พิจิตร

ประวัติศาสตร์จังหวัดพิจิตร

ประวัติเมืองพิจิตร
“พิจิตร” แปลว่า “งาม” ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงเมืองพิจิตร จึงหมายถึงเมืองงาม เมืองที่มีเสน่ห์ประทับใจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่ให้กำเนิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตามประวัติศาสตร์ได้จารึก ไว้ว่าพระโหราธิบดี ผู้เป็นบิดาของศรีปราชญ์ ยอดกวีเอกของเมืองไทย ถือกำเนิดเหนือแผ่นดินเมืองพิจิตร แม้แต่ในวรรณคดีไทย ยังกล่าวว่า จมื่นไวยวรนารถ ทายาทของขุนแผนยอดขุนพลแห่งเมืองอโยธยา ก็เคยมาหลงเสน่ห์สาวงามเมืองพิจิตร
ดินแดนอันเป็นเขตจังหวัดพิจิตร อยู่ในที่ราบลุ่มตอนเหนือของภาคกลาง หรือตอนใต้ของภาคเหนือในดินแดนสุวรรณภูมิ บริเวณนี้เป็นบริเวณที่ลำน้ำยมและลำน้ำน่าน อันเป็นแควของลำน้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน และเมื่อประมาณห้าหกร้อยปีมาแล้ว ลำน้ำทั้งสองนี้ไหลมารวมกันที่จังหวัดพิจิตรนี้เอง ลักษณะพิเศษของดินแดนแถบนี้เต็มไปด้วยหนอง คลองบึง และทางน้ำซึ่งเปลี่ยนทางเดินอยู่เสมอ ถึงฤดูน้ำ ๆ จะหลากท่วมไปทั่ว สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ทั่วถึง แต่พอฤดูแล้ง น้ำในคลองบึงต่าง ๆ จะแห้งงวดลงไป แม้แต่ในลำน้ำใหญ่บางตอน เรือก็เดินไม่ได้ พื้นดินบริเวณจังหวัดพิจิตรเป็นดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรเพราะเป็นดินตะกอนที่เกิดจากน้ำท่วมทับทุกปี มีปลาชุกชุม อาชีพหลักของพลเมืองคือการกสิกรรม และการประมง เข้าใจว่ามีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินบนสองฝั่งของลำน้ำน่านและลำน้ำยม ในเขตจังหวัดพิจิตรไม่น้อยกว่าหนึ่งพันปี ซึ่งในสมัยแรก ๆ คงอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และรื้อย้ายหมู่บ้านมาบ่อย ๆ บ้านเรือนที่ปลูกอาศัยอยู่ก็เป็นวัสดุราคาถูก เวลาย้ายก็ทรุดโทรมหายสาบสูญไป จึงหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับนักศึกษาในปัจจุบันได้น้อยมาก
อีกประการหนึ่ง ดินแดนแถบนี้ เป็นเสมือนหนึ่งฉนวนระหว่างบ้านเมืองทางเหนือกับทางใต้ของสุวรรณภูมิ เป็นทางหนีของเจ้าบ้านผ่านเมืองในสมัยก่อนจากเหนือไปใต้ หรือจากใต้ไปเหนือ และทำนองเดียวกันก็เป็นทางเดินทัพของบ้านเมืองฝ่ายใต้ เมื่อยกไปปราบบ้านเมืองฝ่ายเหนือ หรือของบ้านเมืองฝ่ายเหนือ ยกมารุกรานบ้านเมืองฝ่ายใต้ ประวัติศาสตร์ของเมืองพิจิตรเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แบบนี้ตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๐๐
ในการกล่าวถึงประวัติเมืองพิจิตรต่อไปนี้จะได้กล่าวตามยุคของประวัติศาสตร์ไทย และดินแดนแหลมทองเป็นตอน ๆ คือสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี สมัยกรุง-
รัตนโกสินทร์

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
เดิมทีเมืองพิจิตร หาได้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลดังที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายที่ตั้งเมืองหลายครั้งหลายครา พิจิตรเป็นจังหวัดที่มีเรื่องราวในอดีตซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้แน่นอนนัก เชื่อกันว่าพิจิตรเคยเป็นเมืองชัยบวรมาก่อน ซึ่งเมืองชัยบวรนี้ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอโพทะเล ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ ต่อมาได้อพยพโยกย้ายขึ้นมาตามลำน้ำน่านเก่าสู่ทางทิศเหนือ ตั้งรกรากสร้างบ้านเมืองขึ้นเป็นปึกแผ่นที่บ้าน “สระหลวง” อยู่ในเขตเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๙ กิโลเมตรเศษ ต่อมาลำน้ำน่านเก่าเปลี่ยนทางเดิน เป็นเหตุให้ลำน้ำตื้นเขิน จึงจำเป็นต้องย้ายเมืองมาตั้งใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน
เชื่อกันว่าเมืองพิจิตรนี้มีชื่อเรียกแต่เดิมหลายชื่อ คือชื่อเมืองสระหลวง เมืองโอฆบุรี เมืองชัยบวร และเมืองปากยม นอกจากนั้นในท้องที่จังหวัดพิจิตร ยังมีเมืองเก่าอยู่ในท้องที่อำเภอตะพานหินอีกสองเมืองด้วยกัน สันนิษฐานว่า ชื่อเมืองนครพังคา และเมืองแสงเชรา และเชื่อกันว่าเมืองหนึ่งคือเมืองบ่าง ซึ่งอยู่ในท้องที่ตำบลทับคล้อ
สำหรับเรื่องราวของเมืองพิจิตรนั้น จะขอกล่าวถึงที่มาจากสองแหล่งด้วยกัน คือ
๑. เรื่องราวของพิจิตรในพงศาวดารเหนือ
๒. เรื่องราวของเมืองพิจิตรที่ปรากฏในศิลาจารึกและพระราชพงศาวดาร
เรื่องราวของพิจิตรในพงศาวดารเหนือ
ในพงศาวดารเหนือได้กล่าวถึงเมืองพิจิตรไว้สองเรื่องด้วยกัน คือ
๑.เรื่องพระยาแกรก ที่กล่าวถึงการสร้างเมืองที่บ้านโกณฑัญญคาม เข้าใจว่าคือเมืองชัย
บวร (อำเภอโพทะเลในปัจจุบัน)
๒.เรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก กล่าวถึงการสร้างเมืองโอฆบุรี เข้าใจว่าคือเมืองพิจิตรเก่า
นั่นเอง

เรื่องพระยาแกรก
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอที่จะตรวจสอบได้ความว่า ราว พ.ศ. ๑๓๐๐ ชาวละว้าเป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจมากที่สุดในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ อาณาจักรใหญ่ ๆ คือ อาณาจักรทราวดี ได้แก่พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ไปจนจดราชบุรี ทิศตะวันออกไปถึงจังหวัดปราจีนบุรีอาณาจักรยางหรือโยนก และอาณาจักรโคตรบูรณ์
สำหรับอาณาจักรทราวดีมีเมืองสำคัญ ๆ สามเมืองด้วยกัน คือ นครปฐม ละโว้หรือลพบุรี เมืองสยามหรือสุโขทัย โดยมีนครปฐมเป็นราชธานี ส่วนเมืองพิจิตร ในครั้งกระนั้นอยู่ในเขตเมืองละโว้ จะมีนามว่าอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหนยังไม่ปรากฏชัด
ต่อมาราว พ.ศ. ๑๔๐๐ ขอมมีอำนาจมากพระยาแกรกได้ยกทัพเข้าตีเมืองละโว้ได้ พระยาโคตมเทวราชซึ่งเป็นเจ้าเมืองละโว้ ได้พาลี้พลอพยพขึ้นมาทางเหนือ จนถึงบ้านโกณฑัญญคามและได้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านโกณฑัญญคามนี้ ต่อมาพระราชบุตรของพระยาโคตมเทวราชได้ไปสร้างเมืองพิจิตรขึ้นอีก ดังข้อความในพงศาวดารเหนือเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีดังนี้
“และพระยาโคตมเทวราชเสด็จมาถึงบ้านโกณฑัญญคาม พราหมณ์ชื่อโกณฑัญญคามเป็นใหญ่กว่าพราหมณ์ทั้งหลายได้ ๕๐๐ ครั้น เห็นพระยาแต่ไกล โกณฑัญญพราหมณ์ทั้งหลายก็ไปต้อนรับพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จึงมีพระบรมราชโองการตรัสถามว่า ดูราชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย บ้านท่านนี้ชื่อใด ชีพ่อพราหมณ์ทูลว่า บ้านนี้ชื่อโกณฑัญญคาม แต่ตูข้าเป็นชีพ่อพราหมณ์ได้ ๕๐๐ คน จึงมีพระราชโองการว่า เราจะสร้างเมืองในสถานที่นี้ ท่านทั้งหลายจะยินดีหรือไม่ พราหมณ์ทั้งหลายก็ยินดีด้วยกันทั้งสิ้น… พระยาได้ฟังดังนั้นยินดีให้เสนาอำมาตย์ตั้งพลับพลาทอง แล้วให้ชีพ่อพราหมณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่กับเศรษฐีประชุมพร้อมกันจึงให้ชีพ่อพราหมณ์ตั้งพิธีกินบวชสิ้น และรำแขนงเจ็ดวันแล้วสระเกล้าขึ้นโล้อัมพวาย ถวายแก่พระอิศวร พระนารายณ์ แล้วเลียบไปที่จะตั้งพระราชวัง…”
จากข้อความในพงศาวดารเหนือตอนนี้ก็จะพบว่าพระยาโคตมเทวราชได้สร้างเมืองที่บ้านโกณฑัญญคาม ซึ่งอ้างจากหนังสือพิจิตรของเราว่า ในหนังสือทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณา-จักรของกรมศิลปากรได้กล่าวว่าบ้านโกณฑัญญคาม ก็คือเมืองที่เรียกกันว่า “นครชัยบวร” และคุณพระ-วัฒโนได้เขียนไว้ในหนังสือเมืองพิจิตรว่า คือ เมืองชัยบวรปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านน้อย กับตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล ยังสังเกตคูเมืองและกำแพงเมืองด้วย สำหรับคูเมืองซึ่งมีขนาดใหญ่และลึกด้วยนั้นมักจะเรียกกันว่า บึงชัยบวร และยังเรียกในชื่ออื่นว่า บึงไชยบวรก็มี ส่วนนครชัยบวรหรือเมืองชัยบวรนั้นยังเรียกกันว่า เมืองชีบวรอีกด้วย ชาวบ้านแถบนั้นก็ยังเชื่อกันว่าชื่อเดิมของเมืองชัยบวรเรียกกันว่า บ้านโกณฑัญญคามมาก่อน จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อได้พอสมควรว่า เมืองชัยบวรคือเมืองที่พระยาโคตมเทวราชสร้างขึ้นที่บ้านโกณฑัญญคาม ตามพงศาวดารเหนือ
ส่วนการสร้างเมืองพิจิตร ที่เมืองพิจิตรเก่า ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตรนั้น ในพงศาวดารเหนือ ได้กล่าวไว้ในเรื่องพระยาแกรกตอนต่อไปว่า
“ … และพระยาโคตมเทวราช ที่พระราชบุตรองค์หนึ่ง ชื่อเจ้ากาญจนกุมาร เป็นพระยาแทนพระบิดา นานมาจึงชื่อเจ้าไวยยักษา ครั้นใหญ่มาชื่อเจ้าโคตรตะบอง ไปสร้างเมืองพิจิตรจึงมีชื่อพระยาโคตรตะบอง เจ้าไวยยักษาไปสร้างเมืองพิชัย จึงได้ชื่อพระยามือเหล็ก…”
พระยาโคตรตะบองได้ย้ายเมืองจากนครไชยบวร ไปตั้งที่หมู่บ้านสระหลวงและได้เริ่มฝังหลักเมือง เมื่อวันพุธขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล พ.ศ. ๑๖๐๑ ทรงสั่งก่อสร้างกำแพงขึ้นด้านเหนือยาว ๑๐ เส้น ด้านใต้ยาว ๑๐ เส้น ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกยาวด้านละ ๓๕ เส้น นอกกำแพงโปรดให้ขุดคูลึก ๖ ศอก เพื่อป้องกันนครด้านตะวันตกหน้าเมืองห่างจากลำน้ำน่านเก่าประมาณ ๑๕ วา ตามกำแพงได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่าเมือง “สระหลวง” และได้มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันติวงศ์ต่อมาด้วยความเกษมสำราญอีกประมาณ ๒๐๐ ปี

เรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก
ได้กล่าวถึงการสร้างเมืองโอฆบุรี ซึ่งเชื่อกันว่าคือ เมืองพิจิตรเก่า อันเป็นเมืองที่พระเจ้า
ศรีธรรมไตรปิฎกสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองพิษณุโลก ดังข้อความในพงศาวดารเหนือ ดังนี้
" พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยินดีนักหนาจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่เสนาอำมาตย์ให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย พระองค์จึงให้จ่าทั้งสองไปก่อนเป็นทัพหน้า ท้าวพระยาทั้งหลายเป็นปีกซ้ายขวา เจ้าไกรสรราช เจ้าชาติสาคร พระราชโอรสทั้งสอง เป็นกองรั้งหลังตามเสด็จพระราชบิดา พระราชมารดาออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมหกค่ำ เพลาเช้า ไปได้สองเดือนจึงถึง พระองค์ได้ตั้งพลับเพลาทองริมน้ำ ไกลเมืองประมาณ ๑๐๐ เส้น
สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จึงให้ท้าวพระยาทั้งหลายและเจ้าไกรสรราช เจ้าชาติสาคร ตามเสด็จเข้าไปในเมือง แล้วจึงให้ชื่อเมือง จึงมีพระราชโองการตรัสถามชีพ่อพราหมณ์ว่า เราจะให้ชื่อเมืองอันใดดี พราหมณาจารย์จึงกราบทูลตอบพระราชโองการว่า เจ้ามาถึงวันนี้ยามพิศนุ พระองค์ได้ชื่อตามคำพราหมณ์ว่า เมืองพิษณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตก็ชื่อว่า โอฆบุรีตะวันออก ตะวันตกชื่อจันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลายว่าเราชวนกันสร้างพระธาตุ และวิหารใหญ่ ตั้งวิหารทั้งสี่ทิศ ครั้นสร้างของพระยาแล้ว ต่างคนต่างก็สร้างคนละองค์"
เรื่องราวของเมืองโอฆบุรีเป็นเมืองพิจิตรเก่าใช่หรือไม่นั้น จะขอคัดลอกข้อความจากหนังสือสาส์นสมเด็จ ตอนที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ได้กราบทูลถามสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพดังข้อความต่อไปนี้
"…โอฆบุรีคือเมืองพิจิตรหรือไม่ใช่ คำว่า "โอฆ" เข้าใจว่าหมายเอาบึงสีไฟ "เมืองพิจิตร" เข้าใจว่าเป็นชื่อเมืองใหม่ ซึ่งย้ายมาตั้งอยู่ที่คลองเรียงถูกหรือไม่ ถ้าถูกอย่างนั้นเมืองพิจิตรเก่าก็ควรยืนเรียกอยู่ว่า "โอฆบุรี" ไม่ควรเรียกว่า เมืองพิจิตรเก่า"
เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทูลถามเช่นนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา-
นุภาพได้ทูลตอบ ดังข้อความต่อไปนี้
"…เมืองโอฆบุรีคือเมืองพิจิตร เป็นเมืองโบราณมีป้อมปราการอยู่ริมแม่น้ำน่านเก่า ซึ่งตื้นเขินเสียแล้ว ชื่อเดิมเรียกว่า "เมืองสระหลวง" คงเป็นเพราะเป็นเมืองมีบึงบางมาก ทั้งในศิลาจารึกสุโขทัยและกฎหมายชั้นเก่าของกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่า "เมืองสระหลวง" ปรับเป็นคู่กับ "เมืองสองแคว" คือเมืองพิษณุโลก ซึ่งเดิมมีแม่น้ำน้อยอยู่ทางตะวันออก และมีแม่น้ำน่านอยู่ทางตะวันตก แต่แม่น้ำน้อยตื้นเขินเสียนานแล้ว
ชื่อที่เรียกว่า "โอฆบุรี" ความตรงกับชื่อเมืองสระหลวง เป็นแต่เปลี่ยนเป็นภาษามคธเหมือนกับ "ทวิสาขะนคร" ตรงกับเมืองสองแคว หม่อมฉันสงสัยว่า จะเกิดแต่พระแต่งเรื่องพงศาวดารไทยเป็นภาษามคธ ตามอย่างหนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา เช่น เรื่องชินกาลมาลินี เป็นต้น แปลงชื่อเมืองสระหลวงเป็น โอฆบุรี ในภาษามคธ และแปลงเมืองสองแควไว้อีกว่า เมืองทวิสาขะนคร ในหนังสือแต่ง
"การที่เปลี่ยนเมืองสองแคว เป็นเมืองพิษณุโลก เปลี่ยนชื่อเมืองสระหลวง เป็นเมืองพิจิตร เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่ว่าพอเปลี่ยนแล้ว ชื่อเมืองสองแควกับสระหลวงก็เลยสูญ ผู้รู้ชั้นหลังจึงเอาชื่อเมืองโอฆบุรีกับเมืองทวิสาขะนคร ซึ่งยังมีอยู่ในหนังสือที่พระแต่งไปชี้เป็นเมืองอื่น ดูเหมือนจะเอาเมืองแพรก (คือเมืองสรรค์) เป็นทวิสาขะนคร ส่วนเมืองโอฆบุรีนั้น คือเหตุที่เมืองพิษณุโลกสร้างปราการ ๒ ฟาก เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองผิดกับเมืองอื่น อ้างว่าเมืองทางฟากตะวัน-ออกชื่อเมืองพิษณุโลก เมืองฟากตะวันตกชื่อเมืองโอฆบุรี อ้างกันมาอย่างนั้น จนถึงสมัยมีสโมสรโบราณคดี ค้นพบชื่อเมืองสระหลวงสองแควในศิลาจารึกและกฎหมายเก่า จึงรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร"
ข้อความทั้งหมดนี้ คงเป็นเครื่องยืนยันได้พอสมควรว่า เมืองโอฆบุรีนั้น คือเมืองพิจิตรเก่า นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้นิพนธ์เกี่ยวกับเมืองพิจิตรไว้ในหนังสือ "เที่ยวตามทางรถไฟ" มีข้อความที่เกี่ยวกับเมืองโอฆบุรี และเมืองสระหลวงอยู่ด้วย ซึ่งปรากฏข้อความเป็นบางตอน ดังนี้
"ในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระยาโคตรตะบองราชบุตรของพระยาโคตมเทวราชเป็นผู้สร้างเมืองพิจิตร แต่หาปรากฏสมัยและเรื่องราวของการสร้างไม่ คงเป็นเค้าแต่ว่าพวกขอมชั้นหลังสร้างเมืองพิจิตร มาถึงสมัยเมื่อไทยตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองสุโขทัย เรียกนามเมืองนี้ในภาษาไทยว่า "เมืองสระหลวง" ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงคงเป็นเพราะตั้งอยู่ชายทะเลสาบ หนังสือเก่าบางเรื่องเรียกนามในภาษาบาลีว่า "โอฆบุรี" ความก็ตรงกัน ที่อธิบายกันว่าเมืองโอฆบุรีอยู่ ๒ ฟากฝั่งแม่น้ำตรงกันนั้นไม่มีหลักฐาน…"

เรื่องราวของเมืองพิจิตรที่ปรากฏในศิลาจารึกและพระราชพงศาวดาร
ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงเมืองสระหลวง โดยกล่าวไว้ในเรื่องอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งข้อความในศิลาจารึกได้กล่าวถึงเมืองสระหลวง ดังนี้
"…อาจปราบฝูงข้าศึก มีเหมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแคว ลุมบา จายสคาเท้า ฝั่งของถึงเวียงจันทร์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบางแพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทร เป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง… หงสาวดี สมุทรห้าเป็นแดนเบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่เมืองน่าน เมือง… เมืองพลั่วพ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว ปลูกเลี้ยงฝูกลูกบ้านลูกเมืองนั้นชอบด้วยธรรมทุกคน"
จากข้อความในศิลาจารึกนี้แสดงว่าอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นกว้างขวางมาก ทิศตะวันออก ตลอดเมืองสระหลวง (รอดเมืองสระหลวงหมายถึงตลอดเมืองสระหลวง) เมืองสองแคว และเมืองอื่นอีกหลายเมืองด้วยกัน สำหรับเมืองสระหลวงนี้เชื่อกันว่าคือเมืองพิจิตรเก่านั่นเอง
ดังบทนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพข้างต้น นอกจากนั้น สมเด็จฯ กรมพระยานริศรา-นุวัตติวงศ์ ได้นิพนธ์เกี่ยวกับเมืองสระหลวงไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จอีกด้วย ซึ่งปรากฏข้อความดังต่อไปนี้
"…ที่จริงแม่น้ำและเมืองพิจิตรเก่า ก็ยังมีแต่นับวันจะสูญหายไป เมืองพิจิตรเดี๋ยวนี้เป็นเมืองตั้งใหม่ ยังจำได้ที่ตรัสอาจเลิกได้ในชั่วโมงเดียว คำว่า สระหลวง เข้าใจว่าที่เรียกกันว่า บึงสีไฟ อยู่ในทุกวันนี้…."
ชื่อเมืองสระหลวงที่น่าเชื่อว่า เป็นเมืองพิจิตรเก่า หรืออาณาเขตของเมืองพิจิตรเก่า มีสระหรือบึงอยู่มาก ถ้าดูตามพจนานุกรมฉบับทันสมัย ของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ก็จะพบว่า "สระ" หมายถึงอ่างน้ำที่อยู่ตามระหว่างผา ซึ่งก็คงเป็นบึงนั่นเอง สำหรับบึงที่อยู่ใกล้เมืองพิจิตรเก่า หรือในท้องที่จังหวัดพิจิตรปัจจุบัน บึงสีไฟ บึงตะโกน บึงฆะฆัง ที่ไกลออกไปก็มีบึงชัยบวร บึงสัพงายและบึงบัวเป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อเมืองโอฆบุรี ก็เกี่ยวกับบึงอีก เพราะคำว่า "โอฆ" ในพจนานุกรมฉบับทันสมัยของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ก็หมายถึง ห้วงน้ำซึ่งก็คงเป็นบึงนั่นเอง
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเมืองสระหลวงเป็นเมืองพิจิตรเก่ายังมีอีก เช่น หม่อมเจ้าจันทรจิรายุรัชนี ทรงกล่าวว่า เมืองสระหลวงเป็นเมืองพิจิตรเก่าบนฝั่งแม่น้ำน่าน เรียกคู่กับเมืองพิษณุโลกเก่า เมืองสระหลวงสองแคว ทำนองเดียวกับเรียกเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยซึ่งเป็นเมืองอยู่บนฝั่งแม่น้ำยมทั้งคู่ นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงเมืองสระหลวงในหนังสือนิทานโบราณคดีเรื่องค้นเมืองโบราณอีกว่า เมืองสระหลวงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิจิตร ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและพระองค์ยังกล่าวถึงเมืองสระหลวงคือเมืองพิจิตรไว้ในบทนิพนธ์เรื่องพระร่วงอีกด้วย
สำหรับความเชื่อที่ว่า เมืองสระหลวงไม่ใช่เมืองพิจิตร แต่เป็นเมืองพิษณุโลก ก็มีเหมือนกัน เช่น ในราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า เมืองสระหลวง คือ เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตก และเมืองคณฑีคือ เมืองพิจิตร ดังข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ กล่าวถึงเมืองสระหลวงและเมืองคณฑี ดังต่อไปนี้
"พระเจ้าขุนรามคำแหง เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยที่มีอานุภาพมาก ควรนับว่าเป็นมหาราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ได้รบพุ่งปราบปรามเมืองที่ใกล้เคียงเอาไว้ในอำนาจ ขยายราชอาณาจักรสุโขทัยกว้างขวางออกไปถึงที่สุดในครั้งนั้น บอกอาณาเขตไว้ในศิลาจารึกชัดเจนว่า ทิศเหนือได้เมืองแพร่เมืองน่าน ตลอดจนเมืองชวา (คือเมืองหลวงพระบางทุกวันนี้) ไว้ในพระราชอาณาจักร ทิศตะวันออกได้เมืองสระหลวง (คือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตก ที่หนังสือแต่งในภาษามคธว่าโอฆบุรี) เมืองสองแคว (คือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก)…" และอีกตอนหนึ่งว่า "ทิศใต้ได้เมืองคณฑี (เข้าใจว่า เมืองพิจิตรทุกวันนี้)…"
ข้อความจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจะเห็นว่า เมืองสระหลวงคือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันตก และเมืองสองแควคือเมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออก ส่วนเมืองคณฑีต่างหากที่เป็นเมืองพิจิตร ซึ่งเป็นหลักฐานอีกแนวหนึ่งที่แตกต่างออกไป ยิ่งไปกว่านั้นศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ
ณ นคร ยังได้เขียนบทความเรื่อง "หลักการค้นเมืองสมัยสุโขทัย" ลงในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดีปีที่ ๑ เล่ม ๑ กล่าวถึงเมืองสระหลวงว่าเป็นเมืองพิษณุโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยังหาข้อยุติไม่ได้แน่นอน คงต้องศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานกันต่อไปอีก
ความจริงชื่อเมืองสระหลวง ยังปรากฏในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยอีกหลักหนึ่ง คือหลักที่ ๘ (จารึกเขาสุมนกูฏ) ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวในสมัยสุโขทัย รัชกาลพระยาลิไท ซึ่งเป็นตอนที่กล่าวถึงอาณา-เขตของอาณาจักรสุโขทัยปรากฏข้อความดังต่อไปนี้.- "…อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว จึงนำพลมา มีทั้งชาวสระหลวง สองแควปากยม พระบาง ชากังราวสุพรรณภาว นครพระชุม เบื้อง…เมืองพาน เมือง…เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย เป็นบริพาร…"
จะเห็นได้ว่าข้อความในศิลาจารึกตอนนี้นอกจากจะกล่าวถึงเมืองสระหลวง เมืองสองแควและเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมืองแล้ว ยังมีเมืองหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมืองปากยม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ปากน้ำยม หรือเมืองที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอาจจะเป็น เมืองชัย-บวรก็ได้ เพราะเมืองชัยบวรตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านเก่าไหลมาบรรจบกัน สำหรับเมืองนี้ขอคัดลอกบันทึกของ นายตรี อมาตยกุล ซึ่งเคยเดินทางไปสำรวจเมืองโบราณในจังหวัดพิจิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และอาจารย์ ขจร สุขพานิช ซึ่งได้บันทึกเกี่ยวกับเมืองชัยบวรไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้.-
"ชั้นแรกได้เดินทางไปที่อำเภอบางมูลนากเพื่อไปตรวจเยี่ยมเมืองโบราณ ซึ่งในจารึกกรุงสุโขทัยเรียกว่าเมืองปากยมก่อนเพราะเมืองนี้สงสัยว่าจะอยู่ตรงแม่น้ำน่านมาสมกัน คือที่ตำบลบาง-คลาน อำเภอโพทะเล"
"…ผู้นำทางได้พาไปดูเมืองโบราณเมืองหนึ่งเรียกว่า เมืองชัยบวรหรือชีบวร เมืองนี้มีคูกว้างมาก คือกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร มีน้ำขังอยู่เต็ม ในฤดูแล้งก็ไม่แห้ง… ได้สอบถามชาวบ้านและผู้นำทางแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยได้พบเมืองโบราณนอกเมืองชัยบวรหรือชีบวรดังได้เรียนมาแต่ตอนต้น จึงยังไม่ทราบแน่ว่าเมืองปากยมที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยนั้น ในปัจจุบันจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด บางทีอาจจะเป็นเมืองที่เรียกกันในปัจจุบันว่า เมืองชัยบวรก็ได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่นอนและยังไม่ได้สำรวจตรวจค้นโดยละเอียด จึงไม่สามารถจะยืนยันได้"
ความจริงเมืองปากยมตามศิลาจารึก ก็น่าจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำยม หรือใกล้แม่น้ำยม จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อได้พอสมควรว่าคงจะเป็นเมืองชัยบวร เพราะเมืองโบราณที่สำรวจพบแล้วในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำยม และปากแม่น้ำยมที่มาบรรจบกับแม่น้ำน่านเก่า ก็มีอยู่เมืองชัยบวรนี้เมืองเดียวเท่านั้น และถ้าหากเป็นจริงตามความเชื่อนี้ก็แสดงว่าในสมัยกรุงสุโขทัย รัชกาลพระยาลิไท มีเมืองสระหลวงและเมืองปากยม ทั้งสองเมืองเป็นเมืองที่อยู่ในอาณาจักรสุโขทัย
จาก พ.ศ. ๑๖๐๑ ซึ่งเป็นปีที่พระยาโคตรตะบอง สร้างเมืองสระหลวง (จากพงศาวดารเหนือ เรื่องพระยาแกรก) เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. ๒๘๐๐ ขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง ไทยเราได้เริ่มทยอยลงมาในดินแดนสุวรรณภูมิ และได้เริ่มมีบทบาทขึ้นในดินแดนส่วนนี้ โดยพ่อขุนบางกลางท่าว กับพ่อขุนผาเมือง ได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองสยาม เมืองหน้าด่านของขอมได้พิจิตรจึงตกเป็นของไทยตั้งแต่นั้นมา
ราว พ.ศ. ๑๘๒๐ กรุงสุโขทัยไม่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล และมีเมืองสำคัญ ๆ ไม่กี่เมือง ซึ่งในบรรดาเมืองเหล่านั้นมีพิจิตรรวมอยู่ด้วย เวลานั้นสุโขทัยมีศัตรูมาก เช่น ขอม พวกไทยตอนใต้และภาระในการที่จะขยายอาณาเขต พิจิตรจึงกลายเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหน้าด่านเพื่อป้องกันข้าศึกที่จะยกไปตีเมืองหลวง พิจิตรจึงอุปมาเสมือนทหารเอกของกรุงสุโขทัย พ.ศ. ๑๙๔๙ การศึกษาวิทยาการ โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาในเมืองพิจิตรเจริญมาก ตามสุพรรณบัฏที่ขุดได้จากองค์พระปรางค์วัดมหาธาตุในบริเวณเมืองพิจิตรเก่าได้มีการตั้งพระเถรพุทธสาคร เป็นพระครูธรรมโมสีศีราชบุตร โดยที่เมืองพิจิตรเป็นเมืองรายรอบปริมณฑล กรุงสุโขทัยเป็น
หัวเมืองชั้นใน พระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยจึงปกครองเมืองนี้โดยตรงตลอดสมัยที่กรุงสุโขทัยรุ่งเรืองอยู่

สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐)
เมื่อสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง และได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา พิจิตรก็ตกไปอยู่กับกรุงศรีอยุธยา แต่ความสำคัญของเมืองพิจิตรมิได้ลดน้อยลง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๐๖ รัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงยกเลิกการปกครองแบบเก่า เปลี่ยนมาเป็นแบบจตุสดมภ์ เพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในชาติ เป็นการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคมีขุนนางเป็นผู้
ปกครอง และแบ่งหัวเมืองออกเป็นหัวเมือง เอก โท ตรี และจัตวา เมืองพิจิตรมีฐานะเป็นเมืองตรี นับว่าพิจิตรเป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญทางทหารและการปกครองไม่น้อย
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ได้เสด็จครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ทรงเห็นว่าพิจิตรเป็นเมืองลุ่มเต็มไปด้วยบึง คลอง ลำห้วย โดยเฉพาะบึงสีไฟที่มีน้ำขังตลอดปีไม่เคยแห้งมีเนื้อที่ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่ จึงขนานนามเมืองพิจิตรอีกนามหนึ่งว่า “โอฆบุรี” ซึ่งแปลว่า “ห้วงน้ำ”
รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเหตุการณ์ประวัติเกี่ยวข้องกับเมืองพิจิตร คือ เมืองพิจิตรเป็นที่ประสูติของพระเจ้าเสือ และเป็นถิ่นกำเนิดของพระโหราธิบดี กวีเอกของไทยดังที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จไปเมืองพิษณุโลกพระเพทราชาได้พานางสนมที่ได้รับพระราชทานซึ่งขณะนั้นตั้งภรรภ์แก่จวนคลอดติดตามไปด้วย เมื่อถึงบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร นางได้คลอดบุตร ในเดือนอ้าย อัฐศกและฝังรกไว้ที่ต้นมะเดื่อ บุตรนั้นจึงได้ชื่อว่า “นายเดื่อ” หรือ “ดอกเดื่อ” ต่อมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์ที่ ๘” หรือพระพุทธเจ้าเสือหรือขุนหลวงสรศักดิ์ เมื่อครองราชย์แล้วได้เสด็จไปคล้องช้างเมืองพิจิตร เลยไปเยี่ยมมาตุภูมิเดิมที่หมู่บ้านโพธิ์ประทับช้าง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามประกอบด้วยพระอุโบสถวิหาร เจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๒๔๔ พระองค์เสด็จทางชลมารค ไปฉลองพระอาราม ตั้งพระครูธรรมรูจีราชมุนีเป็นเจ้าอาวาส และพระราชทานนามว่า วัดโพธิ์ประทับช้าง ปัจจุบันวัดโพธิ์ประทับช้างยังมีพระอุโบสถที่ชำรุดหักพัง พระเจดีย์เก่าคร่ำคร่า ซึ่งราษฎรมักนิยมไปเคารพสักการะอยู่เสมอ
ส่วนจอมปราชญ์ในเชิงกวีในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระมหาราชครูนับว่าเป็นเอก ท่านถือกำเนิดที่เมืองพิจิตร พระมหาราชครูมีความสามารถในการแต่ง โคลงฉันท์ กาพย์
กลอน จนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และทรงยกย่องเป็นพระอาจารย์ นับเป็นลูกพิจิตรคนหนึ่งที่ได้สร้างผลงานทางด้านวรรณกรรมไว้เป็นมรดกของชาติ อันมีคุณค่าที่หาที่เปรียบมิได้
ศรีปราชญ์รัตนกวีของชาวไทยที่หายใจเป็นกาพย์ กลอน มีความสามารถเปรื่องปราดในทางอักษรศาสตร์ และวรรณคดีเป็นที่หนึ่งจนกิตติศัพท์เป็นที่กล่าวขานกันทุกมุมเมืองก็เป็นบุตรท่านราชครู จึงนับได้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อสานของชาวพิจิตรโดยสมบูรณ์

สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕)
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสภาพบ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบ มีเจ้าเมืองต่าง ๆ ตั้งตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าถึง ๕ ก๊ก เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปปราบก๊กพระยาพิษณุโลกในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ นั้น ถึงตำบลเกยชัยทรงถูกปืนที่พระชงฆ์ซ้าย จึงต้องยกทัพกลับพระนคร จากนั้นเจ้าพระฝางตีได้เมืองพิษณุโลก ชาวเมืองพิษณุโลกและเมืองพิจิตรต่างแตกหนีไปพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพไปปราบเจ้าพระฝาง ตีได้เมืองพิษณุโลกและเมืองสวางคบุรีในการนี้เมืองพิจิตรเป็นทางผ่านของกองทัพและชาวพิจิตรคงจะถูกเกณฑ์ไปในการรบด้วยและต่อมาทุกครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ มักจะโปรดให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองเพื่อทำศึกสงครามด้วยทุกครั้งไป

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕- )
สมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งศึก ๙ ทัพ
ปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพเข้าตีเมืองไทยถึง ๙ ทัพ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้และทางภาคตะวันตก ทัพเหนือพม่ายกมาทางเมืองเชียงแสนตีได้เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย และเมืองพิษณุโลก นอกจากเมืองพิจิตร เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้จัดกองทัพสำหรับที่จะต่อสู้ถึง ๙ ทัพ ทางเหนือให้กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขเป็นแม่ทัพไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขได้ให้เจ้าพระยามหาเสนายกขึ้นไปตั้งรักษาเมืองพิจิตรไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้พม่าจึงตั้งค่ายอยู่ที่ปากพิงใต้เมืองพิษณุโลก เพื่อคอยกองทัพหนุนจึงจะยกมาตีกองทัพไทยที่เมืองพิจิตรและเมืองนครสวรรค์ ดังนั้น กองทัพหลวงของไทยจากกรุงเทพฯ จึงยกทัพตามขึ้นไปตั้งที่เมืองนครสวรรค์ก่อน แล้วยกหนุนกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขขึ้นไปที่บางข้าวตอก แขวงเมืองพิจิตร และยกเข้าตีค่ายพม่าที่ปากพิง จนกองทัพพม่าแตกพ่ายไป พม่าจึงไม่มีโอกาสตีเมืองพิจิตร (ในการสงครามครั้งนี้ เป็นสงครามครั้งที่ ๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
สมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนเรื่อง "ไกรทอง" เนื่องจากเมืองพิจิตรเป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำมากมายและมีจระเข้ชุกชุมพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอาศัยเค้าโครงเรื่องจากเรื่องราวชาวพิจิตรที่ได้เล่าสืบต่อกันมา พระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่องไกรทอง ความว่า มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งมีนามว่า "ชาละวัน" เมื่อเข้าไปอยู่ในถ้ำจะกลับกลายร่างเป็นมนุษย์แต่พอออกมาจากถ้ำจะกลายร่างเป็นจระเข้ดังเดิม วันหนึ่งชาละวันได้คาบเอาลูกสาวของท่านเศรษฐีเมืองพิจิตรมีนามว่าตะเภาทอง เอาไปเป็นคู่ครองภายในถ้ำ จนท่านเศรษฐีได้ติดต่อกับไกรทองผู้เรืองเวทมนตร์จากจังหวัดนนทบุรี มาทำการปราบถึงตายปัจจุบันชื่อในเรื่องไกรทองได้กลายเป็นชื่อตำบลชื่อหมู่บ้านตามท้องเรื่องหลายแห่ง เช่น บ้านเศรษฐี เกาะศรีมาลา ดงชาละวัน และสระไข่ ฯลฯ เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลก ก็เสด็จผ่านเมืองพิจิตรไปตามแม่น้ำน่านเก่า ซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๕) ตื้นเขินเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินเสียแล้ว
กระแสน้ำได้เริ่มเปลี่ยนทางเดินเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ชาวจีนที่ทำไร่ฝ้ายบ้านดงเศรษฐี ตำบลไผ่ขวาง อำเภอเมืองพิจิตร ได้ทำการขุดคลองดงเศรษฐีเพื่อเอามูลดินมาทำปุ๋ยในไร่ฝ้ายตรงนั้นเป็นท้องคุ้ง ดินต่ำ พอถึงฤดูน้ำไหลแรงทำให้ดินข้างคลองพังลงมามาก กระแสน้ำจึงไหลทางคลองเรียงที่บ้านท่าฬ่อแล้วเลยไปบรรจบกับคลองท่าหลวงและคลองคันในเขตอำเภอเมืองพิจิตร เลยไปถึงคลองห้วยคต คลองบุษบงเหนือ, ใต้ ของอำเภอบางมูลนาก เกิดเป็นลำน้ำใหญ่ไหลไปบรรจบกับลำน้ำยมที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ ส่วนลำน้ำน่านเก่า ตั้งแต่บ้านดงเศรษฐี ตำบลคลองคะเชนทร์โรงช้าง เมืองเก่า โพธิ์ประทับช้างของอำเภอเมืองพิจิตร ตำบลวังสำโรงของอำเภอตะพานหิน ตำบลวัดขวาง ทุ่งน้อย ท่าบัว บ้านน้อย จนถึงลำน้ำยมที่ตำบลบางคลาน ตำบลโพทะเลเล็กตื้นเขิน การสัญจรไปมาทางเรือไม่สะดวกหลวงธรเณนทร์ เจ้าเมืองพิจิตรในขณะนั้น จึงได้ย้ายเมืองพิจิตรเสียใหม่
สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงธรเณนทร์ (แจ่ม) ได้ทำการย้ายเมืองพิจิตร ในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยไปสร้างเมืองพิจิตรใหม่ที่บ้านปากทาง ตำบลปากทาง โดยตั้งศาลากลางจังหวัดเป็นการชั่วคราวขึ้นที่เหนือต้นโพธิ์ใหญ่ ใกล้ปากทางที่จะไปตำบลคลองคะเชนทร์ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณเชิงสะพานพระพิจิตร (สะพานข้ามแม่น้ำน่านปัจจุบัน) ด้านใต้ ปัจจุบันนี้ต้นโพธิ์ และพื้นดินที่ตั้งศาลากลางจังหวัดชั่วคราวได้ถูกน้ำพัดพังลงแม่น้ำน่านไปหมดแล้ว อยู่เกือบจะตรงกลางสะพานพระพิจิตรในขณะนี้ทีเดียว ต่อมา พ.ศ. ๒๔๒๗ จึงได้ย้ายเมืองใหม่อีกเป็นครั้งที่สองโดยย้ายไปตั้งที่บ้านท่าหลวง ตำบลในเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองพิจิตรใหม่ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๕)
ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ พระศรีเทพบาล (พระยาราชฤทธานนท์) เจ้าเมืองพิจิตรได้สร้างโรงเรียนหลังแรกของพิจิตรขึ้นที่วัดท่าหลวง เปิดเรียนเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ มีขุนไพจิตร (เปลี่ยน) เป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้สร้างโรงเรียนประจำเมืองพิจิตรชื่อโรงเรียนพิจิตรพิทยาคม เปิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓
ปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้มีการปันแขวงปกครองหัวเมือง เมืองพิจิตรแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบางคลาน และอำเภอภูมิ
ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ สมัยพระศรีสุริยราชวรภัย (จร) เป็นเจ้าเมืองพิจิตร ได้สร้างกรมทหารเมืองพิจิตรที่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน (ตรงบริเวณวิทยาลัยเทคนิคพิจิตรปัจจุบัน) ซึ่งกรมทหารราบที่ ๑๗ มีพันตรีหลวงราชานุรักษ์เป็นผู้บังคับการกรมทหารประจำการมี ๔ กองร้อย
ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้มีการเปิดทางรถไฟจากปากน้ำโพถึงเมืองพิษณุโลก ซึ่งทางรถไฟสายนี้ผ่านเมืองพิจิตรเดินทางรถไฟสายเหนือเปิดเดินถึงปากน้ำโพเท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟต่อจากปากน้ำโพถึงเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรจึงมีทางรถไฟผ่านด้วย
สมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ดังนั้น เมืองพิจิตรจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดพิจิตร และตำแหน่ง "ผู้ว่าราชการเมือง" เปลี่ยนเป็น " ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร" และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ สำหรับจังหวัดพิจิตรได้เปลี่ยนอำเภอเมืองเป็นอำเภอท่าหลวง อำเภอภูมิ เป็นอำเภอบางมูลนาก ส่วนอำเภอบางคลาน คงเรียกชื่อเดิม ส่วนกรมทหารราบที่ ๑๗ ถูกยุบเลิกไปขึ้นกับกรมทหารราบมณฑลพิษณุโลก
สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระชาติตระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้สร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุด-
โทรมมาก โดยสร้างเป็นอาคารสูงชั้นเดียวทรงปั้นหยาออกมุขกลาง ฝากระดาน พื้นกระดาน มุงกระเบื้องซีเมนต์ สร้างบ้านพักหัวหน้าศาลหลังหนึ่งเป็นอาคารสองชั้นทรงสมัยใหม่ สร้างบ้านพักนายตำรวจและสร้างบ้านพักหัวหน้าส่วนราชการอีกหลายหลังและในสมัยรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้มีการตั้งเทศบาลเมืองพิจิตรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีอาณาเขตของเทศบาลเมืองพิจิตรเพียง ๑.๘๘ ตารางกิโลเมตรเท่านั้น นายกเทศมนตรีคนแรกคือ หลวงประเทืองคดี (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๒๙ อาณาเขตของเทศบาลเมืองพิจิตรมี ๑๒.๑๗
ตารางกิโลเมตร)
ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอท่าหลวงเป็นอำเภอเมืองพิจิตร และก่อนหน้านั้นมีการย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลบางคลานไปตั้งใหม่ที่บ้านโพทะเล จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอบางคลานเป็นอำเภอโพทะเล ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐
นอกจากนี้ยังมีการตั้งกิ่งอำเภอตะพานหินขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ และยกฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ตั้งอำเภอสามง่ามในปี พ.ศ. ๒๔๘๑
รัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีการตั้งกิ่งอำเภอโพธิ์-ประทับช้าง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งยกฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ตั้งกิ่งอำเภอวังทรายพูน ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ตั้งกิ่งอำเภอทับคล้อ

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
การจัดระเบียบการปกครองของไทย ซึ่งจัดหน่วยการปกครองออกเป็น หน่วยราชการบริหารส่วนกลาง และหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งการปกครองส่วนภูมิภาคสมัยก่อนนั้น
ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเอง การปกครองโดยที่ส่วนภูมิภาคจัดการปกครองกันเองนี้ เรียกว่า
"ระบบกินเมือง"
ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นำรูปการปกครองแบบระบบเทศาภิบาลมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในการปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งส่วนกลางปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล หมูบ้าน ลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นสัดส่วน และส่วนกลางจะจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางไปบริหารราชการตามท้องที่ต่าง ๆ เหล่านั้นแทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเอง ซึ่งนับว่าเป็นการริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจัดตั้งมณฑลพิษณุโลกเป็นมณฑลแรก ประกอบด้วยเมือง ๕ เมือง คือเมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร เมื่อเริ่มต้นมณฑลเทศาภิบาลเมืองพิจิตรขึ้นอยู่กับมณฑลพิษณุโลก และเมืองพิจิตรมีเมืองหนึ่งเมืองคือ "เมืองภูมิ" (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอบางมูลนาก) เมืองภูมินี้ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๑๘ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ดังนี้ :-
เมืองพิจิตร
ผู้ว่าราชการเมือง พระยาเทพาธิบดี
ปลัด หลวงศรีสงคราม
ยกกระบัตร หลวงเสนาราช
ผู้ช่วย หลวงวิเศษภักดี
เมืองขึ้นเมืองพิจิตร
เมืองภูมิ
ผู้ว่าราชการเมือง พระณรงค์เรืองเดช

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้มีการปกครองหัวเมืองสำหรับเมืองพิจิตรแบ่งออกเป็น ๓ อำเภอด้วยกันคือ อำเภอเมือง อำเภอบางคลาน และอำเภอเมืองภูมิ

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราช-อาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด อำเภอ จังหวัดนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ หรือเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น ส่วนการตั้ง ยุบ หรือเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ปัจจุบันจังหวัดพิจิตร ได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ ๗๘ ตำบล ๖๕๑ หมู่บ้าน เทศบาล ๓ แห่ง และสุขาภิบาล ๑๔ แห่ง



















ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดพิจิตร . พิจิตร : จุลดิษฐ์การพิมพ์ , ๒๕๓๐.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8