สะพานพระราม 8

     สะพานพระราม 8 เป็น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แห่งที่ 13 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปลายถนนอรุณอัมรินทร์ ฝั่งธนบุรี กับปลายถนนวิสุทธิษัตริย์ ฝั่งพระนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2538 เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนฯ และเป็นจุดเชื่อมต่อตามโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ผิวการจราจรเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2545


     สะพานพระราม 8 นั้นปแบบโดดเด่นสวยงามเพราะได้ออกแบบเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร ซึ่งหมายความว่า มีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่งพระนคร จึงไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ

    สะพานพระราม 8 นั้นสร้างเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) กรุงเทพมหานครจึงได้อัญเชิญ พระราชลัญจกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์มาเป็นต้นแบบในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ส่วนประกอบต่างๆ ของสะพานเน้นความโปร่งบาง เรียบง่าย และสวยงาม วัสดุที่ใช้ในโครงสร้างของสะพานเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ในส่วนของสะพานเสาสูงรูปตัว Y คว่ำ เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำหน้าที่หิ้วส่วนโครงสร้างสำคัญอื่นๆ ของสะพาน ซึ่งมองเห็นได้จากในระยะไกล ราวขอบสะพานทำจากโลหะ ออกแบบเป็นลวดลายที่วิจิตรและอ่อนช้อย จำลองมาจากดอกบัวและกลีบบัว เสาโครงสร้างตกแต่งด้วยลวดลายที่จำลองจากดอกบัว ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและมีคุณสมบัติช่วยสะท้อนแสงลงสู่ผิวจราจร เพิ่มความสว่างบริเวณผิวจราจรช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ในเวลาค่ำคืน


     สิ่งพิเศษสุดของสะพานพระราม 8 ที่สะพานอื่นในกรุงเทพมหานครยังไม่มีก็คือ ที่ปลายยอดเสาสูงของตัวสะพานจะมีจุดชมวิว เป็นห้องลักษณะคล้ายดอกบัว อยู่สูงจากพื้นดินถึง 165 เมตร หรือสูงเท่ากับตึก 60 ชั้น มีขนาดพื้นที่ 35 ตารางเมตร จุคนได้ครั้งละเกือบ 50 คน เนื่องจากโครงสร้างเสาสูงเป็นแบบตัว Y คว่ำ การขึ้นลงจุดชมวิวจึงต้องติดตั้งลิฟต์ทั้งในแนวเฉียงและแนวดิ่ง โดยเป็นแนวเฉียงจากพื้นดิน 80 เมตรก่อน จากนั้นจึงเป็นแนวดิ่งอีก 155 เมตร แต่ละเที่ยวบรรทุกน้ำหนักได้ประมาณ 5 คน ใช้เวลาขึ้น - ลงประมาณ 2 - 3 นาที

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

อำเภอเวียงชัย