พะเยา

ประวัติศาสตร์จังหวัดพะเยา
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
พระเยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เดิมมีชื่อว่า เมืองภูกามยาว หรือพยาว เคยมีเอกราชสมบูรณ์ มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันตติวงศ์มาปรากฏตามตำนานเมืองพะเยา ดังนี้
จุลศักราช ๔๒๑ พุทธศักราช ๑๖๐๒ พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ราชโอรสของขุนแรงกวา-กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสนมีพระราชโอรส ๒ องค์คือ ขุนจอมธรรมโอรสองค์ที่ ๒ ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ แต่ขุนชินให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน
ขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชการบริวารขนเอาพระราชทรัพย์บรรทุกม้า พร้อมพลช้าง พลม้า ตามเสด็จถึงเมืองภูกามยาว และตั้งรากฐานเมืองใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเมืองหนึ่ง นามว่า "สีหราช" อยู่เชิงเขาชมภูหางดอยด้วน ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา มีสัณฐานคล้ายลูกน้ำเต้า มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางตะวันตก อันหมายถึงกว๊านพะเยา และทางทิศอีสานคือหนองหวีและหนองแว่น ต่อมารวมไพร่พลหัวเมืองต่างๆ ได้ ๑๘๐,๐๐๐ คน จัดแบ่งได้ ๓๖ พันนาๆ ละ ๕๐๐ คน มีเขตแคว้นแดนเมืองในครั้งกระโน้น ดังนี้
ทิศบูรพา จรดขุนผากาดจำบอน ตาดม้าน บางสีถ้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่อง มีหลักหินสามก้อนฝังไว้ กิ่วฤาษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่นาด
ทิศตะวันตก โป่งปูดห้วยแก้วดอยปุย แม่คาว ไปทางทิศใต้ กิ่วรุหลาว ดอยจิกจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่ง ดอยหนอก ผาดอกวัว แซ่ม่าน ไปจรดเอาดอยผาหลักไก่ทางทิศหรดี
มีเมืองในอำนาจปกครอง คือ เมืองงาว เมืองกวา สะเอียบ เชียงม่วน เมืองเทิง เมืองสระ เมืองออย สะสาว เมืองดอบ เชียงคำ เมืองลอ เมืองเชียงแลง เมืองหงาว แซ่เหียง แซ่ลุล ปากบ่อง เมืองป่าเป้า เมืองวัง แซ่ซ้อง เมืองปราบ แซ่ห่ม ทิศใต้สุดจรดนครเขลางค์และนครหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนขรนคร (เชียงของ)
ขุนจอมธรรมปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคสมบัติ ฟ้าฝนตกตามฤดูกาลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่มีสงคราม เจ้าประเทศราชต่างๆ ก็มีสัมพันธ-ไมตรีอันดีต่อกัน ทรงสั่งสอนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยหลักธรรม ๒ ประการ คือ
- อปริหานิยธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๑
- ประเพณีธรรม ขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงามของครอบครัว ๑
ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ ๒ ปี มีโอรส ๑ พระองค์ โหรถวายคำพยากรณ์ว่า ราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป มีบุญญาธิการมากเวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น ๓ อย่าง คือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คณโฑทิพย์ จึงให้พระนามว่า "ขุนเจื๋อง" ต่อมาอีก ๓ ปี ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า "ขุนจอง" หรือ "ชิง"
เมื่อขุนเจื๋องเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้า และเพลงอาวุธต่างๆ พระชนมายุได้ ๑๖ ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่านเจ้าผู้ครองเมืองน่านเห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ "จันทร์เทวี" ให้เป็นชายาขุนเจื๋องพระชนมายุได้ ๑๗ ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ "นางแก้ว-กษัตริย์" ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง ๒๐๐ เชือก
ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ ๒๔ ปี พระชนมายุได้ ๔๙ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ ขุนเจื๋องได้ครองราชสืบแทน ครองเมืองได้ ๖ ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยาง เชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุงได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วย ขุนเจื๋องได้รวบรวมรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนอหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ "พระนางอั๊วคำคอน" ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ ขุนเจื๋องครองแทน
เมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า "พระยาเจื๋องธรรมมิกราช" ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ "ลาวเงินเรือง" ครองเมืองพะเยาแทนหัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า "นางอู่แก้ว" มีโอรส ๓ พระองค์คือ ท้าวผาเรือง ยี่คำห้าว ท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองเหรัญนครเชียงแสน ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช ๑๖๔๑ ครองราชย์สมบัติเมื่อพระชนมายุ ๒๔ ปี ครองแคว้นลานนาไทยได้ ๒๔ ปี ครองเมืองแกวได้ ๑๗ ปี รวมพระชน-มายุได้ ๖๗ ปี
ฝ่ายท้าวจอมผาเรืองราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติเมืองพะเยาได้ ๑๔ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย ขุนแพงโอรสครองราชแทนได้ ๗ ปี ขุนซองซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าแย่งราชสมบัติและได้ครองราชเมืองพะเยาต่อมาเป็นเวลา ๒๐ ปี และมีผู้ขึ้นครองราชสืบต่อมา จนถึงพระยางำเมืองซึ่งครองราชเป็นกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่ ๙ นับจากพ่อขุนจอมธรรม พ่อขุนงำเมืองประสูติเมื่อพุทธศักราช ๑๗๘๑ เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมืองสืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง พระชนมายุ ๑๔ ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์เพทในสำนักเทพอิสิตนอยู่ภูเขาดอยด้วน ๒ ปีจบการศึกษา พระชนมายุได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อ ขอถวายตัวอยู่ในสำนักสุกันตฤาษี ณ กรุงละโว้ (ลพบุรี) จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยสนิทสนมผูกไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ศึกษาศิลปศาสตร์ร่วมครูอาจารย์เดียวกันเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยา ปีพุทธศักราช ๑๓๑๐ พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พ่อขุนงำเมืองขึ้นครองราชย์แทน พ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่นเดียวกับพระร่วงเจ้าตำนานกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่ชอบสงคราม ปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ผูกไมตรีจิตต่อประเทศราชและเพื่อนบ้าน ขุนเมงรายเคยคิดยกทัพเข้าบดขยี้เมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองล่วงรู้เหตุการณ์ก่อนแทนที่จะยกทัพเข้าต่อต้าน ได้สั่งไพร่พลให้อยู่ในความสงบ สั่งให้เสนาอำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี เชิญขุนเมงรายเสวยพระกระยาหารและเลี้ยงกองทัพให้อิ่ม ขุนเมงรายจึงเลิกการทำสงครามแต่นั้นมาพ่อขุนงำเมืองจึงยกเมืองปลายแดน ซึ่งมีเมืองพาน เมืองเชี่ยนเคี่ยน เมืองเทิง และเมืองเชียงของให้แก่พระเจ้าเมงราย และทำสัญญาปฏิญาณต่อกันจะเป็นมิตรต่อกันตลอดไป
ฝ่ายพระยาร่วงซึ่งเป็นสหายคนสนิทก็ได้ถือโอกาสเยี่ยมพ่อขุนงำเมืองปีละ ๑ ครั้ง ส่วนใหญ่เสด็จในฤดูเทศกาลสงกรานต์ได้มีโอกาสรู้จักขุนเม็งรายทั้ง ๓ องค์ ได้ชอบพอเป็นสหายกัน เคยหันหลังเข้าพิงกันกระทำสัจจปฏิญาณแก่กัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภูว่าจะไม่ผูกเวรแก่กันจะเป็นมิตรสหายกัน กรีดโลหิตออกรวมกันในขันผสมน้ำ ทรงดื่มพร้อมกัน (ภายหลังแม่น้ำนี้ได้ชื่อว่า แม่น้ำอิง) ระหว่างครองราชย์ในเมืองพะเยาพ่อขุนงำเมืองเป็นผู้ทรงอุปฐากพระธาตุจอมทองซึ่งตั้งอยู่บนดอยจอมทองซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพะเยาที่ประชาชนสักการะบูชามาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อพ่อขุนงำเมืองสิ้นพระชนม์ลง โอรสคือ ขุนดำแดงสืบราชสมบัติแทนเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๑๖ พ่อขุนดำแดงมีโอรสชื่อ ขุนคำลือซึ่งครองราชสมบัติแทนต่อมา ในสมัยนั้นพระยาคำฟูผู้ครองนครชัยบุรีศรีเชียงแสน ชวนพระยากาวเมืองน่านยกทัพตีเมืองพะเยา แต่พระยาคำฟูตีได้ก่อนเกิดขัดใจกันสู้รบกันขึ้น พระยาคำฟูเสียทีก็เลยยกทัพกลับเชียงแสน กองทัพพระยากาวเมืองน่านติดตามไปยกทัพเลยไปตีถึงเมืองฝาง ได้แต่ถูกทัพของ พระยาคำฟูตีถอยล่นกลับเมืองน่าน เมืองพะเยาในสมัยนั้นอ่อนแอมากจึงได้รวมอยู่กับอาณาจักรลานนา
พุทธศักราช ๑๙๔๙ พระเจ้าไสลือไทยยกกองทัพหมายตีเมืองเชียงใหม่และผ่านเขตเมืองพะเยา หมายตีเอาเมืองพะเยาด้วย แต่ไม่สำเร็จ

สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยพระเจ้าติโลกราชครองอาณาจักรลานนาไทย (พุทธศักราช ๑๙๘๕-๒๐๒๕) แผ่อำนาจลงไปทางใต้ปราบปรามเมืองสองแคว เมืองเชลียง เมืองสุโขทัยตลอดถึงเมืองกำแพงเพชรอยู่ในอำนาจ
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๑๙๙๔-๒๐๓๐ พระยายุทิศเจียงเจ้าเมืองสองแควซึ่งสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกราชได้มาครองเมืองพะเยา ทรงสร้างพระเจดีย์วัดพระยาร่วง (วัดบุญนาค) ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "หลวงพ่อนาค" ทรงก่อสร้างวิหารวัดป่าแดง หลวงพ่อดอนชัย และอัญเชิญพระพุทธปฏิมาแก่นจันทน์แดงจากวัดปทุมมาราม (หนองบัว) มาประดิษฐานไว้ด้วยต่อมาพระเจ้าติโลกราชสั่งให้นำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดอโศการาม (วัดป่าแดงหลวง) เชียงใหม่ นอกนั้นพระยายุทิศเจียงยังเอาช่างปั้นถ้วยชามเครื่องสังคโลกอันเป็นศิลปของกรุงสุโขทัยไปเผยแพร่การปั้นถ้วยชามสังคโลกด้วย ตั้งแต่นั้นมาเมืองภูกาม-ยาวก็รวมอยู่กับอาณาจักรลานนาไทยมาโดยตลอด
จากหลักฐานศิลาจารึกต่างๆ ปรากฏว่าเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๓๔ พระยาเมืองยี่ครองเมืองพะเยา พระยอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ กับตายายสองผัวเมียสร้างพระเจ้าตนหลวงเริ่มสร้างได้ ๕ วัน พระยาเมืองยี่ถึงแก่พิราลัยต่อมาพระยอดเชียงรายก็สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน
พุทธศักราช ๒๐๓๙ พระเมืองแก้วราชโอรสพระยอดเชียงรายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระยาหัวเคี่ยนครองเมืองพะเยา ได้ ๒๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์
พุทธศักราช ๒๐๖๗ สร้างพระเจ้าตนหลวงเสร็จ รวมเวลาก่อสร้าง ๓๓ ปี
พุทธศักราช ๒๑๑๑ พระเจ้าหงสาวดีเกณฑ์กองทัพพม่า ไทยใหญ่ ลื้อ มอญ ลานนาไทย ยกไปตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อตีได้แล้วให้พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสองแควไปครองกรุงศรีอยุธยา
พุทธศักราช ๒๑๑๕ พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ยกทัพตีเมืองหนองหาญ อาณาจักรลานช้างและลานนาไทยได้กวาดต้อนผู้คนไปด้วย
ต่อมาพระเจ้ามังตรา (บุเรงนอง) สวรรคต และปีพุทธศักราช ๒๑๔๑ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงหงสาวดีก็หนีกลับมาเชียงใหม่

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พุทธศักราช ๒๓๓๐ เจ้าเมืองอังวะสั่งให้หวุ่นยี่มหาไชยสุระยกทัพมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ผ่านฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยาด้วย ผู้คนกลัวแตกตื่นอพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไปเป็นเวลาถึง ๕๖ ปี
พุทธศักราช ๒๓๘๖ พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทูลขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง
ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ ๑ ของพระยานครอินทร์เป็นพระยาประเทศอุดรทิศผู้ครองเมืองพะเยา ตั้งนายน้อย มหายศ และตั้งนายแก้ว มานุตตม์ น้องคนที่ ๒ และ ๓ เป็นพระยาอุปราชเมืองพะเยาและพระยาราชวงศ์เมืองพะเยาตามลำดับ ตั้งนายขัติยะบุตรพระยาประเทศอุดรทิศเป็นพระยาเมืองแก้ว และตั้งนายน้อย ขัติยะบุตรราชวงศ์หมู่ส่าเป็นพระยาราชบุตรเมืองพะเยา ผู้ครองเมืองพะเยาทุกคนจึงได้รับพระราชทานนามว่า "พระยาประเทศอุดรทิศ" แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่นเจ้าหลวงวงศ์
ปีพุทธศักราช ๒๓๙๑ พระยาอุปราช (น้อย มหายศ) รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงจุลศักราช ๑๒๑๗ (พุทธศักราช ๒๓๙๘) ก็ถึงอนิจกรรม
พุทธศักราช ๒๓๙๘ พระยาราชวงศ์เมืองพะเยา (เจ้าบุรีรัตนะหรือเจ้าแก้ว ขัติยะ) ได้รับสัญญาบัตรเป็นเจ้าเมืองพะเยา ครองเมืองได้ ๖ ปี ก็ถึงอนิจกรรม
พุทธศักราช ๒๔๐๓ เจ้าหอหน้าอินทะชมภู รับสัญญาบัตรเป็นผู้ครองเมืองพะเยาได้ ๑๑ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๓
พุทธศักราช ๒๔๑๘ เจ้าหลวงอริยะเป็นเจ้าเมืองพะเยาถึงปีพุทธศักราช ๒๔๓๗ ก็ถึงแก่ อนิจกรรม เจ้าไชยวงศ์เป็นผู้ครองเมืองพะเยาต่อมาถึง ๙ ปี พุทธศักราช ๒๔๔๕ เกิดจราจลขึ้นทาง หัวเมืองฝ่ายเหนือ โจรผู้ลี้ภัยเงี้ยวเข้ายึดเมืองพะเยา ปล้นเอาทรัพย์สินทางราชการ ประชาชน วัดวาอารามไป คนแตกตื่นหนีไปลำปาง ได้ยกกำลังตำรวจทหารจากลำปางมาปราบรบกันอยู่ที่บริเวณบ้านแม่กา เงี้ยวล้มตายเป็นจำนวนมาก
พุทธศักราช ๒๔๔๕ ตำรวจ เจ้านาย กรรมการบ้านเมืองได้เกณฑ์ผู้คนก่อสร้างเสริมกำแพงเมืองให้มั่นคงมากขึ้น เมืองพะเยาในสมันนั้นมีฐานะเป็นจังหวัด เจ้าหลวงอุดรประเทศทิศ (ไชยวงศ์) เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา หลวงศรีสมรรตการเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสารตำแหน่งข้าหลวงผู้ช่วยหรือปลัดจังหวัด
พุทธศักราช ๒๔๔๘ เจ้าหลวงอุดรประเทศทิศ (ไชยวงศ์) ถึงแก่พิราลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบบริเวณจังหวัดพะเยาให้เป็นแขวงพะเยา ให้ย้ายหลวงศรีสมรรตการข้าหลวงประจำจังหวัดพะเยาไปรับตำแหน่งจังหวัดอื่น และโปรดเกล้าฯ ให้อุปราชมหาชัย ศีติสารรักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา
พุทธศักราช ๒๔๔๙ เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระยาประเทศ-อุดรทิศ ดำรงตำแหน่งผู้ครองเมืองพะเยาองค์สุดท้าย การปกครองแผ่นดินสมัยนั้นมีการบริหารงานเป็นกระทรวง มณฑล จังหวัด อำเภอ ดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า มณฑลพายัพ
ผู้บริหารระดับกระทรวงเรียกว่า เสนาบดี
ผู้บริหารระดับมณฑลเรียกว่า สมุหเทศาภิบาล
ผู้บริหารระดับจังหวัดเรียกว่า ข้าหลวงประจำจังหวัด
ผู้บริหารระดับอำเภอเรียกว่า เจ้าเมืองบ้างหรือนายอำเภอบ้าง
พุทธศักราช ๒๔๕๗ ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองใช้ตำแหน่งนายอำเภอแทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงแต่งตั้งนายกลาย บุษบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา และได้รับแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์เป็นรองอำมาตย์โทขุนสิทธิประศาสน์ เป็นนายอำเภอคนแรกมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร จัดการศึกษา การอาชีพ และบำรุงพุทธศาสนา จนพุทธศักราช ๒๔๖๕ ย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่จัน
พุทธศักราช ๒๔๖๖-๒๔๖๙ พระแสน สิทธิเขตดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มีเหตุการณ์สำคัญคือ เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการอำเภอ และสร้างหลังใหม่คือหลังปัจจุบัน
พุทธศักราช ๒๔๗๐-๒๔๗๑ หลวงประดิษฐอุดมการ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองพะเยา เหตุการณ์บ้านเมืองปกติ
พุทธศักราช ๒๔๗๒-๒๔๗๖ พระบริภัณฑธุรราษฎรเป็นนายอำเภอ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ เกิดการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เหตุการณ์ด้านภาคพายัพปกติ ประชาชนยังคงอยู่กันด้วยความสงบสุข
พุทธศักราช ๒๔๗๗- ๒๔๗๘ นายผล แผลงศร เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา สนใจทำนุ-บำรุงด้านการศาสนาเป็นพิเศษ ละเอียด สุขุม นิ่มนวลเข้ากับประชาชนได้ดีมีส่วนริเริ่มปรับปรุงกว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำบำรุงพันธ์ปลา ร่วมกับกรมเกษตรการประมง

พุทธศักราช ๒๔๗๘-๒๔๘๐ พระศุภการกำจร เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาเริ่มสำรวจกว๊านพะเยารวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จะใช้ประกอบการพัฒนากว๊านพะเยา ตามวัตถุประสงค์ของกรมเกษตรการประมง ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ นั่นเอง นายอุ่นเรือน ฟองศรี ศึกษาธิการอำเภอเมืองพะเยาสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้น โรงเรียนแรกคือ โรงเรียนพะเยาพิทยาคม
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ ขุนนาควรรณวิโจรน์ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาได้ขอตั้งเทศบาลเมืองพะเยาขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๘๐
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ นายสุจิตต์ สมบัติศิริ เป็นนายอำเภอพะเยา เริ่มลงมือก่อสร้างประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา
พุทธศักราช ๒๔๘๒-๒๔๘๓ นายผล แผลงศร กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองพะเยาอีกครั้งหนึ่ง สร้างประตูระบายน้ำกว๊านพะเยาได้เสร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ สร้างที่ทำการของสถานีประมง ริเริ่มจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลเมืองพะเยา
พุทธศักราช ๒๔๘๔ นายสนิท จูทะรพ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองพะเยาเป็นช่วงอยู่ในภาวะสงครามมหาเอเซียบูรพา ประเทศไทยจำใจเข้าร่วมสัมพันธไมตรี กับประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ได้มีการระดมกำลังทหารไปตรึงชายแดนภาคเหนือ ไว้เป็นจำนวนมาก จังหวัดพะเยาในเวลานั้นจึงเต็มไปด้วยทหาร พุทธศักราช ๒๔๘๕-๒๔๘๖ นายทองสุข ชมวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น ข้าศึกโจมตีทางอากาศ ทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหายมาก ผู้คนล้มตายและเกิดโรคระบาดคือ มาเลเลีย ซึ่งเกิดจากทหารติดเชื้อมาจากเชียงตุง ผู้คนล้มตายกันมาก มีการลักขโมยปล้นฆ่ากันบ่อยครั้ง เหตุการณ์ไม่ค่อยสงบประชาชนไม่กล้าออกไปทำมาหากิน
พุทธศักราช ๒๔๘๖-๒๔๙๐ นายฉลอง ระมิตานนท์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองพะเยาประสานงานกับฝ่ายทหาร ตำรวจปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ดีสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้จนสงครามสงบจึงหันมาฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมอาชีพของราษฎร
พุทธศักราช ๒๔๙๐-๒๔๙๖ นายผลิ ศรุตานนท์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา เหตุการณ์สู่ภาวะปกติเริ่มฟื้นฟูทั้งด้านวัตถุและจิตใจของประชาชน
เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๙๔ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุในองศ์พระเจดีย์วัด ป่าแดงหลวงดอนไชย
ระหว่างเดือนกันยายน ๒๔๙๕ ฝนตกหนักน้ำไหลบ่าท่วมบ้านเรือนราษฎรถนนขาดเป็นตอนๆ การคมนาคมทางบนถูกตัดขาด เป็นผู้ริเริ่มกันที่ดินเพื่อสงวนไว้เพื่อเป็นประโยชน์ของทางราชการ เช่น ที่ดิน โรงพยาบาล ศาลากลางจังหวัดและศูนย์ราชการมีพื้นที่ประมาณ ๑๗๐ ไร่
พุทธศักราช ๒๔๙๖-๒๔๙๗ ขุนจิตต์ ธุรารักษ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา เร่งปราบปรามโจรผู้ร้าย การเล่นการพนันและส่งเสริมอาชีพ
พุทธศักราช ๒๔๙๗-๒๕๐๐ นายวิฑิต โภคะกุล ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา มีนโยบายเร่งรัดพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมศีลธรรมจริยธรรม ทำการบูรณะถนนหนทางขุดลำเหมืองส่งน้ำจากกว๊านพะเยา สร้างโรงพยาบาลพะเยา และได้ยกฐานะเป็นอำเภอชั้นเอก
พุทธศักราช ๒๕๐๑-๒๕๐๒ นายวรจันทร์ อินทกฤษณ์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา เร่งรัดปรับปรุงถนนหนทาง ปราบปรามอันธพาล ร่วมริเริ่มก่อตั้งการปะปาพะเยาซึ่งสร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๐๑ อยู่ไม่นานก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสระบุรี ต่อมานายสวัสดิ์ อรรถศิริ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยาแทนไม่นานก็ย้ายไป
พุทธศักราช ๒๕๐๒-๒๕๐๔ นายศิริ เพชรโรจน์ มาดำรงตำแหน่งแทนได้ปรับปรุงการทำงานของข้าราชการให้รัดกุม มุ่งการพัฒนาท้องถิ่นถนนหนทางสายต่างๆ แนะนำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบลให้รู้จักการทำงานและมีความขยันหมั่นเพียร และมีการพิจารณาให้รางวัลความดีความชอบ
พุทธศักราช ๒๕๐๔-๒๕๑๑ นายจรูญ ธนะสังข์ ย้ายมาดำรงตำแหน่ง นายอำเภอพะเยา ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ เกิดเพลิงไหม้ตลาดเมืองพะเยา ค่าเสียหายประมาณ ๒ ล้านบาทเศษ
พุทธศักราช ๒๕๑๒-๒๕๑๓ นายทวี บำรุงพงษ์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยาในระยะนี้ ได้มีการก่อตั้งแขวงการทางพะเยาขึ้น และเปิดสำนักงานเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๑๓
พุทธศักราช ๒๕๑๔-๒๕๑๗ นายชื่น บุณย์จันทรานนท์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๖ เกิดพายุฝน ฝนตกหนักน้ำไหลบ่าท่วมบ้านเรือนราษฎรเสียหายมาก
พุทธศักราช ๒๕๑๗-๒๕๒๐ นายประมณฑ์ วสุวัต ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา
พุทธศักราช ๒๕๒๐ นายจรัส ฤทธิ์อุดม ดำรงตำแหน่งนายอำเภอพะเยา
จากเมืองประวัติศาสตร์ที่มีเอกราชมาช้านาน และกลายเป็นแคว้นหนึ่งอยู่ในอาณาจักร ลานนาไทย และเปลี่ยนฐานะมาเป็นจังหวัดหนึ่งขึ้นอยู่กับมณฑลพายัพมีเจ้าผู้ครองนคร และถูกยุบมาเป็นอำเภอหนึ่ง ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงที่เป็นอำเภอพะเยา (พุทธศักราช ๒๔๕๗-๒๕๒๐) ได้ ๖๓ ปี มี นายอำเภอดำรงตำแหน่งถึง ๒๕ นาย จนเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๐ ได้รับยกฐานะจากอำเภอพะเยาขึ้นเป็นจังหวัดพะเยามาตราบเท่าทุกวันนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8