สุราษฎร์ธานี

ประวัติศาสตร์จังหวัดสุราษฎร์ธานี


สุราษฎร์ธานีเป็นนามซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เนื่องจากการเรียกชื่อเมืองก่อนหน้านั้นยังซ้ำซ้อนและสับสนกันอยู่ ประกอบกับพระองค์ได้ทรงพิจารณาว่าประชาชนทั่วไปในเมืองนี้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย และทรงทราบจากผู้ปกครองเมืองว่า ประชาชนในเมืองนี้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมเคารพและยึดมั่นในพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองเดิม จากเมืองไชยา มาเป็นเมือง สุราษฎร์ธานี
ก่อนที่จะกล่าวถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ควรจะทราบประวัติความเป็นมาของจังหวัดในอดีตเสียก่อนว่ามีประวัติความเป็นมาในแต่ละสมัยอย่างไร
สุราษฎร์ธานีในสมัยศรีวิชัย
ดินแดนส่วนที่เป็นด้ามขวานของไทย จนถึงแหลมมลายู ก่อนที่จะมาเป็นดินแดนภาคใต้ของไทยและประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐมาเลเซียทุกวันนี้ ในอดีตเคยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญ รุ่งเรืองมาก่อน มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อ ๆ กันมาหลายยุคหลายสมัย บางครั้งก็เจริญรุ่งเรืองสูงสุด บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรอื่น ๆ เช่น ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรฟูนัน จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เมื่ออาณาจักรฟูนันซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ทางอิสานเสื่อมอำนาจลง บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทางภาคใต้ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรฟูนัน จึงได้ตั้งเมืองอิสระขึ้น ในระยะนี้กล่าวถึงชื่อประเทศใหม่ ๆ ในแหลมมลายู เช่น ประเทศครหิ ตั้งเมืองหลวงอยู่อ่าวบ้านดอน ตอนที่เป็นไชยาทุกวันนี้ อีกประเทศหนึ่งชื่อตามพรลิงค์หรือ ตามพรลิงเคศวร ตั้งเมืองหลวงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ต่อมากษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์องค์หนึ่งมีอานุภาพมาก ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาถึงและรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้เข้าไว้เป็นอาณาจักรหนึ่ง แผ่อาณาเขตขึ้นมาเกือบครึ่งค่อนแหลมมลายู คือ ตั้งแต่เขตเมืองไชยาลงไปมีชื่อว่า อาณาจักรศรีวิชัย
กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ปกครองอาณาจักรศรีวิชัยนี้ เล่ากันว่า สืบเชื้อสายมาจากปฐมกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรฟูนัน ซึ่งมีประวัติพิสดารตามที่ราชฑูตจีนที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับฟูนัน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๘– ๙ เขียนเล่าในจดหมายเหตุว่า แต่เดิมกษัตริย์ที่ปกครองฟูนัน เป็นผู้หญิง ทรงพระนามว่า พระนางหลิวเหยหรือ พระนางใบสน ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อโกณฑัญญะ มาจากดินแดนแห่งหนึ่งอาจจะเป็นอินเดีย แหลมมลายู หรือหมู่เกาะทางใต้ เกิดฝันไปว่าเทวดาประทานธนูให้และสั่งให้ลงเรือสำเภาออกทะเลไป จะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ยังดินแดนแห่งหนึ่ง รุ่งเช้าโกณฑัญญะ ตื่นขึ้นจึงตรงไปยังเทวาลัย ก็ได้พบธนูสมดังความฝัน จึงลงเรือสำเภาจากอินเดียแล่นเรือเรื่อยมาจนถึงอาณาจักรฟูนัน พระนางใบสนทราบข่าวก็นำเรือและกำลังอาวุธออกมาต้านทานไม่ให้โกณฑัญญะและพรรคพวกที่ติด-ตามมาขึ้นจากเรือ โกณฑัญญะยิงธนูศักดิ์สิทธิ์ ไปตรึงเรือของพระนางใบสน ผู้คนชาวฟูนันล้มตายลงเป็นอันมาก พระนางใบสนจึงยอมอ่อนน้อมและยอมอภิเษกสมรสด้วย โกณฑัญญะตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรฟูนัน
ดอกเตอร์ควอริตย์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้เขียนเรื่องราวของกษัตริย์ไศเลนทร์ไว้ว่า เมื่อราว พ.ศ. ๑๒๗๓ - ๑๗๔๐ หลังจากที่อินเดียเกิดยุคเข็ญเป็นจลาจลอย่างหนักแล้ว ราชวงศ์ปาละ ได้เป็นใหญ่ในแคว้นเบงกอล บ้านเมืองจึงได้สงบเป็นปกติดังเดิม พระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นี้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน อิทธิพลของแคว้นนี้ได้แพร่หลายไปทางตอนใต้ของอินเดียรวมทั้งแคว้นไมสอร์ ซึ่งมีกษัตริย์ราชวงศ์ดังคะ ที่เป็นเชื้อสายของกษัตริย์ราชวงศ์ปาละปกครองอยู่ด้วย แต่บ้านเมืองในแคว้นไมสอร์ขณะนั้น ไม่ค่อยเป็นปกตินัก จึงมีเจ้านายในราชวงศ์นี้พร้อมด้วยอนุชาสี่องค์ลงเรือข้ามน้ำทะเลขึ้นบกที่เมืองตะกั่วป่า แล้วเดินทางเข้ามาแย่งเอาเมือง ครหิหรือเมืองไชยาไว้ แล้วตั้งตนเป็นอิสระ ได้แผ่อาณาเขตออกไปจนตลอดแหลมมลายู และตั้งเป็นอาณาจักรศรีวิชัย
เรื่องการตั้งอาณาจักรศรีวิชัยและศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย ในวงการประวัติศาสตร์ไม่อาจยุติได้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร หรือตั้งอยู่ที่ใดแน่ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีทำให้ทราบว่า ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยลงไปจนถึงอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลแบบศรีวิชัยแทบทั้งสิ้น
ถึงแม้เรื่องราวความเป็นมาของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ที่ได้แก่ การครองอาณาจักรศรีวิชัยต่อมาจะไม่ค่อยตรงกันโดยตลอดก็ตาม แต่ก็ยังจับเค้าได้ว่า ผู้ที่ได้มาเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้มาจากอินเดียอย่างแน่นอน และเป็นผู้หนึ่งที่ได้นำอารยธรรมของอินเดียมาเผยแพร่ยังดินแดน แหลมทอง
ข้อสรุปนี้ผูกมัดเกินไป เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แน่นอนพอจะทำให้ทราบได้ว่าผู้ที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้มาจากอินเดียโดยตรง ในฐานะพ่อค้าหรือพราหมณ์ แล้วเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง หรือทางวัฒนธรรมซึ่งจะพัฒนาต่อมาในดินแดนแถบนี้
อาณาจักรศรีวิชัย มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น ในจดหมายเหตุหลวงจีนอี้จิง ซึ่งเดินทางมาศึกษาพระธรรมในอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้เขียนไว้ว่า “ระหว่างเดินทางยังได้แวะที่เกาะสมุยตราและว่าในเกาะนี้มีประเทศชื่อ ชีหลีทุดชี เป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูง นับถือพุทธศาสนา-นิกายฝ่ายใต้” นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า “กรุงศรีวิชัยไปมาหาสู่ติดต่อกับอินเดีย มีเรือบรรทุกสินค้าไปจำหน่ายยังเมืองท่าต่าง ๆ ในอินเดีย”
อาณาจักรศรีวิชัยนี้เป็นตลาดใหญ่ย่านกลางของสินค้าเครื่องเทศในสมัยนั้น มีเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าไปขายยังเมืองโอมาน ประเทศอาหรับด้วย พ่อค้าชาวอาหรับจึงรู้จักกรุงศรีวิชัยและได้จดหมายเหตุไว้ แต่เรียกกรุงศรีวิชัยว่า กรุงซามะดะ มีข้อความปรากฏในหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีนสมัยโบราณของพระยาอนุมานราชธนเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของกรุงศรีวิชัยในจดหมายเหตุชาวอาหรับอยู่ตอนหนึ่งว่า
“รายได้แผ่นดินของพระเจ้าไศเลนทร์ส่วนหนึ่ง ได้จากค่าอาชญาบัตรไก่ชน ไก่ตัวใดชนะ ไก่นั้นตกเป็นสิทธิของมหาราช เจ้าของจะต้องนำทองคำไปถวาย สิ่งหนึ่งที่พ่อค้าอาหรับเหล่านี้เห็นควรกล่าวคือ ในเวลาเช้าทุกวัน มหาราชเสด็จประทับในพระราชมณเฑียรซึ่งหันหน้าสู่สระใหญ่ ขณะนั้นมหาดเล็กนำอิฐทองคำเข้ามาถวายแผ่นหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสให้ข้าราชการโยนอิฐทองคำลงไปในสระทันที สระนี้น้ำขึ้นลงเพราะมีคลองหรือลำธารน้อย ๆ เชื่อมถึงสระกับทะเล เวลาน้ำขึ้นก็ท่วมกองอิฐ-ทองคำซึ่งโยนสะสมไว้ทุกวัน เวลาน้ำลดก็มองเห็นอิฐทองคำเหล่านั้นโผล่ขึ้นเหนือน้ำ เมื่อต้องแสงแดดส่องแลเหลืองอร่าม มหาราชตรัสว่า “จงดูพลังของเรา” การโยนอิฐลงในสระนั้นเป็นประเพณีที่มหาราชแห่งกรุงซามะดะทุกองค์ประพฤติสืบกันมา ถ้ามหาราชองค์ใดสิ้นพระชนม์ลง มหาราชองค์ที่สืบราช-สมบัติต่อก็เก็บรวบรวมอิฐทองคำเหล่านั้นไปหลอม แล้วทรงแจกจ่ายให้ปันแก่พระญาติวงศ์และข้าราช-การ เหลือนอกนั้นประทานแก่คนยากจน จำนวนแผ่นอิฐทองคำของมหาราชองค์หนึ่ง ๆ ที่โยนสะสมไว้ในสระเมื่อถึงเวลาสิ้นพระชนม์ก็เก็บรวบรวมและจดจำนวนลงบัญชีไว้ถูกต้อง ถ้าองค์ใดเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้วปรากฏว่ามีแผ่นอิฐทองคำที่สะสมไว้เป็นจำนวนมากที่สุดก็นิยมยกย่องมหาราชองค์นั้นอย่างสูงเพราะถือว่าได้เสวยราชย์มานานปี จำนวนอิฐทองคำจึงมีมาก”
แม้อาณาจักรศรีวิชัยจะเจริญมากดังได้กล่าวมาแล้วและมีอายุมากนานถึง ๖๐๐ ปี แต่ก็ไม่สามารถชี้ได้ชัดลงไปว่า เมืองหลวงหรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ใดแน่ ต้องใช้หลักฐานทางโบราณคดีเข้าช่วย จนกว่าจะเป็นที่ยอมรับกันแน่นอน ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ได้มีผู้สันนิษฐานกันหลายอย่างว่าจะอยู่ที่ใดแน่ เช่น ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ สันนิษฐานว่าอาณาจักรศรีวิชัยนั้นมีราชธานีอยู่ที่เกาะสุมาตรา ตั้งอยู่ทางทิศระวันตกของเมืองปาเล็มบังปัจจุบันนี้ และเมื่อมีอำนาจมากขึ้นจึงได้แผ่อาณาเขตขึ้นมาครอบครองตลอดแหลมมลายูจนถึงดินแดนเมืองไชยา ส่วนนักโบราณคดีชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อ มาชุมทาร์ เห็นว่าราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยไม่ควรอยู่ที่ปาเล็มบังในเกาะสุมาตรา เพราะในเกาะสุมาตราไม่ปรากฏซากบ้านเมืองสมกับเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอันใหญ่โตแต่อย่างใดเลย ที่ถูกควรจะอยู่ที่ใดที่หนึ่งในแหลมมลายูมากกว่า
ดร. ควอริตย์ เวลส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ เห็นว่าการหาหลักฐานจากหนังสืออย่างเดียวไม่พอ จึงได้ลงทุนสำรวจค้นคว้าด้วยตนเอง โดยเดินทางตัดข้ามแหลมมลายูจากตะกั่วป่ามาบ้านดอน ตามแบบที่ชาวอินเดียใช้เป็นเส้นทางเดิน ในที่สุดก็ลงความเห็นว่าราชธานีของราชวงศ์ ไศเลนทร์ ซึ่งครอบครองอาณาจักรศรีวิชัยควรจะเป็นที่เมืองไชยา เพราะปรากฏว่ามีเมืองโบราณหลายแห่งรอบ ๆ เมืองไชยา และยังพบโบราณวัตถุโบราณสถาน เช่น พระบรมธาตุไชยา พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ เป็นจำนวนมากในเมืองไชยาอีกด้วย แม้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง- ราชานุภาพก็ทรงเขียนเกี่ยวกับเรื่องเมืองไชยา ความตอนหนึ่งว่า
เมืองไชยาเป็นเมืองใหญ่มาก ใหญ่กว่าเมืองไหน ๆ ในแหลมมลายู เพราะมีแม่น้ำหลวง (ตาปี) ไหลมาออกที่นั่น สืบตามลำน้ำขึ้นไปถึงคีรีรัฐนิคมมีทางข้ามไปลงแม่น้ำตะกั่วป่า ลงทางตะกั่วป่าได้อย่างสบาย ทางสายนี้เป็นทางที่พวกอินเดียลงมา เมื่อพิจารณาเทียบกับเมืองนครฯ แล้วจะเห็นได้ว่านครฯ มีหาดทรายแก้วยาวเพียงแห่งเดียว ทางตะวันออกก็เป็นชายเพือยจนจดทะเล ทางตะวันตกก็เป็นที่ลุ่มแม่น้ำก็เป็นแม่น้ำน้อย ที่ทำกินเพียงแต่พอมี ฉะนั้น จะถือเป็นเมืองใหญ่โตไม่ได้ด้วยเหตุนี้ จึงรับรองได้ด้วยวิชาโบราณคดีว่า เมืองนครศรีธรรมราชนั้นไม่มีอะไรนอกจากพระมหาธาตุซึ่งเป็นชิ้นหลัก ตำนานเมืองนครฯ ปรากฏว่าพวกแขกพงศาวดารลังกามาเขียนในนครฯ ก็มี เชื่อได้ยาก พระมหาธาตุที่นครฯ นั้นก็เป็นของที่มีกำหนดสร้างแน่นอนค้นได้ ส่วนที่ไชยานั้นมีมาก มหาธาตุก็มี วัดแก้วก็มี วัดเวียงก็มี ได้เคยค้นเมืองไชยาล้ำไปถึงเมืองชุมพร ท่าแซะ ฯลฯ ไม่พบเมืองเก่า เมืองเก่าคงมีเพียงเมืองไชยาเมืองเดียว เมืองโบราณเดิมเห็นจะอยู่ที่เมืองไชยาแน่นอนไม่มีที่สงสัย ส่วนที่นครฯ นั้นเป็นเมืองที่เกิดขึ้นสมัยที่ไชยาเจริญ แต่เกิดภายหลังจารึกที่พบทั้งหมดอาจอยู่ที่ไชยา
ปัจจุบัน ไชยาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพระธาตุไชยาอยู่ในวัดพระ-บรมธาตุไชยาราชวรวิหาร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ในสมัยศรีวิชัยเป็นอันมากที่ขุดค้นพบที่ไชยาในบริเวณใกล้เคียงมีวัดเก่า ๆ เช่นเจดีย์วัดหลวงซึ่งยังมีฐานเจดีย์สมัยศรีวิชัยปรากฏอยู่ เข้าใจว่าอาจจะเป็นซากปราสาทอิฐที่พระเจ้ากรุงศรีวิชัยสร้าง ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก เจดีย์วัดแก้ว เป็นเจดีย์สมัยศรีวิชัยที่ยังดีอยู่มาก และวัดเวียง ซึ่งเป็นที่พบจารึกกรุงศรีวิชัย พ.ศ. ๑๓๑๘ กล่าวถึงพระเจ้าราชาธิราชองค์หนึ่งด้วย พระนามศรีวิชเยศวรภุมดี ศรีวิชเยนทรราชาศรีวิชัยนฤปติ ตอนต้นยกย่องว่า พระองค์มีคุณธรรมอันประเสริฐ พระพรหมบรรดาลให้พระองค์มาบังเกิดในโลก เพราะพระพรหมทราบประสงค์ที่จะทำให้พระธรรมมั่นคงในอนาคต พระองค์สร้างประสาทหินอันงามราวกับเพชรสามประสาทเป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์ปัทมะปราณี พระผู้ผจญพระยามารและพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ส่วนด้านหลังจารึกว่าองค์พระศรีวิชเยศวรภุมดีที่กล่าวถึงในด้านหน้านั้นเป็นพระเจ้าราชาธิราชทรงพระนามวิษณุและศรีมหาราช ทรงเป็นมหาราชแห่งไศเลนทร์วงศ์
ยิ่งกว่านั้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณรอบอ่าวบ้านดอนนอกจากเมืองไชยายังมีร่องรอยของเมืองเก่าอีกหลายแห่ง เช่น เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองท่าทอง เมืองพุนพิน และเมืองเวียงสระ ชวนให้สันนิษฐานว่าเมืองไชยาจะต้องเป็นเมืองหลวง หรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัย

สุราษธร์ธานีในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงตรงกับสมัยที่กรุงสุโขทัยกำลังเจริญรุ่งเรือง และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู เมืองไชยาซึ่งเป็นเมืองในอาณาจักรศรีวิชัย จึงตกอยู่ใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย
ในสมัยอยุธยา มีเมืองสำคัญทางใต้คือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยาเป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีเมืองเล็ก ๆ ขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช คือ เมืองคีรีรัฐนิคม เมืองท่าทอง
ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพแล้วจึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยา หลวงสิทธิ์ ปลัดผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อทราบข่าวเสียกรุงศรีอยุธยาจึงตั้งตนเป็นอิสระ เป็นเจ้าครองเมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายศักดิ์เป็นแม่ทัพไปปราบ เดินทัพผ่านเมืองปะทิว เมืองชุมพร เจ้าเมืองชุมพรคุมสมัครพรรคพวกเข้าสมทบกรุงธนบุรี เดินทัพถึงเมืองไชยา หลวงปลัดเมืองไชยารวบรวมสมัครพรรคพวกเข้าสมทบด้วย หลวงนายศักดิ์เห็นปลัดเมืองไชยาเป็นผู้มีความสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแต่งตั้งเป็นพระยาวิชิตภักดีสงคราม (พระยาคอปล้อง) เป็นราชทินนามเมืองไชยาสืบมา ทัพหลวงนายศักดิ์เดินทางข้ามแม่น้ำตาปีที่ท่าข้าม (อำเภอพุนพิน) หลวงศักดิ์ตั้งรับทัพเมืองนครศรีธรรมราช ที่จะผ่านทางบ้านท่าหมาก อำเภอบ้านนาสาร ทัพหลวงนายศักดิ์ถูกตีล่าถอยกลับไป แล้วไปตั้งทัพรวมไพร่พลเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองไชยา เมื่อไพร่พลหายเหนื่อยแล้วหลวงนายศักดิ์ได้ส่งกำลังข้ามแม่น้ำตาปีอีก แต่ถูกทัพเมืองนครศรีธรรมราชตีพ่ายกลับมาอีก เป็นอันว่าทัพหลวงนายศักดิ์ไม่สามารถจะเอาชนะทัพหลวงนายสิทธิ์ได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องยกทัพหลวงโดยทางชลมารคออกแทนเอง โดยทรง-พลหลวงมาขึ้นที่ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา แล้วเสด็จไปสรงน้ำละลอตโขลนทวารที่สระน้ำคงคาไชยา ทัพเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้สงบราบคาบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
พอถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้มาสร้างอู่ต่อเรือพระที่นั่ง และเรือรบถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ที่บ้านดอนนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านดอนนี้มีความสามารถขนาดต่อเรือรบได้ นับว่ามีฝีมือยอดเยี่ยมมากในสมัยนั้น
ครั้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองนครศรีธรรมราชอ่อนแอลงเพราะสิ้นบุญเจ้าพระยานคร (น้อย) ขณะนั้นบ้านดอนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน โดยการย้ายสำนักราชการเมืองมาทั้งหมด แล้วพระราชทานเมืองใหม่ที่มาตั้งที่บ้านดอนว่า เมือง- กาญจนดิษฐ์ และยกฐานะเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ในเวลาต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ (บ้านดอน) และเมืองคีรีรัฐนิคมเข้ามาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองไชยา ให้รวมเมืองไชยา เมืองชุมพร และเมืองหลังสวน ขึ้นเป็นมณฑลหนึ่งเรียกว่า มณฑลชุมพร ตั้งศาลา-กลางอยู่ที่ชุมพร ต่อมาได้ย้ายศาลากลางมณฑลมาตั้งที่บ้านดอน ในบริเวณเดียวกับศาลากลางเมืองไชยา ยกฐานะเมืองท่าทองเป็นอำเภอ เอาชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์ให้เป็นอำเภอ ขนานนามว่าเมืองไชยา ยกฐานะอำเภอกาญจนดิษฐ์ ลดฐานะเมืองไชยาเดิมเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอเมืองไชยา และได้แบ่งเขตการปกครองซอยลงไปอีก ท้องที่ใดมีคนมากเป็นชุมชนหนาแน่นพอสมควรหรือท้องที่กว้างขวางเกินไปไม่สะดวกแก่การปกครอง ก็แบ่งแยกไปตั้งเป็นอำเภอและกิ่งอำเภอขึ้นใหม่อีกหลายอำเภอ ต่อมาได้มีระบบการปกครองกำหนดออกมาอีกว่า อำเภออันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนั้น ให้เรียกว่าอำเภอเมือง อำเภอเมืองไชยาจึงถูกตัดคำว่าเมืองออกเสีย คงเรียกแต่อำเภอไชยาเฉย ๆ มาจนทุกวันนี้ ในเวลาเดียวกันกับอำเภอบ้านดอนก็กลายเป็นอำเภอเมืองบ้านดอน ซึ่งเป็นอำเภอที่ตั้งศาลากลางจังหวัด และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองบ้านดอน เป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ตามชื่อจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน
*ก่อนที่บ้านดอนจะได้กลายเป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน มีประวัติความเป็นมาดังนี้
ดินแดนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่เรียกว่า “อ่าวบ้านดอน” ในทุกวันนี้ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า มีผู้คนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่กันมาแต่หนึ่งพันสี่ร้อยปีก่อนแล้ว ซึ่งก็คงตกประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ นั่นเอง ครั้งกระนั้นมีชาวอินเดียแล่นเรือมาถึงเมืองตะกั่วป่า แล้วเดินทางเลาะเสียบลำน้ำตะกั่วป่าไปสู่เชิงเขาหลวง ข้ามเขาเดินเลียบริมแม่น้ำหลวงเรื่อยมาจนถึงปากอ่าวบ้านดอน ชาวอินเดียเป็นผู้มีวิชาความรู้เหนือชนพื้นเมือง จึงได้แพร่วัฒนธรรมของตนไว้ในดินแดนเหล่านี้ สมัยนั้นเป็นเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งนักโบราณคดียังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติว่า นครหลวงแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในสุมาตราหรือที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กันแน่
รอบอ่าวบ้านดอนมีเมืองสำคัญ ๆ อันเป็นที่มาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันอยู่หลายเมือง คือ เมืองไชยา ตั้งอยู่ ณ ริมน้ำท่าทองอุแท อยู่ในบริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ปัจจุบัน และเมืองคีรีรัฐนิคมตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคมนั่งเอง
เมืองทั้งสามนี้คือเมืองเก่าแก่ อันเป็นต้นกำเนิดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบ้านดอนวันนี้
ในหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ มีข้อความตอนหนึ่งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า
“เมื่อพระพนมวังแลนางสะเดียงทอง และศรีราชาออกมาสร้างเมืองนครดอนพระนั้น และพระพนมวัง แลนางสะเดียงทองก็มาตั้งบ้านอยู่จงสระ อยู่นอกเมืองดอนพระ สร้างป่าเป็นนา สร้างนาทุ่งเขน สร้างนาท่าทอง สร้างนาไชยคราม สร้างนากะนอม สร้างนาสะเพียง อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองท่าทองไว้ว่า พญาศรีธรรมาโศกราชก็ทูลกรุณาว่า เมืองท่าทองใต้หล้าฟ้าเขียวนี้ ยากเงินทอง ข้าพเจ้า-พระบาทอยู่หัวขอนำเงินเล็กปิดตรานะโมประจำแต่ไปเมื่อหน้า”
ข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับเมืองท่าทองนี้ไม่มีศักราชระบุไว้แน่นอน เมืองท่าทองนี้จะตั้งมาแต่ครั้งไหน แต่มีข้อความที่ชวนให้สืบสาวความเก่าแก่ของเมืองท่าทองได้ เมื่อตำนานนี้พูดถึงเงินนะโม อันเป็นตราที่ใช้ในสมัยโบราณก่อนหน้าที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยาคือก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓ ในสมัยอยุธยาได้นำเงินพดด้วงเลียนแบบเงินตรานะโมที่เคยใช้กันมาก่อน ดังนั้น เมื่อเมือง ท่าทองเกิดข้าวยากหมากแพง ยากเงินยากทอง เจ้าเมืองจึงนำเงินตรานะโมมาใช้ที่ท่าทอง เป็นอันสันนิษฐานได้ตามหลักโบราณคดีว่า เมืองท่าทองจะต้องเป็นเมืองมาแล้วในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตรงกับสมัยสุโขทัย มีหลักฐานทางโบราณวัตถุเก่าแก่อยู่หลายแห่ง เช่น ที่วัดคูหา วัดเสมาและวัดม่วงงาม เป็นต้น
เมืองท่าทองเดิมทีเดียวตั้งอยู่ที่บ้านสะท้อน มีเรื่องเก่าเป็นทำนองตำนานว่า สมัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ริมคลองแห่งนี้มีต้นสะท้อนอยู่เป็นดง ต่อมานายมากชาวเมืองนครศรีธรรมราช อพยพผู้คนมาตั้งทำกินที่นี่จนมีฐานะร่ำรวย จึงเปลี่ยนชื่อบ้านสะท้อนเป็นบ้านท่าทอง โดยมีพระวิสูตรสงครามราชภักดี เป็นเจ้าเมือง ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ อันตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช ปรากฏว่า พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่เมืองชุมพร หลังสวน ไชยา ลงมาจนถึงเมืองท่าทอง นครศรีธรรมราช หัวเมืองเหล่านี้ถูกพม่ายึดอยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงนำกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปขับไล่พม่าออกไปจนหมดสิ้น
แต่จากการทำสงครามครั้งนี้ เมืองท่าทองถูกทำลายมากเกินกว่าที่จะบูรณะให้ดีดังเดิมได้ ดังนั้น หลังสงครามนี้แล้ว ผู้รั้งเมืองท่าทองอันมีนามว่านายสม จึงได้ย้ายเมืองท่าทองจากบ้านสะท้อนมาที่บ้านกะแดะ (อันเป็นที่ตั้งอำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน) ยังคงเรียกว่าเมืองท่าทองตามเดิม นายสม ผู้ตั้งเมืองนั้นได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษ ครองเมืองท่าทองอยู่ที่ริมคลองกะแดะ ไม่นานก็พิจารณาย้ายเมืองมาตั้งริมคลองมะขามเตี้ย (เขตอำเภอเมืองปัจจุบัน) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๖ หลวงวิเศษได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตร ครองเมืองท่าทองจนถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ก็ถึงแก่กรรม บุตรชาย พระวิสูตรได้ครองเมืองแทน มีบรรดาศักดิ์เป็นพระพิทักษ์สุนทร
ในระหว่างที่เมืองท่าทองมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำมะขามเตี้ยนี่เอง ชุมชนแห่งใหม่ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ บริเวณที่ดอนริมแม่น้ำหลวง สถานที่แห่งนี้เจ้าพระยานครได้ส่งคนมาต่อเรือกำปั่นเดินทะเล เพราะหาไม่ได้ง่ายจากริมแม่น้ำหลวง เนื่องจากบริเวณเป็นที่ดอนนี่เอง ชาวบ้านก็เลย เรียกกันว่า บ้านดอน ส่วนทางด้านเมืองท่าทองนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ส่งบุตรชายชื่อพุ่ม มาเป็นเจ้าเมือง พอถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญญกรรมแล้ววันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ วันนั้นนับเป็นวันสำคัญของชาวเมืองไชยา ดังจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช ๒๔๕๘ บันทึกไว้ว่า
“วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ วันนี้มีกระแสพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งผู้แทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ประกาศพระราชปรารภเรื่องที่บ้านดอนซึ่งตั้งเป็นเมืองไชยาใหม่ แลตั้งที่ว่าการมณฑลชุมพรอยู่นั้น ประชาชนก็คงเรียกว่าบ้านดอนอยู่ตามเดิมและเมืองไชยาเก่าซึ่งเปลี่ยนเรียกว่า อำเภอพุมเรียง แต่ราษฎรก็คงเรียกชื่อเดิม เมืองไชยา เป็นไชยาเก่า ไชยาใหม่ สับสนกันไม่เป็นที่ยุติลงในราชการ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่บ้านดอนใหม่ว่า เมือง สุราษฎร์ธานี เปลี่ยนนามอำเภอพุมเรียง เรียกว่า อำเภอเมืองไชยา เพราะเป็นชื่อเก่า……”
ในวันเดียวกันนี้เอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำตาปี
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองไชยาที่บ้านดอนเป็น สุราษฎร์ธานี ก็เพราะทรงสังเกตเห็นว่า ชาวเมืองนี้เป็นคนดีสุภาพเรียบร้อย และการที่ทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงเป็นตาปีนั้น เล่ากันว่า พระองค์ทรงนำแบบมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งตั้งต้นจากขุนเขาสัตตปุระ ไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียทางอ่าวแคมเบย์ ชื่อแม่น้ำตาปติ ทางฝั่งซ้ายก่อนที่แม่น้ำ- ตาปติจะออกปากอ่าวนี้ มีเมือง ๆ หนึ่งชื่อเมืองสุรัฏร์ ตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นสุราษฎร์ธานี (สุรัฏร์) จึงทรงเปลี่ยนแม่น้ำหลวงเป็นตาปีด้วย





ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานี, พุทธศักราช ๒๕๓๐

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8