สุโขทัย

ประวัติศาสตร์จังหวัดสุโขทัย

จากการศึกษาร่องรอยทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ศิลาจารึก และตำนานพงศาวดารท้องถิ่นหลายฉบับ ทำให้เข้าใจว่า ระยะก่อนปี พ.ศ. ๑๖๗๑ นั้น ปรากฏว่าอำนาจของอาณาจักรเขมร รุ่งเรืองมากในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ เป็นต้นมา จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาณาจักรเขมรมีศูนย์กลางอำนาจทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) อาณาจักรเขมรมีการปกครองแบบราชาธิปไตย กษัตริย์จะส่งขุนนางมาปกครองเมืองบริวาร โดยเมืองบริวารจะต้องส่งส่วยเป็นเครื่องราชบรรณาการให้แก่นครหลวง ขณะเดียวกับบางท้องถิ่นอาจเป็นอิสระมีอำนาจปกครองตนเอง กลุ่มชนมีขนาดไม่ใหญ่โต ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ได้รับรับการยกย่องจากกลุ่มชนให้เป็นผู้ ปกครอง ไม่มีความซับซ้อนในการปกครองเพราะประชาชนยังมีน้อย บริเวณที่มีความสำคัญในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง คือ
๑. บริเวณเมืองศรีเทพ ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีซากโบราณสถานเป็นปรางค์ที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ รวมทั้งเทวรูปศิลาหลายองค์ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปกรรมแบบเขมร
๒. บริเวณเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ซึ่งปรากฏมีโบราณสถานเป็นศิลปกรรมแบบเขมร ได้แก่ พระปรางค์วัดจุฬามณี ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลง
๓. บริเวณเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นศิลปกรรมแบบเขมร คือ พระปรางค์วัดเจ้าจันทร์ พระปรางค์ ๓ องค์วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดงและฐาน พระปรางค์วัดศรีสวาย เมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น
สุโขทัยในฐานะที่เป็นแคว้นทางการปกครองอย่างเป็นเอกเทศ ได้ปรากฏรูปร่างขึ้นมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อวีรบุรุษไทย ๒ คน คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง สหายทั้ง ๒ ท่าน ได้ร่วมมือกันยึดเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยคืนมาจากข้าศึกที่ชื่อว่า “ขอมสบาดโขลญลำพง”
เมืองสุโขทัยเดิม พญาศรีนาวนำถม เป็นเจ้าเมืองครองอยู่ แต่ครั้นเมื่อพญาศรีนาวนำถมถึงแก่กรรมลง ได้เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น โดยต้องตกอยู่ในอำนาจปกครองของขอมสบาดโขลญลำพง ดังนั้นพ่อขุนผาเมืองผู้เป็นโอรส จึงได้ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวยึดอำนาจคืน สำหรับพ่อขุนผาเมืองนั้นนอกจากเป็นโอรสของเจ้าเมืองสุโขทัยเก่า และเป็นเจ้าเมืองราดแล้ว ยังดำรงฐานะเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรและได้รับมอบนามเกียรติยศ คือ “ศรีอินทราบดินทราทิตย์” กับพระขรรค์ชัยศรีจากกษัตริย์เขมรด้วย
เมื่อทั้งสองยึดเมืองศรีสัชนาลัยกับสุโขทัยได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองจึงได้มอบเมืองสุโขทัยให้สหายตนครอบครอง พร้อมทั้งนามเกียรติยศตนให้แก่สหาย ส่วนตัวเองกลับไปครองเมืองราดเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ พ่อขุนบางกลางหาวจึงได้เป็นที่รู้จักกันภายหลังในนามว่า “ศรีอินทราบดินทราทิตย์” หรือ “ศรีอินทราทิตย์”
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครอบครองสุโขทัยเป็นศูนย์กลางมีอำนาจอยู่แถบบริเวณลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำปิงตอนล่าง ทรงมีโอรสที่ปรากฏนามอยู่สองพระองค์ คือ พ่อขุนบานเมืองผู้พี่และพ่อขุน รามราชผู้น้อง
ในขณะนั้นบ้านเมืองยังอยู่ในความไม่สงบ ยังมีผู้นำของกลุ่มชนอิสระอยู่อีกหลายกลุ่มที่คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่ ดังนั้น ในการรวบรวมกลุ่มชนต่างๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันจึงต้องมีการทำสงครามต่อสู้กัน ดังเช่นครั้งหนึ่งเมื่อพ่อขุนรามราช อายุได้ ๑๙ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตปกครองของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครั้งนั้นพ่อขุนรามราชได้ช่วยพระราชบิดาออกสู้รบด้วย และสามารถชนช้างชนะขุนสามชนได้ พ่อขุนศรอินทราทิตย์จึงให้นาม พ่อขุนรามราชว่า “พระรามคำแหง”
เมื่อขุนศรีอินทราทิตย์สิ้นพระชนม์ พ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่อยู่ในช่วงระยะสั้นๆ ไม่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อพ่อขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๑๘๒๒ พ่อขุนรามคำแหง จึงได้ครองราชย์ต่อมาและได้ทรงเป็นมหาราชย์พระองค์แรกของชาติไทย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชถือได้ว่าเป็นยุคทองของสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองกว่าในรัชกาลใดๆ ในราชวงศ์พระร่วง ราชอาณาจักรแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง
ทิศเหนือ อาณาเขตถึงเมืองหลวงพระบาง โดยมีเมืองต่างๆ คือ เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองปัว
ทิศใต้ อาณาเขตถึงฝั่งทะเลสุดเขตมาลายู โดยมีเมืองต่างๆ คือ เมืองคนที เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองเพชรบุรี และเมืองนครศรีธรรมราช
ทิศตะวันออก อาณาเขตถึงเมืองเวียงจันทน์ และเมืองเวียงคำ โดยมีเมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองลุมบาจาย และเมืองสคา
ทิศตะวันตก อาณาเขตถึงเมืองฉอดและเมืองหงสาวดี
ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บ้านเมืองอยู่อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุขดังที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า พระองค์ได้ทรงวางระเบียบปกครองบ้านเมือง ทั้งยังประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ กับทั้งทรงดูแลการเพิ่มผลผลิตของประชากรเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอาณาจักร
พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ พญาเลอไท ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ในขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชครองราชสมบัติอยู่ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตในราว พ.ศ. ๑๘๔๒ เมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย ได้แตกแยกกันออกเป็นอิสระ ทำให้เสถียรภาพของอาณาจักรสุโขทัยอยู่ในฐานะที่คับขัน กษัตริย์ที่ครองราชสมบัติสืบต่อจากพ่อขุนรามคำแหง คือ พญาไสสงคราม การที่เมืองต่างๆ พยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ รวมทั้งเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงพยายามแยกตัวออกไป แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่เกิดความยุ่งยากในราชวงศ์ก็ขึ้นอยู่กับการปกครองเป็นสำคัญ เพราะการปกครองในสมัยนั้นเป็นแบบนครรัฐ คือแต่ละเมืองก็มีผู้ปกครองนครเป็นอิสระ เข้ามารวมกันได้ก็เพราะศรัทธากษัตริย์องค์เดียวกันเท่านั้น
หลังจากรัชกาลของพญาไสสงครามแล้ว พญาเลอไทได้ครองราชสมบัติต่อมาราว พ.ศ. ๑๘๖๖ ซึ่งน่าจะต้องดำเนินนโยบายในการพยายามรวบรวมอาณาจักรเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ตลอดระยะเวลา ๑๘ ปี ที่พระองค์ครองราชสมบัติอยู่นั้นไม่มีรายละเอียดปรากฏอยู่มากนัก พระองค์สวรรคตราวปี พ.ศ. ๑๘๘๔
ต่อมารัชกาลพญาเลอไท มีกษัทตริย์ที่ออกพระนามในศิลาจารึกพระองค์หนึ่งคือ พญางัว-นำถม ในฐานะพระอนุชาแต่เป็นโอรสของพ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองเมืองสุโขทัยและได้โปรดให้พญา ลิไท ผู้เป็นโอรสของพญาเลอไทไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ในฐานะอุปราชครองเมืองลูกหลวง เมื่อ พญางัวนำถมสวรรคตในราว พ.ศ. ๑๘๙๐ เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในราชสำนักกรุงสุโขทัยที่ไม่ชอบตามขนบธรรมเนียม บรรดาหัวเมืองต่างๆ แสดงตัวอย่างเปิดเผยถึงการดำรงอยู่อย่างอิสระ ไม่ยอมขึ้นกับส่วนกลาง พญาลิไทจึงลอบเสด็จยกทัพจากเมืองศรีสัชนาลัยใช้กำลังเข้ายึดเมืองไว้ได้ แล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์กรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่า “ศรีสุริพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช” เมื่อครอง กรุงสุโขทัยแล้วทรงปราบปรามเจ้าเมืองต่างๆ ภายในแคว้น แล้วแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไว้วาง พระราชหฤทัย ไปปกครองรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง คือ กรุงสุโขทัย บ้านเมืองจึงอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง
ความพยายามของพระมหาธรรมราชชาลิไท ภายหลังขึ้นครองราชสมบัติแล้ว คือ ความ มุ่งหวังที่จะรวบรวมเมืองต่างๆ ที่แตกแยกกันออกไปให้กลับเข้ามารวมในอาณาจักรเดียวกันอีกและมีความหวังว่าจะให้มีอาณาเขตใหญ่โตเท่ากับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจนถึงกับเสด็จไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเผยแพร่และกระทำกิจทางศาสนา ซึ่งขณะเดียวกันก็แสดงให้เมืองต่างๆ ที่พระองค์เสด็จไปเห็นว่า พระองค์มีแสนยานุภาพและมีพระราชอำนาจเต็มในกิจการต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ เช่นในปี พ.ศ. ๑๙๐๒ พระองค์เสด็จยกทัพไปตีเมืองแพร่ กวาดต้อนครัวเรือนมาเป็นข้าพระที่วัดป่าแดง ศรีสัชนาลัย และในปีนั้นก็ได้ประดิษฐ์รอยพระพุทธบาทจำลองที่เขาสุมนกูฎ เมืองสุโขทัย
ในฐานะผู้ครอบครองแคว้นสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงพยายามดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ เป็นทั้งนักปราชญ์ผู้สนพระทัยในทางศาสนาโดยให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ส่งสมณทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังที่ต่างๆ ที่พระองค์ต้องการเป็นพันธมิตรด้วย เช่น เมืองน่าน หลวงพระบาง และกรุงศรีอยุธยา แต่ขณะเดียวกันก็ได้แสดงบทบาทของการเป็นนักรบที่พยายามขยายอำนาจของแคว้นสุโขทัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในสมัยของพระองค์ นอกจากจะได้ยกทัพไปตีเมืองแพร่ทางทิศเหนือแล้ว ทางทิศตะวันออก ได้พยายามขยายขอบเขตออกไปถึงเมืองลุ่มแม่น้ำป่าสัก จากบทบาทการเป็นนักรบของพระองค์ที่ขยายพระราชอำนาจไปยังเมือง ลุ่มน้ำป่าสักนี้เอง ทำให้กระทบกระทั่งกับกรุงศรีอยุธยา ที่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองแถบนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงเสด็จลอบยกทัพมายึดเมืองสองแควไว้ได้ และได้โปรดให้ขุนหลวงพ่องั่ว พระเชษฐาของพระมเหสี ซึ่งขณะนั้นครองเมืองสุพรรณบุรี มาปกครองเมืองสองแคว ทำให้พระมหาธรรมราชาลิไท ต้องถวายบรรณาการเป็นอันมาก ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงทรงมอบเมืองสองแควคืน และโปรดให้ขุนหลวงพ่องั่วไปครองเมืองสุพรรณบุรีดังเดิม
ในการคืนเมืองสองแควนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงตั้งเงื่อนไขว่าพระมหาธรรมราชา ลิไท ต้องเสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว จึงเป็นเหตุให้แคว้นสุโขทัยที่เริ่มจะรวมตัวกันได้ต้องสั่นคลอน เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จไปประทับอยู่เมืองสองแควได้โปรดให้พระอนุชาปกครองเมืองสุโขทัยแทน
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๒ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรตค สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงทราบ จึงคาดสถานการณ์ว่า ทางกรุงศรีอยุธยาคงต้องมีเหตุไม่เรียบร้อยขึ้นแน่ พระองค์จึงรวบรวมพลจากเมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยที่เจ้าเมืองยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ เสด็จยกพลมายังกรุงสุโขทัย การเสด็จกลับคืนสุโขทัยในครั้งนี้ หลังจากที่ต้องทรงประทับอยู่ที่สองแควถึง ๗ ปี จึงเป็นการเตรียมการที่จะใช้ตำแหน่งของเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นบัลลังก์ที่บรรพบุรุษของพระองค์ได้สั่งสมอำนาจไว้นั้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการระดมกำลังก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยให้มีฐานะมั่นคงสืบไป พระองค์ทรงเริ่มบทบาทโดยการเป็นพันธมิตรกับแคว้นล้านนาซึ่งขณะนั้นมีเจ้ากือนา เป็นกษัตริย์ปกครอง โดยพระองค์ได้ส่งตระสุมนะเถระเป็นสมณะทูตขึ้นไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๓ ขุนหลวงพ่องั่วซึ่งขึ้นครองเมืองสุพรรณบุรี ได้เห็นความเคลื่อนไหวของพระมหาธรรมราชาลิไทที่กรุงสุโขทัย พระองค์จึงเข้ายึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาด้วยความยินยอมของสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งได้ทรงกลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม ขุนหลวงพ่องั่วเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑"
พระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จสวรรคตเมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๖ หลังจากนั้นอาณาจักรสุโขทัยเกิดความแตกแยก เนื่องจากขาดผู้นำอาณาจักรที่เป็นที่ยอมรับของญาติพี่น้องครองเมืองต่างๆ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ จึงเสด็จขึ้นมายึดอาณาจักรสุโขทัยได้ทั้งหมด หากแต่ยังโปรดให้เชื้อพระวงศ์ทางสุโขทัยปกครองตนเอง โดยขึ้นตรงกับอาณาจักรอยุธยา คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งในสมัยของพระองค์ อาณาจักรสุโขทัยอยู่ในฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรเชียงใหม่กับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งต่างก็แสดงความเคลื่อนไหวในการที่จะผนวกเอาดินแดนของอาณาจักรสุโขทัยตลอดเวลา ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่ว) พระองค์ทรงเกรงว่าอาณาจักรสุโขทัยจะมีไมตรีกับอาณาจักรเชียงใหม่ เพราะหากทั้งสองอาณาจักรร่วมมือกันแล้วจะทำให้อาณาจักรอยุธยาอยู่ในฐานะลำบาก จึงทรงยกทัพมาปราบปรามหัวเมืองชายแดนที่ติดต่อกับอาณาเขตของสุโขทัย และหาเหตุเข้าโจมตีเมือง ในอาณาจักรสุโขทัยด้วย ตามพงศาวดารอยุธยากล่าวว่า
พ.ศ. ๑๙๑๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) มีชัยชนะต่อหัวเมืองเหนือทั้งปวง
พ.ศ. ๑๙๑๕ อยุธยายกทัพไปตีเมืองนครพังคา และเมืองแสงเชรา
พ.ศ. ๑๙๑๖ อยุธยายกทัพไปตีเมืองชากังราว พญาไสแก้ว กับ พญาคำแหง สู้รบป้องกันเมืองจนพญาไสแก้วเสียชีวิตในที่รบ พญาคำแหงถอยทัพกลับเข้าเมืองได้
พ.ศ. ๑๙๑๘ อยุธยายกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก ขุนสามแก้ว เจ้าเมืองพิษณุโลกถูกจับได้ ทัพอยุธยาได้เมืองและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองพิษณุโลกกลับมามาก
พ.ศ. ๑๙๑๙ อยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราว ครั้งที่สอง คราวนี้กองทัพพญาผากองเจ้าเมืองน่านมาช่วยรบร่วมกับพญาคำแหงด้วย แต่ก็ไม่สามารถสู้กองทัพอยุธยาได้ พญาผากองยกกองทัพหนีไป กองทัพอยุธยาตามจับตัวแม่ทัพนายกองได้มาก
พ.ศ. ๑๙๒๑ อยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราว เป็นครั้งที่ ๓ พระมหาธรรมราชา ยกกองทัพออกมาป้องกันเมืองด้วยพระองค์เอง แต่ก็ต้องยอมพ่ายแพ้แก่กองทัพอยุธยาจนถึงกับต้องยอมถวายบังคมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรอยุธยา
เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ยอมถวายบังคมต่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งอยุธยาแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัยยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะถูกอาณาจักรอยุธยาจำกัดอำนาจลง กับรวมทั้งการที่กษัตริย์สุโขทัยย้ายที่ประทับอยู่ที่เมืองสองแควด้วย
พระมหาธรรมราชาที่ ๒ สวรรคตราว พ.ศ. ๑๙๔๒ และพญาไสลือไทขึ้นครองราชสมบัติ ต่อมาทรงพระนามว่า "พระมหาธรรมราชาที่ ๓" อาจกล่าวได้ว่าภายหลังที่ทางอาณาจักรอยุธยาตัดกำลังหัวเมืองต่างๆ ของสุโขทัยลงแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของอาณาจักรสุโขทัยก็ทรุดลงและยากที่จะแก้ไขให้มั่นคงขึ้นได้ เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาสามารถขยายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวาง แต่ถึงกระนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ได้ทรงกู้เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัย โดยได้ยกกองทัพออกไปปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจแม้จะไม่ได้มากเท่ากับครั้งพญาลิไทก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ทำสงครามหลายครั้งรวมทั้งเคยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๕ ด้วย ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลทางชัยชนะเลยก็ตาม แต่เป็นการแสดงถึงความพยายามในการสร้างอาณาจักรให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการเป็นรัฐกันชนขนาดเล็กที่อาจถูกผนวกเข้าไปอยู่กับดินแดนของอาณาจักรหนึ่งได้
พญาไสลือไท ทรงมีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ พญาบาล และพญาราม หลังจากที่พญาไสลือไทเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๑๙๖๒ ก็เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (พระอินทราชาธิราช) กษัตริย์อยุธยาต้องยกทัพมาปราบจลาจลโดยยกทัพไปถึงพระบาง (นครสวรรค์) พญาบาล และพญาราม ต้องออกมากราบบังคมต่อสมเด็จพระนครินทราชาธิราช สมเด็จพระนครินทราชาธิราชจึงโปรดให้สถาปนาพญาบาลครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรม-ปาลมหาธรรมราชาธิราช และพญาราม โปรดเกล้าให้ครองเมืองสุโขทัย

พระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาลครองราชสมบัติอยู่ ๑๙ ปี จึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๘๑ การสวรรคตของพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาล (พระมหาธรรมราชาที่ ๔) นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคอาณาจักรสุโขทัยด้วย
เมื่อพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาล สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จึงโปรดให้สถาปนาพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งประสูตรจากเจ้าหญิงสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมี พระชนมายุเพียง ๗ พรรษา เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองสองแคว ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเป็นพระราชโอรสที่มีเชื้อสายทางเจ้านายฝ่ายสุโขทัย คงจะเข้ากับทางราชวงศ์สุโขทัยได้ดีและเท่ากับเป็นการผนวกดินแดนของอาณาจักรสุโขทัยในตัวไปด้วย
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เสด็จสวรรคตเมื่อปี ๑๙๙๑ พระราเมศวร-อุปราช จึงเสด็จจากเมืองสองแควไปครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนที่เมืองสองแควโปรดให้พระยุษธิฐิระ โอรสของพญารามเป็นเจ้าเมือง แต่ก็ทรงรวมอำนาจจากการบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่ส่วนกลางที่กรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพระยุษธิฐิระ ไม่พอใจอย่างมากที่เป็นเพียงเจ้าเมืองสองแคว จึงหันไปผูกมิตรกับพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรเชียงใหม่ ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเสด็จขึ้นครองเมืองสองแคว และโปรดให้พระอินทราชาครองกรุงศรีอยุธยาแทนพระองค์ ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงเปลี่ยนแปลงฐานะของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอาณาจักรสุโขทัยเดิมเสียใหม่ คือ
๑. เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นเอก คือ เมืองสองแคว
๒. เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นโท คือ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองชากังราว และเมืองเพชรบูรณ์
๓. เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นตรี ได้แก่ เมืองพิชัย เมืองสระหลวง และเมืองพระบาง
จะเห็นได้ว่าในบรรดาหัวเมืองในอาณาจักรสุโขทัยเดิม เมืองสองแควนับว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นโทได้ลดความสำคัญลง
เมืองสุโขทัยคงมีประชาชนอาศัยอยู่สืบมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรม-ราชา แต่อยู่ในฐานะที่ต้องส่งส่วยอากรและผลผลิตให้แก่อยุธยาบ้าง เก็บผลประโยชน์ให้พม่าบ้าง ตามเหตุการณ์ของสงคราม จวบจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ พระองค์ได้โปรดให้กวาดต้อนคนจากหัวเมืองเหนือลงไปไว้เมืองอยุธยาทั้งหมด เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีกำลังน้อย และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้พม่าใช้กำลังจากหัวเมืองเหนือเป็นฐานในการสนับสนุนส่งกำลังบำรุง ทำให้สุโขทัยต้องกลายเป็นเมืองอ่อนกำลังลง
การที่สุโขทัยอ่อนกำลังลงเช่นนี้ เป็นผลให้บรรดาสิ่งก่อสร้าง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม คูเมือง กำแพงเมือง และระบบชลประทานต่างๆ ถูกภัยธรรมชาติทำลายให้เสียหาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นว่าศิลปโบราณวัตถุทางศาสนา เช่น เทวรูป และพุทธรูปที่งดงามถูกทอดทิ้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายประติมากรรมล้ำค่าเหล่านั้น ไปประดิษฐานตามวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ศิลปกรรมของเมืองสุโขทัยส่วนหนึ่ง จึงเก็บรักษาอยู่ในกรุงเทพมหานครสืบมาจนกระทั่งบัดนี้ สิ่งที่เหลือเป็นอนุสรณ์ของความยิ่งใหญ่ของเมืองในอดีตมีเพียงแต่ซากของสถาปัตยกรรมที่ปรักหักพังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น



การปกครองตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
สภาพการปกครองของสุโขทัยแบ่งออกเป็นระยะที่สำคัญ ดังนี้.-
ระยะที่ ๑ ยุคก่อนอาณาจักรสุโขทัย (ก่อนปี พ.ศ. ๑๗๖๑)
ในระยะก่อนปี พ.ศ. ๑๗๖๑ อำนาจของอาณาจักรเขมรรุ่งเรืองมากในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยมีศูนย์กลางอำนาจทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) เขมรมีการปกครองแบบราชา -ธิปไตย กษัตริย์จะส่งขุนนางมาปกครองเมืองบริวาร โดยเมืองบริวารจะส่งส่วยเป็นบรรณาการให้แก่พระนครหลวง ขณะเดียวกันบางท้องถิ่นอาจเป็นอิสระมีอำนาจปกครองตัวเองแบบนครรัฐ กลุ่มชนคงไม่ใหญ่โต ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากกลุ่มชนให้เป็นผู้ปกครอง บริเวณที่มีความสำคัญได้แก่ เมืองศรีเทพ บริเวณวัดจุฬามณี และบริเวณเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย
ระยะที่ ๒ ยุคอาณาจักรสุโขทัยตอนต้น (พ.ศ. ๑๗๖๑–๑๙๒๑)
การปกครองในยุคนี้วางรากฐานลงแบบการปกครองครัวเรือน จุดเริ่มต้นเริ่มที่ “พ่อครัว” ทำหน้าที่ปกครอง ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวรวมกันเป็น “เรือน” หัวหน้าก็คือ “พ่อเรือน” หลายๆ เรือนรวมกันเป็นหมู่บ้าน มีหัวหน้าเรียกว่า “พ่อบ้าน” หลายๆ หมู่บ้านรวมกันเรียกว่า “เมือง” หัวหน้าคือ “พ่อเมือง” และพ่อขุน คือ ผู้ปกครองประเทศ หรือผู้ปกครองทุกเมืองนั่นเอง
แม้ว่าอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดจะรวมอยู่ที่พ่อขุนเพียงคนเดียว แต่ด้วยการจำลองลักษณะครอบครัวมาใช้ในการปกครอง พ่อขุนจึงปกครองประชาชนในลักษณะบิดาปกครองบุตร คือ ถือตนเป็นพ่อของราษฎร พ่อขุนเกือบทุกพระองค์ใช้อำนาจในลักษณะให้ความเมตตาและเสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร
อาณาเขตของสุโขทัย ในแผ่นดินสุโขทัยกว้างขวางใหญ่โตมาก
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวไว้ว่า "… มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอด สระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคาเท้าฝั่งของเถิงเวียงจันทน์ เวียงคำ เป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตกรอด เมืองฉอด เมืองหงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพร่ เมืองมาน เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวา…" นักประวัติศาสตร์ทั่วไปเชื่อว่า สุโขทัย เป็นราชธานีแห่งแรกของชาวไทยในแหลมอินโดจีนตอนกลาง และลักษณะการปกครองหัวเมืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองหน้าด่านหรือเมืองลูกหลวง ล้อมรอบธานี ทั้ง ๔ ด้าน คือ ศรีสัชนาลัย (ด้านหน้า) สองแคว (ด้านตะวันออก) สระหลวง (ด้านใต้) และชากังลาว (ด้านตะวันตก) การปกครองหัวเมืองชั้นในนั้นขึ้นอยู่กับสุโขทัยโดยตรง
๒. หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองท้าวพระยามหานคร ที่มีผู้ดูแลโดยตรงแต่ขึ้นอยู่กับสุโขทัยในรูปลักษณะของการสวามิภักดิ์ในฐานะเป็นเมืองขึ้นหรือเมืองออก หัวเมืองชั้นนอกมี แพรก อู่ทอง ราชบุรี ตะนาวศรี แพร่ หล่มสัก เพชรบูรณ์ และศรีเทพ
๓. เมืองประเทศราช ได้แก่เมืองที่เป็นชาวต่างภาษา มีกษัตริย์ปกครองขึ้นกับสุโขทัย ในฐานะประเทศราช มี นครศรีธรรมราช มะละกา ยะโฮร์ ทะวาย เมาะตะมะ หงสาวดี น่าน เซ่า เวียงจันทน์และเวียงคำ
ระยะที่ ๓ ยุคอาณาจักรสุโขทัยตอนปลาย (พ.ศ. ๑๙๒๑–๑๙๘๑)
ในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ของอาณาจักรสุโขทัย ได้ยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบที่เมืองชากังราวที่พระมหาธรรมราชาออกถวายบังคมต่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งอาณาจักรอยุธยา การเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นครั้งนี้ที่สำคัญคือ การที่อยุธยาพยายามทำลายศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัย คือ แบ่งแยกอาณาจักรสุโขทัยเป็น ๒ ส่วนคือ.-
๑. บริเวณลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ให้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสองแคว ให้กษัตริย์ของสุโขทัยปกครองต่อไป และอยู่ในอำนาจของอยุธยาในฐานะประเทศราช
๒. บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ให้มีศูนย์กลางที่เมืองชากังราว และขึ้นตรงต่ออยุธยา
ขณะเดียวกันอยุธยาก็พยายามผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาและประสบความสำเร็จในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) สำหรับลักษณะการปกครองที่ปรากฏในระยะนี้ เป็นแบบผสมระหว่างสุโขทัย และรับอิทธิพลการปกครองแบบราชาธิปไตยของอยุธยาเข้าไปใช้ด้วย ในระยะนี้นับว่าเมืองสองแควมีความสำคัญที่สุดขณะเดียวกันเมืองสุโขทัยเก่าก็ค่อยๆ ลดความสำคัญลง
ระยะที่ ๔ ยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๑๙๘๑–๒๔๓๗)
ในยุคนี้ แนวความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งพวกเขมรเป็น ผู้นำมาโดยถือว่ากษัตริย์เป็นผู้ได้รับอำนาจจากสวรรค์ หรือเป็นพระเจ้าบนมนุษย์โลก ลักษณะการ ปกครองจึงเป็นแบบนายปกครองบ่าว หรือเจ้าปกครองข้า
ในสมัยพระบรมรามาธิบดีที่ ๑ ทรงวางระบบการปกครองส่วนกลางแบบ “จตุสดมภ์” ตามแบบของขอม มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี ๔ คน คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลังและขุนนา เป็นผู้ช่วยดำเนินการมีหน้าที่ดังนี้.-
๑. เมือง รับผิดชอบด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และปราบปรามโจรผู้ร้าย
๒. วัง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก และตัดสินคดีความต่างๆ
๓. คลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านคลัง การค้าและภาษีอากรประเภทต่างๆ
๔. นา มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านการเกษตร
สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองต่างๆ ในระยะแรกพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเลียนแบบการปกครองของสุโขทัย คือ มีหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทำการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ให้มีลักษณะการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง คือ เมืองหลวงมากขึ้น โดยขยายอาณาเขตให้หัวเมืองชั้นในกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม หัวเมืองชั้นนอกกำหนดเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามลำดับ ตามขนาดและความสำคัญของเมือง โดยทางส่วนกลางจะส่งขุนนาง หรือพระราชวงศ์ไปทำการปกครองแต่สำหรับเมืองประเทศราชยังปล่อยให้มีอิสระในการปกครองเช่นเดิม นอกจากนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงปรับปรุงระบบบริหารขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบด้านพลเรือน บริหาร กิจการเกี่ยวกับ เมือง วัง คลัง และนา และมีสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหารและการป้องกันประเทศ แต่ภายหลังในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราว พ.ศ. ๒๒๓๔ ทั้งสมุหนายกและสมุหกลาโหม ต้องทำงานทั้งด้านทหารและพลเรือนพร้อมกัน โดยสมุหกลาโหมปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในหัวเมืองด้านใต้ และสมุหนายก ปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในหัวเมืองด้านเหนือ
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๑๙๘๑–๒๔๓๗) ฐานะของเมืองต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัย เดิมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดและความสำคัญของเมือง คือ.-
๑. หัวเมืองชั้นเอก ได้แก่ เมืองสองแคว
๒. หัวเมืองชั้นโท ได้แก่ เมืองสวรรคโลก (ในสมัยสุโขทัยเรียกว่า “เมืองศรีสัชนาลัย”) เมืองสุโขทัย เมืองชากังราว และเมืองเพชรบูรณ์
๓. หัวเมืองชั้นตรี ได้แก่ เมืองพิชัย เมืองสระหลวง (พิจิตร) เมืองพระบาง (นครสวรรค์)
ระยะที่ ๕ ยุคการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๓๗–๒๔๗๖)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ๒ ตำแหน่ง คือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ด้วย ได้จัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นกระทรวง ตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดี เป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด ๑๒ กระทรวง
หลังจากจัดหน่วยบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็จัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำ ท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่การจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ ปกครองอันสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้นการปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่ง ที่ส่วนกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางออกไป บริหารราชการในท้องที่ต่างๆ โดยได้แบ่งการปกครองประเทศ เป็นขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับไป คือ เป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง ถัดจากมณฑล คือ เมือง (สมัยรัชกาลที่ ๖ เรียกว่าจังหวัด) มีเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้ปกครอง เมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ มีนายอำเภอ เป็นผู้ปกครอง ทั้งสามส่วนนี้ปกครองโดยข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย อำเภอนั้นแบ่งออกเป็นตำบล มีกำนัน ซึ่งเป็นผู้ที่ผู้ใหญ่บ้านเลือกเป็นผู้ปกครอง ตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้ปกครอง
ใน ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา มณฑลพิษณุโลก (เมืองที่อยู่ในมณฑลนี้ได้แก่ เมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก) และทรง โปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งเคยขึ้นกับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รวมหัวเมือง มณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมาลายูตะวันออก เป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่ ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗ ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี (มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด)
พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
ระยะที่ ๖ ยุคปัจจุบัน (หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕)
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกเนื่องจาก
๑. การคมนาคม สื่อสาร สะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒. เพื่อประหยัดค่าใช่จ่ายในการปกครองประเทศ
๓. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑล รายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน อีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด มีหลักการเปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้.-
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ในฐานะของกรมการจังหวัด ซึ่งเดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายมาเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น จังหวัด และอำเภอ
กล่าวโดยสรุป การปกครองส่วนภูมิภาคในปัจจุบันอาศัยกฎหมาย ๒ ฉบับเป็นแม่บทคือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ซึ่งกำหนดรูปแบบของหน่วยบริหารขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของ ผู้บริหารในระดับต่างๆ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย