หนองบัวลำภู

ประวัติศาสตร์จังหวัดหนองบัวลำภู
ความเจริญรุ่งเรืองแห่งอดีต
ดินแดนส่วนที่เป็นจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน ได้ปรากฏหลักฐานแห่งการอยู่อาศัยของ
มนุษย์มานานนับพันปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือก่อนที่มนุษย์จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ เริ่มจากการดำรงชีวิตแบบเร่รอนในสังคมล่าสัตว์ ที่มนุษย์อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผาหรือริมฝั่งน้ำ แสวงหาอาหารด้วยการจับปลา ล่าสัตว์ และพืชผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เร่ร่อนเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ ภาพเขียนสี และภาพสลักหินในเขตอำเภอโนนสังที่ถ้ำเสือตก ถ้ำจันใดถ้ำพรานไอ้ ถ้ำอาจารย์สิน และถ้ำยิ้ม หรือภาพเขียนสี ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา ที่ถ้ำสุวรรณคูหาและ ถ้ำภูผายา เป็นต้น เรื่อยมาจนถึงการดำรงชีวิตในสังคมกสิกรรมที่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ทำเครื่องประดับ และหล่อโลหะแบบง่ายๆ หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นได้แก่ แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย และกุดคอเมย ในเขตอำเภอโนนสัง ซึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด รวมทั้งเครื่องมือเหล็กต่างๆ ที่มีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี ชุมชนโบราณในลักษณะนี้มีปรากฏอยู่หลายแห่งในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู
เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ หรือเมื่อมนุษย์เริ่มมีอาการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ชุมชนโบราณค่อยๆ มีพัฒนาการเข้าสู่ชุมชนเมือง มีการติดต่อแลกเปลี่ยน ค้าขายระหว่างกัน วัฒนธรรม
แบบทวารวดีเข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-
พ.ศ. ๑๕๐๐) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมาหินทราย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และใบเสมาหินทรายวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น เมื่อสิ้นสมัยทวารวดี วัฒนธรรมขอมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลสืบแทน (ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐ - พ.ศ. ๑๗๐๐) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุสมัยขอม เช่น ฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึก พระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และจารึกอักษรขอมวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น
จังสันนิษฐานว่า ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอม ชุมชนโบราณในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ยังไม่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง แต่คงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เมื่อสิ้นสมัยวัฒนธรรมขอม พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ปลอดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง และวัฒนธรรมล้านช้างหรือวัฒนธรรมไทย-ลาว ได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาแทน
ประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งเวียงจันทน์ ได้นำผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย โดยสร้างพระพุทธรูปและศิลาจารึกไว้ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา และมาสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นที่บริเวณหนองซำช้าง ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เชิงเขาภูพาน โดยสร้างวัดในหรือวัด
ศรีคูณเมือง สร้างพระพุทธรูป และสร้างกู่ครอบไว้ สร้างวิหาร ขุดบ่อน้ำ สร้างกำแพงเมืองดินล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน และยกฐานะขึ้นเป็นเมือง "จำปานครกาบแก้วบัวบาน" (ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณบ้านเหนือ ตำบลลำภู ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู) มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์แต่คน
ทั่วไปมักนิยมเรียกชื่อเมืองตามลักษณะภูมิประเทศว่า "เมืองหนองบัวลุ่มภู" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเมืองหนองบัวลำภูในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๑๑๗ ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๑ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดา นำกองทัพไทยเพื่อไปช่วยกองทัพกรุงหงสาวดีตีเวียงจันทน์ เมื่อเสด็จประทับพักแรมที่บริเวณหนองซำช้างหรือหนอง-บัวลำภูในปัจจุบัน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวร เป็นไข้ทรพิษ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงเสด็จนำกองทัพไทย กลับสู่กรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๓๑๐ ในสมัยพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ซึ่งตรงกับต้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี พระวอ พระตา ขุนนางผู้ใหญ่แห่งเวียงจันทน์ เกิดความขัดแย้งภายในกับราชสำนัก จึงนำกำลังคนอพยพเข้ามาอาศัยเมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน โดยบูรณะและปรับปรุงขึ้นใหม่ สร้างกำแพงหินบนเขาภูพานไว้ป้องกันข้าศึก และเปลี่ยนชื่อเป็น "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" ตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์ จึงยกทัพมาโจมตีสู้รบกันอยู่ประมาณ ๓ ปี ก็ยังไม่สามารถตีเมืองได้ กองทัพเวียงจันทน์จึงขอให้กองทัพพม่าช่วยเหลือ จึงสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานได้สำเร็จ โดยพระตาเสียชีวิตในที่รบ พระวอจึงนำกำลังคนอพยพตามลำน้ำชีไปสร้างเมืองใหม่ที่บ้านดอนมดแดง หรือเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงกลับไปขึ้นกับเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๓๒๑ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ได้สำเร็จนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือหนองบัวลำภู จึงขึ้นกับราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๙ - พ.ศ. ๒๓๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏยกทัพไปยึดเมืองนครราชสีมา ครั้นรู้ว่าทางกรุงเทพฯ เตรียมยกทัพใหญ่มาต่อสู้จึงถอยกลับมาตั้งรับที่หนองบัวลำภู ได้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ จนพ่ายแพ้กลับเวียงจันทน์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย ได้แต่งตั้งพระวิชโยดมภมุทธเขต มาสร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานขึ้นใหม่มีฐานะเป็นเมืองเอก ชื่อเมือง "ภมุทธไสยบุรีรัมย์" หรือ "ภมุทาสัย" โดยมีพระวิชโยดม-ภมุทธเขต เป็นเจ้าเมืองคนแรก การปกครองเมืองในลักษณะนี้ เรียกว่า "ระบบกินเมือง"
พ.ศ. ๒๔๓๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์ มีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ได้ปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคจากระบบกินเมือง โดยรวมหัวเมืองเป็นมณฑลต่างๆ รวม ๖ มณฑล ได้แก่ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร มณฑลลาวกลาง และมณฑลภูเก็ต มีข้าหลวงใหญ่ (เฉพาะมณฑลลาวพวนเรียกข้าหลวงต่างพระองค์) เป็นผู้รับผิดชอบมณฑล เมืองกมุทาสัยถูกจัดเป็นหัวเมืองเอก ๑ ใน ๑๖ หัวเมือง ของมณฑลลาวพวน ซึ่งในขณะนั้นมีกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เสนาบดีกระทรวงวังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ บัญชาการมณฑลลาวพวน

พ.ศ. ๒๔๓๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนแปลงการ
ปกครองหัวเมืองส่วนภูมิภาค เป็นมณฑลเทศาภิบาลและเปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ หรือข้าหลวงต่างพระองค์เป็นสมุหเทศาภิบาล ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. ๒๔๔๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อมณฑล
ลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ เมืองกมุทาสัย เป็น ๑ ใน ๑๒ เมือง ขึ้นกับมณฑลฝ่ายเหนือ
พ.ศ. ๒๔๔๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่าย
เหนือ เป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่างๆ ในมณฑลอุดร เป็น ๕ บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านหมาก-แข้ง บริเวณธาตุพนม บริเวณสกลนคร บริเวณพาชี และบริเวณน้ำเหือง เมืองกมุทาสัย ถูกรวมอยู่
ในบริเวณบ้านหมากแข้ง ซึ่งประกอบด้วย ๗ เมือง คือ เมืองหมากแข้ง เมืองหนองคาย เมืองหนองหาร เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาสัย เมืองโพนพิสัย และเมืองรัตนวาปี ตั้งที่ว่าการบริเวณบ้านหมากแข้ง โดยส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงบริเวณควบคุมเจ้าเมืองต่างๆ ซึ่งมีข้าหลวงตรวจราชการประจำเมือง ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนชื่อเมืองกมุทาสัย เป็นเมืองหนองบัวลุ่มภู หรือเมือง "หนองบัวลำภู" หนองน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองที่เดิมชื่อหนองซำช้างจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นหนองบัวลำภู หรือ หนองบัวลำภูตามชื่อเมือง และยังคงขึ้นอยู่กับบริเวณหมากแข้ง
พ.ศ. ๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้
กระทรวงมหาดไทยรวมเมืองต่างๆ ในบริเวณหมากแข้งตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองอุดรธานี ส่วนเมืองในสังกัดบริเวณให้มีฐานะเป็นอำเภอ เมืองหนองบัวลำภู จึงกลายเป็น "อำเภอหนองบัวลำภู" ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระวิจารณ์กมุทธกิจ เป็นนายอำเภอคนแรก
อำเภอหนองบัวลำภู มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับ มีชุมชนราษฎรหนาแน่นขึ้น
ประกอบกับมีอาณาเขตกว้างขวาง พื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ไม่สะดวกในการปกครอง
ดูแลราษฎร ทางราชการจึงได้ยกฐานะชุมชนที่มีความเจริญแต่อยู่ห่างไกล แยกการปกครองออกจากอำเภอหนองบัวลำภู จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ รวม ๕ กิ่งอำเภอ ตามลำดับดังนี้
- กิ่งอำเภอโนนสัง (พ.ศ. ๒๔๙๑)
- กิ่งอำเภอศรีบุญเรือง (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๘)
- กิ่งอำเภอนากลาง (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๘)
- กิ่งอำเภอสุวรรณคูหา (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๐)
ปัจจุบันกิ่งอำเภอเหล่านี้มีฐานะเป็นอำเภอ
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอำนาจมายังส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในด้าน
การปกครอง การให้บริการของรัฐ การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การส่งเสริมให้ท้องที่เจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อความมั่นคงของชาติ จึงได้พิจารณาเห็นว่าจังหวัดอุดรธานี มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก สมควรแยกอำเภอหนองบัวลำภู อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอสุวรรณคูหา ออกจากการปกครองของจังหวัดอุดรธานี ตั้งขึ้นกับจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๖ คณะรัฐมนตีได้มีมติเห็นชอบให้หลักการจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
และต่อมาคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดหนองบัวลำภู ตามร่างเสนอของนายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย และคณะแล้วประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ โดยประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖

จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน
จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่ทางทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๑๐ เป็นระยะทาง ๖๐๘ กิโลเมตร หรือตามเส้นทางกรุงเทพฯ - ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ประมาณ ๕๑๘ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดอุดรธานี ประมาณ ๔๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๘๕๙ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒.๔ ล้านไร่ ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง ทางตอนบนจะเป็นพื้นที่ภูเขาสูง แล้วลาดลงไปทางทิศใต้ และทิศตะวันออก ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย และลูกรัง อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย ๓๕ องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ย ๑๕ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๙๒๘ มิลลิเมตรต่อปี
ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองเป็น ๖ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอโนนสัง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนากลาง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอนาวัง ประกอบด้วย ๕๘ ตำบล ๖๓๑ หมู่บ้าน ๙๗,๘๑๖ หลังคาเรือน ประชากรรวม ๔๘๗,๐๕๕ คน เฉลี่ยความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ ๑๓๑.๕๓ คน ต่อตารางกิโลเมตร มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓ คน



ที่มา : สำนักงานจังหวัดหนองบัวลำภู

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8