นครศรีธรรมราช
ประวัติศาสตร์จังหวัดนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และศาสนามากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองนี้มีชื่อเสียงเป็นที่ รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาไม่น้อยกว่า ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารที่ปรากฏในขณะนี้ยืนยันได้ว่านครศรีธรรมราชมีกำเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นอย่างน้อย๑
ชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช
จากประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช สามารถประมวลได้ว่า “นครศรี- ธรรมราช" ได้ปรากฏชื่อในที่ต่างๆ หลายชื่อ ตามความรู้ความเข้าใจที่สืบทอดกันมาและสำเนียงภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น
“ตมฺพลิงฺคมฺ” หรือ “ตามฺพลิงฺคมฺ” (Tambalingam) หรือ “กมลี” หรือ “ตมลี” หรือ “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง”
เป็นภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ (คัมภีร์บาลี ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทศ) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณกล่าวถึงการเดินทางของ นักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวยยังดินแดนต่าง ๆ อันห่างไกลจากอินเดีย คือบริเวณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ระบุเมืองท่าต่างๆ ในบริเวณนี้ไว้และในจำนวนนี้ได้มีชื่อเมืองท่าข้างต้น อยู่ด้วย ดังความตอนหนึ่งดังนี้
. . เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ ย่อมแล่นเรือไปในมหาสมุทร ไปคุมพะ (หรือติคุมพะ) ไปตักโกละ ไปตักกสิลา ไปกาลมุข ไปมรณปาร ไปเวสุงคะ ไปเวราบถ ไปชวา ไปกะมะลิง (ตะมะลิง) ไปวังกะ (หรือวังคะ) ไปเอฬวัททนะ (หรือเวฬุพันธนะ) ไปสุวัณณกูฏ ไปสุวัณณภูมิ ไปตัมพปัณณิ ไปสุปปาระ ไปภรุกะ (หรือภารุกัจฉะ) ไปสุรัทธะ (หรือสุรัฏฐะ) ไปอังคเณกะ (หรือภังคโลก) ไปคังคณะ (หรือภังคณะ) ไป ปรมคังคณะ (หรือสรมตังคณะ) ไปโยนะ ไปปินะ (หรือปรมโยนะ) ไปอัลลสันทะ (หรือวินกะ) ไปมูลบท ไปมรุกันดาร ไปชัณณุบท ไปอชบถ ไปเมณฑบท ไปสัง กุบท ไปฉัตตบท ไปวังสบท ไปสกุณบท ไปมุสิกบท ไปทริบถ ไปเวตตาจาร . . .๒
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Gorge Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า นักปราชญ์ทางโบราณคดีลงความเห็นว่าชื่อเมืองท่า “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” ข้างต้นนี้ตรงกับชื่อที่บันทึกหรือจดหมายเหตุจีนเรียกว่า “ตั้ง-มา-หลิ่ง” และในศิลาจารึกเรียกว่า “ตามพรลิงค์” คือ นครศรีธรรมราช๓
นอกจากนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยได้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีซึ่งบางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แต่บางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ ก็ได้กล่าวถึงดินแดนนี้ไว้ในถ้อยคำของพระมหานาคเสน ยกมาเป็นข้ออุปมาถวายพระเจ้ามิลินท์ (หรือเมนันเดอร์ พ.ศ. ๓๙๒-๔๑๓)๔ ดังความตอนหนึ่งว่าดังนี้
. . . เหมือนอย่างเจ้าของเรือผู้มีทรัพย์ ได้ค่าระวางเรือในเมืองท่าต่างๆ แล้วได้ชำระภาษีที่ท่าเรือเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถจะแล่นเรือเดินทางไปในทะเลหลวง ไปถึงแคว้นวังคะ ตักโกละ เมืองจีน (หรือจีนะ) โสวีระ สุรัฏฐ์ อลสันทะ โกลปัฏฏนะ-โกละ (หรือท่าโกละ) อเล็กซานเดรีย หรือฝั่งโกโรมันเดล หรือ สุวัณณภูมิ๕ หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งนาวาไปได้ (หรือสถานที่ชุมนุมการเดินเรือแห่งอื่นๆ ). . .๖
ศาสตราจารย์ซิลแวง เลวี (Sylvain levy) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่า “ตามพรลิงค์” ตามที่ ปรากฏในที่อื่นๆ๗ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปรนะวิธานะ (Senarat Paranavitana) นักปราชญ์ชาวศรี-ลังกา (ลังกา) มีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) บวกกับ “คมฺ” (gam) หรือ “คมุ” (gamu-ซึ่งภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ครฺมะ” (grama) จึงอาจจะเป็น “ตมะลิงคมฺ” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu)ในภาษาสิงหล และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็นคำว่า “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) และเป็น “ตามพรลิงคะ”(Tambralinga) ในภาษาสันสกฤต๘
“ตัน-มา-ลิง” (Tan-Ma-ling) หรือ ตั้ง-มา-หลิ่ง”
เป็นชื่อที่เฉาจูกัว (Chao-Ju-Kua) และวังตาหยวน (Wang-Ta-Yuan) นักจดหมายเหตุจีนได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ เตา-อี-ชี-เลี้ยว (Tao-i Chih-lioh) เมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๙ ความจริงชื่อตามพรลิงค์นี้นักจดหมายเหตุจีนรุ่นก่อน ๆ ก็ได้เคยบันทึกไว้แล้วดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสุงชี (Sung-Shih) ซึ่งบันทึกไว้ว่าเมืองตามพรลิงค์ได้ส่งฑูตไปติดต่อทำไมตรีกับจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๔ โดยจีนเรียกว่า “ต้น-เหมย-หลิว” (Tan-mei-leou) ศาสตราจารย์พอล วิทลีย์ (Paul Wheatley) นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า Tan-mei-leou” นั้นต่อมานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนชาวฝรั่งเศสและอังกฤษได้ลงความเห็นคำนี้ที่ถูกควรจะออกเสียงว่า “Tan-mi-liu” หรือ “Tan-mei-liu”๙
“มัทมาลิงคัม” (Madamalingam)
เป็นภาษาทมิฬปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในอินเดียภาคใต้โปรดให้สลักขึ้นไว้ที่เมืองตันชอร์ (Tanjore) ในอินเดียภาคใต้ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรมาปราบเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูจนได้รับชัยชนะหมดแล้ว ในบัญชีรายชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงตีได้และสลักไว้ในศิลาจารึกดังกล่าวนั้นมีเมืองตามพรลิงค์อยู่ด้วย แต่ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็นชื่อ “มัทมาลิงคัม”๑๐
“ตามพฺรลิงค์” (Tambralinga)
เป็นภาษาสันสกฤต คือเป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเวียง) ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓
ศิลาจารึกหลักนี้พันตรี de Lajonauiere Virasaivas ได้กล่าวไว้ว่าสลักอยู่บนหลืบประตูสมัยโบราณมีขนาดสูง ๑.๗๗ เมตร (ไม่รวมเดือยสำหรับฝังเข้าไปในธรณีประตูด้านล่างและทับหลังด้านบน) กว้าง ๔๕ เซนติเมตร หนา ๑๓ เซนติเมตร ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความ ๑๖ บรรทัด ในปัจจุบันนี้ศิลาจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านและแปลศิลาจารึกหลักนี้ไว้ดังนี้๑๑
คำอ่าน
๑. สฺวสฺติ ศฺรีมตฺศฺรีฆนสาสนาคฺรสุภทํ ยสฺ ตามฺพฺรลิงฺ
๒. เคศฺวระ ส - - นิว ปตฺมวํสชนตำ วํศปฺรทีโปตฺภวะ สํรู
๓. เปน หิ จนฺทฺรภานุมทนะ ศฺรีธรฺมฺมราชา ส ยะ ธรฺมฺมสาโสกสมานนี
๔. ตินิปุนะ ปญฺจาณฺฑวํสาธิปะสฺวสฺติ ศฺรี กมลกุลสมุตฺภฤ (ตฺ) ตามฺ
๕. พฺรลิงฺเคศฺวรภุชพลภิมเสนาขฺยายนสฺ สกลมนุสฺยปุณฺยา
๖. นุภาเวน พภุว จนฺทฺรสูรฺยฺยานุภาวมิห ลโกปฺรสิทฺธิกีรฺตฺติ
๗. ธรจนฺทฺรภานุ-ติ ศฺรีธรฺมฺมราชา กลิยุคพรฺษาณิ ทฺวตริงศาธิกสฺ ตฺรีณิ
๘. สตาธิกจตฺวารสหสฺรานฺยติกฺรานฺเต เศลาเลขมิว ภกฺตฺยามฺฤตวรทมฺ - - -
ต่อนั้นไปอีก ๗ หรือ ๘ บรรทัด อ่านไม่ใคร่ออก สังเกตเห็นได้แต่เพียง
๙. - - - - นฺยาทิ ทฺรพฺยานิ - - - - - - มาตฺฤปิตฺฤ
๑๐ - - - - - - - - - - สปริโภคฺยา - - - - - - - -
๑๑.-๑๒ - - - - - โพธิวฺฤกฺษ
คำแปล
สวสฺติ
พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา พระองค์สืบพระวงศ์มาจากพระวงศ์อันรุ่งเรือง คือ ปทุมวงศ มีรูปร่างงามเหมือนพระกามะ อันมีรูปงามราวกับพระจันทร์ ทรงฉลาดในนิติศาสตร์เสมอด้วยพระเจ้าธรรมาโศกราช เป็นหัวหน้าของพระราชวงศ์……………ทรงพระนาม ศรีธรรมราช
ศรีสวสฺติ
พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ เป็นผู้อุปถัมภ์ตระกูลปทุมวงศ พระหัตถ์ของพระองค์มีฤทธิมีอำนาจ……………ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลซึ่งพระองค์ได้ทำต่อมนุษย์ทั้งปวง ทรงเดชานุภาพประดุจพระอาทิตย์ พระจันทร์ และมีพระเกียรติอันเลื่องลือในโลกทรงพระนาม จันทรภานุ ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค ๔๓๓๒ - - - -
คำว่า “ตามพรลิงค์” นี้ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลว่า “ลิงค์ทองแดง” (แผ่นดินผู้ที่นับถือศิวลึงค์),๑๒ นายธรรมทาส พานิช แปลว่า “ไข่แดง” (ความหมายตามภาษาพื้นเมืองปักษ์ใต้),๑๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกเพี้ยนเป็น “ตามรลิงค์” (Tamralinga) สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประทานความเห็นว่า “ตามพรลิงค์” แปลว่า “นิมิตทองแดง” จะหมายเอาอันใดที่ในนครศรีธรรมราชน่าสงสัยมาก พบในหนังสือพระมาลัยคำหลวง เรียกเมืองลังกาว่า “ตามพปณยทวีป” แปลว่า “เกาะแผ่นทองแดง” เห็นคล้ายกับชื่อนครศรีธรรมราชที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “ตามพรลิงค์” จะหมายความว่าสืบมาแต่ลังกาก็ได้กระมัง,๑๔ ไมตรี ไรพระศก ได้แสดงความเห็นว่า “ตามพรลิงค์” น่าจะหมายความว่า “ตระกูลดำแดง” คือ หมายถึงผิวของคนปักษ์ใต้ซึ่งมีสีดำแดงและอาจจะหมายถึงชนชาติมิใช่ชื่อเมือง๑๕ และศาสตราจารย์โอ, คอนเนอร์ (Stanley J. O, Connor) มีความเห็นว่าชื่อ “ตามพรลิงค์” นี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ เพราะศาสนาพราหมณ์เจริญสูงสุดในนครศรีธรรมราช จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย และหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวนิกาย (Virasaivas) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดียภาคใต้ก็พบเป็นจำนวนมากในเขตนครศรีธรรมราชก็รองรับอยู่แล้ว๑๖
“ตมะลิงคาม” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงโคมุ” (Tamalingomu)
เป็นภาษสิงหล ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหลชื่อ Elu-Attanagalu vam-sa ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๕๑๗
นอกจากนี้ในเอกสารโบราณประเภทหนังสือของลังกายังมีเรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ เช่น “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu) ปราฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ ปูชาวลี (Pujavali), “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) ปราฏอยู่ในหนังสือเรื่องวินยะ-สนฺนะ (Vinay-Sanna)๑๘ และในตำนานจุลวงศ์๑๙ (Cujavamsa) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “. . . พระเจ้าจันทภานุบังอาจยกทัพจาก “ตมฺพลิงควิสัย” (Tambalinga – Visaya) ไปตีลังกา . . .” เป็นต้น ชื่อเหล่านี้นักปราชญ์โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อ “ตามพรลิงค์” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ของไทย
“กรุงศรีธรรมาโศก”
ปรากฏในจารึกหลักที่ ๓๕ คือศิลาจารึกดงแม่นางเมือง พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐
ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหินชนวนสีเขียว สูง ๑.๗๕ เมตร กว้าง ๓๗ เซนติเมตร หนา ๒๒ เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรอินเดียกลายทั้งสองด้าน ด้านหน้าเป็นภาษามคธ มี ๑๐ บรรทัด ตั้งแต่บรรทัดที่ ๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๐ ชำรุดอ่านไม่ได้ ด้านหลังเป็นภาษาขอม มี ๓๓ บรรทัด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่านและแปลศิลาจารึกหลักที่ ๓๕ ดังนี้๒๐
ด้านที่ ๑
คำจารึกภาษามคธ คำแปลภาษามคธ
๑. ๐ อโสโก มหาราชา ธมฺเตชพสี ๐ อโศกมหาราช ทรงธรรม เดชะ
๒. วีรอสโม สุนตฺตํ สาสนำ อโว- อำนาจ และมีความกล้าหาผู้เสมอมิได้ มีรับสั่ง
๓. จ ธาตุปูชเขตฺตํ ททาหิ ตฺวํ ๐ มายังพระเจ้าสุนัตต์ว่า ท่านจงให้ที่นาบูชา
๔. สุนตฺโต นาม ราชา สาสนํ สญฺชา- พระธาตุ ฯ พระเจ้าสุนัตต์จึงประกาศกระแส
๕. เปตฺวา……..(ต่อไปนี้ชำรุด)…….. พระราชโองการให้ประชาชนทราบ ฯ ……..
๖. …………………………………… ………………………………………………
๗. …………………………………… ……………………… (ชำรุด) …………….
๘. …………………………………… ………………………………………………
๙. ……………………………………
๑๐. ………………………………….
ด้านที่ ๒
คำจารึกภาษาขอม คำแปลภาษาขอม
๑. ๐ พฺระชํนฺวนมหาราชาธิราชดพฺระ สิ่งสักการที่มหาราชาธิราชผู้มีพระนามว่า
๒. นามกุรุงศฺรีธรฺมฺมาโศก ๐ ด กรุงศรีธรรมาโศก(๑) ถวายแด่พระสรีร
๓. พฺระศรีรธาตุ ๐ ดพฺระนามกมฺรเต ธาตุ(๒) ซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชดตศรี-
๔. งชคตศฺรีธรฺมฺมาโศก ๐ นาวิษย ธรรมาโศก(๓) ณ ตำบลธานยปุระ เช่นใน
๕. ธานฺยปุร ๐ เราะดบาญชียเนะ ๐ บาท บัญชีนี้ ข้าบาทมูล(๔) ผู้มีวรรณทุกเหล่า(๕)
๖. มูลอฺนกพรฺณฺณสบภาคสฺลิกปฺรำ ๒๐๑๒, พาน ๒๒, ถ้วยเงิน ๒๒, ช้าง ๑๐๐,
๗. ดบพฺยร ๐ พานภยพฺยร ๐ เพงปฺรา ม้า ๑๐๐, นาค ๑๐, สีวิกา(๖) สอง เป็น
๘. กภยพฺยร ๐ ตมฺรฺย สตมฺวย พระบูชา, วันหนึ่งข้าวสาร ๔๐ ลิ ฯ(๗)
๙. ๐ เอฺสะสตมฺวย ๐ นาคสตมฺว มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อศรีภูวนาทิตย์
๑๐. ย ๐ ศีวิกาพฺยร พฺระบูชา ๐ อิศวรทวีป นำกระแสพระราชโองการราชา
๑๑. มวยทินองกรลิบวนดบ ๐ ธิราช(๘) มายังกรุงสุนัต(๙) ผู้ครอบครอง
๑๒. มหาเสนาบดีมวยเชมาะ ณ ธานยปุระ บัณฑูรใช้ให้ถวายที่นาซึ่ง
๑๓. ศรีภูพนาทิตยอิศวรทวีป ๐ นำศาสนรา ได้กำหนดเขตไว้แล้ว เป็นพระบูชากมรเตง
๑๔. ชาธิราชโมกดกุรุงสุนต ด ปรภู ชคต(๑๐) ใน (มหา) ศักราช(๑๑) ๑๐๘๙ ขึ้น ๑๕
๑๕. ตรนาธานยปร ๐ บนทวลเปรชวนภูมิ ค่ำเดือนสาม วันอาทิตย์ บูรพาษาฒ(๑๒)
๑๖. เสรนิพนธพระบูชากมรเตงช ฤกษ์ เพลา ๑ นาฬิกา ฯ
๑๗. คต ๐ ดนวอศฏศุนยเอกศกบู อนึ่ง ความสวัสดีจงมี, เวลาเที่ยง ฯ
๑๘. รณณมีเกตมาฆอาทิตยพารบู กรุงสุนัตทำบูชากมรเตงชคต ถวายที่นา
๑๙. รพพาสาธมวย อนดวงทิกมวย ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้ว เช่นในบัญชีนี้นา
๒๐. ๐ ศรีจมทยาหน ๐ กุรุงสุนต ……..บูรพาจดฉทิง (=คลอง) ปัศจิมจด
๒๑. เถวบูชากมรเต (ง) ชคตชวนภูมิ ภูเขา……..ทักษิณจดบางฉวา……..อุดร
๒๒. เสรนิพนธเราะดบาญชียเนะเสร จดฉทิงชรูกเขวะ (=คลองหมูแขวะ) นา
๒๓. ………………………………… โสรงขยำ นาตรโลม นาทรกง บูรพาจด
๒๔. . . . ๐ บูรพพตรบฉทิง ๐ บศจิมตรบพนํ คลองเปร ปัศจิมจดศรก ทักษิณจดบึงสดก
๒๕. . . . ๐ ทกษิณตรบบางฉวา อุดรจดคลองนาพระชคต บูรพาจดกํติง
๒๖. . . . ๐ อุตตรตรบฉทิงชรูกเขวะ อาคเนย์จด……..อุดรจดศรุก……..ผสมนา
๒๗. เสรโสรงขยำเสรตรโลมเสร ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้วเป็นห้าอเลอ ฯ(๑๓)
๒๘. ทรกงบูรพพตรบฉทิงเปรบศจิม
๒๙. ตรบศรก ๐ ทกษิณตรบบิงสดก
๓๐. อุตตรตรบฉทิงเสรพระชคต ๐ บูรพพ
๓๑. ตรบกํติง ๐ อเคนยตรบ.
๓๒. . . . ๐ อุตตรตรบศรุก . . .
๓๓. . . . ๐ ผสํเสรนิพนธอนเลปราม
อธิบายคำโดยผู้อ่านและแปล
(๑) กรุงศรีธรรมาศก, คำว่า “กรุง” ในภาษขอม เป็นกริยา แปลว่า ครอบ, รักษา, ป้องกัน เป็นนามแปลว่านคร, ราชธานี, บุรี ในภาษาหนังสือหรือในวรรณคดีใช้แทนคำว่าพญา หรือราชา ก็มี เช่น กรุงศรีธรรมาโศก ในศิลาจารึกนี้คือพญาศรีธรรมาโศกหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกนั่นเอง
เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกทั้งสองพระองค์ปรากฏอยู่ในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) เล่าเรื่อง “นางเลือดขาว” มีใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกทั้งสองพระองค์ว่า
“นางและเจ้าพญา (คือนางเลือดขาว และกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทัง บางแก้วเล่าแล กุมารก็เลียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธรูปเป็นหลายตำบล จะตั้งเมืองบมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้า หาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา = คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมาโศก ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” สำหรับข้อความที่ขีดเส้นใต้นั้นหมายความว่า “ซึ่งมีพระบรมอัฐิของพระเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานอยู่ในที่นั้น” ตามข้อความที่ยกมานี้พอจะทราบได้ว่า เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอยู่สองพระองค์ คือ พระชนกกับพระราชโอรส แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กล่าวมานี้จะตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักนี้หรือไม่ ขอให้นักประวัติศาสตร์ช่วยกันพิจารณาต่อไป
(๒) พระสรีรธาตุในที่นี้ หมายเอาพระบรมอัฐิของพระเจ้าศรีธรรมโศกในพระบรมโกศ
(๓) กมรเตงชคตศรีธรรมาโศก, คำว่า “กมรเตง” เป็นภาษาขอมแปลว่า “เป็นเจ้า” โดยปริยายหมายว่าเป็นที่เคารพนับถือเช่นพระเจ้าแผ่นดินและครูบาอาจารย์เป็นต้น ส่วนคำว่า “ชคต” นั้นเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “สัตวโลกหรือปวงชน” กมรเตงชคต แปลว่า เป็นเจ้าแห่งสัตวโลกหรือเป็นเจ้าแห่งปวงชน เพระฉะนั้นคำว่า “กมรเตงชคตศรีธรรมาโศก” จึงอาจแปลได้ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศก เป็นเจ้าแห่งสัตวโลกหรือเป็นที่เคารพนับถือของปวงชน อนึ่ง พึงสังเกตว่า คำว่า “กมรเตง” นั้น ใช้สำหรับนำหน้านามของบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งที่ยังดำรงชีวิตอยู่หรือสิ้นชีวิตไปแล้วก็ได้ แต่ คำว่า “ชคต” เช่นในศิลาจารึกนี้ ใช้เฉพาะผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว, ความหมายของคำว่า “ชคต” นอกจากนี้โปรดดูในพจนานุกรมสันสกฤต
(๔) ข้าบาทมูล = ข้าราชการในพระราชสำนัก
(๕) วรรณทุกเหล่า = วรรณทั้ง ๔ คือ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร
(๖) สีวิกา = วอ, เสลี่ยง, คานหาม
(๗) ลิ = เป็นมาตราชั่งตวงของขอมในสมัยโบราณ
(๘) ราชาธิราชในที่นี้ = กรุงศรีธรรมาโศกหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกในบรรทัดแรก
(๙) กรุงสุนัต = พระเจ้าสุนัต
(๑๐) กมรเตงชคต, คำว่า “กมรเตงชคต” ในศิลาจารึกนี้ เป็นคำเรียกแทนพระนาม พระเจ้าศรีธรรมาโศกในพระบรมโกศ
(๑๑) (มหา) ศักราช ๑๐๘๙ = พ.ศ. ๑๗๑๐
(๑๒) บูรพาษาฒ ชื่อฤกษ์ที่ ๒๐ ได้แก่ ดาวแรดตัวผู้ หรือดาวช้างพลาย
(๑๓) อเลอ = แปลง, ห้าอเลอ = ห้าแปลง.
จากศิลาจารึกหลักนี้จะเห็นได้ว่ามีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชาจากกรุงศรีธรรมาโศกถวายที่ดิน หรือกัลปนาอุทิศให้ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ ดังความตอนหนึ่งว่า “. . . สิ่งสักการที่มหาราชาธิราช ผู้มีพระนามว่ากรุงศรีธรรมาโศก ถวายแด่พระสรีรธาตุซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชคตศรีธรรมาโศก . . . มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อ ศรีภูวนาทิตย์อิศวรทวีปนำกระแสพระราชโองการราชาธิราชมา . . .” แม้ศิลาจารึกหลักนี้จะไม่ได้ระบุที่ตั้งของกรุงศรีธรรมาโศกไว้อย่างชัดเจน แต่คำว่า “ศรีธรรมาโศก” ในศิลาจารึกนี้สัมพันธ์กับเรื่องราวของนครศรีธรรมราช ซึ่งพบหลักฐานเอกสารสนับสนุนในสมัยหลังอย่างไม่มีปัญหา๒๑ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อันเป็นเอกสารโบราณของไทยเป็นต้น
ส่วนเอกสารโบราณของต่างชาติก็ได้พบชื่อนี้เช่นเดียวกัน อย่างในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บังเอิญในตอนกลับจากกรุงศรีอยุธยาเรือเสียไปติดอยู่ที่ตลิ่งหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ข้าราชการผู้นั้นชื่อ วิลพาเค (Lilbage) ได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ ตอนหนึ่งได้เขียนไว้ เมื่อว้นอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ว่าดังนี้๒๒
“. . . ในใจกลางของเมืองนี้มีพระสถูปเจดีย์องค์หนึ่งใหญ่ทัดเทียมกับพระสถูปเจดีย์รุวันแวลิ (Ruvanvali) แห่งเมืองโปโลพนารุวะ (Polonnaruva) ในลังกา พระสถูปเจดีย์องค์นี้กษัตริย์ศรีธรรมาโศก (King Sri Dharmasoka) เป็นผู้ทรงสร้างโดยทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระสถูปเจดีย์องค์นี้ด้วย . . .”
“ศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (วัดเวียง) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังกล่าวมาแล้ว ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และได้กล่าวไว้ว่าสลักขึ้นในรัชสมัยของเจ้าผู้ครองแผ่นดินทรงมีอิสริยยศว่า “ศรีธรรมราช” ผู้เป็นเจ้าของ “ตามพรลิงค์ (ตามพรลิงคศวร)”
ต่อมาชื่อ “ศรีธรรมราช” นี้ได้ปรากฏอีกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งสลักด้วยอักษรไทยและภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ดังความบางตอนในศิลาจารึกหลักนี้ เช่น๒๓
“. . . เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่ มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา . . .” และ “. . . มีเมืองกว้างช้างหลายปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถีงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง . . .น หงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน . . .เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว . . .” เป็นต้น
“สิริธรรมนคร” หรือ “สิริธัมมนคร”
ชื่อนี้พบว่าใช้ในกรณีที่เป็นชื่อของสถานที่ (คือเมืองหรือนคร) เช่นเดียวกับชื่ออื่นๆ ที่กล่าวมาแต่หากเป็นชื่อของกษัตริย์มักจะเรียกว่า “พระเจ้าสิริธรรม” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมนคร” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมราช”
ชื่อ “สิริธรรมนคร” ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญา พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ และเมื่อมีผู้อื่นแต่งต่ออีก จนแต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑๒๔
ส่วนในหนังสือสิหิงคนิทานซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกนหรือพระเจ้าวิไชยดิสครองราชย์ในนครเชียงใหม่ แห่งลานนาไทย) เรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมราช”๒๕
โลแค็ก” หรือ “โลกัก” (Locae, Loehae)
เป็นชื่อที่มาร์โคโปโลเรียกระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ โดยออกเดินทางจากเมืองท่าจินเจาของจีน แล่นเรือผ่านจากปลายแหลมญวนตัดตรงมายังตอนกลางของแหลมมลายู แล้วกล่าวพรรณนาถึงดินแดนในแถบนี้แห่งหนึ่ง ชื่อ “โลแค็ก” ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช๒๖
“ปาฏลีบุตร” (Pataliputra)
เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้ในตอนเที่ยวกลับเพราะเรือเสียที่ตลื่งหน้าเมืองนี้ โดยเรียกคู่กันในเอกสารชิ้นนี้ว่า “เมืองปาฏลีบุตร” ในบางตอน และ “เมืองละคอน” (Muan Lakon)๒๗ ในบางตอน เช่น
“. . . ในวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ในขณะที่เขากำลังมาถึงเมือง ละคอน (Muan Lakon) ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสยาม เรือก็อับปางลงแต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายและทุกคนได้ขึ้นฝั่งยังดินแดนที่เรียกกันว่าเมืองละคอน ในดินแดนนี้มีเมือง (City) ใหญ่เมืองหนึ่งเรียกกันว่า “ปาฏลีบุตร” (Pataliputra) ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ทุกด้าน . . .”๒๘
ในโครงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของนายสวนมหาดเล็กก็เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า “ปาตลีบุตร” เช่นกัน ดังที่ปรากฏในโคลงบางบทว่าดังนี้๒๙
(๓๗) ปางปาตลีบุตรเจ้า นัครา
แจ้งพระยศเดชา ปิ่นเกล้า
ทรนงศักดิ์อหังกา เกกเก่ง อยู่แฮ
ยังไม่ประนตเข้า สู่เงื้อมบทมาลย์ ฯ
“ลึงกอร์”
เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสใช้เรียกชื่อเมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ชื่อลึงกอร์นี้ชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันและเมืองใกล้เคียงใช้เช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวไทยมุสลิมในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่เคยเรียกชื่อตามพร-ลิงค์ว่า “นครศรีธรรมราช” เลยมาแต่สมัยโบราณยิ่งกว่านั้นแม้แต่คำว่า “นคร” เขาก็ไม่ใช้ เพราะเขามีคำว่า “เนการี” หรือ “เนกรี” (Nigri) อันหมายถึงเมืองใหญ่หรือนครใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๓ จังหวัดยังคงเรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า
“ลึงกอร์” อยู่บ้างด้วยเหตุนี้ชื่อ “ลิกอร์” ที่ชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และยุโรปชาติอื่นๆ ใช้เรียกชื่อตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช อาจจะเรียกตามที่ชาวมาเลย์และชาวพื้นเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้ง ๓ จังหวัดใช้ก็ได้ เพราะชาวยุโรปคงจะอาศัยชาวมาเลย์เป็นคนนำทางหรือเป็นล่ามในการแล่นเรือเข้ามาค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือหรือคาบสมุทรไทย๓๐
“ลิกอร์” (Ligor)
เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ อันเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยใช้เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และพบว่าที่ได้เรียกแตกต่างกันออกไปเป็น “ละกอร์” (Lagor) ก็มี
นักปราชญ์สันนิษฐานว่า คำว่า “ลิกอร์” นี้ชาวโปรตุเกสคงจะเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “นคร” อันเป็นคำเรียกชื่อย่อของ “เมืองนครศรีธรรรมราช” ทั้งนี้เพราะชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียงตัว “น” (N) จึงออกเสียงตัวนี้เป็น “ล” (L) ดังนั้นจึงได้เรียกเพี้ยนไปดังกล่าว แลัวในที่สุดชื่อ “ลิกอร์” นี้กลายเป็นชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี๓๑
ในจดหมายเหตุของวันวลิต (Jeremais Van Vliet) พ่อค้าชาวดัทช์ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างฮอลันดา และเข้ามาประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้เรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ลิกูร์” (Lijgoor Lygoot)๓๒
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จอห์น ครอวฟอร์ด (John Crawfurd) ฑูตชาวอังกฤษที่เป็นตัวแทนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยก็เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”๓๓
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกก็ยังใช้ชื่อนี้กันอยู่ อย่างชื่อศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ที่พบ ณ วัดเสมาชัย (คู่แฝดกับวัดเสมาเมือง ต่อมารวมกับบางส่วนเป็นวัดเสมาเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น ชาวตะวันตกและเอเชียรู้จักกันในนาม “จารึกแห่งลิกอร์” (Ligor Inscription) นอกจากนี้ยังเรียกด้านที่ ๑ ของศิลาจารึกหลักนี้ว่า “Ligor A” และเรียกด้านที่ ๒ ว่า Ligor B “๓๔ ดังนั้นนอกจาก “ตามพรลิงค์” แล้ว ชื่อเก่าของนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง คือ “ลิกอร์”๓๕
“ละคร” หรือ “ลคร” หรือ “ละคอน”
คงจะเป็นชื่อที่เพี้ยนไปจากชื่อ “นคร” อันอาจจะเกิดขึ้นเพราะชาวมาเลย์และชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนไป แล้วคนไทยก็กลับไปเอาชื่อที่เพี้ยนนั้นมาใช้ เช่นเดียวกันกับที่เคยมีผู้เรียกนครลำปางว่า “เมืองลคร” หรือ “เมืองละกอน” เป็นต้น และคงเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารโบราณของฑูตสิงหลที่รายงานไปยังลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในชื่อ “ปาฏลีบุตร” ข้างต้นนั้น
นักปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่าที่ได้เรียกเช่นนี้เพราะว่าเมืองนครเคยมีชื่อเสียงทางการละครมาแต่โบราณ แม้แต่สมัยกรุงธนบุรีเมื่อเมืองหลวงต้องการฟื้นฟูศิลปะการละครยังต้องเอาแบบอย่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช๓๖
“นครศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่อาจารย์ตรี อมาตยกุล และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คนไทยฝ่ายเหนือเรียกขานนามราชธานีของกษัตริย์ “ศรีธรรม-ราช” ตามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกพระองค์ จนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปและเป็นเหตุให้มีการขนานนามตามชื่ออิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งได้ใช้เรียกขานกันมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยตราบจนปัจจุบันนี้๓๗
ด้วยวิวัฒนาการอันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช ดินแดนที่มีอดีตอันไกลโพ้นแห่งนี้ ชื่อที่ได้รับการจารึกไว้ในบันทึกแห่งมนุษยชาติ ณ ที่ต่างๆ กันทั่วทุกมุมโลก และทุกช่วงสมัยแห่งกาลเวลาที่นำมาแสดงเพียงบางส่วนเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นพัฒนาการและอดีตอันรุ่งโรจน์ของนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อหวนกลับไปสัมผัสกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในนครศรีธรรมราชเข้าผสมผสานด้วยแล้ว ทำให้ภาพแห่งอดีตของนครศรีธรรมราชท้าทายต่อการทำความรู้จักกับ “นครศรีธรรมราช” ดินแดนที่ร่ำรวยไปด้วยมรดกทางอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้อย่างลึกซึ้งและจริงจังยิ่งขึ้น
วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราช
การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการมานานแล้ว อดีตอันรุ่งเรืองของนครศรีธรรมราชจึงได้รับการเผยแพร่ครั้งแล้วครั้งเล่าในรูปแบบและภาษาต่างๆ ข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาตีความทั้งจากศิลาจารึกรุ่นเก่าที่ค้นพบเป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช ประติมากรรม และโบราณวัตถุสถานอื่นๆ ตลอดจนเอกสารโบราณที่ค้นพบในเมืองนี้เป็นจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ผลจากการศึกษาค้นคว้าเหล่านั้นล้วนยังประโยชน์ต่อการศึกษากับอารยธรรมของนครศรีธรรมราชในระยะต่อมาอย่างใหญ่หลวง
ครั้น พ.ศ. ๒๕๒๑ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, จังหวัดนครศรีธรรมราช, หน่วยงาน และเอกชนอีกเป็นจำนวนมากต่างก็ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในอันที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชอย่างมีระบบ จึงได้ร่วมกันจัดให้มี “โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๓๐ ขึ้น โดยจะจัดสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวในเนื้อหาต่างๆ ดังนี้๓๘
๑. ลักษณะพื้นฐานทางประวัติศาสตร์
๒. ลักษณะทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
๓. ลักษณะทางประวัติศาสตร์สังคม
๔. ลักษณะทางภาษาและวรรณกรรม
๕. ลักษณะทางศิลปกรรม
๖. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราชที่สัมพันธ์กับดินแดนอื่น
การสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชตามโครงการนี้ ในระยะแรกมีจำนวน ๕ ครั้ง โดยได้กำหนดช่วงเวลาและหัวเรื่องไว้อย่างกว้างๆ ดังนี้
ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่อง ประวัติศาสตร์พื้นฐานของนครศรีธรรมราช
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๔ เรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช
ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๖ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม
ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๘ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากศิลปกรรม
ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๐ เรื่อง การตีความใหม่เกี่ยวกับศรีวิชัย
ขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๗) การสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวซึ่งจัดขึ้น ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชได้ผ่านไปแล้ว ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มกราคม ๒๕๒๑, ครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๒๕ และครั้งที่ ๓ ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ ผลจากการสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชอย่างกว้างขวาง๓๙
ในที่นี้จะกล่าวถึงวิวัฒนาการทางด้านอารยธรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชโดยสังเขป ดังนี้ คือ
ยุคหินกลาง
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดีของกรมศิลปากรใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้พบเครื่องมือหินเก่าแก่ (จากการเปรียบเทียบโดยถือตามลักษณะเครื่องมือ) จัดเป็นเครื่องยุคหินไพลสโตซีนตอนปลายที่ถ้ำตาหมื่นยม ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง เครื่องมือหินดังกล่าวนี้มีลักษณะกะเทาะหน้าเดียว รูปไข่ คมรอบ ปลายแหลม ด้านบนคล้ายรอยโดยตัด คล้ายกับลักษณะของขวานกำปั้นที่พบ ณ ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และจัดว่าเป็นเครื่องมือหินยุคหินกลาง (อายุราว ๑๑,๐๐๐-๘,๓๕๐ ปี มาแล้ว) หรือมีลักษณะเหมือนเครื่องมือหินวัฒนธรรมโฮบิบเนียน ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินกลางเป็นอย่างน้อย เป็นต้นมา๔๐
ยุคหินใหม่
ครั้นในยุคหินใหม่ (อายุราว ๓,๗๖๖-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ และภาชนะดินเผาในยุคนี้กระจัดกระจายโดยทั่วไปทั้งที่บริเวณถ้ำและที่ราบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น พบเครื่องหินที่มีป่า ตัวขวานยาวใหญ่ (บางท่านเรียกว่า “ระนาดหิน”) ที่อำเภอท่าศาลา นอกจากนี้ได้พบขวานหินแบบ จงอยปากนก, มีดหิน, สิ่วหิน, และหม้อสามขา เป็นต้น ในหลายบริเวณของจังหวัดนี้๔๑
แสดงว่าในยุคนี้ได้เกิดมีชุมชนขึ้นแล้ว และชุมชนกระจัดกระจายโดยทั่วไป อันอาจจะตีความได้ว่าชุมชนในยุคนี้เองที่ได้พัฒนามาเป็นเมืองและมีอารยธรรมที่สูงส่งในระยะต่อมา
ยุคโลหะ
ในยุคโลหะ (อายุราว ๒,๕๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของยุคนนี้ คือ กลองมโหระทึกสำริดในนครศรีธรรมราชถึง ๒ ใบ คือ ที่บ้านเกตุกาย ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง ใบหนึ่ง และที่คลองคุดด้วน อำเภอฉวาง อีกใบหนึ่ง กลองมโหรทึกดังกล่าวนี้จัดอยู่ในวัฒนธรรมดองซอน
ดังนั้น ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่ายุคนี้ชุมชนในนครศรีธรรมราชได้มีการติดต่อหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นแล้ว การติดต่อดังกล่าวอาจจะโดยการเดินเรือ แสดงให้เห็นว่าสังคมหรือชุมชนในนครศรีธรรมราชเริ่มย่างเข้าสู่สังคมเมืองในยุคประวัติศาสตร์แล้ว ซึ่งระยะที่กล่าวนี้อาจจะเป็นระยะต้นคริสตศักราชหรือพุทธศตวรรษที่ ๕
พุทธศตวรรษที่ ๗-๘
ในคัมภีร์มหานิทเทศซึ่งแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ได้กล่าวถึงเมืองท่าที่สำคัญในอินเดีย ลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายเมือง ในจำนวนเมืองเหล่านี้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชไว้ด้วย ดังความตอนหนึ่งที่ว่า “. . . ไปชวาไปกะมะลิง (ตะมะลิง) ไปวังกะ (หรือวังคะ) . . .”๔๒ นอกจากนี้ยังปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งแต่งขึ้นในระยะเดียวกันกับคัมภีร์มหานิทเทศด้วย๔๓ คำว่า “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” หรือ “กะมะลี” หรือ “ตมะลี” จีนเรียกว่า “ตั้งมาหลิ่ง” เจาชูกัวเรียก “ตัน-มา-ลิง” ในศิลาจารึกเรียก “ตามพรลิงค์” หรือ “ตามรลิงค์” คือ เมืองนครศรีธรรมราชโบราณ๔๔
แสดงว่าในระยะนี้ เมืองนครศรีธรรมราชโบราณเป็นเมืองที่มีความเจริญทางด้านการค้า หรือเป็นตลาดการค้าที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือและ พ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับ และจีน
พุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐
นอกจากเอกสารของต่างชาติจะกล่าวถึงนครศรีธรรมราชในระยะนี้แล้วได้มีการค้นพบ พระวิษณุศิลาอันเป็นเทวรูปกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน ๓ องค์ในภาคใต้ พระวิษณุในกลุ่มนี้จำนวน ๒ องค์ ค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ องค์แรกค้นพบที่หอพระนารายณ์ อำเภอเมือง ต่อมาย้ายไปประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชตามลำดับองค์ที่สองค้นพบที่วัดพระเพรง ตำบลนาสาร อำเภอเมือง และปัจจุบันนี้จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เทวรูปกลุ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐ เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงอิทธิของศิลปะอินเดียสมัยมถุราและอมราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๘-๙) ปรากฎอยู่๔๕
พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๒
ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ได้ปรากฏขึ้นในนครศรีธรรมราช คือ เศียรพระพุทธรูปศิลาขนาดเล็กซึ่งพบที่อำเภอสิชล (สูง ๘.๙๐ เซนติเมตร) ปัจจุบันนี้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวนี้มีต้นแบบมาจากศิลปะลุ่มแม่น้ำกฤษณาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย และศิลปะแบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปะรุ่นหลังมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓๔๖
นอกจากนี้ในชุมชนโบราณสิชล๔๗ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นแนวตั้งแต่เขตอำเภอขนอมผ่านลงมายังอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่งอ่าวไทยประมาณ ๕–๑๐ กิโลเมตร ได้ค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากมาย๔๘
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางอารยธรรมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษยชาติ เพราะมีที่ราบชายฝั่งทะเลกว้างใหญ่ไพศาลเหมาะแก่การกสิกรรม มีอ่าวและแม่น้ำหลายสายที่เหมาะแก่การจอดเรือและคมนาคม มีแหล่งน้ำสำหรับการบริโภค และตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นชายฝั่งทะเลเปิดอันเหมาะแก่การเป็นสถานีการค้า และแวะพักสินค้ามาแต่โบราณทำให้ชุมชนโบราณแห่งนี้มีพัฒนาการสูงส่งมาแต่อดีตเหมือนกับชุมชนอื่นๆ บนคาบสมุทรไทยอันเป็นศูนย์กลางหรือจุดนัดพบระหว่างอารยธรรมและการค้าของพ่อค้าวานิชในทะเลจีนใต้แห่งมหาสมุทรแปซิฟิกกับพ่อค้าวานิชในทะเลอันดามันแห่งมหาสมุทรอินเดีย หรืออีกนัยหนึ่งคือ “จุดนัดพบระหว่างตะวันออกกับตะวันตก”๔๙ หากแต่เพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมว่าทำให้ชุมชนโบราณสิชลพัฒนาการได้อย่างรวดเร็วและกว้างใหญ่ไพศาลมาก ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์โบราณคดีที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานเช่นนี้ ย่อมเหมาะสำหรับการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์โบราณในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลมาก โดยเฉพาะในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์และยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในภาคใต้ ปรากฏว่าลักษณะภูมิศาสตร์โบราณคดีมีอิทธิพลต่อการตั้งหลักแหล่งมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการตั้งหลักแหล่งชุมชนที่เป็นบ้านเมืองของประชาชนในภาคใต้มาตั้งแต่โบราณ กล่าวว่า บริเวณที่มีความเจริญสูงขึ้นเป็นสังคมเมืองอยู่ทางฝั่งตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝั่งตะวันตกประชาชนที่ตั้งหลักแหล่งมี ๒ พวกซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน คือ พวกแรกได้แก่คนพื้นเมืองที่มีความเป็นอยู่ล้าหลัง มีอาชีพประมงหรือล่าสัตว์และทำไร่เลื่อนลอย อยู่กันเป็นชุมชนเล็ก ไม่สามารถขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ได้ ส่วนพวกที่สองเจริญสูงกว่า แต่มักจะเป็นชาวต่างชาติ เช่น พ่อค้าหรือนักแสวงโชคที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งพักสินค้าหรือขุดแร่ธาตุเป็นสินค้า ชุมชนพวกหลังนี้อาจจะขยายตัวเป็นเมืองได้๕๐
จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าได้ค้นพบชุมชนโบราณที่เก่าแก่ในคาบสมุทรไทยในช่วงต่อเนื่องของยุคสำริดกับยุคเริ่มแรกของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลหลายแห่งด้วยกัน แหล่งโบราณคดีเหล่านั้นได้พัฒนาอารยธรรมสืบเนื่องกันต่อมาด้วยเวลาอันยาวนาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ได้พัฒนามาตามลำดับตราบจนปัจจุบันนี้ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่มาก๕๑ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอท่าชนะ แหล่งโบราณคดีพุมเรียงและชุมชนโบราณไชยา อำเภอ แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีสทิงพระ จังหวัดสงขลา แหล่งโบราณคดีในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา และอื่นๆ ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอครองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีที่กล่าวมานี้มีอยู่ไม่น้อยที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ อันหมายถึงศาสนาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพระเวท (เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) ซึ่งมีลักษณะเป็นพหุทวนิยม แล้วเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้น จนถึงขั้นเทพองค์เดียวที่เป็นนามธรรม (Monism) ในที่สุดก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู มีพระเจ้าสูงสุดสามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ (นารายณ์) และพระศิวะ (อิศวร) เรียกว่า “ตรีมูรติ” ในที่นี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ศาสนาฮินดู” เพราะว่าหากใช้คำนี้ย่อมเน้นเฉพาะศาสนาของชาวอินเดียในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะเป็นชาตินิยมหรือพลังทางสังคม บางช่วงรวมเอาศาสนาพุทธเข้าไปด้วยเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ภาพพจน์ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และวิวัฒนาการของวัฒนธรรมไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้เน้นสายธารทางศาสนาจากอินเดียที่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ภาคใต้ของประเทศไทยแล้วกลายเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมทางศาสนาที่สำคัญ๕๒
ก่อนที่ชุมชนในภาคใต้ของประเทศไทยจะรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์นั้นได้กล่าวมาแล้วว่าดินแดนในบริเวณนี้มีพัฒนาการทางอารยธรรมสูงส่งมาก่อนแล้ว ดังนั้นจึงย่อมมีคติความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาก่อนแล้วเช่นเดียวกันและเมื่อรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เข้ามาในระยะหลังคงจะได้มีการผสมผสานเอาความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่เดิมที่มีอยู่เดิมกับศาสนาพราหมณ์เข้าผสมกลมกลืนกันได้อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงพัฒนาให้ศาสนาพราหมณ์ที่ผสมกลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิมแล้วนั้นวิวัฒนาการกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไปและมีความรุ่งเรืองสืบมาตราบจนปัจจุบันนี้
อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เราค้นพบ ณ ชุมชนโบราณสิชลจึงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งแห่งลักษณาการของวัฒนาการอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองบนคาบสมุทรไทยดังกล่าวมา
ในด้านศิลปวัฒนธรรมกล่าวได้ว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔ ดินแดนต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือ โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลแบบอย่างทางศิลปวัฒนธรรมจากอินเดียอย่างมากมาย อาจจะเรียกได้ว่าชาวอินเดียได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแพร่อารยธรรมฝังรากฐานมั่นคงครั้งสำคัญ๕๓ โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองสูงสุด จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย แม้แต่ชื่อเมือง “ตามพรลิงค์” ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเองและหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวะนิกายซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดีย ภาคใต้ก็พบเป็นจำนวนมากมายในเขตนครศรีธรรมราชรองรับอยู่แล้ว๕๔
แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในชุมชนโบราณสิชล แต่ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นจำนวนมากทั้งโบราณวัตถุโบราณสถาน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม สระน้ำโบราณ และเศษศิลาจารึก หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น
โบราณวัตถุโดยเฉพาะประติมากรรมรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบ ณ ชุมชนโบราณสิชลแห่งนี้ล้วนทำด้วยศิลา เช่น ศิวลึงค์, โยนิ, พระวิษณุ และพระพิฆเนศวร (พระคเณศ) เป็นต้น จากการกำหนดอายุเบื้องต้นโดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นเครื่องกำหนดอาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัตถุเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔ เป็นส่วนใหญ่
ส่วนโบราณสถานนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าในชุมชนโบราณแห่งนี้มีโบราณสถานที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุหรือรูปเคารพที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ปรากฎอยู่ควบคู่กับโบราณสถานเหล่านี้ เช่น ศิวะลึงค์ เทวรูปพระวิษณุ เทวรูปพระพิฆเนศวร และโยนิ เป็นต้น
จากการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดีในขณะนี้ปรากฎว่าได้พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณแห่งนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (คลอง) ในอำเภอสิชล เช่น คลองท่าทน คลองท่าควาย คลองท่าเรือรี และคลองเทพราช เป็นต้น
จากการกำหนดอายุเบื้องต้นของโบราณสถานเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโบราณสถานและอักษรปัลลวะบางตัวที่สลักอยู่ในชิ้นส่วนของอาคารโบราณสถานบางแห่ง อาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔๕๕อันเป็นโบราณสถานรุ่นแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังหลงเหลืออยู่
โบราณสถานในชุมชนโบราณแห่งนี้จำนวนไม่น้อยที่ถูกรื้อ จนโบราณวัตถุหรือรูปเคารพ และชิ้นส่วนของอาคารซึ่งทำด้วยหินและอิฐกระจัดกระจายโดยทั่วไปชิ้นส่วนที่ทำด้วยหิน ได้แก่ ฐานเสา ธรณี ประตู กรอบประตู และเสา เป็นต้น และยังมีโบราณสถานอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้เนินดิน ซึ่งคงจะหมายถึงว่ายังไม่ถูกขุดคุ้ยทำลาย
รอบโบราณสถานที่อยู่ห่างจากลำน้ำ มักจะมีสระน้ำโบราณปรากฏอยู่โดยทั่วไปสระน้ำโบราณเหล่านี้คงจะขุดขึ้นเนื่องในความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาและการบริโภคของชุมชน แต่โบราณสถานบางแห่งแม้จะอยู่ใกล้ลำน้ำ แต่ก็ปรากฏสระน้ำโบราณเช่นกัน โดยสระน้ำโบราณมักจะอยู่ในด้านอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับด้านที่ติดลำคลอง
บรรดาโบราณสถานเหล่านี้ โบราณสถานบนเขาคานับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุ (รูปเคารพ) ของไวษณพนิกาย และไศวะนิกายที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันอยู่ด้วยกันหลายชิ้น นอกจากนี้ยังได้พบโยนิ (หรืออาจจะเป็นฐานรูปเคารพ) ขนาดใหญ่ ลำรางน้ำมนต์ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูนและอิฐเช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไปทั้ง ภูเขาลูกนี้แต่สิ่งเหล่านี้พบในปริมาณมากและขนาดใหญ่กว่าในแหล่งโบราณคดือื่นๆ คงจะเป็นเพราะมีโบราณสถานหลายหลังหรือไม่ก็มีโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาลูกนี้จนนักโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณแหล่งนี้ และศูนย์กลางของโบราณสถานทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ได้เพราะรอบๆ โบราณสถานแห่งนี้โดยเฉพาะทางด้านเหนือห่างออกไปรัศมีราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ได้พบโบราณสถานที่ชาวบ้านพบรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวะนิกายและะไวษณพนิกายกระจายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ
บริเวณที่พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หนาแน่นเป็นพิเศษในชุมชนโบราณ สิชล ได้แก่ ตำบลสิชล ตำบลเทพราช ตำบลเสาเภา ตำบลฉลอง และตำบลทุ่งปรัง ในอำเภอสิชล ตำบลกลาย ในอำเภอท่าศาลา และในเขตเมืองโบราณนครศรีธรรมราช
จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าชุมชนโบราณสิชลคงจะเป็นพัฒนาการของชุมชนยุคแรกๆ ของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ต่อเนื่องมาจนถึงยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของ “ตามพรลิงค์” ก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้น เมื่อได้ดำเนินการทางโบราณคดีในชุมชนโบราณแห่งนี้อย่างจริงจังและถูกหลักวิชาแล้ว คงจะได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับอารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจจะรองรับเอกสารจีนที่กล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ในบริเวณเมือง Tun-sun ซึ่งเป็นรัฐทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกมีความเจริญทางการค้ามากจึงมีชนชาติเป็นจำนวนมากอยู่ในชุมชนนี้ ดังปรากฏว่ามีพวกฮู (Hu) ตั้งหลักแหล่งอยู่ทีนี่ถึง ๕๐๐ ครอบครัว และพวกพราหมณ์ชาวอินเดียกว่าพันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งได้แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็เป็นได้๕๖
นอกจากจะพบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะในประเทศอินเดียโดยตรงอย่างมากมายในนครศรีธรรมราชในระยะนี้แล้ว เรายังค้นพบศิลาจารึกรุ่นแรกของประเทศไทยในนครศรีธรรมราชอีกหลายหลักในระยะนี้๕๗ เช่น ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ณ หุบเขาช่องคอย บ้านคลองท้อน หมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยจารึกด้วยอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐–๑๑ (นายชูศักดิ์ ทิพย์เกษร นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีความเห็นว่าเมื่อพิจารณาโดยอาศัยวิวัฒนาการของรูปแบบอักษรเป็นเกณฑ์แล้ว จะปรากฏว่าศิลาจารึกหลักนี้มีรูปอักษรเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้)๕๘ ศิลาจารึกหลักนี้ใช้ภาษาสันสกฤต ข้อความที่จารึกบางท่านกล่าวว่าเป็นการบูชาพระศิวะ, ความนอบน้อมต่อพระศิวะ, เหตุที่บุคคลผู้นับถือพระศิวะเข้าไปหาพระศิวะ และคติชีวิตที่ว่าคนดีอยู่ในบ้านของผู้ใด ความสุขและผลดีย่อมมีแก่ผู้นั้น๕๙ แต่บางท่านมีความเห็นว่าเป็นจารึกเกี่ยวกับการสรรเสริญและสดุดีพระเกียรติคุณของกษัตริย์ศรีวิชัย๖๐ และศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ อำเมือง (จารึกหลักที่ ๒๗ ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒) ซึ่งจารึกด้วยอักษรปัลลวะคล้ายกับตัวอักษรที่พบในดินแดนเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวถึงเรื่องราวทางศาสนา เรื่องของสงฆ์ พราหมณ์ และจริยวัตรอันเป็นส่วนประกอบทางศาสนา๖๑ เป็นต้น
จากหลักฐานที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่านครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียทั้งในด้านอักษร ภาษา ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี กฎหมาย และระบบการปกครอง อันเป็นรากฐานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราชและของไทยในปัจจุบันนี้
พุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๙
นักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จดหมายเหตุจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๙๙) เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ชิหลีโฟชี” หรือ “ชิ-ลิ-โฟ-ชิ” หรือ “ชิหลีโฟเช” ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓–๑๘๒๒) เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “สันโฟซี” หรือ “ซันโฟซี” ตำนานและพงศาวดารลังกาเรียกว่า “ชวกะ” ส่วนจดหมายเหตุพ่อค้าชาวอาหรับเรียกว่า “ซาบัก” หรือ “ซาบากะ” ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เรียกว่า “ศรีวิชัย” อันเป็นชื่อที่ได้มาจากศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช) เพราะในคำแปลศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งสลักเมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ นี้ ท่านเรียกกษัตริย์ว่า “พระเจ้ากรุงศรีวิชัย” และท่านยืนยันว่าชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นชื่อเดียวกัน เพียงแต่ท่านไปมีมติว่าศูนย์กลางหรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยควรอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ต่อมาศาสตราจารย์มาชุมดาร์มีความเห็นขัดแย้งว่า ราชธานีควรจะอยู่ ณ ที่ที่พบศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ คือ นครศรีธรรมราช๖๒
นอกจากชื่อพวกชวกะแล้ว ตำนาน พงศาวดารลังกา และจดหมายเหตุ เช่น คัมภีร์มหานิทเทศ ยังเรียกชื่อดินแดนปลายแหลมทองอีกหลายชื่อ เช่น สุวรรณทวีป, สุวรรณปุระ, และตามพรลิงค์ เป็นต้น๖๓
คำ “ตามพรลิงค์” นั้น ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ (วัดหัวเวียง ไชยา) ด้วย ทำให้นักโบราณคดียอมรับว่าหมายถึงนครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นนักปราชญ์บางท่านจึงมีความเห็นว่ารัฐศรีวิชัยกับนครศรีธรรมราชก็คือแผ่นดินเดียวกัน ขอบเขตของรัฐนี้จะกว้างขวางแค่ไหนก็เป็นไปตามระยะแห่งความเจริญความเสื่อม ที่ตั้งของราชธานีจะโยกย้ายไปตั้งที่เมืองใดบ้างก็ย่อมแล้วแต่พระราชอัธยาศัย และอานุภาพของกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐในแต่ละช่วงสมัย๖๔ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ คงจะต้อง
ศึกษาค้นคว้ากันต่อไปอีกไม่น้อย๖๕
พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๕ ๖๖
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระรามาธิบดี ๑ (ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๑๒) เป็นต้น แคว้นนครศรีธรรมราชคงจะเข้ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแคว้นศรีอยุธยา และแคว้นอื่น ๆ ด้วย เช่น ล้านนา สุโขทัย และละโว้ เป็นต้น เมื่อรัฐอิสระเหล่านี้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจึงเรียกว่า "ราชอาณาจักรสยาม" โดยให้มีศูนย์กลางหรือราชธานีที่กรุงศรีอยุธยา ส่วนแคว้นอื่นๆ มีฐานะเป็นประเทศราช
ในราว พ.ศ. ๑๙๒๘ พระราเมศวร (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๘) ได้เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่และได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นวิธีลดอำนาจหัวเมืองล้านนาไทย และเพิ่มประชากรให้เมืองนครศรีธรรมราช
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ได้ทรงเปลี่ยนฐานะเมืองนครศรีธรรมราชเมือง "พระยามหานคร" มาเป็น "หัวเมืองเอก" ใน พ.ศ. ๑๙๙๘ และให้เจ้าเมืองได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาศรีธรรมราช"
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๙๘) นับเป็นครั้งแรกที่นครศรีธรรมราชเป็นกบฏ โดยมีสาเหตุจากความแตกแยกของข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาและการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ใน พ.ศ. ๒๑๗๒ ซึ่งตรงกับสมัยพระอาทิตยวงศ์
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบสาเหตุ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งต้องการเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาแทนพระอาทิตย์วงศ์กษัตริย์ผู้เยาว์ ก็ได้เริ่มวางแผนที่จะกำจัดออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นผู้มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยาเวลานั้นให้ออกไปเสียจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะได้ไม่ขัดขวางการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของตน โดยส่งให้ออกญาเสนาภิมุขไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราชสำเร็จ ออกญาเสนาภิมุขได้ประหารชีวิตข้าราชการผู้ใหญ่ของเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมหลายคน พร้อมทั้งริบที่ดินจากชาวเมืองแบ่งปันให้ชาวญี่ปุ่นที่ติดตาม เมื่อเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ออกญาเสนาภิมุขได้ยกทัพไปปราบกบฏที่ปัตตานี แต่เสียทีถูกอาวุธบาดแผลสาหัสกลับมารักษาตัวที่เมืองนครศรีธรรมราชจนเกือบหาย แต่กลับถูกพระยามะริดซึ่งออกไปช่วยราชการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชใช้ผ้าพันแผลอาบยาพิษปิดให้ จึงถึงแก่กรรมเพราะยาพิษใน พ.ศ. ๒๑๗๓
ฝ่ายนครศรีธรรมราชเมื่อสิ้นออกญาเสนาภิมุขแล้ว ก็คิดตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีก เพราะไม่เห็นด้วยกับการปราบดาภิเษกของพระเจ้าปราสาททอง การตั้งตนเป็นอิสระเช่นนี้ทางกรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นกบฏ จึงได้ส่งกองทัพไปปราบปรามโดยให้ออกพระศักดาพลฤทธิ์ และออกญาท้ายน้ำเป็นแม่ทัพ ผลปรากฏว่าตีเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย
เวลาล่วงมาอีกประมาณ ๒๕ ปี เมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง คือเป็นกบฏในสมัยพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๕) ใน พ.ศ. ๒๒๒๗ โดยสาเหตุจากเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมรับพระเพทราชาให้สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทางกรุงศรีอยุธยาก็ยกกองทัพไปปราบอีกโดยให้พระสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง และให้พระยาราชวังสัน (แขก) เป็นแม่ทัพเรือ ใช้เวลาอยู่ถึง ๓ ปีจึงตีแตก ผลการเกิดกบฏครั้งนี้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่สู้ไว้วางใจเมืองนครศรีธรรมราชมากนัก จึงได้มีการย้ายสังกัดจากสมุหพระกลาโหมและสมุหนายกไปขึ้นกับสมุหพระยากลาโหมแต่ฝ่ายเดียว
ภายหลังที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏในรัชสมัยพระเพทราชาแล้ว เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถูกลดฐานะลงเป็นเพียง "ผู้รั้งเมือง" อยู่ระยะเมือง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๐๑) ได้มีการยกฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยกฐานะเมืองเป็น "เมืองพระยามหานคร" เพราะเห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอกอยู่ทางภาคใต้เพียงเมืองเดียว มีหน้าที่ในการควบคุมหัวเมืองประเทศราชในหัวเมืองมลายู และเป็นผู้รักษาอาณาเขตทางด้านนี้ด้วย
ครั้นสิ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยาระส่ำระสายมาก พม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาประชิดเมือง และในที่สุดเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นนาม "ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช" โดยมีพระปลัด (หนู) ผู้รั้งเมืองเป็นหัวหน้าควบคุม
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กู้อิสรภาพได้เรียบร้อยแล้ว ได้ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมาย เสร็จแล้วจึงยกทัพลงมาปราบปรามชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ผลของการรบในระยะแรกทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียที เป็นผลให้พระยาเพชรบุรีและพระศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบผลศึกว่าเพลี่ยงพล้ำจึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพหลวงไปทันที ครั้งนี้ทัพเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย พระยาปัตตานีเกรงพระบรมเดชานุภาพจึงจับเจ้านคร (หนู) และครอบครัวส่งมาถวายแต่โดยดี คณะลูกขุนได้ปรึกษาโทษให้สำเร็จโทษเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าธนบุรีทรงเห็นว่า เจ้านคร (หนู) มิได้เป็นกบฏประทุษร้ายต่อราชอาณาจักร เป็นแต่ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองเป็นจลาจลและสูญเสียอิสระภาพแก่พม่า จึงเห็นสมควรพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าราชการในกรุงธนบุรี แต่ให้มียศเพียงพระยา พระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยเป็นอย่างดี
เมื่อเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชลงเรือไปยังกรุงธนบุรีให้ครบทุกคัมภีร์ เพื่อคัดลอกเป็นฉบับจำลองไว้ ณ กรุงธนบุรี ทั้งนี้เนื่องจากพระไตรปิฎกในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผยทำลายเสียหายมาก ส่วนตำแหน่งผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ครองตำแหน่งและยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็น "ประเทศราช" อีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้านราสุริยวงศ์เป็นเจ้าประเทศราช
เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศีรธรรมราชได้ราว ๖ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เจ้านคร (หนู) ซึ่งเข้ารับราชการในกรุงธนบุรีให้กลับคืนไปครองเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง โดยได้สุพรรณบัฏเป็น "พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา" เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙
พระเจ้านครศรีธรรมราชได้รับเฉลิมพระยศเสมอด้วยเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งพระยาอัครมหาเสนาและจตุสดมภ์สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชได้ คล้ายกรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) คือ ในพ.ศ. ๒๓๒๗ จึงถูกถอดจากพระยศ "พระเจ้านครศรีธรรมราช" ลงเป็น "พระยานครศรีธรรมราช" และในรัชกาลเดียวกันได้แต่งตั้งอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ขึ้นเป็น "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการมาจนถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่งด้วยเห็นว่าตนชราภาพมากแล้ว
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย (ครองราชย์ ๒๓๒๕-๒๓๖๗) จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบริรักษ์ภูเบศรผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีนามในตราตั้งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยาศรีธรรมราช" ต่อมากระทำความดีความชอบในราชการจนได้รับการแต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" คนทั่วไปรู้จักในนาม "เจ้าพระยานครน้อย"
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ตามหลักฐานทางราชการกล่าวว่าเป็นบุตร เจ้าพระยานคร (พัฒน์) แต่คนทั่วไปทราบว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้นี้มีความสามารถมากได้ทำการปราบปรามหัวเมืองมลายูได้สงบราบคาบ เป็นนักการทูตที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะการเจรจากับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ ได้ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายู และเป็นที่นับถือยำเกรงแก่บริษัทอังกฤษ ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลทางการค้าขายและทางการเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยังเป็นผู้มีฝีมือในทางช่าง เช่น ฝีมือในทางการต่อเรือจนได้รับสมญาว่าเป็น "นาวีสถาปนิก" และในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ก็ได้ถวายพระแท่นถมตะทองและพระราชยานถมอีกด้วย
ภายหลังที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าเมืองนครศรีธรรมราขคนถัดมาคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ผู้บุตร ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูกระด้างกระเดื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ได้ทรงแก้ไขจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยให้มีการปกครองเป็นมณฑล นครศรีธรรมราชจึงเป็นมณฑลของประเทศไทยโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. ๒๔๓๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๖๘) ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินด้านการปกครองหัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลนี้ได้ โปรดฯ ให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้ขึ้นเพื่อปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้
จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้ยุบมณฑลนครศรีธรรมราชลงเป็นจังหวัดหนึ่งของราชอุปราชอาณาจักรไทยและดำรงฐานะดังกล่าวเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชมีประวัติอันยาวนานมาก่อนกรุงสุโขทัยซึ่งถือว่าเป็นราชธานีแรกของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์มาก่อนศิลปวัฒนธรรม เช่น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ช่างฝีมือพื้นบ้าน การละเล่น และขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจึงมีมาก ซึ่งชาวเมืองยังยึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน นครศรีธรรมราชจึงมีอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติบ้านเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เชิงอรรถ
๑ ดู ธิดา สาระยา, “พัฒนาการของรัฐบาลบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์ (คริสตศตวรรษที่ ๖-๑๓,” ในประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๙๔-๑๑๘.
ดู ปรีชา นุ่นสุข, “การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่สำคัญบนคาบสมุทรไทย : ตะกั่วป่า ไชยา และนครศรีธรรมราช, “ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช , ๒๕๒๖), หน้า ๑๔๘-๑๔๙.
๒ พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๙ หน้า ๑๘๘-๑๘๙.
๓ ยอร์ช เซเดส์, ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๒ (พระนคร : หอพระสมุดสำหรับพระนคร, ๒๔๗๒), หน้า ๑๒.
๔ มานิต วัลลิโภดม, “สภาพของอาณาจักรต่าง ๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนศรีวิชัยมีอำนาจ,” ในรายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๖๘.
๕ สุวัณณภูมิ หรือสุวรรณภูมิ (แปลว่า ดินแดนทอง - Golden Land) คงจะหมายถึงดินแดนแหลมอินโดจีนทั้งหมด คือ บริเวณพม่า ไทย กัมพูชา และแหลมมลายู ตรงตามที่ Childers, Pali Dictionary กล่าวไว้ มิได้หมายถึงเฉพาะพม่าตอนล่าง (Lower Burma) หรือพม่าตอนใต้เท่านั้น หากแต่ตลอดตามแนวชายฝั่งตั้งแต่ย่างกุ้ง (ร่างกุ้ง) ลงไปถึงสิงคโปร์.
๖ มิลินทปัญหา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๔๖๔.
๗ Paul Wheatley, The Golden Khersonese. (Kuala Lumper : University of Malaya Press, ๑๙๖๖), p. ๑๘๓.
๘ Senarat Paranavitana, Ceylon and Malaysia. (Colombo : Lake House Investments Limited Publishers, ๑๙๖๖), p. ๙๙.
๙ Paul Wheatley, op. Cit., pp ๖๖-๖๗, ๗๗.
๑๐ ดู Nihar Ranjore Ray, Sanskrit Buddhism in Burma. (Amsterdam, ๑๙๘๖), PP. ๗๘-๗๙.
ดู Paul Wheatly, op. cit., pp.๑๙๙-๒๐๐.
๑๑ ยอร์ช เซเดส์, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๒ จารึกทวาราวดี ศรีวิชัย ละโว้ พิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขใหม่ (กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๔), หน้า ๓๐-๓๑ และรูปที่ ๑๐.
๑๒ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, “ตามพรลิงค์” วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓), หน้า ๙๓.
๑๓ ธรรมทาส พานิช, “กรุงตามพรลิงค์ที่เมืองนครศรีธรรมราช,” พุทธศาสนาปีที่ ๔๙ เล่มที่ ๑-๒ (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม, ๒๕๒๔), หน้า ๓.
๑๔ ดู สาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘, ฉบับปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ และต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘.
๑๕ ไมตรี ไรพระศก, “ปฏิกิริยาศิลปวัฒนธรรม,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๓), หน้า ๖๗-๖๘
๑๖ Stanley J. O, Connor, Si Chon : An Early Settlement in Penninsular Thailand,” Journal of the Siam Society, Vol. LVJ, Pt. I (January, ๑๙๘๖), p. ๔., and “Tambralinga and the Khmer Empire,” Journal of the Siam Society, Vol. ๖๓ pt. I (January, ๑๙๗๕), pp. ๑๖๑-๑๗๕
๑๗ Senarat paranavitana, op. cit., pp. ๗๘-๗๙
๑๘ Ibid.
๑๙ Culavamsa, Culavamsa, being the more recent part of the Mahavamsa, Part I, translated by W. Geiger, Pali Texi Society, Translation Series, No. ๑๘, London, ๑๙๒๙.
๒๐ คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, ประชุมศิลา จารึก ภาคที่ ๓ (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๘), หน้า ๑๒-๑๘.
๒๑ ธิดา สาระยา, เรื่องเดิม, หน้า ๑๐๙.
๒๒ P.E.E. Fernando, “An Account of the Kandyan Mission Sent to Siam in ๑๗๕๐,” The Ceylon Journal of Historical and Social Studies, Vol. ๒, No. ๑ (January, ๑๙๕๙), pp. ๖๗-๘๒.
๒๓ คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๒๑), หน้า ๑๕-๓๒.
๒๔ พระรัตนปัญญา, ชินกาลมาลีปกรณ์ (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๑๗), หน้า ๑๐๙.
๒๕ พระโพธิรังสี, สิหิงคนิทาน (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๖), หน้า ๔๑.
๒๖ Colone Sir Henry Jule, (translated and edited), The Book of Ser Marco Polo : The Venetian Concerning the Kingdoms and Marvels of the East (London : John Murray, ๑๙๐๓), p. ๒๗๖.
๒๗ ไมเคิล ไรท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าชาวสิงหลฟังคำที่มี “ง” สะกดเป็น “น” สะกดเสมอ ดังนั้นคำว่า “เมือง” (Muang) จึงจดเป็น “มุอัน” (Muan)
๒๘ P.E.E. Fernando op. cit., pp. ๖๗-๖๘.
๒๙ ประเสริฐ ณ นคร, “จารึกที่พบในนครศรีธรรมราช” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๔๕๒.
๓๐ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, เรื่องเดิม, หน้า ๙๕-๙๖.
๓๑ Joaquim de Campos, “Early Portuguese Accounts of Thailand,” Journal of the Siam Society, Selected Articles from the Siam Society Journal, Vol. VII, Relationship with Portugal, Holland, and the Vatican, (Bangkok, ๑๙๕๙), p. ๒๒๕.
๓๒ Jeremias Van Vliet, The Short History of the King of Siam, translated by Leonard Andaya, (Bangkok : The Siam Society, ๑๙๗๕), p. ๑๖.
๓๓ John Crawfurd, Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China, (Kuala Lumpur : Oxford University Press, ๑๙๖๗), p. ๔๔๓.
๓๔ ดู F.D.K. Bosch, " De inscriptie van Ligor," TBG., LXXXI, ๑๙๔๑, pp. ๒๖-๓๘.
ดู Boechari, 'On the Date of the Inscripion of Ligor B," SPAFA (SEAMEO Project in Archaeology and Fine Arts) Final Report Consultative Workshop on Archaeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-W2A), Indonesia, August 31-September 12, 1982. (Jakarta : Southeast Asian Ministers of Education Organization, 1982), Appendix 4a.
๓๕ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมแสดงให้เห็นว่า บริเวณของ "ลิกอร์" คงจะกว้างใหญ่มาก คือ อย่างน้อยก็กินบริเวณตั้งแต่เขตอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงเขตตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นักวิชาการบางท่านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "Ligor area" ดู ธิดา สารยะ, เรื่องเดิม หน้า ๑๑๐., นอกจากนี้นักวิชาการบางท่านยังพบว่า จากการตรวจสอบแผนที่ที่เขียนในสมัยโบราณเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณสทิงพระยังมิได้มีลักษณะเป็นแหลมอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันนี้หากแต่พื้นดินแถบสทิงพระยังคงเป็นเกาะ ในคริสศตวรรษที่ ๑๗ เรียกบริเวณนั้นว่า "Coete Inficos" ครั้นต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๘ มีชื่อว่า "Ile Papier" หรือ "de Ligor" ดู Guy Trebuil, สมยศ ทุ่งหว้า และอิงอร เทรบุยล์, "ความเป็นมาและแนวโน้มวิวัฒนาการของเกษตรกรรมการบริเวณสทิงพระ," เอกสารประกอบการอภิปรายในการสัมมนา เรื่อง ประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จัดโดย สถาบันทักษิณคดีศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่ ๘-๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, หน้า๔.
๓๖ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, เรื่องเดิม, หน้า ๙๗.
๓๗ ตรี อมาตยกุล, รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๕), หน้า ๑๑.
๓๘ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, “แผนงานหลัก โครงการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช พุทธ-ศักราช ๒๕๒๑-๒๕๓๐” ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖), หน้า ๒๓๙-๒๔๙.
๓๙ ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๑) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๑) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๕) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖)
๔๐ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และอมรา ขันติสิทธิ์, “แนวความคิดและข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้,” ๒๕๒๔, (เอกสารอัดสำเนา), หน้า ๒.
๔๑ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และอมรา ขันติสิทธิ์, เรื่องเดิม, หน้า ๒-๕.
๔๒ พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๙ หน้า ๑๘๘.
๔๓ ซิลแวง เลวี กล่าว คัมภีร์มิลินทปัญหารวบรวมขึ้นระยะเดียวกันกับคัมภีร์มหานิทเทศ คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ และศาสตราจารย์นิลกันตะ ศาสตรี (Nilakanta Sastri) กล่าวว่า คัมภีร์มิลินทปัญหาแต่งเมื่อราว ค.ศ. ๔๐๐ ดู Sylvain Levy Ptoteme le Niddesa et la Brhatkatha,” Etudes Asiatiques II, ๑๙๕๒. และศาสตราจารย์ปรนะวิธาน (Paranavitana) มีความเห็นว่า คำว่า Tamali บวกกับ gam หรือ gamu ซึ่งสันสกฤตใช้ว่า grama จึงอาจจะเป็น Tamlingam หรือ Tamalingamu ในภาษาสิงหล และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็น Tambalin. Ga และเป็น Tambralin. Ga ในภาษาสันสกฤต ดู Senarat Paranavitana, Ceylon and Malaysia (Columbo : Lake House Investments Limited Publishers, 1966), p. 99.
๔๔ Paul Wheatley, The Golden Khersonese (Kuala Lumpur : University of Malaya Press, 1961), pp. 66, 76-77 183, 201-202.
๔๕ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ ๖ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อมรินทร์ การพิมพ์, 2522), หน้า ๑๓.
๔๖ พิริยะ ไกรฤกษ์, ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร. ๒๕๓๒), หน้า ๒๕.
๔๗ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนโบราณสิชล อยู่ในเขตอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ (ชายฝั่งอ่าวไทย) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายทะเล ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย มีแม่น้ำสายสำคัญอันเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีหลายสาย เช่น คลองท่าเชี่ยว คลองเทพ-ราช คลองท่าเรือรี คลองท่าควาย และคลองท่าทน เป็นต้น คลองเหล่านี้ล้วนไหลลงสู่อ่าวไทยทั้งสิ้นและบางสายตื้นเขินไปมากแล้ว ชื่อ “สิชล” นั้นน่าจะตรงกับที่ปรากฏใน “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ว่า “ตระชน” และ “ศรีชน” ขณะนี้ชาวบ้านที่มีอายุเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สุชล”
๔๘ ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ, “โบราณคดีพเนจร,” ชาวกรุง ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒ (พฤศจิกายน ๒๕๐๙), หน้า ๗๘–๙๐. ดู Stanley J. O’ Connor, “Si Chon : An Early Settlement in Peninsular Thailand” , Journal of the Siam Society, LVI, pt, I. (January ๑๙๖๘) pp. ๑–๑๘. ดู ศรีศักร วัลลิโภดม, “จากท่าชนะถึงสงขลา”, เมืองโบราณ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๙), หน้า ๖๕–๗๗. ดู ศรีศักร วัลลิโภดม, “ชุมชนโบราณในภาคใต้” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช, วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๑), หน้า ๒๒–๘๐. ดู ปรีชา นุ่นสุข, “สิชล : ชุมชนโบราณของพราหมณ์บนคาบสมุทรมลายู”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖), หน้า ๑๔–๒๔. ดู Preecha Noonsuk, “Si Chon : An Ancient Brahmanical Settement on the Malay Peninsular, “SPAFA (SEAMEO Project in Arehaeology and Fine Arts) Final Report Consultative Workshop on Arehaeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙–April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : Southeast Asian Ministers of Education Oganization, ๑๙๘๓), pp. ๑๔๕–๑๕๑. ดู ปรีชา นุ่นสุข, “สิชล : อู่อารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์,” เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๗), หน้า ๓๓–๔๑.
๔๙ Paul Wheatley, op. cit., pp. ๑๖–๑๗.
๕๐ ปรีชา นุ่นสุข, หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช : ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๕), หน้า ๕–๗๕.
๕๑ ดูรายละเอียดใน ธิดา สาระยา, “พัฒนาการของรัฐบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์ (คริสตศวรรษที่ ๖–๑๓),” ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๖), หน้า ๙๔–๑๑๘. และปรีชา นุ่นสุข “การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่สำคัญบนคาบสมุทรไทย : ตะกั่วป่า ไชยา และนครศรีธรรมราช”, ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ หน้า ๑๑๙–๑๖๕.
๕๒ สุวิทย์ ทองศรีเกตุ, “การศึกษาวิเคระห์อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อพฤติกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช,” วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๒๔, (อัดสำเนา) หน้า ๘
๕๓ Stanley J. O’ Connor, Hindu Gods of Peninsular Siam. (Ascona : Artibus Asiae Publishers, ๑๙๗๒), pp. ๑๑–๑๗.
๕๔ Stanley J. Connor, “Si Chon : An Early Settlement in Peninsular” Journal of the Siam Society, Vol. LVI, pt. I (January, ๑๙๖๘), p. ๑๔.
๕๕ ปรีชา นุ่นสุข , “สิชล : ชุมชนโบราณของพราหมณ์บนคาบสมุทรมลายู,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖), หน้า ๑๔–๒๓.
๕๖ ปรีชา นุ่นสุข, “สิชล : อู่อารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์,” เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๗), หน้า ๔๐–๔๑.
๕๗ ยอร์ช เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๑–๔๐.
๕๘ ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร, “คำบรรยายวิชาวิธีใช้เอกสารโบราณประกอบวิชาโบราณคดี.” บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศิลปากร ภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๒๓ โดย นายปรีชา นุ่นสุข เป็นผู้บันทึก.
๕๙ ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย,” ศิลปากร ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๔ (กันยายน ๒๕๒๓), หน้า, ๘๙–๙๓.
๖๐ ดู ปรีชา นุ่นสุข, “จารึกหุบเขาช่องคอย : หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ภาคใต้,” ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๗ (พฤษภาคม ๒๕๒๓), หน้า ๔๘–๕๙. ดู M.C. Chand Chirayu Rajani, “Scientific Evidence in the Sri Vijaya Stoty, ๑๙๘๑, (Type-written), pp. ๑๒–๑๕. ดู ปรีชา นุ่นสุข, หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย หน้า ๑๑๓–๑๑๙ ดู ไมเคิล ไรท์, “ศิลาจารึกหลักที่พบใหม่ (ช่องคอย) กับประวัติศาสตร์ศรีวิชัย,” ศิลปวัฒนธรรม, ปี่ที่ ๓ ฉบับที่ ๙ (กรกฎาคม ๒๕๒๓), หน้า ๑๘–๑๙.
๖๑ ยอร์ช เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า ๓๖–๓๗.
๖๒ ดู มานิต วัลลิโภดม, “ศรีธรรมาโศกมหาราช,” อนุสาร อ.ส.ท., ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๙ (เมษายน ๒๕๒๑), หน้า ๑๖–๑๘.
๖๓ มานิต วัลลิโภดม, เรื่องเดิม, หน้า, ๑๘.
๖๔ มานิต วัลลิโภดม, เรื่องเดิม, หน้า, ๑๘.
๖๕ ดู หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, “อาณาจักรศรีชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๕๕–๗๑.
ดู มานิต วัลลิโภดม, “สภาพของอาณาจักรต่างๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนศรีวิชัยมีอำนาจ,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๖๕–๙๑. ดู สืบแสง พรหมบุญ, “การบันทึกหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๙๒–๙๕. ดู ธิดา สาระยา, เรื่องเดิม, หน้า ๙๔–๑๑๘. ดู ศรีศักร วัลลิโภดม, “พัฒนาการของบ้านเมืองในภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๓๔–๑๔๒. ดู สุเนตร ชุตินธรานนท์, “สภาพการเมืองของศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๔๓–๑๔๘.
ดู ประเสริฐ ณ นคร, “อักษร ภาษา และจารึกสมัยศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๕๗–๑๗๐. ดู พิริยะ ไกรฤกษ์, ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบศิลปะในประเทศไทย : คัดเลือกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาส่วนภูมิภาค (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๐), หน้า ๑๗–๑๘. ดู Stanley J. O, Connor, "Tambralinga and the Khmer Empire," JSS Journal of the Siam Society, Vel. ๖๓, pt.l (January ๑๙๗๕), pp. ๑๖๑-๑๖๕. ดู M.C. Subhadradis Diskul, The Art of Srivijaya (Kuala Lumpur : Oxford University Press, ๑๙๘๐) ดู M.C. Subhadradis Diskul, "A Short History of the Srivijaya Kingdom and Its Art in Southern Thailand." SPAFA (SEAMEO Project in Archaeology and Fine Arts) Final Report Workshop on Research on Srivijaya, Jakarta, March ๑๒-๑๗, ๑๙๗๙, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๘๙), Appendix ๓ d. ดู ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ “ตามพรลิงค์,” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓, (อัดสำเนา) ดู หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี, “นครศรีธรรมราชในสมัยศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๘๑–๘๘. ดู ธรรมทาส พานิช ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย (กรุงเทพ ฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๒๑), หน้า ๑–๒๘๗. ดู ธรรมทาส พานิช, พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : แพร่พิทยา, ๒๕๑๕), หน้า ๑–๓๒๙. ดู พระครูอินทรปัญญาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ), แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์-ธานี : คณะกรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะกรรมการอำเภอไชยา, ๒๔๙๘), หน้า ๑–๘๐. ดู Boechari, “Report on Research on Srivijaya” SPAFA Final Report Workshop on Research on Srivijaya, Jakara, March ๑๒–๑๗, ๑๙๗๙, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๗๙), Appendix ๓a. ดู Janice Stargardt, “The Satingpra Civilization and Itrs Relevance to Srivijayan Studies,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-w๒A), Indonesia, August ๓๑ - September ๑๒, ๑๙๘๒, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๘๒), Appendix ๔b.ดู Phasook Indrawooth, “A Study on local Ceramics of Southem Thailand and Their Relations to Dvaravati and Srivijayan Culture,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-w๒A), Indonesia, August ๓๑ - September ๑๒, ๑๙๘๒, (Jakarta : Seameo, ๑๙๘๒), Appendix ๓ e.
ดู Janics Stargardt, “Kendi Production at Kok Moh, Songkhla Province, and Srivijayan Trade in the ๑๑ th Century, “SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental on Srivijaya (T-W๓). Bangkok and South Thailand, March ๒๙–April ๑๑ ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓). Pp. ๑๘๑–๑๘๙. ดู Tatsure Yamamoto, “Reexamination of Historical Texts Concerning Srivijaya,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๑๗๑-๑๗๙.
ดู John N, Miksic, “Srivijaya : Political, Economic, and Artistic Framework for Analysis,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๑๙๕–๒๐๖. ดู Satyawati Suleiman, “The Role of the Sailendras in Srivijaya, SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๖๑–๖๕. ดู เขมชาติ เทพไทย, “หลักฐานใหม่เกี่ยวกับการเดินเรือสมัยศรีวิชัยที่แหลมโพธิ์” ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๕), หน้า ๒๕๔–๒๖๖.
๖๖ ดู ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสำรวจช่างฝีมือในจังหวัดนครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๒๔), หน้า ๑๔-๑๘.
ดู พลโทดำเนิน เลขะกุล, "นครศรีธรรมราชสมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๐๐-๒๐๐๐," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๔๑-๑๖๑.
ดู ตรี อมาตยกุล, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา" ใน รายการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๘๗-๒๐๒.
ดู น้อม อุปรมัย, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๗๔-๑๘๖.
ดู เฉลิม อยู่เวียงชัย, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงธนบุรี. "ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๒๑๘-๒๖๘.
ดู สงบ ส่งเมือง และทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม, "ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงธนบุรีกับหัวเมืองนครศรีธรรมราช," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๖๙-๒๘๙.
ดู ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, "นครศรีธรรมราชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๒๙๐-๒๙๕).
ดู ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล, "สภาพเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชสมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครฯ ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๕๖-๒๗๔.
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๗.
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และศาสนามากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองนี้มีชื่อเสียงเป็นที่ รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาไม่น้อยกว่า ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารที่ปรากฏในขณะนี้ยืนยันได้ว่านครศรีธรรมราชมีกำเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นอย่างน้อย๑
ชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช
จากประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช สามารถประมวลได้ว่า “นครศรี- ธรรมราช" ได้ปรากฏชื่อในที่ต่างๆ หลายชื่อ ตามความรู้ความเข้าใจที่สืบทอดกันมาและสำเนียงภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่เคยเดินทางผ่านมาในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น
“ตมฺพลิงฺคมฺ” หรือ “ตามฺพลิงฺคมฺ” (Tambalingam) หรือ “กมลี” หรือ “ตมลี” หรือ “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง”
เป็นภาษาบาลีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหานิเทศ (คัมภีร์บาลี ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทศ) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณกล่าวถึงการเดินทางของ นักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวยยังดินแดนต่าง ๆ อันห่างไกลจากอินเดีย คือบริเวณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ระบุเมืองท่าต่างๆ ในบริเวณนี้ไว้และในจำนวนนี้ได้มีชื่อเมืองท่าข้างต้น อยู่ด้วย ดังความตอนหนึ่งดังนี้
. . เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ ย่อมแล่นเรือไปในมหาสมุทร ไปคุมพะ (หรือติคุมพะ) ไปตักโกละ ไปตักกสิลา ไปกาลมุข ไปมรณปาร ไปเวสุงคะ ไปเวราบถ ไปชวา ไปกะมะลิง (ตะมะลิง) ไปวังกะ (หรือวังคะ) ไปเอฬวัททนะ (หรือเวฬุพันธนะ) ไปสุวัณณกูฏ ไปสุวัณณภูมิ ไปตัมพปัณณิ ไปสุปปาระ ไปภรุกะ (หรือภารุกัจฉะ) ไปสุรัทธะ (หรือสุรัฏฐะ) ไปอังคเณกะ (หรือภังคโลก) ไปคังคณะ (หรือภังคณะ) ไป ปรมคังคณะ (หรือสรมตังคณะ) ไปโยนะ ไปปินะ (หรือปรมโยนะ) ไปอัลลสันทะ (หรือวินกะ) ไปมูลบท ไปมรุกันดาร ไปชัณณุบท ไปอชบถ ไปเมณฑบท ไปสัง กุบท ไปฉัตตบท ไปวังสบท ไปสกุณบท ไปมุสิกบท ไปทริบถ ไปเวตตาจาร . . .๒
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Gorge Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า นักปราชญ์ทางโบราณคดีลงความเห็นว่าชื่อเมืองท่า “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” ข้างต้นนี้ตรงกับชื่อที่บันทึกหรือจดหมายเหตุจีนเรียกว่า “ตั้ง-มา-หลิ่ง” และในศิลาจารึกเรียกว่า “ตามพรลิงค์” คือ นครศรีธรรมราช๓
นอกจากนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งพระปิฎกจุฬาภัยได้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลีซึ่งบางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แต่บางท่านมีความเห็นว่ารจนาเมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐ ก็ได้กล่าวถึงดินแดนนี้ไว้ในถ้อยคำของพระมหานาคเสน ยกมาเป็นข้ออุปมาถวายพระเจ้ามิลินท์ (หรือเมนันเดอร์ พ.ศ. ๓๙๒-๔๑๓)๔ ดังความตอนหนึ่งว่าดังนี้
. . . เหมือนอย่างเจ้าของเรือผู้มีทรัพย์ ได้ค่าระวางเรือในเมืองท่าต่างๆ แล้วได้ชำระภาษีที่ท่าเรือเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถจะแล่นเรือเดินทางไปในทะเลหลวง ไปถึงแคว้นวังคะ ตักโกละ เมืองจีน (หรือจีนะ) โสวีระ สุรัฏฐ์ อลสันทะ โกลปัฏฏนะ-โกละ (หรือท่าโกละ) อเล็กซานเดรีย หรือฝั่งโกโรมันเดล หรือ สุวัณณภูมิ๕ หรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งนาวาไปได้ (หรือสถานที่ชุมนุมการเดินเรือแห่งอื่นๆ ). . .๖
ศาสตราจารย์ซิลแวง เลวี (Sylvain levy) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) ที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิทเทศนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่า “ตามพรลิงค์” ตามที่ ปรากฏในที่อื่นๆ๗ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปรนะวิธานะ (Senarat Paranavitana) นักปราชญ์ชาวศรี-ลังกา (ลังกา) มีความเห็นว่า คำว่า “ตมะลี” (Tamali) บวกกับ “คมฺ” (gam) หรือ “คมุ” (gamu-ซึ่งภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ครฺมะ” (grama) จึงอาจจะเป็น “ตมะลิงคมฺ” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu)ในภาษาสิงหล และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็นคำว่า “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) และเป็น “ตามพรลิงคะ”(Tambralinga) ในภาษาสันสกฤต๘
“ตัน-มา-ลิง” (Tan-Ma-ling) หรือ ตั้ง-มา-หลิ่ง”
เป็นชื่อที่เฉาจูกัว (Chao-Ju-Kua) และวังตาหยวน (Wang-Ta-Yuan) นักจดหมายเหตุจีนได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ เตา-อี-ชี-เลี้ยว (Tao-i Chih-lioh) เมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๙ ความจริงชื่อตามพรลิงค์นี้นักจดหมายเหตุจีนรุ่นก่อน ๆ ก็ได้เคยบันทึกไว้แล้วดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสุงชี (Sung-Shih) ซึ่งบันทึกไว้ว่าเมืองตามพรลิงค์ได้ส่งฑูตไปติดต่อทำไมตรีกับจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๔ โดยจีนเรียกว่า “ต้น-เหมย-หลิว” (Tan-mei-leou) ศาสตราจารย์พอล วิทลีย์ (Paul Wheatley) นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ว่า Tan-mei-leou” นั้นต่อมานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนชาวฝรั่งเศสและอังกฤษได้ลงความเห็นคำนี้ที่ถูกควรจะออกเสียงว่า “Tan-mi-liu” หรือ “Tan-mei-liu”๙
“มัทมาลิงคัม” (Madamalingam)
เป็นภาษาทมิฬปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในอินเดียภาคใต้โปรดให้สลักขึ้นไว้ที่เมืองตันชอร์ (Tanjore) ในอินเดียภาคใต้ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๗๓-๑๕๗๔ ภายหลังที่พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรมาปราบเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูจนได้รับชัยชนะหมดแล้ว ในบัญชีรายชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงตีได้และสลักไว้ในศิลาจารึกดังกล่าวนั้นมีเมืองตามพรลิงค์อยู่ด้วย แต่ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็นชื่อ “มัทมาลิงคัม”๑๐
“ตามพฺรลิงค์” (Tambralinga)
เป็นภาษาสันสกฤต คือเป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเวียง) ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓
ศิลาจารึกหลักนี้พันตรี de Lajonauiere Virasaivas ได้กล่าวไว้ว่าสลักอยู่บนหลืบประตูสมัยโบราณมีขนาดสูง ๑.๗๗ เมตร (ไม่รวมเดือยสำหรับฝังเข้าไปในธรณีประตูด้านล่างและทับหลังด้านบน) กว้าง ๔๕ เซนติเมตร หนา ๑๓ เซนติเมตร ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความ ๑๖ บรรทัด ในปัจจุบันนี้ศิลาจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านและแปลศิลาจารึกหลักนี้ไว้ดังนี้๑๑
คำอ่าน
๑. สฺวสฺติ ศฺรีมตฺศฺรีฆนสาสนาคฺรสุภทํ ยสฺ ตามฺพฺรลิงฺ
๒. เคศฺวระ ส - - นิว ปตฺมวํสชนตำ วํศปฺรทีโปตฺภวะ สํรู
๓. เปน หิ จนฺทฺรภานุมทนะ ศฺรีธรฺมฺมราชา ส ยะ ธรฺมฺมสาโสกสมานนี
๔. ตินิปุนะ ปญฺจาณฺฑวํสาธิปะสฺวสฺติ ศฺรี กมลกุลสมุตฺภฤ (ตฺ) ตามฺ
๕. พฺรลิงฺเคศฺวรภุชพลภิมเสนาขฺยายนสฺ สกลมนุสฺยปุณฺยา
๖. นุภาเวน พภุว จนฺทฺรสูรฺยฺยานุภาวมิห ลโกปฺรสิทฺธิกีรฺตฺติ
๗. ธรจนฺทฺรภานุ-ติ ศฺรีธรฺมฺมราชา กลิยุคพรฺษาณิ ทฺวตริงศาธิกสฺ ตฺรีณิ
๘. สตาธิกจตฺวารสหสฺรานฺยติกฺรานฺเต เศลาเลขมิว ภกฺตฺยามฺฤตวรทมฺ - - -
ต่อนั้นไปอีก ๗ หรือ ๘ บรรทัด อ่านไม่ใคร่ออก สังเกตเห็นได้แต่เพียง
๙. - - - - นฺยาทิ ทฺรพฺยานิ - - - - - - มาตฺฤปิตฺฤ
๑๐ - - - - - - - - - - สปริโภคฺยา - - - - - - - -
๑๑.-๑๒ - - - - - โพธิวฺฤกฺษ
คำแปล
สวสฺติ
พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ ทรงประพฤติประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา พระองค์สืบพระวงศ์มาจากพระวงศ์อันรุ่งเรือง คือ ปทุมวงศ มีรูปร่างงามเหมือนพระกามะ อันมีรูปงามราวกับพระจันทร์ ทรงฉลาดในนิติศาสตร์เสมอด้วยพระเจ้าธรรมาโศกราช เป็นหัวหน้าของพระราชวงศ์……………ทรงพระนาม ศรีธรรมราช
ศรีสวสฺติ
พระเจ้าผู้ปกครองเมืองตามพรลิงค์ เป็นผู้อุปถัมภ์ตระกูลปทุมวงศ พระหัตถ์ของพระองค์มีฤทธิมีอำนาจ……………ด้วยอานุภาพแห่งบุญกุศลซึ่งพระองค์ได้ทำต่อมนุษย์ทั้งปวง ทรงเดชานุภาพประดุจพระอาทิตย์ พระจันทร์ และมีพระเกียรติอันเลื่องลือในโลกทรงพระนาม จันทรภานุ ศรีธรรมราช เมื่อกลียุค ๔๓๓๒ - - - -
คำว่า “ตามพรลิงค์” นี้ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลว่า “ลิงค์ทองแดง” (แผ่นดินผู้ที่นับถือศิวลึงค์),๑๒ นายธรรมทาส พานิช แปลว่า “ไข่แดง” (ความหมายตามภาษาพื้นเมืองปักษ์ใต้),๑๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกเพี้ยนเป็น “ตามรลิงค์” (Tamralinga) สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงประทานความเห็นว่า “ตามพรลิงค์” แปลว่า “นิมิตทองแดง” จะหมายเอาอันใดที่ในนครศรีธรรมราชน่าสงสัยมาก พบในหนังสือพระมาลัยคำหลวง เรียกเมืองลังกาว่า “ตามพปณยทวีป” แปลว่า “เกาะแผ่นทองแดง” เห็นคล้ายกับชื่อนครศรีธรรมราชที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “ตามพรลิงค์” จะหมายความว่าสืบมาแต่ลังกาก็ได้กระมัง,๑๔ ไมตรี ไรพระศก ได้แสดงความเห็นว่า “ตามพรลิงค์” น่าจะหมายความว่า “ตระกูลดำแดง” คือ หมายถึงผิวของคนปักษ์ใต้ซึ่งมีสีดำแดงและอาจจะหมายถึงชนชาติมิใช่ชื่อเมือง๑๕ และศาสตราจารย์โอ, คอนเนอร์ (Stanley J. O, Connor) มีความเห็นว่าชื่อ “ตามพรลิงค์” นี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ เพราะศาสนาพราหมณ์เจริญสูงสุดในนครศรีธรรมราช จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย และหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวนิกาย (Virasaivas) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดียภาคใต้ก็พบเป็นจำนวนมากในเขตนครศรีธรรมราชก็รองรับอยู่แล้ว๑๖
“ตมะลิงคาม” (Tamalingam) หรือ “ตมะลิงโคมุ” (Tamalingomu)
เป็นภาษสิงหล ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหลชื่อ Elu-Attanagalu vam-sa ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๕๑๗
นอกจากนี้ในเอกสารโบราณประเภทหนังสือของลังกายังมีเรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ เช่น “ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu) ปราฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ ปูชาวลี (Pujavali), “ตมฺพลิงคะ” (Tambalinga) ปราฏอยู่ในหนังสือเรื่องวินยะ-สนฺนะ (Vinay-Sanna)๑๘ และในตำนานจุลวงศ์๑๙ (Cujavamsa) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “. . . พระเจ้าจันทภานุบังอาจยกทัพจาก “ตมฺพลิงควิสัย” (Tambalinga – Visaya) ไปตีลังกา . . .” เป็นต้น ชื่อเหล่านี้นักปราชญ์โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อ “ตามพรลิงค์” ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ของไทย
“กรุงศรีธรรมาโศก”
ปรากฏในจารึกหลักที่ ๓๕ คือศิลาจารึกดงแม่นางเมือง พบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐
ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหินชนวนสีเขียว สูง ๑.๗๕ เมตร กว้าง ๓๗ เซนติเมตร หนา ๒๒ เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรอินเดียกลายทั้งสองด้าน ด้านหน้าเป็นภาษามคธ มี ๑๐ บรรทัด ตั้งแต่บรรทัดที่ ๖ ถึงบรรทัดที่ ๑๐ ชำรุดอ่านไม่ได้ ด้านหลังเป็นภาษาขอม มี ๓๓ บรรทัด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่านและแปลศิลาจารึกหลักที่ ๓๕ ดังนี้๒๐
ด้านที่ ๑
คำจารึกภาษามคธ คำแปลภาษามคธ
๑. ๐ อโสโก มหาราชา ธมฺเตชพสี ๐ อโศกมหาราช ทรงธรรม เดชะ
๒. วีรอสโม สุนตฺตํ สาสนำ อโว- อำนาจ และมีความกล้าหาผู้เสมอมิได้ มีรับสั่ง
๓. จ ธาตุปูชเขตฺตํ ททาหิ ตฺวํ ๐ มายังพระเจ้าสุนัตต์ว่า ท่านจงให้ที่นาบูชา
๔. สุนตฺโต นาม ราชา สาสนํ สญฺชา- พระธาตุ ฯ พระเจ้าสุนัตต์จึงประกาศกระแส
๕. เปตฺวา……..(ต่อไปนี้ชำรุด)…….. พระราชโองการให้ประชาชนทราบ ฯ ……..
๖. …………………………………… ………………………………………………
๗. …………………………………… ……………………… (ชำรุด) …………….
๘. …………………………………… ………………………………………………
๙. ……………………………………
๑๐. ………………………………….
ด้านที่ ๒
คำจารึกภาษาขอม คำแปลภาษาขอม
๑. ๐ พฺระชํนฺวนมหาราชาธิราชดพฺระ สิ่งสักการที่มหาราชาธิราชผู้มีพระนามว่า
๒. นามกุรุงศฺรีธรฺมฺมาโศก ๐ ด กรุงศรีธรรมาโศก(๑) ถวายแด่พระสรีร
๓. พฺระศรีรธาตุ ๐ ดพฺระนามกมฺรเต ธาตุ(๒) ซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชดตศรี-
๔. งชคตศฺรีธรฺมฺมาโศก ๐ นาวิษย ธรรมาโศก(๓) ณ ตำบลธานยปุระ เช่นใน
๕. ธานฺยปุร ๐ เราะดบาญชียเนะ ๐ บาท บัญชีนี้ ข้าบาทมูล(๔) ผู้มีวรรณทุกเหล่า(๕)
๖. มูลอฺนกพรฺณฺณสบภาคสฺลิกปฺรำ ๒๐๑๒, พาน ๒๒, ถ้วยเงิน ๒๒, ช้าง ๑๐๐,
๗. ดบพฺยร ๐ พานภยพฺยร ๐ เพงปฺรา ม้า ๑๐๐, นาค ๑๐, สีวิกา(๖) สอง เป็น
๘. กภยพฺยร ๐ ตมฺรฺย สตมฺวย พระบูชา, วันหนึ่งข้าวสาร ๔๐ ลิ ฯ(๗)
๙. ๐ เอฺสะสตมฺวย ๐ นาคสตมฺว มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อศรีภูวนาทิตย์
๑๐. ย ๐ ศีวิกาพฺยร พฺระบูชา ๐ อิศวรทวีป นำกระแสพระราชโองการราชา
๑๑. มวยทินองกรลิบวนดบ ๐ ธิราช(๘) มายังกรุงสุนัต(๙) ผู้ครอบครอง
๑๒. มหาเสนาบดีมวยเชมาะ ณ ธานยปุระ บัณฑูรใช้ให้ถวายที่นาซึ่ง
๑๓. ศรีภูพนาทิตยอิศวรทวีป ๐ นำศาสนรา ได้กำหนดเขตไว้แล้ว เป็นพระบูชากมรเตง
๑๔. ชาธิราชโมกดกุรุงสุนต ด ปรภู ชคต(๑๐) ใน (มหา) ศักราช(๑๑) ๑๐๘๙ ขึ้น ๑๕
๑๕. ตรนาธานยปร ๐ บนทวลเปรชวนภูมิ ค่ำเดือนสาม วันอาทิตย์ บูรพาษาฒ(๑๒)
๑๖. เสรนิพนธพระบูชากมรเตงช ฤกษ์ เพลา ๑ นาฬิกา ฯ
๑๗. คต ๐ ดนวอศฏศุนยเอกศกบู อนึ่ง ความสวัสดีจงมี, เวลาเที่ยง ฯ
๑๘. รณณมีเกตมาฆอาทิตยพารบู กรุงสุนัตทำบูชากมรเตงชคต ถวายที่นา
๑๙. รพพาสาธมวย อนดวงทิกมวย ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้ว เช่นในบัญชีนี้นา
๒๐. ๐ ศรีจมทยาหน ๐ กุรุงสุนต ……..บูรพาจดฉทิง (=คลอง) ปัศจิมจด
๒๑. เถวบูชากมรเต (ง) ชคตชวนภูมิ ภูเขา……..ทักษิณจดบางฉวา……..อุดร
๒๒. เสรนิพนธเราะดบาญชียเนะเสร จดฉทิงชรูกเขวะ (=คลองหมูแขวะ) นา
๒๓. ………………………………… โสรงขยำ นาตรโลม นาทรกง บูรพาจด
๒๔. . . . ๐ บูรพพตรบฉทิง ๐ บศจิมตรบพนํ คลองเปร ปัศจิมจดศรก ทักษิณจดบึงสดก
๒๕. . . . ๐ ทกษิณตรบบางฉวา อุดรจดคลองนาพระชคต บูรพาจดกํติง
๒๖. . . . ๐ อุตตรตรบฉทิงชรูกเขวะ อาคเนย์จด……..อุดรจดศรุก……..ผสมนา
๒๗. เสรโสรงขยำเสรตรโลมเสร ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้วเป็นห้าอเลอ ฯ(๑๓)
๒๘. ทรกงบูรพพตรบฉทิงเปรบศจิม
๒๙. ตรบศรก ๐ ทกษิณตรบบิงสดก
๓๐. อุตตรตรบฉทิงเสรพระชคต ๐ บูรพพ
๓๑. ตรบกํติง ๐ อเคนยตรบ.
๓๒. . . . ๐ อุตตรตรบศรุก . . .
๓๓. . . . ๐ ผสํเสรนิพนธอนเลปราม
อธิบายคำโดยผู้อ่านและแปล
(๑) กรุงศรีธรรมาศก, คำว่า “กรุง” ในภาษขอม เป็นกริยา แปลว่า ครอบ, รักษา, ป้องกัน เป็นนามแปลว่านคร, ราชธานี, บุรี ในภาษาหนังสือหรือในวรรณคดีใช้แทนคำว่าพญา หรือราชา ก็มี เช่น กรุงศรีธรรมาโศก ในศิลาจารึกนี้คือพญาศรีธรรมาโศกหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกนั่นเอง
เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกทั้งสองพระองค์ปรากฏอยู่ในหนังสือเอกสารประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๒ สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระภูมินทรราชา (ขุนหลวงท้ายสระ) เล่าเรื่อง “นางเลือดขาว” มีใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกทั้งสองพระองค์ว่า
“นางและเจ้าพญา (คือนางเลือดขาว และกุมารผู้เป็นสามี) กรีธาพลกลับหลังมายังสทัง บางแก้วเล่าแล กุมารก็เลียบดินดูจะสร้างเมือง ก็มาถึงแขวงเมืองนครศรีธรรมราชและก็สร้างพระพุทธรูปเป็นหลายตำบล จะตั้งเมืองบมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้า หาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้มาตั้ง ณ เมืองนครศรีธรรมราช แลญังพระศพธาตุแลเจ้าพระญา (แลเจ้าพระญา = คือเจ้าพระญา) ศรีธรรมาโศก ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชนั้น” สำหรับข้อความที่ขีดเส้นใต้นั้นหมายความว่า “ซึ่งมีพระบรมอัฐิของพระเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานอยู่ในที่นั้น” ตามข้อความที่ยกมานี้พอจะทราบได้ว่า เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอยู่สองพระองค์ คือ พระชนกกับพระราชโอรส แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่กล่าวมานี้จะตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักนี้หรือไม่ ขอให้นักประวัติศาสตร์ช่วยกันพิจารณาต่อไป
(๒) พระสรีรธาตุในที่นี้ หมายเอาพระบรมอัฐิของพระเจ้าศรีธรรมโศกในพระบรมโกศ
(๓) กมรเตงชคตศรีธรรมาโศก, คำว่า “กมรเตง” เป็นภาษาขอมแปลว่า “เป็นเจ้า” โดยปริยายหมายว่าเป็นที่เคารพนับถือเช่นพระเจ้าแผ่นดินและครูบาอาจารย์เป็นต้น ส่วนคำว่า “ชคต” นั้นเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า “สัตวโลกหรือปวงชน” กมรเตงชคต แปลว่า เป็นเจ้าแห่งสัตวโลกหรือเป็นเจ้าแห่งปวงชน เพระฉะนั้นคำว่า “กมรเตงชคตศรีธรรมาโศก” จึงอาจแปลได้ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศก เป็นเจ้าแห่งสัตวโลกหรือเป็นที่เคารพนับถือของปวงชน อนึ่ง พึงสังเกตว่า คำว่า “กมรเตง” นั้น ใช้สำหรับนำหน้านามของบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งที่ยังดำรงชีวิตอยู่หรือสิ้นชีวิตไปแล้วก็ได้ แต่ คำว่า “ชคต” เช่นในศิลาจารึกนี้ ใช้เฉพาะผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว, ความหมายของคำว่า “ชคต” นอกจากนี้โปรดดูในพจนานุกรมสันสกฤต
(๔) ข้าบาทมูล = ข้าราชการในพระราชสำนัก
(๕) วรรณทุกเหล่า = วรรณทั้ง ๔ คือ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์, ศูทร
(๖) สีวิกา = วอ, เสลี่ยง, คานหาม
(๗) ลิ = เป็นมาตราชั่งตวงของขอมในสมัยโบราณ
(๘) ราชาธิราชในที่นี้ = กรุงศรีธรรมาโศกหรือพระเจ้าศรีธรรมาโศกในบรรทัดแรก
(๙) กรุงสุนัต = พระเจ้าสุนัต
(๑๐) กมรเตงชคต, คำว่า “กมรเตงชคต” ในศิลาจารึกนี้ เป็นคำเรียกแทนพระนาม พระเจ้าศรีธรรมาโศกในพระบรมโกศ
(๑๑) (มหา) ศักราช ๑๐๘๙ = พ.ศ. ๑๗๑๐
(๑๒) บูรพาษาฒ ชื่อฤกษ์ที่ ๒๐ ได้แก่ ดาวแรดตัวผู้ หรือดาวช้างพลาย
(๑๓) อเลอ = แปลง, ห้าอเลอ = ห้าแปลง.
จากศิลาจารึกหลักนี้จะเห็นได้ว่ามีความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชาจากกรุงศรีธรรมาโศกถวายที่ดิน หรือกัลปนาอุทิศให้ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ ดังความตอนหนึ่งว่า “. . . สิ่งสักการที่มหาราชาธิราช ผู้มีพระนามว่ากรุงศรีธรรมาโศก ถวายแด่พระสรีรธาตุซึ่งมีพระนามว่ากมรเตงชคตศรีธรรมาโศก . . . มหาเสนาบดีผู้หนึ่งชื่อ ศรีภูวนาทิตย์อิศวรทวีปนำกระแสพระราชโองการราชาธิราชมา . . .” แม้ศิลาจารึกหลักนี้จะไม่ได้ระบุที่ตั้งของกรุงศรีธรรมาโศกไว้อย่างชัดเจน แต่คำว่า “ศรีธรรมาโศก” ในศิลาจารึกนี้สัมพันธ์กับเรื่องราวของนครศรีธรรมราช ซึ่งพบหลักฐานเอกสารสนับสนุนในสมัยหลังอย่างไม่มีปัญหา๒๑ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อันเป็นเอกสารโบราณของไทยเป็นต้น
ส่วนเอกสารโบราณของต่างชาติก็ได้พบชื่อนี้เช่นเดียวกัน อย่างในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บังเอิญในตอนกลับจากกรุงศรีอยุธยาเรือเสียไปติดอยู่ที่ตลิ่งหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ข้าราชการผู้นั้นชื่อ วิลพาเค (Lilbage) ได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ ตอนหนึ่งได้เขียนไว้ เมื่อว้นอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ว่าดังนี้๒๒
“. . . ในใจกลางของเมืองนี้มีพระสถูปเจดีย์องค์หนึ่งใหญ่ทัดเทียมกับพระสถูปเจดีย์รุวันแวลิ (Ruvanvali) แห่งเมืองโปโลพนารุวะ (Polonnaruva) ในลังกา พระสถูปเจดีย์องค์นี้กษัตริย์ศรีธรรมาโศก (King Sri Dharmasoka) เป็นผู้ทรงสร้างโดยทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระสถูปเจดีย์องค์นี้ด้วย . . .”
“ศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบที่วัดหัวเวียง (วัดเวียง) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังกล่าวมาแล้ว ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และได้กล่าวไว้ว่าสลักขึ้นในรัชสมัยของเจ้าผู้ครองแผ่นดินทรงมีอิสริยยศว่า “ศรีธรรมราช” ผู้เป็นเจ้าของ “ตามพรลิงค์ (ตามพรลิงคศวร)”
ต่อมาชื่อ “ศรีธรรมราช” นี้ได้ปรากฏอีกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งสลักด้วยอักษรไทยและภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ดังความบางตอนในศิลาจารึกหลักนี้ เช่น๒๓
“. . . เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่ มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา . . .” และ “. . . มีเมืองกว้างช้างหลายปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถีงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง . . .น หงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน . . .เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว . . .” เป็นต้น
“สิริธรรมนคร” หรือ “สิริธัมมนคร”
ชื่อนี้พบว่าใช้ในกรณีที่เป็นชื่อของสถานที่ (คือเมืองหรือนคร) เช่นเดียวกับชื่ออื่นๆ ที่กล่าวมาแต่หากเป็นชื่อของกษัตริย์มักจะเรียกว่า “พระเจ้าสิริธรรม” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมนคร” หรือ “พระเจ้าสิริธรรมราช”
ชื่อ “สิริธรรมนคร” ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญา พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ และเมื่อมีผู้อื่นแต่งต่ออีก จนแต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑๒๔
ส่วนในหนังสือสิหิงคนิทานซึ่งพระโพธิรังสีพระเถระชาวเชียงใหม่ได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อราว พ.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๕ (ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกนหรือพระเจ้าวิไชยดิสครองราชย์ในนครเชียงใหม่ แห่งลานนาไทย) เรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมราช”๒๕
โลแค็ก” หรือ “โลกัก” (Locae, Loehae)
เป็นชื่อที่มาร์โคโปโลเรียกระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ โดยออกเดินทางจากเมืองท่าจินเจาของจีน แล่นเรือผ่านจากปลายแหลมญวนตัดตรงมายังตอนกลางของแหลมมลายู แล้วกล่าวพรรณนาถึงดินแดนในแถบนี้แห่งหนึ่ง ชื่อ “โลแค็ก” ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช๒๖
“ปาฏลีบุตร” (Pataliputra)
เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารโบราณของลังกาที่เป็นรายงานของข้าราชการสิงหลที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้ในตอนเที่ยวกลับเพราะเรือเสียที่ตลื่งหน้าเมืองนี้ โดยเรียกคู่กันในเอกสารชิ้นนี้ว่า “เมืองปาฏลีบุตร” ในบางตอน และ “เมืองละคอน” (Muan Lakon)๒๗ ในบางตอน เช่น
“. . . ในวันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๙๔ ในขณะที่เขากำลังมาถึงเมือง ละคอน (Muan Lakon) ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสยาม เรือก็อับปางลงแต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายและทุกคนได้ขึ้นฝั่งยังดินแดนที่เรียกกันว่าเมืองละคอน ในดินแดนนี้มีเมือง (City) ใหญ่เมืองหนึ่งเรียกกันว่า “ปาฏลีบุตร” (Pataliputra) ซึ่งมีกำแพงล้อมรอบ ทุกด้าน . . .”๒๘
ในโครงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของนายสวนมหาดเล็กก็เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า “ปาตลีบุตร” เช่นกัน ดังที่ปรากฏในโคลงบางบทว่าดังนี้๒๙
(๓๗) ปางปาตลีบุตรเจ้า นัครา
แจ้งพระยศเดชา ปิ่นเกล้า
ทรนงศักดิ์อหังกา เกกเก่ง อยู่แฮ
ยังไม่ประนตเข้า สู่เงื้อมบทมาลย์ ฯ
“ลึงกอร์”
เป็นชื่อที่ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสใช้เรียกชื่อเมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ชื่อลึงกอร์นี้ชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันและเมืองใกล้เคียงใช้เช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวไทยมุสลิมในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่เคยเรียกชื่อตามพร-ลิงค์ว่า “นครศรีธรรมราช” เลยมาแต่สมัยโบราณยิ่งกว่านั้นแม้แต่คำว่า “นคร” เขาก็ไม่ใช้ เพราะเขามีคำว่า “เนการี” หรือ “เนกรี” (Nigri) อันหมายถึงเมืองใหญ่หรือนครใช้อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง ๓ จังหวัดยังคงเรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชว่า
“ลึงกอร์” อยู่บ้างด้วยเหตุนี้ชื่อ “ลิกอร์” ที่ชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และยุโรปชาติอื่นๆ ใช้เรียกชื่อตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช อาจจะเรียกตามที่ชาวมาเลย์และชาวพื้นเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้ง ๓ จังหวัดใช้ก็ได้ เพราะชาวยุโรปคงจะอาศัยชาวมาเลย์เป็นคนนำทางหรือเป็นล่ามในการแล่นเรือเข้ามาค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือหรือคาบสมุทรไทย๓๐
“ลิกอร์” (Ligor)
เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ อันเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยใช้เรียกตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช และพบว่าที่ได้เรียกแตกต่างกันออกไปเป็น “ละกอร์” (Lagor) ก็มี
นักปราชญ์สันนิษฐานว่า คำว่า “ลิกอร์” นี้ชาวโปรตุเกสคงจะเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “นคร” อันเป็นคำเรียกชื่อย่อของ “เมืองนครศรีธรรรมราช” ทั้งนี้เพราะชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียงตัว “น” (N) จึงออกเสียงตัวนี้เป็น “ล” (L) ดังนั้นจึงได้เรียกเพี้ยนไปดังกล่าว แลัวในที่สุดชื่อ “ลิกอร์” นี้กลายเป็นชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี๓๑
ในจดหมายเหตุของวันวลิต (Jeremais Van Vliet) พ่อค้าชาวดัทช์ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างฮอลันดา และเข้ามาประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้เรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ลิกูร์” (Lijgoor Lygoot)๓๒
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จอห์น ครอวฟอร์ด (John Crawfurd) ฑูตชาวอังกฤษที่เป็นตัวแทนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยก็เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ลิกอร์”๓๓
แม้แต่ในปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกก็ยังใช้ชื่อนี้กันอยู่ อย่างชื่อศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ที่พบ ณ วัดเสมาชัย (คู่แฝดกับวัดเสมาเมือง ต่อมารวมกับบางส่วนเป็นวัดเสมาเมือง) อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้น ชาวตะวันตกและเอเชียรู้จักกันในนาม “จารึกแห่งลิกอร์” (Ligor Inscription) นอกจากนี้ยังเรียกด้านที่ ๑ ของศิลาจารึกหลักนี้ว่า “Ligor A” และเรียกด้านที่ ๒ ว่า Ligor B “๓๔ ดังนั้นนอกจาก “ตามพรลิงค์” แล้ว ชื่อเก่าของนครศรีธรรมราชอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง คือ “ลิกอร์”๓๕
“ละคร” หรือ “ลคร” หรือ “ละคอน”
คงจะเป็นชื่อที่เพี้ยนไปจากชื่อ “นคร” อันอาจจะเกิดขึ้นเพราะชาวมาเลย์และชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนไป แล้วคนไทยก็กลับไปเอาชื่อที่เพี้ยนนั้นมาใช้ เช่นเดียวกันกับที่เคยมีผู้เรียกนครลำปางว่า “เมืองลคร” หรือ “เมืองละกอน” เป็นต้น และคงเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารโบราณของฑูตสิงหลที่รายงานไปยังลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในชื่อ “ปาฏลีบุตร” ข้างต้นนั้น
นักปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่าที่ได้เรียกเช่นนี้เพราะว่าเมืองนครเคยมีชื่อเสียงทางการละครมาแต่โบราณ แม้แต่สมัยกรุงธนบุรีเมื่อเมืองหลวงต้องการฟื้นฟูศิลปะการละครยังต้องเอาแบบอย่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช๓๖
“นครศรีธรรมราช”
เป็นชื่อที่อาจารย์ตรี อมาตยกุล และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่า คนไทยฝ่ายเหนือเรียกขานนามราชธานีของกษัตริย์ “ศรีธรรม-ราช” ตามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกพระองค์ จนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปและเป็นเหตุให้มีการขนานนามตามชื่ออิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งได้ใช้เรียกขานกันมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยตราบจนปัจจุบันนี้๓๗
ด้วยวิวัฒนาการอันยาวนานแห่งนครศรีธรรมราช ดินแดนที่มีอดีตอันไกลโพ้นแห่งนี้ ชื่อที่ได้รับการจารึกไว้ในบันทึกแห่งมนุษยชาติ ณ ที่ต่างๆ กันทั่วทุกมุมโลก และทุกช่วงสมัยแห่งกาลเวลาที่นำมาแสดงเพียงบางส่วนเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นพัฒนาการและอดีตอันรุ่งโรจน์ของนครศรีธรรมราชได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อหวนกลับไปสัมผัสกับหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในนครศรีธรรมราชเข้าผสมผสานด้วยแล้ว ทำให้ภาพแห่งอดีตของนครศรีธรรมราชท้าทายต่อการทำความรู้จักกับ “นครศรีธรรมราช” ดินแดนที่ร่ำรวยไปด้วยมรดกทางอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้อย่างลึกซึ้งและจริงจังยิ่งขึ้น
วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราช
การศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการมานานแล้ว อดีตอันรุ่งเรืองของนครศรีธรรมราชจึงได้รับการเผยแพร่ครั้งแล้วครั้งเล่าในรูปแบบและภาษาต่างๆ ข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาตีความทั้งจากศิลาจารึกรุ่นเก่าที่ค้นพบเป็นจำนวนมากในนครศรีธรรมราช ประติมากรรม และโบราณวัตถุสถานอื่นๆ ตลอดจนเอกสารโบราณที่ค้นพบในเมืองนี้เป็นจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ผลจากการศึกษาค้นคว้าเหล่านั้นล้วนยังประโยชน์ต่อการศึกษากับอารยธรรมของนครศรีธรรมราชในระยะต่อมาอย่างใหญ่หลวง
ครั้น พ.ศ. ๒๕๒๑ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, จังหวัดนครศรีธรรมราช, หน่วยงาน และเอกชนอีกเป็นจำนวนมากต่างก็ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในอันที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชอย่างมีระบบ จึงได้ร่วมกันจัดให้มี “โครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๓๐ ขึ้น โดยจะจัดสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวในเนื้อหาต่างๆ ดังนี้๓๘
๑. ลักษณะพื้นฐานทางประวัติศาสตร์
๒. ลักษณะทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
๓. ลักษณะทางประวัติศาสตร์สังคม
๔. ลักษณะทางภาษาและวรรณกรรม
๕. ลักษณะทางศิลปกรรม
๖. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราชที่สัมพันธ์กับดินแดนอื่น
การสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชตามโครงการนี้ ในระยะแรกมีจำนวน ๕ ครั้ง โดยได้กำหนดช่วงเวลาและหัวเรื่องไว้อย่างกว้างๆ ดังนี้
ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่อง ประวัติศาสตร์พื้นฐานของนครศรีธรรมราช
ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๔ เรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช
ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๖ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากภาษาและวรรณกรรม
ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๘ เรื่อง ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชจากศิลปกรรม
ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๐ เรื่อง การตีความใหม่เกี่ยวกับศรีวิชัย
ขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๒๗) การสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวซึ่งจัดขึ้น ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชได้ผ่านไปแล้ว ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มกราคม ๒๕๒๑, ครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๒๕ และครั้งที่ ๓ ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ ผลจากการสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชอย่างกว้างขวาง๓๙
ในที่นี้จะกล่าวถึงวิวัฒนาการทางด้านอารยธรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของนครศรีธรรมราชโดยสังเขป ดังนี้ คือ
ยุคหินกลาง
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดีของกรมศิลปากรใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้พบเครื่องมือหินเก่าแก่ (จากการเปรียบเทียบโดยถือตามลักษณะเครื่องมือ) จัดเป็นเครื่องยุคหินไพลสโตซีนตอนปลายที่ถ้ำตาหมื่นยม ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง เครื่องมือหินดังกล่าวนี้มีลักษณะกะเทาะหน้าเดียว รูปไข่ คมรอบ ปลายแหลม ด้านบนคล้ายรอยโดยตัด คล้ายกับลักษณะของขวานกำปั้นที่พบ ณ ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และจัดว่าเป็นเครื่องมือหินยุคหินกลาง (อายุราว ๑๑,๐๐๐-๘,๓๕๐ ปี มาแล้ว) หรือมีลักษณะเหมือนเครื่องมือหินวัฒนธรรมโฮบิบเนียน ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินกลางเป็นอย่างน้อย เป็นต้นมา๔๐
ยุคหินใหม่
ครั้นในยุคหินใหม่ (อายุราว ๓,๗๖๖-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ และภาชนะดินเผาในยุคนี้กระจัดกระจายโดยทั่วไปทั้งที่บริเวณถ้ำและที่ราบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น พบเครื่องหินที่มีป่า ตัวขวานยาวใหญ่ (บางท่านเรียกว่า “ระนาดหิน”) ที่อำเภอท่าศาลา นอกจากนี้ได้พบขวานหินแบบ จงอยปากนก, มีดหิน, สิ่วหิน, และหม้อสามขา เป็นต้น ในหลายบริเวณของจังหวัดนี้๔๑
แสดงว่าในยุคนี้ได้เกิดมีชุมชนขึ้นแล้ว และชุมชนกระจัดกระจายโดยทั่วไป อันอาจจะตีความได้ว่าชุมชนในยุคนี้เองที่ได้พัฒนามาเป็นเมืองและมีอารยธรรมที่สูงส่งในระยะต่อมา
ยุคโลหะ
ในยุคโลหะ (อายุราว ๒,๕๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของยุคนนี้ คือ กลองมโหระทึกสำริดในนครศรีธรรมราชถึง ๒ ใบ คือ ที่บ้านเกตุกาย ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง ใบหนึ่ง และที่คลองคุดด้วน อำเภอฉวาง อีกใบหนึ่ง กลองมโหรทึกดังกล่าวนี้จัดอยู่ในวัฒนธรรมดองซอน
ดังนั้น ย่อมเป็นการยืนยันได้ว่ายุคนี้ชุมชนในนครศรีธรรมราชได้มีการติดต่อหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นแล้ว การติดต่อดังกล่าวอาจจะโดยการเดินเรือ แสดงให้เห็นว่าสังคมหรือชุมชนในนครศรีธรรมราชเริ่มย่างเข้าสู่สังคมเมืองในยุคประวัติศาสตร์แล้ว ซึ่งระยะที่กล่าวนี้อาจจะเป็นระยะต้นคริสตศักราชหรือพุทธศตวรรษที่ ๕
พุทธศตวรรษที่ ๗-๘
ในคัมภีร์มหานิทเทศซึ่งแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ได้กล่าวถึงเมืองท่าที่สำคัญในอินเดีย ลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายเมือง ในจำนวนเมืองเหล่านี้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเมืองนครศรีธรรมราชไว้ด้วย ดังความตอนหนึ่งที่ว่า “. . . ไปชวาไปกะมะลิง (ตะมะลิง) ไปวังกะ (หรือวังคะ) . . .”๔๒ นอกจากนี้ยังปรากฏในคัมภีร์มิลินทปัญหาซึ่งแต่งขึ้นในระยะเดียวกันกับคัมภีร์มหานิทเทศด้วย๔๓ คำว่า “กะมะลิง” หรือ “ตะมะลิง” หรือ “กะมะลี” หรือ “ตมะลี” จีนเรียกว่า “ตั้งมาหลิ่ง” เจาชูกัวเรียก “ตัน-มา-ลิง” ในศิลาจารึกเรียก “ตามพรลิงค์” หรือ “ตามรลิงค์” คือ เมืองนครศรีธรรมราชโบราณ๔๔
แสดงว่าในระยะนี้ เมืองนครศรีธรรมราชโบราณเป็นเมืองที่มีความเจริญทางด้านการค้า หรือเป็นตลาดการค้าที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือและ พ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับ และจีน
พุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐
นอกจากเอกสารของต่างชาติจะกล่าวถึงนครศรีธรรมราชในระยะนี้แล้วได้มีการค้นพบ พระวิษณุศิลาอันเป็นเทวรูปกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน ๓ องค์ในภาคใต้ พระวิษณุในกลุ่มนี้จำนวน ๒ องค์ ค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ องค์แรกค้นพบที่หอพระนารายณ์ อำเภอเมือง ต่อมาย้ายไปประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราชตามลำดับองค์ที่สองค้นพบที่วัดพระเพรง ตำบลนาสาร อำเภอเมือง และปัจจุบันนี้จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เทวรูปกลุ่มนี้มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๙–๑๐ เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงอิทธิของศิลปะอินเดียสมัยมถุราและอมราวดีตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ ๘-๙) ปรากฎอยู่๔๕
พุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๒
ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาก็ได้ปรากฏขึ้นในนครศรีธรรมราช คือ เศียรพระพุทธรูปศิลาขนาดเล็กซึ่งพบที่อำเภอสิชล (สูง ๘.๙๐ เซนติเมตร) ปัจจุบันนี้จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวนี้มีต้นแบบมาจากศิลปะลุ่มแม่น้ำกฤษณาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย และศิลปะแบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อศิลปะรุ่นหลังมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓๔๖
นอกจากนี้ในชุมชนโบราณสิชล๔๗ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวสันทรายที่ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยเป็นแนวตั้งแต่เขตอำเภอขนอมผ่านลงมายังอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่งอ่าวไทยประมาณ ๕–๑๐ กิโลเมตร ได้ค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากมาย๔๘
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางอารยธรรมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษยชาติ เพราะมีที่ราบชายฝั่งทะเลกว้างใหญ่ไพศาลเหมาะแก่การกสิกรรม มีอ่าวและแม่น้ำหลายสายที่เหมาะแก่การจอดเรือและคมนาคม มีแหล่งน้ำสำหรับการบริโภค และตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นชายฝั่งทะเลเปิดอันเหมาะแก่การเป็นสถานีการค้า และแวะพักสินค้ามาแต่โบราณทำให้ชุมชนโบราณแห่งนี้มีพัฒนาการสูงส่งมาแต่อดีตเหมือนกับชุมชนอื่นๆ บนคาบสมุทรไทยอันเป็นศูนย์กลางหรือจุดนัดพบระหว่างอารยธรรมและการค้าของพ่อค้าวานิชในทะเลจีนใต้แห่งมหาสมุทรแปซิฟิกกับพ่อค้าวานิชในทะเลอันดามันแห่งมหาสมุทรอินเดีย หรืออีกนัยหนึ่งคือ “จุดนัดพบระหว่างตะวันออกกับตะวันตก”๔๙ หากแต่เพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมว่าทำให้ชุมชนโบราณสิชลพัฒนาการได้อย่างรวดเร็วและกว้างใหญ่ไพศาลมาก ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์โบราณคดีที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานเช่นนี้ ย่อมเหมาะสำหรับการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์โบราณในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลมาก โดยเฉพาะในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์และยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในภาคใต้ ปรากฏว่าลักษณะภูมิศาสตร์โบราณคดีมีอิทธิพลต่อการตั้งหลักแหล่งมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการตั้งหลักแหล่งชุมชนที่เป็นบ้านเมืองของประชาชนในภาคใต้มาตั้งแต่โบราณ กล่าวว่า บริเวณที่มีความเจริญสูงขึ้นเป็นสังคมเมืองอยู่ทางฝั่งตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝั่งตะวันตกประชาชนที่ตั้งหลักแหล่งมี ๒ พวกซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน คือ พวกแรกได้แก่คนพื้นเมืองที่มีความเป็นอยู่ล้าหลัง มีอาชีพประมงหรือล่าสัตว์และทำไร่เลื่อนลอย อยู่กันเป็นชุมชนเล็ก ไม่สามารถขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ได้ ส่วนพวกที่สองเจริญสูงกว่า แต่มักจะเป็นชาวต่างชาติ เช่น พ่อค้าหรือนักแสวงโชคที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งพักสินค้าหรือขุดแร่ธาตุเป็นสินค้า ชุมชนพวกหลังนี้อาจจะขยายตัวเป็นเมืองได้๕๐
จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าได้ค้นพบชุมชนโบราณที่เก่าแก่ในคาบสมุทรไทยในช่วงต่อเนื่องของยุคสำริดกับยุคเริ่มแรกของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งทะเลหลายแห่งด้วยกัน แหล่งโบราณคดีเหล่านั้นได้พัฒนาอารยธรรมสืบเนื่องกันต่อมาด้วยเวลาอันยาวนาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ได้พัฒนามาตามลำดับตราบจนปัจจุบันนี้ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่มาก๕๑ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอท่าชนะ แหล่งโบราณคดีพุมเรียงและชุมชนโบราณไชยา อำเภอ แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีสทิงพระ จังหวัดสงขลา แหล่งโบราณคดีในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา และอื่นๆ ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอครองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีที่กล่าวมานี้มีอยู่ไม่น้อยที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ อันหมายถึงศาสนาดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพระเวท (เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) ซึ่งมีลักษณะเป็นพหุทวนิยม แล้วเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้น จนถึงขั้นเทพองค์เดียวที่เป็นนามธรรม (Monism) ในที่สุดก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู มีพระเจ้าสูงสุดสามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ (นารายณ์) และพระศิวะ (อิศวร) เรียกว่า “ตรีมูรติ” ในที่นี้ไม่ได้ใช้คำว่า “ศาสนาฮินดู” เพราะว่าหากใช้คำนี้ย่อมเน้นเฉพาะศาสนาของชาวอินเดียในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะเป็นชาตินิยมหรือพลังทางสังคม บางช่วงรวมเอาศาสนาพุทธเข้าไปด้วยเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ภาพพจน์ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และวิวัฒนาการของวัฒนธรรมไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้เน้นสายธารทางศาสนาจากอินเดียที่ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ภาคใต้ของประเทศไทยแล้วกลายเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมทางศาสนาที่สำคัญ๕๒
ก่อนที่ชุมชนในภาคใต้ของประเทศไทยจะรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์นั้นได้กล่าวมาแล้วว่าดินแดนในบริเวณนี้มีพัฒนาการทางอารยธรรมสูงส่งมาก่อนแล้ว ดังนั้นจึงย่อมมีคติความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาก่อนแล้วเช่นเดียวกันและเมื่อรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เข้ามาในระยะหลังคงจะได้มีการผสมผสานเอาความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่เดิมที่มีอยู่เดิมกับศาสนาพราหมณ์เข้าผสมกลมกลืนกันได้อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงพัฒนาให้ศาสนาพราหมณ์ที่ผสมกลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิมแล้วนั้นวิวัฒนาการกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นไปและมีความรุ่งเรืองสืบมาตราบจนปัจจุบันนี้
อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่เราค้นพบ ณ ชุมชนโบราณสิชลจึงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งแห่งลักษณาการของวัฒนาการอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองบนคาบสมุทรไทยดังกล่าวมา
ในด้านศิลปวัฒนธรรมกล่าวได้ว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔ ดินแดนต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือ โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลแบบอย่างทางศิลปวัฒนธรรมจากอินเดียอย่างมากมาย อาจจะเรียกได้ว่าชาวอินเดียได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแพร่อารยธรรมฝังรากฐานมั่นคงครั้งสำคัญ๕๓ โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองสูงสุด จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย แม้แต่ชื่อเมือง “ตามพรลิงค์” ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเองและหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวะนิกายซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดีย ภาคใต้ก็พบเป็นจำนวนมากมายในเขตนครศรีธรรมราชรองรับอยู่แล้ว๕๔
แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในชุมชนโบราณสิชล แต่ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นจำนวนมากทั้งโบราณวัตถุโบราณสถาน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม สระน้ำโบราณ และเศษศิลาจารึก หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น
โบราณวัตถุโดยเฉพาะประติมากรรมรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่ค้นพบ ณ ชุมชนโบราณสิชลแห่งนี้ล้วนทำด้วยศิลา เช่น ศิวลึงค์, โยนิ, พระวิษณุ และพระพิฆเนศวร (พระคเณศ) เป็นต้น จากการกำหนดอายุเบื้องต้นโดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นเครื่องกำหนดอาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัตถุเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔ เป็นส่วนใหญ่
ส่วนโบราณสถานนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าในชุมชนโบราณแห่งนี้มีโบราณสถานที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุหรือรูปเคารพที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ปรากฎอยู่ควบคู่กับโบราณสถานเหล่านี้ เช่น ศิวะลึงค์ เทวรูปพระวิษณุ เทวรูปพระพิฆเนศวร และโยนิ เป็นต้น
จากการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดีในขณะนี้ปรากฎว่าได้พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณแห่งนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (คลอง) ในอำเภอสิชล เช่น คลองท่าทน คลองท่าควาย คลองท่าเรือรี และคลองเทพราช เป็นต้น
จากการกำหนดอายุเบื้องต้นของโบราณสถานเหล่านี้ โดยอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมของโบราณวัตถุที่พบร่วมกับโบราณสถานและอักษรปัลลวะบางตัวที่สลักอยู่ในชิ้นส่วนของอาคารโบราณสถานบางแห่ง อาจจะกล่าวได้ว่าโบราณสถานเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๔๕๕อันเป็นโบราณสถานรุ่นแรกๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังหลงเหลืออยู่
โบราณสถานในชุมชนโบราณแห่งนี้จำนวนไม่น้อยที่ถูกรื้อ จนโบราณวัตถุหรือรูปเคารพ และชิ้นส่วนของอาคารซึ่งทำด้วยหินและอิฐกระจัดกระจายโดยทั่วไปชิ้นส่วนที่ทำด้วยหิน ได้แก่ ฐานเสา ธรณี ประตู กรอบประตู และเสา เป็นต้น และยังมีโบราณสถานอีกไม่น้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้เนินดิน ซึ่งคงจะหมายถึงว่ายังไม่ถูกขุดคุ้ยทำลาย
รอบโบราณสถานที่อยู่ห่างจากลำน้ำ มักจะมีสระน้ำโบราณปรากฏอยู่โดยทั่วไปสระน้ำโบราณเหล่านี้คงจะขุดขึ้นเนื่องในความเชื่อหรือพิธีกรรมทางศาสนาและการบริโภคของชุมชน แต่โบราณสถานบางแห่งแม้จะอยู่ใกล้ลำน้ำ แต่ก็ปรากฏสระน้ำโบราณเช่นกัน โดยสระน้ำโบราณมักจะอยู่ในด้านอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับด้านที่ติดลำคลอง
บรรดาโบราณสถานเหล่านี้ โบราณสถานบนเขาคานับว่าน่าสนใจมาก เพราะได้ค้นพบโบราณวัตถุ (รูปเคารพ) ของไวษณพนิกาย และไศวะนิกายที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันอยู่ด้วยกันหลายชิ้น นอกจากนี้ยังได้พบโยนิ (หรืออาจจะเป็นฐานรูปเคารพ) ขนาดใหญ่ ลำรางน้ำมนต์ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ส่วนใหญ่ทำด้วยหินปูนและอิฐเช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไปทั้ง ภูเขาลูกนี้แต่สิ่งเหล่านี้พบในปริมาณมากและขนาดใหญ่กว่าในแหล่งโบราณคดือื่นๆ คงจะเป็นเพราะมีโบราณสถานหลายหลังหรือไม่ก็มีโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่บนภูเขาลูกนี้จนนักโบราณคดีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณแหล่งนี้ และศูนย์กลางของโบราณสถานทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ได้เพราะรอบๆ โบราณสถานแห่งนี้โดยเฉพาะทางด้านเหนือห่างออกไปรัศมีราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ได้พบโบราณสถานที่ชาวบ้านพบรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวะนิกายและะไวษณพนิกายกระจายอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพิเศษ
บริเวณที่พบโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์หนาแน่นเป็นพิเศษในชุมชนโบราณ สิชล ได้แก่ ตำบลสิชล ตำบลเทพราช ตำบลเสาเภา ตำบลฉลอง และตำบลทุ่งปรัง ในอำเภอสิชล ตำบลกลาย ในอำเภอท่าศาลา และในเขตเมืองโบราณนครศรีธรรมราช
จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าชุมชนโบราณสิชลคงจะเป็นพัฒนาการของชุมชนยุคแรกๆ ของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ต่อเนื่องมาจนถึงยุครุ่งเรืองยุคหนึ่งของ “ตามพรลิงค์” ก็เป็นได้
ยิ่งกว่านั้น เมื่อได้ดำเนินการทางโบราณคดีในชุมชนโบราณแห่งนี้อย่างจริงจังและถูกหลักวิชาแล้ว คงจะได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่งเกี่ยวกับอารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจจะรองรับเอกสารจีนที่กล่าวว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ ในบริเวณเมือง Tun-sun ซึ่งเป็นรัฐทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกมีความเจริญทางการค้ามากจึงมีชนชาติเป็นจำนวนมากอยู่ในชุมชนนี้ ดังปรากฏว่ามีพวกฮู (Hu) ตั้งหลักแหล่งอยู่ทีนี่ถึง ๕๐๐ ครอบครัว และพวกพราหมณ์ชาวอินเดียกว่าพันคน ซึ่งจำนวนหนึ่งได้แต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็เป็นได้๕๖
นอกจากจะพบหลักฐานทางโบราณคดีทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะในประเทศอินเดียโดยตรงอย่างมากมายในนครศรีธรรมราชในระยะนี้แล้ว เรายังค้นพบศิลาจารึกรุ่นแรกของประเทศไทยในนครศรีธรรมราชอีกหลายหลักในระยะนี้๕๗ เช่น ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ณ หุบเขาช่องคอย บ้านคลองท้อน หมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยจารึกด้วยอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐–๑๑ (นายชูศักดิ์ ทิพย์เกษร นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีความเห็นว่าเมื่อพิจารณาโดยอาศัยวิวัฒนาการของรูปแบบอักษรเป็นเกณฑ์แล้ว จะปรากฏว่าศิลาจารึกหลักนี้มีรูปอักษรเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้)๕๘ ศิลาจารึกหลักนี้ใช้ภาษาสันสกฤต ข้อความที่จารึกบางท่านกล่าวว่าเป็นการบูชาพระศิวะ, ความนอบน้อมต่อพระศิวะ, เหตุที่บุคคลผู้นับถือพระศิวะเข้าไปหาพระศิวะ และคติชีวิตที่ว่าคนดีอยู่ในบ้านของผู้ใด ความสุขและผลดีย่อมมีแก่ผู้นั้น๕๙ แต่บางท่านมีความเห็นว่าเป็นจารึกเกี่ยวกับการสรรเสริญและสดุดีพระเกียรติคุณของกษัตริย์ศรีวิชัย๖๐ และศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ อำเมือง (จารึกหลักที่ ๒๗ ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒) ซึ่งจารึกด้วยอักษรปัลลวะคล้ายกับตัวอักษรที่พบในดินแดนเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวถึงเรื่องราวทางศาสนา เรื่องของสงฆ์ พราหมณ์ และจริยวัตรอันเป็นส่วนประกอบทางศาสนา๖๑ เป็นต้น
จากหลักฐานที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่านครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียทั้งในด้านอักษร ภาษา ความเชื่อ ศาสนา ประเพณี กฎหมาย และระบบการปกครอง อันเป็นรากฐานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราชและของไทยในปัจจุบันนี้
พุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๙
นักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จดหมายเหตุจีนในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๔๙๙) เรียกนครศรีธรรมราชว่า “ชิหลีโฟชี” หรือ “ชิ-ลิ-โฟ-ชิ” หรือ “ชิหลีโฟเช” ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓–๑๘๒๒) เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “สันโฟซี” หรือ “ซันโฟซี” ตำนานและพงศาวดารลังกาเรียกว่า “ชวกะ” ส่วนจดหมายเหตุพ่อค้าชาวอาหรับเรียกว่า “ซาบัก” หรือ “ซาบากะ” ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เรียกว่า “ศรีวิชัย” อันเป็นชื่อที่ได้มาจากศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช) เพราะในคำแปลศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งสลักเมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ นี้ ท่านเรียกกษัตริย์ว่า “พระเจ้ากรุงศรีวิชัย” และท่านยืนยันว่าชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นชื่อเดียวกัน เพียงแต่ท่านไปมีมติว่าศูนย์กลางหรือราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยควรอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ต่อมาศาสตราจารย์มาชุมดาร์มีความเห็นขัดแย้งว่า ราชธานีควรจะอยู่ ณ ที่ที่พบศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ คือ นครศรีธรรมราช๖๒
นอกจากชื่อพวกชวกะแล้ว ตำนาน พงศาวดารลังกา และจดหมายเหตุ เช่น คัมภีร์มหานิทเทศ ยังเรียกชื่อดินแดนปลายแหลมทองอีกหลายชื่อ เช่น สุวรรณทวีป, สุวรรณปุระ, และตามพรลิงค์ เป็นต้น๖๓
คำ “ตามพรลิงค์” นั้น ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ (วัดหัวเวียง ไชยา) ด้วย ทำให้นักโบราณคดียอมรับว่าหมายถึงนครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นนักปราชญ์บางท่านจึงมีความเห็นว่ารัฐศรีวิชัยกับนครศรีธรรมราชก็คือแผ่นดินเดียวกัน ขอบเขตของรัฐนี้จะกว้างขวางแค่ไหนก็เป็นไปตามระยะแห่งความเจริญความเสื่อม ที่ตั้งของราชธานีจะโยกย้ายไปตั้งที่เมืองใดบ้างก็ย่อมแล้วแต่พระราชอัธยาศัย และอานุภาพของกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐในแต่ละช่วงสมัย๖๔ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ คงจะต้อง
ศึกษาค้นคว้ากันต่อไปอีกไม่น้อย๖๕
พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๕ ๖๖
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระรามาธิบดี ๑ (ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๑๒) เป็นต้น แคว้นนครศรีธรรมราชคงจะเข้ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแคว้นศรีอยุธยา และแคว้นอื่น ๆ ด้วย เช่น ล้านนา สุโขทัย และละโว้ เป็นต้น เมื่อรัฐอิสระเหล่านี้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจึงเรียกว่า "ราชอาณาจักรสยาม" โดยให้มีศูนย์กลางหรือราชธานีที่กรุงศรีอยุธยา ส่วนแคว้นอื่นๆ มีฐานะเป็นประเทศราช
ในราว พ.ศ. ๑๙๒๘ พระราเมศวร (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๘) ได้เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่และได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช นับเป็นวิธีลดอำนาจหัวเมืองล้านนาไทย และเพิ่มประชากรให้เมืองนครศรีธรรมราช
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ได้ทรงเปลี่ยนฐานะเมืองนครศรีธรรมราชเมือง "พระยามหานคร" มาเป็น "หัวเมืองเอก" ใน พ.ศ. ๑๙๙๘ และให้เจ้าเมืองได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาศรีธรรมราช"
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๑๙๘) นับเป็นครั้งแรกที่นครศรีธรรมราชเป็นกบฏ โดยมีสาเหตุจากความแตกแยกของข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาและการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ใน พ.ศ. ๒๑๗๒ ซึ่งตรงกับสมัยพระอาทิตยวงศ์
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบสาเหตุ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งต้องการเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาแทนพระอาทิตย์วงศ์กษัตริย์ผู้เยาว์ ก็ได้เริ่มวางแผนที่จะกำจัดออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นผู้มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยาเวลานั้นให้ออกไปเสียจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะได้ไม่ขัดขวางการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ของตน โดยส่งให้ออกญาเสนาภิมุขไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราชสำเร็จ ออกญาเสนาภิมุขได้ประหารชีวิตข้าราชการผู้ใหญ่ของเมืองที่ไม่ยอมอ่อนน้อมหลายคน พร้อมทั้งริบที่ดินจากชาวเมืองแบ่งปันให้ชาวญี่ปุ่นที่ติดตาม เมื่อเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ออกญาเสนาภิมุขได้ยกทัพไปปราบกบฏที่ปัตตานี แต่เสียทีถูกอาวุธบาดแผลสาหัสกลับมารักษาตัวที่เมืองนครศรีธรรมราชจนเกือบหาย แต่กลับถูกพระยามะริดซึ่งออกไปช่วยราชการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชใช้ผ้าพันแผลอาบยาพิษปิดให้ จึงถึงแก่กรรมเพราะยาพิษใน พ.ศ. ๒๑๗๓
ฝ่ายนครศรีธรรมราชเมื่อสิ้นออกญาเสนาภิมุขแล้ว ก็คิดตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีก เพราะไม่เห็นด้วยกับการปราบดาภิเษกของพระเจ้าปราสาททอง การตั้งตนเป็นอิสระเช่นนี้ทางกรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นกบฏ จึงได้ส่งกองทัพไปปราบปรามโดยให้ออกพระศักดาพลฤทธิ์ และออกญาท้ายน้ำเป็นแม่ทัพ ผลปรากฏว่าตีเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย
เวลาล่วงมาอีกประมาณ ๒๕ ปี เมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง คือเป็นกบฏในสมัยพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๕) ใน พ.ศ. ๒๒๒๗ โดยสาเหตุจากเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมรับพระเพทราชาให้สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทางกรุงศรีอยุธยาก็ยกกองทัพไปปราบอีกโดยให้พระสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง และให้พระยาราชวังสัน (แขก) เป็นแม่ทัพเรือ ใช้เวลาอยู่ถึง ๓ ปีจึงตีแตก ผลการเกิดกบฏครั้งนี้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่สู้ไว้วางใจเมืองนครศรีธรรมราชมากนัก จึงได้มีการย้ายสังกัดจากสมุหพระกลาโหมและสมุหนายกไปขึ้นกับสมุหพระยากลาโหมแต่ฝ่ายเดียว
ภายหลังที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏในรัชสมัยพระเพทราชาแล้ว เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถูกลดฐานะลงเป็นเพียง "ผู้รั้งเมือง" อยู่ระยะเมือง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๐๑) ได้มีการยกฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยกฐานะเมืองเป็น "เมืองพระยามหานคร" เพราะเห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอกอยู่ทางภาคใต้เพียงเมืองเดียว มีหน้าที่ในการควบคุมหัวเมืองประเทศราชในหัวเมืองมลายู และเป็นผู้รักษาอาณาเขตทางด้านนี้ด้วย
ครั้นสิ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยาระส่ำระสายมาก พม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาประชิดเมือง และในที่สุดเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นนาม "ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช" โดยมีพระปลัด (หนู) ผู้รั้งเมืองเป็นหัวหน้าควบคุม
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กู้อิสรภาพได้เรียบร้อยแล้ว ได้ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมาย เสร็จแล้วจึงยกทัพลงมาปราบปรามชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ผลของการรบในระยะแรกทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียที เป็นผลให้พระยาเพชรบุรีและพระศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบผลศึกว่าเพลี่ยงพล้ำจึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพหลวงไปทันที ครั้งนี้ทัพเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย พระยาปัตตานีเกรงพระบรมเดชานุภาพจึงจับเจ้านคร (หนู) และครอบครัวส่งมาถวายแต่โดยดี คณะลูกขุนได้ปรึกษาโทษให้สำเร็จโทษเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าธนบุรีทรงเห็นว่า เจ้านคร (หนู) มิได้เป็นกบฏประทุษร้ายต่อราชอาณาจักร เป็นแต่ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองเป็นจลาจลและสูญเสียอิสระภาพแก่พม่า จึงเห็นสมควรพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าราชการในกรุงธนบุรี แต่ให้มียศเพียงพระยา พระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยเป็นอย่างดี
เมื่อเสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชลงเรือไปยังกรุงธนบุรีให้ครบทุกคัมภีร์ เพื่อคัดลอกเป็นฉบับจำลองไว้ ณ กรุงธนบุรี ทั้งนี้เนื่องจากพระไตรปิฎกในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผยทำลายเสียหายมาก ส่วนตำแหน่งผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ครองตำแหน่งและยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็น "ประเทศราช" อีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้านราสุริยวงศ์เป็นเจ้าประเทศราช
เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศีรธรรมราชได้ราว ๖ ปี ก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เจ้านคร (หนู) ซึ่งเข้ารับราชการในกรุงธนบุรีให้กลับคืนไปครองเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง โดยได้สุพรรณบัฏเป็น "พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา" เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙
พระเจ้านครศรีธรรมราชได้รับเฉลิมพระยศเสมอด้วยเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งพระยาอัครมหาเสนาและจตุสดมภ์สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชได้ คล้ายกรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒) คือ ในพ.ศ. ๒๓๒๗ จึงถูกถอดจากพระยศ "พระเจ้านครศรีธรรมราช" ลงเป็น "พระยานครศรีธรรมราช" และในรัชกาลเดียวกันได้แต่งตั้งอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ขึ้นเป็น "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการมาจนถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ จึงได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่งด้วยเห็นว่าตนชราภาพมากแล้ว
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย (ครองราชย์ ๒๓๒๕-๒๓๖๗) จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบริรักษ์ภูเบศรผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีนามในตราตั้งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยาศรีธรรมราช" ต่อมากระทำความดีความชอบในราชการจนได้รับการแต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" คนทั่วไปรู้จักในนาม "เจ้าพระยานครน้อย"
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ตามหลักฐานทางราชการกล่าวว่าเป็นบุตร เจ้าพระยานคร (พัฒน์) แต่คนทั่วไปทราบว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้นี้มีความสามารถมากได้ทำการปราบปรามหัวเมืองมลายูได้สงบราบคาบ เป็นนักการทูตที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะการเจรจากับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ ได้ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายู และเป็นที่นับถือยำเกรงแก่บริษัทอังกฤษ ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลทางการค้าขายและทางการเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยังเป็นผู้มีฝีมือในทางช่าง เช่น ฝีมือในทางการต่อเรือจนได้รับสมญาว่าเป็น "นาวีสถาปนิก" และในสมัยรัชกาลที่ ๔ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ก็ได้ถวายพระแท่นถมตะทองและพระราชยานถมอีกด้วย
ภายหลังที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าเมืองนครศรีธรรมราขคนถัดมาคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ผู้บุตร ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูกระด้างกระเดื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ได้ทรงแก้ไขจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยให้มีการปกครองเป็นมณฑล นครศรีธรรมราชจึงเป็นมณฑลของประเทศไทยโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. ๒๔๓๙
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๕๖๘) ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินด้านการปกครองหัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลนี้ได้ โปรดฯ ให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้ขึ้นเพื่อปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้
จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้ยุบมณฑลนครศรีธรรมราชลงเป็นจังหวัดหนึ่งของราชอุปราชอาณาจักรไทยและดำรงฐานะดังกล่าวเรื่อยมาจนปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชมีประวัติอันยาวนานมาก่อนกรุงสุโขทัยซึ่งถือว่าเป็นราชธานีแรกของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์มาก่อนศิลปวัฒนธรรม เช่น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ช่างฝีมือพื้นบ้าน การละเล่น และขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจึงมีมาก ซึ่งชาวเมืองยังยึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน นครศรีธรรมราชจึงมีอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติบ้านเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
เชิงอรรถ
๑ ดู ธิดา สาระยา, “พัฒนาการของรัฐบาลบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์ (คริสตศตวรรษที่ ๖-๑๓,” ในประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๙๔-๑๑๘.
ดู ปรีชา นุ่นสุข, “การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่สำคัญบนคาบสมุทรไทย : ตะกั่วป่า ไชยา และนครศรีธรรมราช, “ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช , ๒๕๒๖), หน้า ๑๔๘-๑๔๙.
๒ พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๙ หน้า ๑๘๘-๑๘๙.
๓ ยอร์ช เซเดส์, ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๒ (พระนคร : หอพระสมุดสำหรับพระนคร, ๒๔๗๒), หน้า ๑๒.
๔ มานิต วัลลิโภดม, “สภาพของอาณาจักรต่าง ๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนศรีวิชัยมีอำนาจ,” ในรายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๖๘.
๕ สุวัณณภูมิ หรือสุวรรณภูมิ (แปลว่า ดินแดนทอง - Golden Land) คงจะหมายถึงดินแดนแหลมอินโดจีนทั้งหมด คือ บริเวณพม่า ไทย กัมพูชา และแหลมมลายู ตรงตามที่ Childers, Pali Dictionary กล่าวไว้ มิได้หมายถึงเฉพาะพม่าตอนล่าง (Lower Burma) หรือพม่าตอนใต้เท่านั้น หากแต่ตลอดตามแนวชายฝั่งตั้งแต่ย่างกุ้ง (ร่างกุ้ง) ลงไปถึงสิงคโปร์.
๖ มิลินทปัญหา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้า ๔๖๔.
๗ Paul Wheatley, The Golden Khersonese. (Kuala Lumper : University of Malaya Press, ๑๙๖๖), p. ๑๘๓.
๘ Senarat Paranavitana, Ceylon and Malaysia. (Colombo : Lake House Investments Limited Publishers, ๑๙๖๖), p. ๙๙.
๙ Paul Wheatley, op. Cit., pp ๖๖-๖๗, ๗๗.
๑๐ ดู Nihar Ranjore Ray, Sanskrit Buddhism in Burma. (Amsterdam, ๑๙๘๖), PP. ๗๘-๗๙.
ดู Paul Wheatly, op. cit., pp.๑๙๙-๒๐๐.
๑๑ ยอร์ช เซเดส์, ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๒ จารึกทวาราวดี ศรีวิชัย ละโว้ พิมพ์ครั้งที่ ๒ แก้ไขใหม่ (กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๐๔), หน้า ๓๐-๓๑ และรูปที่ ๑๐.
๑๒ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, “ตามพรลิงค์” วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓), หน้า ๙๓.
๑๓ ธรรมทาส พานิช, “กรุงตามพรลิงค์ที่เมืองนครศรีธรรมราช,” พุทธศาสนาปีที่ ๔๙ เล่มที่ ๑-๒ (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม, ๒๕๒๔), หน้า ๓.
๑๔ ดู สาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘, ฉบับปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ และต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘.
๑๕ ไมตรี ไรพระศก, “ปฏิกิริยาศิลปวัฒนธรรม,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๓), หน้า ๖๗-๖๘
๑๖ Stanley J. O, Connor, Si Chon : An Early Settlement in Penninsular Thailand,” Journal of the Siam Society, Vol. LVJ, Pt. I (January, ๑๙๘๖), p. ๔., and “Tambralinga and the Khmer Empire,” Journal of the Siam Society, Vol. ๖๓ pt. I (January, ๑๙๗๕), pp. ๑๖๑-๑๗๕
๑๗ Senarat paranavitana, op. cit., pp. ๗๘-๗๙
๑๘ Ibid.
๑๙ Culavamsa, Culavamsa, being the more recent part of the Mahavamsa, Part I, translated by W. Geiger, Pali Texi Society, Translation Series, No. ๑๘, London, ๑๙๒๙.
๒๐ คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, ประชุมศิลา จารึก ภาคที่ ๓ (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๘), หน้า ๑๒-๑๘.
๒๑ ธิดา สาระยา, เรื่องเดิม, หน้า ๑๐๙.
๒๒ P.E.E. Fernando, “An Account of the Kandyan Mission Sent to Siam in ๑๗๕๐,” The Ceylon Journal of Historical and Social Studies, Vol. ๒, No. ๑ (January, ๑๙๕๙), pp. ๖๗-๘๒.
๒๓ คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๒๑), หน้า ๑๕-๓๒.
๒๔ พระรัตนปัญญา, ชินกาลมาลีปกรณ์ (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๑๗), หน้า ๑๐๙.
๒๕ พระโพธิรังสี, สิหิงคนิทาน (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๖), หน้า ๔๑.
๒๖ Colone Sir Henry Jule, (translated and edited), The Book of Ser Marco Polo : The Venetian Concerning the Kingdoms and Marvels of the East (London : John Murray, ๑๙๐๓), p. ๒๗๖.
๒๗ ไมเคิล ไรท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าชาวสิงหลฟังคำที่มี “ง” สะกดเป็น “น” สะกดเสมอ ดังนั้นคำว่า “เมือง” (Muang) จึงจดเป็น “มุอัน” (Muan)
๒๘ P.E.E. Fernando op. cit., pp. ๖๗-๖๘.
๒๙ ประเสริฐ ณ นคร, “จารึกที่พบในนครศรีธรรมราช” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๔๕๒.
๓๐ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, เรื่องเดิม, หน้า ๙๕-๙๖.
๓๑ Joaquim de Campos, “Early Portuguese Accounts of Thailand,” Journal of the Siam Society, Selected Articles from the Siam Society Journal, Vol. VII, Relationship with Portugal, Holland, and the Vatican, (Bangkok, ๑๙๕๙), p. ๒๒๕.
๓๒ Jeremias Van Vliet, The Short History of the King of Siam, translated by Leonard Andaya, (Bangkok : The Siam Society, ๑๙๗๕), p. ๑๖.
๓๓ John Crawfurd, Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China, (Kuala Lumpur : Oxford University Press, ๑๙๖๗), p. ๔๔๓.
๓๔ ดู F.D.K. Bosch, " De inscriptie van Ligor," TBG., LXXXI, ๑๙๔๑, pp. ๒๖-๓๘.
ดู Boechari, 'On the Date of the Inscripion of Ligor B," SPAFA (SEAMEO Project in Archaeology and Fine Arts) Final Report Consultative Workshop on Archaeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-W2A), Indonesia, August 31-September 12, 1982. (Jakarta : Southeast Asian Ministers of Education Organization, 1982), Appendix 4a.
๓๕ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมแสดงให้เห็นว่า บริเวณของ "ลิกอร์" คงจะกว้างใหญ่มาก คือ อย่างน้อยก็กินบริเวณตั้งแต่เขตอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงเขตตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นักวิชาการบางท่านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "Ligor area" ดู ธิดา สารยะ, เรื่องเดิม หน้า ๑๑๐., นอกจากนี้นักวิชาการบางท่านยังพบว่า จากการตรวจสอบแผนที่ที่เขียนในสมัยโบราณเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณสทิงพระยังมิได้มีลักษณะเป็นแหลมอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันนี้หากแต่พื้นดินแถบสทิงพระยังคงเป็นเกาะ ในคริสศตวรรษที่ ๑๗ เรียกบริเวณนั้นว่า "Coete Inficos" ครั้นต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๘ มีชื่อว่า "Ile Papier" หรือ "de Ligor" ดู Guy Trebuil, สมยศ ทุ่งหว้า และอิงอร เทรบุยล์, "ความเป็นมาและแนวโน้มวิวัฒนาการของเกษตรกรรมการบริเวณสทิงพระ," เอกสารประกอบการอภิปรายในการสัมมนา เรื่อง ประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จัดโดย สถาบันทักษิณคดีศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่ ๘-๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, หน้า๔.
๓๖ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, เรื่องเดิม, หน้า ๙๗.
๓๗ ตรี อมาตยกุล, รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๕), หน้า ๑๑.
๓๘ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, “แผนงานหลัก โครงการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช พุทธ-ศักราช ๒๕๒๑-๒๕๓๐” ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖), หน้า ๒๓๙-๒๔๙.
๓๙ ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๑) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๑) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๕) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖) ดู วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๖)
๔๐ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และอมรา ขันติสิทธิ์, “แนวความคิดและข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับก่อนประวัติศาสตร์ภาคใต้,” ๒๕๒๔, (เอกสารอัดสำเนา), หน้า ๒.
๔๑ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และอมรา ขันติสิทธิ์, เรื่องเดิม, หน้า ๒-๕.
๔๒ พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๙ หน้า ๑๘๘.
๔๓ ซิลแวง เลวี กล่าว คัมภีร์มิลินทปัญหารวบรวมขึ้นระยะเดียวกันกับคัมภีร์มหานิทเทศ คือ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ และศาสตราจารย์นิลกันตะ ศาสตรี (Nilakanta Sastri) กล่าวว่า คัมภีร์มิลินทปัญหาแต่งเมื่อราว ค.ศ. ๔๐๐ ดู Sylvain Levy Ptoteme le Niddesa et la Brhatkatha,” Etudes Asiatiques II, ๑๙๕๒. และศาสตราจารย์ปรนะวิธาน (Paranavitana) มีความเห็นว่า คำว่า Tamali บวกกับ gam หรือ gamu ซึ่งสันสกฤตใช้ว่า grama จึงอาจจะเป็น Tamlingam หรือ Tamalingamu ในภาษาสิงหล และคำนี้เมื่อแปลเป็นภาษาบาลีก็เป็น Tambalin. Ga และเป็น Tambralin. Ga ในภาษาสันสกฤต ดู Senarat Paranavitana, Ceylon and Malaysia (Columbo : Lake House Investments Limited Publishers, 1966), p. 99.
๔๔ Paul Wheatley, The Golden Khersonese (Kuala Lumpur : University of Malaya Press, 1961), pp. 66, 76-77 183, 201-202.
๔๕ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ ๖ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อมรินทร์ การพิมพ์, 2522), หน้า ๑๓.
๔๖ พิริยะ ไกรฤกษ์, ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร. ๒๕๓๒), หน้า ๒๕.
๔๗ พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนโบราณสิชล อยู่ในเขตอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ (ชายฝั่งอ่าวไทย) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายทะเล ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย มีแม่น้ำสายสำคัญอันเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีหลายสาย เช่น คลองท่าเชี่ยว คลองเทพ-ราช คลองท่าเรือรี คลองท่าควาย และคลองท่าทน เป็นต้น คลองเหล่านี้ล้วนไหลลงสู่อ่าวไทยทั้งสิ้นและบางสายตื้นเขินไปมากแล้ว ชื่อ “สิชล” นั้นน่าจะตรงกับที่ปรากฏใน “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ว่า “ตระชน” และ “ศรีชน” ขณะนี้ชาวบ้านที่มีอายุเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สุชล”
๔๘ ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ, “โบราณคดีพเนจร,” ชาวกรุง ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒ (พฤศจิกายน ๒๕๐๙), หน้า ๗๘–๙๐. ดู Stanley J. O’ Connor, “Si Chon : An Early Settlement in Peninsular Thailand” , Journal of the Siam Society, LVI, pt, I. (January ๑๙๖๘) pp. ๑–๑๘. ดู ศรีศักร วัลลิโภดม, “จากท่าชนะถึงสงขลา”, เมืองโบราณ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๙), หน้า ๖๕–๗๗. ดู ศรีศักร วัลลิโภดม, “ชุมชนโบราณในภาคใต้” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช, วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๑), หน้า ๒๒–๘๐. ดู ปรีชา นุ่นสุข, “สิชล : ชุมชนโบราณของพราหมณ์บนคาบสมุทรมลายู”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖), หน้า ๑๔–๒๔. ดู Preecha Noonsuk, “Si Chon : An Ancient Brahmanical Settement on the Malay Peninsular, “SPAFA (SEAMEO Project in Arehaeology and Fine Arts) Final Report Consultative Workshop on Arehaeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙–April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : Southeast Asian Ministers of Education Oganization, ๑๙๘๓), pp. ๑๔๕–๑๕๑. ดู ปรีชา นุ่นสุข, “สิชล : อู่อารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์,” เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๗), หน้า ๓๓–๔๑.
๔๙ Paul Wheatley, op. cit., pp. ๑๖–๑๗.
๕๐ ปรีชา นุ่นสุข, หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช : ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๕), หน้า ๕–๗๕.
๕๑ ดูรายละเอียดใน ธิดา สาระยา, “พัฒนาการของรัฐบนคาบสมุทรไทย เน้นตามพรลิงค์ (คริสตศวรรษที่ ๖–๑๓),” ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ๒๕๒๖), หน้า ๙๔–๑๑๘. และปรีชา นุ่นสุข “การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่สำคัญบนคาบสมุทรไทย : ตะกั่วป่า ไชยา และนครศรีธรรมราช”, ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ หน้า ๑๑๙–๑๖๕.
๕๒ สุวิทย์ ทองศรีเกตุ, “การศึกษาวิเคระห์อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่มีต่อพฤติกรรมทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช,” วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๒๔, (อัดสำเนา) หน้า ๘
๕๓ Stanley J. O’ Connor, Hindu Gods of Peninsular Siam. (Ascona : Artibus Asiae Publishers, ๑๙๗๒), pp. ๑๑–๑๗.
๕๔ Stanley J. Connor, “Si Chon : An Early Settlement in Peninsular” Journal of the Siam Society, Vol. LVI, pt. I (January, ๑๙๖๘), p. ๑๔.
๕๕ ปรีชา นุ่นสุข , “สิชล : ชุมชนโบราณของพราหมณ์บนคาบสมุทรมลายู,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖), หน้า ๑๔–๒๓.
๕๖ ปรีชา นุ่นสุข, “สิชล : อู่อารยธรรมอิทธิพลศาสนาพราหมณ์,” เมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๒๗), หน้า ๔๐–๔๑.
๕๗ ยอร์ช เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๑–๔๐.
๕๘ ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร, “คำบรรยายวิชาวิธีใช้เอกสารโบราณประกอบวิชาโบราณคดี.” บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศิลปากร ภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๒๓ โดย นายปรีชา นุ่นสุข เป็นผู้บันทึก.
๕๙ ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และชะเอม แก้วคล้าย, “ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย,” ศิลปากร ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๔ (กันยายน ๒๕๒๓), หน้า, ๘๙–๙๓.
๖๐ ดู ปรีชา นุ่นสุข, “จารึกหุบเขาช่องคอย : หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ภาคใต้,” ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๗ (พฤษภาคม ๒๕๒๓), หน้า ๔๘–๕๙. ดู M.C. Chand Chirayu Rajani, “Scientific Evidence in the Sri Vijaya Stoty, ๑๙๘๑, (Type-written), pp. ๑๒–๑๕. ดู ปรีชา นุ่นสุข, หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย หน้า ๑๑๓–๑๑๙ ดู ไมเคิล ไรท์, “ศิลาจารึกหลักที่พบใหม่ (ช่องคอย) กับประวัติศาสตร์ศรีวิชัย,” ศิลปวัฒนธรรม, ปี่ที่ ๓ ฉบับที่ ๙ (กรกฎาคม ๒๕๒๓), หน้า ๑๘–๑๙.
๖๑ ยอร์ช เซเดส์, เรื่องเดิม, หน้า ๓๖–๓๗.
๖๒ ดู มานิต วัลลิโภดม, “ศรีธรรมาโศกมหาราช,” อนุสาร อ.ส.ท., ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๙ (เมษายน ๒๕๒๑), หน้า ๑๖–๑๘.
๖๓ มานิต วัลลิโภดม, เรื่องเดิม, หน้า, ๑๘.
๖๔ มานิต วัลลิโภดม, เรื่องเดิม, หน้า, ๑๘.
๖๕ ดู หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, “อาณาจักรศรีชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๕๕–๗๑.
ดู มานิต วัลลิโภดม, “สภาพของอาณาจักรต่างๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยก่อนศรีวิชัยมีอำนาจ,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๖๕–๙๑. ดู สืบแสง พรหมบุญ, “การบันทึกหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๙๒–๙๕. ดู ธิดา สาระยา, เรื่องเดิม, หน้า ๙๔–๑๑๘. ดู ศรีศักร วัลลิโภดม, “พัฒนาการของบ้านเมืองในภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๓๔–๑๔๒. ดู สุเนตร ชุตินธรานนท์, “สภาพการเมืองของศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๔๓–๑๔๘.
ดู ประเสริฐ ณ นคร, “อักษร ภาษา และจารึกสมัยศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีศรีวิชัย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๕), หน้า ๑๕๗–๑๗๐. ดู พิริยะ ไกรฤกษ์, ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแบบศิลปะในประเทศไทย : คัดเลือกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาขาส่วนภูมิภาค (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๒๐), หน้า ๑๗–๑๘. ดู Stanley J. O, Connor, "Tambralinga and the Khmer Empire," JSS Journal of the Siam Society, Vel. ๖๓, pt.l (January ๑๙๗๕), pp. ๑๖๑-๑๖๕. ดู M.C. Subhadradis Diskul, The Art of Srivijaya (Kuala Lumpur : Oxford University Press, ๑๙๘๐) ดู M.C. Subhadradis Diskul, "A Short History of the Srivijaya Kingdom and Its Art in Southern Thailand." SPAFA (SEAMEO Project in Archaeology and Fine Arts) Final Report Workshop on Research on Srivijaya, Jakarta, March ๑๒-๑๗, ๑๙๗๙, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๘๙), Appendix ๓ d. ดู ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ “ตามพรลิงค์,” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓, (อัดสำเนา) ดู หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี, “นครศรีธรรมราชในสมัยศรีวิชัย,” ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๘๑–๘๘. ดู ธรรมทาส พานิช ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย (กรุงเทพ ฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๒๑), หน้า ๑–๒๘๗. ดู ธรรมทาส พานิช, พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : แพร่พิทยา, ๒๕๑๕), หน้า ๑–๓๒๙. ดู พระครูอินทรปัญญาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ), แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์-ธานี : คณะกรรมการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะกรรมการอำเภอไชยา, ๒๔๙๘), หน้า ๑–๘๐. ดู Boechari, “Report on Research on Srivijaya” SPAFA Final Report Workshop on Research on Srivijaya, Jakara, March ๑๒–๑๗, ๑๙๗๙, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๗๙), Appendix ๓a. ดู Janice Stargardt, “The Satingpra Civilization and Itrs Relevance to Srivijayan Studies,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-w๒A), Indonesia, August ๓๑ - September ๑๒, ๑๙๘๒, (Jakarta : SEAMEO, ๑๙๘๒), Appendix ๔b.ดู Phasook Indrawooth, “A Study on local Ceramics of Southem Thailand and Their Relations to Dvaravati and Srivijayan Culture,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (I-w๒A), Indonesia, August ๓๑ - September ๑๒, ๑๙๘๒, (Jakarta : Seameo, ๑๙๘๒), Appendix ๓ e.
ดู Janics Stargardt, “Kendi Production at Kok Moh, Songkhla Province, and Srivijayan Trade in the ๑๑ th Century, “SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental on Srivijaya (T-W๓). Bangkok and South Thailand, March ๒๙–April ๑๑ ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓). Pp. ๑๘๑–๑๘๙. ดู Tatsure Yamamoto, “Reexamination of Historical Texts Concerning Srivijaya,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๑๗๑-๑๗๙.
ดู John N, Miksic, “Srivijaya : Political, Economic, and Artistic Framework for Analysis,” SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๑๙๕–๒๐๖. ดู Satyawati Suleiman, “The Role of the Sailendras in Srivijaya, SPAFA Final Report Consultative Workshop on Archeological and Environmental Studies on Srivijaya (T-W๓), Bangkok and South Thailand, March ๒๙ - April ๑๑, ๑๙๘๓, (Bangkok : SEAMEO, ๑๙๘๓), pp. ๖๑–๖๕. ดู เขมชาติ เทพไทย, “หลักฐานใหม่เกี่ยวกับการเดินเรือสมัยศรีวิชัยที่แหลมโพธิ์” ใน ประวัติศาสตร์และโบราณคดีนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๕), หน้า ๒๕๔–๒๖๖.
๖๖ ดู ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, รายงานการสำรวจช่างฝีมือในจังหวัดนครศรีธรรมราช (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๒๔), หน้า ๑๔-๑๘.
ดู พลโทดำเนิน เลขะกุล, "นครศรีธรรมราชสมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๐๐-๒๐๐๐," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๔๑-๑๖๑.
ดู ตรี อมาตยกุล, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา" ใน รายการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๘๗-๒๐๒.
ดู น้อม อุปรมัย, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงศรีอยุธยา," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๑๗๔-๑๘๖.
ดู เฉลิม อยู่เวียงชัย, "นครศรีธรรมราชสมัยกรุงธนบุรี. "ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๒๑๘-๒๖๘.
ดู สงบ ส่งเมือง และทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม, "ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงธนบุรีกับหัวเมืองนครศรีธรรมราช," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๖๙-๒๘๙.
ดู ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, "นครศรีธรรมราชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๑), หน้า ๒๙๐-๒๙๕).
ดู ประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล, "สภาพเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราชสมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์," ใน รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์นครฯ ครั้งที่ ๒ : ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมของนครศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, ๒๕๒๖), หน้า ๒๕๖-๒๗๔.
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๗.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น