ขอนแก่น

ประวัติศาสตร์จังหวัดขอนแก่น

อาณาบริเวณซึ่งมีพื้นที่ ๑๓,๔๐๓.๙๖๕ ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น ๑๖ อำเภอ ๔ กิ่งอำเภอ ๑๖๐ ตำบล ๑,๗๔๙ หมู่บ้าน ประชากร ๑,๕๒๐,๖๑๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จังหวัดขอนแก่น มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจไม่แพ้ท้องถิ่นใด ดังหัวข้อต่อไปนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
หลักฐานการสำรวจบริเวณโนนนกทา บ้านนาดี ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง
แม้ว่าตัวที่ตั้งจังหวัดพึ่งเป็นเมืองขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ไม่เก่าแก่เท่าสุโขทัย นครวัด โรม เอเธนส์ แต่เรื่องที่น่าสนใจยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ และมานุษย์วิทยานั้นปรากฏว่าอาณาบริเวณจังหวัดขอนแก่นเคยเป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยตั้งบ้านเรือนเจริญรุ่งเรืองมีอารยธรรมสูงส่งมาหลายพันปีแล้ว ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์คือยุคหินใหม่ ยุคโลหะตอนต้นได้แก่ ยุคสำริด จากรายงานของ วิลเฮล์ม จี โซลโฮม์ เรื่อง Early-Bronze in Northeastern Thailand (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ เล่มที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๑๐) มีข้อความสำคัญว่าในการสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณวัตถุ ซึ่งน้ำอาจท่วมถึงในอาณาเขตเขื่อนพองหนีบได้รับความสำเร็จที่น่าภาคภูมิยิ่งคือ บริเวณโนนนกทา บ้านนาดี ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ได้ทำการขุดค้นป่าช้าโบราณดึกดำบรรพ์ พบชั้นดิน ๘ ชั้น เรียงกันอยู่ใต้ดินอีก ๑๒ ชั้น ในชั้นดิน ๘ ชั้น มีหลักฐานที่แน่นอนบ่งถึงการทำเครื่องสำริด ส่วนในชั้นดินอีก ๑๒ ชั้น พบทั้งเครื่องสำริดและเหล็ก เครื่องสำริดพบเป็นครั้งแรกในชั้นดินที่ ๒๐ การกำหนดอายุโดยพิสูจน์คาร์บอน ๑๔ จากชั้นดินที่ ๑๙ ปรากฏว่ามีอายุ ๔,๒๗๕ ± ๒๐๐ ปี มาแล้ว (คืออาจคลาดเคลื่อนได้ไม่มากนักไม่น้อยเกิน ๒๐๐ ปี) หมายความว่าได้มีการทำเครื่องสำริดที่นั่นมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี ก่อนที่จะเริ่มทำเครื่องสำริดที่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ชาง และก่อนที่เจ้าของวัฒนธรรมฮาร์ปปาในลุ่มแม่น้ำสินธุ ประเทศอินเดีย จะเริ่มทำเครื่องสำริดเกือบหรือกว่า ๑๐๐ ปี
เครื่องสำริดต่าง ๆ ที่ขุดค้นได้ในบริเวณหลุมฝังศพดึกดำบรรพ์แห่งนี้ได้นำออกแสดงไว้แล้วที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ มีทั้งเครื่องมือเครื่องใช้เป็นขวาน รวมตลอดทั้งแบบพิมพ์ที่ใช้หล่อ มีกำไลแขนสำริดคล้องอยู่กระดูกท่อนแขนซ้อนกันหลายวง มีปลายหอก มีภาชนะลักษณะคล้ายตะเกียงหรือกาน้ำ นอกจากสำริดยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินขัดหลายชิ้น ในการขุดค้นสองครั้ง ครั้งหลังสุด มีผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาที่จะทำวิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาวายกำลังทำการสำรวจอยู่ ในการสำรวจปีที่ ๒ ได้ขุดตรวจบริเวณส่วนระดับดินตอนบนมีการเผาศพ (คงเป็นระยะที่นับถือพุทธศาสนาแล้ว) ระดับต่ำลงไปเป็นการฝังศพในลักษณะยาวเหยียดตรง เครื่องประดับที่โครงกระดูกบางชิ้นเป็นหินประเภทรัตนชาติมีหม้อดินวางอยู่บนอกบนหัว บางศพก็วางอยู่ระหว่างขา หม้อดินเหล่านี้เป็นเครื่องปั้นดินเผา มีลายเชือก ทาบและลายเส้นทแยง บางใบก็มีปุ่มที่คอคล้ายเขาสัตว์ จัดว่าเป็นลวดลายเก่าแก่ที่สุด เพราะว่าส่วนมากเป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ พบขวานสำริดมีบ้องและเครื่องมือสำริดรูปคล้ายตัว (T) เครื่องประดับกายมีลูกปัดทำด้วยเปลือกหอย กำไลทำด้วยเปลือกหอย รวมทั้งได้พบแวเหล็กไน แสดงว่ามีการปั่นด้าย ทอผ้าใช้ในยุคนั้นแล้ว
หัวขวานทองแดง อายุประมาณ ๔,๖๐๐ ปี ถึง ๔,๘๐๐ ปี เป็นหัวขวานหัวเดียวที่พบในประเทศไทย และเป็นหัวขวานที่ทำจากทองแดงที่ไม่ได้ถลุง นำมาทุบให้เป็นหัวขวานมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์
ห่างจากที่ขุดค้นในป่าช้าบริเวณโนนนกทาไปประมาณไม่เกินสองกิโลเมตร มีบริเวณแห่งหนึ่งเรียกชื่อว่า "โนนข่า" มีลักษณะเป็นเนินอาณาเขตกว้างขวางสันนิษฐานว่าเป็นจุดที่ตั้งบ้านเมืองเพราะซากเศษของเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบเกลื่อนไปหมด
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ที่ถ้ำฝ่ามือแดง บ้านหินหล่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง ที่ผนังถ้ำมีภาพฝ่ามือหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ๙ มือ เป็นมือขนาดใหญ่ ๗ มือ มือขนาดเด็ก ๒ มือ รูปมือเหล่านี้เป็นแบบพ่นสีแดงรอบมือซึ่งต่างกับบางแห่งที่ใช้สีแดงทามือแล้วทาบ หรือประทับลงไปในหิน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่างานศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่บนผนังถ้ำในลักษณะแบบนี้เป็นวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์
จากหลักฐานข้างต้นนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าอาณาบริเวณจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีอายุนานกว่าจีน และอินเดีย มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี (เพราะเครื่องมือบางชิ้นผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่ามีอายุกว่า ๖,๐๐๐ ปี) ชุดสำรวจรุ่นแรกมีความเห็นว่าเป็นบริเวณที่น่าศึกษามากที่สุด แม้จะตั้งสถาบันค้นคว้ากันจริง ๆ ใช้เวลาถึง ๒๐ ปี ก็อาจจะยังไม่เสร็จ

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
สมัยทวาราวดี
บริเวณบ้านโนนเมือง และวัดป่าพระนอน ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ เป็นที่ดอนสูงกว้างใหญ่ซึ่งแวดล้อมด้วยที่ลุ่ม หนอง บึง ลักษณะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ กว้าง และยาวมากอยู่ทางทิศเหนือ ลักษณะเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ มีโคกเนินที่เป็นโบราณสถาน มีเศษอิฐและกระเบื้องอยู่บนผิวดินทั่วไป และรูปสี่เหลี่ยมแบน ที่ฐานมีลวดลายในลักษณะต่าง ๆ แต่ที่น่าสนใจก็คือ เป็นจำนวนมากมีรอยสลักเป็นรูปกลีบบัวกลีบเดียวหรือสองกลีบ
แท่งหินสำคัญที่สุดชาวบ้านเรียกว่าเสาหลักเมือง เป็นรูปทรงกลม มีรอยจารึกซึ่งเข้าใจว่าเป็นตัวอักษรมอญโบราณ ยังไม่มีการถอดเป็นภาษาปัจจุบัน
มีผู้เคลื่อนย้ายแท่งหินในเมืองโบราณแห่งนี้ไปไว้หลายแห่ง เช่น นำเอาไปทำเป็นหลักเมืองขอนแก่น หลักหินแท่งนี้มีขนาดกว้างด้านละ ๔๒ ซม. สูง ๑.๓๔ ม. มีรูปกลีบบัวสี่กลีบที่ฐาน มีผู้นำใบเสมาแท่งหินไปไว้ยังวัดต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น วัดโพธิธาติ ตำบลชุมแพ เป็นแบบแผ่นหินขนาดหนา ๒๒ ซม. กว้าง ๔๘ ซม. สูง ๗๘ ซม. แกะสลักเป็นรูปกลีบบัวที่ฐานนำไปอยู่วัดศรีนวล อำเภอเมืองขอนแก่น ๒ หลัก หลักหนึ่ง เป็นแบบแท่งหินมีขนาดหนา ๕๐ ซม. กว้าง ๖๐ ซม. สูง ๑.๗๕ ม. มีจารึกอยู่ด้วย ฐานเสมาแกะเป็นรูปกลีบบัว ส่วนอีกหลักหนึ่งเป็นแบบแผ่นหินไม่มีจารึก มีขนาดหนา ๒๕ ซม. กว้าง ๗๕ ซม. สูง ๑.๗๐ ม. ส่วนหลักอื่น ๆ ได้ถูกนำไปไว้ที่อำเภอภูเวียง อำเภอน้ำพอง อำเภอบ้านไผ่
ในเขตวัดป่าพระนอน อาณาบริเวณเดียวกัน อยู่ทางตะวันตกของเมืองราวครึ่งกิโลเมตร บริเวณวัดเป็นที่ดอนสูง มีพระนอนหินสีน้ำตาลขนาดยาว ๕.๒๖ ม. องค์หนึ่ง หันพระเศียรไปทางใต้ (สังเกตดูคงจะเป็นพระยืนอุ้มบาตร ภายหลังล้มลง) ลักษณะเป็นศิลปะแบบทวาราวดี ฝีมือช่างพื้นเมือง การวางพระหัตถ์แนบพระวรกาย มีลักษณะเช่นเดียวกับพระนอนที่พบในเมืองเสมา ในเขตอำเภอสูง-เนิน นครราชสีมา นอกนั้นพบชิ้นส่วนของพระแบบลพบุรี หรือแบบขอม สร้างด้วยหินทรายสีแดงในบริเวณวัดด้วย
เมืองโบราณแห่งนี้ กรมศิลปากรกำลังทำการขุดค้น ได้พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณฝังอยู่อย่างเป็นระเบียบ มีโบราณวัตถุหลายอย่างฝังรวมอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าเป็นเมืองที่มีคนอยู่อาศัยมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวาราวดี ตลอดจนสมัยขอมด้วย กรมศิลปากรกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติขึ้นแล้ว
บริเวณยอดเขาภูเวียง ระหว่างเขตอำเภอชุมแพ และอำเภอภูเวียง บนเทือกเขาภูเวียง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปวงกลม โอบล้อมหมู่บ้านถึง ๓ ตำบล ไว้ภายในนั้น มีพระพุทธรูปแบบทวาราวดี และที่สำคัญคือพระนอนสลักอยู่บนหน้าผาบนยอดเขาลูกนี้ มีขนาดยาว ๓.๗๕ ม. หันพระเศียรไปทางตะวันตกและหันพระพักตร์ไปทางใต้ ช่วงตอนพระเศียรถึงหน้าอกสลักในลักษณะนูนสูง ส่วนบริเวณต่ำจากบั้นเอวลงมาสลักนูนต่ำ ลักษณะพระพักตร์เป็นศิลปะแบบทวาราวดีในท้องถิ่น คล้าย ๆ กันกับพระพุทธรูปแบบทวาราวดีที่พบในเขตชัยภูมิหลายองค์ ลักษณะการนอนนั้นละม้ายทางพระนอนเชิงภู ที่ภูปอ จังหวัดกาฬสินธุ์มาก มีรอยจารึกบนแผ่นผา ถัดจากพระเศียรไปเล็กน้อย ใต้แผ่นผาที่สลักพระนอนมีถ้ำเพิงผา ๒ แห่ง อยู่เยื้องมาทางตะวันออกแห่งหนึ่งพอเป็นที่พักพิงได้ เข้าใจว่าแต่ก่อนคงมีพระภิกษุขึ้นไปจำศีล
การพบพระนอนแบบทวาราวดีที่ภูเวียงนี้ทำให้ได้เห็นคติการสร้างสลักพระนอนบนแผ่นผาในภาคอีสานอย่างชัดเจนว่าเป็นคติที่พบในบริเวณลุ่มน้ำชี ซึ่งมีการนับถือพระพุทธศาสนาติดต่อกันมาแต่เดิม โดยปราศจากการเจือปนของวัฒนธรรมขอม
เสมาหินที่เมืองชัยวาน เขตอำเภอมัญจาคีรี พบกลุ่มเสมาหินบริเวณเมืองร้างสมัยทวาราวดีที่มีชื่อว่าเมืองชัยวาน เสมาเหล่านี้ปักกระจายกันอยู่ในบริเวณเมืองเป็นจุด ๆ เอาตำแหน่งทิศทางแน่นอนไม่ได้ ลักษณะเสมาเป็นแบบแผ่นหิน บางแห่งปักเป็นคู่ ๆ ในเขตเมืองนี้ยังมีแผ่นหินขนาดใหญ่แผ่นหนึ่ง มีการสลักเป็นรูปได้มีขอบเป็นหลัก ๆ ลวดลายบนแผ่นหินเป็นแบบทวาราวดี และอีกแผ่นหนึ่งได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ในศาลามีลวดลายกนก และก้านขดอยู่เหนือฐาน
เสมาหิน๑ ในภาคอีสานจัดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่มีอายุตั้งแต่สมัยลพบุรีหรือสมัยขอมขึ้นไปเสมาหินเป็นโบราณวัตถุสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนภาคอีสานเคยมีวัฒน-ธรรมเก่าแก่เป็นของตนเองมาก่อน
ความเป็นมาของแท่งหินหรือเสาหินแต่เดิมคงเป็นเรื่องของหินตั้ง ซึ่งเป็นประเพณีและลัทธิเนื่องในการนับถือบรรพบุรุษ อันเป็นระบบความเชื่อที่มีอยู่ทั่วไปของประชาชนในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์
ต่อมาเสมาหินกลายเป็นของเนื่องในพุทธศาสนา ในสมัยแรกชาวอีสานไม่ใคร่นิยมสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบูชา ส่วนมากจะปักลงเสมาหินรอบ ๆ เนินดิน หรือปักเสมาหินให้ทำหน้าที่เป็นหลักเขตของบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ใบเสมาของโบสถ์ เป็นต้น

เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดรองจากนครปฐมโบราณ
จากภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณหลายเมือง อยู่ใกล้กับลำน้ำพอง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของลำน้ำชี เมืองที่ควรกล่าวถึงคือเมืองโบราณที่วัดศรีเมืองแอม ในเขตอำเภอน้ำพอง ตัวเมืองตั้งอยู่เหนือลำน้ำพองขึ้นมา ๙ กม. ตำแหน่งในทางภูมิศาสตร์ อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๖ํ ๔๙´ตะวันออก ลักษณะเมืองเป็นรูปเหลี่ยมมน ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ เมืองนี้มีขนาด ๒,๙๐๐ x ๓,๐๐๐ ม. ซึ่งเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานที่ได้พบเห็นมาในประเทศไทยเท่าที่เห็นเป็นรองอยู่ก็เฉพาะเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) เท่านั้น ภายในหมู่บ้านตั้งอยู่คือบ้านดงเมืองแอม และบ้านโนนขี้ผึ้งทางตะวันตก บ้านดงเฮียงทางด้านตะวันออกและมีวัดศรีเมืองแอมอยู่บริเวณกลางเมือง เมืองแอมนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มตอนเหนือตัวเมืองขึ้นไปเป็นที่ดอนสูงเป็นที่ลุ่มเล็กน้อย มีลำน้ำอีกสายหนึ่งซึ่งแยกจากลำน้ำห้วยเสือเต้นในบริเวณตัวเมืองทางเหนือ ผ่านคูเมืองด้านตะวันออกไปเรียกว่าลำน้ำห้วยคำม่วง
ภายในเมืองทางด้านตะวันตกมีร่องรอยของคันดินที่วกจากคูเมืองด้านตะวันตกออกมาบรรจบกันเป็นรูปกลมรี ทำให้เมืองแอมกลายเป็นเมืองมี ๒ เมืองซ้อนกันอยู่ ลักษณะเช่นนี้เป็นธรรมดาของเมืองโบราณในอีสาน คันดินรูปกลมรีภายในตัวเมืองอาจจะเป็นเมืองเดิม ส่วนตัวเมืองใหญ่อาจจะมาขยายในตอนหลังหรือไม่ก็เป็นเมืองรุ่นเดียวกัน แต่จัดให้มีคูน้ำและคันดินรูปกลมรีภายในเพื่อการ ชลประทานชักน้ำเข้าใช้ในเมือง จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่าเมืองแอม อาศัยน้ำจากลำห้วยเสือเต้นที่ไหลจากที่สูงทางเหนือของตัวเมือง เข้ามาใช้ในคูเมืองและมีคันดินตัดเป็นช่อง ๆ ระหว่าง คูเมืองกับคันดินที่แล่นขนาน แสดงให้เห็นว่าเป็นอ่างเก็บน้ำ เมืองแอมนี้ยังไม่ได้มีการสำรวจกัน แต่ลักษณะของเมืองควรมีอายุในสมัยทวาราวดีลงมา
ห่างจากเมืองแอมลงไปทางใต้เพียง ๔๐๐ เมตร มีเมืองโบราณรูปหัวเหลี่ยมยาวรีตั้งขนานไปกับลำห้วยเสือเต้นที่ไหลผ่านตัวเมืองแอมลงมา มีขนาด ๒,๓๐๐ x ๖๐๐ เมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๖ํ ๔๘´ เหนือเส้นแวงที่ ๑๐๒ํ ๔๗´ ตะวันออก ตอนส่วนยอดของเมืองนี้มีหมู่บ้านคำท่าโพตั้งอยู่ ห่างจากเมืองนี้ไปทางตะวันตกราว ๘๐๐ เมตร มีวัดโนนดงมัน และหมู่บ้านโนนดงมัน จากลักษณะผังเมืองที่เป็นรูปเหลี่ยมมีระเบียบแสดงให้เห็นว่า ควรเป็นเมืองในสมัยหลังลงมาอย่างน้อยก็คงมีอายุอยู่ในราวสมัยลพบุรี ที่น่าสนใจสำหรับเมืองนี้ก็คือเมืองที่หมู่บ้านค้อท่าโพมีผังเมืองเป็นแบบเดียวกันกับเมืองกำแพงเพชร คือเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีโงนไปตามลำน้ำเช่นกัน ความคล้ายคลึงกันของลักษณะผังเมืองทั้งสองควรได้มีการศึกษาเปรียบเทียบให้ทราบถึงความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองในภาคกลางกับเมืองในอีสานสมัยโบราณเป็นอย่างยิ่ง
ต่ำจากเมืองแอมลงไปตามลำน้ำพอง ซึ่งหักวกลงใต้ที่บ้านโคกสูง ทางด้านตะวันออกของลำน้ำใกล้กับบ้านท่าเกษมและบ้านจำปา ตรวจพบเมืองโบราณรูปกลมจากภาพถ่ายทางอากาศเมืองหนึ่ง มีขนาด ๗๐๐ x ๘๐๐ เมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๖ํ ๓๗´ ๓๐´´ เหนือและเส้นแวงที่ ๑๐๒ํ ๕๓´ ตะวันออก ลักษณะเป็นเมืองสองชั้น เช่นเมืองโบราณส่วนมากในอีสาน คือมีวงกลมอยู่ภายในวงกลมชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง มีคูน้ำกว้างมาก ตัวเมืองตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มต่ำ อันเป็นบริเวณที่ลำน้ำพองคดเคี้ยวเปลี่ยนทางเดิน มีลำน้ำด้านที่เรียกว่า Ox bow Lake มากมาย คูเมืองด้านตะวันออกกว้าง และอยู่ติดกับที่ลุ่มชาวบ้านเรียกว่า หนองงู และห่างจากตัวเมืองลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว ๑,๕๐๐ เมตร มีบึงน้ำกว้างใหญ่ ชื่อหนองแม่ชัด หนองนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำพองอย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากตัวเมืองหนองงู มีร่องรอยคันดินออกไปติดต่อกับบริเวณที่เป็นชุมชนทั้งโบราณและปัจจุบัน เช่นมีคันดินออกจากตัวเมืองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปยังหมู่บ้านทรายมูล และมีคันดินอีกสายหนึ่งแยกออกจากคันดินดังกล่าว วกลงไปยังหมู่บ้านหนองบัวน้อยและหนองแม่ชัด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากตัวเมืองไปในรัศมี ๓ กม. มีร่องรอยของชุมชนโบราณและสระน้ำตลอดจนคันดินหลายแห่ง เมืองโบราณที่หนองงูดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้มีการสำรวจหาโบราณวัตถุเพื่อกำหนดอายุ แต่จากรูปลักษณะก็คงจะเป็นเมืองแต่สมัยทวาราวดีลงมา
พระธาตุบ้านขาม๒ อยู่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง ประวัติการสร้างเจดีย์องค์นี้มีว่า เดิมมีตอมะขามใหญ่อยู่ตอหนึ่งซึ่งได้ตายไปนานแล้ว กลับงอกงามขึ้นอีก คนเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อกินใบซึ่งงอกขึ้นใหม่นี้จะหายจากโรคร้ายทั้งปวง จึงมีประชาชนจากทุกสารทิศมาตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนหนาแน่น หากผู้ใดไปทำมิดีมิร้ายเชิงดูถูกไม่เคารพสักการะตอมะขาม จะมีอันเป็นไปโดยปัจจุบันทันด่วน ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันก่อพระธาตุหรือเจดีย์ครอบตอมะขามนี้ไว้ โดยสลักบรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๙ บทเข้าไว้บนตอมะขามนั้นเรียกว่า พระเจ้า ๙ พระองค์ เหตุนี้จึงเรียกชื่อว่า พระธาตุบ้านขามมาแต่โบราณ ได้มีผู้บูรณะพระธาตุองค์นี้หลายครั้ง ทำให้รูปทรงเดิมเปลี่ยนไป ห่างจากเจดีย์นี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๕ เส้น มีซากโบราณสถานซึ่งเข้าใจว่าเป็นวังหรือตำหนัก ประชาชนมาชุมนุมนมัสการพระธาตุองค์นี้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทุกปี
ภายในโบถส์ใกล้พระธาตุองค์นี้มีพระประธานก่อด้วยอิฐโบกปูนขาวเป็นศิลปะแบบล้าน-ช้างโบราณมีพุทธลักษณะงดงาม สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นภายหลังในยุคล้านช้างเวียงจันทร์
ที่บ้านกระนวนซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านขามนัก มีพระพุทธรูปโบราณศิลปะแบบล้านช้างเป็นพระประธานในโบสถ์เก่าแก่ ประชาชนในอาณาบริเวณใกล้เคียงให้ความเคารพบูชามาก


สมัยลพบุรีหรือสมัยขอม
ซากโบราณสถานและโบราณวัตถุซึ่งมีแท่งหินหรือเสาหินตลอดจนเสมาหิน และซากเมืองโบราณที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอมีรูปกลม หรือสี่เหลี่ยมกลมมีคูน้ำล้อมรอบหลายชั้น นักโบราณคดีเชื่อว่ามีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งอยู่ในยุคทวาราวดี
ในอาณาบริเวณจังหวัดขอนแก่นยังมีซากโบราณวัตถุ และโบราณสถานซึ่งมีลักษณะแตกต่างออกไป เช่น ซากเมืองโบราณที่มีรูปร่างสม่ำเสมอ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบ้าง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบ้าง มีคูน้ำชั้นเดียว มีศาสนสถานและสระน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ คติการสร้างศาสนสถานมีความผูกพันกับคติเทวราชาและการปกครองที่มีระเบียบแบบแผน คือถือว่ากษัตริย์หรือเจ้านายเป็นส่วนหนึ่ง หรือภาคหนึ่งของเทพเจ้า จึงมีการสร้างเทวาลัยถวายเป็นที่สถิต ดังนั้นเทวาลัยจึงมีลักษณะที่เป็นทั้งตัวแทนของเทพเจ้า และกษัตริย์หรือเจ้านายที่ปกครองชุมชนเขตนั้น
โดยเฉพาะปราสาทศิลาแลง ซึ่งมีผังประกอบด้วยองค์ปราสาทหรือปรางค์เพียงองค์เดียวอยู่ตรงกลางมีวิหารเล็ก ๆ ตั้งอยู่ข้าง ๆ ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีกำแพงล้อมรอบที่กำแพงมีซุ้มประตูเข้าทางด้านตะวันออก ร่องรอยของศาสนสถานและโบราณสถานแบบดังกล่าวนี้เป็นศิลปกรในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขอมมีอำนาจปกครองถึงดินแดนจังหวัดขอนแก่นดังปรากฏโบราณสถาน และโบราณวัตถุต่อไปนี้
บริเวณเมืองแอม๓ หรือเมืองเพ็งโบราณดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น สันนิษฐานว่าพวกขอมมาสร้างทับเมืองเก่าเพราะปรากฏว่ามีคันดิน (คล้ายกำแพงดินที่ละลายลงมา) มีความสูงพอสมควรและยาวเป็นเส้นตรงเป็นระเบียบแบบแผน แต่ละด้านยาว ๒-๓ กม. เมื่อประมาณปี ๒๕๐๐ มีผู้นำเอาพระพุทธรูปหินแบบนาคปรกหลายองค์จากดงเมืองแอมมาไว้ที่วัดท่าน้ำพอง อำเภอน้ำพอง ทั้งองค์ใหญ่องค์เล็ก มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะสวยงามมาก พระพุทธรูปหินนาคปรกนี้เป็นศิลปะขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
นอกจากนี้ยังได้พบพระพุทธรูปหินแบบนาคปรกอีกหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่นโดยเฉพาะที่กรุในหมู่บ้านใกล้ที่ตั้งอำเภอภูเวียง พบหลายองค์มีความประณีตสวยงามมากจนกระทั่งเคยนำเอาไปแสดงที่มาเลเซีย แต่ภายหลังถูกขโมย และบางองค์ถูกบั่นพระเศียรอย่างน่าอนาถมาก
กู่ทอง ตั้งอยู่บ้านหัวขัว กิ่งอำเภอเปือยน้อย ห่างจากอำเภอบ้านไผ่ประมาณ ๓๒ กม. เป็นกู่ใหญ่และสวยงามที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบมีรูปหัวสิงห์แกะสลักด้วยหิน รูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ สลักนูนลวดลายประณีตมาก เป็นแท่งหินทับหลังประตู ขนาดใหญ่ กว้าง ๑ ม. ยาว ๒ ม. เคยถูกขโมยแต่ในที่สุดผู้ร้ายเอาไปไม่ได้ต้องทิ้งกลางทาง กู่นี้ถูกรื้อทำลายโดยพวกแสวงหาทรัพย์ตามลายแทง เที่ยวขุดค้นของมีค่าเมื่อเกือบร้อยปีมานี้ แต่ก็ยังมีสภาพที่สมบูรณ์กว่าทุกแห่งในจังหวัดขอนแก่น
กู่บ้านเหล่า ตำบลบ้านโต้น กิ่งอำเภอพระยืน มีลักษณะเหมือนกู่ทองแต่ย่อมกว่า มีกำแพงหิน กว้าง ๑๕ วา ยาว ๑๕ วา
กู่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง เป็นแบบกู่ทั่วไปซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก แต่ขนาดย่อมกว่ากู่ทอง
ทุก ๆ กู่จะมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ โดยเฉพาะกู่บ้านนาคำน้อยบริเวณใกล้เคียงมีบ่อน้ำซับระดับน้ำอยู่ตื้นมากมีน้ำใสจืดสนิท
นอกจากนี้ก็มีกู่เล็กกู่น้อยอีกหลายแห่ง เช่น กู่ที่บ้านโนนกู่ ตำบลสาวะถี อำเภอบ้านฝาง กู่ตำบลกุดเค้า กู่ภูวดี อยู่ในบริเวณภูวัด ตำบลโพนเพ็ก อำเภอมัญจาคีรี

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การตั้งเมืองชลบถ (ชื่อเดิมมิใช่ชนบท) และเมืองขอนแก่น
พงศาวดารภาคอีสานฉบับของพระยาขัตติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ถึงระหว่างจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีกุน จัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๒๕) ทราบข่าวว่ากวนเมืองแสน เมืองสุวรรณภูมิจ้างทิดโกดบังฟันท้าวสูนเมืองสุวรรณภูมิตาย เมืองแสนกลัวความผิดหลบตัวหนีลงไปพึ่งพระยาโคราช ๆ บอกให้เมืองแสนลงไปเป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระจันทประเทศขึ้นมาตั้งบ้านกองแก้วเป็นเมืองชลบถ มีไพร่พลสมัครไปด้วย ๓๔๐ คน”
“ครั้นถึงจุลศักราช ๑๑๕๐ (พ.ศ. ๒๓๓๑) ได้ทราบว่าเมืองแพนบ้านชีโหล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันนี้อยู่ในท้องที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด เวลานั้นเป็นแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ซึ่งมีอาณาเขตมาถึงสันเขาภูเม็ง ฝายพระยานาคจดพองหนีบ) พาราษฎรไพร่พลประมาณ ๓๓๐ คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น”
พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ฉบับหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจรรณกรุงเทพ) ปลัดมณฑลอีสานแต่ง มีข้อความสำคัญว่า
“ลุจุลศักราช ๑๑๕๙๔ ปีมเสงนพศก (พ.ศ. ๒๓๔๐) ฝ่ายเพี้ย๕ เมืองแพน บ้านชีโหล่น เมืองสุวรรณภูมิเห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชลบถก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึ่งสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น”
หนังสือโบราณวัตถุสถาน ชิน อยู่ดี เรียบเรียง กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ มีประวัติจังหวัดขอนแก่น ดังนี้ :-
“ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๖ (ภายหลังตั้งกรุงเทพฯ ได้ปีเดียว) กวนเมืองแสนจากเมืองทง (เดี๋ยวนี้อยู่ในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) มาตั้งเมืองขึ้นที่บ้านบึงแก้ว (หนองแก้ว อำเภอชลบท) ชื่อเมืองชลบถ ต่อมาเพี้ยเมืองแพน ต้นสกุลเสมอพระ บ้านชีโหล่น หลานเจ้าแก้วบูฮม พาผู้คนเข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านบึงบอน (บ้านเมืองเก่า) สมัครขึ้นอยู่กับพระยานครราชสีมา ๆ มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น และตั้งให้เพี้ยเมืองแพนเป็นพระยานครบริรักษ์เจ้าเมือง
พ.ศ. ๒๓๕๒ ท่านราชานนท์ย้ายเมืองไปตั้งที่ริมบึงหนองเหล็กดอนพันชาด หรือดงพันชาด (หมู่บ้านในเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย)
พ.ศ. ๒๓๖๙ ตั้งบ้านภูเวียง ซึ่งเดิมเคยเป็นเมืองโบราณ เป็นเมืองภูเวียงขึ้นกับเมืองขอนแก่น
พ.ศ. ๒๓๘๐ ย้ายเมืองขอนแก่นกลับมาตั้งอยู่ริมฝั่งบึงบอน (ตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านโนนทัน)
พ.ศ. ๒๓๙๘ ย้ายมาทางฝั่งตะวันออก คือบ้านโนนทันเดี๋ยวนี้
พ.ศ. ๒๔๑๐ ย้ายไปตั้งที่บ้านดอนบม ริมลำน้ำชี
พ.ศ. ๒๔๓๔ โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงต่างพระ-องค์ และโปรดให้ย้ายเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านทุ่ม
พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดให้ย้ายกลับไปตั้งที่บ้านบึงตามเดิม (เมืองเก่า)
พ.ศ.๒๔๔๗ โปรดให้เรียกตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขอนแก่นว่าข้าหลวงประจำ บริเวณพาชี
พ.ศ. ๒๔๕๑ ย้ายศาลากลางเมืองขอนแก่นมาตั้งที่บ้านพระลับ และให้เปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณเป็นผู้ว่าราชการเมือง
พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด
สมัยรัชกาลที่ ๓ เหตุการณ์ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ มีข้อความสำคัญเกี่ยวกับจังหวัดขอนแก่นดังต่อไปนี้ “พระยาราชสุภาวดียกขึ้นไปทางเมืองสุวรรณภูมิ พบกองทัพเจ้าโถงหลานอนุซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพิมายก็ยกเข้าตีกองทัพเจ้าโถงแตกกระจัดกระจายไปสิ้น แล้วพระยาราชสุภาวดีก็ยกจากเมืองพิมายไปตั้งอยู่เมืองขอนแก่น แล้วก็มีหนังสือไปถึงเจ้าอุปราชว่าเมื่ออุปราชลงไปกรุงเทพมหานคร พูดไว้แต่ก่อนว่าอนุจะเป็นกบฏนั้นก็สมจริง ครั้งนี้เรายกขึ้นมาสมคะเนแล้ว ให้อุปราชยกไปตีเมืองเวียงจันทน์เสียให้ได้ ทัพหลวงจะได้ขึ้นมาโดยสะดวกเราจะได้ยกหนุนอุปราชไป ครั้นอุปราชได้หนังสืออ่านดูแจ้งความแล้วจึงส่งต้นหนังสือไปให้อนุที่ตำบลช่องเขาสาร อนุแจ้งความแล้วก็ให้หวาดหวั่นสงสัยนายทัพนายกองผู้คนของตัวว่าจะมีไส้ศึกอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่รู้”
แสดงให้เห็นว่าแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยได้เห็นความสำคัญของจังหวัดขอนแก่น จึงใช้เป็นฐานทัพมาครั้งหนึ่งเพราะเป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสาน จนประสบชัยชนะ เมื่อทางราชการจัดตั้งหน่วยทหารม้าขึ้นครั้งแรกในจังหวัดนี้จึงให้ชื่อว่า “ค่ายบดินทรเดชา” และมีสนามมวยในชื่อนี้ด้วย
หนังสือประชุมจดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์
มีข้อความเกี่ยวกับจังหวัดขอนแก่นบางตอนดังนี้
คำให้การอ้ายพระยานรินทร์
“แล้วอ้ายอนุกับอ้ายสุทธิสารข้าพเจ้าก็พากันขึ้นมาถึงบ้านหนองบัวลำภู อ้ายอนุตั้งให้เป็นเจ้าเมืองหนองบัวลำภู แล้วอ้ายอนุจัดแจงให้ตั้งค่ายไม้จริงยาว ๓๐ เส้น กว้าง ๑๖ เส้น อ้ายอนุจัดให้ข้าพเจ้ากับอ้ายปลัดหนองบัวลำภูคนเก่า อ้ายวรจักรบ้านบัว อ้ายหามองค์บ้านเทวี อ้ายอุปราชบ้าน ภูเวียง อ้ายวรวงศ์บ้านมะโดด อ้ายตะนามบ้านลำภูคุมไพร่ ๑,๘๐๐ คนปืนคาบศิลา ๓๐๐ บอก อยู่รักษาค่ายแล้วอ้ายอนุจัดครัวเมืองโคราชที่ไว้ใจได้ให้ข้าพเจ้า ๓๐ ครัว ชายหญิงประมาณ ๗๐ คน กับครัวข้าพเจ้า ๑,๐๐๐ คนเศษอยู่กับข้าพเจ้า แต่ครัวอ้ายมีชื่อทั้งนี้บ้านใคร ๆ อยู่ ครั้นอ้ายอนุกลับไปถึงบ้านส้มป่อยให้อ้ายราชวงศ์เจ้าเมืองชลบถกับไพร่ครัวฉกรรจ์ ๖๐๐ คน กับปืนคาบศิลา ๗๐ บอก กลับลงมาอยู่รักษาค่ายกับข้าพเจ้าด้วยกัน ไพร่ฉกรรจ์ ๒,๓๐๐ ครัว ๘๐๐ คน ปืนคาบศิลา ๑๙๐ บอก”
“แต่เจ้าเมืองขอนแก่นไล่ครัวมาอยู่บ้านสระแจ้ง ไพร่ฉกรรจ์ ๒,๕๐๐ แต่ตัวเจ้าเมืองขอนแก่นกับไพร่ฉกรรจ์นั้นรักษากับอ้ายสุทธิสาร แต่ครัวเจ้าเมืองชลบถมาอยู่บ้านคาง ไพร่ฉกรรจ์ ๒,๗๐๐ เจ้าเมืองชลบถอยู่รักษาครัว ให้แต่บุตรกับไพร่ ๙๐๐ คน มาอยู่กับข้าพเจ้า ณ ค่ายหนองบัวลำภูเมืองนอกนั้นตามระยะทางมีมากอยู่”
ข้อความที่ว่าอ้ายอุปราชภูเวียง แสดงว่าภูเวียงมีฐานะเป็นเมืองมาก่อนจึงมีตำแหน่งอุปราช มิใช่หมู่บ้านธรรมดา
คำให้การอ้ายจันโคช
วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุนนพศก ได้ถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอ้ายจันโคชให้การว่าข้าพเจ้าตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านสามพันแขวงเมืองชลบถ อายุข้าพเจ้าได้ ๕๐ เศษ ภรรยาข้าพเจ้าชื่อ อีสั้น มีบุตรชาย ๔ คน หญิง ๓ คน เป็น ๗ คน ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระยาพรหมภักดียกกระบัตรเมืองโคราช ครั้นอยู่มา ณ เดือน ๓ กี่ค่ำข้าพเจ้าจำมิได้ ปีวอกอัฐศก ข้าพเจ้าได้ยินผู้มีชื่อพูดกันว่าอ้ายเวียงจันท์ ยกกองทัพมาตั้งอยู่ ณ เมืองครสวรรค์ ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ๓,๐๐๐ คน ว่าจะลงไปช่วยทำการพระบรมศพ ณ กรุงเทพฯ แล้วอ้ายเวียงจันท์ได้ให้ตำรวจลงมาบอกพระยาจันตประเทศกับเพียสิง-หนาทราชบุตร เมือชลบถ ให้ขึ้นไปหาอ้ายเวียงจันท์ พระยาประจันตประเทศ กับเพียสิงหนาทราชบุตร ก็พากันไปหาอ้ายเวียงจันท์ ณ เมืองครสวรรค์ ไปได้ ๒ คืนแล้ว พระยาจันตประเทศ กับเพียสิงหนาท-ราชบุตร ก็พากันกลับมาบ้านได้คืน ๑ อ้ายเจ้าเวียงจันท์ ก็ยกกองทัพมา ณ เมืองโคราช แล้วพระยา-จันตประเทศจึงมาป่าวร้องแก่ราษฎรชาวบ้านว่า ใครจะสมัครไปกับเจ้าเวียงจันท์บ้าง ถ้าสมัครไปกับอ้ายเวียงจันท์จะให้ไปอยู่บ้านคูเวียง ถ้าใครมิสมัครไปจะฆ่าเสีย เพียแสนกับอุปฮาตจึงว่ากับพระยา-จันตประเทศว่า ท่านจะไปก่อนก็ไปเถิดข้ายังไม่ไปจะฟังดูก่อน ครั้น ณ วันเดือนข้างขึ้นจะเป็นกี่ค่ำข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ พระยาจันตประเทศกับเพียสิงหนาท เพียกวาน ก็พาบุตรภรรยาผู้คนบ่าวไพร่ยกไปจากเมืองชลบถไปอยู่บ้านผขุ ได้เดือน ๑ ครั้น ณ วันเดือน ๕ ข้างขึ้น แต่จะเป็นกี่ค่ำข้าพเจ้าจำมิได้ อ้ายเจ้าเวียงจันท์ใช้ตำรวจลาวลงมาไล่ครัวที่เมืองชลบถให้ไปอยู่บ้านคูเวียงให้สิ้นเชิง ถ้าผู้ใดมิไปจะตัดศีรษะเสีย ราษฎรชาวบ้านกลัวก็พากันยกครอบครัวไปอยู่ ณ บ้านคูเวียง ครั้น ณ วันเดือน ๕ ข้างขึ้น อ้ายเจ้าเวียงจันท์ยกจากโคราชไปพักอยู่บ้านคูเวียงคืน ๑ แล้วยกไปอยู่บ้านหนองบัว แล้วอ้ายเจ้า- เวียงจันท์จึงใช้ให้ตำรวจลาวมาไล่ครัวที่บ้านคูเวียงไปอยู่ที่บ้านหนองบัว ครั้นพากันไปอยู่บ้านหนองบัว พระยาจันตประเทศ จึงไปหาอ้ายเจ้าเวียงจันท์ ๆ จึงสั่งให้พระยาจันตประเทศไล่ครัวให้ไปอยู่บ้านนาแตง อ้ายเจ้าเวียงจันท์ก็จะยกไปทางด้านป่าเข้าสาร พระยาจันตประเทศไล่ครัวไปทางบ้านนาแตง ไปถึงบ้านนาแตงได้ ๕ วัน อ้ายพระยานรินทร์ ที่เป็นแม่ทัพอยู่ที่ค่ายบ้านหนองบัว จึงให้ตำรวจลาวมาจัดเอาคนผู้ชายที่ครัวบ้านนาแตง ๒๐๐ คน ทั้งข้าพเจ้าให้เข้าค่ายบ้านหนองบัว ข้าพเจ้ามายืมเอาหอกของทิดโสภาหลานข้าพเจ้าได้เล่ม ๑ มาเข้าค่าย ค่ายหนองบัวกว้างยาวประมาณ ๑๐ เส้น คนรักษาค่ายอยู่ประมาณ ๑,๒๐๐ คน มีปืนคาบศิลาอยู่ในค่ายประมาณ ๑๐๐ เศษ อ้ายพวกเวียงจันท์ให้ข้าพเจ้ารักษาค่ายข้างตะวันออก ครั้น ณ วันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๖ เพลาเย็น ทัพไทยเข้าไปตีค่ายได้รบกันอยู่จนเพลาสว่าง ทัพลาวจึงแตกหนีไป ทัพไทยไล่จับเอาข้าพเจ้าได้มาจำข้าพเจ้าไว้ได้ ๒ คืน จึงส่งตัวข้าพเจ้าลงมาที่ทัพหลวงแม่น้ำปชีได้ ๒ คืน แล้วส่งข้าพเจ้าลงมา ณ กรุงเทพฯ สิ้นคำให้การข้าพเจ้าแต่เท่านี้
หนังสืออานามสยามยุทธ
มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ครั้น ณ วันเดือนอ้ายแรมสิบสามค่ำ เจ้าพระยาราชสุภาวดีมีบัญชาสั่งให้พระอนุรักษ์โยธา ๑ พระโยธาสงคราม ๑ หลวงเทเพนทร ๑ หลวงพิไชยเสนา ๑ พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่น ๑ ราชวงศ์ เมืองชลบถ ๑ พระมหาดไทยเมืองนครราชสีมา ๑ รวมเป็นนายทัพนายกองแปดนายคุมไพร่พลแปดร้อยคุมตัวเจ้าอนุและครอบครัวลงมาส่งให้ถึงเมืองสระบุรีซึ่งพระยาพิไชยวารี (โต) ขึ้นไปตั้งรับครอบครัวส่งเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองสระบุรีนั้นแล้ว พระยาพิไชยวารีจึงสั่งให้ทำการขังเจ้าอนุตั้งประจานไว้กลางเรือ”
แสดงหลักฐานให้เห็นว่าเมืองขอนแก่นและเมืองชลบถมีความชอบในราชการสงครามครั้งนี้และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่ง จึงได้รับหน้าที่ให้ควบคุมเชลยคนสำคัญลงไปกรุงเทพฯ
เหตุการณ์หลังจากศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันท์
ภูเวียง เคยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นต่อนครเวียงจันทน์มาแล้วเมื่อเสร็จศึกเวียงจันท์ปี พ.ศ. ๒๓๖๙ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเมือง ขึ้นต่อเมืองขอนแก่น และเมืองขอนแก่นขึ้นโดยตรงต่อกรุงเทพฯ ปรากฏในหนังสือบอกสมัยรัชกาลที่ ๓ มีเจ้าเมืองชื่อหลวงไกรสงครามเมืองนี้มีหน้าที่ส่งส่วยทองคำผงจำนวนน้ำหนักปีละ ๒๕–๓๐ ตำลึง แสดงให้เห็นว่าในท้องที่นี้จะต้องมีแหล่งแร่ทองคำ ข้าพเจ้าอ่านพบในหนังสือก้อมว่าเมืองนี้มีหน้าที่ส่งส่วยทองแดงมาแต่โบราณ (หัวขวานทองแดงซึ่งทำจากทองแดงที่ไม่ได้ถลุง และทองสำริดที่ค้นพบบริเวณโนนนกทาคงจะได้ทองแดงจากแหล่งนี้) ครั้งสุดท้ายเคยไปส่งส่วยทองแดงที่ค่ายหมากแข้ง (อุดรธานี) ข้าพเจ้าจึงสำรวจหาแหล่งแร่ทองแดงบริเวณที่เคยขุดไปส่งส่วยซึ่งมีชื่อว่า “ฮ่อมอัดผักตูตึหมา” ในที่สุดจึงได้พบแร่ยูเรเนียม
คำกราบบังคมทูลของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ลงวันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓
มีข้อความเกี่ยวกับการเลือกภูมิประเทศเป็นที่ตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองของข้าหลวงต่างพระองค์เมื่อมีความจำเป็นต้องถอยห่างจากชายแดน ๒๕ กม. ตามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ ดังนี้
“ประการหนึ่งท่านผู้มาเป็นข้าหลวงต่อไปนั้น ถ้าครบ ๆ ชนิดเดียวกัน คงจะชอบที่นี้เป็นแน่ ถ้าสติท่านดี เมืองสกลนครนั้นก็ได้สร้างไว้แล้ว แต่ก็เท่ากัน ทางที่จะเข้ามาจากสกลถึงนคร ตั้งแต่หนองคายถึงหมากแข้งก็เท่าเพราะเราเสียช่องทางที่คับขันเสียหมดแล้ว อีกแห่งหนึ่งเป็นที่ดีอย่างที่สุดคือเมืองภูเวียงเขาว่ามีเขาสูงล้อมรอบมีทางจำเภาะเข้า จนผู้ร้ายลักสัตว์พาหนะไม่ได้ น้ำก็บริบูรณ์ที่นาก็มากอยู่นั้นทั้งสิ้น ตามที่เสียงว่าฆ่าศึกจะล้อมไว้สิบปีก็ไม่อด แต่ใช้เป็นอย่างอุกริษเป็นการขัดอยู่เช่นนี้
จึงเห็นด้วยเกล้าว่าที่ใดสู้ที่บ้านหมากแข้งไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังที่ได้รับพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณามานี้”



ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดขอนแก่น . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จินดาสาส์น , ๒๕๒๙ .

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8