นครปฐม

ประวัติศาสตร์จังหวัดนครปฐม

ถ้าจะกล่าวถึงเมืองเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศไทย และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ สมัยอดีต นครปฐมนับว่าเป็นเมืองที่สมกับคำกล่าวนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการสำรวจดูโบราณสถานที่ยังเหลือเป็นพยานอยู่ เช่นพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ธรรมจักรกับกวาง อาสนบูชา สถูป จารึกพระธรรมภาษามคธ คาถาเยธมฺมา ซึ่งทำตามคตินิยมแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก่อนมีพระพุทธรูปสิ่งเหล่านี้มีพบแต่ที่นครปฐมแห่งเดียวเท่านั้น
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองนครปฐมเป็นเมืองดั้งเดิม อาจกล่าวเป็นสมัยๆ ดังนี้

สมัยสุวรรณภูมิ
สุวรรณภูมิถ้าแปลตามศัพท์ หมายถึงแผ่นดินทอง หรือดินแดนทอง ซึ่งหมายถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ แผ่นดินตรงบริเวณที่เมืองนครปฐมตั้งอยู่นี้ เดิมเป็นที่ราบต่ำและเคยเป็นทะเลมาแล้ว ต่อมาพื้นน้ำค่อยๆ ลดลง เพราะพื้นดินเกิดตื้นเขินขึ้น เพราะแม่น้ำได้พัดพาเอาดินตะกอนและสิ่งต่างๆ มาทับถมอยู่เป็นเวลาช้านาน อาณาบริเวณนี้จึงเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน นครปฐมในอดีตจึงเป็นเมืองที่อยู่ริมทะเลและเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยพุทธกาล นครปฐมเปรียบเสมือนแผ่นดินทอง ชาวต่างประเทศได้แก่ชาวอินเดียได้ทำการติดต่อค้าขายเป็นประจำโดยทางเรืออยู่เรื่อยๆ ชาวพื้นเมืองแถบนี้คงจะเป็นชนชาติที่ยังไม่มีศาสนาเป็นของตนเอง และมีวัฒนธรรมต่ำกว่าชาวอินเดีย ชาวอินเดียจึงได้นำศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนภาษาหนังสือมาสอนให้แก่ชาวพื้นเมืองต่างๆ ในแคว้นสุวรรณภูมิ หนังสือที่ใช้ก็เป็นอักษรคฤนถ์และ เทวนาครี นอกจากนี้ยังสอนวิชาปั้นพระพุทธรูป เทวรูปต่างๆ พิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวพื้นเมืองก็ได้รับและถ่ายทอดกันมาจนทุกวันนี้
มีหลักฐานหลายประการ อาทิตำนานการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจากชมพูทวีปเข้ามาสู่แหลมอินโดจีนบอกให้ทราบได้ว่า ชาวอินเดียสมัยพุทธกาลรู้จักสุวรรณภูมิแล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายยังไม่สามารถยุติกันได้ว่า สุวรรณภูมิที่ว่านี้ อยู่ตรงส่วนไหนหรืออยู่บริเวณใดของแหลมอินโดจีน มีความเชื่อกันมากพอสมควรว่า น่าจะอยู่ในประเทศไทย ตอนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับราชธานี หรือเมืองหลวงของสุวรรณภูมิจะอยู่ ณ ที่ใดแน่ นอกนั้นยังถกเถียงกันอยู่ การค้นพบองค์พระปฐมเจดีย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น่าเชื่อว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ รัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งสมณฑูต ๒ องค์ คือ พระโสณะ และพระอุตตระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ โดยสร้างเจดีย์ คือ องค์พระปฐมเจดีย์ไว้เป็นหลักฐานให้ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้แล้ว ซึ่งถ้าเช่นนั้น บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สำคัญนี้ก็ควรจะเป็นราชธานียิ่งใหญ่ มีผู้คนหรือเป็นชุมชนหนาแน่น มีค่าพอที่จะประกาศพระศาสนา และสร้างองค์เจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ได้ ซึ่งชวนให้เชื่อว่า ณ ดินแดนแห่งนี้ คือ ราชธานีหรือเมืองหลวงแห่งแคว้นสุวรรณภูมิและจากยุคสุวรรณภูมิได้วิวัฒนามาสู่ยุคทวารวดี ในชั้นหลัง โดยกระจัดกระจายกันอยู่หลายเมือง ดังจะได้กล่าวต่อไป

สมัยทวารวดี
อาณาจักรทวารวดี มีแหล่งชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางของประเทศไทย แหล่งชุมชนของทวารวดีในภาคกลางที่สำรวจพบมีถึง ๑๕ แห่ง ทิศเหนือสุดจดจังหวัดพิจิตร ทิศใต้จดจังหวัดเพชรบุรี เมืองที่กระจายห่างออกไปทางตอนเหนือ เช่น เมืองหริภุญชัย ในภาคเหนือ และเมืองฟ้าแดด-สูงยาง ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ
หลวงจีนอี้จิง หรือ พระภิกษุอีจิ๋นและหลวงจีนเฮียนจัง (ยวนฉ่าง) พ.ศ. ๑๑๕๐ ได้กล่าวไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า มีอาณาจักรอันใหญ่โตอาณาจักรหนึ่ง อยู่ระหว่างเมืองศรีเกษตร (พม่า) และเมืองอิศานปุระ (เขมร) ชื่อโตโลปอตี้ (ทวารวดี) และอาณาจักรนี้ก็เป็นอาณาจักรที่นักโบราณคดีได้สำรวจพบโบราณสถาน และพระพุทธรูปที่สร้างตามแบบฝีมือช่างครั้งราชวงศ์คุปตะของอินเดีย (พ.ศ. ๘๖๐-๑๑๕๐) เป็นจำนวนมากที่นครปฐม และเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงเมืองนครราชสีมา และเมืองบุรีรัมย์
นครปฐมเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างพระปฐมเจดีย์ คือราวๆ พ.ศ. ๓๐๐ เคยมีอำนาจสูงสุดครั้งหนึ่ง และเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษ ๑๑-๑๖) ปูชนียสถานที่ใหญ่โตสร้างไว้เป็นจำนวนมาก และยังเหลือเป็นพยานปรากฏอยู่อย่างเช่น วัดพระประโทณเจดีย์ วัดพระเมรุ วัดพระงาม และวัดดอนยายหอม เป็นต้น โบราณสถานที่ค้นพบล้วนฝีมือประณีต งดงาม มีเครื่องประดับร่างกายสตรีทำด้วยดีบุก เงิน และทอง รูปปูนปั้นชาวต่างประเทศก็มี ทำให้สันนิษฐานได้ว่าชาวทวารวดีมีการติดต่อกับประเทศอื่น เช่นประเทศจีน ศิลปต่างๆ ขณะนี้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
นครปฐมมีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ เพราะปรากฏว่าได้พบปราสาทราชวังเหลือซากอยู่ เช่น ตรงเนินปราสาทในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ เคยทำเงินตราขึ้นใช้เอง เช่น เงินตราสมัยนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากเป็นรูปสังข์และปราสาทยังมีตราแพะ ตราปรูณกลศ (หม้อน้ำที่มีน้ำเต็ม) ฯลฯ จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า อาณาจักรทวารวดีมีจริง และมีพระมหากษัตริย์ปกครองแน่นอน ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส ได้อ่านจารึกที่เงินตราแล้วแปลได้ความว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี
นครปฐมมีอำนาจสูงสุดประมาณ ๒๐๐ ปี แล้วค่อยเสื่อมลง พวกขอมขณะนั้นกำลังรุ่งเรืองก็ถือโอกาสตีเมืองของอาณาจักรทวารวดีทีละเมืองสองเมืองจน พ.ศ. ๑๕๐๐ อาณาจักรทวารวดีก็เสื่อมลงเป็นธรรมดาหลังจากที่เจริญรุ่งเรืองอย่างที่สุด และตกอยู่ในอำนาจขอม พวกขอม คงจะกวาดต้อน ผู้คนไปเป็นเชลย นำไปใช้เป็นกำลังทำงานต่างๆ คนไทยยังมีตามหัวเมืองโบราณในแคว้นสุวรรณภูมิหลายเมือง เช่น ลพบุรี อู่ทอง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี แต่ยังไม่มีอำนาจในการปกครองแต่อย่างใด ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ ซึ่งเป็นเวลาที่ไทยยึดอำนาจการปกครองจากขอมได้ นครปฐมก็กลายเป็นเมืองร้างไปเสียแล้ว จึงไม่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สาเหตุที่เป็นเมืองร้าง เนื่องจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลองซึ่งแต่เดิมเคยไหลผ่านนครปฐมเปลี่ยนทิศทางเดินใหม่ ไหลผ่านจากตัวเมืองไปมากจนทำให้นครปฐมเป็นที่ดอนขึ้น ไม่เหมาะแก่การทำไร่นา ผู้คนจึงถอยร่นไปอยู่ริมแม่น้ำด้วยเหตุนี้เมืองนครปฐมจึงเสื่อมลง

สมัยอยุธยา
นครปฐมเป็นเมืองร้างเรื่อยมา จนกระทั่งสมัยอยุธยา จึงได้มีความเจริญรุ่งเรืองและได้รับการจดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ชัดแจ้งขึ้น ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นครปฐมมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นใน มีลำดับชั้นของเมืองเป็นเมืองจัตวา พระมหากษัตริย์ทรงอำนาจการปกครองโดยมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วย มีผู้ปกครองหัวเมืองชั้นในเรียกว่า "ผู้รั้ง" จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิใน พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงตั้งพระนามเมืองนครปฐมใหม่ โดยเรียกชุมชนที่ตำบลท่านา ริมแม่น้ำท่าจีนว่า เมืองนครชัยศรี และรวมเนื้อที่ของแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรีเข้าด้วยกัน ให้มีฐานะเป็นเมืองตรีชั้นใน การที่เลือกชุมชนตำบลท่านาริมแม่น้ำท่าจีน และตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีขึ้นมาใหม่เนื่องจากบริเวณพระปฐมเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางของนครปฐมเดิม คงจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มากและกลายเป็นที่รกร้าง และขาดน้ำ จึงเป็นการยากที่จะปฏิสังขรณ์ให้เมืองนครปฐมเป็นที่ตั้งเมืองใหม่ได้อีก การตั้งเมืองนครชัยศรีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จากประวัติศาสตร์อยุธยากล่าวว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงจัดตั้งเมืองนครชัยศรีหลังจากเสร็จสงครามกับพม่าคราวสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สิ้นพระชนม์บนหลังช้างซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๐๙๑
ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ระบุว่า ศักราช ๙๑๐ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๙๑) เป็นปีที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง
ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม๑ บันทึกไว้ว่า "ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า ให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้นเป็นพระเจดีย์วิหารเสร็จแล้ว ให้นามวัด สบสวรรค์ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าไพร่บ้านพลเมืองตรีจัตวาปากใต้เข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขาต้อนไม่ได้เป็นอันมาก ให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมืองสาครบุรี ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี...."
ตามพงศาวดารบันทึกตรงกับ พ.ศ. ๒๐๘๖ (ศักราช ๙๐๕ ปีเถาะเบญจศก) แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเรื่องศึกหงสาวดีครั้งที่ ๑ (คราวเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย) ไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม ๑ พร้อมพระอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าพม่ายกเข้ามาเมื่อปีวอก จ.ศ. ๙๑๐ ครั้งเดียว ที่หนังสือพระราชทานพงศาวดารผิดตรงนี้เป็นด้วยหลงปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ว่าเป็นปีฉลู จ.ศ. ๘๙๑ (พ.ศ. ๒๐๗๒) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเหตุผลว่า ได้ตรวจสอบจากจดหมายเหตุเดิมซึ่งรวบรวมมาตรวจเมื่อแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารบางฉบับ คงกล่าวเพียงว่า ในปีที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์นั้น พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามาบางฉบับลงไว้แต่ศักราชว่า พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพเข้ามาเมื่อปีวอก จ.ศ. ๙๑๐ ซึ่งเป็นความจริงทั้งสองฝ่าย แต่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารลงศักราช ปีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์เร็วไป ๑๙ ปี จึงเข้าใจไปว่าศึกหงสาวดีเป็น ๒ ครั้ง เมื่อหาเรื่องราวการรบไม่ได้ จึงลงไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ครั้งแรกพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาพอเห็น พระนครแล้วก็กลับไป ไม่ได้รบพุ่งอันใดกันในครั้งนั้น ไปรบกันต่อเมื่อยกเข้ามาครั้งที่ ๒ เรื่องตรงนี้สอบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐและพงศาวดารพม่าได้ความยุติต้องกันว่า สมเด็จ พระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ เมื่อปีวอก จ.ศ. ๙๑๐ (พ.ศ. ๒๐๙๑) เสวยราชย์ได้ ๗ เดือน พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ก็ยกกองทัพเข้ามา มาครั้งเดียว และได้รบกันจนเสียพระสุริโยทัยในคราวนี้เอง

สมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่ได้เสด็จฯ ธุดงค์มาพบพระปฐมเจดีย์ พระองค์โปรดให้สืบดูทางฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีพระเจดีย์องค์ใดใหญ่โตกว่าที่พระปฐมเจดีย์ จึงกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และขอให้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ไว้เชิดชูพระเกียรติยศ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงสนพระทัยครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว และจนถึง พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์ครอบสถูปองค์เดิมไว้ และบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์เสียใหม่ มีความสูง ๓ เส้น ๑ คืบ ๖ นิ้ว หรือประมาณ ๑๒๐.๔๕ เมตร พร้อมกับการขุดคลองเจดีย์บูชา และคลองมหาสวัสดิ์เพื่อการคมนาคม
อีก ๒ ปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๓๙๘ โปรดเกล้าฯ ให้นครปฐม (นครชัยศรี) ซึ่งขึ้นอยู่กับ กรมมหาดไทยมาก่อน มาขึ้นอยู่กับกรมท่าเรื่อยมาจนปลายรัชสมัยของพระองค์ เมืองนครปฐมจึงได้กลายมาเป็นหัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นอยู่กับสมุหนายก
ครั้น พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ ทรงดำริว่าควรรวมการปกครองบังคับบัญชาแห่งเมืองทั้งปวง ให้ขึ้นอยู่กับสมุหนายก โดยปรับปรุงเขตการปกครองเดิมเข้าเป็นมณฑลใหม่ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ จึงได้จัดตั้งมณฑลนครชัยศรีขึ้น ประกอบด้วย ๓ เมืองด้วยกัน คือ เมืองนครชัยศรี สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี โดยมีเทศาภิบาลปกครองบังคับบัญชา ผู้ว่าราชการเมืองอีกชั้นหนึ่ง และในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงย้ายเมืองนครชัยศรี และให้ที่ว่าการมณฑลไปตั้งทำการที่ระเบียงพระปฐมเจดีย์เป็นการชั่วคราวก่อน เนื่องจากว่าที่ตั้งที่ทำการมณฑลมิได้ประจำอยู่ที่ระเบียงพระปฐมเจดีย์ตลอดเวลา เมืองนครชัยศรีเดิมซึ่งตั้งมาแต่สมัยอยุธยาจึงลดความสำคัญลง
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง "ปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ" ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ ความตอนหนึ่งว่า
"เมื่อเริ่มสร้างรถไฟสายใต้ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เวลานั้นท้องที่รอบพระปฐมเจดีย์ยังเป็น ป่าเปลี่ยวอยู่โดยมาก ในป่าเหล่านั้นมีซากพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ๆ ซึ่งสร้างทันสมัยพระปฐมเจดีย์อยู่หลายองค์ พวกรับเหมาทำทางรถไฟไปรื้อเอาอิฐพระเจดีย์เก่ามาถมเป็นอับเฉากลางรางรถไฟ ได้อิฐพอถมตั้งแต่สถานีบางกอกน้อยไปตลอดระยะทางกว่า ๕๐ กิโลเมตร เมื่อย้ายที่ว่าการมณฑลจากริม แม่น้ำขึ้นไม่ต่ำ ณ ตำบลพระปฐมเจดีย์สิรื้อกันเสียหมดแล้ว ก็ได้แต่เก็บศิลาเครื่องประดับพระเจดีย์เก่าเหล่านั้นมารวบรวมรักษาไว้ ยังปรากฏอยู่รอบพระระเบียงพระปฐมเจดีย์บัดนี้"
อีกปีหนึ่งต่อมา คือ พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้วางผังเมือง อาคารสถานที่และย้ายเมืองนครชัยศรีไปอยู่ที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ (ฉบับที่กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ ระบุว่าย้าย พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๐) จึงมีราษฎรอพยพไปอยู่กันหนาแน่นขึ้น ในการวางผังเมือง ได้โปรดให้ตัดถนนหนทางเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายสาย เช่น ถนนหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ตรงไปผ่าหน้าพระประโทณเจดีย์ และพระราชทานชื่อว่าถนนเทศา ถนนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ โดยพระราชทานชื่อถนนด้านนอกว่า ถนนหน้าพระ ทางเหนือชื่อถนนซ้ายพระ ทางใต้ชื่อถนนขวาพระ ทางตะวันตกชื่อถนนหลังพระ ฯลฯ เป็นต้น และ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามคลองเจดีย์บูชาขึ้นสะพานหนึ่งทรงพระราชทานนามว่า สะพานเจริญศรัทธา สำหรับชื่อจังหวัด "นครปฐม" นั้น ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๖ นี้ กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครชัยศรีเป็นเมืองนครปฐม แต่ยังคงเรียกว่า มณฑลนครชัยศรีอยู่ตามเดิม จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีประกาศยกเลิกมณฑลนครชัยศรีและโอนให้การปกครองจังหวัดในมณฑล นครชัยศรีไปรวมกับมณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรีมีชื่อเป็นมณฑลอยู่รวมทั้งสิ้น ๓๘ ปี และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดนครปฐมซึ่งเคยขึ้นกับมณฑลราชบุรีก็แยกมาเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคอิสระเป็นจังหวัดนครปฐมเรื่อยมาจนถึง ทุกวันนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8