ภูเก็ต

ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต
นายสุนัย ราชภัณฑารักษ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๘) ผู้ริเริ่มศึกษาค้นคว้ารวบรวมประวัติจังหวัดภูเก็ต ได้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นมาของจังหวัดภูเก็ตไว้ในหนังสือเรื่อง ท้าวเทพกระษัตรี สรุปความว่า เกาะภูเก็ตเดิมจะต้องเป็นแหลมเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของประเทศ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก จะต้องมีผู้คนอาศัยในบริเวณนี้มาแต่สมัยโบราณ โดยมีชื่อเมืองที่มีมาแต่เดิมและเพี้ยนมาเรียกชื่อว่า เมืองถลาง ข้อสรุปดังกล่าวนี้พิจารณาได้จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ
ปโตเลมี (Ptolemy) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งมีชีวิตอยู่ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ – พ.ศ. ๗๑๓ ได้ระบุไว้ในตำราภูมิศาสตร์ว่า การเดินทางจากสุวรรณภูมิลงมาทางใต้ไปยังแหลมมลายูนั้น จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk Ceylon)
ในหนังสือจีนเขียนโดย เจาซูกัว (Tchao Jau Kaua) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๘ ได้ระบุชื่อเมืองสิลัน (Si - Lan) และว่าเมืองสิลันเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย
ในสัญญาทำการค้าขายระหว่างไทยกับฮอลันดา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ ก็ปรากฏชื่อเมืองโอทจังซูลางห์ หรือ โอทจังซาลัง อยู่ในสัญญาด้วย ๑
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เกาะถลางนั้นที่ทำไร่นาได้ มีแต่ทางเหนือ จึงตั้งเมืองถลางอยู่แต่ข้างเหนือแต่เดิมมา ตอนข้างใต้ไม่มีที่ทำไร่นา แต่มีดีบุกมากมีแต่คนหาปลาอยู่ริมทะเลกับคนไปตั้งขุดหาแร่ดีบุกอยู่ชั่วคราว แต่ดีบุกเป็นของต้องการใช้ราชการมาแต่โบราณ จึงตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางมาแต่สมัยศรีอยุธยา ๒
นอกจากนั้นในรายงานของกัปตัน James Forrest ซึ่งได้นำเรืออังกฤษชื่อ โทมัส ฟอร์เรส (Thomas Forrest) ได้ทำรายงานตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๕ ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ ได้เดินทางมาถึงเกาะ Jan Sylon ซึ่งเรือจากอินเดียมายังหมู่เกาะมะริด มาแวะพักที่เกาะจังซีลอน (Jan Sylon) ตั้งอยู่ห่างฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอลและเกาะจังซีลอนแยกจากแผ่นดินใหญ่โดยช่องแคบอันเต็มไปด้วยทรายยาวประมาณครึ่งไมล์ ช่องแคบนี้จะถูกน้ำท่วมในเวลาน้ำขึ้น (น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ ๑๐ ฟุต) และตอนเหนือสุดของช่องแคบก็เป็นท่าเรือที่ดีเยี่ยม เรียกว่า ปากพระ (Popra)๓
จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องข้างต้น นายสุนัย ราชภัณฑารักษ์ ได้วิเคราะห์ถ้อยคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
คำว่า Junk ของปโตเลมี หรือ Jan ของกัปตันฟอร์เรส หรือ โอทจัง ในสัญญาที่ไทยทำกับฮอลันดานั้น มาจากคำว่า อุยัง หรือ อุยุง (Ujung) ซึ่งแปลว่า “ปลายสุด” หรือ แหลม ส่วนซีลอน (Ceylon) หรือ ซีลัง (Sylan) นั้นคงจะมาจากคำว่า “ลาแล” ซึ่งแปลว่า “หญ้าคา” หรือคำว่า “สิแร” ซึ่งแปลว่า “พลู” ทั้งสองคำนี้เป็นภาษาพื้นเมืองเดิมของคนที่อยู่ในแถบนี้มาก่อน ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ชาวน้ำ” หรือ “ชาวเล” (คือ ชาวทะเล) แล้วชาวมลายูก็รับเอาไปใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนไทยนั้น ก็ได้เอามาใช้อยู่คำหนึ่ง คือ “สิแร” ซึ่งแปลว่า “พลู” แต่ได้เอามาออกเสียงเพี้ยนเป็น “สะรี” เช่นเดียวกับมลายู ซึ่งใช้คำว่า Sirih กับ สิรา
คำว่า “สิรี” นั้น ภายหลังได้เขียนเป็น “สรี” และ “ศรี” ไปเสียด้วย แล้วเลยเอาไปยกให้เป็นคำบาลีสันสกฤต กลายเป็นของสูง เป็นราชาศัพท์ว่า “พระศรี” และความหมายก็แปรไป ไม่หมายถึงพลูโดยเฉพาะ แต่หมายเอาทั้งหมากและพลูรวมกัน เช่น พานใส่หมากใส่พลู ก็เรียก “พานพระศรี………”
คำ “ลาแล” กับ “สิแร” ทั้งสองนี้เป็นชื่อชาวพื้นเมืองเดิมใช้เรียกสถานที่บนเกาะนี้มาแต่ก่อน อุยังลาแลก็คือ แหลมทางตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเราเปลี่ยนเรียกเป็นชื่อไทยว่า “แหลมหญ้าคา” หรือ “แหลมคม” แหลมคา แล้วจึงกลายเป็นแหลมกา ไปในปัจจุบัน นอกจากนั้น คำ “หญ้าคา” นี้ ยังเอาไปใช้เป็นชื่อตำบล เรียกกันว่า “ตำบลทุ่งคา” ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งเมืองภูเก็ต แล้วเลยเรียกอำเภอที่ตั้งเมืองภูเก็ตว่า อำเภอทุ่งคา ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่ออำเภอทุ่งคา เป็น “อำเภอเมืองภูเก็ต”และได้แยกตำบลทุ่งคาออกเป็นหลายตำบล ซึ่งทุ่งคาก็เลยหายสาบสูญไป ฝรั่งเรียกทุ่งคาว่า “ทองคา” หรือ “ตองคา” และยังใช้เป็นชื่อบริษัทเหมืองแร่ “ทุ่งคาฮาเบอร์” อยู่ ทั้งนี้เป็นการยืนยันว่าบนแหลม หรือบนเกาะนี้เดิมเป็นดงหญ้าคา จึงได้ชื่อว่า อุยังลาแล หรือ แหลมหญ้าคา มาแต่เดิม๔
ปัญหาการเรียกชื่อสถานที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่เกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ ดังนี้
“……และยังถอดเป็นหนังสือฝรั่งเศสเสียอีกทีหนึ่งด้วย แล้วเราจะมาถอดกลับเป็นภาษาไทยอีก จะถูกได้เป็นอันยาก จะถวายตัวอย่าง เช่น ตำบลทุ่งคา (เมืองถลาง) ฝรั่งเขียนตัวฝรั่งว่า Tongka ที่จริง ฝรั่งฟังผิดนิดเดียวคือ ทุง เป็น ท่ง แต่ไทยเราเอามาแปลกลับเป็นว่า “ตองแก” ผิดไปไกล…...”๕
สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงสนับสนุนว่า “……..นึกถึงคำฝรั่งที่เขียน Tongka เรามาแปลเป็นไทยกันว่า “ตองแก” และคำว่า “แพรกบ้านนาย” ฝรั่งเขียนเป็น Prek Ban Nai
แปลกันว่า “ปริกบ้านใน” รู้สึกว่าแปล ๓ ที แล้วกินตาย…….”๖

ภูเก็ตสมัยศรีวิชัย – สุโขทัย
เนื่องจากเกาะภูเก็ต แต่เดิมมีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมาจากแผ่นดินใหญ่ ส่วนที่เป็น
จังหวัดพังงาหรือตะกั่วป่า ปัจจุบันนี้ และจังหวัดพังงาหรือเมืองตะกั่วป่านั้น เดิมเคยมีชื่อเสียงปรากฎอยู่ในภูมิศาสตร์การเดินเรือของนักเดินเรือมาก่อนว่าเป็นเมืองที่มีท่าจอดเรือดีมาก และมีสินค้าสำคัญคือแร่ดีบุก นักเดินเรือโบราณรู้จักแหลมตะกั่วป่าและแหลมที่เป็นเมืองภูเก็ตนี้ ในชื่อรวมกันว่า “ตักโกละ”
นายสุนัย ราชภัณฑารักษ์ ได้ค้นคว้าและรวบรวมเรื่องราวของเมืองตะกั่วป่า และได้อธิบายไว้ว่า “เมืองตักโกละ เป็นเมืองเก่ามีชื่อมาแต่โบราณ ซึ่งเข้าใจว่าได้สร้างขึ้นในสมัยที่ชาวอินเดียจากแคว้นกลิงคราฐ อพยพหลบภัยสงครามสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๗๐) มาอยู่ในแหลมมลายู ต่อมาเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ เมืองตักโกละก็รวมเข้ากับอาณาจักรตามพรลิงค์ ซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรฟูนัน และเป็นอาณาจักรไทย อาณาจักรแรกบนแหลมมลายู แล้วภายหลังก็ได้ตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย พร้อมกับอาณาจักรตามพรลิงค์ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ๗
ต่อมาเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยสิ้นอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาณาจักรตามพรลิงค์กลับมีอำนาจขึ้นใหม่บนแหลมมลายู และเปลี่ยนชื่อเรียกว่า อาณาจักรศิริธรรมนคร ได้รวมเข้ากับอาณาจักรสุโขทัย และเปลี่ยนเรียกชื่อว่า เมืองนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แล้วเมืองตักโกละก็ได้รวมอยู่ในราชอาณาจักรไทยตลอดมา
สำหรับชื่อ ตักโกละ นั้น คงจะได้เปลี่ยนเป็น ตะกั่วป่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เพราะในรัชกาลนั้นพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น ใช้ในแว่นแคว้นต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้เป็นตัวหนังสือสำหรับชนชาติไทยทั้งมวลใช้ร่วมกันแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การที่หนังสือ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า เมืองตะกั่วถลาง มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศิริธรรมนครนั้น ก็คงเป็นเพราะผู้เขียนตำนานได้เขียนขึ้นในสมัยเมื่อเปลี่ยนชื่อแล้ว จึงเรียกตามชื่อใหม่ที่ใช้กันอยู่ ในสมัยที่เขียนตำนาน เมืองตะกั่วป่าในสมัยสุโขทัยกลับเป็นเมืองใหญ่ขึ้นอีกด้วยเหตุมีแร่ดีบุกเป็นสินค้าสำคัญ จึงได้แยกออกไปตั้งเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับเมืองตะกั่วป่าอีกหลายเมือง คือ เมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งไปตั้งเมืองอยู่ที่ชายทะเลลงไปทางใต้ มีพื้นที่เป็นทุ่งราบ คือ ที่แถบบ้านบางคลี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ปัจจุบัน อันเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยแร่ดีบุกเช่นเดียวกัน จึงเรียกว่า เมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อให้คู่กับเมืองตะกั่วป่า เมืองกรา หรือ เมืองกระ ซึ่งย้ายไปจากปากน้ำตะกั่วป่า เมืองนี้โบราณเขียน ก็รา หรือ ก็ระ จึงกลายเป็นเกาะรา หรือ เกาะระอยู่ในปัจจุบัน เมืองคุระ ซึ่งอาจจะแยกออกจาก เมืองกระบน เกาะระมาตั้งอยู่บนฝั่งตำบลคุระ กิ่งอำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกันว่า เมืองปากน้ำ คุระ ก็เพี้ยนมาจาก กระ เมืองคีรีรัฐ อยู่บนเขาในตำบลบางวัน กิ่งคุระบุรี ปัจจุบันเรียกเพี้ยนไปเป็น บ้านคุรอด และ เมืองพระบุรี ซึ่งตั้งอยู่ตรงช่องแคบระหว่างเกาะภูเก็ตกับผืนแผ่นดินใหญ่ ส่วนเมืองถลางบนเกาะภูเก็ตในสมัยนั้น ก็คงจะขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่าด้วย จึงเป็นเหตุให้ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช เรียกชื่อควบคู่กันไปว่า เมืองตะกั่วถลาง
ภูเก็ตสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้นถึงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘ - ๒๑๖๓) จึงปรากฎชื่อ เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง เป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายกลาโหมทั้ง ๓ เมือง ซึ่งคงเป็นเพราะในสมัยนั้นได้เริ่มทำการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น หัวเมืองชายทะเลตะวันตกซึ่งมีแร่ดีบุกมาก จึงมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่ต่างประเทศต้องการมาก ดังจะเห็นได้จากการที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลต่อมา ได้พระราชทานที่ดินแถบปากแม่น้ำเจ้าพระยา ให้พวกฮอลันดาสร้างสถานีเก็บสินค้า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๙ และยังให้ตั้งสาขาขึ้นที่ภูเก็ตกับนครศรีธรรมราช เพื่อทำการรับซื้อแร่ดีบุกเป็นสำคัญอีกด้วย
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ออกญามหาเสนาสมุหพระกลาโหม เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงใหม่ไม่สำเร็จ แต่ภายหลังออกญาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงโปรดให้ยกหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมด รวมทั้ง เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง
เมืองถลาง จากฝ่ายกลาโหม ไปขึ้นกับโกษาธิบดี หรือ กรมท่า เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบในราชการสงคราม เมืองตะกั่วป่า ได้เป็นหัวเมืองชั้นตรี ขึ้นฝ่ายกรมท่ามาตลอดสมัยศรีอยุธยา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ว่า “เกาะถลางนั้น ที่ทำไร่นาได้มีแต่ทางข้างเหนือ จึงตั้งเมืองถลางอยู่ข้างเหนือแต่เดิมมา ตอนข้างใต้ไม่มีที่ทำไร่นา แต่มีดีบุกมาก มีแต่คนหาปลาอยู่ริมทะเล กับคนไปตั้งขุดหาแร่ดีบุกอยู่ชั่วคราว แต่ดีบุกเป็นของต้องการใช้ราชการมาแต่โบราณ จึงตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา” ๘

ภูเก็ตสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหพระกลาโหม มีความชอบในราชการสงครามปราบปรามพม่า จึงโปรดให้ยกหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดกลับคืนมาขึ้นฝ่ายกลาโหมตามเดิม ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าได้แต่งกองทัพเรือยกมาตี เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งแตกยับเยิน แต่ไปตีเมืองถลางไม่ได้ เพราะท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ต่อสู้ป้องกันเมืองไว้ได้ ภายหลังเมื่อเสร็จการสงครามแล้ว จึงโปรดให้ เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ ต้นสกุล จันทโรจวงศ์) ไปเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตกอยู่ที่เมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง จึงไปขึ้นกับเมืองถลางอยู่ระยะหนึ่ง
ต่อมาพอขึ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พม่าก็ยกทัพเรือมาตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง ได้อีกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ เพราะเมืองทั้งสองนี้เพิ่งจะเริ่มฟื้นฟูใหม่ ผู้คนพลเมืองก็ยังน้อย เมื่อทัพพม่ายกมา ก็พากันอพยพหลบหนีเข้าป่าไปหมด พม่าจึงไม่ต้องรบ พม่าได้เมืองตะกั่ว เมืองตะกั่วทุ่ง แล้วก็เลยไปตีเอาเมืองถลางได้ด้วยในคราวนี้ เมื่อพม่ามาตีเมืองตะกั่วป่าแตกใน พ.ศ. ๒๗๒๘ นั้น ตัวเมืองยังคงอยู่ที่ เขาเวียง เพราะปรากฎว่าพม่าได้ขนเอาเทวรูปทั้ง ๓ องค์ ลงมาจากเทวสถาน จะเอาไปด้วย แต่เมื่อยกลงมาจากยอดเขา มาถึงริมลำน้ำ เผอิญเกิดพายุใหญ่ฝนตกหนัก พม่าต้องหนีน้ำจึงทิ้งเทวรูปไว้ ตำบลนี้ก็เลยมีชื่อเรียกว่า ตำบลหลังพม่า เพราะพม่าให้หลังที่ตรงนี้ ตำบลหลังพม่านี้ อยู่ในเขตอำเภอกะปง จังหวัดพังงา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ตำบลรมณีย์
เมื่อเมืองเก่าบนเขาเวียงแตกแล้ว พลเมืองจึงได้ย้ายมาตั้งเมืองใหม่ ที่บ้านตำตัว อยู่ได้ไม่นาน ถึง พ.ศ. ๒๓๕๒ ก็ถูกพม่ามาขับไล่แตกไปอีก ในคราวนี้ผู้คนพลเมืองได้หนีไปตั้งอยู่ในป่า ซึ่งภายหลังก็ได้กลายเป็นหมู่บ้านตะกั่วป่า ตำบลโคกเคียน อำเภอตะกั่วป่า เมื่อกองทัพกรุงยกมาขับไล่พม่าไปหมดแล้วเห็นว่าหัวเมืองชายทะเลตะวันตกยับเยินหนัก และยังไม่ไว้ใจ เกรงว่าพม่าจะมารุกรานอีก จึงมิได้ตั้งเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ เหมือนเดิม แต่ให้ยกเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง ไปขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชทั้งหมด
ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. ๒๓๘๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ให้กลับคืนดังเดิม ประกอบกับหมดห่วงในการศึกกับพม่า เพราะพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปแล้ว จึงกลับตั้งเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เป็นหัวเมืองขึ้นฝ่ายกลาโหมตามเดิม และยังได้ยกเมืองพังงาเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ฝ่ายกลาโหมอีกเมืองหนึ่งในคราวนี้ด้วย ส่วนเมืองถลางนั้น ได้กลับตั้งเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ไปตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๓๘๐ และเมื่อได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เมืองตะกั่วป่าจึงมาขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักฐานระบุว่า เมื่อราคาดีบุกสูงขึ้น และมีคนไปตั้งขุดแร่มากขึ้นโดยลำดับ ได้มีการแต่งตั้งหลวงมหาดไทยชื่อ ทัด เป็นกรรมการเมืองถลาง ไปปกครองดูแล และตั้งหลักแหล่งหาเลี้ยงชีพด้วยทำการขุดแร่ดีบุกที่ตำบลทุ่งคา อันเป็นมูลของชื่อที่ฝรั่งเรียกเมืองภูเก็ต…….. ต่อมาหลวงมหาดไทยได้เป็นที่พระภูเก็ต เจ้าเมือง แต่ยังขึ้นอยู่กับเมืองถลาง มาจนถึงรัชกาลที่ ๔ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) ออกไปสักเลขที่เมืองภูเก็ต ไปขอนางสาวเลื่อม ธิดาพระภูเก็ต (ทัด) ให้แต่งงานกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น) บุตรคนใหญ่ ต่อมาไม่ช้า เมืองภูเก็ตได้เลื่อนขึ้นเป็น เมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระภูเก็ตก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ ทำนุบำรุงเมืองภูเก็ตจนเติบใหญ่ ๙
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “นิทานเรื่องเทศาภิบาล” ๑๐ความว่า ประเพณีการปกครองหัวเมืองในสมัยโบราณใช้อยู่หลายอย่าง ประเทศทางตะวันออกดูเหมือนจะใช้แบบเดียวกันทุกประเทศ ในกฎหมายเก่าของไทย เช่น กฎมณเฑียรบาล เป็นต้น เรียกวิธีการปกครองว่า “กินเมือง” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ว่าราชการเมือง”
วิธีการปกครองที่เรียกว่า “กินเมือง” นั้น หลักเดิมคงมาแต่ถือว่าผู้เป็นเจ้าเมือง ต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยออกแรงช่วยทำการงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่น ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้ ให้เป็นของกำนัล ช่วยอุปการะ มิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ ราษฎรมากด้วยกัน ช่วยคนละเล็กละน้อย เจ้าเมืองก็อยู่เป็นสุขสบาย รัฐบาลในราชธานีไม่ต้องเลี้ยงดู จึงได้ค่าธรรมเนียมในการต่าง ๆ ที่ทำในหน้าที่เป็นตัวเงินสำหรับใช้สอย กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองก็ไดัรับผลประโยชน์ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ลดลงตามศักดิ์
ต่อมาความเปลี่ยนแปลงทำให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้นโดยลำดับผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องคิดหาผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นทางอื่น เช่น ทำไร่นาค้าขาย เป็นต้น ให้มีเงินพอใช้สอยกินอยู่เป็นสุขสบาย เจ้าเมืองกรมการมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาการต่าง ๆ ตามตำแหน่ง และเคยได้รับอุปการะของราษฎรเป็นประเพณีมาแล้ว ครั้นทำมาหากินก็อาศัยตำแหน่งในราชการ เป็นปัจจัยให้ได้ผลประโยชน์สะดวกดีกว่าบุคคลภายนอก เปรียบดังเช่น “ทำนา” ก็ได้อาศัย “บอกแขก” ขอแรงราษฎรมาช่วยหรือจะค้าขายเข้าหุ้นกับผู้ใดก็อาจสงเคราะห์ผู้เป็นหุ้นให้ซื้อง่ายขายคล่อง ได้กำไรมากขึ้น แม้จนเจ้าภาษีนายอากรได้รับผูกขาดไปจากกรุงเทพฯ ถ้าให้เจ้าเมืองกรมการมีส่วนด้วย ก็ได้รับความสงเคราะห์ให้เก็บภาษีอากรสะดวกขึ้น จึงเกิดประเพณีหากินด้วยอาศัยตำแหน่งในราชการแทนทั่วไป เจ้าเมืองกรมการที่เกรงความผิด ก็ระวังไม่หากินด้วยเบียดเบียนผู้อื่น ต่อเป็นคนโลภจึงเอาทุกอย่างสุดแต่จะได้ ดังเช่น ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ ในนิพนธ์ที่ ๔ เรื่อง ห้ามเจ้ามิให้ไปเมืองสุพรรณ
นอกจากนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “ตามหัวเมืองสมัยนั้นประหลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีศาลารัฐบาลตั้งประจำสำหรับว่าราชการบ้านเมือง เหมือนอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหน ก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตน เหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านของคนอื่นเพียงแต่ที่เรียกกันว่า “จวน” เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่ง เรียกว่า “ศาลากลาง” เป็นที่สำหรับประชุมกรมการเวลามีงาน เช่น รับท้องตรา หรือ ปรึกษาราชการเป็นต้น เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลชำระความ เห็นได้ว่าศาลากลางก็เป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั้นเอง เรือนจำสำหรับขังนักโทษก็อยู่ในบริเวณจวนอีกอย่างหนึ่ง แต่คงเป็นเพราะคุมขังได้มั่นคงกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นต้องอยู่กับจวนเหมือนศาลากลาง”
“……. เจ้าเมืองต้องสร้างจวนและศาลากลางด้วยทุนของตนเอง แม้แต่แผ่นดินที่จะสร้างจวน ถ้ามิได้อยู่ภายในเมืองที่ปราการ เช่น เมืองพิษณุโลก เป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาซื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็ตกเป็นมรดกของลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจวนเดิมต่างฟากแม่น้ำ หรือแม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหน ก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมือง จึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นนิจ เหมือนทุกวันนี้อันพึ่งมีขึ้นเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลแล้ว …….”
ในหนังสือเรื่อง “พระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๕ ที่เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ๑๑ ได้กล่าวไว้ว่า “เทศาภิบาล” คือการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ ออกไปดำเนินการ ในส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และ หมู่บ้าน
มณฑล รวมเขตเมืองตั้งแต่ ๒ เมืองขึ้นไป มีเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลบังคับ
บัญชาพร้อมด้วยข้าหลวงชั้นรอง และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ
เมือง รวมเขตอำเภอตั้งแต่ ๒ อำเภอขึ้นไป มีผู้ว่าการเมืองและกรมการเมืองบังคับ
บัญชาตามข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ หรือ
พุทธศักราช ๒๔๔๐ (สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดี) และ ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมืองชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๖๕ (สมัยเจ้าพระยายมราช เป็นเสนาบดี)
อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เป็นหน่วยปกครองที่รองลงมา
“มณฑลที่ตั้งขึ้นก่อนพุทธศักราช ๒๔๓๗ มี ๖ มณฑล คือ (๑) มณฑลลาวเฉียง (๒) มณฑลลาวพวน (๓) มณฑลลาวกาว (๔) มณฑลเขมร (๕) มณฑลลาวกลาง (๖) มณฑลภูเก็ต”
มณฑลภูเก็ต (เดิมเรียกหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก) มี ๖ เมือง คือ ภูเก็ต
กระบี่ ตรัง พังงา ตะกั่วป่า ระนอง
การปกครองโดยการรวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตั้งเป็นมณฑลนั้น ความจริงได้เคยมีการรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้ขึ้นอยู่ในปกครองข้าหลวงใหญ่มาก่อนบ้างแล้ว เช่น รวมหัวเมืองทางภาคอิสานตั้งเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวเมืองลาวกลาง ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๓ เป็นต้น โดยเฉพาะมณฑลภูเก็ตนั้นอาจกล่าวได้ว่า ได้รวมเป็นหัวเมืองทำนองมณฑลมาก่อนที่อื่นทั้งหมดก็ว่าได้ เพราะได้เริ่มมีการตั้งข้าหลวงใหญ่คนแรก ออกมาประจำอยู่ที่เมืองภูเก็ต ทำหน้าที่กำกับราชการบ้านเมือง และจัดการภาษีอากร ตลอดจนรับส่งเงินหลวงในหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกตั้งแต่ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ หรือ พุทธศักราช ๒๔๑๘ เป็นต้นมา ข้าหลวงใหญ่คนแรกนี้คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) หัวหมื่นมหาดเล็กและองคมนตรี ซึ่งภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์
การตั้งข้าหลวงใหญ่ ออกมากำกับราชการหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกนี้ เป็นการเจริญรอยตามแบบแผน สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ได้ตั้ง เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองถลางและหัวเมืองอื่นซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกรวม ๘ เมืองนั่นเอง เหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งข้าหลวงใหญ่ ออกมากำกับราชการหัวเมืองฝ่ายนี้ขึ้นอีก ก็มีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุกดังรายละเอียดที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ใน ประวัติพระยามนตรีสุริยวงศ์ ความว่า “ผลประโยชน์ส่งหลวงนั้น แต่เดิมมาเจ้าเมืองเป็นพนักงานเก็บภาษีโดยตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ครั้นเจ้าเมืองเป็นผู้ทำเหมืองเอง รัฐบาลจึงมอบภาษีอากรทั้ง ๕ อย่างคือ ภาษีดีบุก ๑ ภาษีร้อยชักสาม ๑ ภาษีฝิ่น ๑ ภาษีสุรา ๑ อากรบ่อนเบี้ย ๑ รวมเรียกว่า ภาษีผลประโยชน์ให้เจ้าเมืองรับทำกะเพิ่มเงินหลวงให้ส่งเป็นอัตราเสมอไปทุกปี เจ้าเมืองจึงเป็นอย่างเจ้าภาษีรับผูกขาดผลประโยชน์ ในเมืองนั้นด้วยเป็นอย่างนี้มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ครั้งถึงปีวอก พุทธศักราช ๒๔๑๕ พระยาอัษฎงคตทิศรักษา เข้ามาจากเมืองสิงคโปร์มายื่นเรื่องราวที่ในกรุงเทพฯ จะขอรับผูกภาษีผลประโยชน์ที่เมืองภูเก็ต เงินหลวงแต่เดิมได้อยู่ปีละ ๒๑๗ ชั่ง พระยาอัษฎงคตฯ จะประมูลขึ้น ๓,๗๘๓ ชั่ง รวมเป็น ๔,๐๐๐ ชั่ง พระยาอัษฎงคตฯ นี้ชื่อจีน ตันกิมเจ๋ง เป็นพ่อค้าชาวเมืองสิงคโปร์ เคยเข้ามากรุงเทพฯ เนือง ๆ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาตั้งให้เป็นที่พระพิเทศพานิช แล้วโปรดให้เป็นกงศุลไทย ที่เมืองสิงคโปร์ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษาตำแหน่งผู้ว่าการเมืองกระ ทั้งเป็นกงศุลไทยอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ด้วย ในรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนเป็นพระยาอนุกูลสยามกิจกงศุล
เยเนราลไทยที่เมืองสิงคโปร์ แต่เมื่อเข้ามายื่นเรื่องราวประมูลภาษีเมืองภูเก็ต ยังเป็นพระยาอัษฎงค์ฯ อยู่ จึงเกิดเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเลือกในเวลานั้นว่า จะให้คนในบังคับต่างประเทศเข้ามารับผูกขาดการทำภาษีอากร โดยจะให้ผลประโยชน์แผ่นดินมากขึ้น หรือจะให้เจ้าเมืองจัดต่อไปตามเดิม แต่แผ่นดินได้ผลประโยชน์น้อย ทางที่คิดเห็นกันว่าเป็นอย่างดีที่สุดในเวลานั้นก็คือให้เจ้าเมืองคงทำไปอย่างเดิม แต่ให้ขึ้นเงินหลวงให้เท่ากับที่พระยาอัษฎงค์ฯรับประมูลเวลานั้นพระยาวิชิตสงครามอยู่ในกรุงเทพฯ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ว่ากล่าวกับพระยาวิชิตสงคราม พระยาวิชิตสงครามจึงรับประมูลเงินหลวงให้มากกว่าพระยาอัษฎงค์ฯ ๒๐๐ ชั่ง เป็นปีละ ๔,๒๐๐ ชั่ง ใช่แต่เท่านั้น พระยาวิชิตสงครามยื่นเรื่องราวขอประมูลทำภาษีอากรเมืองระยอง เมืองตะกั่วป่า เมืองพังงา อย่างพระยาอัษฎงค์ฯ ประมูลเมืองภูเก็ตบ้าง จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าการเมืองนั้น ๆ ต้องประมูลรับขึ้นเงินตามกัน เงินภาษีอากรเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกก็เพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่า ตั้งแต่ปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พุทธศักราช ๒๔๑๖ เป็นต้นมา
เมื่อเงินภาษีอากรเพิ่มขึ้นมากมายเช่นนั้น การที่จะรับส่งเงินหลวงทางหัวเมืองภูเก็ต ก็เป็นการสำคัญขึ้นแต่แรกรัฐบาลจัดให้เรือรบหลวง ๑ ลำ มีขุนนางกรมอาสาจามเป็นข้าหลวงสำหรับไปรับเงินงวดภาษีอากรทางหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก ต้องไปมาเป็นการลำบากอยู่เสมอ เงินที่หัวเมืองจะส่งก็คั่งค้างไม่สะดวกดี แต่ก็ยังมิได้จัดการแก้ไขแต่อย่างใด ครั้งปีกุน
จุลศักราช ๑๒๓๗ พุทธศักราช ๒๔๑๘ พระยาอัษฎงค์ ยื่นประมูลภาษีอากรเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งจะรับขึ้นเงินหลวงอีกปีละ ๑,๐๐๐ ชั่ง เป็นปีละ ๕,๒๐๐ ชั่ง ปัญหาเกิดขึ้นคราวนี้ ยากกว่าคราวก่อน ด้วยจะเรียกพระยาวิชิตสงครามมาว่ากล่าว ให้ประมูลขึ้นไปอีกก็ขัดอยู่ เพราะการที่เจ้าเมืองรับขึ้นเงินภาษีอากรเป็นอันมาก เมื่อปีวอกจัตวาศกนั้น มิใช่ว่าเป็นแต่จะไปแบ่งโอนเงินกำไรของตนมาส่งหลวง แท้จริงกำไรที่เจ้าเมืองได้อยู่ก่อนยังต่ำกว่าจำนวนเงินหลวงที่รับประมูลขึ้นไปเสียอีก ความคิดของเจ้าเมืองที่กล้ารับขึ้นเงินหลวงครั้งนั้น ด้วยตั้งใจ จะไปกู้ยืมหาเงินมาลงทุนรอนเรียกจีนกุลีเข้ามาทำเหมืองให้มากให้เกิดผลประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน หมายจะเอากำไรที่จะได้มากขึ้นมาส่งเป็นเงินหลวง เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกเมือง
การที่จัดทำลงทุนรอนไปเป็นธรรมดาจำต้องมีเวลากว่าจะได้ทุนกลับคืนมา ก็ถ้าให้ประมูลกันร่ำไป หรือถ้าผู้อื่นแย่งภาษีไปได้ในเวลาที่ไม่ได้ทุนคืน เจ้าเมืองที่รับทำภาษีอากรอยู่ก็ต้องฉิบหาย รัฐบาลแลเห็นอยู่เช่นนี้ แต่จะไม่รับเรื่องราวของพระยาอัษฎงค์ฯ พิจารณา กฎหมายการทำภาษีอากรในเวลานั้น ก็ยังยอมให้ว่าประมูลอยู่ จึงเป็นความลำบากใจแก่รัฐบาลที่จะบัญชาลงเป็นประการใด สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงทูลขอให้พระยามนตรีฯ แต่ยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราชและเป็นองคมนตรี เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปตรวจการภาษีอากรทางหัวเมืองมณฑลภูเก็ต เพราะพระยามนตรีฯ เกี่ยวดองกับพระยาวิชิตสงคราม ประสงค์จะให้ไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพระยาวิชิตสงครามยอมประมูลเงินสูงกว่าพระยาอัษฎงค์ฯ ๘๐๐ ชั่ง รวมเป็น ๖,๐๐๐ ชั่ง รัฐบาลจึงได้จัดการแก้ไข วิธีเก็บภาษีอากรทางหัวเมืองมณฑลภูเก็ตให้พ้นจากเรื่องประมูลแย่งกันตั้งแต่นั้นมา เวลานั้นพระยาวิชิตสงครามแก่ชรา จักษุมืด จึงโปรดให้เลื่อนขั้นเป็นพระยาจางวาง โปรดให้พระยาภูเก็ต (ลำดวน) บุตรคนใหญ่ของพระยาวิชิตสงคราม เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตสำหรับที่จะได้ทำการเก็บผลประโยชน์ แทนตัวพระยาวิชิตสงครามต่อไป แล้วทรงตั้งพระยามนตรีฯ เวลานั้นยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นข้าหลวงใหญ่คนแรกออกไปอยู่เมืองภูเก็ต ประจำกำกับราชการบ้านเมืองและจัดเก็บภาษีอากรตลอดจนรับส่งเงินหลวงในหัวเมืองมณฑลภูเก็ต ตั้งแต่เมื่อปีกุน สัปตศกนั้น
การที่ตั้งข้าหลวงใหญ่ไปประจำอยู่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูโดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ก็แลเห็นได้ว่าเป็นการจำเป็น และสมควรแก่ประโยชน์ของราชการบ้านเมืองด้วยประการทั้งปวง เพราะการที่เปิดเหมืองดีบุก ให้ทำได้มากมายหลายเหมืองพร้อมกันเช่นนั้น อาจจะมีเหตุการณ์แก่งแย่งเกิดขึ้น เช่นแย่งจีนกุลีทำเหมือง เป็นต้น และข้อสำคัญยังมีในการที่เรียกจีนกุลีเพิ่มเข้ามาทำเหมืองมากขึ้น ๆ ทุกที ไม่ช้านานเท่าใด จำนวนจีนกุลีทำเหมืองก็มากกว่าพลเมืองไทยที่อยู่ในท้องที่มาแต่เดิม ภาระควบคุมจีนกุลี เป็นความลำบากแก่การปกครองในเวลานั้น ยิ่งกว่าการอย่างอื่น ต้องการกำลังและอำนาจ ในการปกครองยิ่งกว่าที่เจ้าเมืองมีอยู่เฉพาะเมืองอย่างแต่ก่อน จึงต้องตั้งข้าหลวงใหญ่ไปอยู่ประจำมณฑลคล้าย ๆ กับสมุหเทศาภิบาลที่จัดต่อมาในชั้นหลัง และให้มีเรือรบออกไปอยู่ประจำเป็นกำลังลำหนึ่งสองลำอยู่เสมอ……”
ส่วนปลัดมณฑลที่เคยเป็นตำแหน่งที่สองรองจากข้าหลวงเทศาภิบาลนั้น ก็จำกัดหน้าที่ลงเหลือเป็นเพียงผู้ช่วยในกิจการมณฑลเท่านั้น และงานในหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของข้าหลวงมหาดไทยนั้น เมื่อได้ตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่งแล้ว ก็ได้ยุบเลิกตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยมณฑลเสีย แล้วโอนงานของข้าหลวงมหาดไทย ให้ปลัดมณฑลเป็นผู้ปฏิบัติจัดทำต่อไป
ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๕๙ จึงได้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เรียกว่า “จังหวัด” เป็นระเบียบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๖๘ ในรัชกาลที่ ๗ ได้ยุบเลิกตำแหน่งมหาดไทยมณฑล เพื่อประหยัดตัดรอนรายจ่ายแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ แต่แล้วภายหลังก็ต้องกลับตั้งตำแหน่งมหาดไทยมณฑลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยอีก อนึ่งในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ นี้ ได้โอนจังหวัดสตูล จากมณฑลภูเก็ต ไปขึ้นกับ มณฑลนครศรีธรรมราช เพราะทางไปมาจากสตูลไปสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชสะดวกกว่ามาภูเก็ต ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ จึงได้ยกเลิกระบอบเทศาภิบาลเสีย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๖ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑล จึงได้ถูกยุบเลิกไปแต่นั้นมา ถึงแม้ว่าในภายหลังจะได้มีการแต่งตั้งตำแหน่ง ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทย ออกไปประจำภาคต่าง ๆ ขึ้น แล้วต่อมาได้เปลี่ยน เรียกว่า ผู้ว่าราชการภาค ก็ตาม ก็หาได้มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการในจังหวัดต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์เหมือนในสมัยสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลต่างพระเนตรพระกรรณไม่ จึงเป็นอันว่าระบอบมณฑลเทศาภิบาลได้หมดสิ้นไป ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑) การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการ และตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓) เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับ หน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔) รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑) จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒) อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียวคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓) ในฐานะของคณะกรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑) จังหวัด
๒) อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต.ภูเก็ต : โรงพิมพ์สมบัติการพิมพ์ ,๒๕๒๙.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

"นางห้าม" ถวายตัวต้องตกเป็นมรดกหลวง

สะพานพระราม 8