อุตรดิตถ์

ประวัติศาสตร์จังหวัดอุตรดิตถ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หวน พินพันธุ์ ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของจังหวัดอุตรดิตถ์ และเรียบเรียงไว้ดังนี้๑
ในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ต่อมาในสมัยสุโขทัยก็มีการตั้งเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองทุ่งยั้ง และเวียงเจ้าเงาะในท้องที่อำเภอลับแลปัจจุบัน เมืองตาชูชกในท้องที่อำเภอตรอนปัจจุบัน เมืองสวางคบุรีในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ปัจจุบัน ในสมัยอยุธยาก็มีการตั้งเมืองพิชัยในท้องที่อำเภอพิชัยปัจจุบัน เป็นต้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีการย้ายเมืองจากเมืองพิชัยมาตั้งใหม่ที่ตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงรายละเอียดของอุตรดิตถ์ในอดีต ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

อุตรดิตถ์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสมัยโบราณก่อน พ.ศ. ๑๐๐๐ ยังไม่มีตัวอักษรใช้กัน อุตรดิตถ์ก็คงมีคนอาศัยอยู่แล้ว เพราะหลักฐานการค้นพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือพบลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งขุดพบที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และนายแจ้ง เลิศวิลัย ได้ส่งไปให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐๒ (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร) นอกจากนี้ยังเคยขุดพบกลองมโหระทึก และพร้าสัมฤทธิ์ในบริเวณเวียงเจ้าเงาะ อำเภอลับแล๓ อีกด้วย แสดงว่าในบริเวณทั้ง ๒ แห่งนี้มีคนเคยอาศัยอยู่มาก่อนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และจากโบราณวัตถุที่ทำด้วยสัมฤทธิ์นี้เอง แสดงว่าเป็นยุคสัมฤทธิ์ หรือยุคโลหะตอนต้น

อุตรดิตถ์สมัยสุโขทัย
ในสมัยสุโขทัยท้องที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการตั้งเมืองขึ้นหลายเมืองด้วยกัน เช่น เมืองฝางหรือเมืองสวางคบุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เมืองทุ่งยั้งและเวียงเจ้าเงาะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอลับแลและเมืองตาชูชก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอตรอน เมืองเหล่านี้มีหลักฐานทางศิลาจารึกบ้าง หลักฐานทางโบราณสถานบ้างที่แสดงว่าเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
เมืองแรกคือ เมืองฝาง หรือเมืองสวางคบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยเป็นครั้งแรก เมื่อคราวที่พระมหาธรรมราชาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัยได้ทรงสร้างพระมหาธาตุที่เมืองนครชุม เมืองมหาศักราช ๑๒๗๙ (พ.ศ. ๑๙๐๐) และตอนท้ายของศิลาจารึกหลักที่ ๓ นั้น ได้กล่าวถึงเมืองฝางด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งดังนี้
"...ขุนผู้ใดกระทำชอบด้วยธรรมดังอันขุนผู้นั้น ...กินเมืองเหินนานแก่กม ผู้ใดกระทำบ่ชอบด้วยธรรมดังอันขุนผู้นั้น บมิยืนเยิงเหิงนานเลย คำนี้กล่าวคันสเล็กสน้อยและคำอันพิสดารไซร้ กล่าวไว้ในจารึกอันมีในเมืองสุโขทัย...นักพระมหาธาตุพู้น และจารึกอันหนึ่งมีในเมือง .....อันหนึ่งมีในเมืองฝาง อันหนึ่งมีในเมืองสระหลวง......หมทลประดิษฐานไว้ด้วยพระบาทลักษณะหั้น...."๔
จากข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๓ นี้ จึงกล่าวได้ว่าเมืองฝางเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย ในสมัยสุโขทัย และยังเป็นเมืองต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา
อีกเมืองหนึ่งคือ เมืองทุ่งยั้ง และเวียงเจ้าเงาะ ถึงแม้จะไม่ปรากฏชื่อเมืองนี้ในศิลาจารึกกรุงสุโขทัย แต่จากการพบตัวเมืองมีลักษณะเป็นกำแพงเมือง ๓ ชั้น และคูน้ำ ๒ ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับเมืองโบราณสมัยสุโขทัยโดยทั่วไป และยังพบพระสถูปเจดีย์ที่มีมาแต่สมัยสุโขทัยหลายแห่ง เช่นในเขตวัดพระยืน กุฏิฤาษี และวัดทองเหลือ เป็นต้น นอกจากนี้ในกฎหมายลักษณะลักพาครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยามีชื่อเมืองทุ่งยั้งอยู่ในทำเนียบด้วยย่อมเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่า เมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองอยู่ในสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน๕
เมืองโบราณอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองตาชูชก ซึ่งอยู่ในท้องที่ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน และอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฟากตะวันออก ลักษณะของตัวเมืองมีกำแพงเมือง ๓ ชั้น และคูน้ำ ๒ ชั้น และใช้แม่น้ำน่านเป็นคูเมืองธรรมชาติ ลักษณะของกำแพงเมือง ๓ ชั้นนี้เหมือนกับเมืองทุ่งยั้ง และเหมือนกับเมืองโบราณสมัยสุโขทัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองสุโขทัยเก่า ได้ปรากฏข้อความที่บรรยายถึง
ลักษณะตัวเมือง ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของกรุงสุโขทัยว่า "รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูร ได้สามพันสี่ร้อยวา"๖คำว่า "ตรีบูร" หมายถึงกำแพง ๓ ชั้นนั่นเอง ดังนั้นเมืองตาชูชกและเมืองทุ่งยั้ง ซึ่งมีกำแพง ๓ ชั้นเช่นกัน จึงเชื่อว่าเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัยอย่างไม่มีปัญหา
จึงกล่าวได้ว่าอุตรดิตถ์ในสมัยสุโขทัย มีเมืองอยู่ถึง ๓ เมืองด้วยกัน

อุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยาเริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ปรากฏว่ามีเมืองขึ้นถึง ๑๖ เมืองด้วยกัน ในจำนวน ๑๖ เมืองนี้ มีเมืองพิชัย ซึ่งอยู่ในท้องที่ของอุตรดิตถ์ในปัจจุบันอยู่ด้วย ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ดังนี้
"ศุภมัศดุศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ. ๑๘๙๓) วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เพลาสามนาฬิกาเก้าบาทสถาปนากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลปบาต ได้สังข-ทักษิณวัตรใต้ต้นหมันขอนหนึ่งแลสร้างพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาทองค์หนึ่งสร้างพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทองค์หนึ่ง สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาทองค์หนึ่งแล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จเข้ามาครอง
ราชสมบัติ ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว กรุงเทพทวาราวดี ศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์,จึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระ
ราเมศวรขึ้นไปครองราชสมบัติในเมืองลพบุรี ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมลากา, เมืองชวา, เมืองตะนาวศรี, เมืองนครศรีธรรมราช, เมืองทวาย, เมืองเมาะตะมะ, เมืองเมาะลำเลิง, เมืองสงขลา, เมืองจันทบุรี, เมืองพิษณุโลก, เมืองพิชัย, เมืองสวรรคโลก, เมืองพิจิตร, เมืองกำแพงเพชร, เมืองนครสวรรค์…"๗
จะเห็นได้ว่าเมืองพิชัย เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมืองหนึ่ง ส่วนเมืองทุ่งยั้ง เมืองฝาง และเมืองตาชูชกคงเป็นเมืองที่หมดความสำคัญลงไปก็ได้ จึงไม่ได้กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร ส่วนเมืองพิชัยคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญขึ้นนั่นเอง
ต่อมา พ.ศ. ๒๐๓๓ ได้มีการก่อกำแพงเมืองพิชัยขึ้น๘ (ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แสดงว่าก่อนหน้านี้ เมืองพิชัยยังไม่มีกำแพงเมือง เพิ่งทำการก่อกำแพงเมืองในปีนี้ ลักษณะของกำแพงเมือง เป็นกำแพงดินชั้นเดียว ตัวเมืองอยู่ริมแม่น้ำน่านฟากตะวันออก
ในปี พ.ศ. ๒๑๐๖ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าหงสาวดี บุเรงนองยกกองทัพมาตีเมืองเหนือซึ่งในพระราชพงศาวดารเรืองไทยรบพม่ากล่าวว่า เป็นสงครามครั้งที่ ๓ คราวนั้นรบกันด้วยเรื่องช้างเผือกในครั้งนี้ปรากฏว่ากองทัพพระมหาอุปราชากับพระเจ้าแปรยกไปถึงเมืองสุโขทัย พระยาสุโขทัยต่อสู้ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถกำลังไทยน้อยกว่าพม่ามากนักก็เสียเมืองสุโขทัย ตัวพระยาสุโขทัยพม่าก็จับได้ ฝ่ายพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัยเมื่อรู้ว่าเสียเมืองสุโขทัยแล้วก็ไม่ต่อสู้ พากันไปยอมอ่อนน้อมต่อพระมหาอุปราชาทั้ง ๒ เมือง๙ จะเห็นได้ว่า เมืองพิชัยเป็นเมืองหน้าด่านเมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนี้ด้วย และในการที่พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเหนือครั้งนี้ พม่าให้รวบรวมเรือในหัวเมืองฝ่ายเหนือจัดเป็นกองทัพเรือ ยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยา และพระยาพิชัยได้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย๑๐
ต่อมา พ.ศ. ๒๑๒๗ ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จขึ้นไปขับไล่กองทัพพม่าทางหัวเมืองเหนือ ปรากฏว่าพระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัยแข็งเมืองไม่ยอมเกณฑ์กำลังไปช่วยขับไล่กองทัพพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงยกกองทัพเข้าตีเมืองสวรรคโลก และเมืองพิชัย และสามารถเข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย มีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสองคน แล้วให้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองทั้งเมืองสวรรคโลก และเมืองพิชัย ลงมายังเมืองพิษณุโลกจนสิ้นเชิง๑๑
เหตุการณ์ในสมัยอยุธยาที่เกี่ยวข้องกับเมืองพิชัยก็มีเพียงเท่านี้ แต่จะปรากฏเรื่องของเมืองพิชัยอีกในสมัยธนบุรี สำหรับเมืองสวางคบุรี หรือเมืองฝาง และเมืองทุ่งยั้งได้มีเหตุการณ์ในสมัยอยุธยาอีก ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงเมืองฝาง คือในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้เตรียมทัพหลวงที่จะไปปราบเมืองอังวะ แล้วได้เสด็จยกทัพหลวงไปทางเชียงใหม่ แล้วเสด็จต่อไปทางเมืองหางหลวง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ยกทัพหลวงเสด็จไปทางเมืองฝาง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จถึงเมืองหลวงนั้น ได้ทรงพระประชวรหนักก็ตรัสให้ข้าหลวงไปกราบทูลพระกรุณาถึงเมืองฝางสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จจากเมืองฝางมายังเมืองหางหลวง รุ่งขึ้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็เสด็จสวรรคต๑๒ แสดงว่าในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองฝางคงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จเมืองทุ่งยั้ง และเมืองสวางคบุรี ในปี พ.ศ. ๒๒๘๓ เพื่อนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ เมืองทุ่งยั้ง และนมัสการพระมหาธาตุ ณ เมืองสวางคบุรี แต่ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเมืองทุ่งยั้งว่าเป็นเมืองศรีพนมมาศ ทุ่งยั้ง๑๓ ความจริงก็คือเมืองทุ่งยั้งนั่นเอง ส่วนเมืองสวางคบุรีก็เป็นเมืองเดียวกับเมืองฝาง อาจจะเปลี่ยนชื่อจากเมืองฝางมาเป็นเมืองสวางคบุรีในภายหลัง
สำหรับในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้ ยังมีเรื่องราวที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารอีกว่า มีพระภิกษุชาวเมืองเหนือรูปหนึ่งชื่อเรือนลงมาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนได้เป็นที่พระพากุลเถร ตำแหน่งพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ ณ วัดศรีอโยธยา อยู่มาสมเด็จพระบรมโกศทรงตั้งให้เป็นตำแหน่งสังฆราชา ขึ้นไปเป็นเจ้าคณะสงฆ์ เมืองสวางคบุรี อยู่ ณ วัดพระฝาง๑๔
ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๐ ในรัชกาลพระที่นั่งสุริยามรินทร์ กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่า หัวเมืองทั้งปวงไม่มีพระราชาธิบดีปกครอง ก็พากันตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นหลายก๊กหลายเหล่า๑๕ พระสังฆราชาเรือน ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอีกตำบลหนึ่ง แต่หาสึกเป็นคฤหัสไม่ คงอยู่ในเพศสมณะแต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่า เจ้าพระฝาง บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไป ก็กลัวเกรงนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น และเมืองเหนือครั้งนั้นมีเจ้าขึ้นสองแห่ง แบ่งแผ่นดินออกเป็นสองส่วน ตั้งแต่เมืองพระพิษณุโลกลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์กับแควปากน้ำโพนั้น เป็นอาณาเขตของเจ้าพระพิษณุโลก ตั้งแต่เหนือเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไปจนถึงเมืองน้ำปาด กระทั่งแดนลาว กับแควแม่น้ำปากพิงนั้น เป็นอาณาเขตข้างเจ้าพระฝาง๑๖

อุตรดิตถ์สมัยธนบุรี
ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ ณ กรุงธนบุรีแล้ว ในรัชกาลของพระองค์นี้ปรากฏว่า เจ้าพระพิษณุโลกถึงพิราลัย เจ้าพระฝางจึงยกกองทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลกอีก หลังจากเคยยกทัพลงมาตีครั้งหนึ่งแล้ว แต่เอาเมืองมิได้ แต่ครั้งนี้เจ้าพระฝางสามารถตีเอาเมืองพิษณุโลกได้๑๗ ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๓ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกองทัพขึ้นไปปราบหัวเมืองซึ่งเป็นอาณาเขตของเจ้าพระฝางทั้งหมด ส่วนตัวเจ้าพระฝางนั้นหนีแล้วเลยหายสูญไป๑๘ เป็นอันว่าเมืองสวางคบุรี และอาณาเขตทั้งหมดขึ้นกับกรุงธนบุรีแต่นั้นมา
ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๔ พระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ได้ไปตั้งที่ประชุมทัพหลวงที่เมืองพิชัย ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๕ โปสุพลาแม่ทัพพม่าที่ไปตีได้เมืองหลวงพระบาง ให้ชิกชิงโบ นายทัพพม่ายกมาตีได้เมืองลับแล แล้วเลยมาตีเมืองพิชัย พม่าตั้งค่ายอยู่ที่วัดเอกา ขณะนั้นเมืองพิชัยรี้พลมีน้อย พระยาพิชัยได้แต่ตั้งมั่นรักษาเมือง แล้วบอกขอกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีค่ายพม่า พระยาพิชัยยกออกตีกระหนาบอีกด้านหนึ่ง พม่าก็แตกหนีกลับไป๑๙
ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๖ โปสุพลายยกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยก็ยกพลทหารออกไปต่อรบแต่กลางทางยังไม่มาถึงเมือง เจ้าพระยาสุรรีห์ก็ยกกองทัพเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไปช่วย ได้รบกับพม่าเป็นสามารถ และพระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพลทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงลือชื่อปรากฏเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหักแต่นั้นมา ครั้งถึง ณ วันอังคารเดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ กองทัพพม่าแตกพ่ายหนีไป จึงบอกหนังสือลงมากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงธนบุรี๒๐
จะเห็นได้ว่าอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยา และสมัยธนบุรี เมืองพิชัยเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง และเมืองสวางคบุรีก็คงเป็นเมืองที่มีความสำคัญที่รองลงมา หรืออาจเท่าเทียมกันก็ได้ สังเกตได้จากเมืองพิชัยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาในสมัยอยุธยาตอนต้น และคงเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาด้วย ส่วนเมืองสวางคบุรีก็คงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ สังเกตได้จากเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว เจ้าพระฝางได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้ามีอำนาจในหัวเมืองเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปจนถึงแดนลาวทีเดียว ส่วนเมืองทุ่งยั้ง คงขาดความสำคัญลงไปมาก แต่ในพระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาก็ยังกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ เมืองทุ่งยั้งคราวเดียวกับเสด็จนมัสการพระมหาธาตุ ณ เมืองสวางคบุรีด้วย ส่วนเมืองตาชูชกคงขาดความสำคัญลงไปมากจนอาจเป็นเมืองร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาก็ได้ เพราะไม่ปรากฏว่า พระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงเมืองนี้เลย

อุตรดิตถ์สมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองต่าง ๆ ในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบันที่ยังมีความสำคัญอยู่คือ เมืองพิชัยส่วนเมืองทุ่งยั้งก็ดี เมืองสวางคบุรีก็ดี คงจะลดความสำคัญลงไปมากทีเดียว สำหรับเมืองพิชัยมาเป็นเมืองสำคัญขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เพราะเมื่อเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถ กองทัพกรุงเทพฯ ขึ้นไปปราบปรามราบคาบ แล้วโปรดให้เลิกอาณาเขตกรุงศรีสัตนาคนหุตมิให้มีดังแต่ก่อน เมืองพิชัยได้หัวเมืองขึ้นของเมืองเวียงจันทน์ ที่อยู่ต่อแดนมาเป็นเมืองขึ้นหลายเมือง ขยายเขตแดนออกไปถึงแม้น้ำโขง ต้องตรวจตรารักษาการทางเมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนเมืองหลวงพระบางเป็นเมืองหน้าด่านแต่นั้นมา๒๑ แสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ เมืองพิชัยเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้เอง ปรากฏว่าที่ตำบลบางโพท่าอิฐซึ่งเป็นที่ตั้งตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบันและอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีเรือเดินจากกรุงเทพฯได้สะดวกถึงตำบลบางโพท่าอิฐนี้เท่านั้น เพราะเหนือขึ้นไปแม่น้ำตื้นเขินและเป็นเกาะแก่งเรือเดินไม่สะดวก เพราะฉะนั้นตำบลบางโพท่าอิฐจึงเป็นย่านสำคัญ เพราะเป็นที่รวมสินค้า ซึ่งพ่อค้าได้นำสินค้าทางเมืองใต้ขึ้นไปสุดทางเพียงแค่นั้น และพ่อค้าทางเมืองเหนือ เช่น เมืองหลวงพระบาง เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนแคว้นสิบสองปันนา ก็นำสินค้าพื้นเมืองเดินบกลงมาจำหน่ายแล้วคอยรับซื้อสินค้าที่ส่งไปจากกรุงเทพฯ ที่ตำบลบางโพท่าอิฐนี้ เมื่อตำบลบางโพท่าอิฐเป็นทำเลการค้าดีเช่นนี้ ราษฎรจึงพากันอพยพจากเมืองพิชัยมาอยู่ที่ตำบลบางโพท่าอิฐมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ผู้คนในเมืองพิชัยร่วงโรยลง แต่ตำบลบางโพท่าอิฐกลับมีราษฎรมาตั้งถิ่นฐานกันหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกปี จนกลายเป็นชุมชนใหญ่กว่าเมืองพิชัยเสียอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่ตำบลนี้คงเจริญต่อไปในภายหน้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมืองขึ้น เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๓๐ เรียกว่า "เมืองอุตรดิตถ์" (อุตร = เหนือ,ดิตถ์ = ท่า เมืองอุตรดิตถ์ จึงน่าจะหมายถึง เมืองท่าเหนือ) และโปรดให้เป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัย๒๒ ดังนั้นในตอนนี้ เมืองพิชัยจึงแบ่งการปกครองออกเป็น ๕ เมืองด้วยกันคือ เมืองอุตรดิตถ์ เมืองตรอน เมืองลับแล และเมืองน้ำปาด๒๓
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ย้ายศาลากลางเมืองไปตั้งบังคับบัญชาที่เมืองอุตรดิตถ์ และให้คงไว้แต่อำเภอพิชัยเก่า และนามเมืองพิชัยก็เลยนำไปใช้ที่เมืองอุตรดิตถ์ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาใช้เมืองอุตรดิตถ์๒๔ เหตุที่ย้ายศาลากลางเมืองไปตั้งใหม่ที่เมืองอุตรดิตถ์ ก็เพราะเมืองพิชัยร่วงโรยลงไป แต่เมืองอุตรดิตถ์มีผู้คนไปประกอบการค้ามากขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ปรากฏว่าพวกเงี้ยวได้ก่อการจลาจลขึ้นที่เมืองแพร่ ทางเมืองเหนือรวมทั้งเมืองอุตรดิตถ์ด้วย ต้องจัดกำลังขึ้นไปช่วยก่อนที่กองทัพจากกรุงเทพฯ จะเดินทางขึ้นไป และในเดือนนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์
มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็นพลโท ยกกองทัพขึ้นไปปราบเงี้ยวที่ก่อการจลาจลในเมืองแพร่ ก็ได้ไปพักกองทัพเพื่อยกขึ้นเดินทางบกที่เมืองนี้๒๕ และตั้งประชุมไพร่พลอยู่ที่เมืองนี้หลายวัน แล้วจึงเดินบกต่อไปยังเมืองแพร่๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้เสด็จเมืองพิชัยเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๔๔ และเสด็จเมืองอุตรดิตถ์เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๔๔ และการเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือนี้พระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงเทวะษาโรประการด้วย สำหรับการเสด็จเมืองอุตรดิตถ์นี้ มีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งกล่าวถึงตลาดของเมืองอุตรดิตถ์ "…..ในตลาดนั้นมีเรือนแถวฝากระดาน ๒ ชั้น แต่ใหญ่ ๆ กว่าที่กรุงเทพฯ ที่แล้วก็มาก ที่ยังทำอยู่ก็มี เป็นร้านขายของอย่างครึกครื้น ที่เป็นบ้านเรือนแลห้างก็มีบ้าง เขาว่าตลาดบกที่นี่ดีกว่าที่ปากน้ำโพซึ่งฉันไม่ได้เห็น แต่ตลาดเรือนั้น ที่นี่สู้ปากน้ำโพไม่ได้…." และในการเสด็จเมืองอุตรดิตถ์ครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จต่อไปยังเมืองลับแลในวันที่ ๒๔ ตุลาคม และเสด็จเมืองฝางเก่าในวันที่ ๒๕ ตุลาคม อีกด้วย
ยังมีพระราชหัตถเลขาอีกตอนหนึ่ง ที่กล่าวถึงการย้ายที่ว่าเมือง ดังข้อความดังนี้
"อนึ่งเมืองพิไชยนั้น โดยภูมิฐานที่ตั้งไม่ดีมีแต่ร่วงโรยลง ที่เมืองอุตรดิตถ์นี้ความเจริญขึ้นรวดเร็ว มีการค้าขายแลผู้คนมาก จนเป็นอำเภอก็จะไม่ใคร่พอที่จะปกครองรักษา ฉันจึงได้สั่งให้ย้ายที่ว่าการเมืองขึ้นมาตั้งที่พลับพลานี้แต่อำเภออุตรดิตถ์ก็คงเป็นอำเภออุตรดิตถ์อยู่ อำเภอเมืองพิไชยก็คงเป็นอำเภอเมืองพิไชย ย้ายแต่ที่ว่าการเมืองแลศาลเมืองขึ้นมาตั้งที่นี่ แลพลับพลาที่สร้างขึ้นนี้จะใช้ได้ต่อไปอีกหลายปี กว่าการปลูกสร้างใหม่จะแล้วสำเร็จ"๒๗
และใน พ.ศ. ๒๔๔๔ นี้เอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้เสด็จเมืองอุตรดิตถ์ด้วยและได้ทรงนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า "เวลาบ่าย ๓ โมง ขี่ม้าขึ้นไปตามถนนริมน้ำ ดูตลาดท่าอิฐ ซึ่งอยู่เหนืออุตรดิตถ์หน่อยหนึ่ง ที่แท้จริงอุตรดิตถ์ไม่มีคนมากเท่าท่าอิฐ แลท่าอิฐนั้นควรจะเป็นเมือง เมืองทั้งปวงในมณฑลพิษณุโลก เมืองไหนจะดีเท่าอุตรดิตถ์ไม่มี เป็นเมืองที่โคราช เป็นที่รวมทางที่มาแต่ที่ดอน คือ แพร่ น่าน เป็นต้น มาสู่อุตรดิตถ์เป็นท่าเป็นบ้านร้านตลาดหาได้จับบางแต่ตามลำน้ำเช่นเมืองอื่นไม่ คับคั่งแน่นหนาประดุจตลาดน้อยกรุงเทพฯ เวลานี้ที่ตลาดกำลังทำโรงร้านใหม่เพราะขยายถนน โรงร้านนั้นทำด้วยไม้เป็นสองชั้น… เมืองอุตรดิตถ์เป็นที่งอก แผ่นดินเป็นกพักสองชั้นอย่างเมือง พิไชยเกือบทุกแห่ง…"๒๘
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๔๙ ทางการได้เตรียมการที่จะสร้างทางรถไฟสายเหนือ
ไปเชียงใหม่โดยผ่านอุตรดิตถ์ด้วย ได้เตรียมถางทาง โค่นต้นไม้ถมดิน ทางรถไฟตรงมาทางหลังวัด
ท่าถนน ผ่านป่าช้าของวัดท่าถนน (คือสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ปัจจุบัน) สร้างมุ่งตรงไปถึงป่าไผ่หนาทึบ (คือที่ตั้งสถานีรถไฟท่าเสาในปัจจุบัน) ตัดผ่านหน้าวัดใหญ่ท่าเสาไปถึงหน้าวัดดอยท่าเสา และในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ก็ได้วางรถไฟไปตามเส้นทางดังกล่าว ขณะที่ทางการวางรางรถไฟก็มีรถจักรทำงานจูงรถพ่วงที่บรรทุกดิน หินกรวดไปด้วย ประชาชนชาวอุตรดิตถ์ จึงได้เห็นรถไฟที่มาถึงอุตรดิตถ์ในปีนี้ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๕๓ ทางการจึงได้จัดการสร้างสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ขึ้นในบริเวณที่เป็นป่าช้าหลังวัดท่าถนนซึ่งเป็นสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนั่นเอง๒๙
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ นี้ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมือง สวรรคโลก เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองพิษณุโลก ขณะที่เสด็จประพาสอุตรดิตถ์ พระองค์ได้ทอดพระเนตรทางรถไฟด้วย และพระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับเมืองอุตรดิตถ์ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้
"เมืองอุตรดิตถ์ หรือเรียกตามที่ตั้งใหม่ว่าเมืองพิชัยนี้ เป็นเมืองใหม่แท้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องป่วยการเที่ยวหาของโบราณอะไร ดูแต่ของใหม่ๆ มีดูหลายอย่าง ที่นี่เป็นเมืองสำคัญในมณฑลนี้แห่งหนึ่ง เพราะเป็นเมืองด่านที่พักสินค้าขึ้นล่องมาก เพราะฉะนั้นผู้คนพ่อค้าพาณิชย์อยู่ข้างจะมีมาก ตลาดท่าอิฐมีร้านรวงอยู่มากครึกครื้น มีข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือท่าอิฐนี้ต้องน้ำท่วมทุกปี จึงไม่น่าจะเป็นที่ถาวรอยู่ได้ น่าจะขยับขยายย้ายตลาดเข้าไปเสียให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำอีกสักหน่อย"๓๐
และอีกตอนหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
"เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมีไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อนชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่ายวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ นั้น และให้นามว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร" แล้วได้เลยไปออกที่เขาม่อนจำศีล บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา และเห็นเขาเป็นทิวเทือกซ้อนสลับกันเป็นชั้น ๆ รวมกับกำแพงน่าดูหนักหนา"๓๑
ต่อมาวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จเมืองพิชัยเก่า และเมืองพิชัยใหม่คือเมืองอุตรดิตถ์ และพระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า "....เสด็จพระดำเนินมาตามถนนผ่านตลาดบางโพ ชาวตลาดอยู่เป็นปรกติตามเคย ไม่ได้แสดงอาการรับเสด็จ นอกจากจุดเทียนธูปไม่กี่ร้าน บ่าย ๕ โมง ๔๘ นาที ถึงจวน ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองจัดถวายให้เป็นที่ประทับแรม..."๓๒
สำหรับนามเมืองพิชัยยังใช้ที่เมืองอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ย้ายศาลากลางเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรอให้เปลี่ยนนามเมืองพิชัยเป็นเมืองอุตรดิตถ์ให้ตรงกับนามท้องที่ ๆ ตั้งเมือง ส่วนอำเภอพิชัยเก่า โปรดเกล้าให้เรียกว่าอำเภอพิชัยคงไปตามเดิม๓๓ แสดงว่าชื่อเมืองอุตรดิตถ์จึงเป็นชื่อเมืองที่เรียกกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นต้นมา
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดแล้วให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังวหวัด ดังนั้นเมืองอุตรดิตถ์จึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์๓๔ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้เอง ได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ว่าการอำเภอลงวันที่ ๘ - ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ คืออำเภอเมืองเปลี่ยนเป็นอำเภอบางโพ อำเภอลับแลเปลี่ยนเป็นยางกระใด อำเภอเมืองพิไชย คงเรียกอำเภอเมืองพิไชย อำเภอตรอนเปลี่ยนเป็นอำเภอบ้านแก่ง อำเภอน้ำปาด เปลี่ยนเป็นอำเภอแสนตอ๓๕ (แต่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนไปใช้อย่างเดิมอีก)
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีพระบรมราชานุญาตโอนอำเภอท่าปลา จากจังหวัดน่านมาขึ้นจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสะดวกแก่การปกครองท้องที่ เนื่องจากอำเภอท่าปลา จังหวัดน่านตั้งอยู่ไกลศาลากลางจังหวัดมาก ทางเดินไปมา ๑๔ วัน ทางเรือ ๑๕ วัน เป็นทางกันดาร ถ้าถึงฤดูฝนก็ยิ่งลำบากทั้งทางน้ำและทางบก แต่ทางไปมาระหว่างอำเภอนี้กับจังหวัดอุตรดิตถ์ทางเดิน ๓ วัน ก็ถึง ทางน้ำก็สะดวก เห็นควรโอนไปขึ้นจังหวัดอุตรดิตถ์๓๖
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ตั้งเป็นสุขาภิบาลขึ้น และได้ยกฐานะเป็นเมืองเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘๓๗
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นปีที่อุตรดิตถ์เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทอินโดจีน คือไทยได้เรียกร้องขอเอาดินแดนของไทยคืนจากฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสขู่บังคับเอาจากไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่ตั้งติดกับพรมแดนอินโดจีน ด้านปากลายริมแม่น้ำโขง กองพันทหาร ร.พัน ๒๘นครสวรรค์ มีหลวงหาญสงครามไชยเป็นแม่ทัพ ได้ยกกองทหารมาตั้งที่อุตรดิตถ์ และได้ทำการยึดปาก-ลายไว้ได้ มีนักเรียนฝึกหัดครูอุตรดิตถ์ และชาวอุตรดิตถ์ได้ช่วยกองทหารอย่างมากด้วย๓๘
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีการย้ายศาลากลางจังหวัดจากที่เดิม ซึ่งอาศัยพลับพลาที่ปลูกรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลากลางหลังใหม่นี้ ตั้งอยู่เหนือวัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน)๓๙
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านประเทศไทย เพื่อมุ่งเข้าไปยึดพม่า และได้ยึดสถานีรถไฟอุตรดิตถ์เป็นที่พักรถไฟ เพื่อจะมุ่งต่อไปยังเชียงใหม่ ผ่าน
แม่ฮ่องสอนเข้าพม่า ทำให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษคิดจะปราบญี่ปุ่น และตัดการลำเลียงทางรถไฟของญี่ปุ่น ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้โจมตีอุตรดิตถ์ด้วยการทิ้งระเบิด และยิงปืนกล เช่น ทิ้งระเบิดที่สะพานดารา สะพานแม่ต้า ยิงปืนกลกราดบ้านวังกะพี้ บ้านท่าทองโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ สถานีรถไฟท่าเสา และสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ (สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ได้ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักด้วย) ทำให้อุตรดิตถ์เสียหายมาก๔๐
พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอฟากท่า เป็นอำเภอฟากท่า เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ สำหรับอำเภอฟากท่านี้เดิมตั้งเป็นกิ่งอำเภอตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ ขึ้นกับอำเภอน้ำปาด และเพิ่งยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ นี้เอง๔๑
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นต้นมา รัฐบาลได้จัดการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำน่านขึ้นที่แก่งผาซ่อม อำเภอท่าปลาเขื่อนนี้มีชื่อว่า "เขื่อนสิริกิติ์" และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕๔๒
วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางจังหวัดได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักโดย นายถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธี ต่อมาวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้กระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก โดยนายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี๔๓
วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอในปกครองอีก ๑ กิ่งคือ กิ่งอำเภอบ้านโคกขึ้นกับอำเภอฟากท่า๔๔
วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ มีประกาศตั้งกิ่งอำเภอทองแสนขึ้น โดยแยกมาจากอำเภอตรอน๔๕
ดังนั้น การแบ่งการปกครองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงแบ่งออกเป็น ๗ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอพิชัย อำเภอตรอน อำเภอลับแล อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด อำเภอฟากท่า กิ่งอำเภอบ้านโคก และกิ่งอำเภอทองแสนขัน




ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์, ๒๕๒๙.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8