มุกดาหาร

ประวัติศาสตร์จังหวัดมุกดาหาร

เดิมดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เต็มไปด้วยป่าดงพงไพร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกคนป่าอันสืบเชื้อสายมาจากขอม เช่น พวกข่า ส่วย กระโซ่ เมืองสำคัญส่วนมากตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เช่น กรุงศรีสัตนาคนหุต เมืองพวน (เชียงขวาง) ตลอดทั้งดินแดนสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหก ซึ่งเป็นเผ่าไทยที่อพยพลงมาทางใต้ แต่แยกออกเป็นอาณาจักรต่าง ๆ เช่น อาณาจักรโยนก อาณาจักรเชียงแสน อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง เป็นต้น
จนถึง พ.ศ. ๒๒๓๑ เมื่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) สวรรคต พระยาเมืองแสนได้ชิงเอาราชสมบัติขึ้นครองเวียงจันทน์ พระมเหสีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์องค์เดิมได้พาโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าองค์หล่อ และเจ้าองค์หน่อ (เจ้าหน่อกุมาร) อพยพหลบหนีตามลำน้ำโขงมาอาศัยอยู่กับ พระครูโพนเสม็ด เมื่อเจ้าองค์หล่อเจริญวัยขึ้น มีความโกรธแค้นพระยาเมืองแสนซึ่งชิงเอาราชสมบัติ จึงพาบ่าวไพรไปอยู่เมือง ญวน ซ่องสุมผู้คนคอยหาโอกาสแก้แค้นพระยาเมืองแสน ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตเห็นว่าพระครูโพนเสม็ดมีผู้คนรักใคร่เกรงกลัวนับถือมาก หากปล่อยไว้อาจจะคิดแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึงคิดจะกำจัดพระครูโพนเสม็ดเสีย เมื่อพระครูโพนเสม็ดรู้ระแคะระคายว่าพระยาเมืองแสนจะคิดทำร้ายจึงรวบรวม ผู้คนได้ ๓ พันเศษ พาเจ้าหน่อกุมารพร้อมด้วยมารดา (พระมเหสีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์) อพยพลงมาตามลำน้ำโขง เมื่อเห็นว่าที่ใดทำเลดีอุดมสมบูรณ์ก็ให้ผู้คนที่ติดตามแยกย้ายกันตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นตามความสมัครใจในแถบถิ่นสองฝั่งแม่น้ำโขง จึงเกิดเป็นเมืองต่าง ๆ ขึ้นและแผ่ขยายต่อมาออกไปทั่วภาคอีสานในปัจจุบัน
ท่านพระครูโพนเสม็ด อพอพผู้คนลงมาตามลำน้ำโขง เมื่อถึงที่ใดก็มีคนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลำดับ ท่านพระครูโพนเสม็ดได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๓ และได้แบ่งคนจำนวนหนึ่งให้อยู่อุปฐากพระธาตุพนม แล้วได้อพยพต่อไปถึงนครจำบากนาคบุรีศรี (นครจำปาศักดิ์) จึงได้ยกเจ้าหน่อกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทชางกรูเปลี่ยนนามนครจำบากนาคบุรีศรี เป็นนครจำปาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๖
เมืองมุกดาหารได้ก่อกำเนิดขึ้นในยุคนี้ โดยได้อพยพลงมาทางใต้ตามลำดับ จากเมืองไร่เมืองปุงบ้านน้ำน้อยอ้อยหนู ลงมาตามลำน้ำโขงและตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ ณ บ้านหลวงโพนสิม (บริเวณธาตุอิงฮ้งแขวงสุวรรณเขตในปัจจุบัน) เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทชางกรู สถาปนานครจำปาศักดิ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๕๖ จึงได้ตั้งเจ้าเมืองขึ้นคือ
๑) ตั้งเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ เป็นเจ้าเมืองหลวงโพนสิม (ต่อมาได้อพยพมาตั้งเมืองมุกดาหาร)
๒) ตั้งให้ท้าวสุด เป็นพระชัยเชษฐฯ เจ้าเมืองหางโค (เมืองเชียงแตง)
๓) ตั้งให้เจ้าแก้วมงคล (จารย์แก้ว) เป็นเจ้าเมืองเมืองทง (ภายหลังเปลี่ยนนามเป็นเมืองสุวรรณภูมิ และต่อมาได้แยกเป็นเมืองร้อยเอ็ด สารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฯลฯ
๔) ตั้งให้ท้าวมั่น เป็นหลวงเอกอาษาเจ้าเมืองสาลวัน (ต่อมาแยกเป็นเมืองสาลวัน เมืองคำทองใหญ่ เมืองคำทองน้อย ซึ่งอยู่ในแขวงสาลวันและแขวงวาปีคำทองในประเทศลาวปัจจุบัน)
๕) ตั้งให้อาจารย์โสม เป็นเจ้าเมืองอิ๊ดตะบือ (เมืองอัตบือ)
เมืองต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีบุตรหลานสืบสกุลเป็นเจ้าเมืองต่อ ๆ กันมา และได้แตกแยกออกเป็นเมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย
ฝ่ายเมืองหลวงโพนสิม เมื่อเจ้าจันทร์สุริยวงษ์ถึงแก่กรรมแล้ว เจ้ากินรีได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาอีกจนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงได้อพยพข้ามโขงมาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก มูลเหตุที่เจ้ากินรีจะย้ายเมืองมาตั้งใหม่มีอยู่ว่า วันหนึ่งนายพรานจากบ้านหลวงโพนสิมได้ข้ามโขงมาล่าสัตว์ตรงปากห้วยบังมุก ได้พบต้นตาลต้นหนึ่งมี ๗ ยอด และเห็นกองอิฐปรักพังอยู่บริเวณใต้ต้นตาล ๗ ยอดนั้น จึงสันนิษฐานว่าคงเป็นบ้านเมืองในสมัยโบราณมาก่อนนายพรานจึงนำไปเล่าให้เจ้ากินรีฟัง เมื่อเจ้ากินรีมาตรวจดูเห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะสมที่จะตั้งบ้านตั้งเมือง จึงได้ชักชวนพรรคพวกมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก
วันหนึ่งขณะที่เจ้ากินรีควบคุมบ่าวไพร่ในกลางป่าอยู่ใกล้ต้นตาล ๗ ยอด เจ้ากินรีได้พบพระพุทธรูป ๒ องค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงให้สร้างวัดขึ้น ในบริเวณนั้นและตั้งชื่อว่า วัดศรีมุงคุณ (วัดศรีมงคล) เพื่อเป็นมงคลนามแก่ชาวเมืองและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ไปไว้ในโบสถ์แล้ว วันรุ่งขึ้นอีกวันเมื่อพระภิกษุประจำวัดจะเข้าไปสักการะ ก็ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก (องค์เหล็ก) เมื่อค้นดูรอบ ๆ บริเวณวัด ปรากฏว่าพระพุทธรูปเหล็กกลับไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ที่เดิมแต่จมลงไปในดิน และวันต่อ ๆ มาก็ค่อย ๆ จมลงในดิน เหลือแต่ยอดพระโมฬี เจ้ากินรีจึงให้สร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้นและถวายพระนามว่า พระหลุมเหล็กส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่คงประดิษฐานอยู่ในโบสถ์วัดศรีมงคล เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเจ้ากินรีตั้งเมืองขึ้นใหม่ ตอนกลางคืนจะเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสลอยออกจากต้นตาล ๗ ยอด แล้วลอยกลับมาที่ต้นตาลตอนเช้ามืดแทบทุกคืน เจ้ากินรีจึงเรียกนามแก้วศุภนิมิตรนั้นว่า แก้วมุกดาหาร เพราะอยู่ใกล้ห้วยบังมุก (บัง แปลว่า ลำห้วย) และตั้งนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร เมื่อเดือน ๔ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๓ (มุกดาหาร หมายถึง แก้วไข่มุก) เป็นต้นมา และมีเจ้าปกครองสืลบต่อกันมาตามลำดับ รวม ๘ คน คือ
เจ้ากินรี
เจ้ากินรี ได้เป็นเจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ พระวอ พระตา เจ้าเมืองหนองบัวลำภู (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี) เกิดวิวาทกับเจ้าผู้ครองนครเวียง-จันทน์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงได้ให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพมาตามลำน้ำโขงเพื่อปราบปรามเมืองนครจำปาศักดิ์และนครเวียงจันทน์ให้ขึ้นอยู่ในอาณาจักรธนบุรีบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ตามลำน้ำโขงและเมืองมุกดาหารจึงรวมอยู่ในข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้นมา เจ้ากินรีได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาจันทร์ศรีสุราชอุปราชาพัณฑาตุราช มีบุตรธิดา รวม ๗ คน คือ ท้าวกิ่ง ท้าวอุ่น ท้าวชู และธิดาอีก ๔ คน
เจ้ากินรีได้แต่งตั้งกรมการเมืองขึ้น คือ
๑. ท้าวกิ่ง เป็นอุปฮาด
๒. ท้าวอุ่น เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวชู เป็นราชบุตร
เจ้ากินรีได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗
พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (กิ่ง)
ท้าวกิ่งผู้เป็นบุตรเจ้ากินรีและเป็นอุปฮาดเมืองมุกดาหาร ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองในอันดับ ๒ ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุง-รัตนโกสินทร์)
พระยาจันทร์สุริยวงษ์ได้ขอพระราชทานแต่งตั้งกรมการเมืองมุกดาหารตามตำแหน่งคือ
๑. ท้าวอุ่น เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด
๒. ท้าวชู เลื่อนขึ้นเป็นราชวงษ์
๓. ท้าวแผ่น เป็นราชบุตร
พร้อมกับได้แต่งตั้งกรมการเมืองและท้าวเพี้ยชั้นผู้น้อยครบตามตำแหน่ง คือ เมืองแสน เมืองจันทร์ (ตำแหน่งฝ่ายทหาร) เมืองซ้าย เมืองขวา เมืองกลาง (ตำแหน่งฝ่ายมหาดไทย) ชาเนตร ชานนท์ ชาบัณฑิต (ตำแหน่งหน้าที่ในการร่างและอ่านหนังสือราชการ) เมืองมุก เมืองฮาม (ตำแหน่งควบคุมเรือนจำ) นาเหนือ นาใต้ (ตำแหน่งรวบรวมเสบียงอาหารใส่ยุ้งฉางไว้รับศึกสงคราม
พระยาจันทร์สุริยวงษ์ มีบุตรธิดา หลายคน คือ
ภรรยาคนที่ ๑ ชื่อ เจ้านางยอดแก้ว มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ ท้าวพรม ท้าวทัง ท้าวคำ นางคิม นางเฮ้า นางรุน
ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ เจ้านางประทุม (เจ้านครจำปาศักดิ์) มีบุตรธิดารวม ๒ คน คือ นางอ่อน ท้าวจีน
ภรรยาคนที่ ๓ ซึ่งเป็นชาวบ้านคำป่าหลาย มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ ท้าวตู้ ท้าวไข่ ท้าวปาน ท้าวเม้า ท้าวปุ่น นางไอ่
ภรรยาคนที่ ๔ ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองหล่ม มีธิดาคนเดียว คือ นางอั้ว
ครั้นอยู่ต่อมาอุปฮาด (อุ่น) และราชวงษ์ (ชู) ได้ถึงแก่กรรม พระยาจันทร์สุริยวงษ์ จึงได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรให้บุตร ๓ คน ขึ้นเป็นกรมการเมือง คือ
๑. ท้าวพรหม เป็นอุปฮาด
๒. ท้าวทัง เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวคำ เป็นราชบุตร
พ.ศ. ๒๓๔๙ เจ้าอนุวงษ์ (เจ้าอนุรุทธกุมาร) แห่งนครเวียงจันทน์ เจ้าเมืองนครพนมและเจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ร่วมกันบูรณะพระอุโบสถในวัดพระธาตุพนม
พ.ศ. ๒๓๕๐ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ให้ท้าวขัตติยะวงษาร่วมมือกับเจ้าเมืองมุกดาหารสร้างวัดท่งเว้าขึ้นในเขต เมืองมุกดาหาร (วัดท่งเว้า ปัจจุบันเป็นวัดร้างตลิ่งพังจนพระพุทธรูปจมลงไปในแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่า เวินพระฯ อยู่ในแขวงสุวรรณเขตตอนใต้ตรงข้ามกับบ้านท่าใค้ อ.เมืองมุกดาหาร)
พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ เป็นขบถต่อกรุงเทพพระมหานคร (สมัยรัช-กาลที่ ๓) โดยให้อุปราชติสสะแห่งนครเวียงจันทน์กรีธาทัพตีเมืองกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ ให้เจ้านครจำปาศักดิ์ตีเมืองอุบล สุรินทร์ และสังขะ ให้ชานนท์ตีเมืองตามลำแม่น้ำโขง เช่น เมืองมุกดาหารและเขมราฐกวาดต้อนผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แต่ถูกกองทัพไทยซึ่งมีเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพปราบปรามจนสงบราบคาบ
พ.ศ. ๒๓๘๓ พระยาจันทร์สุริยวงษ์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเดือนเจียง (เดือนอ้าย) แรม ๕ ค่ำ
พระจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม)
ท้าวพรหม อุปฮาดเมืองมุกดาหาร ซึ่งเป็นบุตรเจ้าเมืองได้เป็นเจ้าเมืองมุกดาหารในลำดับที่ ๓ ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๘๓ ได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งกรมการเมืองขึ้นใหม่ คือ
๑. ท้าวคำ เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด
๒. ท้าวสุราช เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวจีน เป็นราชบุตร (บุตรพระยาจันทร์ฯ เจ้าเมืองลำดับที่ ๒ มารดาเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ พ.ศ. ๒๓๘๘เนื่องจากกองทัพญวนได้เข้ารุกรานดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่เนือง ๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จึงได้เกณฑ์ทัพเมืองอุบล ๔,๓๐๐ คน ทัพเมือง เขมราฐ ๑,๗๐๐ คน ทัพเมืองมุกดาหาร ๑,๑๐๐ คน ทัพเมืองนครพนม ๕๐๐ คน ทัพเมืองสกลนคร ๑,๓๐๐ คน ฯลฯ ยกไปตีเมืองพิน เมืองนอง เมืองวัง เมืองตะโปน (เซโปน) เมืองผาบัง เมืองเชียงฮ่ม กวาดต้อนผู้คนมาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้น เช่น เมืองเรณูนคร เมืองหนองสูง เมืองกุฉินารายณ์ เมืองวาริชภูมิ ฯลฯ
เจ้าเมืองมุกดาหารได้ขอให้ท้าวสิงห์ เป็นพระไกรสรราชเจ้าเมืองหนองสูงขึ้นเมืองมุกดาหารส่วนท้าวสายเมืองนครพนมขอให้เป็น พระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนคร
พระจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม) มีบุตรธิดา คือ นายสะ ท้าวแท่ง ท้าวขว้าง นางคิม นางหล้า
พระยาจันทร์สุริยวงษ์ (พรหม) ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕
เจ้าจันทรเทพสุริยวงษ์ดำรงรัฐสีมามุกดาธิบดี (เจ้าหนู)
เมื่อเจ้าเมืองมุกดาหารถึงแก่อนิจกรรม ตำแหน่งเจ้าเมืองได้ว่างมา ๓ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหนูซึ่งเป็นเจ้านคร เวียงจันทน์ เป็นราชนัดดา (หลานของเจ้าอนุวงศ์) เป็นพระโอรสของเจ้านันทเสน ซึ่งไปรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารและพระราชทานสัญญาบัตรให้เจ้าหนู เป็นเจ้าจันทรเทพสุริยวงษ์ดำรงรัฐสีมามุกดาธิบดี (เนื่องจากไม่ไว้ในลูกหลานเจ้าอนุ จึงไม่ยอมให้กลับไป ปกครองเวียงจันทน์เลยตั้งมาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหาร) ปรากฏว่ากรมการเมืองไม่พอใจ ที่ เจ้าหนูเป็นเจ้าเวียงจันทน์มาปกครองเมืองมุกดาหาร จึงเกิดมีการทะเลาะเบาะแว้งบาดหมางกันอยู่เสมอ เจ้าจันทรเทพฯ (เจ้าหนู) จึงขอพระราชทานสัญญาบัตรให้
๑. ท้าวจีน เลื่อนขึ้น เป็นอุปฮาด (ท้าวจีนเป็นบุตรเจ้าเมืองมุกดาหารลำดับที่ ๒)
๒. เจ้าวีรบุตร (บุตรเจ้าหนู) เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวแท่ง เป็นราชบุตร (ท้าวแท่งเป็นบุตรเจ้าเมืองมุกดาหาร ลำดับที่ ๓)
ส่วนท้าวคำฮุปฮาดคนเดิม ซึ่งชาวบ้านชาวเมืองคิดว่าจะได้เป็นเจ้าเมือง เจ้าหนูได้ขอ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็น พระพฤติมนตรี ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร
พ.ศ. ๒๔๐๙ เจ้าจันทร์เทพฯ (เจ้าหนู) ได้ขอยกบ้านแขวงบางทรายขึ้นเป็นเมืองพาลุกา-กรภูมิ (ปัจจุบันคือหมู่บ้านพาลุกา ต. บ้านหว้าน) ขึ้นเมืองมุกดาหาร (พาลุกา เป็นภาษาบาลีมาจาก คำว่า พาลุกะ แปลว่า ราย) และขอพระราชทานให้ท้าวทัด (บุตรท้าวทังราชวงษ์เมืองมุกดาหาร)
ฉะนั้นเมืองมุกดาหารจึงมีเมืองขึ้นในยุคนั้น คือ
๑. เมืองหนองสูง พระไกรสรราช (สิงห์) เป็นเจ้าเมือง
๒. เมืองพาลุกากรภูมิ พระอมรฤทธิธาดา (ทัด) เป็นเจ้าเมือง
ดินแดนของเมืองมุกดาหารในยุคนั้นกว้างขวาง อาณาเขตจดแดนญวนรวมถึงเมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองเซโปน (ตะโปน) และเมืองวังมล
พ.ศ. ๒๔๐๙ เนื่องจากฝรั่งเศสได้ดินแดนญวนและเขมรกำลังจะรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของกรุงสยามทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาว) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเดชดัษกร หลวงอินทนอนันต์ ขุนวิสูตรและมิสเตอร์ โดยชักชวนชาวอังกฤษมาสำรวจทำแผนที่ตามลำน้ำโขงตั้งแต่เมืองหลวงพระบางถึงเมืองมุกดาหาร
เนื่องจากเจ้าจันทร์เทพฯ เป็นเจ้าเชื้อสายเวียงจันทน์และมีนิสัยชอบมากชู้หลายเมีย จึงเกิดความแตกแยกในเมืองมุกดาหาร ครั้งหนึ่งเจ้าจันทร์เทพนั่งคานหาม (เสลี่ยง) เข้าไปนมัสการพระธาตุพนม เกิดวิวาทกับเจ้าอาวาส (พระครูพรหมา) วัดพระธาตุพนมอย่างรุนแรง
พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สวรรคตเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) ขึ้นครองราชย์เจ้าจันทร์เทพจึงถูกกล่าวโทษ โดยพระพฤติมนตรี ที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหารอุปฮาดราชบุตรถวายฎีกาไปที่กรุงเทพฯ ให้ท้าวสีหาบุตร ท้าวสุริโยมหาราช เพี้ยเมืองแสน เพี้ยเมืองกลาง และท้าวอุทธา ถือใบบอก (คำกราบบังคมทูล) ลงไปกรุงเทพฯ เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๙
เจ้าจันทร์เทพฯ ถูกถอดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองและถึงแก่พิราลัยขณะเดินทางกลับพระนคร
เจ้าจันทร์เทพฯ มีบุตรและธิดาคือ เจ้านางบุญมี เจ้านางจำเริญ เจ้าวีรบุตร

พระพฤติมนตรี (คำ)
พระพฤติมนตรี เป็นบุตรพระยาจันทร์สุริยวงษ์ (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหาร เคยเป็นราชบุตร ราชวงษ์ และอุปฮาดเมืองมุกดาหารตามลำดับ เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหารแล้วพระพฤติมนตรี ก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่ “พระจันทร์สุริยวงษ์” ตามทำเนียบนามและได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรให้-
๑. ท้างแท่ง เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด (บุตรเจ้าเมืองในลำดับที่ ๓)
๒. ท้าวบุญเฮ้า เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวเล เป็นราชบุตร (บุตรท้าวสุวอ)
พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงใหญ่มาจัดราชการอยู่ที่เมืองอุบล อาณาเขตและอำนาจของข้าหลวงใหญ่ควบคุมถึงนครจำปาศักดิ์และเมืองมุกดาหาร
พ.ศ. ๒๔๑๘ เกิดศึกฮ่อทางเมืองหนองคายและเวียงจันทน์จึงให้เกณฑ์กองทัพเมืองมุกดาหารไปในการปราบปรามศึกฮ่อซึ่งมีเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเป็นแม่ทัพ
พ.ศ. ๒๔๒๒ พระธิเบศวงศา (ดวง) เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์เกิดวิวาทบาดหมางกับพระไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกุฉินารายณ์ถวายฎีกาขอร้องไม่ยอมขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเหนือเกล้าฯ มาจากกรุงเทพฯ ให้เมืองกุฉินารายณ์ขึ้นเมืองมุกดาหาร อีกเมืองหนึ่ง
พระพฤติมนตรี (คำ) เจ้าเมืองมีบุตรธิดาคือ ท้าวสุริยวงษ์ (เสือ) นางโถน นางถ่วนคำ ท้าวโอด ท้าวจันทร์ นางขาว พระพฤติมนตรีเจ้าเมืองได้ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๔๒๒
พระจันทร์สุริยวงษ์ (บุญเฮ้า)
เมื่อพระพฤติมนตรี เจ้าเมืองถึงแก่อนิจกรรมนั้น ท้าวแท่ง อุปฮาดก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ท้าวบุญเฮ้า ราชวงษ์ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “พระจันทร์สุริยวงษ์” เจ้าเมืองสืบแทนต่อมา ท่านเป็นบุตรของพระราชกิจภักดี (บัว) ผู้ช่วยราชการเมืองมุกดาหารและเป็นบุตรเขยของท้าวแท่ง (อุปฮาด) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นเจ้าเมืองเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ร.ศ. ๙๘ (พ.ศ. ๒๔๒๒) ได้ขอพระราชทานสัญญาบัตรตั้งกรมการเมือง คือ
๑. ท้าวเล (ราชบุตร) เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด
๒. ท้าวสุริยวงษ์ (เสือ) บุตรเจ้าเมือง (คำ) เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) บุตรอุปฮาด (แท่ง) เป็นราชบุตร
พ.ศ. ๒๔๒๒ พระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงขึ้นเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรมจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาด (ลุน) เป็นพระไกรสรราช เจ้าเมืองหนองสูงสืบแทนต่อมา
พ.ศ. ๒๔๒๕ ทัพญวนได้รุกรานดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเหนือเกล้า ให้เมืองมุกดาหารแต่งกองราชตระเวณรักษาด่านทางเหนือตั้งแต่เซบั้งไฟ ทางใต้ถึงท่าซะคุคะ ทางตะวันออกจดด้านตึงยะเหลา เขาหลวงแดนญวน และให้เมืองท่าอุเทนรักษาด่านตั้งแต่เซบั้งไฟถึงแม่น้ำปากซัน ฯลฯ
พ.ศ. ๒๔๒๖ พระธิเบศวงศา (ดวง) เจ้าเมืองกุฉินารายณ์ ขึ้นเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรม เจ้าเมืองกาฬสินธุ์คนใหม่ขอยกเมืองกุฉินารายณ์กลับไปขึ้นเมืองกาฬสินธุ์อย่างเดิม (เมืองกุฉินารายณ์ขึ้นเมืองมุกดาหาร ๔ ปี)
พ.ศ. ๒๔๒๙ พระอมรฤทธิ์ธาดา (ทัด) เจ้าเมืองพาลุกากรภูมิถึงแก่กรรม จึงขอพระราช-ทานสัญญาบัตรให้ราชวงษ์ (กุ) เป็น พระอมรฤทธิ์ธาดา เจ้าเมืองพาลุกาภูมิ ขึ้นเมืองมุกดาหาร
พ.ศ. ๒๔๓๐ ฮ่อมารุกรานเมืองหลวงพระบางและเมืองหนองคายอีกครั้งหนึ่ง ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) ราชบุตรเมืองมุกดาหาร (ภายหลังเป็นพระยาศศิวงศ์ประวัติ) เป็นนายกองคุมพลเมืองมุกดาหาร พร้อมด้วยท้าวไชยกุมาร (แป้น) กรมการเมืองมุกดาหาร และเพี้ยอินทฤาไชย (ต้นตระกูล สวัสดิวงศชัย) กรมวังเมืองมุกดาหารได้นำกำลังไพร่พลไปสมทบกับกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) และกองทัพใหญ่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมแม่ทัพใหญ่
พระจันทร์สุริยวงษ์ (บุญเฮ้า) มีบุตรธิดาคือ พระวรบุตร นางโง่น นางเป็น ท้าวเทพ นางไข่คำ นางหล้า ท้าวที นางพิม นางอุดทา นางพา ท้าวหนูขาว พระจันทร์ (บุญเฮ้า) เจ้าเมืองได้ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งหีบศิลาหน้าเพลิงจากกรุงเทพฯ มาพระราชทานเพลิงศพ
พระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ)
เมื่อเจ้าเมืองมุกดาหารถึงแก่กรรม บรรดาอุปฮาด ราชวงษ์ถึงแก่กรรมเสียก่อนแล้ว คงเหลือแต่ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) ราชบุตรรักษาราชการแทนอยู่ ๒ ปี ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) เป็นบุตรอุปฮาด (แท่ง) ท่านจึงได้นำต้นไม้เงินสองต้นสูงต้นละสองศอก ต้นไม้ทองสองต้นสูงต้นละสองศอกและเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลเกล้าฯ ถวายที่กรุงเทพมหานครพร้อมด้วยท้าวเผือก ท้าวแสง ท้าวมาต- สุริยวงษ์ และท้าวสุริโย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุวรรณสาร (เมฆ) ราชบุตรเมืองมุกดาหารเป็น “พระจันทร์เทพสุริวงษ์” เจ้าเมืองมุกดาหาร พระราชทานคณโฑทองคำ พานหมากถมเครื่องในทองคำ เสื้อเข็มทบดอกก้านแย่ง ผ้าม่วงจีนและเครื่องยศบรรดาศักดิ์ตามประเพณีท่านได้อัญเชิญสัญญาบัตรตราตั้งถึงเมืองมุกดาหารเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมการเมือง คือ
๑. ท้าวสุริยวงศ์ (เสริม) เป็นอุปฮาด (บุตรอุปฮาดแท่ง)
๒. ท้าวแสง (บุตรเจ้าเมือง) เป็นราชวงษ์
๓. ท้าวไชยกุมาร (แป้น) เป็นราชบุตร
๔. พระราชากิจภักดี (คำ) เป็นผู้ช่วยราชการ
พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้มีการจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลขึ้นในภาคอีสาน เมืองมุกดาหารขึ้นอยู่กับมณฑลลาวพวน ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน (มีอำนาจเป็นที่สองของพระเจ้าแผ่นดินในภาคนี้) ประทับอยู่ ณ เมืองหนองคาย มณฑลพวนบังคับบัญชาหัวเมืองต่อไปนี้คือ เมืองหนองคาย เมืองหล่มศักดิ์ เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองหนองหาร เมืองสกลนคร เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองกมุทาไสย เมืองโพนพิสัย เมืองเชียงขวาง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองบริคัณฑนิคม (เมืองคำเกิดคำม่วน เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณฑนิคม ต่อมาอยู่ในอาณานิคมฝรั่งเศส)
ส่วนมณฑลอื่น ๆ ก็มี มณฑลลาวตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบล) มณฑลลาวฝ่ายตะวันออก (นครจำปาศักดิ์) มณฑลลาวกลาง (นครราชสีมา) เป็นต้น
อนึ่ง เนื่องจากในสมัยพระจันทร์เทพฯ (เจ้าหนู) เป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ตกลงกับ เจ้าเมืองอุบลคือเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ขอยกเมืองสองคอนดอนดงซึ่งเคยขึ้นเมืองอุบลมาขึ้นเมืองมุกดาหาร (เมือง สองคอนดอนดงปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว) เมื่อมีการจัดการปกครองแบบมณฑลขึ้น ทางเมืองอุบลจึงขอให้เมืองสองคอนดอนดงกลับไปขึ้นเมืองอุบลอีกในปี พ.ศ. ๒๔๓๓
พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส อาณาเขตเมืองมุกดาหารจึงเหลืออยู่เฉพาะทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เนื่องจากทางราชการไม่ไว้ใจในราชการชายแดน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากำแหงสงคราม (จัน อินทรกำแหง) มาเป็นข้าหลวงกำกับ ราชการชายแดนด้านเมืองมุกดาหาร พระยากำแหงสงครามปฏิบัติราชการอยู่ที่ชายแดนเมืองมุกดาหารรวม ๓ ปี จึงเดินทางกลับ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ขณะนั่งเรือกลับไปเมืองหนองคาย ตามลำน้ำโขงถูกฝรั่งเศสที่บ้านท่าแห่ (สุวรรณเขต) จับกุมในข้อหาว่านำทหารไทยรุกล้ำชายแดน พระยากำแหงฯ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านท่าแห่หลายเดือนพร้อมด้วยลูกน้องที่ติดตามคือ หลวงชำนาญ (นายเคลือบ ทิพานนท์) ขุน ปัจจานึกพินาศ (นุ้ย เทียมสุริยา) นายตุนและนายเหมาะ
พระยาศศิวงษ์ประวัติเจ้าเมืองมุกดาหาร ได้คุมกำลังเมืองมุกดาหารไปรับราชการชายแดน เมื่อฝรั่งเศสได้รุกล้ำดินแดนของพระราชอาณาจักรสยาม ได้มีการปะทะกันที่แก่งเจ๊กและอีกหลายแห่ง กองทหารไทยจากกรุงเทพฯ ซึ่งมี พ.ต.แย้ม ภมรมนตรี (บิดา พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี) เป็น ผู้บังคับบัญชา ไม่ยอมจำนนและไม่ยอมถอนทหารกลับ แม้ทางกรุงเทพฯ จะยอมเซ็นสัญญายกดินแดนลาวทั้งหมดให้ฝรั่งเศสก็ตาม ทหารฝรั่งเศสปลดอาวุธและจับ พ.ต.แย้ม ภมรมนตรี ส่งข้ามฟากมาขึ้นที่เมืองมุกดาหาร
พ.ศ. ๒๔๔๒ ให้เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ และย้ายกองบัญชาการ มณฑลฝ่ายเหนือ จากเมืองหนองคายมาตั้งที่บ้านหมากแข้ง
ในปีเดียวกัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์เสด็จกลับพระนคร พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนา (ม.จ.ชายวัฒนา รองทรง พระองค์เจ้าหลานเธอในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์) ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่มณฑลฝ่ายเหนือแทน (ยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการ) จึงทรงปรับปรุงการปกครองมณฑลฝ่ายเหนือ โดยให้เมืองต่าง ๆ รวมกันเป็นบริเวณ คือ เมืองมุกดาหาร เมืองท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองเรณูนคร รวมกันเรียกว่าบริเวณธาตุพนม ให้แต่ละเมืองมี ผู้ว่าราชการเมืองปกครองยุบตำแหน่งเจ้าเมืองส่วนข้าหลวงมาประจำเมือง และให้ข้าหลวงประจำเมือง ผู้ว่าราชการเมือง ขึ้นกับข้าหลวงประจำบริเวณตั้งที่ทำการบริเวณที่เมืองนครพนม ตำแหน่งข้าหลวงจึงเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาราชการของผู้ว่าราชการเมือง การลงนามในหนังสือราชการจึงต้องลงนามทั้งสองคน คือทั้งข้าหลวงประจำเมืองและผู้ว่าราชการเมือง บริเวณอื่น ๆ ในมณฑลฝ่ายเหนือมีบริเวณสกลนคร บริเวณน้ำเพือง เมืองเลย บริเวณภาชีขอนแก่น บริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี)
ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองมุกดาหารคนแรก คือขุนพิทักษ์ธุรกิจ (จ๋วน) และ ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนม คือพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์)
เมื่อมีการปรับปรุงการปกครองใหม่ เจ้าเมืองมุกดาหาร คือ พระจันทรเทพสุริยวงษา (เมฆ) จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากมีอายุมาก จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระจันทรเทพฯ เจ้าเมืองเป็น พระยาศศิวงษ์ประวัติ จางวางที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงษ์ (แสง) บุตรพระยาศศิวงษ์ฯ เป็นพระจันทรเทพสุริยวงษา ผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร
พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๘๘ ท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๗๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๐)
พระจันทรเทพสุริยวงษา (แสง)
ราชวงษ์ (แสง) บุตรพระยาศศิวงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร ขึ้นกับบริเวณธาตุพนม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๒
พ.ศ. ๒๔๔๓ ให้เปลี่ยนนามมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร เลิกบริเวณต่าง ๆ ให้แต่ละเมืองขึ้นกับมณฑลอุดร เมืองมุกดาหารจึงขึ้นกับมณฑลอุดร (จัดการปกครองแบบบริเวณปีเดียว)
อนึ่ง ยังได้มีการยกเลิกตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตรในมณฑลอุดรด้วย โดยให้มี ตำแหน่งปลัดเมือง มหาดไทยเมือง ยกบัตรเมือง แทนเช่นมณฑลอื่นของกรุงสยามจึงแต่งตั้งให้
๑. อุปฮาด (เสริม) เป็นพระดำรงมุกดาหาร ตำแหน่งปลัดเมือง
๒. ราชบุตร (แป้น) เป็นพระวิจารณ์อธิกรณ์ ตำแหน่งศาลเมือง
๓. ท้าวสุก เป็นหลวงวิจารณ์อักขรา ตำแหน่งมหาดไทยเมือง
๔. ท้าวเคน เป็นหลวงบุรินทร์มุกดารักษ์ ตำแหน่งนครบาลเมือง
๕.ท้าวแสง เป็นหลวงธนาการณกิจ ตำแหน่งคลังเมือง
๖. ท้าวหนู เป็นหลวงสมัครนครมุก ตำแหน่งโยธาเมือง
ส่วนเมืองขึ้นเมืองมุกดาหาร คือเมืองหนองสูง และเมืองพาลุกากรภูมิ ก็ได้แต่งตั้งกรมการเมือง
คือ
เมืองหนองสูง หลวงอำนาจณรงค์ (บุศร์) เป็นผู้รักษาเมือง
หลวงทรงฤทธิรอน (เสือ) เป็นปลัดเมือง
ขุนอมรศักดาเดช (พรหม) เป็นคลังเมือง

เมืองพาลุกากรภูมิ หลวงเทวาสำแดงเดช (หล้า) เป็นผู้รักษาเมือง
หลวงอมรเรศรักษา (พัด) เป็นปลัดเมือง
หลวงอมรานุรักษ์ (หอม) เป็นคลังเมือง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้มีการพระราชทานเหรียญปราบฮ่อแก่ผู้ที่ไปในราชการสงครามครั้งปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ข้าราชการเมืองมุกดาหารซึ่งได้รับเหรียญปราบฮ่อ คือ
๑. พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ) จางวางเมืองมุกดาหาร
๒. พระดำรงมุกดาหาร (เสริม) ปลัดเมือง
๓. พระวิจารณ์อธิกรณ์ (แป้น) ยกบัตรเมือง
๔. หลวงพิทักษ์เทพสถาน กรมวังเมืองมุกดาหาร (ตำแหน่งกรมวัง คือ ตำแหน่งในจวนเจ้าเมือง)
๕. เพี้ยอินทฤาไชย กรมการเมืองมุกดาหาร (ต้นสกุลสวัสดิวงศ์ชัย)
พ.ศ. ๒๔๔๔ พระอนุชาติวุฒาธิคุณ (แพ ณ หนองคาย) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองมุกดาหาร แทนขุนพิทักษ์ธุรกิจ ในปีนี้ฝรั่งเศสซึ่งได้เมืองลาวเป้นเมืองขึ้น ได้มาตั้งเมืองที่บ้านท่าแห่ขึ้น ตั้งนามเมืองว่า "เมืองสุวรรณเขต" (เมืองสุวรรณเขต) ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองสุวรรณเขต คนแรกที่ฝรั่งเศสแต่งตั้งขึ้นคือ "ท้าวฮ่อม" (ญาหลวงฮ่อม) ซึ่งเป็นบุตรหลานสืบสกุลไปจากเจ้าเมืองมุกดาหารและเมืองพาลุกากรภูมิ (ดูลำดับเครือญาติมุกดาหาร)
พ.ศ. ๒๔๔๕ พระดำรงมุกดาหาร (เสริม) ปลัดเมือง และพระวิจารณ์อธิกรณ์ (แป้น) ยกบัตรเมืองมุกดาหาร ถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งหีบศิลาหน้าเพลิงจากกรุงเทพฯ มาพระราชทานเพลิงศพ
พ.ศ. ๒๔๔๙ พระจันทรเทพสุริยวงษา (แสง) ผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการถึงเมืองมุกดาหาร ในเดือนมกราคม เดือนมีนาคม เป็นเดือนสิ้นปี
สมัยเป็นอำเภอมุกดาหาร
ได้มีการปรับปรุงการปกครองในมณฑลอุดรเป็นจังหวัดและอำเภอใน พ.ศ. ๒๔๕๐ เมืองมุกดาหารถูกยุบลงเป็นอำเภอมุกดาหาร เมืองหนองสูงย้ายไปตั้งอยู่ที่บ้านนาแก เมืองพาลุกากรภูมิยุบลงเป็นตำบลบ้านหว้าน เมืองเรณูนครยุบลงเป็นตำบลเรณูนคร ตั้งอำเภอธาตุพนมขึ้นแทน ขึ้นจังหวัดนครพนม
เปิดที่ทำการอำเภอมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ผู้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอมุกดาหารคนแรก คือ หลวงทรงสราวุธ (เจิม วิเศษรัตน์) ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระบริหาราชอาณาเขต (เมื่อย้ายไปเป็นปลัดหนองคาย) ต่อมาภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสมุทรศักดารักษ์ (เมื่อย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม) ท่านได้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม อีกครั้งสุดท้าย
เมื่อมีการตั้งจังหวัดและอำเภอขึ้นแล้ว ได้มีการตั้งกรมการพิเศษจังหวัดนครพนมขึ้นผู้ที่เป็นกรมการพิเศษส่วนมากเป็นเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการเมืองเก่า ๆ คือ
๑. พระยาศศิวงษ์ (เมฆ ประวัติ) เมืองมุกดาหาร
๒. พระพินิจพนมการ (ทองคำ) เมืองนครพนม
๓. พระพิทักษ์พนมนคร (โก๊ะ) เมืองนครพนม
๔. พระศรีวรราช (แก้ว) เมืองท่าอุเทน
๕. พระอารัญอาษา (ปาน) เมืองกุสุมาลย์
๖. พระพินิจพจนกรณ์ (ทอนแก้ว)
๗. หลวงพิทักษ์ประชาชน (ตูม)
๘. หลวงสรรพกิจบริหาร (คำวัง)
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. ๒๕๒๕ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๒๑ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ ยกฐานอำเภอมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๕ เป็นต้นไป โดยให้แยกอำเภอมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคำสร้อย กิ่งอำเภอดงหลวง และกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ ออกจากการปกครองของจังหวัดนครพนม รวมตั้งขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร



ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดมุกดาหาร. ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท, ๒๕๒๙.

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8