น่าน
ประวัติศาสตร์จังหวัดน่าน
สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
ดินแดนจังหวัดน่านปัจจุบัน ในโบราณสมัยเป็นอาณาจักรเล็กๆ ส่วนหนึ่งในลานนาไทยตั้งอยู่ในอาณาจักรใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่า ทางทิศตะวันตกได้แก่ ลานนาไทย ซึ่งมีเชียงใหม่เป็น ราชธานีสำคัญ และพม่าซึ่งอยู่ถัดต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีหลวงพระบางและสิบสองปันนา กับมีอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางทิศใต้ ฉะนั้นสภาพการของแคว้นน่านจึงตกอยู่ด้วยเหตุผลว่า ถ้าอาณาจักรใดมีอำนาจมาก แคว้นน่านก็ตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรนั้น ที่จะตั้งเป็นเอกราชโดยลำพังตนเองนั้น เท่าที่ปรากฏในประวัติความเป็นมา ที่น้อยที่สุด โดยถูกรั้งกันไปรั้งกันมาอยู่ จนกระทั่งอาณาจักรสยามได้รวบรวมอาณาจักรลานนาไทยทั้งหมดไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมัยใดที่แคว้นน่านตกอยู่ในความปกครองของอาณาจักรสยามหรือลานนาไทยด้วยกัน สมัยนั้นความรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขก็มีเป็นปกติอยู่แก่บ้านเมือง เพราะอาณาจักรทั้งสองนี้ปกครองด้วยความยุติธรรมและปรารถนาดี ปราศจากเสียซึ่งการวิหิงสาเบียดเบียน ถ้าเมื่อใดต้องตกไปอยู่ในความปกครองของพม่า บ้านเมืองก็เดือดร้อนระส่ำระสายเพราะวิธีการปกครองของพม่าไม่เป็นการสร้างสรรค์มีแต่จะทำลาย และกอบโกยหาผลประโยชน์ในเมืองขึ้นด้วยลักษณะทารุณกรรมนานาประการ ซึ่งปรากฏเป็นพฤติการณ์อันขมขื่นเกิดขึ้นแก่ชาติทั้งปวงที่ตกอยู่ในสมัยที่พม่ามีอำนาจอยู่ทั่วๆ กัน นอกจากนี้แคว้นน่านยังถูกรุกรานราวีจากเพื่อนบ้าน ซึ่งมาจากทางหลวงพระบางและสิบสองปันนา บางคราวก็สามารถตีทัพเหล่านี้แตกไป บางคราวก็พาลเสียบ้านเมืองหรือต้องอพยพเข้าป่าถอยร่นไปตั้งอยู่ในเมืองตอนเหนือบ้าง ตอนใต้บ้าง ไม่ใคร่เป็นปกติ นับเป็นประวัติความเป็นมาของแคว้นน่านในยุคโบราณกาล
เมืองน่านกับอาณาจักรลานนาไทย
เบื้องต้นก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติของแคว้น ขอกล่าวถึงอาณาจักรลานนาไทยพอเป็นเค้ามูลก่อน กล่าวคือว่าเดิมนับแต่ชนชาติในอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีนได้อพยพจากเมืองเดิมลงมาสู่พื้นที่ทางใต้และแยกย้ายกันไปตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ แล้ว ส่วนหนึ่งของไทยเดิมได้ข้ามแม่น้ำโขงลงมาสู่แคว้นสยามสุวรรณภูมิ ตั้งเมืองเชียงแสนหรือนครโยนกขึ้นเป็นราชธานี ภายหลังขอมได้แผ่อำนาจขยายอาณาเขตต่อขึ้นมาจนถึงแคว้นโยนก และใช้กำลังกองทัพปราบปรามนครโยนกราบคาบในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ขอมก็เข้าปกครองแคว้นสยามสุวรรณภูมิฝั่งใต้แม่น้ำโขงตลอดไป
ต่อมาพระเจ้าพรหมมหาราชประมุขของชาวไทยในแคว้นโยนก ได้ระดมกำลังเข้าขับไล่ขอมออกไปจากแคว้นโยนก และชิงหัวเมืองใหญ่น้อยของขอมได้เป็นอันมาก แผ่อาณาเขตลงมาตลอดแดนที่เรียกว่า “ลานนา” คือภาพพายัพในปัจจุบันแล้วสร้างนครชัยปราการ (เมืองฝาง) ขึ้นเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรลานนาในราว พ.ศ. ๑๖๖๑
นครชัยปราการดำรงอิสระภาพมาจนราว พ.ศ. ๑๗๓๑ ถึงสมัยพระเจ้าสิริชัยก็ถูกข้าศึก
(ซึ่งตามพงศาวดารต่างๆ กล่าวว่าเป็นมอญบ้าง ไทยใหญ่บ้าง) ยกทัพมาติดนครชัยปราการ พระเจ้าสิริ-ชัยเห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน จึงอพยพพลเมืองและสมัครพรรคพวกกันลงมาทางใต้ภายหลังเชื้อวงศ์เชียงรายจึงได้ไปเป็นกษัตริย์สำคัญขึ้นในกรุงสุโขทัย และเมืองสุพรรณภูมิเรียกว่า ”ราชวงศ์เชียงราย” เป็นลำดับต่อไป
ฝ่ายข้างอาณาจักรลานนาตั้งแต่พระเจ้าสิริชัยทิ้งนครชัยปราการอพยพมาทางใต้แล้วจำ-เนียรกาลต่อมาพวกไทยที่เหลืออยู่ก็ควบคุมกันตั้งบ้านเมืองขึ้นหลายแห่ง ต่างฝ่ายต่างตั้งเป็นอิสระแก่กัน ตลอดทั้งอาณาจักรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หัวเมืองต่างๆ ที่เป็นนครใหญ่ที่สำคัญมี ๓ นคร คือ
- นครเงินยาง (เชียงแสน) ตั้งอยู่ฝ่ายเหนือ
- นครพะเยา ตั้งอยู่ตอนกลาง
- นครหริภุญชัย ตั้งอยู่ฝ่ายใต้
และนครน่านก็เชื่อว่าได้กำเนิดขึ้นแล้วในยุคนั้น
แต่เค้าเงื่อนตามพงศาวดารโยนกอันกล่าวถึงตำนานฝ่ายเหนือได้ความว่า ขอมซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองละโว้ได้มามีอำนาจปกครองอาณาจักรลานนาทั้งหมด โดยให้ราชธิดาอันมีนามว่า “พระนางจามเทวี” ขึ้นครองเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เมื่อพระเจ้าอนุรุธราชา- ธิราชแห่งกรุงพุกาม แผ่อาณาจักรเข้ามาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขับไล่ขอมออกไป ต่อมาพวกลานนาได้กลับตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นที่เมืองเชียงแสนอีกวาระหนึ่ง ผู้ที่เป็นปฐมกษัตริย์ต้นวงศ์นี้ มีนามว่า “จักกราช” ซึ่งมีกษัตริย์สืบราชวงศ์ครองเมืองอยู่ทั่วอาณาจักรลานนาทั้งปวง ตามตำนานอันว่าด้วยลำดับวงศ์จัก-กราชข้างฝ่ายเมืองน่าน ก็ยืนยันไว้ว่ากษัตริย์ครองเมืองน่านในยุคโบราณได้สืบมาจากวงศ์นี้ด้วย
กำเนิดของเมืองน่าน
ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เมืองน่านได้มีกำเนิดเป็นหลักฐานครั้งแรกที่เมืองวร-นคร (เมืองปัว) ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดน่านในปัจจุบัน ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระยาภูคาเจ้าเมืองย่าง (อยู่ในท้องที่ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว) มีราชบุตร ๒ องค์ องค์พี่ชื่อ “ขุนนุ่น” องค์น้องชื่อ “ขุนฟอง” เมื่อเจริญวัยขึ้น พระมหาเถรแตงได้สร้างเมืองทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงชื่อว่า “จันทบุรี” (หลวงพระบาง) ให้แก่ขุนนุ่นผู้พี่ แล้วสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำน่านชื่อว่า “วรนคร” ให้แก่ขุนฟองผู้น้องและปันอาณาเขตของสองเมืองขึ้นคือฝ่ายวรนครทิศเหนือถึงเมืองท่านุ่นริมฝั่งแม่น้ำโขง ทิศใต้สุดศาลเมืองล่าง (เข้าใจว่าเป็นเมืองย่าง) เป็นแดน กาลเวลาดังกล่าวตกอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัย ทางอาณาจักรลานนาก็มีพระยางำเมืองเป็นเจ้าเมืองพะเยา และพระยาเม็งรายเป็นเจ้านครเชียงราย ในขั้นแรกที่สร้างเมืองนี้ขึ้นนั้น ไม่ปรากฏศักราชว่าเป็นพุทธ-ศักราช ๑๘๖๕ ก็ต่อเมื่อเจ้าเมืองวรนครได้ล่วงไปแล้วถึง ๒ องค์ ถ้าจะคาดคะเนตามเหตุการณ์ในพงศาวดารเมืองน่านตอนนี้และนับถอยหลังหวนไปหาการตั้งเมืองวรนครแล้ว ก็ไม่เกิน ๔๐ ปี คือประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๕
แต่ตามพงศาวดารโยนกที่กล่าวตามตำนานเมืองเชียงแสนอันว่าด้วยลำดับวงศ์จักกราชซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของลานนาในเมืองเชียงราย กล่าวว่า นับตั้งแต่ลาวจักกราชไปได้ ๑๒ ชั่วกษัตริย์ถึงพระยาลาวจังกาเรือนแก้ว ก็เสียเมืองไชยวรนครเชียงรายให้แก่พระยาน่านหรือนันทบุรีผู้ชื่อว่า “พระยากือคำล้าน” ราว พ.ศ. ๑๕๑๘ ประการหนึ่ง
กับเมื่อขุนเจืองกษัตริย์เมืองพะเยา ลำดับที่ ๒ มีอายุได้ ๑๖ ปี คือ พ.ศ. ๑๖๕๗ ได้มาคล้องช้าง ณ เมืองน่าน พระยาน่านผู้มีนามว่า “พลเทวะ” ยกราชธิดานามว่า “พระนางจันทรเทวี” ให้เป็นภรรยาของขุนเจืองประการหนึ่ง
หรือในขั้นหลังที่สุด เมื่อขุนเจืองได้ปราบดาภิเษกครองเมืองแกวได้ ๑๔ ปี คือ พ.ศ.
๑๖๙๑ มีโอรสกับพระนางอู่แก้วราชธิดาพระยาแกว ๓ องค์ ผู้พี่ชื่อ “ท้าวอ้ายผาเรือง” ผู้กลางชื่อ “ท้าว ยี่คำหาว” ผู้น้องชื่อ “ท้าวสามชุมแสง” ครั้นราชกุมารทั้งสามเจริญวัยแล้ว จึงยกราชสมบัติเมืองแกวให้แก่ท้าวอ้ายผาเรืองผู้เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ แล้วโอรสผู้กลางชื่อท้าวยี่คำหาวให้ไปเป็นพระยาครองเมืองลานช้าง และโอรสผู้น้องอันชื่อท้าวสามชุมแสงมาเป็นพระยาครองเมืองนนทบุรี (น่าน) ดังนี้
แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เมืองน่านเดิมได้ตั้งเป็นรากฐานขึ้นในครั้งใดก็ดีแต่ตามเรื่องราวของเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองน่านในสมัยต่างๆ ข้างต้นนี้ ทำให้เห็นได้ว่าเมืองน่านได้ตั้งมานานแล้วเท่าๆ กับหรือเก่าแก่กว่าเมืองโบราณบางเมืองในลานนาไทยด้วยกัน ซึ่งต้องมีหลักฐานมาก่อนตั้งที่เมืองวรนครนี้ อนึ่ง ในรัชสมัยของพระเจ้าพ่อรามคำแหง (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๖๐) ปรากฏในศิลาจารึกว่าเมืองน่านเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นแก่กรุงสุโขทัยเมืองหนึ่งจึงเข้าใจว่าเมืองน่านในครั้งนั้นมิใช่แต่จะได้มีกำเนิดขึ้นด้วยอายุอันช้านาน ยังได้รวมกันตั้งอยู่เป็นบ้านเมืองมีเขตแดนเป็นปึกแผ่นแล้วอีกด้วย แม้จะยังไม่กว้างขวางใหญ่โต แต่ก็คงเป็นเมืองชั้นราชธานี จึงจัดเข้าอยู่ในอันดับว่าเป็นเมืองประเทศราชเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัย
นามเมือง
นามเดิมปรากฏแต่เดิมมาเรียกว่า “เมืองน่าน” บ้าง “เมืองนาน” บ้าง “นันทบุรี” บ้าง แต่ ตามศิลาจารึกของพระเจ้าพ่อขุนรามคำแหง ราว พ.ศ. ๑๘๒๐ เศษ เรียกว่า “เมืองน่าน” ส่วนนามที่เรียกว่า “เมืองนาน” นี้ ปรากฏในตำนานพระธาตุแช่แห้ง ว่าเป็นนามที่ได้มีขึ้นโดยพุทธทำนาย แต่ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเกี่ยวด้วยความนิยมของชาวลานนาไทยในการแต่งตำนานในอันที่จะสืบสาวราวเรื่องให้เข้าไปต่อเนื่องกับสมัยพุทธกาลเป็นข้อใหญ่ เพราะนาม “เมืองน่าน” นั้น มีเหตุผลเพียงเพื่อจะยกย่องพระธาตุแช่แห้งอันเป็นปูชนียสถานสำคัญของบ้านเมืองให้มีกำเนิดขึ้นในสมัยพุทธกาลเท่านั้น และคำที่เรียกว่า ”เมืองนาน” นั้นก็ไม่ปรากฏเรียกในพงศาวดารเมืองน่านเลย นอกจากจะเรียกกันในตำนานพระธาตุแช่แห้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็หายไป ส่วนนาม “นันทบุรี” ปรากฏว่าเรียกกันอยู่แทบทุกตำนาน และเชื่อว่าได้มีกำเนิดขึ้นในชั้นหลังในสมัยมัธยมประวัติ เพระครั้งนั้นทางลานนามีผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีมาก เหตุแต่ได้มีพระสงฆ์ในลังกามาสืบศาสนาติดต่อกับลานนาอยู่ช้านาน นาม “นันทบุรี” ที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอาความหมายจากนามเดิม เพียงแต่ให้มีสำเนียงสัมผัสสอดคล้องกันไปกับคำเดิมเท่านั้น แม้ว่า “เมืองน่าน” จะได้คำใหม่ว่า “นันทบุรี” แล้ว ก็ยังมิได้ทิ้งนามเดิมเสียทีเดียวคงเรียกคู่กันมาว่า “นันทบุรี ศรีนครน่าน” ซึ่งใช้กันในทางราชการในสมัยโบราณและศุภอักษร นามเมือง “นันทบุรี” เป็นนามที่ไพเราะและมีความหมายเป็นมงคลนาม แต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยาก ความที่ไม่นิยมในการที่จะต้องเขียนหรือเรียกกันยืดยาว จึงหันกลับมานิยมนามเมืองไปตามเดิมว่า “เมืองน่าน” ตราบมาจนถึงปัจจุบัน
อนึ่ง ในตำนานพระอัฒภาค เรียกชื่อเมืองน่านว่า “นันทสุวรรณนคร” และในตำนานชิน-กาลมาลินี เรียกว่า “กาวราชนคร” นัยว่าเป็นแคว้น “กาว” ซึ่งเลือนมาจากคำว่า “แกว, กอย, ก้อ และกุ๊ย” ซึ่งเป็นภาษาจีนแปลว่า “ผี” หรือ “พวกดำมืด” (อนารยะ) อันหมายถึงชนชาติที่น่าอาศัยอยู่ใน แคว้นน่านแต่ดึกดำบรรพ์ ตำนานเก่าๆ มักเรียกเมืองน่านอีกคำหนึ่งว่า “กาวน่าน” คำนี้น่าจะถูกเรียกจากชนชาติที่เจริญอันอยู่ทางเหนือ เพราะคำว่า “น่าน” มีสำเนียงคล้ายกับคำจีนว่า “น่าง” ซึ่งแปลว่าทิศใต้ ฉะนั้น “กาวน่าน” ก็คือ “คนดำที่อยู่ทางทิศใต้” นั่นเอง ความข้อนี้อาจผิดหรือถูกก็ได้แต่ก็ปรากฏว่าได้มีพวก “กาว” หรือ “แกว” ฝ่ายตะวันออกอันอยู่ใกล้เคียงกับกาวฝ่ายใต้อยู่อีกพวกหนึ่งคือญวนในปัจจุบัน และนามของแคว้นน่านเดิมน่าจะมีนามมาจาก “กาวน่าน” ตามตำนานเก่าและเหตุผลที่กล่าวแล้ว น่าจะถูกต้องกว่านามอื่นๆ ต่อมาเมื่อชนชาติพวกหนึ่งได้อพยพตั้งอยู่ในแถบแคว้นกาวน่านแล้ว คำว่า “กาว” จึงได้หายไป คงเหลือเฉพาะแต่คำว่า “น่าน” เป็นนามเมืองมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
อาณาเขตเมืองน่านในสมัยโบราณ
การที่จะทราบว่าอาณาเขตเมืองน่านในสมัยโบราณมีเพียงไรนั้น เป็นการที่ยากที่จะทราบได้ เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏพอที่จะจับเอาเป็นเค้าเงื่อนได้ มาทราบเรื่องพอเป็นเลาๆ ก็ต่อเมื่อตอนตั้งเมืองที่ “วรนคร” กล่าวคือ ได้ระบุอาณาเขตของวรนครไว้ดังนี้
- ทิศเหนือติดต่อกับเมืองพระบาง เมืองท่านุ่น อันเป็นเมืองเล็กๆ (หรือตำบล) อยู่ ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
- ทิศใต้ จดเมืองย่าง
- ทิศตะวันออกและตะวันตก ไม่ปรากฏ
แต่สำหรับอาณาเขตทางทิศตะวันตกนั้น พอจะทราบได้จากอาณาเขตของเมืองพะเยาซึ่งอยู่ติดต่อกันและมีอาณาเขตซึ่งกล่าวไว้ชัดเจนในสมัยเดียวกัน คือ กล่าวว่า "หนหรดีของพะเยา" ตั้งแต่ดอยหลักไก่ ไต่สันเขา ไปหนบูรพ ถึงห้วยผากาด, ตาดม่าน (ตาดแปลว่าน้ำตก), ปางซี่พัน, ไหม- สามเชื้อ (สามอย่าง), สบห้วยน้ำกู (สบห้วยคือปากห้วย), ล่องน้ำพุงไปจับน้ำยม (จับคือพบถึง), ขึ้นตามน้ำยมไปจับปากน้ำปัน, แล้วไปจับห้วยบ่อทอง, แล้วไต่ตามสันเขาไปจับตาดเซาวา ฯลฯ ซึ่งอาณาบริเวณตามลุ่มน้ำยมที่กล่าวนั้น เป็นดินแดนของอำเภอปงในปัจจุบัน และอาณาเขตของเมืองพะเยา กับวรนครน่าจะติดต่อกันที่ทิวเขาดอยภู่, ดอยวาว ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอปงกับอำเภอปัวนั่นเอง เพราะดอยทั้งสองนี้เป็นสันเขาที่กั้นพื้นที่ทางลุ่มแม่น้ำยมกับพื้นที่ทางฟากตะวันออกให้แยกออกจากกัน
ภายหลังเมื่อได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านห้วยได้คือเมืองน่านปัจจุบันแล้ว ปรากฏว่าทางทิศใต้มีอาณาเขตยาวไปจนถึงอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอาณาเขตของแคว้นน่านมาแต่เดิม และทางตะวันตกท้องที่ในแถบลุ่มแม่น้ำยมก็เข้ามารวมอยู่ในเขตของอำเภอเมืองน่าน แต่อาณาเขตทางทิศเหนือนั้น น่าจะถูกร่นมามาก เพราะในระยะหลังปรากฏว่าถูกแคว้นล้านช้างและแกวรุกรานเข้ามาจนถึงชานเวียง ฉะนั้น อาณาเขตของเมืองน่านจึงย่อมเอาเป็นยุติมิได้เลย เพราะเกี่ยวกับการขยายและการแผ่อำนาจของบ้านเมืองใกล้เคียงอยู่เป็นปกติ
ต่อมาเมื่อหัวเมืองใหญ่น้อยในลานนาไทยทั้งปวงได้ตกเป็นอาณาเขตของพระราชอาณา-จักรสยามแล้ว คือเมื่อครั้งทางการปกครองยังยกเมืองใหญ่ๆ ในลานนาไทยให้เป็นเมืองประเทศราชขึ้น ตรงต่อกรุงเทพมหานครนั้น ด้วยความสวามิภักดิ์และความอุตสาหะวิริยภาพของเจ้าผู้ครองนครน่านได้เป็นกำลังสำคัญในพระราชสงครามทางฟากแม่น้ำโขงอย่างแข็งแรงเป็นอันดีได้เพิ่มพูนดินแดนที่ตีได้เข้ามาอยู่ในความปกครองของจังหวัดน่านเป็นบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากและนับแต่ ร.ศ. ๑๒๒ มาจนถึงระยะหลังสุดก่อนถึงปัจจุบัน จังหวัดน่านมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ จดฝั่งแม่น้ำโขง ที่เมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก โอบอาณาเขตบางส่วนของจังหวัดเชียงรายทางแม่น้ำอิง เรื่อยลงมาจนจดเข้าไปในเขตแม่น้ำยมท้องที่อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยาและติดต่อกับจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่
- ทิศตะวันออก จากทิศเหนือล่องตามฝั่งแม่น้ำโขง ตัดตรงลงมาทางเมืองเชียงลม เชียงฮ่อน ไปเมืองเงิน แล้วไปจดทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งทอดลงมาทางใต้
- ทิศใต้ เลยเข้าไปในจังหวัดอุตรดิตถ์ สิ้นเขตที่บ้านผาเลือด อำเภอท่าปลา กับมีเมืองสิงห์, เมืองนัง, เมืองหลวงน้ำทา, เมืองภูคา, เมืองเชียงราบ, เมืองเชียงแข็ง ซึ่งอยู่ตามฟากแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายเป็นเมืองขึ้นอีกด้วย
สมัยกรุงสุโขทัย
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐ มีบุคคลสำคัญเกิดขึ้นในลานนาไทย ๒ คน คือพระยา งำเมือง เจ้าเมืองพระเยาองค์หนึ่ง กับพระยาเม็งรายเจ้าเมืองเชียงรายองค์หนึ่ง ส่วนทางอาณาจักรสุโขทัยมีพระเจ้ารามคำแหง เป็นพระมหากษัตริย์ที่เรืองพระเดชานุภาพอยู่ทางทิศใต้อีกพระองค์หนึ่ง
วาระแรกที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน หลังจากแคว้นน่านได้ตั้งวรนครขึ้นแล้ว มิช้า
พระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยาก็เข้ามายึดเมืองวรนครเป็นเมืองขึ้น การเข้ามาถือเอาซึ่งเมืองวรนครครั้งนี้เป็นการง่ายมาก มิได้มีการรบพุ่งแต่อย่างใด เพราะทางฝ่ายวรนครไม่ทันรู้ตัว เตรียมการป้องกันไม่ทัน ครั้งนั้นเจ้าเมืองวรนครเป็นผู้หญิง เป็นชายาของพระเจ้าเก้าเถื่อนเจ้าเมืองวรนครอันดับที่ ๒ ซึ่งได้ละเมืองวรนครไว้ให้แก่ชายา แล้วไปครอบครองเมืองย่างอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง การที่เสียเมืองวรนครให้แก่แคว้นพะเยาครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าเก้าเถื่อนทำการแก้มือแก่พระยางำเมืองแต่ประการใด เห็นจะไม่มีกำลังพอที่จะทำการตอบแทนนั่นเอง ในพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า ในขณะที่พระยางำเมืองเข้ามาถึงวรนครนั้น นางพระยาวรนครได้หนีออกไปจากเมืองได้ไปคลอดบุตรระหว่างทางเป็นชาย ภายหลังเมื่อกุมารนั้นมีอายุ ๑๖ ปี ได้ถวายตัวอยู่ในราชสำนักพระยางำเมือง และพระยางำเมืองโปรดปรานให้นามว่า ขุนใส่ยศ และให้ไปครองเมืองปราด ส่วนเมืองวรนครนั้น พระยางำเมืองให้นางชายาผู้หนึ่งชื่อว่า อั้วลิมกับบุตรชายชื่อว่าอามป้อมมาครอง ภายหลังนางอั้วลิมเกิดผิดใจกับพระยางำเมืองด้วยเรื่องเป็นเชิงว่าพระยางำเมืองระแวงในความจงรักภักดีของนาง นางเจ็บใจจึงร่วมคิดกับขุนใส่ยศ เจ้าเมืองปราดแข็งเมืองต่อพระงำเมืองและมาตั้งอยู่ที่วรนคร แล้วขุนใส่ยศกับนางอั้วลิมก็สมสู่อยู่ด้วยกันฉันท์สามีภริยา ความทั้งนี้ทราบถึงพระยางำเมืองจึงยกกองทัพมาตีวรนคร ทางฝ่ายเมืองวรนครให้เจ้าอามป้อมเป็นทัพยกออกไปเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายได้ปะทะทำการรบกันเพียงเล็กน้อย พระยางำเมืองก็เลิกทัพกลับไป นับว่าเกิดความสลดพระทัยในการที่บิดากับบุตรต้องมาทำสงครามกัน
ต่อจากนี้ขุนใส่ยศได้อภิเษกเป็นเจ้าเมืองวรนคร มีนามว่า “พระยาผานอง” ในปี ๑๘๖๕ นับแต่นั้นมาการเกี่ยวข้องระหว่างแคว้นพะเยากับแคว้นน่านก็ขาดตอนไปเฉยๆ ไม่มีเรื่องกล่าวถึงกันอีกเลย
ส่วนการเกี่ยวข้องระหว่างเมืองน่านกับกรุงสุโขทัย ได้ความตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมืองน่านเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัย ข้อความทั้งนี้ไม่มีปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน และไม่ทราบว่าไปขึ้นในปีใด ศิลาจารึกนี้เข้าใจว่าจารึกในราว พ.ศ. ๑๘๓๕ พ่อขุนรามคำแหงเสวยราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๒๐ ถ้าคิดอย่างไม่ละเอียดก็ตกอยู่ในระหว่างรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงระยะ ๑๕ ปีนี้ ปัญหาจึงมีว่าเมืองน่านไปขึ้นแก่แคว้นพระเยาก่อนหรือกรุงสุโขทัยก่อน แต่ข้อนี้เมื่อวิจารณ์ตามรัชสมัยของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ คือ พระยางำเมืองเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๑ และพ่อขุนราม-คำแหงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ โดยถือว่าเมืองน่านคือวรนครเป็นหลักแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าเมืองน่านต้องขึ้นแก่แคว้นพะเยาก่อน เพราะถ้าขึ้นแก่กรุงสุโขทัยก่อนแล้ว พระยางำเมืองจะมาตีเมืองน่านมิได้เลย ด้วยเมืองน่านขึ้นแก่กรุงสุโขทัยอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๓๕ และการที่พระยางำเมืองจะมาชิงเมืองขึ้นของพ่อขุนรามคำแหงนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะปรากฏว่าแคว้นพะเยาในสมัยนั้นไม่มีกำลังพอที่จะแย่งอำนาจกับเมืองใหญ่ เช่น กรุงสุโขทัยได้
แม้ว่าจะเป็นอันยุติว่า เมืองน่านขึ้นต่อแคว้นพะเยาก่อนกรุงสุโขทัยแล้วก็ดี แต่เมื่อได้ใคร่ครวญถึงปีที่พระยาผานองแข็งเมืองต่อพระยางำเมือง และขึ้นครองเมืองวรนคร ใน พ.ศ. ๑๘๖๕ แล้วก็ทำให้ฉงนอีก เพราะเมืองน่านขึ้นแก่กรุงสุโขทัยในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๓๑ ดังกล่าวแล้ว ถ้าเช่นนั้นคำที่ปรากฏในศิลาจารึกว่าเมืองน่านอาจไม่อยู่ในวรนครก็เป็นได้ เมืองย่างเป็นเมืองเดิมอยู่ในแคว้นน่าน ส่วนวรนครเพิ่งจะเกิดทีหลังในราว พ.ศ. ๑๘๒๕ ชะรอยเมืองน่านในศิลาจารึกนั้น จะได้แก่เมืองย่างและคงจะไปขึ้นแก่กรุงสุโขทัยก่อน พ.ศ. ๑๘๒๕ คือประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๒๔ ซึ่งก่อนกำเนิดของเมืองวรนคร เมืองวรนครจึงตั้งอยู่เป็นอิสระ แม้สองเมืองนี้ภายหลังจะเป็นเมืองอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมืองวรนครก็เพิ่งจะตั้งขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ ซึ่งพระยางำเมืองก็คงจะถือว่าเมืองวรนครเป็นเมืองอิสระอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงได้ยกกำลังเข้ามาครอบครอง ฝ่ายพระยาผานองเมื่อได้มาตั้งอยู่ที่วรนครแข็งเมืองต่อแคว้นพะเยาแล้ว ในชั้นนี้เองที่ได้เข้าไปสวามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงสุโขทัย ด้วยเหตุนี้เมื่อพระยางำเมืองยกทัพมาปราบวรนคร จึงต้องเลิกทัพกลับไป คงมิใช่เกิดความสลดใจที่จะต้องทำการรบกับลูกอกตัญญูเป็นแน่
ต่อมาเมื่อพระยาเก้าเถื่อนเจ้าเมืองย่างถึงแก่พิราลัยแล้ว เมืองย่างก็รวบเป็นเมืองเดียวกับวรนคร
อันดับกาลต่อไป ทางกรุงสุโขทัย เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนามว่า พระเจ้าฤไทชัยเชษฐ์ หรือพระเจ้าเลอไทในรัชกาลนี้พระเจ้าแสนเมืองมิ่ง พระเจ้ากรุงเมาะตะมะแห่งราชวงศ์ฟ้ารั่วแข็งเมือง แล้วยกกองทัพมาตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีของอาณาจักรสุโขทัยได้ในปี พ.ศ. ๑๘๖๑ พระเจ้าฤไทยชัยเชษฐ์แต่งกองทัพไปปราบปรามก็ไม่สำเร็จ แต่นั้นมาอาณาจักรสุโขทัยก็เสื่อมลง เป็นเหตุให้บรรดาหัวเมืองขึ้นชั้นนอกพากันกระด้างกระเดื่องขึ้นเป็นลำดับ
ฝ่ายทางอาณาจักรลานนาไทยราชวงศ์พระยาเม็งรายได้สืบราชสมบัติต่อกันมาจนถึงพระ-ยาคำฟู ได้รวบรวมแคว้นลานนาอันมีเมืองหริภุญชัย พะเยา และเงินยางให้กลับรวมกันเข้าเป็นอาณา-จักรอันเดียวกัน ต่อจากกษัตริย์องค์นี้มาอีกองค์เดียว ก็ย้ายราชธานีจากเชียงแสนไปตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ตามเดิม
ส่วนอาณาจักรสุพรรณภูมิอันตั้งอยู่ทางทิศใต้ถัดจากอาณาจักรสุโขทัยลงไป เมื่อเจ้าเมืองอู่ทองถึงแก่พิราลัยแล้ว เชื้อสายราชวงศ์เชียงรายผู้เป็นบุตรเขยก็ได้สืบตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเป็น พระเจ้าอู่ทองสืบต่อมาภายหลังพระเจ้าอู่ทองก็ย้ายราชธานีมาตั้ง ณ เมืองอโยธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ และมีอานุภาพอยู่ทางใต้อีกฝ่ายหนึ่ง
ขณะเมื่ออาณาจักรสุโขทัยอ่อนอำนาจลงนั้น ประเทศราชต่างๆ โดยมากก็คิดตั้งตัวเป็นเอกราช แต่กำลังเมืองประเทศราชทั้งปวงไม่สม่ำเสมอกัน ที่เป็นเมืองเล็กเมืองน้อยก็เห็นจะพ้นวิสัยก็คงจะสงบนิ่งอยู่ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่าที่จะรักษาเอาตัวรอด แม้เมืองอื่นๆ จะได้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงสุโขทัยไปแล้วเป็นอันมาก แต่เมืองน่านยังคงสงบเป็นปกติอยู่ ยังมีการเกี่ยวข้องกับกรุงสุโขทัยโดยฐานะเป็นเมืองออกอยู่เป็นลำดับมา
เรื่องนี้ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านต่อมาว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๙ (ศักราชนี้ปรากฏในตำนานพระธาตุแช่แห้ง) ว่า พระยาการเมืองสืบมาจากพระยาผานองได้เป็นเจ้าเมืองวรนคร ในกาลครั้งนั้นพระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้ใช้มาเชิญพระยาการเมืองไปช่วยพิจารณาสร้างวัดหลวงอภัยในกรุงสุโขทัย ครั้นสร้างเสร็จแล้ว เจ้าเมืองสุโขทัยได้ให้พระบรมธาตุแก่พระยาการเมือง อันเป็นมูลเหตุของการประดิษฐานพระบรมธาตุของเมืองน่านอีกเรื่องหนึ่ง โดยพระยาการเมืองได้มาเลือกชัยภูมิในอันที่จะประดิษฐานพระบรมธาตุ และเลือกได้สถานที่ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้งนัยว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่กาลก่อนๆ ดอยภูเพียงแช่แห้งนี้เป็นเนินผาเขาดินเตี้ยๆ ตั้งอยู่ใกล้เมืองน้ำเตียนกับแม่น้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับเมืองน่านที่ย้ายมาตั้งในชั้นหลังๆ ห่างออกไปราว ๓ กิโลเมตร แล้วนำลี้พลอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้ ต่อมาพระยาการเมืองมีหทัยศรัทธาปรารถนาใคร่ที่จะได้ปฏิบัติรักษาพระมหาธาตุแช่แห้งอยู่เป็นนิตย์ จึงได้อพยพผู้คนพลเมืองลงมาตั้งเมืองอยู่ ณ ที่แช่แห้ง อันมีพระมหาธาตุตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒
แท้จริงพระยาการเมืองคงจะมิได้มาตั้งเมืองใหม่ด้วยความศรัทธาในพระมหาธาตุแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่จะเป็นที่พึงพอใจในสถานที่บริเวณนี้ ซึ่งมีที่ราบกว้างใหญ่อยู่ทั้งสองฟากของแม่น้ำน่าน มีภูมิฐานอุดมดีกว่าวรนครอีกประการหนึ่งด้วย
แต่การตั้งเมืองอยู่ที่แช่แห้งนี้ดำรงได้เพียง ๑๐ ปี พระยาผากองซึ่งเป็นเจ้าเมืองอันดับ ต่อมา ก็อพยพข้ามฟากแม่น้ำน่านมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านห้วยไค้ คือเมืองที่ตั้งจังหวัดน่านปัจจุบันอันอยู่ใกล้ๆ กับลำแม่น้ำน่าน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยเหตุว่าเมืองแช่แห้งกันดารน้ำ เพราะอยู่บนเนินสูงและแม่น้ำลิงเป็นที่ตั้งเมืองนั้น เป็นแต่เพียงลำธารเล็กๆ น้ำย่อมเหือดแห้งไปในฤดูแล้ง เป็นความ อัตคัตกันดารอยู่เช่นนี้เสมอมา ซึ่งเคยปรากฏเช่นนี้มาตั้งแต่ตั้งเมืองใหม่ๆ แล้ว
ย้อนกลับมากล่าวถึงพระยาโสปัตตกันทิเจ้าเมืองสุโขทัยในสมัยดังกล่าว เข้าใจว่าเป็นพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัยเพราะตกอยู่ในรัชสมัยเดียวกัน หากแต่พระนามที่กล่าวในพงศาวดารเมืองน่านเรียกไปเสียอีกอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนนามบุคคลและสถานที่ให้เป็นมคธพากย์เช่นนี้ ปรากฏอยู่ในตำนานของหัวเมืองฝ่ายเหนือมากมาย รู้สึกว่าเป็นที่นิยมกันทั่วไปในยุคโบราณ ความเข้าใจที่ว่าพระยาโสปัตตกันทิเป็นพระมหาธรรมราชาอันเกี่ยวกับด้วยเรื่องพระบรมธาตุนี้
มีศักราชปรากฏสมกับเค้าเงื่อนตามที่มีในศิลาจารึกนครชุมว่า พระมหาธรรมราชาได้พระบรมธาตุมาจากลังกาทวีป จึง ณ วัน ๖ ๓ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๑๙๐๐ พระองค์ได้บรรจุพระบรมธาตุได้ที่เมืองนครชุม (เมืองเก่าอยู่หลังจังหวัดกำแพงเพชรเดี๋ยวนี้) และสร้างพระมหาธาตุขึ้นไว้
ตามพงศาวดารเมืองน่านที่ว่าสร้างวัดหลวงอภัย ก็เห็นจะเป็นการก่อสร้างก่อพระมหาธาตุนี่เอง ก็แลลักษณะการไปช่วยเหลือการนี้ของพระยาการเมือง เมื่อพิเคราะห์ดูตามข้อความและเหตุผลในพงศาวดารที่กล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่าเป็นลักษณะการไปตามคำเรียกร้องของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเป็นการไปโดยเชื้อเชิญฐานเป็นเพื่อนบ้านเมืองเคียงกัน อนึ่งกรุงสุโขทัยในระยะนี้ถึงจะอ่อนอำนาจลง แต่ความเป็นไปภายในบ้านเมืองยังคงมั่นคงอยู่ แม้ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งเรืองเดชา- นุภาพปรากฏขึ้น ยังสงบไม่รุกราน ครั้งนั้นกรุงสุโขทัยยังคงจะมีเมืองขึ้นเหลืออยู่บ้างแม้จะมีเหลืออยู่น้อย แต่จำนวนที่เหลือนั้นต้องมีเมืองน่านอยู่ด้วยเมืองหนึ่ง เป็นธรรมดาว่าเจ้าเมืองประเทศราชจะต้องเข้าไปช่วยในการมหกรรมที่กล่าวมาแล้ว ดังปรากฏตามที่เจ้าเมืองน่านได้ไปนั้น เพราะกิจการในฝ่ายพระศาสนาพระมหาธรรมราชาทรงถือเป็นรัฐประศาสนโยบายสำคัญในการปกครองพระราชอาณาจักรส่วนหนึ่งควรเทียบได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักรและพระราชอำนาจด้วยการปกครองปราบปรามราชศัตรูฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือปกครองพระราชอาณาจักรด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น ในรัชสมัยนี้จังเป็นอันยุติได้ว่า เมืองน่านยังคงเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัยอยู่ต่อไป
ต่อมา ปรากฏตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ว่า “ศักราช ๗๓๘ ปีมะโรงอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองซากังราวได้พระยา กำแหงแลท้าวผากองคิดกันว่า จะยอทัพหลวงทำมิได้ท้าวผากองเลิกทัพหนี เสด็จยกทัพตามตีทัพท้าวผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วทัพหลวงเสด็จกลับคืน”
เหตุการณ์ในตอนนี้ เป็นรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระมหาธรรมราชาไสลือไท) ซึ่งได้มีสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเกิดขึ้นประปรายแล้ว ข้อความที่ปรากฏจากพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้เสด็จไปตีเมืองกำแพงเพชร (ซากังราว) เป็นครั้งที่ ๒ พระยากำแหงเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้กองทัพท้าวผากองมาช่วยรักษาเมืองกำแพงเพชรอีกทัพหนึ่ง ทัพท้าวผากองและเจ้าเมืองกำแพงเพชรยกเข้าปะทะกับทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยา สู้ไม่ได้ท้าวผากองจึงเลิกทัพหนี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จยกทัพตามตีทัพท้าวผากองแตกพ่ายไป แต่ยังตีเมืองกำแพงเพชรไม่ได้
ในระหว่างเหตุการณ์นี้ ทางฝ่ายเมืองน่าน พระยาผากองเป็นเจ้าเมือง ย้ายเมืองจาก แช่แห้งข้ามแม่น้ำน่านมาตั้งเมืองใหญ่ที่บ้านห้วยไค้ รัชสมัยของพระยาผากองเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๑ ถึง พ.ศ. ๑๙๓๑ เมื่อได้ตรวจพงศาวดารทางฝ่ายเมืองเหนือสอบดูแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องมาทางน่านยิ่งกว่าเมืองอื่นๆ ทางเหนือด้วยกัน เข้าใจว่าท้าวผากองผู้ที่ไปช่วยเจ้าเมืองกำแพงเพชรรักษาเมืองนั้นเป็นคนเดียวกับพระยาผากองเจ้าเมืองน่านนั่นเอง พระศักราชและเหตุผลยุติลงตรงกันคือใน พ.ศ. ๑๙๑๙ อยู่ในระหว่างรัชสมัยของพระยาผากองเจ้าเมืองน่านและเวลานั้นเมืองน่านยังเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัยอยู่ อันเป็นธรรมเนียมที่เมืองขึ้นจะต้องไปช่วยราชการทัพศึกของเมืองที่เป็นนาย ทางฝ่ายเมืองน่านเพิ่งรู้สึกขัดแย้งต่อกรุงสุโขทัยก็ต่อเมื่อพระยาผากองได้ไปเห็นความอ่อนแอในการทัพศึกของฝ่ายกรุงสุโขทัยที่เมืองกำแพงเพชรเป็นเบื้องต้น ความตั้งใจที่จะตั้งตัวเป็นอิสระก็คงจะเริ่มมีขึ้นเมื่อคราวนั้น และเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปราบอาณาจักรสุโขทัยให้อ่อนน้อมเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ สิ้นเชิงแล้วจึงเป็นช่องทางอันงามที่จะเปิดให้เมืองน่านเป็นอิสระ การขาดตอนจากอาณาจักรสุโขทัยและความเป็นเอกราชของเมืองน่านจึงน่าจะเข้าใจว่าได้กลับมีขึ้นนับแต่การละนั้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรสุโขทัยรวมกันเป็นอาณาจักรสยามแล้วต่อไปนี้ในพื้นสยามสุวรรณภูมิก็ยังเหลือแต่อาณาจักรลานนา ซึ่งเป็นดินแดนของไทยเหนือตั้งเป็นอิสระอยู่แต่ฝ่ายเดียว ไทยสยามกับไทยลานนาได้เริ่มทำสงครามกันใน พ.ศ. ๑๙๒๓ อันเป็นแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เป็นต้นไป
กาละนี้ แคว้นน่านได้เป็นอิสระอยู่ในภาคลานนาส่วนหนึ่ง อันเริ่มแต่ราว พ.ศ. ๑๙๒๑ เป็นลำดับมา ระหว่างกาลนี้ยังไม่มีใครเอาใจใส่กับแคว้นน่านนัก เพราะสงครามชิงอำนาจและเขตแดนอาณาจักรใหญ่ๆ ยังกำลังติดพันกันอยู่ แคว้นน่านจึงได้ปกครองตนเองโดยความเรียบร้อยมาได้หลายปี
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรสยามนี้ แคว้นน่านมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเพียงเล็กน้อย แต่เกี่ยวข้องกับพม่าและลานนาด้วยกันอยู่จนตลอดสมัย ประวัติการของแคว้นน่านในยุคกรุงศรีอยุธยานี้ อาจแบ่งตามเหตุการณ์ได้เป็น ๒ ตอนคือ
๑. เมืองน่านขึ้นเชียงใหม่
๒. เมืองน่านขึ้นพม่า
เมืองน่านขึ้นเชียงใหม่
แคว้นน่านได้ดำรงอิสระมา ๗๒ ปี เจ้าเมืองได้สืบสมบัติผลัดเปลี่ยนกันต่อๆ มาพอถึงเจ้าอินต๊ะแก่นท้าว ใน พ.ศ. ๑๙๙๓ ก็เสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราชเจ้านครเชียงใหม่
มูลเหตุที่จะเกิดสงครามกับเชียงใหม่ขึ้นคราวนี้ ได้ความตามพงศาวดารโยนกว่าท้าว- ลกราชบุตรที่ ๖ แห่งเจ้าพระยาสามฝั่งแกนเจ้านครเชียงใหม่ ได้ชิงสมบัติจากพระราชบิดาปราบดาภิเษกเป็นพระมหาศรีสุธรรมธิโลกราชขึ้นในนครเชียงใหม่แล้ว ครั้นล่วงมาถึงจุลศักราชที่ ๘๐๕ (พ.ศ. ๑๙๘๖) พระยาแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านแต่งกลอุบายให้ไปทูลพระเจ้าเชียงใหม่ว่าศึกแกว (ญวน) จักมาตกเมืองน่าน ขอกองทัพเมืองนครเชียงใหม่มาช่วยรักษาเมือง พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่ระแวงพระทัยสำคัญว่าจริง จึงแต่งทัพให้ยกมารักษาเมืองน่าน ก็มิได้มีศึกแกวยกมาพระยาแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านกระทำกลอุบายหลอกลวงต่างๆ
พระเจ้าติโลกราชได้ทรงทราบว่าเจ้าเมืองน่านหลอกลวง ดังนั้นก็ทรงพระพิโรธจึงเสด็จยกกองทัพหลวงมาตีเมืองน่าน ตั้งล้อมเมืองขับเคี่ยวกันอยู่เป็นแรมปีจึงได้เมือง พระยาแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านหนีลงไปพึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าติโลกราชจึงตั้งให้ท้าวผาแสนผู้น้องพระยาแก่นท้าวเป็นเจ้าเมืองน่านต่อไป
ฝ่ายข้างพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า ในปีจุลศักราช ๘๑๒ (พ.ศ. ๑๙๙๓) เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านแต่งทูตให้นำเอาเกลือบ่อมางไปเป็นบรรณาการถวายพระเจ้าติโลกราชยังนครเชียงใหม่ ครั้นต่อมา พระเจ้าติโลกราชมีพระทัยปรารถนาใคร่ที่ได้เมืองน่านไปส่วยค้ำเมืองเชียงใหม่ จึงยกกองทัพมาติดเมืองและเสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราชในปีนั้น และเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวหนีลงไปพึ่งพระยาชะเลียง (พระยายุทธิศฐิร)
ข้อแตกต่างของสองตำนานนี้ที่สำคัญก็คือ สาเหตุในการทำสงคราม ตำนานทางเชียงใหม่ว่าฝ่ายน่านหลอกลวง แต่ฝ่ายเมืองน่านก็ว่าเมืองเชียงใหม่ต้องการเมืองน่านไปเป็นเมืองส่วยเกลือ ความจริงคงจะเป็นว่าเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวได้ส่งบรรณาการไปเมืองเชียงใหม่จริง แต่เพียงเพื่อขอความพิทักษ์รักษาในยามที่จะมีศึกมาติดเมืองน่าน ซึ่งมีข่าววี่แววอยู่บ้าง ข้อนี้เป็นความจริงเพราะหลังจากเมืองน่านไปขึ้นแก่เชียงใหม่แล้วไม่ช้า ก็มีศึกหลวงพระบางและแกวตกมาเมืองน่านในระยะใกล้ๆ กัน คงจะไม่ใช่หลอกลวงตามตำนานเชียงใหม่กล่าวเป็นแน่ เพราะอยู่ดีๆ จะไปหาเหตุมาสู่บ้านเมืองก็ผิดวิสัย นอกจากนี้ข้อความอื่นๆ ยกเว้นแต่ศักราช ซึ่งควรเชื่อตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองน่าน เพราะกล่าวไว้ชัดเจนว่า
เมืองเชียงใหม่ปกครองเมืองน่านในยุคนี้ มีข้อที่น่าสังเกตคือ แต่เดิมมาเมืองน่านจัดการปกครองโดยพลการตนเองทุกอย่าง ที่เป็นข้อสำคัญก็คือการสืบสมบัติเป็นเจ้าเมือง ก็ย่อมเป็นไปโดยสืบสันติวงศ์หรือโดยความพร้อมใจของพลเมืองอันเชิญขึ้น เป็นการภายในบ้านเมืองทั้งสิ้น แม้จะตกไปเป็นเมืองขึ้นของเมืองอื่น เช่น เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยก็เพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการเท่านั้นประเทศที่ ปกครองมิได้ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในบ้านเมืองของเมืองน่าน แต่เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้ปกครองเมืองน่านแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรกในเรื่องการตั้งเจ้าเมืองซึ่งสุดแล้วแต่พระทัยของพระเจ้าเชียงใหม่จะเห็นสมควรแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นประมาณ ฉะนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองน่านในยุคนี้ จึงไม่จำกัดว่าจะต้องลงทางสายสกุลเจ้าเมืองน่าน หรือโดยความเห็นของชาวเมืองหรือไม่ ความเป็นประเทศราชของเมืองน่านได้ถูกจำกัดลงอีกชั้นหนึ่ง ในทำนองที่จะคุมเมืองน่านให้คงเป็นดินแดนของเมืองเชียงใหม่โดยมั่นคง ส่วนการป้องกันบ้านเมืองนั้นได้รับความคุ้มครองทันท่วงทีและเหตุการณ์ดีขึ้น การพระศาสนาได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญ พระมหาธาตุแช่แห้งอันเป็นปูชนียสถานประจำบ้านเมือง ซึ่งพระยาการเมืองสร้างขึ้นภายหลังเป็นที่รกร้างเลื่อนลอยไป ก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีขึ้นในสมัยนั้น
เมืองน่านได้อยู่ในความปกครองของเมืองเชียงใหม่มาได้ ๑๐๘ ปี ใน พ.ศ. ๒๑๐๑ พม่าปราบลานนาไทยราบคาบ เมืองน่านก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าสืบมาแต่กาลนั้น
เมืองน่านขึ้นพม่า
ก่อนที่จะบรรยายถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ควรนำความเป็นไปทางฝ่ายพม่ามากล่าวไว้โดยสังเขปก่อนคือ ฝ่ายข้างเมืองหงษาวดี เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (สุวรรณเอกฉัตร) ทิวงคตแล้ว หัวเมืองในราชอาณาจักรหงษาวดีก็พากันตั้งแข็งเมืองอยู่ทั่วไป ที่เมืองหงษาวดีเองก็มีมอญตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง (พระเชษฐาธิราช) แล้ว ซึ่งเป็นพี่เขยของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้เหลือกำลังที่จะปราบปรามได้ก็พาสมัครพรรคพวกหนีไปจากเมืองหงษาวดี ภายหลังเมื่อได้ซ่องสุมผู้คนได้เป็นกำลังพอแล้ว ก็ยกไปตีเมืองที่ตั้งตัวขึ้นใหม่ๆ และทำการปราบปรามพวกนี้อยู่ ๓ ปี จึงสงบเรียบร้อย แล้วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าหงษาวดี มีพระนามว่า พระเจ้าศิริสุธรรมราช ใน พ.ศ. ๒๐๙๖ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า พระเจ้าบุเรงนองหรือพระเจ้าชนะสิบทิศ
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ยกไปตีเมืองอังวะ ได้เมืองอังวะแล้วก็ยกไปตีเมืองไทยใหญ่และเชียงใหม่ต่อไปเป็นลำดับ
เหตุการณ์ในตอนนี้ มีพฤติการณ์เนื่องมาจากพม่าไปตีเมืองนาย คือเมืองไทยใหญ่ก่อน กล่าวคือ ครั้งนั้นพระเจ้าเมกุฏิไทยใหญ่เมืองนายมาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองไปตีเมืองเจ้านาย เจ้าเมืองนายเป็นญาติกับพระเจ้านครเชียงใหม่ จึงขอกองทัพเมืองเชียงใหม่ให้ไปช่วย พระเจ้าเชียงใหม่ได้แต่งกองทัพส่งให้ไป เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้เมืองนายแล้ว จึงถือเอาเหตุที่เมืองเชียงใหม่ พม่าเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ ๓ วัน ก็เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. ๒๑๐๑ เมืองน่านและเมืองอื่นๆ ในลานนาด้วยกันที่ขึ้นเชียงใหม่ ก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าด้วยโดยปริยาย พม่าคงตั้งพระเจ้าเมกุฏิเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่ตามเดิม ฝ่ายทางเมืองน่าน ในขณะที่เมืองเชียงใหม่เสียแก่พม่าแล้วนั้น เจ้าเมืองน่านหนีไปจากเมือง พม่าจึงตั้งพระยาหน่อคำไชยเสถียรสงคราม (เข้าใจว่าเป็นชาวเมืองเชียงใหม่) มาเป็นเจ้าเมืองแทน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ พระเจ้าเมกุฏิเจ้านครเชียงใหม่ร่วมคิดกับพระยากมลเจ้าเมืองเชียงแสน แข็งเมืองต่อกรุงหงษาวดี เรื่องนี้ได้ความตามพงศาวดารพม่าว่า ยังมีพระยาน่านและเจ้าเมืองอื่นๆ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอีกด้วย พระเจ้าหงษาวดีจึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่เห็นเหลือกำลังที่จะสู้รบ จึงออกไปอ่อนน้อม ส่วนพระยาน่านกับพวกอพยพหนีไปพึ่งอยู่กับพระไชยเชษฐา ณ กรุงศรีสัตนาคนหุต (พงศาวดารเมืองน่านไม่มีปรากฏ)
นับแต่กาลนี้ไป เมืองน่านและเมืองอื่นๆ ในลานนาไทยก็ถูกควบคุมให้อยู่ในความ
ปกครองของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ โดยใกล้ชิดกวดขัน มีสัมพันธภาพไม่ขาดตอนจากกันอยู่กระทั่งสยามได้ขับไล่พม่าไปจากลานนาไทยสิ้นเชิง และรวมลานนาไทยเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคหลัง
ในระหว่างกาลที่ลานนาไทยได้ตกอยู่ในความปกครองของพม่านั้น ได้ขาดตอนจากพม่าไปตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาอยู่ ๒ คราว ในวาระแรกเมื่อในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นวีรกษัตริย์ประเสริฐของชาติไทย อันทรงสุรภาพปราบปรามไปทั่วทุกทิศ และในวาระที่ ๒ เมื่อในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็เป็นในชั่วเวลาอันเล็กน้อย พอสิ้นรัชสมัยพระมหากษัตริย์ที่ทรงเดชานุภาพแล้ว ลานนาไทยก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าตามเดิม
ครั้งนั้นพม่าตั้งศูนย์กลางการปกครองลานนาไทยที่เมืองเชียงใหม่ มีกองทัพทหารและข้าหลวงมาประจำสำหรับคอยกำกับ เจ้าเมืองพม่าที่ประจำอยู่ตามเมืองต่างๆ นั้น มีทั้งพม่าและชาวพื้นเมืองที่เชียงใหม่มีเจ้าพม่ามาปกครองอยู่เป็นเวลานาน ที่เมืองน่านเองก็มีพม่ามาเป็นเจ้าเมืองหลายคน ในชั้นหลังพม่าได้ส่งกำลังทหารมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนคุมเมืองตอนเหนือไว้อีกชั้นหนึ่ง เหตุที่พม่าควบคุมลานนาไทยไม่ทิ้งเช่นนี้ ลานนาไทยจึงตกเป็นของพม่าอยู่จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
เนื่องแต่พม่าปกครองลานนาไทยด้วยความเหี้ยมโหดทารุณกรรม กดขี่ ข่มเหง แก่ราษฎรพลเมืองด้วยประการต่างๆ ลักษณะการเช่นนี้ได้เป็นไปทุกระยะกาลสมัย ต่างได้รับความเดือดร้อนอยู่ทั่วกันเป็นสาหัส จนปรากฏว่าประชาชนชาวลานนาไทยมีแต่ความตระหนกตกใจไหวหวั่นด้วยภยันตรายต่างๆ มิได้วางใจเป็นปกติได้ เหตุด้วยพม่ารามัญมาประหัตประหารปราบปรามย่ำยีด้วยอำนาจดังกล่าวมาแล้วจนน้ำใจคนวิลานปลาส ได้เห็นหรือได้ยินอะไรที่แปลกประหลาดก็หมายเอาว่าเป็นอุบาทว์บอกเหตุลางร้ายทุกอย่างไป
นับแต่ยุคโบราณประวัติลงมา ชาวลานนาไทยก็เห็นจะได้พบรสชาติของการปกครองที่ป่าเถื่อนเช่นนี้เป็นครั้งแรก หัวใจของชาวลานนาไทยต่างร่ำร้องคร่ำครวญ ในเมื่อไม่สามารถจะแก้มือแก้เผ็ดตอบแทนแก่พม่าได้ และร้อนเร่าปานประหนึ่งจะลุกเป็นไฟในเมื่อความหยาบช้าทารุณนั้นได้แล่นขึ้นถึงขีดที่จะทานทน จนมีคำกล่าวกันอันเป็นที่น่าเห็นใจนักหนาในระหว่างชาวเมืองกับเจ้านายว่า “ครั้น เจ้าจะเป็นม่าน ตูข้าขอหนี ครั้น เจ้าจะเป็นไทย ตูข้าขอรบม่าน” เป็นอาทิ
ฉะนั้น เมื่อความคับแค้นใจมีมากเข้าอัดไว้มากเข้าจนล้นอกล้นใจของทุกๆ คน ทนอยู่ไม่ได้แล้ว การแข็งเมืองจะจราจลก็บังเกิดขึ้นเป็นไปตามกฎธรรมดา
จึงในเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๓ เจ้าเจตบุตรพรมินทรบุตรพระยาหน่อคำไชยเสถียรสงครามที่พม่าตั้งเป็นเจ้าเมืองได้รับกำลังสนับสนุนจากพระหน่อแก้ว เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีพม่าเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่สำเร็จ เจ้าเจตบุตรต้องหนีไปอยู่เมืองล้านช้าง๑ ภายหลังถูกพม่าจับไปฆ่าที่เมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๖
ในปี พ.ศ. ๒๑๖๗ เจ้าอุ่นเมือง เจ้าเมืองน่านแข็งเมืองต่อพม่าแล้วหนีไปเมืองล้านช้างภายหลังคุมผู้คนกลับมาตั้งที่เมืองน่านอีก เจ้าฟ้าสุทโธเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พม่า) ยกกองทัพมาตีเมืองน่านได้ เจ้าอุ่นเมืองหนีไปเมืองลานช้าง ครั้งนั้นชาวบ้านชาวเมืองแตกตื่นพากันซอกซอนหรีไปอยู่ตามป่าตามเขาเป็นอันมาก กองทัพพม่าได้กวาดเอาราษฎรที่หนีไม่ทันและทรัพย์สินสมบัติกลับไป
ใน พ.ศ. ๒๒๔๖ เจ้าพระเมืองราชา เจ้าเมืองน่านแข็งเมืองต่อพม่า พม่ายกกองทัพมาเป็นอันมาก เจ้าพระเมืองราชาเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็อพยพครอบครัวหนีไปเมืองลานช้าง ราษฎรคงแตกตื่นหนีไปเที่ยวซ่อนอยู่ตามดงตามป่าเช่นเคย ครั้งนั้นพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าป้อมปราการ บ้านเรือน วัดวาอาราม พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ เจดีย์สถานต่างๆ พม่าก็ทำลายเผาเสียสิ้น จนจะเหลือให้ไว้แต่พื้นแผ่นดินเปล่าๆ เท่านั้น
ฝ่ายทางเมืองเชียงใหม่นั้นเล่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๑ เจ้าทองคำ ชาวลานช้างได้ครองเมืองเชียงใหม่ด้วยความรู้สึกอันเดียวกันก็แข็งเมืองขึ้น กองทัพพม่ามารบราวีบ้านเมืองเดือดร้อนจลาจลอยู่เสมอมา จนเสียเมืองเชียงใหม่แก่ข้าศึก ต่อจากนั้นหัวเมืองทั้งหลายต่างก็ตั้งซ่องควบคุมกันเป็นหมู่เป็นเหล่าหลายพวกหลายหมู่ ต่างหมู่ต่างก็รบราฆ่าฟันกันและกัน ไพร่บ้านพลเมืองกระจัดกระจายระส่ำระสายจนหาความสุขมิได้
สมัยกรุงธนบุรี
สภาพเช่นนี้ได้ยืนยงคงทนต่อมาช้านาน จนเมื่อทางอาณาจักรสยาม พระยาตาก (สิน) ได้ตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ได้ทรงขับไล่พม่าที่เข้ามาปกครองหัวเมืองไทยออกไปจนสิ้นเชิงและปราบปรามเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าราบคาบในไม่ช้า ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลาที่ไทยทำสงครามกับพม่าเพื่อทำลายอิสรภาพของไทยเป็นหลายครั้ง และตีพม่าปราชัยกลับไปทุกคราว กาละนี้แสงสว่างแห่งสันติสุขร่มเย็นได้จับภูมิภาคแห่งสยามทั่วแล้ว และยังจะทอแสงทอดมาสู่ลานนาไทยต่อไป
ในที่สุด พ.ศ. ๒๓๑๗ ก็ได้มาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จกรีฑาทัพมาตีได้เมืองเชียงใหม่ก่อนกาลที่ทัพหลวงใกล้จะมาถึง ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พื้นแผ่นดินในลานนาไทยก็ไหวหวั่นสะเทือนเป็นเหตุประหนึ่งว่า ธรณีลานนาจะทรงพม่าไว้แต่เพียงกาลจำกัดเท่านี้ และแล้วต่อมากองทัพไทยก็ขับไล่พม่าหนีออกไปจากลานนา
เป็นอันว่า อาณาจักรลานนาได้กลมกลืนเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกับอาณาจักรสยามดำรงไว้ซึ่งชาติ “ไทย” ที่ต่างแยกย้ายกันอยู่ให้เป็นชาติไทยบริบูรณ์เหมือนเช่นเดิม สืบมาแต่กาละนั้น
ฝ่ายข้างเมืองน่าน ในระหว่างที่ทัพกรุงยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่นั้น เจ้ามโนเป็นเจ้าเมืองน่าน ได้ให้เจ้าน้อยวิธูรราชวงศ์เมืองน่าน ไปในการทัพของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพไทยเข้าเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ได้ตัวเจ้าน้อยวิธูร จึงเกลี้ยกล่อมให้เข้าสวามิภักดิ์ แล้วตั้งเป็นเจ้าเมืองน่านขึ้นต่อกรุงธนบุรีต่อไป
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในต้นรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมืองน่านยังมีเจ้า
เมืองเป็นสองฝ่ายอยู่ คือ พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองฝ่ายกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ท่าปลา ฝ่ายหนึ่งและเจ้าอัตถวรปัญโญ (ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า) ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าเมืองฝ่าย บุรรัตนอังวะ ตั้งอยู่ที่เมืองเทิงอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เหตุด้วยครั้งที่เมืองน่านขึ้นกรุงเทพฯ เจ้าอัตถวรปัญโญตกอยู่ในเมืองเชียงแสนกับพม่า ภายหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ เจ้าอัตถวรปัญโญลงไปหาพระยามงคลวรยศที่เมืองท่าปลา ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงเทพมหานคร พระยามงคลวรยศมีความยินดี จึงมอบบ้านเมืองให้เจ้าอัตถวรปัญโญครองครอง ครั้งล่วงมาอีกปีหนึ่งเจ้าอัตถวรปัญโญก็ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอัตถวรปัญโญดำรงตำแหน่งเจ้า-เมืองน่านต่อไปตามเดิม
ในสมัยกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา เมืองน่านมีเจ้าผู้ครองนคร ๙ คน มีรายนามดังต่อไปนี้
๑. พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
๒. พระยาอัตถวรปัญโญ (หลาน ๑) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ ทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗
๓. พระยาสุมนเทวราช (น้า ๒) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ -พ.ศ. ๒๓๖๘
๔. พระมหามหายศ (บุตร ๒) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ - พ.ศ. ๒๓๗๘
๕. พระยาอชิตวงศ์ (บุตร ๓) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ครองราชย์ ๗ เดือนก็ถึงแก่พิราลัย
๖. พระยามหาวงศ์ (เป็นญาติทางฝ่ายมารดา) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ
พ.ศ. ๒๓๘๑ - พ.ศ. ๒๓๙๔
๗. พระยาอนันตยศ (บุตร ๒) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๔ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๕ - พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงสถาปนาเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙
๘. เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช (บุตร ๗) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ - พ.ศ. ๒๔๖๑
๙. เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (บุตร ๗) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
เจ้าผู้ปกครองน่านทุกท่าน ล้วนแต่ได้ปฏิบัติราชการในกรุงเทพมหานครมาแล้วด้วยดีมีความชอบปรากฏเหมาะสมทุกระยะกาลสมัย เป็นกำลังในการทัพศึกเสมอด้วยวีรชนผู้กล้าหาญทั้งหลาย ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตั้งมั่นอยู่ในความกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์อยู่เป็นลำดับมาตลอดกาล
การตั้งเมืองน่านในปัจจุบัน
ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า พระยาผากองได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านห้วยไค้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ เมืองน่านซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยไค้ ในสมัยต่อมามีตัวเมืองเป็น ๒ แห่ง คือ เมืองเก่า เรียกว่า “เวียงใต้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่ง กับเมืองใหม่เรียกว่า “เวียงเหนือ” ตั้งอยู่บนดอนข้างหลังเวียงเก่าถัดขึ้นไปอีกแห่งหนึ่ง เหตุที่มีตัวเมืองสองแห่งนั้น กล่าวคือ เริ่มแต่พระยาผากองได้มาตั้งเมืองที่ริมแม่น้ำน่านนี้แล้ว เจ้าเมืองน่านได้ผลัดเปลี่ยนครองเมืองต่อๆ กันมาหลายชั่วหลายวงศ์ อยู่มาถึง พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดน้ำท่วมพัดกำแพงเมืองและวัดวาอารามบ้านเรือนในเมืองเก่าหักพังลงเป็นอันมาก พระยาสุมนเทวราช เจ้าเมืองน่านจึงไปสร้างเมืองขึ้นบนดอนมิให้น้ำท่วมถึง ย้ายไปอยู่เมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒
ภูมิฐานเมืองเก่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ด้านตะวันออกตั้งอยู่ริมท้องหลง (ลำรางน้ำ) กำแพงเมืองห่างจากท้องหลง ๔ วา ท้องหลงนี้เป็นลำน้ำน่านเก่า มีลำรางไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน ปัจจุบันทางใต้ที่บ้านดอนและทางเหนือที่บ้านดอนแก้ว เมื่อย้ายเมืองจากเวียงเหนือกลับคืนมาตั้งที่เวียงใต้ภายหลังอีกนั้น น่านจะเป็นด้วยน้ำน่านได้กลับไปเดินในทางสายใหม่เดี๋ยวนี้แล้ว ซึ่งอาจเป็นโดยขุดทางน้ำขึ้นใหม่ก็ได้ เพราะระยะทางที่น้ำสายใหม่และสายเก่ามาบรรจบกันนั้น มีระยะเพียง ๑ กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น
เมืองใหม่นั้นตั้งอยู่ที่บ้านพระเนตร ห่างจากเมืองเก่าไป ๓ กิโลเมตร ตัวเมืองทอดไปตามลำแม่น้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำประมาณ ๘๐๐ เมตร มีเหตุมณฑลแห่งคูเมือง คือ ด้านเหนือจดบ้านน้ำล้อม ด้านตะวันออกยาวไปตามถนนสุมนเทวราชเดี๋ยวนี้ ด้านใต้จดทุ่งนาริน ด้านตะวันตกยาวไปตามแนวของขอบสนามบินด้านนอก เวลานี้มีแต่เพียงซากเมืองเท่านั้น
เจ้าเมืองน่านตั้งอยู่ที่เวียงเหนือสืบกันมาได้ ๓๖ ปี จนถึงในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระยาอนันตยศ (ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่าน คือบิดาของพระ-เจ้าสุริยพงศ์ผรติเดช และเจ้ามหาพรมสุรธาดา) จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าและย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นที่ประทับของเจ้าเมืองน่านสืบกันมาจนบัดนี้
ตัวเมืองน่าน ใน พ.ศ. ๒๔๐๐
กำแพงเมือง
ตัวเมืองน่านหันหน้าเมืองออกสู่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นเบื้องตะวันออก มีกำแพง ๔ ด้าน ด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ วา มีเชิงเทินกว้าง ๓ ศอก ประกอบด้วยในเสมาตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง ๔ แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ ๔ กระบอก มีประตู ๗ ประตู ที่ประตูก่อเป็นซุ้ม ประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง กำแพงด้านตะวันออกมีประตูชัย, ประตูน้ำเข้ม ด้านตะวันตกมีประตูท่อน้ำ, ประตูหนองห่าน ด้านใต้มีประตูเชียงใหม่, ประตู่ท่าลี่ มีคูล้อม ๓ ด้าน เว้นด้านตะวันออกซึ่งเป็นลำแม่น้ำน่านเดิมกั้นอยู่
การก่อสร้างกำแพงเมืองเมื่อครั้งแรกมาตั้งเมืองนี้ มีเรื่องเล่ากันสืบมาเป็นทำนองเทพนิยายว่า ครั้งนั้นตกอยู่ในวัสสันตฤดู มีโคอศุภราชตัวหนึ่งวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมาจากทางทิศตะวันออก ครั้นมาถึงที่บ้านห้วยไค้ก็ถ่ายมูลและเหยียบพื้นดินทิ้งรอยไว้ เริ่มแต่ประตูชัยบ่ายหน้าไปทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตกเป็นวงกลมสี่เหลี่ยมมาบรรจบรอยเดิมที่ประตูชัย แล้วก็นิราศอันตรธานไป ลำดับกาลนั้น พระยาผากองดำริที่จะสร้างนครขึ้นใหม่ ครั้นได้ประสบรอยโคอันหากกระทำไว้เป็นอัศจรรย์ พิเคราะห์ดูก็ทราบแล้วว่าสถานที่บริเวณรอบโคนั้นเป็นชัยภูมิดี สมควรที่จะตั้งนครได้ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านห้วยไค้นั้น และก่อกำแพงฝังรากลงตรงแนวทางที่โคเดินถ่ายมูลไว้มิได้ทิ้งรอยแนวกำแพงจึง มิสู้จะตรงนัก เพราะเป็นกำแพงโดยโคจร เรื่องนี้จะมีความจริงหรือไม่เพียงไรก็ตามเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองก็ยังนิยมเชื่อถือว่าเป็นความจริง และนำเอาคติที่เชื่อว่าโคเป็น ผู้บันดาลเมืองมาทำรูปโคติดไว้ตามจั่วบ้านเรือนเพื่อเป็นศิริมงคลอยู่ทั่วไป จึงนำมากล่าวไว้ด้วย
ประตูเมืองเป็นด่านสำคัญชั้นในของเมือง ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ใคร่จะปกติราบคาบจึงต้องมีการรักษากันแข็งแรง ประตูเมืองทั้ง ๗ นี้ มีนายประตูเป็นผู้รักษา มีหน้าที่ในการปิดเปิดประตูตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. และเปิดในเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ถ้าเป็นเวลาที่ประตูปิดตามกำหนดเวลาแล้ว จะเปิดให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกไม่ได้ และทั้งมีอาชญาของเจ้าผู้ครองบังคับเอาโทษแก่ผู้ที่ปีนข้ามกำแพงไว้ด้วย นายประตูเป็นผู้ที่เจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ได้รับศักดิ์เป็นแสนบ้าง ท้าวบ้าง มีบ้านเรือนประจำอยู่ใกล้ๆ ประตูนั่นเอง ให้มีผลประโยชน์คือในฤดูเดือนยี่หรือเดือนสาม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เจ้านายท้าวพญาและราษฎรภายในกำแพงเมืองทั้งปวง เมื่อขนข้าวจากนาเข้ามาในเมืองทางประตูใด ก็ให้นายประตูนั้นมีสิทธิเก็บกักข้าวจากผู้นำเข้ามาได้หาบละ ๑ แคลง (ประมาณ ๑ ทะนาน) นอกจากนี้ นายประตูยังได้สิ่งของโดยมากเป็นอาหารจากผู้ที่ผ่านเข้าออกประตูเป็นประจำวันโดยนำตะกร้าหรือกระบุงไปแขวนไว้ที่หน้าประตูอันสุดแล้วแต่ใครจะให้อีกด้วย
อาชญาของเมืองที่ต้องมีนายประตูดังกล่าวแล้วนี้ ได้เลิกไปเมื่อสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริต-เดชเป็นเจ้าเมือง
คุ้ม - หอคำ
ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง” อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ
บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด (ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำเป็นเครื่องประดับเกียรติพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศ
หอคำเมืองน่าน เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารเมืองน่านว่าเมื่อพระยาอนันตยศย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระ-จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันต- วรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่านมีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ
หอคำที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว ๗ หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ
เมื่อเจ้าอนันวรฤทธิเดชถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว แต่ให้กลับเรียกว่า “คุ้มหลวง” เป็นไปตามเดิม ครั้นล่วงเวลามาอีก ๑๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช จึงรื้อหอคำเก่าไปถวายวัดและสร้างหอคำเป็นตึกขึ้นแทน ยังถาวรอยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน
ภายในบริเวณคุ้มแก้ว มีโรงม้า โรงแต๊ก โรงแต๊กนั้นถือเป็นที่เก็บเครื่องอาวุธ หอดาบ ง้าวปืนและกระสุนดินดำ อันมีไว้สำหรับบ้านเมืองในอันที่จะใช้ในการทัพศึก
ณ ลานหน้าคุ้มแก้วเป็นที่ตั้งโรงช้าง ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญของบ้านเมืองในสมัยนั้น บ้านเมืองที่เป็นเมืองชั้นราชธานี ย่อมจะรวบรวมสะสมช้างไว้มากทุกเมือง ยิ่งเป็นท้องที่ในภาคพายัพนี้แล้วช้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลำเลียงและการทัพศึก ในสมัยนั้นเป็นอันมาก
สนาม
ณ เบื้องขวาของคุ้ม ตรงข้าววัดพรหมมินทรและที่โรงเรียนจุมปีวนิดาตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งศาลาว่าการบ้านเมือง เรียกว่า “สนาม” ถัดไปเป็นศาลาสุรอัยการ ๒ หลัง (สุรเพ็ชฌฆาต, อัยการ – คนใช้, คนเวร) คือเป็นที่สำนักของพวกเพ็ชฌฆาต และเป็นที่เก็บสรรพเอกสารของบ้านเมือง ซึ่งมีคนเวรอยู่ประจำ ถัดไปเป็นคอก (เรือนจำ) จะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการปกครอง
ฉาง
ณ ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ตั้งฉางของบ้านเมือง มีอยู่ ๒ โรงด้วยกัน สำหรับเป็นที่เก็บเสบียงและพัสดุสิ่งของที่ใช้ในกิจการบ้านเมือง เป็นต้นว่าจำพวกเสบียงก็มี ข้าว เกลือ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม ตลอดจนหมู เป็ด ไก่ ที่เป็นๆ สะสมไว้เป็นบางคราว และจำพวกเครื่องก็มี ขัน น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ดินประสิว กระดาษ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะเสบียงเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ทางบ้านเมืองได้กะเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่พลเมือง เอามาขึ้นฉางไว้ทุกปี เรียกว่า “หล่อฉาง”
บ้านเรือน
ในยุคนั้นได้ความว่าเมืองน่านมีภูมิฐานบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นคับคั่งแล้ว แต่ภายนอกกำแพงนั้นเป็นป่ารกอยู่โดยมาก มีบ้านเรือนเบาบางไม่อุ่นหนาฝาครั่งเหมือนภายในกำแพงเมืองแต่บ้านเรือนนั้นไม่ใคร่จะเป็นที่เจริญนัก เพราะเครื่องมือที่จะตัดฟันไม้ไม่มีมากเหมือนเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ไม่ใคร่สะดวก เป็นต้นว่ากระดานก็ต้องถากเอาด้วยมีดและขวานเป็นพื้น ไม่มีเลื่อยจะใช้ ราษฎรไม่มีกำลังพอที่จะทำบ้านเรือนด้วยเครื่องไม้จริงได้ จึงต้องทำด้วยไม้ไผ่ เว้นแต่เจ้านายท้าวพญาผู้ซึ่งมีอำนาจใช้กะเกณฑ์ผู้คนได้ จึงจะปลูกบ้านได้งามๆ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ภายในกำแพงเมืองก็ดี ภายนอกก็ดี จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ไม่ได้ด้วยถือว่าเป็นการกระทำเทียบเคียงหรือตีเสมอกับเจ้านาย มีอาชญาไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมุงหลังคาด้วยใบพลวงหรือแฝกเป็นพื้น
วัด
วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองครั้งนั้นคงมีจำนวนเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากเศร้าหมองไม่รุ่งเรือง มีวัดที่สำคัญอยู่ ๒ วัด คือ วัดช้างค้ำกับวัดภูมินทร์ แท้จริงกิจการฝ่ายพระศาสนานี้อาจกล่าวได้ว่า ได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญนับแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้มากด้วยศรัทธาแก่กล้าด้วยการบริจาคในอันที่จะเชิดชูพระศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในชั้วชนมายุกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร เจดียสถาน ตามวัดทั้งในเมืองและนอกเมือง และสร้างคัมภีร์พระสูตรพระธรรมขึ้นไว้เกือบตลอดสมัย ความเจริญในฝ่ายพระศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผลนับเนื่องในเนื้อนาบุญของท่านที่ได้ปลูกฝังไว้ด้วยดีแล้วส่วนหนึ่ง
ตลาด
การค้าขายแลกเปลี่ยนคงกระทำกันแต่ที่กาดมั่ว (ตลาด) แห่งเดียวแท้จริง ที่เรียกว่าตลาดนี้ ยังไม่ถูกต้องดี เพราะตลาดในครั้งนั้นยังไม่มีตัวเรือนโรง เพียงแต่มีข้าวของอะไรก็นำมาวางขายกันตามสองฟากข้างถนนเท่านั้น ตำบลที่นัดตลาดอยู่ในกำแพงเมืองที่ถนนผากองเดี๋ยวนี้ตรงหน้าคุ้มข้างวัดช้างค้ำ นัดซื้อขายกันแต่เวลาเช้าเวลาเดียว สิ่งของที่นำมาขายกันเป็นจำพวกกับข้าวโดยมาก ส่วนร้านขายสิ่งของนั้นปรากฏว่ายังไม่มีเลย
ถนน
ถนนหนทางในครั้งนั้น เท่าที่มีควรจะเรียกว่าเป็นตรอกทางเดินมากกวา เพราะมีส่วนกว้าง อย่างดีก็แต่เพียง ๔ - ๕ ศอก ถนนชนิดนี้แต่ภายในกำแพงเมืองซึ่งตัดจากประตูหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีแต่ทางเดินธรรมดา
การปกครอง
การปกครองของแคว้นน่านสมัยโบราณจะดำเนินโดยวิธีใดหาทราบไม่ นอกจากจะเป็นไปในทางสันนิษฐานแต่พอเชื่อได้ว่า คงมีคติการปกครองเป็นแบบที่เรียกว่า “บิดาปกครองบุตร” (Paternal Government) ข้อนี้พึงเห็นได้ตามลักษณะการที่ปกครองว่าผู้เป็นประมุขวางตนเป็นดังหนึ่งบิดาของประชาชน เช่นหลักการปกครองอย่างหนึ่งที่ตกทอดสืบมาจนในชั้นหลัง ปรากฏในอาณาจักรหลักคำ (กฎหมายสำหรับเมือง) ว่าในครัวเรือน ถ้ามีบุตรหลานเป็นคนหยาบช้ากล้าคะนอง มักประพฤติความชั่วต่างๆ เป็นต้นว่า สูบฝิ่น เสพสุรา เล่นการพนันเป็นอาจิณ เมื่อหัวหน้าในครัวเรือนห้ามปรามสั่งสอนไม่เชื่อฟัง หัวหน้าในครัวเรือนนั้นตั้งนำผู้นั้นอายัดให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครอง ให้กระทำการสั่งสอนขึ้นไปตามลำดับ จนถึงผู้เป็นประมุขของบ้านเมือง ดังนี้หลักการปกครองเช่นนี้ แม้ยุคสมัยจะได้ล่วงมาแล้วในการต่างๆ ก็มิได้ลบเลือนไปเสีย ยังยืนยงมาจนกระทั่งเมืองน่านได้เป็นเมืองประเทศราชของกรุงเทพมหานคร
เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะค้นคว้าหาหลักฐานมาประกอบการบรรยายเรื่องการ ปกครองสมัยโบราณนี้ได้ การปกครองที่จะนำมากล่าว จึงจำต้องเริ่มแต่ในสมัยอันใกล้กับปัจจุบันนี้
การปกครองก่อนการจัดปันหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๓๒๕ - พ.ศ. ๒๔๓๕)
การปกครองในสมัยที่นำมากล่าวนี้ เป็นเรื่องการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อันเริ่มแต่พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าผู้ครองเป็นต้นมา รูปของการปกครองเป็นเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร เจ้าผู้ครองนครมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองทุกอย่าง ตลอดจนการออกกฎหมายสำหรับบ้านเมือง การเก็บผลประโยชน์รายได้ในเขตของภูมิภาค เว้นแต่นโยบายการเมืองกับ ต่างประเทศเท่านั้น ที่จะต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งมา มีหน้าที่ช่วยเหลือในงานพระราชสงครามและภายในกำหนด ๑ ปี ต้องนำต้นไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการไปน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ยังกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่ง เพิ่งมาเลิกประเพณีนี้เสียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ใน รัชกาลที่ ๕ นี้เอง
ส่วนการปกครองท้องที่ภายในเขตเมืองนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งมี แก่บ้านเป็นหัวหน้า หลายๆหมู่บ้านเป็นเมือง มีพ่อเมืองเป็นหัวหน้า และรวมเมืองเล็กๆ เหล่านี้ขึ้นแก่สนาม ส่วนเมืองขึ้นที่อยู่ภายนอกเขตต่างปกครองตนเองเช่นเดียวกัน แต่เมื่อครบปีต้องนำส่วยมาส่งเมืองน่านเป็นคำนับ
การจัดระเบียบการปกครอง
ระเบียบการปกครองฝ่ายธุรการนั้น ได้จัดเป็น “สนาม” เป็นที่ว่าการบ้านเมืองอันมีพญาแสนท้าวคณะหนึ่งเป็นผู้บริหาร การงานบ้านเมืองทุกสิ่งทุกอย่าง กิจการได้ดำเนินสำเร็จไปด้วยการประชุมปรึกษาเป็นประมาณ การงานที่ปฏิบัติในสนามนี้อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ การงานที่ต้องเสนอเจ้าผู้ครองนครเพื่อวินิจฉัยและบัญชาการอย่างหนึ่ง และการงานที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันไม่มีสารสำคัญสามัญสามารถที่จะกระทำเสร็จไปได้ที่สนาม โดยไม่ต้องนำเสนอผู้ครองอีกอย่างหนึ่ง คณบดีของสนามเรียกว่า “พญาปี๊น” คือ พญาผู้เป็นใหญ่ในสนาม ๔ นาย กับยังมีพญาแสนหลวงอื่นๆ อีก ซึ่งเจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ มีศักดิ์จัดไว้เป็นทำเนียบมาทราบรายนามและจำนวนแน่นอนเมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเป็นผู้ครองนคร ว่ามีรวมด้วยกัน ๑๒ นาย มีรายนามดังต่อไปนี้
พญาปี๊น
๑.พญาหลวงจ่าแสนราชาไชยอภัยนันทวรปัญญาวิสุทธิมงคล ปฐมอรรคมหาเสนาบดี เป็นผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั่วไป และเป็นประธานในขุนสนามทั้งปวง
๒. พญาหลวงอามาตย์ เป็นรองผู้สำเร็จราชการ
๓. พญาหลวงมนตรี เป็น นายทะเบียนพล (สุรัสวดี)
๔. พญาหลวงราชธรรมดุลย์ เป็นนายฝ่ายตุลาการ
พญาชั้นรอง
๑. พญาหลวงนัตติยราชวงศา ช่วยว่าการทั่วไป
๒. พญาราชเสนา ช่วยว่าการทั่วไป
๓. พญาไชยสงคราม ช่วยว่าการทั่วไป
๔. พญาทิพเนตร ช่วยว่าการทั่วไป
๕. พญาไชยราช ช่วยว่าการทั่วไป
๖. พญาหลวงราชบัณฑิต เป็นโหรประจำเมือง
๗. พญาหลวงศุภอักษร ว่าการฝ่าย
๘. พญามีรินทอักษร ว่าการฝ่าย
๙. พญาสิทธิธนสมบัติ ว่าการคลัง (เงิน)
๑๐. พญาราชสาร ว่าการคลัง (เงิน)
๑๑. พญาหลวงคำลือ ว่าการคลัง (เงิน)
๑๒. พญาหลวงภักดี รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๓. พญาราชโกฏ รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๔. พญาราชรองเมือง รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๕. พญาราชสมบัติ รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๖. พญาอินต๊ะรักษา รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๗. พญานาหลัง รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๘. พญาสิทธิมงคล รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๙. พญาธนสมบัติ รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๒๐. พญาพรหมอักษร รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๒๑. พญาแขก รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๒๒. พญาสิทธิเดช ตุลาการ
๒๓. พญานราสาร ตุลาการ
๒๔. พญาไชยพิพิธ ตุลาการ
๒๕. พญาไชยปัญญา นายช่าง
๒๖. พญานันต๊ะปัญญา นายช่าง
๒๗. พญาธรรมราช ธรรมการ ธรรมการ
๒๘. แสนหลวงเมฆสาคร ว่าการเมืองฝาย
ทางฝ่ายเจ้าผู้ครองนครในการบัญชาการกิจการบ้านเมืองก็มีคณะราชวงศ์ อันประกอบด้วยเจ้าหอหน้า (อุปราช) เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร เจ้าบุรีรัตน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเจ้าสัญญาบัตรตั้งในกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาอีกคณะหนึ่ง มีที่ว่าการอยู่ภายในหอคำ เมื่อกิจกรรมบ้านเมืองเรื่องใดตกมาถึงคณะที่ปรึกษานี้และยุติโดยบริหารเห็นชอบของเจ้าผู้ครองแล้วก็เป็นอันเด็ดขาดบังคับไปตามกรณีนั้นๆ ได้ทีเดียว
ลักษณะการจัดการบ้านเมืองในรอบกาลสมัยที่กล่าวนี้ ที่สมควรนำมากล่าวก็คือ
๑. การทัพ
๒. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
๓. ทาส
๔. ตุลาการ
๑. การทัพ
หลักการปกครองของบ้านเมืองมีข้อสำคัญอยู่ ๒ ข้อ คือ อาชญาของเจ้าผู้ครองนครข้อหนึ่ง กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์ให้มาช่วยกันป้องกันบ้านเมืองในเวลามีศึกสงครามข้อหนึ่ง อาชญานั้นมีความหมายตามที่คติปกครองแบบนี้ว่า เป็นคำสั่งคำบังคับบัญชาของผู้เป็นประมุขที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมืองได้โดยใช้สิทธิขาด อย่างที่เรียกว่า “อาชญาสิทธิ์” ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษถึง ๒ ประการ คือ โทษอันผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองประการหนึ่ง และโทษอันผิดต่ออาชญาของเจ้าผู้ครองนครอันมีลักษณะคล้ายพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน อีกประการหนึ่ง เหตุที่เจ้าผู้ครองนครทรงไว้ซึ่งอาชญาและหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาบ้านเมืองเช่นนี้ หน้าที่ของพลเมืองจึงต้องเจริญรอยโดยบริหารของผู้เป็นประมุขทุกประการ ส่วนที่สำคัญยิ่งก็คือหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้
ฝ่ายชายฉกรรจ์มีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ลูกจุ๊” เข้าสังกัดอยู่ในเจ้านายท้าวพญาคนใดคนหนึ่งจะลอยตัวอยู่ไม่ได้ มีหน้าที่รับใช้สอยกิจการในสังกัดมูลนายของตนไปจนกว่าอายุได้ ๖๐ ปี จึงปลด หรือมิฉะนั้นก็ต่อเมื่อมีบุตรมารับใช้การงานได้ ๓ คนแล้ว เมื่อชายฉกรรจ์เข้าสังกัดเป็นลูกจุ๊ของผู้นั้นอยู่ตลอดไป จะย้ายมูลนายผู้ต้นสังกัดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสนาม
บรรดาผู้ที่จะรับเป็นลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดในตนได้ โดยเฉพาะต้องเป็นเจ้านายหรือท้าวพญาในสนามเท่านั้น ในเวลาปกติลูกจุ๊ก็อยู่ตามถิ่นฐานบ้านช่องของตนไม่ต้องเข้ามาประจำทำงานในเมืองมีกำหนดเวลาเป็นแน่นอน นอกจากบางคราวจะถูกมูลนายเรียกมาใช้กิจการเป็นครั้งคราว การที่มูลนายจะใช้ลูกจุ๊ให้ทำกิจการนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกิจการฝ่ายบ้านเมืองแต่อย่างเดียว ย่อมใช้ได้ตลอดถึงการส่วนตัวทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เช่น ในการทำนา ปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นต้น อีกประการหนึ่งควรกล่าวได้ว่า พวกลูกจุ๊ที่เป็นผลประโยชน์ของผู้เป็นมูลนายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้อาศัยแรงงานของผู้ลูกจุ๊ก็ได้รับผลแต่เพียงได้รับความคุ้มครองของมูลนายในคราวเมื่อมีทุกข์ร้อน เช่น ถูกพวกอื่นรบกวนเบียดเบียนโดยไม่เป็นธรรม หรือในคราวที่มีคดีความเกิดขึ้น เป็นต้น ฉะนั้นผู้ที่เป็นมูลนายต้องตั้งบุคคลอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัวหมวด” ไว้ตามละแวกถิ่นฐานที่ลูกจ๊ะตั้งบ้านเรือน สำหรับเรียกลูกจุ๊ในเมื่อต้องการตัวได้โดยสะดวกและพรักพร้อม
ในเวลามีการทัพศึกเกิดขึ้น เมื่อต้องการกำลังกองทัพเป็นจำนวนคนเท่าใด เจ้าผู้ครองนครก็เกณฑ์คนเอาแก่มูลนายที่มีลูกจุ๊เฉลี่ยเอาตามส่วน ส่วนผู้ที่จะคุมกองทัพนั้น ถ้าเป็นการสำคัญเจ้าผู้ครองนครก็เป็นผู้ไปเอง หรือถ้าไม่สำคัญก็ให้เจ้านายในวงศ์สกุลหรือท้าวพญาผู้ใดผู้หนึ่งควบคุมไป ตามแต่จะเห็นสมควร
เรื่องของลูกจุ๊นี้ สำหรับเจ้าผู้ครองนครไม่จำเป็นต้องมีไว้ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาได้ เวลาปกติเจ้าผู้ครองนครจึงมีคนอีกจำพวกหนึ่งสำหรับใช้สอยและอยู่เวรยามรักษาคุ้มโดยเฉพาะเรียกว่าคน “เจ้าใช้การใน”
๒. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
การทำมาหากินของราษฎรในเมืองน่านที่กระทำกันมากและเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่ก็คือการทำนา แต่ทางบ้านเมืองมิได้เก็บอากรค่านา ฉะนั้นราษฎรในเขตเมืองชั้นใน เมื่อทำนาได้ข้าวจึงต้องแบ่งข้าวส่งมาขึ้นฉางหลวง เรียกว่า “หล่อฉาง” เพื่อเก็บไว้เป็นเบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในคราวเกิดทัพศึกและต้อนรับแขกเมือง หรือให้พลเมืองยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ข้าว การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางนี้ เก็บแต่ผู้ที่มีครอบครัวแล้ว เป็นข้าวครอบครัวละ ๓ หมื่น (สัด) ส่วนราษฎรในเขตเมืองชั้นนอกอันอยู่ไกลจะส่งข้าวมาหล่อฉางเป็นความลำบากมาก แต่เพราะว่าเมืองเหล่านั้นเป็นที่เกิดหรือมีสิ่งของบางอย่างที่บ้านเมืองต้องการใช้ เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง กระดาษ เกลือ ฯลฯ จึงเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่ราษฎรในท้องที่นั้นๆ ตามสมควร ส่งมาแทนข้าว เรียกว่า “ส่วยหล่อฉาง” หรือ “ส่วยบำรุงเมือง” เมืองน่านมีส่วนเกลือมาจากเมืองบ่อปีละ ๗ ล้าน ๗ แสน ๗ หมื่น (น้ำหนัก ๓๑๐ ๒/๕ หาบ) ส่วนดินประสิวจากเหมืองยอดเมืองสะเกินปีละ ๒๐ หาบ เมืองมิน บ้านหัวเมือง (ท้องที่อำเภอนาน้อย) ปีละ ๓๐ หาบ ส่วนเหล็กจากเมืองอวน ปีละ ๓๐ หาบ บ้านวัวแดง (ท้องที่อำเภอสา) ปีละ ๒๐ บาท (การตีเหล็กเป็นอาวุธหอกและดาบและซ่อมแซมอาวุธเป็นหน้าที่ของราษฎรในบ้านก้นฝาย (ฝายมูล) ท้องที่อำเภอท่าวังผาและบ้านห้วยลับมืนท้องที่อำเภอสา นอกจากนี้ยังมีส่วยขี้ผึ้งจากเมืองขึ้นทางฟากแม่น้ำโขงอีกปีละ ๑๒ หาบ กับคน ๓๐๐ คน สำหรับทำฝายทุกเมือง
๓. ทาส
ลักษณะการเป็นทาสมีคติสืบเนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันโบราณราชกษัตริย์ได้ทรงบัญญัติไว้เรียกว่านำธงชัยไปรบศึก แล้วได้มาเป็นทาสเชลยหนึ่ง ทาสซึ่งไถ่มาด้วยทรัพย์หนึ่ง ลักษณะทาสที่มีอยู่ในพื้นเมืองน่านก็เป็นอยู่ดังกล่าวมาแล้ว ดังจะนำมากล่าวพอเป็นเค้า คือ
๓.๑) ทาสเชลย เป็นคนซึ่งแต่ก่อนมาเจ้านายและกรมการเมืองได้ไปรบตีเมืองสิบสอง ปันนาเมืองเวียงจันทร์ได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวมาแบ่งปันเป็นความชอบของแม่ทัพนายกองเรียกว่า “ค่าปลายหอกงาช้าง” มีบุตรหลานสืบต่อมาเรียกกันว่า “ค่าหอคนโรง” อันชื่อว่าทาสได้มาแต่ครั้งปู่และบิดาสืบมา ค่าหอคนโรงเหล่านี้มีอายุ ๑๐ ขวบขึ้นไปมีค่าตัวชาย ๖๒ รูเปีย หญิง ๖๒ รูเปีย ถ้าอายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ คิดคนหนึ่งขวบละ ๕ รูเปีย ตามจำนวนอายุผู้เป็นนายถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดมีอำนาจที่จะขายทาสเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น บรรดาทาสเชลยจะมีบุตรหลานสืบทอดออกไปอีกเท่าใดก็ดีก็คงเป็นทาสเชลยทั้งสิ้น และผู้เป็นนายก็รับมรดกกันสืบมา ผู้ที่เป็นมูลนายจะยกทาสเชลยให้แก่ผู้ใดก็ได้เมื่อทาสเชลยได้นำเงินมาไถ่ค่าตัวตามราคาจึงจะพ้นความเป็นทาส
๓.๒) ทาสสินไถ่ คือทาสที่นายเงินได้ออกมาไถ่ ถ้าทาสไม่มีเงินมาให้แก่นายเงินครบค่าแล้ว ก็ไม่มีเวลาที่จะพ้นยากจากทุกข์เป็นไทยได้ ฝ่ายลูกทาสที่ซึ่งเกิดแต่ทาสสินไถ่นั้น ถ้าเกิดในเรือนเบี้ยพอเกิดมาในเรือนทาสมีค่าตัวอยู่เรื่อยไป
ทาสทั้งสองจำพวกนี้ ได้มีวิธีการลดหย่อนผ่อนผันให้เสื่อมคลายลง นับแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙ ในรัชกาลที่ ๕ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. ๑๒๔ ขึ้นอีกเป็นคำรบสอง และการที่เป็นทาสได้เลิกเด็ดขาดไปเมื่อหลังแต่ได้ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในมณฑลพายัพในรัชกาลที่ ๖ ร.ศ. ๑๓๑ แล้วเป็นลำดับมา ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยเป็นล้นเกล้าฯ
๔. การตุลาการ
กฎหมายที่บัญญัติขึ้นไว้ใช้สำหรับภายในบ้านเมืองเรียกว่า “อาณาจักรหลักคำ” แต่เดิมมาได้ทราบว่าเคยใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์และราชศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดียเหมือนกัน อาณาจักรหลักคำเพิ่งจะมาตั้งขึ้นในชั้นหลังโดยถือหลักจากกฎหมายที่กล่าวแล้วบ้าง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาพบ้านเมืองบ้าง แต่แปลกที่มีบทบัญญัติบทลงโทษและคำสั่งสอนรวมคละปะปนไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะแม้แต่ความผิดเล็กน้อยอาจถูกประหารชีวิตได้ ปรากฏว่าเมืองน่านในยุคนั้นสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าได้เป็นนิสัยปัจจัยสืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้
วิธีพิจารณาในประเภทความอาชญาอุกฉกรรจ์คงดำเนินอย่างวิธีที่จะแคะไค้เอาความจริงด้วยการทรมานให้สารภาพตามลักษณะที่เรียกว่า “จารีตนครบาล” เหมือนอย่างเมืองทั้งปวงในสมัยเดียวกัน เมื่อคดีตกถึงสนาม ขุนสนาม ๓๒ นาย พิจารณาเป็นรูปเรื่องเห็นว่าใครผิดใครถูกแพ้ชนะกันอย่างไรแล้ว ก็พร้อมกันลงความเห็นในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามผลที่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติในอาณาจักรหลักคำลงในพับดำ (สมุดดำ) หรือแผ่นกระดาษดำ แล้วนำขึ้นไปอ่านถวายเจ้าผู้ครองนครอันพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาหอคำ เมื่อเจ้าผู้ครองนครและคณะได้พิจารณาเห็นว่าจะควรชี้โดยสถานใดแล้ว เจ้าผู้ครองนครก็ชี้ขาดบัญชาให้บังคับเป็นไปตามด้วยสถานนั้นๆ
ส่วนความแพ่งนั้น วิธีพิจารณาคงดำเนินไปในทางอันเดียวกัน เว้นแต่การไต่สวนไม่ใช่เคี่ยวเข็ญเอาตามจารีตนครบาล แต่ถ้าเป็นความที่กำกวมหรือคลุมเครือซึ่งคณะตุลาการไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกด้วยกฎหมายได้แล้ว ก็มีวิธีตัดสินด้วยการให้คู่ความทนต่อการสาบานหรือการพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่งในการพิสูจน์นั้นอาจเป็นด้วยการให้เอานิ้วมือจิ้มตะกั่วที่ละลาย หรือเสี่ยงเทียน หรือวิธีที่จะยังความครั่นคร้ามให้แก่ผู้ทุจริตอื่นใดก็ได้ ซึ่งหวังในความศักดิ์สิทธิ์บันดาลของพระและเทพเจ้าเป็นใหญ่ สุดแล้วแต่ผู้พิพากษาจะเห็นสมควร เมื่อผู้ใดชนะการพิสูจน์ก็ตัดสินให้เป็นผู้ชนะคดี
มีเกร็ดของเรื่องนี้อยู่เรื่องหนึ่งกล่าวกันว่า มีผู้พิพาทกันด้วยเรื่องตู่กรรมสิทธิ์กระบือกันขึ้นเรื่องหนึ่ง ผลของการพิจารณาตุลาการไม่สามารถที่จะชี้ให้ได้ว่ากระบือตัวนั้นเป็นของผู้ใดเพราะน้ำหนักคำให้การของคู่ความรับกันในเรื่องลักษณะของกระบือเท่าๆ กัน ผลที่สุด จึงให้โจทก์จำเลยกระทำพิธีสาบาน และพิสูจน์ด้วยการเสี่ยงเทียนกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ข้อตกลงมีว่า ถ้าเทียนของ ผู้ใดดับก่อนผู้นั้นก็แพ้แก่ความสัตย์จริง และจะตัดสินให้อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ เทียนนั้นได้ควั่นขึ้นจากขี้ผึ้งมีน้ำหนักเท่ากัน เส้นด้ายไส้เทียนก็นับมีจำนวนเท่ากัน การพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์ชนะเพราะเทียนจำเลยดับก่อน ตุลาการจึงจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น จำเลยไม่ยอมกลับพูดว่า “พระองค์น้อยเกิดเมื่อวามาเมื่อซืนจะไปฮู้ฮีตบ้านกองเมืองหยัง” เพื่อจะบังคับคดีให้เป็นไปโดยละม่อมและให้จำเลยจำนนแก่การพิสูน์จริงๆ ตุลาการก็ยอม จึงให้คู่ความไปทำการพิสูจน์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เลือกกระทำกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเมืองทีเดียว ผลการพิสูจน์ครั้งนี้ปรากฏว่าจำเลยชนะ โจทก์กลับมีเสียงขึ้นบ้างว่า “สี่สิบลืมหน้า ห้าสิบลืมหลังเฒ่าชะแร แก่ออกล้ำ เยียใดจักจำได้” ในที่สุดกระบือตัวนั้นเลยตัดสินให้ตกเป็นกระบือของหลวง
ได้คัดส่วนหนึ่งของอาณาจักรหลักคำลงไว้ สำหรับท่านที่สนใจต่อคติธรรมโบราณของจังหวัดน่านด้วย
อาณาจักรหลักคำ
พระราชกถาสมเด็จพระเชษฐบรมราชาอนันตยศวรราชเจ้า องค์เป็นอิสสราธิบัตติองค์ เป็นเจ้าแก่รัฐประชาในไชยนันทเทพบุรีนครราชธานีนครเมืองน่าน มีพระราชกรุณาแก่มหาขัตติยราชวงษาและท้าวพญาราชเสวกาผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวล ว่าโบราณราชวรปิตตุจฉาองค์เป็นน้าได้เสวยราชสมบัติ เป็นเจ้าแก่รัฐประชามาช้านาน ก็เป็นเถิงแก่กรรมนำตนไปสู่โลกภายหน้า ละสถานบ้านช่องบ้านเมืองและเราท่านทั้งหลายเสียแล้ว ครั้นอยู่มาเถิงจุลศักราช ๑๒๑๔ ตัว เดือนเจ็ด ออกสามค่ำ ตัวเราจึงได้พาเอาขัตติยราชวงษาและขุนเสนาอำมาตย์ล่องลงไปเฝ้าพระมหากษัตริย์เจ้า ณ กรุงเทพมหานคร แล้วจึงมีพระมหากรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม หื้อตัวเราได้เป็นเจ้าได้เสวยราชสมบัติสืบราชตระกูลวงษาเป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองนานรักษาราชตระกูลวงษารัฐประชานครสถานบ้านเมือง และวรพุทธ-ศาสนา ให้การกุ่งรุ่งเรืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบต่อไปภายหน้า ตามดังโบราณประเพณีอันมีมาแต่ก่อนนั้น
โปรดประการนี้ บัดนี้เราเป็นเจ้ามารำพึงเล็งหันวรพุทธศาสนานครสถานบ้านเมืองแห่งเราทั้งหลาย ทุกวันมานี้ หนภายนอก มีเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลาย ผู้บ่ดีสมคบกับด้วยกันกระทำเป็นโจรกรรมอันบ่ดี ไปลักเอาวัวควายของท่าน ลักทางเหนือเอาไว้ทางใต้ ลักทางใต้เอาไปไว้ทางเหนือ ลักทางวันตกเอาไปไว้วันออก ลักทางวันออกเอาไปไว้วันตก แลเอาของท่านไปซุ่มซ่อนไว้ ปาดหูตัดเขาเหมียด๑หมาย เสียใหม่ เพื่อจักหื้อของท่านสาปสูญแล้วเอาเป็นของตัว อนึ่งไปซื้อเอามาฆ่ากิน อนึ่งสมคบกันเล่นแท่นเล่นเบี้ยเล่นหมากแกวเล่นพนันขันต่อกัน เอาสรรพสิ่งของเงินทองกัน ลวดเป็นหนี้เป็นสินกับด้วยกันหาสง๒ จะใช้แทนบ่ได้ ลวดสมคบกันเป็นโจรไปลักเอาสิ่งของแห่งท่าน อนึ่งด้วยผู้คนทั้งหลายก็ดี อันเป็นร้าง๓ เป็นบ่าว๔ ก็ดี แอ่ว๕ ค่ำมาคืน แอ่วร้างจา๖ สาว ถือศาสตราอาวุธกระทำตัวแปลกปลอม บ่หื้อรู้บ่ฮื้อหันหน้า บ่หื้อรู้จักว่าเป็นผู้ร้ายผู้ดี ในกรรมทั้งหลายฝูงนี้จักพาให้บ้านเมืองวินาศฉิบหายและร้อนรนแก่รัฐประชาบ้านเมืองต่อๆ ไปมีเป็นหลายประการต่างๆ เหตุนั้นเราเป็นเจ้าจึงปงพระราชอาญาไว้แก่เจ้าพระยามหาอุปราชาหอหน้า หื้อหาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาแลลูกหลาน ท้าวพญาเสนาอามาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลมาพร้อมกัน ปรึกษาพิจารณาแลตั้งพระราชอาชญาเป็นราชอาณาจักรกดขี่สั่งสอนบาปบุคคลผู้บ่ดี อย่าหื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน ร้อนรนแก่บ้านเมืองแห่งเราแลรัฐประชาต่อๆ ไป เพื่อให้วรพุทธศาสนาแลบ้านเมืองแห่งเรานี้หื้อได้อยู่เย็นเป็นสุขพึ่งด้วยเดชบุญคุณแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป ว่าฉะนี้
ครั้น อยู่มาเถิงจุลศักราชเดียวนี้ เดือนเจียงแรม ๑๐ ค่ำ เจ้ามหาอุปราชาหอหน้า จึงได้หาเอาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาลูกหลาน แลท้าวพญาเสนาอามาตย์ขึ้นปรึกษาพร้อมกันยังโรงไชย เจ้าพระยาหอหน้าปรึกษากันพิจารณาด้วยอันจักตั้งพระราชอาณาจักรนั้นตกลงแล้ว ครั้นเถิงเดือนยี่ออก ๑ ค่ำ มีเจ้าพระยาอุปราชาหอหน้าเป็นประธาน และเจ้าพระยาราชบุตร เจ้าพระยาศรีสองเมือง เจ้าพระยาสุริยพงษ์ เจ้าพระยาวังซ้าย เจ้าพระยาวังขวา เจ้าพระยาอริยวงษา เจ้าพระยาเทิง เจ้าพระยาเมืองราชา เจ้าพระเมืองแก้ว เจ้าพระเมืองน้อย เจ้าพระวิไชยราชา เจ้าเมืองเชียงแขง เจ้าเมืองเชียงของ เจ้าเมืองเลน เจ้าราชวงษ์เมืองเลน เจ้าเมืองหลวง เจ้าเมืองเชียงลาบ เจ้าเมืองภูคา เจ้าเมืองล้ำ แลขัติยราชวงษา ท้าวพญาเสนาอามาตย์ราชเสวกผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลพร้อมกันเอาเนื้อความปรึกษาตั้งราชอาชญานั้นขึ้นกราบหลอง๗ เถิงราชสำนักเราเป็นเจ้าแล้ว จึงได้พร้อมกันตั้งพระราชอาชญาไว้หื้อเป็นอาณาจักรหลักคำ ไว้สั่งสอนห้ามปรามเจ้านายท้าวขุนลูกหลานไพร่ไทยทั้งหลายอย่ากระทำกรรมอันบ่ดีสืบต่อไปภายหน้าว่าตั้งแต่ศักราช ๑๒๑๔ ตัวปีเต่าไจ้เดือนยี่ ออก ๑ ค่ำ วันพุธนี้ไป
ภายหน้าห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายได้สมคบกันกระทำกรรมบ่ดี เป็นโจรลักเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองแลช้างวัวควายของท่านไปฆ่ากินก็ดี ลักเอาไปขายเสียก็ดี ลักเอาไป เหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี อนึ่งซื้อเอามาฆ่ากินก็ดี ผู้จักขายก็รู้ว่าท่านจักเอามาฆ่ากินแล้วป้อย๘ ขายหื้อก็ดีในกรรมทั้งหลายมวลฝูงนี้อย่าหื้อได้กระทำเป็นอันขาด
คันว่า๙ บุคคลผู้ใด ไปลักเอาควายท่านมาฆ่ากินจักเอาตัวใส่ราชวัตร๑๐ ไวแล้วหื้อใช้ค่าควายตามราคา แล้วจักเอาตัวไปฆ่าเสีย บ่หื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดินต่อไป
คันว่าลักเอาควายท่านขายเสียก็ดี ลักเอาไปตัดเขาปาดหูเหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี โทษเสมอกัน จักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันว่าได้ของเก่าคืน หื้อไหม ๔ ตัวควาย คันว่าบ่ได้ของเก่าคืนฮื้อใช้ ๑ ไหม ๔ ตัวควาย ค่าควายพู่แม่ดำพอนใหญ่น้อยถือว่าค่า ๒๐๐ ดอก๑๑ คันเป็นว่าเจ้านายหื้อ คารวะอาชญา๑๒ ยากต่อกึ่ง๑๓ คันเป็นท้าวขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ยากต่อกึ่ง
อนึ่ง ตัวหากลักฆ่าควายตัวก็ดี ไปซื้อควายเปิ้นมาฆ่ากิน ผู้ขายก็รู่ว่าท่านจักเอาไปฆ่ากินแล้วป้อยขายหื้อก็ดี ถือโทษเสมอกัน คันว่ารู้แล้วจักเอาตัวใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อใส่สินค่าคอ๑๔ ๔๔๐ ดอก ยากต่อกึ่ง คันเป็นไพร่หื้อใส่สินคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่ง
อนึ่ง จักปริกรรมผีเทพดาอาลักษณ์นั้น คันว่าในราชสำนักในเวียงหื้อไหว้สา๑๕ คันเป็นหน้าบ้านหื้อปฏิบัติเถิงสนามก่อน คันว่าหัวเมืองนอก หื้อบอกเถิงพ่อเมือง หื้อได้รู้ก่อนคันบ่บอกหื้อรู้ ถือว่าเป็นโจรลักกินควาย คันได้รู้แล้วจักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่ใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่ง
อนึ่ง ห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายบนผีหนังประกรรม๑๖ แลผีพระเจ้าหาดเชี่ยว๑๗ ว่าจะหื้อกินควาย อย่าหื้อกระทำเป็นอันขาด คันบุคคลผู้ใดยังกระทำ จะเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่งฯ
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
อนึ่ง พ่อเมืองนายบ้าน นายอ่ายนายเกิน๑๘ ทั้งหลายทุกตำบล อย่าได้ลาสา๑๙ ประมาท
หื้อรักษาด่านทางเขตแขวงบ้านเมืองไผมันหื้อมั่นขันแข็งแรง แม้นว่าลูกค้าวานิชทั้งหลายคือว่าค่าช้างค่าม้าค่าวัว ค่าควายหาบแลสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลาย ออกจากเมืองไปบ่มี ชะลางหนังสือ๒๐ ตีตราแต่ราชสำนักอย่าได้ปล่อยไปเป็นอันขาด ว่าคันเป็นคนหื้อจับตัวใส่คา หื้อมั่นขันส่งเข้ามาเถิงราชสำนักสนาม คันเป็นสมณะชีพราหมณ์หื้อเกาะเอาตัวเข้ามาเถิงราชสำนักสถาน คันว่าเป็นลูกค้าแลคนต่างประเทศเมืองอื่นเข้ามาเถิงนายอ่ายแล้ว บ่มีหนังสือชะลางตีตรา อย่าปล่อยเข้าด้วยง่ายหื้องดไว้ก่อน แล้วหื้อมาบอกเถิงพ่อเมืองนายบ้าน แล้วเกาะเอาตัวมาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน
อนึ่ง ด้วยคนทั้งหลายหนีลุก์ ๒๑ ต่างประเทศบ้านเมืองที่อื่น เข้ามาแอบแฝงเพิ่งอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย แลอาศัยอยู่กับวัดวาอารามที่ใดๆ ก็ดี แม้เป็นคนไทยใต้ก็ดี เป็นลาวก็ดี เป็นคนบ้านใดเมืองใดก็ดี หากหนีมาผู้ ๑ - ๒ - ๓ คนก็ดี แลหาชะลางหนังสือ บ่ได้แม้จักมาอาศัยอยู่กับบ้านใดเมืองใดก็ดี วัดวาก็ดี อย่าหื้อรับอะหยั้งด้วยง่ายหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านได้นำเอาฝูงคนนั้น เข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน จักได้ไล่เลียงไต่ถามหื้อรู้ก่อน คันว่าคนฝูงนี้หากมีการหนีเข้ามาเพิ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย ผู้ใดปิดบังเสียบ่
เอาตัวเข้ามาปฏิบัติเถิงสนามหื้อได้รู้ภายลุน๒๒ บังเกิดเป็นข้าลักกระโมยโจรเป็นประการใดก็ดี ตัวมันหากหนีหายไปหาตัวบ่ได้ จับเอาตัวเจ้าเรือนที่อาศัยแทนผู้นั้นตามโทษ
อนึ่ง ลูกค้าทั้งหลายมาจากต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศอื่น เข้ามาหาซื้อช้างซื้อม้าซื้อวัวซื้อควายนั้น คันเข้ามาเถิงบ้านใดเมืองใดก็ดี อย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายอย่าได้นับซื้อขายต่อกันด้วยง่าย หื้อพาเอาตัวลูกค้าทั้งหลายเข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน อนึ่ง หาก ผู้ใดบ่ฟังลักซื้อลักขายกัน บ่มาปฏิบัติเถิงสนามนั้น จักเอาโทษตามอาชญา คันบ้านใดเมืองใด บ่กระทำตามพระราชอาชญาได้ ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ สืบรู้จักเอาโทษจงหนัก ในพระราชอาชญาได้ปรึกษาพร้อมเพรียงกับด้วยมหาขัตยราชวงศ์อัครมหาเสนาอำมาตย์ชูตนชูคนได้ตั้งพระราชอาณาจักรตักเตือนสั่งสอนแก่เจ้านายท้าวพญาราษฎรทั้งหลาย แลพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายในขงจักขวัติเมืองน่านทุกตำบลชะและบุคคลผู้ใดกระทำล่วงเกินสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จักเอาโทษตามพระราชอาชญา ซึ่งได้ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ ทุกประการ
หมายเหตุ อธิบายศัพท์โบราณ
๑. เหมียดหมาย หมายถึง ตำหนิ
๒. สัง อะไร
๓. ร้าง ม่าย
๔. บ่าว ชายหนุ่ม
๕. แอ่ว เที่ยว
๖. จา พูด
๗. กราบหลอง ทูล
๘. ป้อย พลอย
๙. คันว่า ครั้นว่า, ถ้าว่า
๑๐. ราชวัตร เครื่องจองจำ
๑๑. ดอก เงินดอก (เงินแท่ง)
๑๒. คารวะอาชญา เงินสินไหมปรับให้แก่เจ้าผู้ครองเป็นเงิน ๑๒๐ รูเปีย
๑๓. ยากต่อกึ่ง ปรับเป็นพินัยหลวง ครึ่งหนึ่งของราคาปรับไหม
๑๔. สินค่าคอ สินไหม
๑๕. ไหว้สา ทูล,บอก
๑๖. ผีหนังประกรรม ผีหนังสำหรับคล้องช้าง
๑๗. ผีพระเจ้าหาดเชี่ยว ผีที่สิงอยู่ในที่ทั่วไป คอยรับเครื่องบำบวงจากผู้สำเร็จ
ปรารถนาในการบนบาน
๑๘. นายอ่ายนายเกิน นายด่าน
๑๙. ลาสา เพิกเฉย
๒๐. ชะลางหนังสือ หนังสือคู่มือเดินทาง
๒๑. ลุก์ มาจาก
๒๒. ภายลุน ภายหลัง
สำนักเจ้าผู้ครองนคร
โดยฐานะเจ้าผู้ครองนคร (เดิม) เป็นประมุขหรือเจ้าแผ่นดินน้อยๆ เป็นเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่งที่สำคัญของเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินน้อยๆ จึงไม่ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ในอาณาจักรใหญ่ๆ แต่อย่างใด กล่าวคือ ด้วยความเป็นใหญ่เป็นประธานในเหล่าพสกนิกร ผู้เป็นประมุขจักต้องบริหารการปกครองให้เจริญมั่นคง ดำรงแว่นแคว้นให้เป็นที่ร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทั่วไป เป็นผู้นำแบบความดีงามทั้งหลายทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนา นอกจากนี้ เพื่อจะยังให้เกียรติยศและความร่มเย็นเป็นสุขของราษฎรมีผลอันไพบูลย์ เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะบำเพ็ญกรณีตามคติธรรมของผู้เป็นประมุขเนื่องในทางศาสนาสืบมาแต่โบราณอันเรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” ประกอบอีกส่วนหนึ่งด้วย
ส่วนอิสริยยศประจำตัวเจ้าผู้ครองนครนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามฐานะของบ้านเมือง บ้านเมืองใหญ่ก็มีอิสริยยศประดับมาก บ้านเมืองน้อยก็ลดหลั่นกันลงมาตามกำลังวังชาแต่อย่างไรก็ดีทางสำนักผู้ครองนครน่านก็ได้มีคติประเพณีทางฝ่ายขัตติยสืบกันมาช้านาน กล่าวคือ เมื่อมีผู้ขึ้นครองเมืองก็มีพิธีอภิเษก แม้ในชั้นหลังการตั้งเจ้าเมืองจะได้เป็นโดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง ณ กรุงเทพฯ ก็ดี ก็มิได้ละประเพณีเสีย ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งยังบ้านเมืองอีกวาระหนึ่งเมื่อจะเข้าไปสถิต ณ สำนักเจ้าเมืองก็มีพิธีขึ้นสำนักซึ่งตรงกับคำว่า “เฉลิมพระราชมณเฑียร” มีการออกพญาแสนท้าว (ขุนนาง) ต้อนรับแขกเมืองด้วยพิธี มีการออกประพาสเมืองโดยอิสสริยศด้วยกระบวนข้าบริพารเป็นอาทิ
นอกจากพญาแสนท้าวอันเป็นขุนนางที่เจ้าผู้ครองนครได้แต่งตั้งขึ้นไว้ เพื่อบริหารกิจการ
บ้านเมืองยังสนาม ซึ่งเป็นการภายนอกส่วนหนึ่งแล้ว ยังอีกการภายใน อันเป็นกิจการของคุ้มของเจ้าผู้ครองนครโดยตรง ก็แต่งตั้ง “ขุนใน” ขึ้นไว้รับใช้การงานและประดับเกียรติยศเจ้าผู้ครองนครอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำนองข้าราชการฝ่ายราชสำนัก ซึ่งมีความมุ่งหมายเป็นส่วนใหญ่ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้
กิจการภายในสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน อาจแบ่งออกได้เป็น ๕ แผนก คือ แผนกวัง แผนกเสมียนตรา แผนกมณเฑียรและอาสนะ แผนกการกุศล แผนกรับใช้
แผนกวัง
มีหน้าที่ควบคุมตรวจตรากิจการภายในคุ้มทุกอย่าง รักษาความสงบเรียบร้อยภายในคุ้ม พิทักษ์ตัวเจ้าผู้ครองนครด้วยกำลังคน “เจ้าใช้การใน” ที่มีประจำอยู่ จัดพิธีออกพญาแสนท้าวในคราวที่ประกอบเป็นเกียรติยศ พิธีออกแขกเมือง – ต้อนรับแขกเมือง จัดกองเกียรติยศเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาส
แผนกเสมียนตรา
มีหน้าที่ทำหนังสือของเจ้าผู้ครองนครที่จะมีไปในที่ต่างๆ และรับคำสั่งอาชญาที่จะแจ้งไปให้สนามทราบกับมีหน้าที่เก็บสรรพหนังสือภายในหอคำ
แผนกมณเฑียรและอาสนะ
มีหน้าที่พิทักษ์ดูแลหอคำและเรือนโรงของเจ้าผู้ครองนครและบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อชำรุด กับมีหน้าที่แต่งตั้งอาสนะเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาสไปประทับ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
แผนกการกุศล
มีหน้าที่ประกอบการกุศลของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ กระทำพิธีบูชาพระเคราะห์ตามคราวและมีหน้าที่บันทึกเรื่องรายงานการกุศล
แผนกรับใช้
มีหน้าที่รับใช้เจ้าผู้ครองนครในกิจการต่างๆ
ข้าราชการบริหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว มีรายนามเป็นทำเนียบดังต่อไปนี้
แผนกวัง
๑. พญาสิทธิวังราช เป็นผู้สำเร็จการวัง
๒. พญาราชวัง เป็นผู้ช่วย
๓. ท้าวอาสา เป็นหัวหน้าคนเจ้าใช้การใน มีหน้าที่จับกุมบุคคลที่ขัดอาชญาตามบัญชาของเจ้าผู้ครองนครและมีหน้าที่ถือมัดหวายนำหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร
๔. ท้าววังหน้า เป็นหัวหน้าคนเจ้าใช้การใน กับมีหน้าที่ออกหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร ในอันที่จะประกาศมิให้ผู้คนจอแจข้างหน้าทางหรือตัดหน้าฉาน
กับมีคนใช้การในสำหรับที่จะเรียกใช้กระทำกิจการภายในคุ้ม ๑,๐๐๐ คน ในเวลาปกติมีคนเจ้าใช้การในมาเข้าเวรยาม ๑๕ คน พวกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรครั้งละ ๓ วัน ๓ คืน หมุนเวียนกันไป
แผนกเสมียนตรา
พญาสิทธิอักษร เป็นหัวหน้า
แผนกมณเฑียร
๑. พญาราชมณเฑียร เป็นหัวหน้า
๒. แสนหลวงราชนิเวศน์ เป็นผู้ช่วย
อาสนะ
พญาอาสนมณเฑียร เป็นหัวหน้า
แผนกการกุศล
๑. แสนหลวงสมภาร เป็นหัวหน้า
๒. แสนหลวงกุศล เป็นผู้ช่วย
๓. แสนหลวงขันคำ เป็นผู้ถือพานทองนำหน้าเจ้าผู้ครองนครไปในคราวบำเพ็ญ
กุศลต่างๆ
แผนกรับใช้
๑. แสนหลวงใน ผู้รับใช้จับจ่ายอาหารเลี้ยงดูคนในคุ้ม
๒. แสนหลวงต่างใจ เป็นผู้รับใช้กิจการต่างๆ ภายนอก นอกจากนี้ ยังมีพนักงาน
เสมียนและเจ้าหมวดนายหมู่อีกพอสมควร
การปกครองเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล
เมื่อมหาประเทศทางตะวันตกมีอังกฤษและฝรั่งเศสได้ประเทศใกล้เคียงเป็นเมืองขึ้นและแผ่อำนาจใกล้เข้ามาโดยรอบพระราชอาณาจักรสยามอยู่เป็นลำดับ เกิดมีคนในบังคับต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปกครองของสยามขึ้นเป็นเงาตามตัว หัวเมืองประเทศราชของสยามทั้งปวงเป็นเมืองที่อยู่ในข่ายพระราชอาณาเขต มีการเกี่ยวข้องกับคนในบังคับบัญชามากกว่าหัวเมืองชั้นใน แต่วิธีการ ปกครองของเมืองประเทศราชเหล่านั้น ยังเป็นพลการและโบราณล้าสมัยอยู่มาก อาจมีการพลั้งพลาดถึงกับเป็นการกระทบกระเทือนในทางการเมืองและสัญญาทางพระราชไมตรีได้
อีกประการหนึ่ง ในสมัยเดียวกัน แม้ในพระราชอาณาเขตภายในเองก็ยังมีการปกครองโดยให้เมืองใหญ่ปกครองเมืองน้อย ตามลำดับเมืองที่เป็นเอก โท ตรี จัตวา อยู่ทั่วไป เมืองใหญ่เพียงแต่ต้องฟังบังคับบัญชาตรงจากเจ้ากระทรวง การที่เป็นเช่นนี้อยู่ในฐานะที่ต้องกระจายหัวเมืองอยู่มาก ในขณะนั้นการคมนาคมถึงกันก็ไม่ใคร่สะดวก คำสั่งจากกรุงเทพฯ จะถึงเมืองหนึ่งๆ ก็ช้าเหตุผลที่เป็น ข้อสำคัญยิ่งก็คือ เหตุที่มามอบหมายให้หัวเมืองบังคับบัญชากันเอง การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในกรุงไปไม่ใคร่ถึง เมื่ออาณาประชาชนมีคดีทุกข์ร้อนหรือถูกเจ้าพนักงานกดขี่ข่มเหงหรือตัดสินความไม่เป็นยุติธรรม เจ้ากระทรวงก็ต้องเรียกตัวคู่ความและสำนวนไปชำระว่ากล่าวในกรุงกว่าจะได้รับความยุติธรรมก็เป็นความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นอันมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงเหตุ ดังกล่าวนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองประเทศราชขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาลเป็นครั้งแรก และทรงตั้งข้าหลวงใหญ่ออกไปบัญชาต่างพระเนตรพระกรรณนับแต่ระหว่างปี ๒๔๓๕ - ๒๔๓๗ และในปีต่อๆ มา ก็ทรงตั้งมณฑลอื่นๆ ขึ้นอีกเป็นลำดับ
จังหวัดน่านขึ้นอยู่ใน “มณฑลลาวเฉียง” ซึ่งมีจังหวัดอื่นๆ ขึ้นอยู่อีก คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ เชียงราย (ภายหลังแยกอาณาเขตจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป็นจังหวัดขึ้นอีกจังหวัดหนึ่ง คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ตั้งศาลารัฐบาลที่จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ”
พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลพายัพ”
พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ประกาศตั้งมณฑลพายัพเป็นภาคพายัพ และตั้งสมุหเทศาภิบาลเป็นอุปราชประจำภาค
ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นี้เอง ได้ประกาศแยกจังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง ออกจากมณฑลพายัพ ตั้งมณฑลขึ้นอีกมณฑลหนึ่งเรียกว่า “มณฑลมหาราษฎร์” ขึ้นอยู่ในภาคพายัพ ตั้งศาลารัฐบาลอยู่ที่จังหวัดแพร่
พ.ศ.๒๔๖๘ ได้ประกาศเลิกภาคพายัพและตำแหน่งอุปราชประจำภาคเป็น สมุหเทศาภิบาลกับยกเลิกมณฑลมหาราษฎร์รวมจังหวัดที่อยู่ในมณฑลมหาราษฎร์ไปขึ้นแก่มณฑลพายัพตามเดิม
พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ประกาศยุบมณฑลและให้จังหวัดต่างๆ ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
เมื่อก่อนตั้งมณฑลลาวเฉียงขึ้นนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งข้าหลวงมาประจำจังหวัดน่านแล้ว เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นต้นมา เพื่อกำกับตรวจตราจัดวางระเบียบราชการในพื้นเมืองให้เข้ารูปแบบในกรุงเทพฯ ต่างหูต่างตากระทรวงมหาดไทยและจัดการอันเกี่ยวกับต่างประเทศ มิให้เป็นการกระทบกระเทือนในทางการเมือง ในขั้นต้นที่มีข้าหลวงมาประจำ การปฏิบัติราชการมีการขลุกขลักกันอยู่บ้าง เพราะเป็นหัวต่อของการที่จะปรับปรุงระเบียบราชการขึ้นใหม่ ซึ่งการทั้งนี้ก็ย่อมจะกระเทือนใจ
บรรดาเจ้านายอยู่บ้าง แต่ต่อมาเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจกันดีแล้วความกลมเกลียวประสานงานก็ค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะนี้ทางบ้านเมืองยังคงมีสนามเป็นที่ว่าการอยู่ตามเดิม
ครั้นต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ แล้ว กระทรวงมหาดไทยได้มีตราให้ยุบเลิกตำแหน่งขุนสนามและตั้งพนักงาน ๖ ตำแหน่งขึ้นว่าการ การมหาดไทย การยุติธรรม การทหาร การคลัง การนา การวังแทน ให้ขึ้นอยู่ในข้าหลวงประจำเมืองและเจ้าผู้ครองนคร
เนื่องด้วยการแบ่งเขตแขวงสำหรับจัดการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการใน ปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ยังเป็นการก้าวก่ายอยู่หลายประการ
สมควรจะจัดการวางแบบแผนวิธีปกครองและวางตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามควรแก่กาลสมัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยจึงให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิริยศิริ) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลอง ขึ้นมาจัดวางระเบียบการปกครองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ อันเนื่องแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ แล้วนั้น และเพื่อที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ตราข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นใช้ในปีต่อไป ปีนี้พระยามหาอำมาต- ยาธิบดีได้มาที่จังหวัดน่าน พร้อมด้วยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ครั้งนั้นยังเป็นเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดช) เจ้าผู้ครองนคร พระยาสุนทรนุรักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ข้าหลวงประจำเมืองและเจ้านายท้าวพญาทั้งปวงประชุมปรึกษาตกลงวางระเบียบราชการขึ้นใหม่ ดังนี้
๑. การปกครองท้องที่
ได้แบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็น ๘ แขวง คือ
๑. แขวงนครน่าน คือรวมตำบลใกล้เคียงมี เมืองน่าน เมืองสา เมืองพง เมืองไชยภูมิ เมืองบ่อว้า ให้มีที่ว่าการตั้งที่แขวงเมืองน่าน
๒. แขวงน้ำแหง คือรวมเมืองหิน เมืองศรีสะเกษ เมืองลี้ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมือง ศรีสะเกษ
๓. เขวงน่านใต้ คือรวมเมืองท่าแฝก บ้านท่าปลา บ้านผาเลือด บ้านหาดล้า เมือง จะริม ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่บ้านท่าปลา
๔. แขวงน้ำปัว คือ เมืองปัว เมืองริม เมืองอวน เมืองยม เมืองย่าง เมืองแงง เมืองบ่อ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปัว
๕. แขวงขุนน่าน คือรวมเมืองเชียงกลาง เมืองและ เมืองงอบ เมืองปอน เมืองเบือ เมืองเชียงคาน เมืองยอด เมืองสะเกิน เมืองยาว ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเชียงกลาง
๖. แขวงน้ำของ คือรวมเมืองงอบ เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน เมืองเงิน ให้มีที่ว่าการตั้งที่เมืองเชียงลม
๗. แขวงน้ำอิง คือรวมเมืองเชียงคำ เมืองเชียงแลง เมืองเทิง เมืองงาว เมือง เชียงของ เมืองเชียงเคี่ยน เมืองลอ เมืองมิน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเทิง
๘. แขวงขุนยม คือรวมเมืองเชียงม่วน เมืองสะเอียบ เมืองสระ เมืองสวด เมืองปง เมืองงิม เมืองออย เมืองควน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปง
แขวงหนึ่งแบ่งออกเป็น “พ่ง” มีประมาณ ๑๐ พ่งๆ หนึ่งแบ่งออกเป็นหมู่บ้านมีประมาณ ๑๐ หมู่บ้าน ๆ หนึ่งมีลูกบ้านประมาณ ๒๐ คน
แขวงหนึ่งให้มี “นายแขวง” ๑ คน “รองแขวง” ๒ คน หรือหลายคนตามการมากและน้อยและมี “สมุห์บัญชี” ๑ คน เสมียนใช้ตามสมควร
พ่งหนึ่งให้มี “เจ้าพ่ง” ๑ คน มีศักดิ์เป็นพญามี “รองเจ้าพ่ง” อีก ๑ หรือ ๒ คน ตามพ่งน้อยและใหญ่กับมีล่ามอีก ๒ คน (ต่อมาได้เปลี่ยนพ่งเป็นแคว้น)
หมู่บ้านหนึ่งให้มี “แก่บ้าน” คนหนึ่ง
๒. เจ้าหน้าที่ปกครอง
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครองให้เรียกนามตำแหน่งดังนี้
๑. กองบัญชาการ – ให้มีข้าราชการ ๓ นาย คือ เจ้าผู้ครองนคร ๑ ข้าหลวงประจำเมือง ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ รวมเรียกว่า “เค้าสนามหลวง”
๒. กองขึ้นแก่เค้าสนามหลวง – ให้มีข้าราชการขึ้นอยู่กับในเค้าสนามหลวง ๖ ตำแหน่ง คือ พนักงานมหาดไทย ๑ พนักงานยุติธรรม ๑ พนักงานทหาร ๑ พนักงานคลัง ๑ พนักงานนา ๑ พนักงานวัง ๑
พนักงาน ๖ ตำแหน่งนี้มีพนักงานเป็นหัวหน้า ๑ และพนักงานรองเสมียนคนใช้ตาม สมควร กับมีพนักงานกรมการแขวงตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
๓. หน้าที่และอำนาจของเจ้าหน้าที่
ได้วางระเบียบไว้ดังนี้
๑. เจ้าผู้ครองนคร มีหน้าที่รักษาราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อยต่างพระเนตรพระกรรณเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะการในพื้นเมือง เป็นผู้ออกอาชญาหมายคำสั่งพนักงาน ๖ ตำแหน่งตามข้อความซึ่งได้ปรึกษาหารือในที่ประชุมเค้าสนามหลวงและมีอำนาจบังคับบัญชาราชการในบานเมืองให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงในที่ประชุมเค้าสนามหลวงกับบังคับบัญชาว่ากล่าวเจ้านายบุตรหลานเพี้ยท้าวแสนวงศ์ญาติตามที่ชอบด้วยหน้าที่ราชการและพระราชกำหนดกฎหมาย
๒.ข้าหลวงประจำเมือง มีหน้าที่ตรวจตรารักษาราชการต่างพระเนตรพระกรรณทุกอย่าง เป็นผู้โต้ตอบในการที่เกี่ยวกับต่างประเทศทั้งปวง เป็นผู้มีใบบอกและหนังสือราชการไปมากับกรุงเทพฯ ข้าหลวงใหญ่ ณ ที่ว่าการมณฑลและเมืองอื่นๆ นอกจากในพื้นเมืองน่าน ตามความที่ได้ตกลงในที่ประชุมเค้าสนามหลวง เป็นผู้แนะนำและสั่งพนักงานให้รับราชการตามหน้าที่ทุกอย่างและมีอำนาจสั่งให้หยุดยั้งหรือถอนอาชญาหมายคำสั่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้านายคนใดซึ่งข้าหลวงเห็นว่าไม่ชอบด้วยราชการหรือไม่ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย ในระหว่างมีใบบอกไปหารือที่ว่าการมณฑลหรือบอกไปยังกรุงเทพฯ ได้ทุกอย่าง เป็นผู้ตรวจและเซ็นชื่อในคำพิพากษาของศาลในระหว่างที่กระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้จัดตั้งศาล กับเป็นผู้อนุญาตตั้งและย้ายตำแหน่งข้าราชการ ขึ้นและลดเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าชั้นพนักงานรองลงไป
๓. ข้าหลวงผู้ช่วย มีหน้าที่แทนข้าหลวงประจำเมืองในเมื่อข้าหลวงประจำเมืองไม่อยู่หรือป่วย และช่วยงานในตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองทุกอย่าง
๔. พนักงาน ๖ ตำแหน่ง มีหน้าที่ทำการตามคำสั่งของเค้าสนามหลวงและรับผิดชอบโดยเฉพาะในหน้าที่ของตำแหน่ง คือ
๑) พนักงานมหาดไทย ว่าการปกครอง
๒) พนักงานยุติธรรม ว่าการพิจารราพิพากษาอรรถคดี และการจัดการศาลตามแบบศาลในพื้นเมือง
๓) พนักงานทหาร ว่าการปราบปรามโจรผู้ร้าย (การตำรวจ)
๔) พนักงานคลัง ว่าการคลัง
๕) พนักงานนา ว่าการเก็บเงินผลประโยชน์แผ่นดินทั้งปวง
๖) พนักงานวัง ว่าการโยธา การสุขาภิบาล การธรรมการ การไปรษณีย์
๕. พนักงานกรมการแขวง คงมีหน้าที่ในการปกครองท้องที่แบบเดียวกับคณะกรม
การอำเภอปัจจุบันนี้ทุกประการ
๔. การปฏิบัติราชการ
เนื่องด้วยแต่เดิมมา ข้าหลวงและพนักงาน ๖ ตำแหน่งต่างทำการแยกย้ายกันอยู่ที่บ้านคนละแห่งจึงให้มารวมทำการ ณ ที่สนามแห่งเดียวกัน กำหนดให้ข้าราชการต้องรับราชการในสนามวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมง คือตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. เว้นแต่วันพระและวันขัตตฤกษ์ ส่วนการปฏิบัติราชการเมื่อเปิดสนามแล้วกำหนดให้มีเวลาประชุมปรึกษาราชการ ในที่ประชุมนั้นให้มีเจ้าผู้ครองนคร ๑ ข้าหลวงประจำเมือง ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ กับหัวหน้าตำแหน่งทั้ง ๖ รวม ๙ คน พร้อมกันประชุมปรึกษาสั่งราชการซึ่งจะมีมาในเวลาเฉพาะวันนั้นและราชการในหน้าที่ใดมา ให้เจ้าหน้าที่เสนอในคราวประชุม การประชุมนั้นถ้ามีข้าหลวงหรือข้าหลวงผู้ช่วยคนหนึ่ง กับหัวหน้าหรือรอง ๖ ตำแหน่งอีก ๓ นาย รวมเป็น ๔ นาย ให้เป็นองค์ประชุมสั่งราชการได้
การประชุมปรึกษาราชการนั้น ถ้าความเห็นสอดคล้องต้องกันทั้ง ๖ คน ก็ให้จัดสั่งราช-การไป ถ้าความเห็นแตกต่างกันประการใดไม่เป็นที่ตกลงกันได้ก็ให้ข้าหลวงประจำเมือง ๑ เจ้าผู้ครอง-นคร ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ รวมเป็น ๓ นาย ซึ่งเป็นเค้าสนามหลวง พร้อมกันประชุมปรึกษาหารือสั่งเป็นเด็ดขาด ถ้าคนทั้ง ๓ มีความเห็นแตกต่างไม่ตกลงกัน ให้เอาความเห็นข้างมากเป็นคำตกลงกันเด็ดขาดและถ้าความเห็นแตกต่างกันเช่นนี้บังเกิดขึ้นเมื่อคนใดในเค้าสนามหลวงมาประชุมไม่ได้จะเป็นโดยเหตุประการใดก็ดี มีอยู่แต่เพียง ๒ นาย ก็ต้องถามความเห็นอีกคนหนึ่งก่อนจึงจะเป็นการตกลงกันได้ หรือถ้าเป็นการสำคัญมากก็ให้แจ้งความไปยังที่ว่าการมณฑลขอหารือและรับคำสั่งเป็นเด็ดขาด
การสิ่งใดที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมแล้ว จึงให้จัดทำไปตามหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งออกอาชญาหรือมีหนังสืออ้างว่าเป็นราชการไปด้วยประการใดๆ นอกจากที่ได้ประชุมตกลงเห็นชอบแล้วนั้น เว้นแต่ถ้ามีราชการร้อนที่จำเป็นจะต้องจัดต้องสั่งโดยเร็วจึงให้ข้าหลวงปรึกษาพร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครจัดสั่งไปแล้วจึงแจ้งต่อที่จะต้องทำในทันที จึงให้ข้าหลวงจัดส่งไปได้ แล้วแจ้งให้ที่ประชุมทราบภายหลัง
นอกจากการวางระเบียบราชการที่พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้จัดขึ้นดังกล่าวแล้วยังได้ปรึกษาเป็นที่ตกลงกับเจ้าผู้ครองนครถึงการจัดราชการบ้านเมืองอย่างอื่นอีก ส่วนที่สำคัญคือ
๑. เรื่องการเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องนำไปสู่พระราชบัญญัติการ -
เก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙
๒. เรื่องยกค่าตัวทาสและยกบุตรหลานค่าหอคนโรงในการที่จะผ่อนผันให้พ้นจากความเป็นทาสซึ่งเป็นเรื่องนำไปสู่พระราชบัญญัติทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ณ.ศ. ๙
๓. เรื่องสร้างสนามขึ้นใหม่ เจ้าผู้ครองนครยอมถวายที่ดินให้เป็นที่ปลูกสร้างและพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานรับจะช่วยออกแรงช้างในการชักลากไม้จนสำเร็จการ ซึ่งเป็นผลให้ได้มีสนามถาวรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ (คือศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน)
๔. เรื่องเรือนจำ ในขณะนั้นที่คุมขังนักโทษยังแยกอยู่นอกเวียงแห่งหนึ่งในเมืองเวียงแห่งหนึ่ง ข้าหลวงจะเลิกตะรางนอกเวียงเสีย เพราะทำไว้เปล่าไม่มีนักโทษ ฝ่ายตะรางในเวียงก็รกชำรุด ข้าหลวงและเจ้าผู้ครองนครจะซ่อมและขยายตะรางในเวียงให้เป็นไปตามข้อบังคับเรือนจำ ร.ศ. ๑๑๘
ต่อมารุ่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้กฎข้อบังคับสำหรับ ปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้น ซึ่งเป็นข้อบังคับพิเศษใช้ต่อเนื่องกับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ ในส่วนระเบียบราชการนั้นคงมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วทุกประการ การปฏิบัติราชการได้ดำเนินการตามรูปนี้เป็นลำดับมาจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยจังหวัดดังกล่าวนี้มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารและได้ยกเลิกมณฑลเสีย
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง มีสาระสำคัญคือ
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
๒. อำนาจบริหารราชการของจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของคณะกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ฐานะของกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราช การจังหวัด
ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ สาระสำคัญมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นระเบียบบริหารราชการที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดน่าน. อ่างทอง : วรศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๐.
สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
ดินแดนจังหวัดน่านปัจจุบัน ในโบราณสมัยเป็นอาณาจักรเล็กๆ ส่วนหนึ่งในลานนาไทยตั้งอยู่ในอาณาจักรใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่า ทางทิศตะวันตกได้แก่ ลานนาไทย ซึ่งมีเชียงใหม่เป็น ราชธานีสำคัญ และพม่าซึ่งอยู่ถัดต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีหลวงพระบางและสิบสองปันนา กับมีอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางทิศใต้ ฉะนั้นสภาพการของแคว้นน่านจึงตกอยู่ด้วยเหตุผลว่า ถ้าอาณาจักรใดมีอำนาจมาก แคว้นน่านก็ตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรนั้น ที่จะตั้งเป็นเอกราชโดยลำพังตนเองนั้น เท่าที่ปรากฏในประวัติความเป็นมา ที่น้อยที่สุด โดยถูกรั้งกันไปรั้งกันมาอยู่ จนกระทั่งอาณาจักรสยามได้รวบรวมอาณาจักรลานนาไทยทั้งหมดไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมัยใดที่แคว้นน่านตกอยู่ในความปกครองของอาณาจักรสยามหรือลานนาไทยด้วยกัน สมัยนั้นความรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุขก็มีเป็นปกติอยู่แก่บ้านเมือง เพราะอาณาจักรทั้งสองนี้ปกครองด้วยความยุติธรรมและปรารถนาดี ปราศจากเสียซึ่งการวิหิงสาเบียดเบียน ถ้าเมื่อใดต้องตกไปอยู่ในความปกครองของพม่า บ้านเมืองก็เดือดร้อนระส่ำระสายเพราะวิธีการปกครองของพม่าไม่เป็นการสร้างสรรค์มีแต่จะทำลาย และกอบโกยหาผลประโยชน์ในเมืองขึ้นด้วยลักษณะทารุณกรรมนานาประการ ซึ่งปรากฏเป็นพฤติการณ์อันขมขื่นเกิดขึ้นแก่ชาติทั้งปวงที่ตกอยู่ในสมัยที่พม่ามีอำนาจอยู่ทั่วๆ กัน นอกจากนี้แคว้นน่านยังถูกรุกรานราวีจากเพื่อนบ้าน ซึ่งมาจากทางหลวงพระบางและสิบสองปันนา บางคราวก็สามารถตีทัพเหล่านี้แตกไป บางคราวก็พาลเสียบ้านเมืองหรือต้องอพยพเข้าป่าถอยร่นไปตั้งอยู่ในเมืองตอนเหนือบ้าง ตอนใต้บ้าง ไม่ใคร่เป็นปกติ นับเป็นประวัติความเป็นมาของแคว้นน่านในยุคโบราณกาล
เมืองน่านกับอาณาจักรลานนาไทย
เบื้องต้นก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติของแคว้น ขอกล่าวถึงอาณาจักรลานนาไทยพอเป็นเค้ามูลก่อน กล่าวคือว่าเดิมนับแต่ชนชาติในอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีนได้อพยพจากเมืองเดิมลงมาสู่พื้นที่ทางใต้และแยกย้ายกันไปตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ แล้ว ส่วนหนึ่งของไทยเดิมได้ข้ามแม่น้ำโขงลงมาสู่แคว้นสยามสุวรรณภูมิ ตั้งเมืองเชียงแสนหรือนครโยนกขึ้นเป็นราชธานี ภายหลังขอมได้แผ่อำนาจขยายอาณาเขตต่อขึ้นมาจนถึงแคว้นโยนก และใช้กำลังกองทัพปราบปรามนครโยนกราบคาบในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ขอมก็เข้าปกครองแคว้นสยามสุวรรณภูมิฝั่งใต้แม่น้ำโขงตลอดไป
ต่อมาพระเจ้าพรหมมหาราชประมุขของชาวไทยในแคว้นโยนก ได้ระดมกำลังเข้าขับไล่ขอมออกไปจากแคว้นโยนก และชิงหัวเมืองใหญ่น้อยของขอมได้เป็นอันมาก แผ่อาณาเขตลงมาตลอดแดนที่เรียกว่า “ลานนา” คือภาพพายัพในปัจจุบันแล้วสร้างนครชัยปราการ (เมืองฝาง) ขึ้นเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรลานนาในราว พ.ศ. ๑๖๖๑
นครชัยปราการดำรงอิสระภาพมาจนราว พ.ศ. ๑๗๓๑ ถึงสมัยพระเจ้าสิริชัยก็ถูกข้าศึก
(ซึ่งตามพงศาวดารต่างๆ กล่าวว่าเป็นมอญบ้าง ไทยใหญ่บ้าง) ยกทัพมาติดนครชัยปราการ พระเจ้าสิริ-ชัยเห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน จึงอพยพพลเมืองและสมัครพรรคพวกกันลงมาทางใต้ภายหลังเชื้อวงศ์เชียงรายจึงได้ไปเป็นกษัตริย์สำคัญขึ้นในกรุงสุโขทัย และเมืองสุพรรณภูมิเรียกว่า ”ราชวงศ์เชียงราย” เป็นลำดับต่อไป
ฝ่ายข้างอาณาจักรลานนาตั้งแต่พระเจ้าสิริชัยทิ้งนครชัยปราการอพยพมาทางใต้แล้วจำ-เนียรกาลต่อมาพวกไทยที่เหลืออยู่ก็ควบคุมกันตั้งบ้านเมืองขึ้นหลายแห่ง ต่างฝ่ายต่างตั้งเป็นอิสระแก่กัน ตลอดทั้งอาณาจักรในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หัวเมืองต่างๆ ที่เป็นนครใหญ่ที่สำคัญมี ๓ นคร คือ
- นครเงินยาง (เชียงแสน) ตั้งอยู่ฝ่ายเหนือ
- นครพะเยา ตั้งอยู่ตอนกลาง
- นครหริภุญชัย ตั้งอยู่ฝ่ายใต้
และนครน่านก็เชื่อว่าได้กำเนิดขึ้นแล้วในยุคนั้น
แต่เค้าเงื่อนตามพงศาวดารโยนกอันกล่าวถึงตำนานฝ่ายเหนือได้ความว่า ขอมซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองละโว้ได้มามีอำนาจปกครองอาณาจักรลานนาทั้งหมด โดยให้ราชธิดาอันมีนามว่า “พระนางจามเทวี” ขึ้นครองเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เมื่อพระเจ้าอนุรุธราชา- ธิราชแห่งกรุงพุกาม แผ่อาณาจักรเข้ามาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขับไล่ขอมออกไป ต่อมาพวกลานนาได้กลับตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นที่เมืองเชียงแสนอีกวาระหนึ่ง ผู้ที่เป็นปฐมกษัตริย์ต้นวงศ์นี้ มีนามว่า “จักกราช” ซึ่งมีกษัตริย์สืบราชวงศ์ครองเมืองอยู่ทั่วอาณาจักรลานนาทั้งปวง ตามตำนานอันว่าด้วยลำดับวงศ์จัก-กราชข้างฝ่ายเมืองน่าน ก็ยืนยันไว้ว่ากษัตริย์ครองเมืองน่านในยุคโบราณได้สืบมาจากวงศ์นี้ด้วย
กำเนิดของเมืองน่าน
ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เมืองน่านได้มีกำเนิดเป็นหลักฐานครั้งแรกที่เมืองวร-นคร (เมืองปัว) ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดน่านในปัจจุบัน ตามพงศาวดารกล่าวว่า พระยาภูคาเจ้าเมืองย่าง (อยู่ในท้องที่ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว) มีราชบุตร ๒ องค์ องค์พี่ชื่อ “ขุนนุ่น” องค์น้องชื่อ “ขุนฟอง” เมื่อเจริญวัยขึ้น พระมหาเถรแตงได้สร้างเมืองทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงชื่อว่า “จันทบุรี” (หลวงพระบาง) ให้แก่ขุนนุ่นผู้พี่ แล้วสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำน่านชื่อว่า “วรนคร” ให้แก่ขุนฟองผู้น้องและปันอาณาเขตของสองเมืองขึ้นคือฝ่ายวรนครทิศเหนือถึงเมืองท่านุ่นริมฝั่งแม่น้ำโขง ทิศใต้สุดศาลเมืองล่าง (เข้าใจว่าเป็นเมืองย่าง) เป็นแดน กาลเวลาดังกล่าวตกอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัย ทางอาณาจักรลานนาก็มีพระยางำเมืองเป็นเจ้าเมืองพะเยา และพระยาเม็งรายเป็นเจ้านครเชียงราย ในขั้นแรกที่สร้างเมืองนี้ขึ้นนั้น ไม่ปรากฏศักราชว่าเป็นพุทธ-ศักราช ๑๘๖๕ ก็ต่อเมื่อเจ้าเมืองวรนครได้ล่วงไปแล้วถึง ๒ องค์ ถ้าจะคาดคะเนตามเหตุการณ์ในพงศาวดารเมืองน่านตอนนี้และนับถอยหลังหวนไปหาการตั้งเมืองวรนครแล้ว ก็ไม่เกิน ๔๐ ปี คือประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๕
แต่ตามพงศาวดารโยนกที่กล่าวตามตำนานเมืองเชียงแสนอันว่าด้วยลำดับวงศ์จักกราชซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ของลานนาในเมืองเชียงราย กล่าวว่า นับตั้งแต่ลาวจักกราชไปได้ ๑๒ ชั่วกษัตริย์ถึงพระยาลาวจังกาเรือนแก้ว ก็เสียเมืองไชยวรนครเชียงรายให้แก่พระยาน่านหรือนันทบุรีผู้ชื่อว่า “พระยากือคำล้าน” ราว พ.ศ. ๑๕๑๘ ประการหนึ่ง
กับเมื่อขุนเจืองกษัตริย์เมืองพะเยา ลำดับที่ ๒ มีอายุได้ ๑๖ ปี คือ พ.ศ. ๑๖๕๗ ได้มาคล้องช้าง ณ เมืองน่าน พระยาน่านผู้มีนามว่า “พลเทวะ” ยกราชธิดานามว่า “พระนางจันทรเทวี” ให้เป็นภรรยาของขุนเจืองประการหนึ่ง
หรือในขั้นหลังที่สุด เมื่อขุนเจืองได้ปราบดาภิเษกครองเมืองแกวได้ ๑๔ ปี คือ พ.ศ.
๑๖๙๑ มีโอรสกับพระนางอู่แก้วราชธิดาพระยาแกว ๓ องค์ ผู้พี่ชื่อ “ท้าวอ้ายผาเรือง” ผู้กลางชื่อ “ท้าว ยี่คำหาว” ผู้น้องชื่อ “ท้าวสามชุมแสง” ครั้นราชกุมารทั้งสามเจริญวัยแล้ว จึงยกราชสมบัติเมืองแกวให้แก่ท้าวอ้ายผาเรืองผู้เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ แล้วโอรสผู้กลางชื่อท้าวยี่คำหาวให้ไปเป็นพระยาครองเมืองลานช้าง และโอรสผู้น้องอันชื่อท้าวสามชุมแสงมาเป็นพระยาครองเมืองนนทบุรี (น่าน) ดังนี้
แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า เมืองน่านเดิมได้ตั้งเป็นรากฐานขึ้นในครั้งใดก็ดีแต่ตามเรื่องราวของเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองน่านในสมัยต่างๆ ข้างต้นนี้ ทำให้เห็นได้ว่าเมืองน่านได้ตั้งมานานแล้วเท่าๆ กับหรือเก่าแก่กว่าเมืองโบราณบางเมืองในลานนาไทยด้วยกัน ซึ่งต้องมีหลักฐานมาก่อนตั้งที่เมืองวรนครนี้ อนึ่ง ในรัชสมัยของพระเจ้าพ่อรามคำแหง (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๖๐) ปรากฏในศิลาจารึกว่าเมืองน่านเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นแก่กรุงสุโขทัยเมืองหนึ่งจึงเข้าใจว่าเมืองน่านในครั้งนั้นมิใช่แต่จะได้มีกำเนิดขึ้นด้วยอายุอันช้านาน ยังได้รวมกันตั้งอยู่เป็นบ้านเมืองมีเขตแดนเป็นปึกแผ่นแล้วอีกด้วย แม้จะยังไม่กว้างขวางใหญ่โต แต่ก็คงเป็นเมืองชั้นราชธานี จึงจัดเข้าอยู่ในอันดับว่าเป็นเมืองประเทศราชเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ขึ้นแก่กรุงสุโขทัย
นามเมือง
นามเดิมปรากฏแต่เดิมมาเรียกว่า “เมืองน่าน” บ้าง “เมืองนาน” บ้าง “นันทบุรี” บ้าง แต่ ตามศิลาจารึกของพระเจ้าพ่อขุนรามคำแหง ราว พ.ศ. ๑๘๒๐ เศษ เรียกว่า “เมืองน่าน” ส่วนนามที่เรียกว่า “เมืองนาน” นี้ ปรากฏในตำนานพระธาตุแช่แห้ง ว่าเป็นนามที่ได้มีขึ้นโดยพุทธทำนาย แต่ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเกี่ยวด้วยความนิยมของชาวลานนาไทยในการแต่งตำนานในอันที่จะสืบสาวราวเรื่องให้เข้าไปต่อเนื่องกับสมัยพุทธกาลเป็นข้อใหญ่ เพราะนาม “เมืองน่าน” นั้น มีเหตุผลเพียงเพื่อจะยกย่องพระธาตุแช่แห้งอันเป็นปูชนียสถานสำคัญของบ้านเมืองให้มีกำเนิดขึ้นในสมัยพุทธกาลเท่านั้น และคำที่เรียกว่า ”เมืองนาน” นั้นก็ไม่ปรากฏเรียกในพงศาวดารเมืองน่านเลย นอกจากจะเรียกกันในตำนานพระธาตุแช่แห้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็หายไป ส่วนนาม “นันทบุรี” ปรากฏว่าเรียกกันอยู่แทบทุกตำนาน และเชื่อว่าได้มีกำเนิดขึ้นในชั้นหลังในสมัยมัธยมประวัติ เพระครั้งนั้นทางลานนามีผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีมาก เหตุแต่ได้มีพระสงฆ์ในลังกามาสืบศาสนาติดต่อกับลานนาอยู่ช้านาน นาม “นันทบุรี” ที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ไม่จำเป็นจะต้องเอาความหมายจากนามเดิม เพียงแต่ให้มีสำเนียงสัมผัสสอดคล้องกันไปกับคำเดิมเท่านั้น แม้ว่า “เมืองน่าน” จะได้คำใหม่ว่า “นันทบุรี” แล้ว ก็ยังมิได้ทิ้งนามเดิมเสียทีเดียวคงเรียกคู่กันมาว่า “นันทบุรี ศรีนครน่าน” ซึ่งใช้กันในทางราชการในสมัยโบราณและศุภอักษร นามเมือง “นันทบุรี” เป็นนามที่ไพเราะและมีความหมายเป็นมงคลนาม แต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยาก ความที่ไม่นิยมในการที่จะต้องเขียนหรือเรียกกันยืดยาว จึงหันกลับมานิยมนามเมืองไปตามเดิมว่า “เมืองน่าน” ตราบมาจนถึงปัจจุบัน
อนึ่ง ในตำนานพระอัฒภาค เรียกชื่อเมืองน่านว่า “นันทสุวรรณนคร” และในตำนานชิน-กาลมาลินี เรียกว่า “กาวราชนคร” นัยว่าเป็นแคว้น “กาว” ซึ่งเลือนมาจากคำว่า “แกว, กอย, ก้อ และกุ๊ย” ซึ่งเป็นภาษาจีนแปลว่า “ผี” หรือ “พวกดำมืด” (อนารยะ) อันหมายถึงชนชาติที่น่าอาศัยอยู่ใน แคว้นน่านแต่ดึกดำบรรพ์ ตำนานเก่าๆ มักเรียกเมืองน่านอีกคำหนึ่งว่า “กาวน่าน” คำนี้น่าจะถูกเรียกจากชนชาติที่เจริญอันอยู่ทางเหนือ เพราะคำว่า “น่าน” มีสำเนียงคล้ายกับคำจีนว่า “น่าง” ซึ่งแปลว่าทิศใต้ ฉะนั้น “กาวน่าน” ก็คือ “คนดำที่อยู่ทางทิศใต้” นั่นเอง ความข้อนี้อาจผิดหรือถูกก็ได้แต่ก็ปรากฏว่าได้มีพวก “กาว” หรือ “แกว” ฝ่ายตะวันออกอันอยู่ใกล้เคียงกับกาวฝ่ายใต้อยู่อีกพวกหนึ่งคือญวนในปัจจุบัน และนามของแคว้นน่านเดิมน่าจะมีนามมาจาก “กาวน่าน” ตามตำนานเก่าและเหตุผลที่กล่าวแล้ว น่าจะถูกต้องกว่านามอื่นๆ ต่อมาเมื่อชนชาติพวกหนึ่งได้อพยพตั้งอยู่ในแถบแคว้นกาวน่านแล้ว คำว่า “กาว” จึงได้หายไป คงเหลือเฉพาะแต่คำว่า “น่าน” เป็นนามเมืองมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
อาณาเขตเมืองน่านในสมัยโบราณ
การที่จะทราบว่าอาณาเขตเมืองน่านในสมัยโบราณมีเพียงไรนั้น เป็นการที่ยากที่จะทราบได้ เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏพอที่จะจับเอาเป็นเค้าเงื่อนได้ มาทราบเรื่องพอเป็นเลาๆ ก็ต่อเมื่อตอนตั้งเมืองที่ “วรนคร” กล่าวคือ ได้ระบุอาณาเขตของวรนครไว้ดังนี้
- ทิศเหนือติดต่อกับเมืองพระบาง เมืองท่านุ่น อันเป็นเมืองเล็กๆ (หรือตำบล) อยู่ ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
- ทิศใต้ จดเมืองย่าง
- ทิศตะวันออกและตะวันตก ไม่ปรากฏ
แต่สำหรับอาณาเขตทางทิศตะวันตกนั้น พอจะทราบได้จากอาณาเขตของเมืองพะเยาซึ่งอยู่ติดต่อกันและมีอาณาเขตซึ่งกล่าวไว้ชัดเจนในสมัยเดียวกัน คือ กล่าวว่า "หนหรดีของพะเยา" ตั้งแต่ดอยหลักไก่ ไต่สันเขา ไปหนบูรพ ถึงห้วยผากาด, ตาดม่าน (ตาดแปลว่าน้ำตก), ปางซี่พัน, ไหม- สามเชื้อ (สามอย่าง), สบห้วยน้ำกู (สบห้วยคือปากห้วย), ล่องน้ำพุงไปจับน้ำยม (จับคือพบถึง), ขึ้นตามน้ำยมไปจับปากน้ำปัน, แล้วไปจับห้วยบ่อทอง, แล้วไต่ตามสันเขาไปจับตาดเซาวา ฯลฯ ซึ่งอาณาบริเวณตามลุ่มน้ำยมที่กล่าวนั้น เป็นดินแดนของอำเภอปงในปัจจุบัน และอาณาเขตของเมืองพะเยา กับวรนครน่าจะติดต่อกันที่ทิวเขาดอยภู่, ดอยวาว ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอปงกับอำเภอปัวนั่นเอง เพราะดอยทั้งสองนี้เป็นสันเขาที่กั้นพื้นที่ทางลุ่มแม่น้ำยมกับพื้นที่ทางฟากตะวันออกให้แยกออกจากกัน
ภายหลังเมื่อได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านห้วยได้คือเมืองน่านปัจจุบันแล้ว ปรากฏว่าทางทิศใต้มีอาณาเขตยาวไปจนถึงอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอาณาเขตของแคว้นน่านมาแต่เดิม และทางตะวันตกท้องที่ในแถบลุ่มแม่น้ำยมก็เข้ามารวมอยู่ในเขตของอำเภอเมืองน่าน แต่อาณาเขตทางทิศเหนือนั้น น่าจะถูกร่นมามาก เพราะในระยะหลังปรากฏว่าถูกแคว้นล้านช้างและแกวรุกรานเข้ามาจนถึงชานเวียง ฉะนั้น อาณาเขตของเมืองน่านจึงย่อมเอาเป็นยุติมิได้เลย เพราะเกี่ยวกับการขยายและการแผ่อำนาจของบ้านเมืองใกล้เคียงอยู่เป็นปกติ
ต่อมาเมื่อหัวเมืองใหญ่น้อยในลานนาไทยทั้งปวงได้ตกเป็นอาณาเขตของพระราชอาณา-จักรสยามแล้ว คือเมื่อครั้งทางการปกครองยังยกเมืองใหญ่ๆ ในลานนาไทยให้เป็นเมืองประเทศราชขึ้น ตรงต่อกรุงเทพมหานครนั้น ด้วยความสวามิภักดิ์และความอุตสาหะวิริยภาพของเจ้าผู้ครองนครน่านได้เป็นกำลังสำคัญในพระราชสงครามทางฟากแม่น้ำโขงอย่างแข็งแรงเป็นอันดีได้เพิ่มพูนดินแดนที่ตีได้เข้ามาอยู่ในความปกครองของจังหวัดน่านเป็นบำเหน็จรางวัลเป็นอันมากและนับแต่ ร.ศ. ๑๒๒ มาจนถึงระยะหลังสุดก่อนถึงปัจจุบัน จังหวัดน่านมีอาณาเขต ดังนี้
- ทิศเหนือ จดฝั่งแม่น้ำโขง ที่เมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย
- ทิศตะวันตก โอบอาณาเขตบางส่วนของจังหวัดเชียงรายทางแม่น้ำอิง เรื่อยลงมาจนจดเข้าไปในเขตแม่น้ำยมท้องที่อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยาและติดต่อกับจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่
- ทิศตะวันออก จากทิศเหนือล่องตามฝั่งแม่น้ำโขง ตัดตรงลงมาทางเมืองเชียงลม เชียงฮ่อน ไปเมืองเงิน แล้วไปจดทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งทอดลงมาทางใต้
- ทิศใต้ เลยเข้าไปในจังหวัดอุตรดิตถ์ สิ้นเขตที่บ้านผาเลือด อำเภอท่าปลา กับมีเมืองสิงห์, เมืองนัง, เมืองหลวงน้ำทา, เมืองภูคา, เมืองเชียงราบ, เมืองเชียงแข็ง ซึ่งอยู่ตามฟากแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายเป็นเมืองขึ้นอีกด้วย
สมัยกรุงสุโขทัย
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐ มีบุคคลสำคัญเกิดขึ้นในลานนาไทย ๒ คน คือพระยา งำเมือง เจ้าเมืองพระเยาองค์หนึ่ง กับพระยาเม็งรายเจ้าเมืองเชียงรายองค์หนึ่ง ส่วนทางอาณาจักรสุโขทัยมีพระเจ้ารามคำแหง เป็นพระมหากษัตริย์ที่เรืองพระเดชานุภาพอยู่ทางทิศใต้อีกพระองค์หนึ่ง
วาระแรกที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน หลังจากแคว้นน่านได้ตั้งวรนครขึ้นแล้ว มิช้า
พระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยาก็เข้ามายึดเมืองวรนครเป็นเมืองขึ้น การเข้ามาถือเอาซึ่งเมืองวรนครครั้งนี้เป็นการง่ายมาก มิได้มีการรบพุ่งแต่อย่างใด เพราะทางฝ่ายวรนครไม่ทันรู้ตัว เตรียมการป้องกันไม่ทัน ครั้งนั้นเจ้าเมืองวรนครเป็นผู้หญิง เป็นชายาของพระเจ้าเก้าเถื่อนเจ้าเมืองวรนครอันดับที่ ๒ ซึ่งได้ละเมืองวรนครไว้ให้แก่ชายา แล้วไปครอบครองเมืองย่างอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง การที่เสียเมืองวรนครให้แก่แคว้นพะเยาครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าเก้าเถื่อนทำการแก้มือแก่พระยางำเมืองแต่ประการใด เห็นจะไม่มีกำลังพอที่จะทำการตอบแทนนั่นเอง ในพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า ในขณะที่พระยางำเมืองเข้ามาถึงวรนครนั้น นางพระยาวรนครได้หนีออกไปจากเมืองได้ไปคลอดบุตรระหว่างทางเป็นชาย ภายหลังเมื่อกุมารนั้นมีอายุ ๑๖ ปี ได้ถวายตัวอยู่ในราชสำนักพระยางำเมือง และพระยางำเมืองโปรดปรานให้นามว่า ขุนใส่ยศ และให้ไปครองเมืองปราด ส่วนเมืองวรนครนั้น พระยางำเมืองให้นางชายาผู้หนึ่งชื่อว่า อั้วลิมกับบุตรชายชื่อว่าอามป้อมมาครอง ภายหลังนางอั้วลิมเกิดผิดใจกับพระยางำเมืองด้วยเรื่องเป็นเชิงว่าพระยางำเมืองระแวงในความจงรักภักดีของนาง นางเจ็บใจจึงร่วมคิดกับขุนใส่ยศ เจ้าเมืองปราดแข็งเมืองต่อพระงำเมืองและมาตั้งอยู่ที่วรนคร แล้วขุนใส่ยศกับนางอั้วลิมก็สมสู่อยู่ด้วยกันฉันท์สามีภริยา ความทั้งนี้ทราบถึงพระยางำเมืองจึงยกกองทัพมาตีวรนคร ทางฝ่ายเมืองวรนครให้เจ้าอามป้อมเป็นทัพยกออกไปเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายได้ปะทะทำการรบกันเพียงเล็กน้อย พระยางำเมืองก็เลิกทัพกลับไป นับว่าเกิดความสลดพระทัยในการที่บิดากับบุตรต้องมาทำสงครามกัน
ต่อจากนี้ขุนใส่ยศได้อภิเษกเป็นเจ้าเมืองวรนคร มีนามว่า “พระยาผานอง” ในปี ๑๘๖๕ นับแต่นั้นมาการเกี่ยวข้องระหว่างแคว้นพะเยากับแคว้นน่านก็ขาดตอนไปเฉยๆ ไม่มีเรื่องกล่าวถึงกันอีกเลย
ส่วนการเกี่ยวข้องระหว่างเมืองน่านกับกรุงสุโขทัย ได้ความตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมืองน่านเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัย ข้อความทั้งนี้ไม่มีปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน และไม่ทราบว่าไปขึ้นในปีใด ศิลาจารึกนี้เข้าใจว่าจารึกในราว พ.ศ. ๑๘๓๕ พ่อขุนรามคำแหงเสวยราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๒๐ ถ้าคิดอย่างไม่ละเอียดก็ตกอยู่ในระหว่างรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงระยะ ๑๕ ปีนี้ ปัญหาจึงมีว่าเมืองน่านไปขึ้นแก่แคว้นพระเยาก่อนหรือกรุงสุโขทัยก่อน แต่ข้อนี้เมื่อวิจารณ์ตามรัชสมัยของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้ คือ พระยางำเมืองเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๑ และพ่อขุนราม-คำแหงเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ โดยถือว่าเมืองน่านคือวรนครเป็นหลักแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าเมืองน่านต้องขึ้นแก่แคว้นพะเยาก่อน เพราะถ้าขึ้นแก่กรุงสุโขทัยก่อนแล้ว พระยางำเมืองจะมาตีเมืองน่านมิได้เลย ด้วยเมืองน่านขึ้นแก่กรุงสุโขทัยอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๓๕ และการที่พระยางำเมืองจะมาชิงเมืองขึ้นของพ่อขุนรามคำแหงนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะปรากฏว่าแคว้นพะเยาในสมัยนั้นไม่มีกำลังพอที่จะแย่งอำนาจกับเมืองใหญ่ เช่น กรุงสุโขทัยได้
แม้ว่าจะเป็นอันยุติว่า เมืองน่านขึ้นต่อแคว้นพะเยาก่อนกรุงสุโขทัยแล้วก็ดี แต่เมื่อได้ใคร่ครวญถึงปีที่พระยาผานองแข็งเมืองต่อพระยางำเมือง และขึ้นครองเมืองวรนคร ใน พ.ศ. ๑๘๖๕ แล้วก็ทำให้ฉงนอีก เพราะเมืองน่านขึ้นแก่กรุงสุโขทัยในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๓๑ ดังกล่าวแล้ว ถ้าเช่นนั้นคำที่ปรากฏในศิลาจารึกว่าเมืองน่านอาจไม่อยู่ในวรนครก็เป็นได้ เมืองย่างเป็นเมืองเดิมอยู่ในแคว้นน่าน ส่วนวรนครเพิ่งจะเกิดทีหลังในราว พ.ศ. ๑๘๒๕ ชะรอยเมืองน่านในศิลาจารึกนั้น จะได้แก่เมืองย่างและคงจะไปขึ้นแก่กรุงสุโขทัยก่อน พ.ศ. ๑๘๒๕ คือประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๒๔ ซึ่งก่อนกำเนิดของเมืองวรนคร เมืองวรนครจึงตั้งอยู่เป็นอิสระ แม้สองเมืองนี้ภายหลังจะเป็นเมืองอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เมืองวรนครก็เพิ่งจะตั้งขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ ซึ่งพระยางำเมืองก็คงจะถือว่าเมืองวรนครเป็นเมืองอิสระอยู่อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงได้ยกกำลังเข้ามาครอบครอง ฝ่ายพระยาผานองเมื่อได้มาตั้งอยู่ที่วรนครแข็งเมืองต่อแคว้นพะเยาแล้ว ในชั้นนี้เองที่ได้เข้าไปสวามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงสุโขทัย ด้วยเหตุนี้เมื่อพระยางำเมืองยกทัพมาปราบวรนคร จึงต้องเลิกทัพกลับไป คงมิใช่เกิดความสลดใจที่จะต้องทำการรบกับลูกอกตัญญูเป็นแน่
ต่อมาเมื่อพระยาเก้าเถื่อนเจ้าเมืองย่างถึงแก่พิราลัยแล้ว เมืองย่างก็รวบเป็นเมืองเดียวกับวรนคร
อันดับกาลต่อไป ทางกรุงสุโขทัย เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนามว่า พระเจ้าฤไทชัยเชษฐ์ หรือพระเจ้าเลอไทในรัชกาลนี้พระเจ้าแสนเมืองมิ่ง พระเจ้ากรุงเมาะตะมะแห่งราชวงศ์ฟ้ารั่วแข็งเมือง แล้วยกกองทัพมาตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีของอาณาจักรสุโขทัยได้ในปี พ.ศ. ๑๘๖๑ พระเจ้าฤไทยชัยเชษฐ์แต่งกองทัพไปปราบปรามก็ไม่สำเร็จ แต่นั้นมาอาณาจักรสุโขทัยก็เสื่อมลง เป็นเหตุให้บรรดาหัวเมืองขึ้นชั้นนอกพากันกระด้างกระเดื่องขึ้นเป็นลำดับ
ฝ่ายทางอาณาจักรลานนาไทยราชวงศ์พระยาเม็งรายได้สืบราชสมบัติต่อกันมาจนถึงพระ-ยาคำฟู ได้รวบรวมแคว้นลานนาอันมีเมืองหริภุญชัย พะเยา และเงินยางให้กลับรวมกันเข้าเป็นอาณา-จักรอันเดียวกัน ต่อจากกษัตริย์องค์นี้มาอีกองค์เดียว ก็ย้ายราชธานีจากเชียงแสนไปตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ตามเดิม
ส่วนอาณาจักรสุพรรณภูมิอันตั้งอยู่ทางทิศใต้ถัดจากอาณาจักรสุโขทัยลงไป เมื่อเจ้าเมืองอู่ทองถึงแก่พิราลัยแล้ว เชื้อสายราชวงศ์เชียงรายผู้เป็นบุตรเขยก็ได้สืบตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเป็น พระเจ้าอู่ทองสืบต่อมาภายหลังพระเจ้าอู่ทองก็ย้ายราชธานีมาตั้ง ณ เมืองอโยธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ และมีอานุภาพอยู่ทางใต้อีกฝ่ายหนึ่ง
ขณะเมื่ออาณาจักรสุโขทัยอ่อนอำนาจลงนั้น ประเทศราชต่างๆ โดยมากก็คิดตั้งตัวเป็นเอกราช แต่กำลังเมืองประเทศราชทั้งปวงไม่สม่ำเสมอกัน ที่เป็นเมืองเล็กเมืองน้อยก็เห็นจะพ้นวิสัยก็คงจะสงบนิ่งอยู่ ไม่ต้องการอะไรยิ่งไปกว่าที่จะรักษาเอาตัวรอด แม้เมืองอื่นๆ จะได้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงสุโขทัยไปแล้วเป็นอันมาก แต่เมืองน่านยังคงสงบเป็นปกติอยู่ ยังมีการเกี่ยวข้องกับกรุงสุโขทัยโดยฐานะเป็นเมืองออกอยู่เป็นลำดับมา
เรื่องนี้ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านต่อมาว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๙ (ศักราชนี้ปรากฏในตำนานพระธาตุแช่แห้ง) ว่า พระยาการเมืองสืบมาจากพระยาผานองได้เป็นเจ้าเมืองวรนคร ในกาลครั้งนั้นพระยาโสปัตตกันทิ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้ใช้มาเชิญพระยาการเมืองไปช่วยพิจารณาสร้างวัดหลวงอภัยในกรุงสุโขทัย ครั้นสร้างเสร็จแล้ว เจ้าเมืองสุโขทัยได้ให้พระบรมธาตุแก่พระยาการเมือง อันเป็นมูลเหตุของการประดิษฐานพระบรมธาตุของเมืองน่านอีกเรื่องหนึ่ง โดยพระยาการเมืองได้มาเลือกชัยภูมิในอันที่จะประดิษฐานพระบรมธาตุ และเลือกได้สถานที่ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้งนัยว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่กาลก่อนๆ ดอยภูเพียงแช่แห้งนี้เป็นเนินผาเขาดินเตี้ยๆ ตั้งอยู่ใกล้เมืองน้ำเตียนกับแม่น้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับเมืองน่านที่ย้ายมาตั้งในชั้นหลังๆ ห่างออกไปราว ๓ กิโลเมตร แล้วนำลี้พลอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้ ต่อมาพระยาการเมืองมีหทัยศรัทธาปรารถนาใคร่ที่จะได้ปฏิบัติรักษาพระมหาธาตุแช่แห้งอยู่เป็นนิตย์ จึงได้อพยพผู้คนพลเมืองลงมาตั้งเมืองอยู่ ณ ที่แช่แห้ง อันมีพระมหาธาตุตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒
แท้จริงพระยาการเมืองคงจะมิได้มาตั้งเมืองใหม่ด้วยความศรัทธาในพระมหาธาตุแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่จะเป็นที่พึงพอใจในสถานที่บริเวณนี้ ซึ่งมีที่ราบกว้างใหญ่อยู่ทั้งสองฟากของแม่น้ำน่าน มีภูมิฐานอุดมดีกว่าวรนครอีกประการหนึ่งด้วย
แต่การตั้งเมืองอยู่ที่แช่แห้งนี้ดำรงได้เพียง ๑๐ ปี พระยาผากองซึ่งเป็นเจ้าเมืองอันดับ ต่อมา ก็อพยพข้ามฟากแม่น้ำน่านมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านห้วยไค้ คือเมืองที่ตั้งจังหวัดน่านปัจจุบันอันอยู่ใกล้ๆ กับลำแม่น้ำน่าน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยเหตุว่าเมืองแช่แห้งกันดารน้ำ เพราะอยู่บนเนินสูงและแม่น้ำลิงเป็นที่ตั้งเมืองนั้น เป็นแต่เพียงลำธารเล็กๆ น้ำย่อมเหือดแห้งไปในฤดูแล้ง เป็นความ อัตคัตกันดารอยู่เช่นนี้เสมอมา ซึ่งเคยปรากฏเช่นนี้มาตั้งแต่ตั้งเมืองใหม่ๆ แล้ว
ย้อนกลับมากล่าวถึงพระยาโสปัตตกันทิเจ้าเมืองสุโขทัยในสมัยดังกล่าว เข้าใจว่าเป็นพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัยเพราะตกอยู่ในรัชสมัยเดียวกัน หากแต่พระนามที่กล่าวในพงศาวดารเมืองน่านเรียกไปเสียอีกอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนนามบุคคลและสถานที่ให้เป็นมคธพากย์เช่นนี้ ปรากฏอยู่ในตำนานของหัวเมืองฝ่ายเหนือมากมาย รู้สึกว่าเป็นที่นิยมกันทั่วไปในยุคโบราณ ความเข้าใจที่ว่าพระยาโสปัตตกันทิเป็นพระมหาธรรมราชาอันเกี่ยวกับด้วยเรื่องพระบรมธาตุนี้
มีศักราชปรากฏสมกับเค้าเงื่อนตามที่มีในศิลาจารึกนครชุมว่า พระมหาธรรมราชาได้พระบรมธาตุมาจากลังกาทวีป จึง ณ วัน ๖ ๓ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๑๙๐๐ พระองค์ได้บรรจุพระบรมธาตุได้ที่เมืองนครชุม (เมืองเก่าอยู่หลังจังหวัดกำแพงเพชรเดี๋ยวนี้) และสร้างพระมหาธาตุขึ้นไว้
ตามพงศาวดารเมืองน่านที่ว่าสร้างวัดหลวงอภัย ก็เห็นจะเป็นการก่อสร้างก่อพระมหาธาตุนี่เอง ก็แลลักษณะการไปช่วยเหลือการนี้ของพระยาการเมือง เมื่อพิเคราะห์ดูตามข้อความและเหตุผลในพงศาวดารที่กล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่าเป็นลักษณะการไปตามคำเรียกร้องของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเป็นการไปโดยเชื้อเชิญฐานเป็นเพื่อนบ้านเมืองเคียงกัน อนึ่งกรุงสุโขทัยในระยะนี้ถึงจะอ่อนอำนาจลง แต่ความเป็นไปภายในบ้านเมืองยังคงมั่นคงอยู่ แม้ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งเรืองเดชา- นุภาพปรากฏขึ้น ยังสงบไม่รุกราน ครั้งนั้นกรุงสุโขทัยยังคงจะมีเมืองขึ้นเหลืออยู่บ้างแม้จะมีเหลืออยู่น้อย แต่จำนวนที่เหลือนั้นต้องมีเมืองน่านอยู่ด้วยเมืองหนึ่ง เป็นธรรมดาว่าเจ้าเมืองประเทศราชจะต้องเข้าไปช่วยในการมหกรรมที่กล่าวมาแล้ว ดังปรากฏตามที่เจ้าเมืองน่านได้ไปนั้น เพราะกิจการในฝ่ายพระศาสนาพระมหาธรรมราชาทรงถือเป็นรัฐประศาสนโยบายสำคัญในการปกครองพระราชอาณาจักรส่วนหนึ่งควรเทียบได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรแผ่พระราชอาณาจักรและพระราชอำนาจด้วยการปกครองปราบปรามราชศัตรูฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือปกครองพระราชอาณาจักรด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น ในรัชสมัยนี้จังเป็นอันยุติได้ว่า เมืองน่านยังคงเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัยอยู่ต่อไป
ต่อมา ปรากฏตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ว่า “ศักราช ๗๓๘ ปีมะโรงอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองซากังราวได้พระยา กำแหงแลท้าวผากองคิดกันว่า จะยอทัพหลวงทำมิได้ท้าวผากองเลิกทัพหนี เสด็จยกทัพตามตีทัพท้าวผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วทัพหลวงเสด็จกลับคืน”
เหตุการณ์ในตอนนี้ เป็นรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระมหาธรรมราชาไสลือไท) ซึ่งได้มีสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเกิดขึ้นประปรายแล้ว ข้อความที่ปรากฏจากพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ คือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้เสด็จไปตีเมืองกำแพงเพชร (ซากังราว) เป็นครั้งที่ ๒ พระยากำแหงเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้กองทัพท้าวผากองมาช่วยรักษาเมืองกำแพงเพชรอีกทัพหนึ่ง ทัพท้าวผากองและเจ้าเมืองกำแพงเพชรยกเข้าปะทะกับทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยา สู้ไม่ได้ท้าวผากองจึงเลิกทัพหนี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จยกทัพตามตีทัพท้าวผากองแตกพ่ายไป แต่ยังตีเมืองกำแพงเพชรไม่ได้
ในระหว่างเหตุการณ์นี้ ทางฝ่ายเมืองน่าน พระยาผากองเป็นเจ้าเมือง ย้ายเมืองจาก แช่แห้งข้ามแม่น้ำน่านมาตั้งเมืองใหญ่ที่บ้านห้วยไค้ รัชสมัยของพระยาผากองเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๑ ถึง พ.ศ. ๑๙๓๑ เมื่อได้ตรวจพงศาวดารทางฝ่ายเมืองเหนือสอบดูแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องมาทางน่านยิ่งกว่าเมืองอื่นๆ ทางเหนือด้วยกัน เข้าใจว่าท้าวผากองผู้ที่ไปช่วยเจ้าเมืองกำแพงเพชรรักษาเมืองนั้นเป็นคนเดียวกับพระยาผากองเจ้าเมืองน่านนั่นเอง พระศักราชและเหตุผลยุติลงตรงกันคือใน พ.ศ. ๑๙๑๙ อยู่ในระหว่างรัชสมัยของพระยาผากองเจ้าเมืองน่านและเวลานั้นเมืองน่านยังเป็นเมืองประเทศราชของกรุงสุโขทัยอยู่ อันเป็นธรรมเนียมที่เมืองขึ้นจะต้องไปช่วยราชการทัพศึกของเมืองที่เป็นนาย ทางฝ่ายเมืองน่านเพิ่งรู้สึกขัดแย้งต่อกรุงสุโขทัยก็ต่อเมื่อพระยาผากองได้ไปเห็นความอ่อนแอในการทัพศึกของฝ่ายกรุงสุโขทัยที่เมืองกำแพงเพชรเป็นเบื้องต้น ความตั้งใจที่จะตั้งตัวเป็นอิสระก็คงจะเริ่มมีขึ้นเมื่อคราวนั้น และเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปราบอาณาจักรสุโขทัยให้อ่อนน้อมเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ สิ้นเชิงแล้วจึงเป็นช่องทางอันงามที่จะเปิดให้เมืองน่านเป็นอิสระ การขาดตอนจากอาณาจักรสุโขทัยและความเป็นเอกราชของเมืองน่านจึงน่าจะเข้าใจว่าได้กลับมีขึ้นนับแต่การละนั้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรสุโขทัยรวมกันเป็นอาณาจักรสยามแล้วต่อไปนี้ในพื้นสยามสุวรรณภูมิก็ยังเหลือแต่อาณาจักรลานนา ซึ่งเป็นดินแดนของไทยเหนือตั้งเป็นอิสระอยู่แต่ฝ่ายเดียว ไทยสยามกับไทยลานนาได้เริ่มทำสงครามกันใน พ.ศ. ๑๙๒๓ อันเป็นแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เป็นต้นไป
กาละนี้ แคว้นน่านได้เป็นอิสระอยู่ในภาคลานนาส่วนหนึ่ง อันเริ่มแต่ราว พ.ศ. ๑๙๒๑ เป็นลำดับมา ระหว่างกาลนี้ยังไม่มีใครเอาใจใส่กับแคว้นน่านนัก เพราะสงครามชิงอำนาจและเขตแดนอาณาจักรใหญ่ๆ ยังกำลังติดพันกันอยู่ แคว้นน่านจึงได้ปกครองตนเองโดยความเรียบร้อยมาได้หลายปี
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรสยามนี้ แคว้นน่านมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเพียงเล็กน้อย แต่เกี่ยวข้องกับพม่าและลานนาด้วยกันอยู่จนตลอดสมัย ประวัติการของแคว้นน่านในยุคกรุงศรีอยุธยานี้ อาจแบ่งตามเหตุการณ์ได้เป็น ๒ ตอนคือ
๑. เมืองน่านขึ้นเชียงใหม่
๒. เมืองน่านขึ้นพม่า
เมืองน่านขึ้นเชียงใหม่
แคว้นน่านได้ดำรงอิสระมา ๗๒ ปี เจ้าเมืองได้สืบสมบัติผลัดเปลี่ยนกันต่อๆ มาพอถึงเจ้าอินต๊ะแก่นท้าว ใน พ.ศ. ๑๙๙๓ ก็เสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราชเจ้านครเชียงใหม่
มูลเหตุที่จะเกิดสงครามกับเชียงใหม่ขึ้นคราวนี้ ได้ความตามพงศาวดารโยนกว่าท้าว- ลกราชบุตรที่ ๖ แห่งเจ้าพระยาสามฝั่งแกนเจ้านครเชียงใหม่ ได้ชิงสมบัติจากพระราชบิดาปราบดาภิเษกเป็นพระมหาศรีสุธรรมธิโลกราชขึ้นในนครเชียงใหม่แล้ว ครั้นล่วงมาถึงจุลศักราชที่ ๘๐๕ (พ.ศ. ๑๙๘๖) พระยาแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านแต่งกลอุบายให้ไปทูลพระเจ้าเชียงใหม่ว่าศึกแกว (ญวน) จักมาตกเมืองน่าน ขอกองทัพเมืองนครเชียงใหม่มาช่วยรักษาเมือง พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่ระแวงพระทัยสำคัญว่าจริง จึงแต่งทัพให้ยกมารักษาเมืองน่าน ก็มิได้มีศึกแกวยกมาพระยาแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านกระทำกลอุบายหลอกลวงต่างๆ
พระเจ้าติโลกราชได้ทรงทราบว่าเจ้าเมืองน่านหลอกลวง ดังนั้นก็ทรงพระพิโรธจึงเสด็จยกกองทัพหลวงมาตีเมืองน่าน ตั้งล้อมเมืองขับเคี่ยวกันอยู่เป็นแรมปีจึงได้เมือง พระยาแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านหนีลงไปพึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าติโลกราชจึงตั้งให้ท้าวผาแสนผู้น้องพระยาแก่นท้าวเป็นเจ้าเมืองน่านต่อไป
ฝ่ายข้างพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า ในปีจุลศักราช ๘๑๒ (พ.ศ. ๑๙๙๓) เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านแต่งทูตให้นำเอาเกลือบ่อมางไปเป็นบรรณาการถวายพระเจ้าติโลกราชยังนครเชียงใหม่ ครั้นต่อมา พระเจ้าติโลกราชมีพระทัยปรารถนาใคร่ที่ได้เมืองน่านไปส่วยค้ำเมืองเชียงใหม่ จึงยกกองทัพมาติดเมืองและเสียเมืองแก่พระเจ้าติโลกราชในปีนั้น และเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวหนีลงไปพึ่งพระยาชะเลียง (พระยายุทธิศฐิร)
ข้อแตกต่างของสองตำนานนี้ที่สำคัญก็คือ สาเหตุในการทำสงคราม ตำนานทางเชียงใหม่ว่าฝ่ายน่านหลอกลวง แต่ฝ่ายเมืองน่านก็ว่าเมืองเชียงใหม่ต้องการเมืองน่านไปเป็นเมืองส่วยเกลือ ความจริงคงจะเป็นว่าเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวได้ส่งบรรณาการไปเมืองเชียงใหม่จริง แต่เพียงเพื่อขอความพิทักษ์รักษาในยามที่จะมีศึกมาติดเมืองน่าน ซึ่งมีข่าววี่แววอยู่บ้าง ข้อนี้เป็นความจริงเพราะหลังจากเมืองน่านไปขึ้นแก่เชียงใหม่แล้วไม่ช้า ก็มีศึกหลวงพระบางและแกวตกมาเมืองน่านในระยะใกล้ๆ กัน คงจะไม่ใช่หลอกลวงตามตำนานเชียงใหม่กล่าวเป็นแน่ เพราะอยู่ดีๆ จะไปหาเหตุมาสู่บ้านเมืองก็ผิดวิสัย นอกจากนี้ข้อความอื่นๆ ยกเว้นแต่ศักราช ซึ่งควรเชื่อตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองน่าน เพราะกล่าวไว้ชัดเจนว่า
เมืองเชียงใหม่ปกครองเมืองน่านในยุคนี้ มีข้อที่น่าสังเกตคือ แต่เดิมมาเมืองน่านจัดการปกครองโดยพลการตนเองทุกอย่าง ที่เป็นข้อสำคัญก็คือการสืบสมบัติเป็นเจ้าเมือง ก็ย่อมเป็นไปโดยสืบสันติวงศ์หรือโดยความพร้อมใจของพลเมืองอันเชิญขึ้น เป็นการภายในบ้านเมืองทั้งสิ้น แม้จะตกไปเป็นเมืองขึ้นของเมืองอื่น เช่น เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยก็เพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการเท่านั้นประเทศที่ ปกครองมิได้ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในบ้านเมืองของเมืองน่าน แต่เมื่อพระเจ้าติโลกราชได้ปกครองเมืองน่านแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งแรกในเรื่องการตั้งเจ้าเมืองซึ่งสุดแล้วแต่พระทัยของพระเจ้าเชียงใหม่จะเห็นสมควรแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นประมาณ ฉะนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองน่านในยุคนี้ จึงไม่จำกัดว่าจะต้องลงทางสายสกุลเจ้าเมืองน่าน หรือโดยความเห็นของชาวเมืองหรือไม่ ความเป็นประเทศราชของเมืองน่านได้ถูกจำกัดลงอีกชั้นหนึ่ง ในทำนองที่จะคุมเมืองน่านให้คงเป็นดินแดนของเมืองเชียงใหม่โดยมั่นคง ส่วนการป้องกันบ้านเมืองนั้นได้รับความคุ้มครองทันท่วงทีและเหตุการณ์ดีขึ้น การพระศาสนาได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญ พระมหาธาตุแช่แห้งอันเป็นปูชนียสถานประจำบ้านเมือง ซึ่งพระยาการเมืองสร้างขึ้นภายหลังเป็นที่รกร้างเลื่อนลอยไป ก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีขึ้นในสมัยนั้น
เมืองน่านได้อยู่ในความปกครองของเมืองเชียงใหม่มาได้ ๑๐๘ ปี ใน พ.ศ. ๒๑๐๑ พม่าปราบลานนาไทยราบคาบ เมืองน่านก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าสืบมาแต่กาลนั้น
เมืองน่านขึ้นพม่า
ก่อนที่จะบรรยายถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ควรนำความเป็นไปทางฝ่ายพม่ามากล่าวไว้โดยสังเขปก่อนคือ ฝ่ายข้างเมืองหงษาวดี เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (สุวรรณเอกฉัตร) ทิวงคตแล้ว หัวเมืองในราชอาณาจักรหงษาวดีก็พากันตั้งแข็งเมืองอยู่ทั่วไป ที่เมืองหงษาวดีเองก็มีมอญตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง (พระเชษฐาธิราช) แล้ว ซึ่งเป็นพี่เขยของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้เหลือกำลังที่จะปราบปรามได้ก็พาสมัครพรรคพวกหนีไปจากเมืองหงษาวดี ภายหลังเมื่อได้ซ่องสุมผู้คนได้เป็นกำลังพอแล้ว ก็ยกไปตีเมืองที่ตั้งตัวขึ้นใหม่ๆ และทำการปราบปรามพวกนี้อยู่ ๓ ปี จึงสงบเรียบร้อย แล้วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าหงษาวดี มีพระนามว่า พระเจ้าศิริสุธรรมราช ใน พ.ศ. ๒๐๙๖ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า พระเจ้าบุเรงนองหรือพระเจ้าชนะสิบทิศ
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ยกไปตีเมืองอังวะ ได้เมืองอังวะแล้วก็ยกไปตีเมืองไทยใหญ่และเชียงใหม่ต่อไปเป็นลำดับ
เหตุการณ์ในตอนนี้ มีพฤติการณ์เนื่องมาจากพม่าไปตีเมืองนาย คือเมืองไทยใหญ่ก่อน กล่าวคือ ครั้งนั้นพระเจ้าเมกุฏิไทยใหญ่เมืองนายมาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองไปตีเมืองเจ้านาย เจ้าเมืองนายเป็นญาติกับพระเจ้านครเชียงใหม่ จึงขอกองทัพเมืองเชียงใหม่ให้ไปช่วย พระเจ้าเชียงใหม่ได้แต่งกองทัพส่งให้ไป เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้เมืองนายแล้ว จึงถือเอาเหตุที่เมืองเชียงใหม่ พม่าเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ ๓ วัน ก็เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. ๒๑๐๑ เมืองน่านและเมืองอื่นๆ ในลานนาด้วยกันที่ขึ้นเชียงใหม่ ก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าด้วยโดยปริยาย พม่าคงตั้งพระเจ้าเมกุฏิเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่ตามเดิม ฝ่ายทางเมืองน่าน ในขณะที่เมืองเชียงใหม่เสียแก่พม่าแล้วนั้น เจ้าเมืองน่านหนีไปจากเมือง พม่าจึงตั้งพระยาหน่อคำไชยเสถียรสงคราม (เข้าใจว่าเป็นชาวเมืองเชียงใหม่) มาเป็นเจ้าเมืองแทน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ พระเจ้าเมกุฏิเจ้านครเชียงใหม่ร่วมคิดกับพระยากมลเจ้าเมืองเชียงแสน แข็งเมืองต่อกรุงหงษาวดี เรื่องนี้ได้ความตามพงศาวดารพม่าว่า ยังมีพระยาน่านและเจ้าเมืองอื่นๆ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดอีกด้วย พระเจ้าหงษาวดีจึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่เห็นเหลือกำลังที่จะสู้รบ จึงออกไปอ่อนน้อม ส่วนพระยาน่านกับพวกอพยพหนีไปพึ่งอยู่กับพระไชยเชษฐา ณ กรุงศรีสัตนาคนหุต (พงศาวดารเมืองน่านไม่มีปรากฏ)
นับแต่กาลนี้ไป เมืองน่านและเมืองอื่นๆ ในลานนาไทยก็ถูกควบคุมให้อยู่ในความ
ปกครองของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ โดยใกล้ชิดกวดขัน มีสัมพันธภาพไม่ขาดตอนจากกันอยู่กระทั่งสยามได้ขับไล่พม่าไปจากลานนาไทยสิ้นเชิง และรวมลานนาไทยเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในยุคหลัง
ในระหว่างกาลที่ลานนาไทยได้ตกอยู่ในความปกครองของพม่านั้น ได้ขาดตอนจากพม่าไปตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาอยู่ ๒ คราว ในวาระแรกเมื่อในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นวีรกษัตริย์ประเสริฐของชาติไทย อันทรงสุรภาพปราบปรามไปทั่วทุกทิศ และในวาระที่ ๒ เมื่อในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็เป็นในชั่วเวลาอันเล็กน้อย พอสิ้นรัชสมัยพระมหากษัตริย์ที่ทรงเดชานุภาพแล้ว ลานนาไทยก็ตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าตามเดิม
ครั้งนั้นพม่าตั้งศูนย์กลางการปกครองลานนาไทยที่เมืองเชียงใหม่ มีกองทัพทหารและข้าหลวงมาประจำสำหรับคอยกำกับ เจ้าเมืองพม่าที่ประจำอยู่ตามเมืองต่างๆ นั้น มีทั้งพม่าและชาวพื้นเมืองที่เชียงใหม่มีเจ้าพม่ามาปกครองอยู่เป็นเวลานาน ที่เมืองน่านเองก็มีพม่ามาเป็นเจ้าเมืองหลายคน ในชั้นหลังพม่าได้ส่งกำลังทหารมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนคุมเมืองตอนเหนือไว้อีกชั้นหนึ่ง เหตุที่พม่าควบคุมลานนาไทยไม่ทิ้งเช่นนี้ ลานนาไทยจึงตกเป็นของพม่าอยู่จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา
เนื่องแต่พม่าปกครองลานนาไทยด้วยความเหี้ยมโหดทารุณกรรม กดขี่ ข่มเหง แก่ราษฎรพลเมืองด้วยประการต่างๆ ลักษณะการเช่นนี้ได้เป็นไปทุกระยะกาลสมัย ต่างได้รับความเดือดร้อนอยู่ทั่วกันเป็นสาหัส จนปรากฏว่าประชาชนชาวลานนาไทยมีแต่ความตระหนกตกใจไหวหวั่นด้วยภยันตรายต่างๆ มิได้วางใจเป็นปกติได้ เหตุด้วยพม่ารามัญมาประหัตประหารปราบปรามย่ำยีด้วยอำนาจดังกล่าวมาแล้วจนน้ำใจคนวิลานปลาส ได้เห็นหรือได้ยินอะไรที่แปลกประหลาดก็หมายเอาว่าเป็นอุบาทว์บอกเหตุลางร้ายทุกอย่างไป
นับแต่ยุคโบราณประวัติลงมา ชาวลานนาไทยก็เห็นจะได้พบรสชาติของการปกครองที่ป่าเถื่อนเช่นนี้เป็นครั้งแรก หัวใจของชาวลานนาไทยต่างร่ำร้องคร่ำครวญ ในเมื่อไม่สามารถจะแก้มือแก้เผ็ดตอบแทนแก่พม่าได้ และร้อนเร่าปานประหนึ่งจะลุกเป็นไฟในเมื่อความหยาบช้าทารุณนั้นได้แล่นขึ้นถึงขีดที่จะทานทน จนมีคำกล่าวกันอันเป็นที่น่าเห็นใจนักหนาในระหว่างชาวเมืองกับเจ้านายว่า “ครั้น เจ้าจะเป็นม่าน ตูข้าขอหนี ครั้น เจ้าจะเป็นไทย ตูข้าขอรบม่าน” เป็นอาทิ
ฉะนั้น เมื่อความคับแค้นใจมีมากเข้าอัดไว้มากเข้าจนล้นอกล้นใจของทุกๆ คน ทนอยู่ไม่ได้แล้ว การแข็งเมืองจะจราจลก็บังเกิดขึ้นเป็นไปตามกฎธรรมดา
จึงในเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๓ เจ้าเจตบุตรพรมินทรบุตรพระยาหน่อคำไชยเสถียรสงครามที่พม่าตั้งเป็นเจ้าเมืองได้รับกำลังสนับสนุนจากพระหน่อแก้ว เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีพม่าเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่สำเร็จ เจ้าเจตบุตรต้องหนีไปอยู่เมืองล้านช้าง๑ ภายหลังถูกพม่าจับไปฆ่าที่เมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๔๖
ในปี พ.ศ. ๒๑๖๗ เจ้าอุ่นเมือง เจ้าเมืองน่านแข็งเมืองต่อพม่าแล้วหนีไปเมืองล้านช้างภายหลังคุมผู้คนกลับมาตั้งที่เมืองน่านอีก เจ้าฟ้าสุทโธเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พม่า) ยกกองทัพมาตีเมืองน่านได้ เจ้าอุ่นเมืองหนีไปเมืองลานช้าง ครั้งนั้นชาวบ้านชาวเมืองแตกตื่นพากันซอกซอนหรีไปอยู่ตามป่าตามเขาเป็นอันมาก กองทัพพม่าได้กวาดเอาราษฎรที่หนีไม่ทันและทรัพย์สินสมบัติกลับไป
ใน พ.ศ. ๒๒๔๖ เจ้าพระเมืองราชา เจ้าเมืองน่านแข็งเมืองต่อพม่า พม่ายกกองทัพมาเป็นอันมาก เจ้าพระเมืองราชาเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็อพยพครอบครัวหนีไปเมืองลานช้าง ราษฎรคงแตกตื่นหนีไปเที่ยวซ่อนอยู่ตามดงตามป่าเช่นเคย ครั้งนั้นพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าป้อมปราการ บ้านเรือน วัดวาอาราม พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ เจดีย์สถานต่างๆ พม่าก็ทำลายเผาเสียสิ้น จนจะเหลือให้ไว้แต่พื้นแผ่นดินเปล่าๆ เท่านั้น
ฝ่ายทางเมืองเชียงใหม่นั้นเล่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๑ เจ้าทองคำ ชาวลานช้างได้ครองเมืองเชียงใหม่ด้วยความรู้สึกอันเดียวกันก็แข็งเมืองขึ้น กองทัพพม่ามารบราวีบ้านเมืองเดือดร้อนจลาจลอยู่เสมอมา จนเสียเมืองเชียงใหม่แก่ข้าศึก ต่อจากนั้นหัวเมืองทั้งหลายต่างก็ตั้งซ่องควบคุมกันเป็นหมู่เป็นเหล่าหลายพวกหลายหมู่ ต่างหมู่ต่างก็รบราฆ่าฟันกันและกัน ไพร่บ้านพลเมืองกระจัดกระจายระส่ำระสายจนหาความสุขมิได้
สมัยกรุงธนบุรี
สภาพเช่นนี้ได้ยืนยงคงทนต่อมาช้านาน จนเมื่อทางอาณาจักรสยาม พระยาตาก (สิน) ได้ตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ได้ทรงขับไล่พม่าที่เข้ามาปกครองหัวเมืองไทยออกไปจนสิ้นเชิงและปราบปรามเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งตัวเป็นก๊กเป็นเหล่าราบคาบในไม่ช้า ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลาที่ไทยทำสงครามกับพม่าเพื่อทำลายอิสรภาพของไทยเป็นหลายครั้ง และตีพม่าปราชัยกลับไปทุกคราว กาละนี้แสงสว่างแห่งสันติสุขร่มเย็นได้จับภูมิภาคแห่งสยามทั่วแล้ว และยังจะทอแสงทอดมาสู่ลานนาไทยต่อไป
ในที่สุด พ.ศ. ๒๓๑๗ ก็ได้มาถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จกรีฑาทัพมาตีได้เมืองเชียงใหม่ก่อนกาลที่ทัพหลวงใกล้จะมาถึง ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พื้นแผ่นดินในลานนาไทยก็ไหวหวั่นสะเทือนเป็นเหตุประหนึ่งว่า ธรณีลานนาจะทรงพม่าไว้แต่เพียงกาลจำกัดเท่านี้ และแล้วต่อมากองทัพไทยก็ขับไล่พม่าหนีออกไปจากลานนา
เป็นอันว่า อาณาจักรลานนาได้กลมกลืนเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกับอาณาจักรสยามดำรงไว้ซึ่งชาติ “ไทย” ที่ต่างแยกย้ายกันอยู่ให้เป็นชาติไทยบริบูรณ์เหมือนเช่นเดิม สืบมาแต่กาละนั้น
ฝ่ายข้างเมืองน่าน ในระหว่างที่ทัพกรุงยกเข้าตีเมืองเชียงใหม่นั้น เจ้ามโนเป็นเจ้าเมืองน่าน ได้ให้เจ้าน้อยวิธูรราชวงศ์เมืองน่าน ไปในการทัพของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพไทยเข้าเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ได้ตัวเจ้าน้อยวิธูร จึงเกลี้ยกล่อมให้เข้าสวามิภักดิ์ แล้วตั้งเป็นเจ้าเมืองน่านขึ้นต่อกรุงธนบุรีต่อไป
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในต้นรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมืองน่านยังมีเจ้า
เมืองเป็นสองฝ่ายอยู่ คือ พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองฝ่ายกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ท่าปลา ฝ่ายหนึ่งและเจ้าอัตถวรปัญโญ (ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า) ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าเมืองฝ่าย บุรรัตนอังวะ ตั้งอยู่ที่เมืองเทิงอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เหตุด้วยครั้งที่เมืองน่านขึ้นกรุงเทพฯ เจ้าอัตถวรปัญโญตกอยู่ในเมืองเชียงแสนกับพม่า ภายหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ เจ้าอัตถวรปัญโญลงไปหาพระยามงคลวรยศที่เมืองท่าปลา ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงเทพมหานคร พระยามงคลวรยศมีความยินดี จึงมอบบ้านเมืองให้เจ้าอัตถวรปัญโญครองครอง ครั้งล่วงมาอีกปีหนึ่งเจ้าอัตถวรปัญโญก็ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอัตถวรปัญโญดำรงตำแหน่งเจ้า-เมืองน่านต่อไปตามเดิม
ในสมัยกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นต้นมา เมืองน่านมีเจ้าผู้ครองนคร ๙ คน มีรายนามดังต่อไปนี้
๑. พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
๒. พระยาอัตถวรปัญโญ (หลาน ๑) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ ทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗
๓. พระยาสุมนเทวราช (น้า ๒) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ -พ.ศ. ๒๓๖๘
๔. พระมหามหายศ (บุตร ๒) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ - พ.ศ. ๒๓๗๘
๕. พระยาอชิตวงศ์ (บุตร ๓) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ครองราชย์ ๗ เดือนก็ถึงแก่พิราลัย
๖. พระยามหาวงศ์ (เป็นญาติทางฝ่ายมารดา) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ
พ.ศ. ๒๓๘๑ - พ.ศ. ๒๓๙๔
๗. พระยาอนันตยศ (บุตร ๒) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๔ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๕ - พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงสถาปนาเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙
๘. เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช (บุตร ๗) เป็นเจ้าผู้ครองในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ - พ.ศ. ๒๔๖๑
๙. เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (บุตร ๗) เป็นเจ้าผู้ครองนครในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
เจ้าผู้ปกครองน่านทุกท่าน ล้วนแต่ได้ปฏิบัติราชการในกรุงเทพมหานครมาแล้วด้วยดีมีความชอบปรากฏเหมาะสมทุกระยะกาลสมัย เป็นกำลังในการทัพศึกเสมอด้วยวีรชนผู้กล้าหาญทั้งหลาย ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตั้งมั่นอยู่ในความกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตน-โกสินทร์อยู่เป็นลำดับมาตลอดกาล
การตั้งเมืองน่านในปัจจุบัน
ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า พระยาผากองได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านห้วยไค้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ เมืองน่านซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยไค้ ในสมัยต่อมามีตัวเมืองเป็น ๒ แห่ง คือ เมืองเก่า เรียกว่า “เวียงใต้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่ง กับเมืองใหม่เรียกว่า “เวียงเหนือ” ตั้งอยู่บนดอนข้างหลังเวียงเก่าถัดขึ้นไปอีกแห่งหนึ่ง เหตุที่มีตัวเมืองสองแห่งนั้น กล่าวคือ เริ่มแต่พระยาผากองได้มาตั้งเมืองที่ริมแม่น้ำน่านนี้แล้ว เจ้าเมืองน่านได้ผลัดเปลี่ยนครองเมืองต่อๆ กันมาหลายชั่วหลายวงศ์ อยู่มาถึง พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดน้ำท่วมพัดกำแพงเมืองและวัดวาอารามบ้านเรือนในเมืองเก่าหักพังลงเป็นอันมาก พระยาสุมนเทวราช เจ้าเมืองน่านจึงไปสร้างเมืองขึ้นบนดอนมิให้น้ำท่วมถึง ย้ายไปอยู่เมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒
ภูมิฐานเมืองเก่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ด้านตะวันออกตั้งอยู่ริมท้องหลง (ลำรางน้ำ) กำแพงเมืองห่างจากท้องหลง ๔ วา ท้องหลงนี้เป็นลำน้ำน่านเก่า มีลำรางไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน ปัจจุบันทางใต้ที่บ้านดอนและทางเหนือที่บ้านดอนแก้ว เมื่อย้ายเมืองจากเวียงเหนือกลับคืนมาตั้งที่เวียงใต้ภายหลังอีกนั้น น่านจะเป็นด้วยน้ำน่านได้กลับไปเดินในทางสายใหม่เดี๋ยวนี้แล้ว ซึ่งอาจเป็นโดยขุดทางน้ำขึ้นใหม่ก็ได้ เพราะระยะทางที่น้ำสายใหม่และสายเก่ามาบรรจบกันนั้น มีระยะเพียง ๑ กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น
เมืองใหม่นั้นตั้งอยู่ที่บ้านพระเนตร ห่างจากเมืองเก่าไป ๓ กิโลเมตร ตัวเมืองทอดไปตามลำแม่น้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำประมาณ ๘๐๐ เมตร มีเหตุมณฑลแห่งคูเมือง คือ ด้านเหนือจดบ้านน้ำล้อม ด้านตะวันออกยาวไปตามถนนสุมนเทวราชเดี๋ยวนี้ ด้านใต้จดทุ่งนาริน ด้านตะวันตกยาวไปตามแนวของขอบสนามบินด้านนอก เวลานี้มีแต่เพียงซากเมืองเท่านั้น
เจ้าเมืองน่านตั้งอยู่ที่เวียงเหนือสืบกันมาได้ ๓๖ ปี จนถึงในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระยาอนันตยศ (ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่าน คือบิดาของพระ-เจ้าสุริยพงศ์ผรติเดช และเจ้ามหาพรมสุรธาดา) จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าและย้ายมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นที่ประทับของเจ้าเมืองน่านสืบกันมาจนบัดนี้
ตัวเมืองน่าน ใน พ.ศ. ๒๔๐๐
กำแพงเมือง
ตัวเมืองน่านหันหน้าเมืองออกสู่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นเบื้องตะวันออก มีกำแพง ๔ ด้าน ด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ วา มีเชิงเทินกว้าง ๓ ศอก ประกอบด้วยในเสมาตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง ๔ แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ ๔ กระบอก มีประตู ๗ ประตู ที่ประตูก่อเป็นซุ้ม ประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง กำแพงด้านตะวันออกมีประตูชัย, ประตูน้ำเข้ม ด้านตะวันตกมีประตูท่อน้ำ, ประตูหนองห่าน ด้านใต้มีประตูเชียงใหม่, ประตู่ท่าลี่ มีคูล้อม ๓ ด้าน เว้นด้านตะวันออกซึ่งเป็นลำแม่น้ำน่านเดิมกั้นอยู่
การก่อสร้างกำแพงเมืองเมื่อครั้งแรกมาตั้งเมืองนี้ มีเรื่องเล่ากันสืบมาเป็นทำนองเทพนิยายว่า ครั้งนั้นตกอยู่ในวัสสันตฤดู มีโคอศุภราชตัวหนึ่งวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมาจากทางทิศตะวันออก ครั้นมาถึงที่บ้านห้วยไค้ก็ถ่ายมูลและเหยียบพื้นดินทิ้งรอยไว้ เริ่มแต่ประตูชัยบ่ายหน้าไปทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตกเป็นวงกลมสี่เหลี่ยมมาบรรจบรอยเดิมที่ประตูชัย แล้วก็นิราศอันตรธานไป ลำดับกาลนั้น พระยาผากองดำริที่จะสร้างนครขึ้นใหม่ ครั้นได้ประสบรอยโคอันหากกระทำไว้เป็นอัศจรรย์ พิเคราะห์ดูก็ทราบแล้วว่าสถานที่บริเวณรอบโคนั้นเป็นชัยภูมิดี สมควรที่จะตั้งนครได้ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านห้วยไค้นั้น และก่อกำแพงฝังรากลงตรงแนวทางที่โคเดินถ่ายมูลไว้มิได้ทิ้งรอยแนวกำแพงจึง มิสู้จะตรงนัก เพราะเป็นกำแพงโดยโคจร เรื่องนี้จะมีความจริงหรือไม่เพียงไรก็ตามเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองก็ยังนิยมเชื่อถือว่าเป็นความจริง และนำเอาคติที่เชื่อว่าโคเป็น ผู้บันดาลเมืองมาทำรูปโคติดไว้ตามจั่วบ้านเรือนเพื่อเป็นศิริมงคลอยู่ทั่วไป จึงนำมากล่าวไว้ด้วย
ประตูเมืองเป็นด่านสำคัญชั้นในของเมือง ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ใคร่จะปกติราบคาบจึงต้องมีการรักษากันแข็งแรง ประตูเมืองทั้ง ๗ นี้ มีนายประตูเป็นผู้รักษา มีหน้าที่ในการปิดเปิดประตูตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. และเปิดในเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ถ้าเป็นเวลาที่ประตูปิดตามกำหนดเวลาแล้ว จะเปิดให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกไม่ได้ และทั้งมีอาชญาของเจ้าผู้ครองบังคับเอาโทษแก่ผู้ที่ปีนข้ามกำแพงไว้ด้วย นายประตูเป็นผู้ที่เจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ได้รับศักดิ์เป็นแสนบ้าง ท้าวบ้าง มีบ้านเรือนประจำอยู่ใกล้ๆ ประตูนั่นเอง ให้มีผลประโยชน์คือในฤดูเดือนยี่หรือเดือนสาม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เจ้านายท้าวพญาและราษฎรภายในกำแพงเมืองทั้งปวง เมื่อขนข้าวจากนาเข้ามาในเมืองทางประตูใด ก็ให้นายประตูนั้นมีสิทธิเก็บกักข้าวจากผู้นำเข้ามาได้หาบละ ๑ แคลง (ประมาณ ๑ ทะนาน) นอกจากนี้ นายประตูยังได้สิ่งของโดยมากเป็นอาหารจากผู้ที่ผ่านเข้าออกประตูเป็นประจำวันโดยนำตะกร้าหรือกระบุงไปแขวนไว้ที่หน้าประตูอันสุดแล้วแต่ใครจะให้อีกด้วย
อาชญาของเมืองที่ต้องมีนายประตูดังกล่าวแล้วนี้ ได้เลิกไปเมื่อสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริต-เดชเป็นเจ้าเมือง
คุ้ม - หอคำ
ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง” อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ
บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด (ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำเป็นเครื่องประดับเกียรติพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศ
หอคำเมืองน่าน เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารเมืองน่านว่าเมื่อพระยาอนันตยศย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระ-จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันต- วรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่านมีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ
หอคำที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว ๗ หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ
เมื่อเจ้าอนันวรฤทธิเดชถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว แต่ให้กลับเรียกว่า “คุ้มหลวง” เป็นไปตามเดิม ครั้นล่วงเวลามาอีก ๑๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช จึงรื้อหอคำเก่าไปถวายวัดและสร้างหอคำเป็นตึกขึ้นแทน ยังถาวรอยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน
ภายในบริเวณคุ้มแก้ว มีโรงม้า โรงแต๊ก โรงแต๊กนั้นถือเป็นที่เก็บเครื่องอาวุธ หอดาบ ง้าวปืนและกระสุนดินดำ อันมีไว้สำหรับบ้านเมืองในอันที่จะใช้ในการทัพศึก
ณ ลานหน้าคุ้มแก้วเป็นที่ตั้งโรงช้าง ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญของบ้านเมืองในสมัยนั้น บ้านเมืองที่เป็นเมืองชั้นราชธานี ย่อมจะรวบรวมสะสมช้างไว้มากทุกเมือง ยิ่งเป็นท้องที่ในภาคพายัพนี้แล้วช้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลำเลียงและการทัพศึก ในสมัยนั้นเป็นอันมาก
สนาม
ณ เบื้องขวาของคุ้ม ตรงข้าววัดพรหมมินทรและที่โรงเรียนจุมปีวนิดาตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งศาลาว่าการบ้านเมือง เรียกว่า “สนาม” ถัดไปเป็นศาลาสุรอัยการ ๒ หลัง (สุรเพ็ชฌฆาต, อัยการ – คนใช้, คนเวร) คือเป็นที่สำนักของพวกเพ็ชฌฆาต และเป็นที่เก็บสรรพเอกสารของบ้านเมือง ซึ่งมีคนเวรอยู่ประจำ ถัดไปเป็นคอก (เรือนจำ) จะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการปกครอง
ฉาง
ณ ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ตั้งฉางของบ้านเมือง มีอยู่ ๒ โรงด้วยกัน สำหรับเป็นที่เก็บเสบียงและพัสดุสิ่งของที่ใช้ในกิจการบ้านเมือง เป็นต้นว่าจำพวกเสบียงก็มี ข้าว เกลือ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม ตลอดจนหมู เป็ด ไก่ ที่เป็นๆ สะสมไว้เป็นบางคราว และจำพวกเครื่องก็มี ขัน น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ดินประสิว กระดาษ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะเสบียงเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ทางบ้านเมืองได้กะเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่พลเมือง เอามาขึ้นฉางไว้ทุกปี เรียกว่า “หล่อฉาง”
บ้านเรือน
ในยุคนั้นได้ความว่าเมืองน่านมีภูมิฐานบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นคับคั่งแล้ว แต่ภายนอกกำแพงนั้นเป็นป่ารกอยู่โดยมาก มีบ้านเรือนเบาบางไม่อุ่นหนาฝาครั่งเหมือนภายในกำแพงเมืองแต่บ้านเรือนนั้นไม่ใคร่จะเป็นที่เจริญนัก เพราะเครื่องมือที่จะตัดฟันไม้ไม่มีมากเหมือนเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ไม่ใคร่สะดวก เป็นต้นว่ากระดานก็ต้องถากเอาด้วยมีดและขวานเป็นพื้น ไม่มีเลื่อยจะใช้ ราษฎรไม่มีกำลังพอที่จะทำบ้านเรือนด้วยเครื่องไม้จริงได้ จึงต้องทำด้วยไม้ไผ่ เว้นแต่เจ้านายท้าวพญาผู้ซึ่งมีอำนาจใช้กะเกณฑ์ผู้คนได้ จึงจะปลูกบ้านได้งามๆ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ภายในกำแพงเมืองก็ดี ภายนอกก็ดี จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ไม่ได้ด้วยถือว่าเป็นการกระทำเทียบเคียงหรือตีเสมอกับเจ้านาย มีอาชญาไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมุงหลังคาด้วยใบพลวงหรือแฝกเป็นพื้น
วัด
วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองครั้งนั้นคงมีจำนวนเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากเศร้าหมองไม่รุ่งเรือง มีวัดที่สำคัญอยู่ ๒ วัด คือ วัดช้างค้ำกับวัดภูมินทร์ แท้จริงกิจการฝ่ายพระศาสนานี้อาจกล่าวได้ว่า ได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญนับแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้มากด้วยศรัทธาแก่กล้าด้วยการบริจาคในอันที่จะเชิดชูพระศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในชั้วชนมายุกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร เจดียสถาน ตามวัดทั้งในเมืองและนอกเมือง และสร้างคัมภีร์พระสูตรพระธรรมขึ้นไว้เกือบตลอดสมัย ความเจริญในฝ่ายพระศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผลนับเนื่องในเนื้อนาบุญของท่านที่ได้ปลูกฝังไว้ด้วยดีแล้วส่วนหนึ่ง
ตลาด
การค้าขายแลกเปลี่ยนคงกระทำกันแต่ที่กาดมั่ว (ตลาด) แห่งเดียวแท้จริง ที่เรียกว่าตลาดนี้ ยังไม่ถูกต้องดี เพราะตลาดในครั้งนั้นยังไม่มีตัวเรือนโรง เพียงแต่มีข้าวของอะไรก็นำมาวางขายกันตามสองฟากข้างถนนเท่านั้น ตำบลที่นัดตลาดอยู่ในกำแพงเมืองที่ถนนผากองเดี๋ยวนี้ตรงหน้าคุ้มข้างวัดช้างค้ำ นัดซื้อขายกันแต่เวลาเช้าเวลาเดียว สิ่งของที่นำมาขายกันเป็นจำพวกกับข้าวโดยมาก ส่วนร้านขายสิ่งของนั้นปรากฏว่ายังไม่มีเลย
ถนน
ถนนหนทางในครั้งนั้น เท่าที่มีควรจะเรียกว่าเป็นตรอกทางเดินมากกวา เพราะมีส่วนกว้าง อย่างดีก็แต่เพียง ๔ - ๕ ศอก ถนนชนิดนี้แต่ภายในกำแพงเมืองซึ่งตัดจากประตูหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีแต่ทางเดินธรรมดา
การปกครอง
การปกครองของแคว้นน่านสมัยโบราณจะดำเนินโดยวิธีใดหาทราบไม่ นอกจากจะเป็นไปในทางสันนิษฐานแต่พอเชื่อได้ว่า คงมีคติการปกครองเป็นแบบที่เรียกว่า “บิดาปกครองบุตร” (Paternal Government) ข้อนี้พึงเห็นได้ตามลักษณะการที่ปกครองว่าผู้เป็นประมุขวางตนเป็นดังหนึ่งบิดาของประชาชน เช่นหลักการปกครองอย่างหนึ่งที่ตกทอดสืบมาจนในชั้นหลัง ปรากฏในอาณาจักรหลักคำ (กฎหมายสำหรับเมือง) ว่าในครัวเรือน ถ้ามีบุตรหลานเป็นคนหยาบช้ากล้าคะนอง มักประพฤติความชั่วต่างๆ เป็นต้นว่า สูบฝิ่น เสพสุรา เล่นการพนันเป็นอาจิณ เมื่อหัวหน้าในครัวเรือนห้ามปรามสั่งสอนไม่เชื่อฟัง หัวหน้าในครัวเรือนนั้นตั้งนำผู้นั้นอายัดให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครอง ให้กระทำการสั่งสอนขึ้นไปตามลำดับ จนถึงผู้เป็นประมุขของบ้านเมือง ดังนี้หลักการปกครองเช่นนี้ แม้ยุคสมัยจะได้ล่วงมาแล้วในการต่างๆ ก็มิได้ลบเลือนไปเสีย ยังยืนยงมาจนกระทั่งเมืองน่านได้เป็นเมืองประเทศราชของกรุงเทพมหานคร
เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะค้นคว้าหาหลักฐานมาประกอบการบรรยายเรื่องการ ปกครองสมัยโบราณนี้ได้ การปกครองที่จะนำมากล่าว จึงจำต้องเริ่มแต่ในสมัยอันใกล้กับปัจจุบันนี้
การปกครองก่อนการจัดปันหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๓๒๕ - พ.ศ. ๒๔๓๕)
การปกครองในสมัยที่นำมากล่าวนี้ เป็นเรื่องการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อันเริ่มแต่พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าผู้ครองเป็นต้นมา รูปของการปกครองเป็นเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร เจ้าผู้ครองนครมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองทุกอย่าง ตลอดจนการออกกฎหมายสำหรับบ้านเมือง การเก็บผลประโยชน์รายได้ในเขตของภูมิภาค เว้นแต่นโยบายการเมืองกับ ต่างประเทศเท่านั้น ที่จะต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งมา มีหน้าที่ช่วยเหลือในงานพระราชสงครามและภายในกำหนด ๑ ปี ต้องนำต้นไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการไปน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ยังกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่ง เพิ่งมาเลิกประเพณีนี้เสียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ใน รัชกาลที่ ๕ นี้เอง
ส่วนการปกครองท้องที่ภายในเขตเมืองนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งมี แก่บ้านเป็นหัวหน้า หลายๆหมู่บ้านเป็นเมือง มีพ่อเมืองเป็นหัวหน้า และรวมเมืองเล็กๆ เหล่านี้ขึ้นแก่สนาม ส่วนเมืองขึ้นที่อยู่ภายนอกเขตต่างปกครองตนเองเช่นเดียวกัน แต่เมื่อครบปีต้องนำส่วยมาส่งเมืองน่านเป็นคำนับ
การจัดระเบียบการปกครอง
ระเบียบการปกครองฝ่ายธุรการนั้น ได้จัดเป็น “สนาม” เป็นที่ว่าการบ้านเมืองอันมีพญาแสนท้าวคณะหนึ่งเป็นผู้บริหาร การงานบ้านเมืองทุกสิ่งทุกอย่าง กิจการได้ดำเนินสำเร็จไปด้วยการประชุมปรึกษาเป็นประมาณ การงานที่ปฏิบัติในสนามนี้อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ การงานที่ต้องเสนอเจ้าผู้ครองนครเพื่อวินิจฉัยและบัญชาการอย่างหนึ่ง และการงานที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันไม่มีสารสำคัญสามัญสามารถที่จะกระทำเสร็จไปได้ที่สนาม โดยไม่ต้องนำเสนอผู้ครองอีกอย่างหนึ่ง คณบดีของสนามเรียกว่า “พญาปี๊น” คือ พญาผู้เป็นใหญ่ในสนาม ๔ นาย กับยังมีพญาแสนหลวงอื่นๆ อีก ซึ่งเจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ มีศักดิ์จัดไว้เป็นทำเนียบมาทราบรายนามและจำนวนแน่นอนเมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเป็นผู้ครองนคร ว่ามีรวมด้วยกัน ๑๒ นาย มีรายนามดังต่อไปนี้
พญาปี๊น
๑.พญาหลวงจ่าแสนราชาไชยอภัยนันทวรปัญญาวิสุทธิมงคล ปฐมอรรคมหาเสนาบดี เป็นผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั่วไป และเป็นประธานในขุนสนามทั้งปวง
๒. พญาหลวงอามาตย์ เป็นรองผู้สำเร็จราชการ
๓. พญาหลวงมนตรี เป็น นายทะเบียนพล (สุรัสวดี)
๔. พญาหลวงราชธรรมดุลย์ เป็นนายฝ่ายตุลาการ
พญาชั้นรอง
๑. พญาหลวงนัตติยราชวงศา ช่วยว่าการทั่วไป
๒. พญาราชเสนา ช่วยว่าการทั่วไป
๓. พญาไชยสงคราม ช่วยว่าการทั่วไป
๔. พญาทิพเนตร ช่วยว่าการทั่วไป
๕. พญาไชยราช ช่วยว่าการทั่วไป
๖. พญาหลวงราชบัณฑิต เป็นโหรประจำเมือง
๗. พญาหลวงศุภอักษร ว่าการฝ่าย
๘. พญามีรินทอักษร ว่าการฝ่าย
๙. พญาสิทธิธนสมบัติ ว่าการคลัง (เงิน)
๑๐. พญาราชสาร ว่าการคลัง (เงิน)
๑๑. พญาหลวงคำลือ ว่าการคลัง (เงิน)
๑๒. พญาหลวงภักดี รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๓. พญาราชโกฏ รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๔. พญาราชรองเมือง รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๕. พญาราชสมบัติ รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๖. พญาอินต๊ะรักษา รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๗. พญานาหลัง รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๘. พญาสิทธิมงคล รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๑๙. พญาธนสมบัติ รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๒๐. พญาพรหมอักษร รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๒๑. พญาแขก รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
๒๒. พญาสิทธิเดช ตุลาการ
๒๓. พญานราสาร ตุลาการ
๒๔. พญาไชยพิพิธ ตุลาการ
๒๕. พญาไชยปัญญา นายช่าง
๒๖. พญานันต๊ะปัญญา นายช่าง
๒๗. พญาธรรมราช ธรรมการ ธรรมการ
๒๘. แสนหลวงเมฆสาคร ว่าการเมืองฝาย
ทางฝ่ายเจ้าผู้ครองนครในการบัญชาการกิจการบ้านเมืองก็มีคณะราชวงศ์ อันประกอบด้วยเจ้าหอหน้า (อุปราช) เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร เจ้าบุรีรัตน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเจ้าสัญญาบัตรตั้งในกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาอีกคณะหนึ่ง มีที่ว่าการอยู่ภายในหอคำ เมื่อกิจกรรมบ้านเมืองเรื่องใดตกมาถึงคณะที่ปรึกษานี้และยุติโดยบริหารเห็นชอบของเจ้าผู้ครองแล้วก็เป็นอันเด็ดขาดบังคับไปตามกรณีนั้นๆ ได้ทีเดียว
ลักษณะการจัดการบ้านเมืองในรอบกาลสมัยที่กล่าวนี้ ที่สมควรนำมากล่าวก็คือ
๑. การทัพ
๒. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
๓. ทาส
๔. ตุลาการ
๑. การทัพ
หลักการปกครองของบ้านเมืองมีข้อสำคัญอยู่ ๒ ข้อ คือ อาชญาของเจ้าผู้ครองนครข้อหนึ่ง กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์ให้มาช่วยกันป้องกันบ้านเมืองในเวลามีศึกสงครามข้อหนึ่ง อาชญานั้นมีความหมายตามที่คติปกครองแบบนี้ว่า เป็นคำสั่งคำบังคับบัญชาของผู้เป็นประมุขที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมืองได้โดยใช้สิทธิขาด อย่างที่เรียกว่า “อาชญาสิทธิ์” ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษถึง ๒ ประการ คือ โทษอันผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองประการหนึ่ง และโทษอันผิดต่ออาชญาของเจ้าผู้ครองนครอันมีลักษณะคล้ายพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน อีกประการหนึ่ง เหตุที่เจ้าผู้ครองนครทรงไว้ซึ่งอาชญาและหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาบ้านเมืองเช่นนี้ หน้าที่ของพลเมืองจึงต้องเจริญรอยโดยบริหารของผู้เป็นประมุขทุกประการ ส่วนที่สำคัญยิ่งก็คือหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้
ฝ่ายชายฉกรรจ์มีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ลูกจุ๊” เข้าสังกัดอยู่ในเจ้านายท้าวพญาคนใดคนหนึ่งจะลอยตัวอยู่ไม่ได้ มีหน้าที่รับใช้สอยกิจการในสังกัดมูลนายของตนไปจนกว่าอายุได้ ๖๐ ปี จึงปลด หรือมิฉะนั้นก็ต่อเมื่อมีบุตรมารับใช้การงานได้ ๓ คนแล้ว เมื่อชายฉกรรจ์เข้าสังกัดเป็นลูกจุ๊ของผู้นั้นอยู่ตลอดไป จะย้ายมูลนายผู้ต้นสังกัดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสนาม
บรรดาผู้ที่จะรับเป็นลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดในตนได้ โดยเฉพาะต้องเป็นเจ้านายหรือท้าวพญาในสนามเท่านั้น ในเวลาปกติลูกจุ๊ก็อยู่ตามถิ่นฐานบ้านช่องของตนไม่ต้องเข้ามาประจำทำงานในเมืองมีกำหนดเวลาเป็นแน่นอน นอกจากบางคราวจะถูกมูลนายเรียกมาใช้กิจการเป็นครั้งคราว การที่มูลนายจะใช้ลูกจุ๊ให้ทำกิจการนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกิจการฝ่ายบ้านเมืองแต่อย่างเดียว ย่อมใช้ได้ตลอดถึงการส่วนตัวทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เช่น ในการทำนา ปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นต้น อีกประการหนึ่งควรกล่าวได้ว่า พวกลูกจุ๊ที่เป็นผลประโยชน์ของผู้เป็นมูลนายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้อาศัยแรงงานของผู้ลูกจุ๊ก็ได้รับผลแต่เพียงได้รับความคุ้มครองของมูลนายในคราวเมื่อมีทุกข์ร้อน เช่น ถูกพวกอื่นรบกวนเบียดเบียนโดยไม่เป็นธรรม หรือในคราวที่มีคดีความเกิดขึ้น เป็นต้น ฉะนั้นผู้ที่เป็นมูลนายต้องตั้งบุคคลอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัวหมวด” ไว้ตามละแวกถิ่นฐานที่ลูกจ๊ะตั้งบ้านเรือน สำหรับเรียกลูกจุ๊ในเมื่อต้องการตัวได้โดยสะดวกและพรักพร้อม
ในเวลามีการทัพศึกเกิดขึ้น เมื่อต้องการกำลังกองทัพเป็นจำนวนคนเท่าใด เจ้าผู้ครองนครก็เกณฑ์คนเอาแก่มูลนายที่มีลูกจุ๊เฉลี่ยเอาตามส่วน ส่วนผู้ที่จะคุมกองทัพนั้น ถ้าเป็นการสำคัญเจ้าผู้ครองนครก็เป็นผู้ไปเอง หรือถ้าไม่สำคัญก็ให้เจ้านายในวงศ์สกุลหรือท้าวพญาผู้ใดผู้หนึ่งควบคุมไป ตามแต่จะเห็นสมควร
เรื่องของลูกจุ๊นี้ สำหรับเจ้าผู้ครองนครไม่จำเป็นต้องมีไว้ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาได้ เวลาปกติเจ้าผู้ครองนครจึงมีคนอีกจำพวกหนึ่งสำหรับใช้สอยและอยู่เวรยามรักษาคุ้มโดยเฉพาะเรียกว่าคน “เจ้าใช้การใน”
๒. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
การทำมาหากินของราษฎรในเมืองน่านที่กระทำกันมากและเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่ก็คือการทำนา แต่ทางบ้านเมืองมิได้เก็บอากรค่านา ฉะนั้นราษฎรในเขตเมืองชั้นใน เมื่อทำนาได้ข้าวจึงต้องแบ่งข้าวส่งมาขึ้นฉางหลวง เรียกว่า “หล่อฉาง” เพื่อเก็บไว้เป็นเบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในคราวเกิดทัพศึกและต้อนรับแขกเมือง หรือให้พลเมืองยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ข้าว การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางนี้ เก็บแต่ผู้ที่มีครอบครัวแล้ว เป็นข้าวครอบครัวละ ๓ หมื่น (สัด) ส่วนราษฎรในเขตเมืองชั้นนอกอันอยู่ไกลจะส่งข้าวมาหล่อฉางเป็นความลำบากมาก แต่เพราะว่าเมืองเหล่านั้นเป็นที่เกิดหรือมีสิ่งของบางอย่างที่บ้านเมืองต้องการใช้ เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง กระดาษ เกลือ ฯลฯ จึงเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่ราษฎรในท้องที่นั้นๆ ตามสมควร ส่งมาแทนข้าว เรียกว่า “ส่วยหล่อฉาง” หรือ “ส่วยบำรุงเมือง” เมืองน่านมีส่วนเกลือมาจากเมืองบ่อปีละ ๗ ล้าน ๗ แสน ๗ หมื่น (น้ำหนัก ๓๑๐ ๒/๕ หาบ) ส่วนดินประสิวจากเหมืองยอดเมืองสะเกินปีละ ๒๐ หาบ เมืองมิน บ้านหัวเมือง (ท้องที่อำเภอนาน้อย) ปีละ ๓๐ หาบ ส่วนเหล็กจากเมืองอวน ปีละ ๓๐ หาบ บ้านวัวแดง (ท้องที่อำเภอสา) ปีละ ๒๐ บาท (การตีเหล็กเป็นอาวุธหอกและดาบและซ่อมแซมอาวุธเป็นหน้าที่ของราษฎรในบ้านก้นฝาย (ฝายมูล) ท้องที่อำเภอท่าวังผาและบ้านห้วยลับมืนท้องที่อำเภอสา นอกจากนี้ยังมีส่วยขี้ผึ้งจากเมืองขึ้นทางฟากแม่น้ำโขงอีกปีละ ๑๒ หาบ กับคน ๓๐๐ คน สำหรับทำฝายทุกเมือง
๓. ทาส
ลักษณะการเป็นทาสมีคติสืบเนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันโบราณราชกษัตริย์ได้ทรงบัญญัติไว้เรียกว่านำธงชัยไปรบศึก แล้วได้มาเป็นทาสเชลยหนึ่ง ทาสซึ่งไถ่มาด้วยทรัพย์หนึ่ง ลักษณะทาสที่มีอยู่ในพื้นเมืองน่านก็เป็นอยู่ดังกล่าวมาแล้ว ดังจะนำมากล่าวพอเป็นเค้า คือ
๓.๑) ทาสเชลย เป็นคนซึ่งแต่ก่อนมาเจ้านายและกรมการเมืองได้ไปรบตีเมืองสิบสอง ปันนาเมืองเวียงจันทร์ได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวมาแบ่งปันเป็นความชอบของแม่ทัพนายกองเรียกว่า “ค่าปลายหอกงาช้าง” มีบุตรหลานสืบต่อมาเรียกกันว่า “ค่าหอคนโรง” อันชื่อว่าทาสได้มาแต่ครั้งปู่และบิดาสืบมา ค่าหอคนโรงเหล่านี้มีอายุ ๑๐ ขวบขึ้นไปมีค่าตัวชาย ๖๒ รูเปีย หญิง ๖๒ รูเปีย ถ้าอายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ คิดคนหนึ่งขวบละ ๕ รูเปีย ตามจำนวนอายุผู้เป็นนายถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดมีอำนาจที่จะขายทาสเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น บรรดาทาสเชลยจะมีบุตรหลานสืบทอดออกไปอีกเท่าใดก็ดีก็คงเป็นทาสเชลยทั้งสิ้น และผู้เป็นนายก็รับมรดกกันสืบมา ผู้ที่เป็นมูลนายจะยกทาสเชลยให้แก่ผู้ใดก็ได้เมื่อทาสเชลยได้นำเงินมาไถ่ค่าตัวตามราคาจึงจะพ้นความเป็นทาส
๓.๒) ทาสสินไถ่ คือทาสที่นายเงินได้ออกมาไถ่ ถ้าทาสไม่มีเงินมาให้แก่นายเงินครบค่าแล้ว ก็ไม่มีเวลาที่จะพ้นยากจากทุกข์เป็นไทยได้ ฝ่ายลูกทาสที่ซึ่งเกิดแต่ทาสสินไถ่นั้น ถ้าเกิดในเรือนเบี้ยพอเกิดมาในเรือนทาสมีค่าตัวอยู่เรื่อยไป
ทาสทั้งสองจำพวกนี้ ได้มีวิธีการลดหย่อนผ่อนผันให้เสื่อมคลายลง นับแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙ ในรัชกาลที่ ๕ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. ๑๒๔ ขึ้นอีกเป็นคำรบสอง และการที่เป็นทาสได้เลิกเด็ดขาดไปเมื่อหลังแต่ได้ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในมณฑลพายัพในรัชกาลที่ ๖ ร.ศ. ๑๓๑ แล้วเป็นลำดับมา ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยเป็นล้นเกล้าฯ
๔. การตุลาการ
กฎหมายที่บัญญัติขึ้นไว้ใช้สำหรับภายในบ้านเมืองเรียกว่า “อาณาจักรหลักคำ” แต่เดิมมาได้ทราบว่าเคยใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์และราชศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดียเหมือนกัน อาณาจักรหลักคำเพิ่งจะมาตั้งขึ้นในชั้นหลังโดยถือหลักจากกฎหมายที่กล่าวแล้วบ้าง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาพบ้านเมืองบ้าง แต่แปลกที่มีบทบัญญัติบทลงโทษและคำสั่งสอนรวมคละปะปนไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะแม้แต่ความผิดเล็กน้อยอาจถูกประหารชีวิตได้ ปรากฏว่าเมืองน่านในยุคนั้นสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าได้เป็นนิสัยปัจจัยสืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้
วิธีพิจารณาในประเภทความอาชญาอุกฉกรรจ์คงดำเนินอย่างวิธีที่จะแคะไค้เอาความจริงด้วยการทรมานให้สารภาพตามลักษณะที่เรียกว่า “จารีตนครบาล” เหมือนอย่างเมืองทั้งปวงในสมัยเดียวกัน เมื่อคดีตกถึงสนาม ขุนสนาม ๓๒ นาย พิจารณาเป็นรูปเรื่องเห็นว่าใครผิดใครถูกแพ้ชนะกันอย่างไรแล้ว ก็พร้อมกันลงความเห็นในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามผลที่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติในอาณาจักรหลักคำลงในพับดำ (สมุดดำ) หรือแผ่นกระดาษดำ แล้วนำขึ้นไปอ่านถวายเจ้าผู้ครองนครอันพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาหอคำ เมื่อเจ้าผู้ครองนครและคณะได้พิจารณาเห็นว่าจะควรชี้โดยสถานใดแล้ว เจ้าผู้ครองนครก็ชี้ขาดบัญชาให้บังคับเป็นไปตามด้วยสถานนั้นๆ
ส่วนความแพ่งนั้น วิธีพิจารณาคงดำเนินไปในทางอันเดียวกัน เว้นแต่การไต่สวนไม่ใช่เคี่ยวเข็ญเอาตามจารีตนครบาล แต่ถ้าเป็นความที่กำกวมหรือคลุมเครือซึ่งคณะตุลาการไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกด้วยกฎหมายได้แล้ว ก็มีวิธีตัดสินด้วยการให้คู่ความทนต่อการสาบานหรือการพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่งในการพิสูจน์นั้นอาจเป็นด้วยการให้เอานิ้วมือจิ้มตะกั่วที่ละลาย หรือเสี่ยงเทียน หรือวิธีที่จะยังความครั่นคร้ามให้แก่ผู้ทุจริตอื่นใดก็ได้ ซึ่งหวังในความศักดิ์สิทธิ์บันดาลของพระและเทพเจ้าเป็นใหญ่ สุดแล้วแต่ผู้พิพากษาจะเห็นสมควร เมื่อผู้ใดชนะการพิสูจน์ก็ตัดสินให้เป็นผู้ชนะคดี
มีเกร็ดของเรื่องนี้อยู่เรื่องหนึ่งกล่าวกันว่า มีผู้พิพาทกันด้วยเรื่องตู่กรรมสิทธิ์กระบือกันขึ้นเรื่องหนึ่ง ผลของการพิจารณาตุลาการไม่สามารถที่จะชี้ให้ได้ว่ากระบือตัวนั้นเป็นของผู้ใดเพราะน้ำหนักคำให้การของคู่ความรับกันในเรื่องลักษณะของกระบือเท่าๆ กัน ผลที่สุด จึงให้โจทก์จำเลยกระทำพิธีสาบาน และพิสูจน์ด้วยการเสี่ยงเทียนกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ข้อตกลงมีว่า ถ้าเทียนของ ผู้ใดดับก่อนผู้นั้นก็แพ้แก่ความสัตย์จริง และจะตัดสินให้อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ เทียนนั้นได้ควั่นขึ้นจากขี้ผึ้งมีน้ำหนักเท่ากัน เส้นด้ายไส้เทียนก็นับมีจำนวนเท่ากัน การพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์ชนะเพราะเทียนจำเลยดับก่อน ตุลาการจึงจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น จำเลยไม่ยอมกลับพูดว่า “พระองค์น้อยเกิดเมื่อวามาเมื่อซืนจะไปฮู้ฮีตบ้านกองเมืองหยัง” เพื่อจะบังคับคดีให้เป็นไปโดยละม่อมและให้จำเลยจำนนแก่การพิสูน์จริงๆ ตุลาการก็ยอม จึงให้คู่ความไปทำการพิสูจน์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เลือกกระทำกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเมืองทีเดียว ผลการพิสูจน์ครั้งนี้ปรากฏว่าจำเลยชนะ โจทก์กลับมีเสียงขึ้นบ้างว่า “สี่สิบลืมหน้า ห้าสิบลืมหลังเฒ่าชะแร แก่ออกล้ำ เยียใดจักจำได้” ในที่สุดกระบือตัวนั้นเลยตัดสินให้ตกเป็นกระบือของหลวง
ได้คัดส่วนหนึ่งของอาณาจักรหลักคำลงไว้ สำหรับท่านที่สนใจต่อคติธรรมโบราณของจังหวัดน่านด้วย
อาณาจักรหลักคำ
พระราชกถาสมเด็จพระเชษฐบรมราชาอนันตยศวรราชเจ้า องค์เป็นอิสสราธิบัตติองค์ เป็นเจ้าแก่รัฐประชาในไชยนันทเทพบุรีนครราชธานีนครเมืองน่าน มีพระราชกรุณาแก่มหาขัตติยราชวงษาและท้าวพญาราชเสวกาผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวล ว่าโบราณราชวรปิตตุจฉาองค์เป็นน้าได้เสวยราชสมบัติ เป็นเจ้าแก่รัฐประชามาช้านาน ก็เป็นเถิงแก่กรรมนำตนไปสู่โลกภายหน้า ละสถานบ้านช่องบ้านเมืองและเราท่านทั้งหลายเสียแล้ว ครั้นอยู่มาเถิงจุลศักราช ๑๒๑๔ ตัว เดือนเจ็ด ออกสามค่ำ ตัวเราจึงได้พาเอาขัตติยราชวงษาและขุนเสนาอำมาตย์ล่องลงไปเฝ้าพระมหากษัตริย์เจ้า ณ กรุงเทพมหานคร แล้วจึงมีพระมหากรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม หื้อตัวเราได้เป็นเจ้าได้เสวยราชสมบัติสืบราชตระกูลวงษาเป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองนานรักษาราชตระกูลวงษารัฐประชานครสถานบ้านเมือง และวรพุทธ-ศาสนา ให้การกุ่งรุ่งเรืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบต่อไปภายหน้า ตามดังโบราณประเพณีอันมีมาแต่ก่อนนั้น
โปรดประการนี้ บัดนี้เราเป็นเจ้ามารำพึงเล็งหันวรพุทธศาสนานครสถานบ้านเมืองแห่งเราทั้งหลาย ทุกวันมานี้ หนภายนอก มีเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลาย ผู้บ่ดีสมคบกับด้วยกันกระทำเป็นโจรกรรมอันบ่ดี ไปลักเอาวัวควายของท่าน ลักทางเหนือเอาไว้ทางใต้ ลักทางใต้เอาไปไว้ทางเหนือ ลักทางวันตกเอาไปไว้วันออก ลักทางวันออกเอาไปไว้วันตก แลเอาของท่านไปซุ่มซ่อนไว้ ปาดหูตัดเขาเหมียด๑หมาย เสียใหม่ เพื่อจักหื้อของท่านสาปสูญแล้วเอาเป็นของตัว อนึ่งไปซื้อเอามาฆ่ากิน อนึ่งสมคบกันเล่นแท่นเล่นเบี้ยเล่นหมากแกวเล่นพนันขันต่อกัน เอาสรรพสิ่งของเงินทองกัน ลวดเป็นหนี้เป็นสินกับด้วยกันหาสง๒ จะใช้แทนบ่ได้ ลวดสมคบกันเป็นโจรไปลักเอาสิ่งของแห่งท่าน อนึ่งด้วยผู้คนทั้งหลายก็ดี อันเป็นร้าง๓ เป็นบ่าว๔ ก็ดี แอ่ว๕ ค่ำมาคืน แอ่วร้างจา๖ สาว ถือศาสตราอาวุธกระทำตัวแปลกปลอม บ่หื้อรู้บ่ฮื้อหันหน้า บ่หื้อรู้จักว่าเป็นผู้ร้ายผู้ดี ในกรรมทั้งหลายฝูงนี้จักพาให้บ้านเมืองวินาศฉิบหายและร้อนรนแก่รัฐประชาบ้านเมืองต่อๆ ไปมีเป็นหลายประการต่างๆ เหตุนั้นเราเป็นเจ้าจึงปงพระราชอาญาไว้แก่เจ้าพระยามหาอุปราชาหอหน้า หื้อหาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาแลลูกหลาน ท้าวพญาเสนาอามาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลมาพร้อมกัน ปรึกษาพิจารณาแลตั้งพระราชอาชญาเป็นราชอาณาจักรกดขี่สั่งสอนบาปบุคคลผู้บ่ดี อย่าหื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน ร้อนรนแก่บ้านเมืองแห่งเราแลรัฐประชาต่อๆ ไป เพื่อให้วรพุทธศาสนาแลบ้านเมืองแห่งเรานี้หื้อได้อยู่เย็นเป็นสุขพึ่งด้วยเดชบุญคุณแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป ว่าฉะนี้
ครั้น อยู่มาเถิงจุลศักราชเดียวนี้ เดือนเจียงแรม ๑๐ ค่ำ เจ้ามหาอุปราชาหอหน้า จึงได้หาเอาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาลูกหลาน แลท้าวพญาเสนาอามาตย์ขึ้นปรึกษาพร้อมกันยังโรงไชย เจ้าพระยาหอหน้าปรึกษากันพิจารณาด้วยอันจักตั้งพระราชอาณาจักรนั้นตกลงแล้ว ครั้นเถิงเดือนยี่ออก ๑ ค่ำ มีเจ้าพระยาอุปราชาหอหน้าเป็นประธาน และเจ้าพระยาราชบุตร เจ้าพระยาศรีสองเมือง เจ้าพระยาสุริยพงษ์ เจ้าพระยาวังซ้าย เจ้าพระยาวังขวา เจ้าพระยาอริยวงษา เจ้าพระยาเทิง เจ้าพระยาเมืองราชา เจ้าพระเมืองแก้ว เจ้าพระเมืองน้อย เจ้าพระวิไชยราชา เจ้าเมืองเชียงแขง เจ้าเมืองเชียงของ เจ้าเมืองเลน เจ้าราชวงษ์เมืองเลน เจ้าเมืองหลวง เจ้าเมืองเชียงลาบ เจ้าเมืองภูคา เจ้าเมืองล้ำ แลขัติยราชวงษา ท้าวพญาเสนาอามาตย์ราชเสวกผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลพร้อมกันเอาเนื้อความปรึกษาตั้งราชอาชญานั้นขึ้นกราบหลอง๗ เถิงราชสำนักเราเป็นเจ้าแล้ว จึงได้พร้อมกันตั้งพระราชอาชญาไว้หื้อเป็นอาณาจักรหลักคำ ไว้สั่งสอนห้ามปรามเจ้านายท้าวขุนลูกหลานไพร่ไทยทั้งหลายอย่ากระทำกรรมอันบ่ดีสืบต่อไปภายหน้าว่าตั้งแต่ศักราช ๑๒๑๔ ตัวปีเต่าไจ้เดือนยี่ ออก ๑ ค่ำ วันพุธนี้ไป
ภายหน้าห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายได้สมคบกันกระทำกรรมบ่ดี เป็นโจรลักเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองแลช้างวัวควายของท่านไปฆ่ากินก็ดี ลักเอาไปขายเสียก็ดี ลักเอาไป เหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี อนึ่งซื้อเอามาฆ่ากินก็ดี ผู้จักขายก็รู้ว่าท่านจักเอามาฆ่ากินแล้วป้อย๘ ขายหื้อก็ดีในกรรมทั้งหลายมวลฝูงนี้อย่าหื้อได้กระทำเป็นอันขาด
คันว่า๙ บุคคลผู้ใด ไปลักเอาควายท่านมาฆ่ากินจักเอาตัวใส่ราชวัตร๑๐ ไวแล้วหื้อใช้ค่าควายตามราคา แล้วจักเอาตัวไปฆ่าเสีย บ่หื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดินต่อไป
คันว่าลักเอาควายท่านขายเสียก็ดี ลักเอาไปตัดเขาปาดหูเหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี โทษเสมอกัน จักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันว่าได้ของเก่าคืน หื้อไหม ๔ ตัวควาย คันว่าบ่ได้ของเก่าคืนฮื้อใช้ ๑ ไหม ๔ ตัวควาย ค่าควายพู่แม่ดำพอนใหญ่น้อยถือว่าค่า ๒๐๐ ดอก๑๑ คันเป็นว่าเจ้านายหื้อ คารวะอาชญา๑๒ ยากต่อกึ่ง๑๓ คันเป็นท้าวขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ยากต่อกึ่ง
อนึ่ง ตัวหากลักฆ่าควายตัวก็ดี ไปซื้อควายเปิ้นมาฆ่ากิน ผู้ขายก็รู่ว่าท่านจักเอาไปฆ่ากินแล้วป้อยขายหื้อก็ดี ถือโทษเสมอกัน คันว่ารู้แล้วจักเอาตัวใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อใส่สินค่าคอ๑๔ ๔๔๐ ดอก ยากต่อกึ่ง คันเป็นไพร่หื้อใส่สินคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่ง
อนึ่ง จักปริกรรมผีเทพดาอาลักษณ์นั้น คันว่าในราชสำนักในเวียงหื้อไหว้สา๑๕ คันเป็นหน้าบ้านหื้อปฏิบัติเถิงสนามก่อน คันว่าหัวเมืองนอก หื้อบอกเถิงพ่อเมือง หื้อได้รู้ก่อนคันบ่บอกหื้อรู้ ถือว่าเป็นโจรลักกินควาย คันได้รู้แล้วจักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่ใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่ง
อนึ่ง ห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายบนผีหนังประกรรม๑๖ แลผีพระเจ้าหาดเชี่ยว๑๗ ว่าจะหื้อกินควาย อย่าหื้อกระทำเป็นอันขาด คันบุคคลผู้ใดยังกระทำ จะเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่งฯ
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
อนึ่ง พ่อเมืองนายบ้าน นายอ่ายนายเกิน๑๘ ทั้งหลายทุกตำบล อย่าได้ลาสา๑๙ ประมาท
หื้อรักษาด่านทางเขตแขวงบ้านเมืองไผมันหื้อมั่นขันแข็งแรง แม้นว่าลูกค้าวานิชทั้งหลายคือว่าค่าช้างค่าม้าค่าวัว ค่าควายหาบแลสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลาย ออกจากเมืองไปบ่มี ชะลางหนังสือ๒๐ ตีตราแต่ราชสำนักอย่าได้ปล่อยไปเป็นอันขาด ว่าคันเป็นคนหื้อจับตัวใส่คา หื้อมั่นขันส่งเข้ามาเถิงราชสำนักสนาม คันเป็นสมณะชีพราหมณ์หื้อเกาะเอาตัวเข้ามาเถิงราชสำนักสถาน คันว่าเป็นลูกค้าแลคนต่างประเทศเมืองอื่นเข้ามาเถิงนายอ่ายแล้ว บ่มีหนังสือชะลางตีตรา อย่าปล่อยเข้าด้วยง่ายหื้องดไว้ก่อน แล้วหื้อมาบอกเถิงพ่อเมืองนายบ้าน แล้วเกาะเอาตัวมาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน
อนึ่ง ด้วยคนทั้งหลายหนีลุก์ ๒๑ ต่างประเทศบ้านเมืองที่อื่น เข้ามาแอบแฝงเพิ่งอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย แลอาศัยอยู่กับวัดวาอารามที่ใดๆ ก็ดี แม้เป็นคนไทยใต้ก็ดี เป็นลาวก็ดี เป็นคนบ้านใดเมืองใดก็ดี หากหนีมาผู้ ๑ - ๒ - ๓ คนก็ดี แลหาชะลางหนังสือ บ่ได้แม้จักมาอาศัยอยู่กับบ้านใดเมืองใดก็ดี วัดวาก็ดี อย่าหื้อรับอะหยั้งด้วยง่ายหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านได้นำเอาฝูงคนนั้น เข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน จักได้ไล่เลียงไต่ถามหื้อรู้ก่อน คันว่าคนฝูงนี้หากมีการหนีเข้ามาเพิ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย ผู้ใดปิดบังเสียบ่
เอาตัวเข้ามาปฏิบัติเถิงสนามหื้อได้รู้ภายลุน๒๒ บังเกิดเป็นข้าลักกระโมยโจรเป็นประการใดก็ดี ตัวมันหากหนีหายไปหาตัวบ่ได้ จับเอาตัวเจ้าเรือนที่อาศัยแทนผู้นั้นตามโทษ
อนึ่ง ลูกค้าทั้งหลายมาจากต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศอื่น เข้ามาหาซื้อช้างซื้อม้าซื้อวัวซื้อควายนั้น คันเข้ามาเถิงบ้านใดเมืองใดก็ดี อย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายอย่าได้นับซื้อขายต่อกันด้วยง่าย หื้อพาเอาตัวลูกค้าทั้งหลายเข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน อนึ่ง หาก ผู้ใดบ่ฟังลักซื้อลักขายกัน บ่มาปฏิบัติเถิงสนามนั้น จักเอาโทษตามอาชญา คันบ้านใดเมืองใด บ่กระทำตามพระราชอาชญาได้ ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ สืบรู้จักเอาโทษจงหนัก ในพระราชอาชญาได้ปรึกษาพร้อมเพรียงกับด้วยมหาขัตยราชวงศ์อัครมหาเสนาอำมาตย์ชูตนชูคนได้ตั้งพระราชอาณาจักรตักเตือนสั่งสอนแก่เจ้านายท้าวพญาราษฎรทั้งหลาย แลพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายในขงจักขวัติเมืองน่านทุกตำบลชะและบุคคลผู้ใดกระทำล่วงเกินสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จักเอาโทษตามพระราชอาชญา ซึ่งได้ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ ทุกประการ
หมายเหตุ อธิบายศัพท์โบราณ
๑. เหมียดหมาย หมายถึง ตำหนิ
๒. สัง อะไร
๓. ร้าง ม่าย
๔. บ่าว ชายหนุ่ม
๕. แอ่ว เที่ยว
๖. จา พูด
๗. กราบหลอง ทูล
๘. ป้อย พลอย
๙. คันว่า ครั้นว่า, ถ้าว่า
๑๐. ราชวัตร เครื่องจองจำ
๑๑. ดอก เงินดอก (เงินแท่ง)
๑๒. คารวะอาชญา เงินสินไหมปรับให้แก่เจ้าผู้ครองเป็นเงิน ๑๒๐ รูเปีย
๑๓. ยากต่อกึ่ง ปรับเป็นพินัยหลวง ครึ่งหนึ่งของราคาปรับไหม
๑๔. สินค่าคอ สินไหม
๑๕. ไหว้สา ทูล,บอก
๑๖. ผีหนังประกรรม ผีหนังสำหรับคล้องช้าง
๑๗. ผีพระเจ้าหาดเชี่ยว ผีที่สิงอยู่ในที่ทั่วไป คอยรับเครื่องบำบวงจากผู้สำเร็จ
ปรารถนาในการบนบาน
๑๘. นายอ่ายนายเกิน นายด่าน
๑๙. ลาสา เพิกเฉย
๒๐. ชะลางหนังสือ หนังสือคู่มือเดินทาง
๒๑. ลุก์ มาจาก
๒๒. ภายลุน ภายหลัง
สำนักเจ้าผู้ครองนคร
โดยฐานะเจ้าผู้ครองนคร (เดิม) เป็นประมุขหรือเจ้าแผ่นดินน้อยๆ เป็นเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่งที่สำคัญของเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินน้อยๆ จึงไม่ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ในอาณาจักรใหญ่ๆ แต่อย่างใด กล่าวคือ ด้วยความเป็นใหญ่เป็นประธานในเหล่าพสกนิกร ผู้เป็นประมุขจักต้องบริหารการปกครองให้เจริญมั่นคง ดำรงแว่นแคว้นให้เป็นที่ร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทั่วไป เป็นผู้นำแบบความดีงามทั้งหลายทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนา นอกจากนี้ เพื่อจะยังให้เกียรติยศและความร่มเย็นเป็นสุขของราษฎรมีผลอันไพบูลย์ เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะบำเพ็ญกรณีตามคติธรรมของผู้เป็นประมุขเนื่องในทางศาสนาสืบมาแต่โบราณอันเรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” ประกอบอีกส่วนหนึ่งด้วย
ส่วนอิสริยยศประจำตัวเจ้าผู้ครองนครนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามฐานะของบ้านเมือง บ้านเมืองใหญ่ก็มีอิสริยยศประดับมาก บ้านเมืองน้อยก็ลดหลั่นกันลงมาตามกำลังวังชาแต่อย่างไรก็ดีทางสำนักผู้ครองนครน่านก็ได้มีคติประเพณีทางฝ่ายขัตติยสืบกันมาช้านาน กล่าวคือ เมื่อมีผู้ขึ้นครองเมืองก็มีพิธีอภิเษก แม้ในชั้นหลังการตั้งเจ้าเมืองจะได้เป็นโดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง ณ กรุงเทพฯ ก็ดี ก็มิได้ละประเพณีเสีย ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งยังบ้านเมืองอีกวาระหนึ่งเมื่อจะเข้าไปสถิต ณ สำนักเจ้าเมืองก็มีพิธีขึ้นสำนักซึ่งตรงกับคำว่า “เฉลิมพระราชมณเฑียร” มีการออกพญาแสนท้าว (ขุนนาง) ต้อนรับแขกเมืองด้วยพิธี มีการออกประพาสเมืองโดยอิสสริยศด้วยกระบวนข้าบริพารเป็นอาทิ
นอกจากพญาแสนท้าวอันเป็นขุนนางที่เจ้าผู้ครองนครได้แต่งตั้งขึ้นไว้ เพื่อบริหารกิจการ
บ้านเมืองยังสนาม ซึ่งเป็นการภายนอกส่วนหนึ่งแล้ว ยังอีกการภายใน อันเป็นกิจการของคุ้มของเจ้าผู้ครองนครโดยตรง ก็แต่งตั้ง “ขุนใน” ขึ้นไว้รับใช้การงานและประดับเกียรติยศเจ้าผู้ครองนครอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำนองข้าราชการฝ่ายราชสำนัก ซึ่งมีความมุ่งหมายเป็นส่วนใหญ่ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้
กิจการภายในสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน อาจแบ่งออกได้เป็น ๕ แผนก คือ แผนกวัง แผนกเสมียนตรา แผนกมณเฑียรและอาสนะ แผนกการกุศล แผนกรับใช้
แผนกวัง
มีหน้าที่ควบคุมตรวจตรากิจการภายในคุ้มทุกอย่าง รักษาความสงบเรียบร้อยภายในคุ้ม พิทักษ์ตัวเจ้าผู้ครองนครด้วยกำลังคน “เจ้าใช้การใน” ที่มีประจำอยู่ จัดพิธีออกพญาแสนท้าวในคราวที่ประกอบเป็นเกียรติยศ พิธีออกแขกเมือง – ต้อนรับแขกเมือง จัดกองเกียรติยศเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาส
แผนกเสมียนตรา
มีหน้าที่ทำหนังสือของเจ้าผู้ครองนครที่จะมีไปในที่ต่างๆ และรับคำสั่งอาชญาที่จะแจ้งไปให้สนามทราบกับมีหน้าที่เก็บสรรพหนังสือภายในหอคำ
แผนกมณเฑียรและอาสนะ
มีหน้าที่พิทักษ์ดูแลหอคำและเรือนโรงของเจ้าผู้ครองนครและบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อชำรุด กับมีหน้าที่แต่งตั้งอาสนะเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาสไปประทับ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
แผนกการกุศล
มีหน้าที่ประกอบการกุศลของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ กระทำพิธีบูชาพระเคราะห์ตามคราวและมีหน้าที่บันทึกเรื่องรายงานการกุศล
แผนกรับใช้
มีหน้าที่รับใช้เจ้าผู้ครองนครในกิจการต่างๆ
ข้าราชการบริหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว มีรายนามเป็นทำเนียบดังต่อไปนี้
แผนกวัง
๑. พญาสิทธิวังราช เป็นผู้สำเร็จการวัง
๒. พญาราชวัง เป็นผู้ช่วย
๓. ท้าวอาสา เป็นหัวหน้าคนเจ้าใช้การใน มีหน้าที่จับกุมบุคคลที่ขัดอาชญาตามบัญชาของเจ้าผู้ครองนครและมีหน้าที่ถือมัดหวายนำหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร
๔. ท้าววังหน้า เป็นหัวหน้าคนเจ้าใช้การใน กับมีหน้าที่ออกหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร ในอันที่จะประกาศมิให้ผู้คนจอแจข้างหน้าทางหรือตัดหน้าฉาน
กับมีคนใช้การในสำหรับที่จะเรียกใช้กระทำกิจการภายในคุ้ม ๑,๐๐๐ คน ในเวลาปกติมีคนเจ้าใช้การในมาเข้าเวรยาม ๑๕ คน พวกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรครั้งละ ๓ วัน ๓ คืน หมุนเวียนกันไป
แผนกเสมียนตรา
พญาสิทธิอักษร เป็นหัวหน้า
แผนกมณเฑียร
๑. พญาราชมณเฑียร เป็นหัวหน้า
๒. แสนหลวงราชนิเวศน์ เป็นผู้ช่วย
อาสนะ
พญาอาสนมณเฑียร เป็นหัวหน้า
แผนกการกุศล
๑. แสนหลวงสมภาร เป็นหัวหน้า
๒. แสนหลวงกุศล เป็นผู้ช่วย
๓. แสนหลวงขันคำ เป็นผู้ถือพานทองนำหน้าเจ้าผู้ครองนครไปในคราวบำเพ็ญ
กุศลต่างๆ
แผนกรับใช้
๑. แสนหลวงใน ผู้รับใช้จับจ่ายอาหารเลี้ยงดูคนในคุ้ม
๒. แสนหลวงต่างใจ เป็นผู้รับใช้กิจการต่างๆ ภายนอก นอกจากนี้ ยังมีพนักงาน
เสมียนและเจ้าหมวดนายหมู่อีกพอสมควร
การปกครองเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล
เมื่อมหาประเทศทางตะวันตกมีอังกฤษและฝรั่งเศสได้ประเทศใกล้เคียงเป็นเมืองขึ้นและแผ่อำนาจใกล้เข้ามาโดยรอบพระราชอาณาจักรสยามอยู่เป็นลำดับ เกิดมีคนในบังคับต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปกครองของสยามขึ้นเป็นเงาตามตัว หัวเมืองประเทศราชของสยามทั้งปวงเป็นเมืองที่อยู่ในข่ายพระราชอาณาเขต มีการเกี่ยวข้องกับคนในบังคับบัญชามากกว่าหัวเมืองชั้นใน แต่วิธีการ ปกครองของเมืองประเทศราชเหล่านั้น ยังเป็นพลการและโบราณล้าสมัยอยู่มาก อาจมีการพลั้งพลาดถึงกับเป็นการกระทบกระเทือนในทางการเมืองและสัญญาทางพระราชไมตรีได้
อีกประการหนึ่ง ในสมัยเดียวกัน แม้ในพระราชอาณาเขตภายในเองก็ยังมีการปกครองโดยให้เมืองใหญ่ปกครองเมืองน้อย ตามลำดับเมืองที่เป็นเอก โท ตรี จัตวา อยู่ทั่วไป เมืองใหญ่เพียงแต่ต้องฟังบังคับบัญชาตรงจากเจ้ากระทรวง การที่เป็นเช่นนี้อยู่ในฐานะที่ต้องกระจายหัวเมืองอยู่มาก ในขณะนั้นการคมนาคมถึงกันก็ไม่ใคร่สะดวก คำสั่งจากกรุงเทพฯ จะถึงเมืองหนึ่งๆ ก็ช้าเหตุผลที่เป็น ข้อสำคัญยิ่งก็คือ เหตุที่มามอบหมายให้หัวเมืองบังคับบัญชากันเอง การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในกรุงไปไม่ใคร่ถึง เมื่ออาณาประชาชนมีคดีทุกข์ร้อนหรือถูกเจ้าพนักงานกดขี่ข่มเหงหรือตัดสินความไม่เป็นยุติธรรม เจ้ากระทรวงก็ต้องเรียกตัวคู่ความและสำนวนไปชำระว่ากล่าวในกรุงกว่าจะได้รับความยุติธรรมก็เป็นความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นอันมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงเหตุ ดังกล่าวนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองประเทศราชขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาลเป็นครั้งแรก และทรงตั้งข้าหลวงใหญ่ออกไปบัญชาต่างพระเนตรพระกรรณนับแต่ระหว่างปี ๒๔๓๕ - ๒๔๓๗ และในปีต่อๆ มา ก็ทรงตั้งมณฑลอื่นๆ ขึ้นอีกเป็นลำดับ
จังหวัดน่านขึ้นอยู่ใน “มณฑลลาวเฉียง” ซึ่งมีจังหวัดอื่นๆ ขึ้นอยู่อีก คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ เชียงราย (ภายหลังแยกอาณาเขตจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป็นจังหวัดขึ้นอีกจังหวัดหนึ่ง คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ตั้งศาลารัฐบาลที่จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ”
พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลพายัพ”
พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ประกาศตั้งมณฑลพายัพเป็นภาคพายัพ และตั้งสมุหเทศาภิบาลเป็นอุปราชประจำภาค
ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นี้เอง ได้ประกาศแยกจังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง ออกจากมณฑลพายัพ ตั้งมณฑลขึ้นอีกมณฑลหนึ่งเรียกว่า “มณฑลมหาราษฎร์” ขึ้นอยู่ในภาคพายัพ ตั้งศาลารัฐบาลอยู่ที่จังหวัดแพร่
พ.ศ.๒๔๖๘ ได้ประกาศเลิกภาคพายัพและตำแหน่งอุปราชประจำภาคเป็น สมุหเทศาภิบาลกับยกเลิกมณฑลมหาราษฎร์รวมจังหวัดที่อยู่ในมณฑลมหาราษฎร์ไปขึ้นแก่มณฑลพายัพตามเดิม
พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ประกาศยุบมณฑลและให้จังหวัดต่างๆ ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
เมื่อก่อนตั้งมณฑลลาวเฉียงขึ้นนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งข้าหลวงมาประจำจังหวัดน่านแล้ว เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นต้นมา เพื่อกำกับตรวจตราจัดวางระเบียบราชการในพื้นเมืองให้เข้ารูปแบบในกรุงเทพฯ ต่างหูต่างตากระทรวงมหาดไทยและจัดการอันเกี่ยวกับต่างประเทศ มิให้เป็นการกระทบกระเทือนในทางการเมือง ในขั้นต้นที่มีข้าหลวงมาประจำ การปฏิบัติราชการมีการขลุกขลักกันอยู่บ้าง เพราะเป็นหัวต่อของการที่จะปรับปรุงระเบียบราชการขึ้นใหม่ ซึ่งการทั้งนี้ก็ย่อมจะกระเทือนใจ
บรรดาเจ้านายอยู่บ้าง แต่ต่อมาเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจกันดีแล้วความกลมเกลียวประสานงานก็ค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะนี้ทางบ้านเมืองยังคงมีสนามเป็นที่ว่าการอยู่ตามเดิม
ครั้นต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ แล้ว กระทรวงมหาดไทยได้มีตราให้ยุบเลิกตำแหน่งขุนสนามและตั้งพนักงาน ๖ ตำแหน่งขึ้นว่าการ การมหาดไทย การยุติธรรม การทหาร การคลัง การนา การวังแทน ให้ขึ้นอยู่ในข้าหลวงประจำเมืองและเจ้าผู้ครองนคร
เนื่องด้วยการแบ่งเขตแขวงสำหรับจัดการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการใน ปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ยังเป็นการก้าวก่ายอยู่หลายประการ
สมควรจะจัดการวางแบบแผนวิธีปกครองและวางตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามควรแก่กาลสมัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยจึงให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิริยศิริ) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลอง ขึ้นมาจัดวางระเบียบการปกครองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ อันเนื่องแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ แล้วนั้น และเพื่อที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ตราข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นใช้ในปีต่อไป ปีนี้พระยามหาอำมาต- ยาธิบดีได้มาที่จังหวัดน่าน พร้อมด้วยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ครั้งนั้นยังเป็นเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดช) เจ้าผู้ครองนคร พระยาสุนทรนุรักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ข้าหลวงประจำเมืองและเจ้านายท้าวพญาทั้งปวงประชุมปรึกษาตกลงวางระเบียบราชการขึ้นใหม่ ดังนี้
๑. การปกครองท้องที่
ได้แบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็น ๘ แขวง คือ
๑. แขวงนครน่าน คือรวมตำบลใกล้เคียงมี เมืองน่าน เมืองสา เมืองพง เมืองไชยภูมิ เมืองบ่อว้า ให้มีที่ว่าการตั้งที่แขวงเมืองน่าน
๒. แขวงน้ำแหง คือรวมเมืองหิน เมืองศรีสะเกษ เมืองลี้ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมือง ศรีสะเกษ
๓. เขวงน่านใต้ คือรวมเมืองท่าแฝก บ้านท่าปลา บ้านผาเลือด บ้านหาดล้า เมือง จะริม ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่บ้านท่าปลา
๔. แขวงน้ำปัว คือ เมืองปัว เมืองริม เมืองอวน เมืองยม เมืองย่าง เมืองแงง เมืองบ่อ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปัว
๕. แขวงขุนน่าน คือรวมเมืองเชียงกลาง เมืองและ เมืองงอบ เมืองปอน เมืองเบือ เมืองเชียงคาน เมืองยอด เมืองสะเกิน เมืองยาว ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเชียงกลาง
๖. แขวงน้ำของ คือรวมเมืองงอบ เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน เมืองเงิน ให้มีที่ว่าการตั้งที่เมืองเชียงลม
๗. แขวงน้ำอิง คือรวมเมืองเชียงคำ เมืองเชียงแลง เมืองเทิง เมืองงาว เมือง เชียงของ เมืองเชียงเคี่ยน เมืองลอ เมืองมิน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเทิง
๘. แขวงขุนยม คือรวมเมืองเชียงม่วน เมืองสะเอียบ เมืองสระ เมืองสวด เมืองปง เมืองงิม เมืองออย เมืองควน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปง
แขวงหนึ่งแบ่งออกเป็น “พ่ง” มีประมาณ ๑๐ พ่งๆ หนึ่งแบ่งออกเป็นหมู่บ้านมีประมาณ ๑๐ หมู่บ้าน ๆ หนึ่งมีลูกบ้านประมาณ ๒๐ คน
แขวงหนึ่งให้มี “นายแขวง” ๑ คน “รองแขวง” ๒ คน หรือหลายคนตามการมากและน้อยและมี “สมุห์บัญชี” ๑ คน เสมียนใช้ตามสมควร
พ่งหนึ่งให้มี “เจ้าพ่ง” ๑ คน มีศักดิ์เป็นพญามี “รองเจ้าพ่ง” อีก ๑ หรือ ๒ คน ตามพ่งน้อยและใหญ่กับมีล่ามอีก ๒ คน (ต่อมาได้เปลี่ยนพ่งเป็นแคว้น)
หมู่บ้านหนึ่งให้มี “แก่บ้าน” คนหนึ่ง
๒. เจ้าหน้าที่ปกครอง
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครองให้เรียกนามตำแหน่งดังนี้
๑. กองบัญชาการ – ให้มีข้าราชการ ๓ นาย คือ เจ้าผู้ครองนคร ๑ ข้าหลวงประจำเมือง ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ รวมเรียกว่า “เค้าสนามหลวง”
๒. กองขึ้นแก่เค้าสนามหลวง – ให้มีข้าราชการขึ้นอยู่กับในเค้าสนามหลวง ๖ ตำแหน่ง คือ พนักงานมหาดไทย ๑ พนักงานยุติธรรม ๑ พนักงานทหาร ๑ พนักงานคลัง ๑ พนักงานนา ๑ พนักงานวัง ๑
พนักงาน ๖ ตำแหน่งนี้มีพนักงานเป็นหัวหน้า ๑ และพนักงานรองเสมียนคนใช้ตาม สมควร กับมีพนักงานกรมการแขวงตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
๓. หน้าที่และอำนาจของเจ้าหน้าที่
ได้วางระเบียบไว้ดังนี้
๑. เจ้าผู้ครองนคร มีหน้าที่รักษาราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อยต่างพระเนตรพระกรรณเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะการในพื้นเมือง เป็นผู้ออกอาชญาหมายคำสั่งพนักงาน ๖ ตำแหน่งตามข้อความซึ่งได้ปรึกษาหารือในที่ประชุมเค้าสนามหลวงและมีอำนาจบังคับบัญชาราชการในบานเมืองให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงในที่ประชุมเค้าสนามหลวงกับบังคับบัญชาว่ากล่าวเจ้านายบุตรหลานเพี้ยท้าวแสนวงศ์ญาติตามที่ชอบด้วยหน้าที่ราชการและพระราชกำหนดกฎหมาย
๒.ข้าหลวงประจำเมือง มีหน้าที่ตรวจตรารักษาราชการต่างพระเนตรพระกรรณทุกอย่าง เป็นผู้โต้ตอบในการที่เกี่ยวกับต่างประเทศทั้งปวง เป็นผู้มีใบบอกและหนังสือราชการไปมากับกรุงเทพฯ ข้าหลวงใหญ่ ณ ที่ว่าการมณฑลและเมืองอื่นๆ นอกจากในพื้นเมืองน่าน ตามความที่ได้ตกลงในที่ประชุมเค้าสนามหลวง เป็นผู้แนะนำและสั่งพนักงานให้รับราชการตามหน้าที่ทุกอย่างและมีอำนาจสั่งให้หยุดยั้งหรือถอนอาชญาหมายคำสั่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้านายคนใดซึ่งข้าหลวงเห็นว่าไม่ชอบด้วยราชการหรือไม่ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย ในระหว่างมีใบบอกไปหารือที่ว่าการมณฑลหรือบอกไปยังกรุงเทพฯ ได้ทุกอย่าง เป็นผู้ตรวจและเซ็นชื่อในคำพิพากษาของศาลในระหว่างที่กระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้จัดตั้งศาล กับเป็นผู้อนุญาตตั้งและย้ายตำแหน่งข้าราชการ ขึ้นและลดเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าชั้นพนักงานรองลงไป
๓. ข้าหลวงผู้ช่วย มีหน้าที่แทนข้าหลวงประจำเมืองในเมื่อข้าหลวงประจำเมืองไม่อยู่หรือป่วย และช่วยงานในตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองทุกอย่าง
๔. พนักงาน ๖ ตำแหน่ง มีหน้าที่ทำการตามคำสั่งของเค้าสนามหลวงและรับผิดชอบโดยเฉพาะในหน้าที่ของตำแหน่ง คือ
๑) พนักงานมหาดไทย ว่าการปกครอง
๒) พนักงานยุติธรรม ว่าการพิจารราพิพากษาอรรถคดี และการจัดการศาลตามแบบศาลในพื้นเมือง
๓) พนักงานทหาร ว่าการปราบปรามโจรผู้ร้าย (การตำรวจ)
๔) พนักงานคลัง ว่าการคลัง
๕) พนักงานนา ว่าการเก็บเงินผลประโยชน์แผ่นดินทั้งปวง
๖) พนักงานวัง ว่าการโยธา การสุขาภิบาล การธรรมการ การไปรษณีย์
๕. พนักงานกรมการแขวง คงมีหน้าที่ในการปกครองท้องที่แบบเดียวกับคณะกรม
การอำเภอปัจจุบันนี้ทุกประการ
๔. การปฏิบัติราชการ
เนื่องด้วยแต่เดิมมา ข้าหลวงและพนักงาน ๖ ตำแหน่งต่างทำการแยกย้ายกันอยู่ที่บ้านคนละแห่งจึงให้มารวมทำการ ณ ที่สนามแห่งเดียวกัน กำหนดให้ข้าราชการต้องรับราชการในสนามวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมง คือตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. เว้นแต่วันพระและวันขัตตฤกษ์ ส่วนการปฏิบัติราชการเมื่อเปิดสนามแล้วกำหนดให้มีเวลาประชุมปรึกษาราชการ ในที่ประชุมนั้นให้มีเจ้าผู้ครองนคร ๑ ข้าหลวงประจำเมือง ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ กับหัวหน้าตำแหน่งทั้ง ๖ รวม ๙ คน พร้อมกันประชุมปรึกษาสั่งราชการซึ่งจะมีมาในเวลาเฉพาะวันนั้นและราชการในหน้าที่ใดมา ให้เจ้าหน้าที่เสนอในคราวประชุม การประชุมนั้นถ้ามีข้าหลวงหรือข้าหลวงผู้ช่วยคนหนึ่ง กับหัวหน้าหรือรอง ๖ ตำแหน่งอีก ๓ นาย รวมเป็น ๔ นาย ให้เป็นองค์ประชุมสั่งราชการได้
การประชุมปรึกษาราชการนั้น ถ้าความเห็นสอดคล้องต้องกันทั้ง ๖ คน ก็ให้จัดสั่งราช-การไป ถ้าความเห็นแตกต่างกันประการใดไม่เป็นที่ตกลงกันได้ก็ให้ข้าหลวงประจำเมือง ๑ เจ้าผู้ครอง-นคร ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ รวมเป็น ๓ นาย ซึ่งเป็นเค้าสนามหลวง พร้อมกันประชุมปรึกษาหารือสั่งเป็นเด็ดขาด ถ้าคนทั้ง ๓ มีความเห็นแตกต่างไม่ตกลงกัน ให้เอาความเห็นข้างมากเป็นคำตกลงกันเด็ดขาดและถ้าความเห็นแตกต่างกันเช่นนี้บังเกิดขึ้นเมื่อคนใดในเค้าสนามหลวงมาประชุมไม่ได้จะเป็นโดยเหตุประการใดก็ดี มีอยู่แต่เพียง ๒ นาย ก็ต้องถามความเห็นอีกคนหนึ่งก่อนจึงจะเป็นการตกลงกันได้ หรือถ้าเป็นการสำคัญมากก็ให้แจ้งความไปยังที่ว่าการมณฑลขอหารือและรับคำสั่งเป็นเด็ดขาด
การสิ่งใดที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมแล้ว จึงให้จัดทำไปตามหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งออกอาชญาหรือมีหนังสืออ้างว่าเป็นราชการไปด้วยประการใดๆ นอกจากที่ได้ประชุมตกลงเห็นชอบแล้วนั้น เว้นแต่ถ้ามีราชการร้อนที่จำเป็นจะต้องจัดต้องสั่งโดยเร็วจึงให้ข้าหลวงปรึกษาพร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครจัดสั่งไปแล้วจึงแจ้งต่อที่จะต้องทำในทันที จึงให้ข้าหลวงจัดส่งไปได้ แล้วแจ้งให้ที่ประชุมทราบภายหลัง
นอกจากการวางระเบียบราชการที่พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้จัดขึ้นดังกล่าวแล้วยังได้ปรึกษาเป็นที่ตกลงกับเจ้าผู้ครองนครถึงการจัดราชการบ้านเมืองอย่างอื่นอีก ส่วนที่สำคัญคือ
๑. เรื่องการเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องนำไปสู่พระราชบัญญัติการ -
เก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙
๒. เรื่องยกค่าตัวทาสและยกบุตรหลานค่าหอคนโรงในการที่จะผ่อนผันให้พ้นจากความเป็นทาสซึ่งเป็นเรื่องนำไปสู่พระราชบัญญัติทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ณ.ศ. ๙
๓. เรื่องสร้างสนามขึ้นใหม่ เจ้าผู้ครองนครยอมถวายที่ดินให้เป็นที่ปลูกสร้างและพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานรับจะช่วยออกแรงช้างในการชักลากไม้จนสำเร็จการ ซึ่งเป็นผลให้ได้มีสนามถาวรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ (คือศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน)
๔. เรื่องเรือนจำ ในขณะนั้นที่คุมขังนักโทษยังแยกอยู่นอกเวียงแห่งหนึ่งในเมืองเวียงแห่งหนึ่ง ข้าหลวงจะเลิกตะรางนอกเวียงเสีย เพราะทำไว้เปล่าไม่มีนักโทษ ฝ่ายตะรางในเวียงก็รกชำรุด ข้าหลวงและเจ้าผู้ครองนครจะซ่อมและขยายตะรางในเวียงให้เป็นไปตามข้อบังคับเรือนจำ ร.ศ. ๑๑๘
ต่อมารุ่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้กฎข้อบังคับสำหรับ ปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้น ซึ่งเป็นข้อบังคับพิเศษใช้ต่อเนื่องกับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ ในส่วนระเบียบราชการนั้นคงมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วทุกประการ การปฏิบัติราชการได้ดำเนินการตามรูปนี้เป็นลำดับมาจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยจังหวัดดังกล่าวนี้มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารและได้ยกเลิกมณฑลเสีย
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง มีสาระสำคัญคือ
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
๒. อำนาจบริหารราชการของจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของคณะกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ฐานะของกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราช การจังหวัด
ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ สาระสำคัญมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นระเบียบบริหารราชการที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดน่าน. อ่างทอง : วรศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๐.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น