ชัยนาท

จังหวัดชัยนาท
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
เมืองชัยนาทเป็นเมืองโบราณ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ตรงแยกฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่ปากน้ำเมืองสรรค์ (ปากคลองแพรกศรีราชา-ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวอยู่ใต้ปากลำน้ำเก่า) สมัยเมื่อลำน้ำเจ้าพระยาไหลแยกเดินลงมาทางอำเภอสรรพยา และอินทร์บุรี (ในปัจจุบันเป็นลำน้ำใหม่แล้ว) บางตำนานได้กล่าวว่า "เมืองชัยนาท" น่าจะปรากฏนามในราวๆ ปี พ.ศ. ๑๗๐๒ ว่า ขุนเสือฟ้า หรือ เจ้าคำฟ้า กษัตริย์เมืองเมา ได้ยกทัพมาทำสงครามกับเจ้าเมืองฟังคำแห่งอาณาจักรโยนก (ปัจจุบันเป็นอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา) และได้ชัยชนะหลังจากเมืองแตกแล้ว เจ้าเมืองฟังคำได้อพยพผู้คนลงมาอยู่ที่เมืองแปป (กำแพงเพชร เดิม) แล้วมาสร้างเมืองไตรตรึงค์ ที่ตำบลแพรกศรีราชา และหลังจากนั้นคงจะสร้าง "เมืองชัยนาทขึ้น เนื่องจากได้รบชัยชนะชนชาติท้องถิ่นเดิม"
บางท่านได้สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างในสมัยรัชกาลพญาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๖๐ - ๑๘๙๗ ซึ่งในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงปรากฏแต่ชื่อ "เมืองแพรก" ในหนังสือจามเทวีวงศ์ได้กล่าวถึงเมืองทวีสาขนคร ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็น "เมืองแพรก" หรือ "เมืองสรรค์บุรี " อันเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ "เมืองชัยนาท" จนถึงกับจะเรียกว่าเป็นเมืองเดียวกันก็ได้ ส่วนหนังสือชินกาลมาลีนั้น มีข้อความกล่าวไว้ชัดเจนว่า "ชยนาทปุรม ทุพภิกภย ชาต" ซึ่งหมายถึง ทุพภิกขภัยได้บังเกิดมีในเมืองชัยนาทบุรี ซึ่งกล่าวว่าทางพระราชอาณาจักรอยุธยาได้ส่งอำมาตย์ หรือพระราชโอรสมีนามว่า "เดชะ" มาครอง "เมืองชัยนาท" ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) แห่งอาณาจักรกรุงสุโขทัย ส่วนในตำนานพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวถึงเมืองชัยนาทภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย รัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) นั้น ครั้งหนึ่งเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง พระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงออกอุบายนำข้าวมาขายที่เมืองชัยนาทแล้วยึดเมืองได้จึงโปรดให้อำมาตย์ชื่อ วัตติเดช (ขุนหลวงพะงั่ว) ปกครองเมืองชัยนาท ซึ่งตรงกันกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวว่า "เมืองชัยนาทบุรี" ปรากฏชื่อในราวๆ รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิ-บดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๘๙๗ เป็นที่พญาเลอไทสวรรคต กรุงสุโขทัยเกิดการแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเห็นโอกาสเหมาะ จึงโปรดให้ขุนหลวงพะงั่วซึ่งขณะนั้นครองเมืองสุพรรณบุรียกทัพขึ้นไปยึดครอง "เมืองชัยนาทบุรี" และอยู่รักษาเมืองไว้โดยขึ้นตรงต่อกรุงศรี-อยุธยา ต่อมากรุงสุโขทัยสงบลงแล้ว พญาลิไทขึ้นครองราชย์ ได้ส่งทูตมาเจรจาขอ "เมืองชัยนาทบุรี" คืนจากกรุงศรีอยุธยา โดยต่างฝ่ายจะเป็นอิสระ และมีความสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ในที่สุดกรุงศรี-อยุธยาก็ได้คืน "เมืองชัยนาทบุรี" ให้แก่กรุงสุโขทัย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ทางกรุงศรี-อยุธยาเกรงว่า ทางฝ่ายกรุงสุโขทัยจะชวนแคว้นกัมพุช (ลพบุรี) และอาณาจักรทางเหนือ ซึ่งเป็นมิตรกับกรุงสุโขทัยมาร่วมรบประกอบกับกรุงศรีอยุธยาเพิ่งจะสถาปนาได้ไม่นาน หากมีศึกกระหนาบข้างทั้งสองด้านจะสร้างปัญหาให้แก่กรุงศรีอยุธยาไม่น้อย ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้กรุงศรีอยุธยายอมคืน "เมืองชัยนาทบุรี" ให้แก่กรุงสุโขทัยโดยดี เมื่อพระมหาธรรมราชา ที่ ๑ (ลิไท) ทรงได้ "เมืองชัยนาทบุรี " คืนแล้ว ทรงโปรดให้พระกนิษฐภคินี ทรงพระนามว่า พระสุธรรมกัญญา ซึ่งทรงสถาปนาเป็นพระมหาเทวี ครองราชสมบัติในกรุงสุโขทัยแล้ว พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ทรงอัญเชิญ พระสิหล (พระพุทธสิหิงค์) พร้อมทั้งเสด็จมาครองเมืองชัยนาทจนกระทั่งสวรรคต ในปี พ.ศ. ๑๙๑๔
ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มาปาฐกถาที่วัดมหาธาตุ อำเภอสรรคบุรี เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ว่า ระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของ "เมืองชัยนาทบุรี" ในยุคนี้คล้ายคลึงกันกับกรุงสุโขทัย กษัตริย์ครองเมือง "ชัยนาทบุรี" ในฐานะพ่อเมืองปกครองแบบพ่อปกครองลูกบ้านอาศัยความเมตตากรุณาต่อกันเป็นหลักใหญ่ในการปกครอง ประชาชนที่อยู่ในเมือง มีเสรีภาพต่างๆ ฐานะความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เช่น มีสิทธิที่จะอยู่ได้อย่างเสรี ไม่มีทาส ประชาชนชาว "เมืองชัยนาทบุรี" ก็คงจะมีสิทธิที่จะทำมาหากินได้โดยเสรีเช่นเดียวกันกับที่เมืองสุโขทัย ทางผู้ปกครองแผ่นดินก็คงจะได้ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจโดยการสร้างทางคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบก และด้วยการสร้างระบบการชลประทานเพื่อให้ราษฎรทำไร่ไถ่นาให้ได้ผลดี ฐานะทางเศรษฐกิจของเมืองก็ย่อมดีขึ้นมาก ส่วนภาษีอากรนั้นย่อมมีบ้าง เพราะเมือง "ชัยนาทบุรี" มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ฉะนั้น ก็จำต้องส่งส่วยอากรให้แก่กรุงสุโขทัยตามธรรมเนียม

สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้เข้มแข็งขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ และกรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลงและได้สิ้นสุดเมื่อ ราว ๆ ปี พ.ศ. ๑๙๒๑ โดยได้รวมตัวกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา "เมืองชัยนาทบุรี" ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาไปด้วย และได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ได้ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงค (จาด) ซึ่งได้บันทึกในราวๆ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้กล่าวถึง "เมืองชัยนาทบุรี" ว่า ได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองลูกหลวงในรัช-สมัยสมเด็จพระอินทราชา กษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๙๔๖ ) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สันนิษฐานว่า สาเหตุที่สถาปนาให้เมือง "ชัยนาทบุรี" เป็นเมืองลูกหลวงนั้น อาจจะเป็นเหตุผลทางทหารมากกว่าอย่างอื่น ชรอยจะยังทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในความปั่นป่วนทางการเมืองของราชอาณาจักรทางฝ่ายเหนือ ว่าจะสงบราบคาบลงได้อย่างแท้จริง เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ จึงส่งให้ไปครองหัวเมืองรอบๆ กรุงศรีอยุธยา เพื่อคอยรับสถานะการณ์ความปั่นป่วนต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ดังนี้
๑. เจ้าอ้ายพญา ให้ไปครอง เมืองสุพรรณบุรี
๒. เจ้ายี่พญา ให้ไปครอง เมืองสรรค์บุรี
๓. เจ้าสามพญา ให้ไปครอง เมืองชัยนาทบุรี
ครั้ง พ.ศ. ๑๙๖๑ สมเด็จพระอินทราชาเสด็จสวรรคต เจ้าอ้ายพญา และเจ้ายี่พญา ได้ยกทัพเข้ามาชิงราชสมบัติกัน โดยมาพบกัน ณ ตำบลป่าถ่าน แขวงกรุงเก่า โดยเจ้าอ้ายพญาตั้งทัพอยู่ที่ตำบลป่ามะพร้าว ส่วนเจ้ายี่พญายกทัพมาตั้ง ณ วัดไชยภูมิ ทางเข้าตลาดเจ้าพรหม ทั้งสองฝ่ายปะทะกัน และได้กระทำการยุทธหัตถีที่เชิงสะพานป่าถ่าน ผลปรากฏว่า ทั้งสองพระองค์ถูกพระแสงของ้าวต้องพระศอขาดคอช้างสิ้นพระชนม์พร้อมๆ กัน มุขมนตรีจึงออกไปเฝ้าเจ้าสามพญาที่ "เมืองชัยนาทบุรี" แล้วทูลเรื่องราวพร้อมทั้งอัญเชิญเสด็จไปครองกรุงศรีอยุธยาทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ แล้วทรงโปรดให้ขุดพระศพของพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ขึ้นมาถวายพระเพลิง ให้สถาปนาพระมหา-สถูปและพระวิหารเป็นพระอารามแล้วให้ชื่อว่า วัดราชบูรณะ ส่วนสถานที่ที่เจ้าอ้ายพญาและเจ้ายี่พญากระทำยุทธหัตถีกันนั้น ให้ก่อพระเจดีย์ ๒ องค์ไว้ที่เชิงสะพานป่าถ่าน
ครั้งที่ พ.ศ. ๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่มีอำนาจมากขึ้นภายหลังจากที่ได้รวบรวมอาณาจักรทางเหนือไว้ในอำนาจแล้ว ก็ได้ยกทัพมาตีเมืองแปป (เมืองกำแพงเพชร) และได้กวาดต้อนผู้คนบริเวณรอบๆ จนถึงเขต "เมืองชัยนาทบุรี" ทำให้ "เมืองชัยนาทบุรี" กลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมา
ต่อมา พ.ศ. ๒๐๗๒ ภายหลังขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ปราบปรามเจ้าแม่ยั่วเมือง ท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งคบชู้กับขุนนางวรวงศาธิราช แล้วยึดอำนาจสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ได้นาน ๕ เดือนแล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา พระอนุชาของพระไชยราชาธิราช ซึ่งได้อุปสมบทขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในรัชกาลของพระองค์มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองชัยนาท ซึ่งปรากฏในพงศาวดารคือ ในปี พ.ศ. ๒๐๗๗ เดือนแปด ปีมะแม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้เสด็จไปกระทำพระราชพิธีมัธยมกรรม ที่ตำบล"ชัยนาทบุรี" (ซึ่งในขณะนั้นยังร้างอยู่) แล้วสถาปนาให้ตั้งเมือง" ชัยนาท " ขึ้นใหม่ ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตรงข้ามกับเมืองร้างเดิม แต่เมือง "ชัยนาท" ก็ยังคงเป็นยุทธภูมิในการรบระหว่างไทย - พม่า กล่าวคือ
ในปี พ.ศ ๒๐๘๖ พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพพม่าเข้ามาทางด้านพระเจดีย์สามองค์ เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาผู้เป็นพระราชบุตรเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ซึ่งครองเมืองพิษณุโลก ได้เกณฑ์หัวเมืองฝ่ายเหนือได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิชัย รวมแล้วได้ไพร่พลประมาณห้าหมื่นคน ยกทัพมาตั้งค่ายที่ "เมืองชัยนาท" เพื่อคอยช่วยเหลือป้องกันกรุงศรีอยุธยา และได้ส่งทัพหน้าออกไปลาดตะเวนสืบข่าวความเคลื่อนไหวของทัพพม่า แต่พม่าได้ตีทัพหน้าของพระมหาธรรมราชาแตกพ่ายกลับค่ายที่ "เมืองชัยนาท" ต่อมาพระเจ้ากรุงหงสาวดีไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้ ก็เลิกทัพกลับ โดยเคลื่อนขบวนผ่านทาง "เมืองชัยนาท" พระมหาธรรมราชาเห็นว่า มีลี้พลน้อยกว่าและพม่าไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ เลยถอยทัพกลับทิ้งค่ายที่เมืองชัยนาทร้างไว้ พระเจ้ากรุงหงสาวดีก็เคลื่อนทัพเข้าตั้งที่ค่ายดังกล่าว ขณะเดียวกันที่พม่าถอยทัพนั้น พระราเมศวร และพระมหินทราธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ยกทัพไทยเข้ามาตีกระหนาบท้ายโดยไม่รู้ว่าพระมหาธรรมราชาได้ถอยทัพกลับแล้ว จึงถูกพม่าตีแตกพ่ายกลับไปและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ถูกพม่าจับตัวไว้ แล้วนำมาคุมขังที่ค่ายพม่า ณ "เมืองชัยนาท" สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
จำต้องแต่งพระราชสารให้พระมหาราชครูปุโรหิต ขุนหลวงพระเกษมและขุนหลวงไกรศรี เป็นทูตไปเจรจาขอให้ส่งตัว พระราเมศวร และพระมหินทราธิราชคืนโดยพม่าขอแลกตัวกับช้างชนะงา ๒ เชือก คือ พลายศรีมงคล และพลายมงคลทวีป เมื่อไทยนำช้างทั้งสองเชือกส่งที่ค่ายพม่า ณ "เมืองชัยนาท " แล้ว ปรากฏว่าช้างทั้งสองเชือกเห็นหมอควาญชาวพม่าผิดเสียงก็อาละวาดไล่แทงช้าง แทงคน วุ่นวายทั้งกองทัพ พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงให้กรมช้างนำช้างทั้งสองเชือกดังกล่าวกลับคืนแก่กรุงศรีอยุธยาแล้วถอยทัพกลับสู่กรุงหงสาวดี
ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๑๑๑ รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายหลังได้ทรงประกาศ อิสรภาพ ณ แขวงเมืองแครง โดยหลั่งพระอุธาธกธาราต่อหน้าพระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระ-ยาราม แล้วเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาและเสริมสร้างปราการ คูรบให้แข็งแรง ฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดีก็เกณฑ์ทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาสองทาง คือ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งยกทัพมาทางเรือ มาตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทราบข่าว ก็ยกทัพออกไปกระทำพิธีตัดไม้ข่มนาม ณ ตำบลลุมพลี แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ แล้วยกทัพเข้าตีสกัดกองทัพพม่าของพญาพะสิม ทัพหน้าของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ที่ยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แตกพ่ายกลับไปจนถึงทัพหลวง พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงสั่งให้เลิกทัพกลับไป ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ไม่ทราบว่า ทัพหลวงได้เลิกทัพกลับแล้ว ก็เคลื่อนทัพมาตั้งค่ายที่ "เมืองชัยนาท" แล้วส่งทัพหน้าซึ่งนำโดยไชย กะยอสู และ นันทะกะยอสู เป็นทัพหน้าลงมาตั้งทัพ ณ บ้านบางพุทรา และบางเกี่ยวหญ้า สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงสั่งให้พระราชมนู และขุนรามเดชะ นำทัพหน้าเข้าโจมตีทัพหน้าของพระเจ้าเมืองเชียงใหม่แตกกลับไปยังทัพหลวงที่ "เมืองชัยนาท" พระเจ้าเชียงใหม่ทราบข่าวว่า กองทัพหลวงของพระเจ้า-กรุงหงสาวดียกทัพกลับแล้ว ก็เลิกทัพกลับเชียงใหม่โดยกวาดต้อนผู้คนแถบหัวเมือง "ชัยนาท" ไปด้วย
สำหรับฐานะของ "เมืองชัยนาท" ในยุคกรุงศรีอยุธยานั้น ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ปาฐกถาว่า เมื่อเมืองชัยนาทตกมาขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาใหม่ นั้น "เมืองชัยนาท" มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว "เมืองชัยนาท" จะได้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญนี้มาได้ช้านานเท่าไหร่ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ตามหลักฐานในพระราชบัญญัติศักดินาทหารหัวเมือง ซึ่งว่ากันว่าออกในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรฯ (พ.ศ. ๒๑๒๑ - ๒๑๓๖) นั้น "เมืองชัยนาท" ได้ลดฐานะลงไปเป็นเมืองจัตวา เพราะตามกฎหมายฯ นั้น เมืองเอกมีอยู่เพียงสองเมืองคือ เมืองพิษณุโลก ในภาคเหนือ และเมืองนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ เมืองโทนั้น ได้แก่ สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ โคราช และตะนาวศรี ส่วนเมืองตรีนั้น ได้แก่ เมืองพิชัย พิจิตร นครสวรรค์ จันทรบูร ไชยา พัทลุง และชุมพร ในยุคนี้ "เมืองชัยนาท" ได้ขาดความสำคัญไปแล้ว ทั้งในด้านการทหาร และด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับในยุคนั้นบ้านเมืองมีศึกสงครามหลายครั้งหลายครา พลเมืองที่ "เมืองชัยนาท" ก็คงจะร่อยหรอลงไปมาก เพราะชายฉกรรจ์คงจะถูกเกณฑ์ไปรักษาพระนครเหนือ ไปราชการทัพเสียเกือบหมด ที่เหลือก็คงจะหนีเข้าป่าไปพร้อมๆ กับครอบครัว ทำให้เมืองชัยนาทกลายเป็นเมืองเล็กๆ ที่เกือบจะไม่มีความสำคัญเหลืออยู่เลย นอกจากนั้น บริเวณเมือง "ชัยนาท" ได้กลายเป็นเขตยุทธภูมิแทบทุกครั้ง พลเมืองถูกกวาดต้อนไปยังบ้านเมืองของข้าศึกหลายครั้งอีกด้วย

สมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาได้แตกและเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น เมือง
"ชัยนาท" ยังคงเป็นเมืองสำคัญในยุทธภูมิ ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของกรมศิลปากรว่า ในปี ๒๓๑๙ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ (ตรงกับวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๓๑๙) พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพขึ้นมาตั้งค่ายที่ "เมืองชัยนาท" เพื่อขับไล่พม่า ซึ่งกำลังรบติดพันกับกองทัพไทยที่เขตเมืองนครสวรรค์ เมื่อพม่าทราบข่าว ก็ตกใจ จึงละทิ้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ หนีไปทางเมืองอุทัยธานี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพติดตามข้าศึกไปจนถึงบ้านเดิมบางนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรีแล้วเข้าโจมตีข้าศึกแตกพ่ายยับเยิน ด้วยเหตุนี้ ทางจังหวัดชัยนาทจึงถือว่า วันที่ ๒๘ กรกฎาคม เป็นวันสถาปนาจังหวัด

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทางราชการได้สร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นที่ตำบลบ้านกล้วย และใน รัชกาลที่ ๕ ได้จัดตั้งกองทหารราบที่ ๑๖ ขึ้นที่บริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน (ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปตั้งค่ายที่ค่ายจิระประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ ) ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงจัดตั้งการปกครองเป็นแบมณฑลเทศาภิบาล โดยให้ยุบและรวมหัวเมืองทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำปิงคือ เมืองชัยนาท เมืองสรรค์บุรี เมืองมโนรมย์ เมืองพยุหคีรี เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร เมืองตาก รวม ๘ หัวเมือง ขึ้นตรงต่อข้าหลวงเทศาภิบาลและตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองนครสวรรค์ เรียกว่า "มณฑลนครสวรรค์" โดยมีพระยาดัสกรปลาศ (อยู่) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง "สมุหเทศาภิบาล" ในสมัยรัชการที่ ๖)
ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๘ ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในราวๆ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น และยินยอมให้ญี่ปุ่นยกกองทัพผ่านประเทศไทยไปยังประเทศพม่า และยอมให้ญี่ปุ่นเสริมสร้างสนามบินตาคลีเดิม เพื่อใช้เป็นฐานบิน และกองทัพญี่ปุ่นได้ใช้ท่าเรือที่จังหวัด "ชัยนาท" เป็นเส้นทางขนส่งเสบียงสัมภาระไปยังฐานบินตาคลี นามเป็นเวลา ๔ ปีเศษ ขณะเดียวกันเมือง "ชัยนาท" ก็เป็นเขตปฏิบัติของหน่วยก่อวินาศ-กรรมสังกัดขบวนการเสรีไทย
ในปัจจุบัน จังหวัดชัยนาทได้เลือกบริเวณที่ตั้งค่ายทหารของกองทหารราบที่ ๑๖ เก่า เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดชัยนาท โดยได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการเป็นตึกทรงไทย ๒ ชั้น และเปิดทำการในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จนถึงปัจจุบัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ว่า "เมืองชัยนาท" เป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของภาคกลาง และตั้งอยู่ระหว่าง กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ยามใดที่กรุงสุโขทัยเรืองอำนาจก็จะยึดเอาเมือง "ชัยนาท" เป็นเมืองหน้าด่าน แต่ยามใดที่กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง เมือง "ชัยนาท" ก็จะกลายเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองที่ใช้ในการสะสมเสบียงอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ในการรบระหว่าง ไทย-พม่า และยังเป็นสมรภูมิในสงครามทุกยุคทุกสมัยด้วยเหตุนี้ "เมืองชัยนาท" จึงได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายเนื่องจากสงครามเป็นอย่างมากจึงไม่มีซากโบราณสถาน และศิลปกรรมมากมายนัก แต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดชัยนาท,ชัยนาท : อรุณการพิมพ์,๒๕๒๙.

ความคิดเห็น

  1. ติดต่อคุณนัท 064 930 8654 ขายที่ดินในอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน ราคา 6,900,000 บาท ค่าโอน ค่าธรรมเนียมผู้ขายออกให้ทั้งหมด ราคาต่อรองได้
    ข้อมูลเพิ่มเติมคลิกที่นี่

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8