางคือ เมืองหลวงทรงจัดระบบสังคมเป็นรูประบบศักดินา ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองหัวเมือง ทรงประกาศใช้พระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีผลกระทบต่อเมืองพัทลุง และแคว้นนครศรีธรรมราช คือ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกลดฐานะลงเป็นหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่ออยุธยา ส่วนเมืองพัทลุงมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรีขึ้นตรงต่ออยุธยาเช่นกัน เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระยา ถือศักดินา ๕๐๐๐(๑๕)

สมัยระบบกินเมือง
ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๙๘) ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (พ.ศ.
๒๔๓๙) ระบบกินเมือง หมายถึงระบบที่เจ้าเมืองมีอำนาจเก็บภาษี ใช้ไพร่ และเก็บเงินค่าราชการจากไพร่ ทั้งมีสิทธิ์ลงโทษราษฎรตามใจชอบ เจ้าเมืองและกรมการมักเป็นญาติกัน ราชธานีมิได้มีสิทธิ์แต่งตั้งเจ้าเมืองตามทฤษฎีที่กำหนดไว้ เพราะเจ้าเมืองเหล่านี้มีอยู่แล้ว, ราชธานีเป็นเพียงยอมรับอำนาจเจ้าเมือง ส่วนกรมการเมือง ราชธานีก็จะต้องแต่งตั้งตามข้อเสนอของเจ้าเมือง เพื่อป้องกันเหตุร้าย
การปกครองดังกล่าวทำให้ราชธานีพยายามจะลดอำนาจเจ้าเมืองพัทลุง และเข้าไปมีอำนาจเหนือเมืองพัทลุงตลอดมา โดยในระยะต้นของสมัยระบบกินเมือง อาศัยพุทธศาสนา กล่าวคือ สนับสนุนการก่อตั้งพระพุทธศาสนา ดึงกำลังคนจากอำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับวัด พระ และเพิ่มชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์อยุธยาในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ศาสนา เช่นกรณีภิกษุอินทร์รวบรวมนักบวชราว ๕๐๐ คนขับไล่พม่าที่มาล้อมกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักร-
พรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) โดยใช้เวทมนตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงโปรดปรานมากจึงพระราชทานยศให้เป็นพระครูอินทโมฬีคณะลังกาป่าแก้ว (กาแก้ว) เมืองพัทลุง ควบคุมวัดทั้งในเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชถึง ๒๙๘ วัด ทั้งทรงกัลปนาวัด คือกำหนดเขตที่ดินและแรงงานมาขึ้นวัดเขียนและวัดสทังที่พระครูอินทโมฬีบูรณะด้วย(๑๖)
หรือกรณีอุชงคตนะโจรสลัดมาเลย์เข้ามาปล้นโจมตีเมืองพัทลุงเสียหายยับเยิน เมื่อประ-
มาณ พ.ศ. ๒๑๔๑ - ๒๑๔๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(๑๗) ออกเมืองคำเจ้าเมืองหนีเอา ตัวรอด ราษฎรส่วนหนึ่งต้องอพยพหนีไปอยู่ต่างเมือง อีกส่วนหนึ่งถูกพวกโจรกวาดต้อนไปวัดวาอารามก็ถูกเผา ทางราชธานีอ้างว่าศึกเหลือกำลัง จึงมิได้เอาผิดที่เจ้าเมืองทิ้งเมืองและกลับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองต่อไป (๑๘)แต่ก็มีการกัลปนาวัดในเมืองพัทลุงอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๑๕๓(๑๙)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกัลปนาวัดจะทำให้อำนาจของเจ้าเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชลดน้อยลง เพราะเจ้าเมืองมีอำนาจควบคุมไพร่พลโดยตรงเฉพาะในบริเวณที่อยู่นอกเขตกัลปนาเท่านั้น แต่ก็ทำให้มีอำนาจของฝ่ายฆราวาสกับพระสงฆ์สมดุลมากขึ้น มีผลให้เมืองพัทลุงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยชุมชนใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน ติดต่อกับเมืองต่างๆ และรับอารยธรรมจากอินเดีย ลังกา ส่วนทางฝั่งตะวันออกทำหน้าที่เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล(๒๐) จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองไทย เช่น เอกสารของฮอลันดาบันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ว่าอังกฤษและฮอลันดาพยายามแข่งขันกันเข้าผูกขาดชื้อพริกไทยจากเมืองพัทลุงและเมืองในบริเวณใกล้เคียง ใน พ.ศ. ๒๑๖๓ เวนแฮสเซลพ่อค้าฮอลันดาแนะนำว่า ฮอลันดาควรจะจัดส่งเครื่องราชบรรณาการเจ้าเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) เจ้าเมืองบูร์เดลอง (พัทลุง) และเจ้าเมืองแซงกอรา (สงขลา) เพื่อเอาใจเมืองเหล่านั้นไว้ เพราะสัมพันธ์ภาพกับเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก(๒๑)ความรุ่งเรืองทางการค้านี้ประกอบกับสงครามไทยพม่า ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และการแย่งชิงอำนาจในราชธานีในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ทำให้อำนาจของอยุธยาที่มีต่อหัวเมืองมาลายูอ่อนแอลง เช่น เจ้าเมืองปัตตานี นครศรีธรรมราช(๒๒)สงขลาและพัทลุง(๒๓)ประกาศไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของอยุธยา ขณะเดียวกันทางมาเลย์กลับมีกำลังแข็งขึ้นพวกมุสลิมจึงเป็นเจ้าเมืองในแถบหัวเมืองมาลายูมากขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อาทิ พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ตาตุมะระหุ่มที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูล ณ พัทลุง อาจจะเป็นทั้งเจ้าเมืองพัทลุงและสงขลา (๒๔)
ทางอยุธยาพยายามดึงหัวเมืองดังกล่าวให้ใกล้ชิดกับอยุธยามากขึ้น โดยใช้นโยบายให้คนไทยไปปกครอง และสนับสนุนอุปถัมภ์ตระกูลของคนไทยที่มีผลประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองแหลมมาลายู บางครั้งใช้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ดูเหมือนนโยบายนี้จะไม่ได้ผลมากนักในเมืองพัทลุง (๒๕)เพราะในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เจ้าเมืองที่เป็นเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ยังคงเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่นับถือศาสนาอิสลามสืบมาจนเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ (๒๖)
เมื่อทางราชธานีเกิดการจราจล ขาดกษัตริย์ปกครอง พวกขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ทางหัวเมืองมาลายูพระปลัดหนูผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นอิสระ เรียกว่าชุมชนเจ้านคร ปกครองหัวเมืองแหลมมาลายูทั้งหมด และดูเหมือนว่าบรรดาหัวเมืองอื่นๆ ก็ยอมรับอำนาจของเจ้านคร (หนู) แต่โดยดี เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้านคร (หนู) ต้องใช้กำลังเข้าบังคับปราบปรามเมืองหนึ่งเมืองใดเลย แต่ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบปรามเจ้านคร (หนู) ได้สำเร็จแล้วก็โปรดเกล้าให้เจ้านราสุริวงศ์พระญาติปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้รับผิดชอบในการดูแลหัวเมืองแหลมมาลายูแทนราชธานีด้วย(๒๗)ทำให้เมืองพัทลุงกลับมาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๑๙ คือ ตลอดสมัยเจ้านราสุริวงศ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายจันทร์มหาดเล็กมาเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าเมืองเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง(๒๘)
การกระทำดังกล่าวคงทำให้ตระกูล ณ พัทลุง ต่อต้านเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่ เพราะในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งเขียนโดยหลวงศรีวรวัตร(๒๙)(พิณ จันทโรจวงศ์) เชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง กล่าวว่า นายจันทร์มหาดเล็กเจ้าเมืองพัทลุงคนใหม่นั้นว่าราชการอยู่ได้เพียง ๓ ปีก็ถูกถอดออกจาก ราชการและตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงตกเป็นของตระกูล ณ พัทลุง อีกใน พ.ศ. ๒๓๑๕ และในปีนี้เองพระ-ยาพัทลุง (ขุนหรือคางเหล็ก) ตระกูล ณ พัทลุงได้เปลี่ยนท่าทีใหม่คือ เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธ(๓๐) คงจะเนื่องมาจากพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อมใส ในพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลชักชวนให้คนไทยเกิดความเลื่อมใสในศาสนานั้น(๓๑)ปรากฏหลักฐานว่าในที่สุดถึงกับทรงออกประกาศห้ามอย่างเฉียบขาด ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ดังความตอนหนึ่งว่า

ประกาศของไทย ลงวันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ค.ศ ๑๖๖๔ (พ.ศ. ๒๓๑๗)
ห้ามมิให้ไทยและมอญเข้ารีตและนับถือศาสนาพระมะหะหมัด
มองเซนเยอร์เลอบองเป็นผู้แปล

ด้วยพวกเข้ารีตและพวกถือศาสนามะหะหมัดเป็นคนที่อยู่นอกพระพุทธศาสนาเป็นคนที่ไม่มีกฎหมาย และไม่ประพฤติตามพระพุทธวจนะ ถ้าพวกไทยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองนี้ตั้งแต่กำเนิดไม่นับถือและไม่ประพฤติตามพระพุทธศาสนาถึงกับลืมชาติกำเนิดตัว ถ้าไทยไปประพฤติและปฏิบัติตามลัทธิของพวกเข้ารีตและพระมะหะหมัดก็จะตกอยู่ในฐานความผิดอย่างร้ายกาจ เพราะฉะนั้นเป็นอันเห็นได้เที่ยงแท้ว่าถ้าคนจำพวกนี้ตายไป ก็จะต้องตกนรกอเวจี ถ้าจะปล่อยให้คนพวกนี้ทำตามชอบใจ ถ้าไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ถ้าไม่ห้ามไว้ พวกนี้ก็จะทำให้วุ่นขึ้นทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว จนที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรามไปด้วย… เพราะเหตุฉะนี้จึงห้ามขาดมิไห้ไทยและมอญ ไม่ว่าผู้ชายหรือหญิงเด็กหรือผู้ใหญ่ได้เข้าไปในพิธีของพวกมะหะหมัดหรือพวกเข้ารีต ถ้าผู้ใดมีใจดื้อแข็ง เจตนาไม่ได้มืดมัวไปด้วยกิเลสต่างๆ จะฝ่าฝืนต่อประกาศนี้ ขืนไปเข้าในพิธีของพวกมะหะหมัดและพวกเข้ารีตแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของสังฆราชหรือบาทหลวงมิชชันนารี หรือบุคคลที่เป็นคริสเตียน หรือมะหะหมัดจะต้องคอยห้ามปรามมิให้คนเหล่านั้นได้เข้าไปในพิธีของพวกคริสเตียน และพวกมะหะหมัดให้เจ้าพนักงานจับกุมคนไทยและมอญที่ไปเข้าพิธีเข้ารีตและมะหะหมัดดังว่ามานี้ ส่งให้ผู้พิพากษาชำระ และให้ผู้พิพากษาวางโทษถึงประหารชีวิต(๓๒)
จริงอยู่แม้ว่าพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนการออกประกาศดังกล่าว แต่พระราชประสงค์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชลักษณะนี้คงจะเป็นสิ่งที่เข้าใจกันดีในหมู่ขุนนางก่อนที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) จึงต้องเปลี่ยนศาสนา มิใช่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะเชื้อสายตระกูล ณ พัทลุง ผู้หนึ่งเป็นเจ้าเมืองใน พ.ศ. ๒๓๓๔ - ๒๓๖๐ ยังไม่ยอมให้นำเนื้อหมูเข้ามาในบ้านของท่านแสดงว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ยังนับถือศาสนาอิสลาม เพิ่งจะมีการนับถือพุทธศาสนากันจริงๆ ในชั้นหลานของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) (๓๓)
การเปลี่ยนศาสนาของพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางการเมืองมากนัก เพราะตระกูล ณ พัทลุง ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากราชธานี อำนาจและอิทธิพลของเมืองพัทลุงลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนับสนุนจีนเหยียงหรือหลวง สุวรรณคีรีคนกลุ่มใหม่และต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นเจ้าเมืองสงขลา(๓๔)ทั้งยกเมืองสงขลาเมืองปากน้ำของเมืองพัทลุงไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริวงศ์ถึงแก่นิราลัยในปีรุ่งขึ้น ทางราชธานีให้ยกเมืองพัทลุงไปขึ้นตรงต่อราชธานีดังเดิม(๓๕)และสืบไปตลอดสมัยระบบกินเมือง และแม้ว่าพระยา-พัทลุง (คางเหล็ก) จะส่งบุตรธิดาหลายคนไปถวายตัว(๓๖) ทั้งมีความดีความชอบในการทำสงครามกับพม่าใน พ.ศ. ๒๓๒๘ และกับปัตตานีในปีถัดมา แต่เมื่อพระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ถึงแก่อนิจกรรม ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกลับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไกร-ลาศคนของราชธานีมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง(๓๗)อีก ๒ ปีต่อมายังทรงเพิ่มบทบาทให้เมืองสงขลาเข้มแข็งมากขึ้น โดยให้ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองประเทศราชมลายู(๓๘)และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่ทางราชธานียอมให้ตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงทองขาว) กลับมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีก แต่ก็ส่งนายจุ้ยตระกูลจันทโรจวงศ์ และบุตรของเจ้าพระยาสรินทราชา (จันทร์)(๓๙)ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล ณ นคร เข้ามาเป็นกรมการเมืองพัทลุง (๔๐)เพื่อคานอำนาจของตระกูล ณ พัทลุง ในที่สุดในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๔–๒๓๘๒ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชหัวเมืองแหลมมาลายูต้องตกอยู่ในอำนาจของตระกูล ณ นคร ทางราชธานีแต่งตั้งให้พระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทนตระกูล ณ พัทลุง (พระยาพัทลุงเผือก) ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๘๒(๔๑)ขณะเดียวกันตระกูล ณ สงขลา ก็พยายามสร้างอิทธิพลในเมืองพัทลุง โดยพระยาสงขลาเถี้ยนเส้งและบุญสังข์ต่างก็แต่งงานกับคนในตระกูล ณ พัทลุงทั้งคู่(๔๒)
ศาสตราจารย์เวลาอดีตผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำมหาวิทยาลัยฮาวายตั้งข้อสังเกตว่า การถึงอสัญกรรมของเจ้าพระยานคร (น้อย) ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ ทำให้ราชธานีได้โอกาสจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชลงบ้าง(๔๓) เช่น เรียกตัวพระยาไทรบุรี (แสง) และพระเสนานุชิต (นุด) ปลัดเมืองไทรบุรีบุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย) กลับสนับสนุนให้ตระกูล ณ ระนอง ซึ่งเพิ่งรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ดีบุกและค้าฝิ่นทางฝั่งทะเลตะวันตก (ทะเลหน้านอก) ของแหลมมลายูขยายอำนาจเข้ามาทางฝั่งตะวันออกในเขตเมืองชุมพรและไชยา(๔๔) สำหรับที่เมืองพัทลุงนั้น ทางราชธานีเรียกตัวพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) กลับแล้วแต่งตั้งพระปลัด (จุ้ย จันทโรจวงศ์) เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ จักรวิชิตพิพิธภักดีพิริยพาหะเจ้าเมืองพัทลุงแทน และให้ตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุงเป็นกรมการเมือง เพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ผู้นี้นอกจากจะมีความดีความชอบในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี ใน พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ ๒๓๘๑ อย่างแข็งขันแล้ว ประการสำคัญคือยังเกี่ยวดองกับขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีอำนาจสูงยิ่งในขณะนั้นและบังคับบัญชาหัวเมืองแหลมมาลายูในตำแหน่งพระกลาโหมมาเป็นเวลายาวนานด้วย แต่ในที่สุดตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุงกลายเป็นเหมือนตระกูลเดียวกัน และสามารถปกครองเมืองพัทลุงสืบต่อไปตลอดสมัยระบบกินเมือง คงเป็นเพราะพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (จุ้ย) ไม่มีบุตร จึงรับนายน้อยหลานมาเป็นบุตรบุญธรรมแล้วสร้างความสัมพันธ์กับตระกูล ณ พัทลุงโดยใช้การแต่งงาน(๔๕)
การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลจันทโรจวงศ์กับตระกูล ณ พัทลุง โดยใช้การแต่งงานนั้นทำให้อำนาจของกลุ่มผู้ปกครองเมืองพัทลุงกระชับยิ่งขึ้น มีการแบ่งผลประโยชน์กันอย่างจริงจัง จนราชธานีแทบจะแทรกมือเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะในตอนปลายสมัยระบบกินเมือง เช่น ในสมัยพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร จันทโรจวงศ์) เป็นเจ้าเมือง ใน พ.ศ. ๒๔๓๗ พระสฤษดิ์พจนกรณ์ข้าราชการชั้น ผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจราชการแล้วมีความเห็นว่า เมืองพัทลุงเป็นเมืองเล็ก แต่กรมการเมืองมีอำนาจมากเกินผลประโยชน์และมีอำนาจชนิด….“ที่ไม่มีกำหนดว่าเพียงใดชัด แต่เป็นอำนาจที่มีเหนือราษฏรอย่างสูงเจียนจะว่าได้ว่าทำอย่างใดกับราษฎรก็แทบจะทำได้….”(๔๖)ส่วนด้านผลประโยชน์เจ้าเมืองและกรมการแบ่งกันเองเป็น ๓ ตอน คือ
ตอนที่ ๑ พระยาวรวุฒิไวยวัฒลุงควิไสยอิศรศักดิพิทักษ์ราชกิจนริศศรภักดีพิริยะพาหะ (น้อย) จางวาง ซึ่งทำหน้าที่กำกับเมืองพัทลุง และพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองสองคนพ่อลูกตระกูลจันทโรจวงศ์ได้ผลประโยชน์จากส่วยรายเฉลี่ย
ตอนที่ ๒ ยกกระบัตรในตระกูล ณ พัทลุง ได้ผลประโยชน์จากภาษีอากร
ตอนที่ ๓ กรมการผู้น้อย เป็นกรมการของผู้ใดก็จะได้แบ่งปันผลประโยชน์จากทางนั้น
ผลประโยชน์หลักคือ การทำนา เพราะเจ้าเมืองและกรมการมีที่นากว้างใหญ่ทุกคนขายข้าวได้ทีละ
มากๆ โดยไม่ต้องเสียค่านา
นอกจากนั้นยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากคุกตะรางอีก เพราะผู้ใดเป็นตุลาการชำระคดี ผู้นั้นจะมีคุกตะรางสำหรับขังนักโทษในศาลของตน จึงมีคุกตะรางถึง ๖ แห่ง โดยแบ่งเป็น ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ๓ แห่ง เป็นของเจ้าเมือง หลวงเมือง หลวงจ่ามหาดไทย และขนาดเล็ก อีก ๓ แห่ง เจ้าเมืองจะเป็นผู้อนุญาตให้คนที่ชอบพอและไว้วางใจได้มีผลประโชยน์ที่จะได้จากการมีคุกตะรางของตัวเองคือ ได้ค่าธรรมเนียม แรงงาน และมีอำนาจในการพิจารณาคดี นักโทษของคุกตะรางใดเป็นดังเช่นทาส ในเรือนนั้นทำให้กรมการเมืองอยากจะมีคุกตะรางเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใดไม่มีคุกตะรางก็จะถูกมองว่าไม่เป็น ผู้ดี เป็นคนชั้นต่ำ
สำหรับราษฎร นอกจากต้องเสียค่านาแล้ว ยังถูกเกณฑ์แรงงานและสิ่งของทั้งของกินและของใช้อีก โดยเฉลี่ยจะถูกเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า ๕ ครั้งต่อปี ราษฎรมักต้องยอมเพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองและขุนนางมาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม(๔๗)
สภาพดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทางราชธานีเมืองหนักใจมาก(๔๘)ทั้งยังมีปัญหากับเมืองข้างเคียง คือ กับเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชด้วย เพราะกลุ่มผู้ปกครองของเมืองเหล่านี้มุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จึงมักพบว่าเมื่อโจรผู้ร้ายทำโจรกรรมในเมืองสงขลาแล้วหลบหนีไปเมืองพัทลุง เจ้าเมืองสงขลาขอให้เจ้าเมืองพัทลุงส่งตัวให้ผู้ร้ายไปให้ แต่เจ้าเมืองพัทลุงมักจะเพิกเฉยส่วนโจรผู้ร้ายที่ทำโจรกรรมในแขวงเมืองพัทลุงแล้วหนีเข้าอยู่ในแขวงเมืองสงขลา เจ้าเมืองพัทลุงขอให้เจ้าเมืองสงขลาส่งตัวผู้ร้ายไปให้ เจ้าเมืองสงขลาก็มักจะเพิกเฉยเช่นกัน(๔๙)หรือกับทางเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นทำนองเดียวกันกับทางเมืองสงขลา (๕๐)
พอจะกล่าวได้ว่าตลอดสมัยระบบกินเมือง แม้ว่าราชธานีพยายามควบคุมเมืองพัทลุงแต่ก็ควบคุมได้แต่เพียงในนามเท่านั้น เพราะความห่างไกลจากราชธานีทำให้ราชธานีดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกิจการภายในของเมืองพัทลุงด้วยผลประโยชน์ของราชธานีจึงรั่วไหลไปมาก ประกอบกับในตอนกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่ามองไปทางทิศไหน เห็นอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมที่จะฉวยโอกาสรุกรานเข้ามา โดยเฉพาะทางหัวเมืองแหลมมาลายู อังกฤษถือโอกาสแทรกแชงเข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยและคุกคามหัวเมืองฝั่งตะวันตก ส่วนบริเวณคอคอดกระตอนเหนือของแหลมมาลายูทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสคุกคามเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าและขยายอิทธิพลทางการเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิตกเป็นอย่างยิ่ง หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเข้มแข็งขึ้นแล้ว ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเร่งรัดให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยรีดจัดการปกครองหัวเมืองในแหลมมลายูเสียใหม่(๕๑)เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี ทำให้เมืองพัทลุงถูกรวมการปกครองเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชในพ.ศ. ๒๔๓๙ เนื่องจากกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เมืองพัทลุง “เป็นหัวเมืองบังคับยาก”(๕๒)เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และหัวเมืองประเทศราชมลายู จึงทรงรวมหัวเมืองเหล่านี้เข้าเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ตั้งศูนย์การปกครองที่เมืองสงขลา โดยทรงมอบหมายให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล

สมัยระบบเทศาภิบาล
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๗๖ ช่วงนี้เมืองพัทลุงรวมอยู่ในการปกครองของมณฑล
นครศรีธรรมราช สังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลพยายามทำลายอำนาจและอิทธิพลของตระกูลจัน-ทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่พระราชวงศ์จักรี
การดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองเข้าสู่พระราชวงศ์จักรีในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ มีหลักการปกครองอยู่ว่า อำนาจจะต้องเข้ามารวมอยู่ที่จุดเดียวกันหมดรัฐบาลกลางจะไม่ให้การบังคับบัญชาหัวเมืองขึ้นอยู่กันเพียง ๓ กระทรวงคือ กรมมหาดไทย กรมกลาโหม และกรมท่า และจะไม่ยอมให้เจ้าเมืองต่างๆ มีอำนาจอย่างที่เคยมีมาในสมัยระบบกินเมืองระบบการปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่า ระบบเทศาภิบาล
หลักต่างๆ ของการปกครองตามระบบเทศาภิบาลที่ระบุไว้ในประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) และในข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ตามกฎหมายเหล่านี้ประเทศไทยเริ่มจัดส่วนราชการบริหารตามแบบใหม่ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามลำดับของสายการบังคับบัญชาจากต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุดดังนี้
ชั้นที่ ๑ การปกครองหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง
ชั้นที่ ๒ การปกครองตำบล มีกำนันปกครอง
ชั้นที่ ๓ การปกครองอำเภอ มีนายอำเภอปกครอง
ชั้นที่ ๔ การปกครองเมือง มีผู้ว่าราชการเมืองปกครอง
ชั้นที่ ๕ การปกครองมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครอง
การวางสายการปกครองเป็นลำดับชั้นกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเก่าใน หัวเมืองไปเป็นอีกรูปหนึ่ง ราษฎรซึ่งไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง เคยเป็นเพียงบ่าวไพร่ก็ได้มีโอกาสเลือก ผู้ใหญ่บ้าน กำนันขึ้นเป็นหัวหน้า ซึ่งเท่ากับได้มีโอกาสเสนอความต้องการของตนเองให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการเมืองทราบ ผู้ว่าราชการเมืองและกรมการเมืองหรือพวกพ้องที่เคยทำอะไรตามใจชอบก็กระทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะมีข้าหลวงเทศาภิบาลมาคอยดูแลเป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล การกินเมือง ซึ่งเคย “กิน” จากภาษีทุกอย่างต้องกลับกลายเป็นเพียง “กิน” เฉพาะเงินเดือนพระราชทานในฐานะ ข้าราชการ เพราะรัฐบาลเริ่มเก็บภาษีเองและเมื่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการเมือง และกรมการเมืองมีฐานะเป็นข้าราชการ ก็ต้องถูกย้ายไปตามที่ต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ไม่ผักพันเป็นเจ้าเมืองเจ้าของชีวิตของชาวชนบทอยู่เพียงแห่งเดียวตามระบบเดิม กำนันผู้ใหญ่จะได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ส่วนลดจากการเก็บค่านา ค่าน้ำ ค่าราชการ (๕๓)
อนึ่งการปกครองในระบบเทศาภิบาล รัฐบาลยังต้องการให้ราษฎรมีความผูกพันกับรัฐบาล
และมีความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ รัฐบาลใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยมอบหมายให้จัดเป็นสถานศึกษา เพราะจัดเป็นองค์กรที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั่วพระราชอาณาจักรโดยไม่ต้องเปลืองเงินทองของรัฐในการก่อสร้าง และเป็นแหล่งจูงใจให้ราษฎรเข้ามาเรียนหนังสือได้(๕๔)และมอบหมายให้กรมหมื่นวชิรญานวโรรสพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระราชาคณะธรรมยุติกนิกายรับผิดชอบร่วมกับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เพราะรัฐบาลถือว่าธรรม-ยุติกนิกายเป็นตัวแทนของรัฐฝ่ายสงฆ์ส่วนตัวแทนฝ่ายฆราวาสคือกระทรวงมหาดไทย หรือกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทั้งสองพระองค์จึงทรงกำหนดแบบแผนเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร คือ ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วเป็นตำราเรียน และมีผู้อำนวยการสงฆ์เป็นผู้ตรวจตราและจัดการภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาล (๕๕)
ที่เมืองพัทลุง พระยาสุขุมนัยวินิตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดการปก
ครองตามแบบแผนทุกระดับ ที่สำคัญคือ ให้สร้างที่ว่าราชการเมืองขึ้น เพื่อให้ผู้ช่วยราชการเมืองและกรมการไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการให้เป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับงานส่วนตัวเหมือนอย่างในสมัยระบบกินเมือง(๕๖)แต่การคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ นั้น รัฐบาลใช้ปะปนกันทั้งคนเก่าและคนใหม่ตลาดสมัยระบบเทศาภิบาล พอจะแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ
ระยะแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๒ รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอม กล่าวคือ ในระยะ ๕-๖ ปีแรก ยอมให้เชื้อสายตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ข้าราชการในระบบเก่ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ได้ผลประโยชน์ตามแบบเก่าบ้าง เช่น ให้พระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) เจ้าเมืองเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ช่วยราชการเมือง แต่ก็ให้พระพิศาลสงคราม(สอน) ผู้ช่วยราชการเมืองสิงห์บุรีเป็นผู้ช่วยราชการเมือง (๕๗)รับผิดชอบแผนกสรรพากรหรือดูแลการเก็บเงินผลประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อพระพิศาลถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ก็จัดให้พระอาณาจักร์บริบาล (อ้น ณ ถลาง) เครือญาติของตระกูลจันทโรจวงศ์มาแทน (๕๘)คงเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินเดือนสำหรับข้าราชการประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พระยา-สุขุมนัยวินิตจำต้องถนอมน้ำใจกลุ่มผู้ปกครองเดิม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก และมีเงินมาก(๕๙)แต่ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อพระยาวรวุฒิไวยฯ (น้อย) จางวางซึ่งเป็นคนหัวเก่า(๖๐)ถึงอนิจกรรมรัฐบาลก็ปลดพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร) ผู้ว่าราชการเมืองลงเป็นจางวาง หลังจากนี้รัฐบาลพยายามแต่งตั้งเชื้อสายและพวกพ้องของตระกูลเจ้าเมืองในแหลมมลายูในสมัยระบบกินเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงแทนตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการเมืองบ่อยครั้งในระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๖ -๒๔๔๙ โดยผลัดเปลี่ยนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ถึง ๔ คน(๖๑) คือ พระสุรฤทธิ์ภักดี (คอยู่ตี่ ณ ระนอง) บุตรชายพระยารัตนเศรษฐี (คอชิมก๊อง) อดีตข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรและหลานพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมปี๊) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น สุวรรณปัทมะ)บุตรเขยของพระยาวิเชียรศรี (ชม ณ สงขลา) พระแก้วโกรพ (หมี ณ ถลาง) และพระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) ตามลำดับ จนในที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๕๒ พระกาญจนดิฐบดี (อวบ ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง โจรผู้ร้ายลักโคกระบือทั่วเขตเมืองพัทลุงจนทางราชการระงับไม่อยู่ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จประพาสเมืองพัทลุง พระกาญจนดิฐบดีถูกปลดออกจากราชการในปีนั้นเอง(๖๒)
ระยะหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒– ๒๔๗๖ ดูเหมือนว่าเป็นระยะที่รัฐบาลใช้มาตรการค่อนข้างเด็ดขาดเพื่อลดอิทธิพลของตระกูลจันทโรจวงศ์และตระกูล ณ พัทลุง ที่ยังหลงเหลืออยู่อีก โดยจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง(๖๓)เช่น หม่อมเจ้าประสบประสงค์พระโอรสองค์ใหญ่ในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง ช้างเผือก) เนติบัณฑิต หลวงวิชิตเสนี (หงวน ศตะรัตน์) เนติบัณฑิต ทำให้โจรผู้ร้ายกำเริบหนักจนดูราวกับว่าเมืองพัทลุงกลายเป็นอาณาจักรโจร โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๖๖(๖๔)สมัยพระคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (๖๕) มีขุนโจรหลายคนที่สำคัญ อาทิ นายรุ่ง ดอนทราย เป็นหัวหน้าโจรได้รับฉายาว่า ขุนพัฒน์หรือขุนพัทลุง นายดำหัวแพร เป็นรองหัวหน้า ได้รับฉายาว่า เจ้าฟ้าร่มเขียวหรือขุนอัสดงคต ทางมณฑลต้องส่งนายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล (บุญโกย เอโกบล) และคณะมาตั้งกองปราบปรามอยู่ตลอดปี ทำให้การปล้นฆ่าสงบลงอีกวาระหนึ่ง แต่ปีถัดมารัฐบาลสั่งให้ย้ายศูนย์ปกครอง(๖๖)จากตำบลลำปำมาตั้งที่บ้าน วังเนียง ตำบลคูหาสวรรค์(๖๗) อาจเป็นเพราะทางราชการเกิดความระแวงว่าตระกูลจันทโรจวงศ์ และตระกูล ณ พัทลุง มีส่วนร่วมกับพวกโจรจึงต้องการทำลายอิทธิพลของสองตระกูลนั้นในเขตตำบลลำปำ และสร้างศูนย์การปกครองแห่งใหม่ให้เป็นเขตของรัฐบาลอย่างแท้จริง ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านตำบลคูหาสวรรค์แล้วการคมนาคมระหว่างจังหวัดพัทลุงกับส่วนกลางและจังหวัดใกล้เคียงจึงสะดวกกว่าที่ตั้งเมืองที่ตำบลลำปำ ประชาชนก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนทำมาค้าขายมากขึ้น(๖๘)

สมัยระบบประชาธิปไตย (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖-ปัจจุบัน)
เมื่อมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระ
มหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว รัฐบาลใหม่ประกาศใช้พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ ๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป
ส่วนภูมิภาคมีอำนาจมากขึ้น จังหวัดพัทลุงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในอาณาจักรไทย
ตามระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหาร
ราชการแผ่นดิน มีผู้บริหารเป็นคณะเรียกว่า คณะกรมการจังหวัด ประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัด ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดโดยข้าหลวงประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธาน แต่คณะกรมการจังหวัดจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวงทบวงกรมที่ตนสังกัด(๖๙) สำหรับอำเภอก็มีคณะบริหาร เรียกว่าคณะกรมการอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือนต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน แต่คณะกรมการอำเภอจะต้องรับผิดชอบในราชการทั่วไปร่วมกัน และกรมการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อกระทรวง ทบวง กรม ที่ตนสังกัด (๗๐)
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ไม่เป็นนิติบุคคล นอกจากนั้นอำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะกรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงบุคคลเดียวและฐานะของกรมการจังหวัดก็เช่นเดียวกัน เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหาราชการแผ่นดินในจังหวัดก็ได้แก้ไขเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ จังหวัดนั้น ได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอ ขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และการเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินใน
จังหวัด ซึ่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าวนี้ได้บังคับใช้จนถึงปัจจุบันนี้

๖๙) ศีรี วิชิตตะกุล, การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค (พระนคร : โรงเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๔๙๘),หน้า ๒๗.
(๗๐) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๘-๒๙.


ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดพัทลุง.พัทลุง : โรงพิมพ์พัทลุง , ๒๕๒๗.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8