ปัตตานี

ประวัติศาสตร์จังหวัดปัตตานี
ปัตตานี หากจะอาศัยประวัติศาสตร์ของไทยเราเป็นที่อ้างอิงเพียงด้านเดียวจะเห็นได้ว่าปัตตานีมีเรื่องราวและบทบาทเพียงน้อยนิด เป็นเพียงหัวเมืองปักษ์ใต้ที่เป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่สำหรับเรื่องราวของปัตตานีที่มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุของจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยติดต่อด้านการค้าการเดินเรือต่างถึงเมืองปัตตานีเนิ่นนานกว่าสมัยสุโขทัยมากนัก ปัตตานีคือปัจจุบัน "ลังกาสุกะ" คือ อดีตอันรุ่งเรือง
ที่ตั้งของอาณาจักรลังกาสุกะ ศาสตราจารย์ ปอล วิตลีย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องแหลมมลายูได้ใช้บันทึกของผู้โดยสารเรือผ่านอาณาจักรนี้ซึ่งมีมากมายหลายเชื้อชาติ แต่ที่มากที่สุดและได้รายละเอียดมากที่สุดได้แก่ชาวจีน เพราะชาวจีนได้บันทึกมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ นายปอล วิตลีย์ สรุปลงได้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะตั้งอยู่ระหว่างเมืองกลันตันและเมืองสงขลา ความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับทั่วไปในวงการประวัติศาสตร์
จดหมายเหตุของจีนชื่อ เหลียง ซู ซึ่งเขียนขึ้นในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เรียกชื่อเมืองลังกา- สุกะว่า “ลัง-ยา” หรือ “ลังยาชิว” และกล่าวว่าอาณาจักรลังกาสุกะได้ตั้งมาก่อนหน้านั้นประมาณ ๔๐๐ ปี ซึ่งหมายความว่าได้ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗ แล้วกล่าวด้วยว่า อาณาจักรนี้มีอาณาเขตจรดทั้งสองฝั่งทะเล คือด้านตะวันออกจรดฝั่งอ่าวไทยบริเวณเมืองปัตตานี ด้านตะวันตกจรดฝั่งอ่าวเบงกอลเหนือเมืองไทรบุรี ในประเด็นหลังนั้น ศาสตราจารย์ฮอลล์เห็นด้วยซ้ำกล่าวเพิ่มเติมว่า ก็เพราะอาณาจักรลังกาสุกะมีอำนาจปกครองคร่อมอยู่ทั้งสองฝั่งทะเลเช่นนี้เอง จึงได้ทำหน้าที่ควบคุมเส้นทางเดินข้ามแหลมมลายูแต่โบราณ
เหตุที่ชื่อเมืองหรืออาณาจักรของ “ลังกาสุกะ” ไปปรากฏในเอกสารของชาวต่างประเทศเป็นอันมากนั้น ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเมืองลังกาสุกะต้องเป็นเมืองท่าสำคัญอยู่ใกล้ทะเล มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับดินแดนใกล้เคียงอยู่เสมอ
ถิ่นฐานและการโยกย้าย ตามตำนานพื้นเมืองของปัตตานีเล่าสืบกันมาว่า เมืองปัตตานีโบราณ หรือเมื่อครั้งยังเรียกว่า “ลังกาสุกะ” นั้น ได้มีการโยกย้ายมาแล้ว ๓ ครั้ง
เดิมนั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านปาโย หรือบาโย ซึ่งทุกวันนี้ได้แก่ บริเวณท้องที่ตำบลหน้าถ้ำ ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี ในบริเวณนี้ได้พบซากโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมาก แต่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ เป็นส่วนใหญ่
การเคลื่อนย้ายครั้งที่ ๑ ได้อพยพมาตั้งเมืองที่ “บ้านตะมางัน” ท้องที่ตำบลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ชื่อ “ตะมางัน” ปัจจุบันมีอยู่ที่เมืองยะรังเก่า อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าผู้จดจำตำนานเกิดความไขว้เขวขึ้นก็ได้ อีกทั้งที่อำเภอรือเสาะก็ไม่พบโบราณสถาน หรือหลักฐานใดๆ ที่เก่าถึงสมัยลังกาสุกะ
การเคลื่อนย้ายครั้งที่ 2 ได้อพยพย้ายมาตั้งบ้านเมืองที่ “บ้านประแว” คือเมืองยะรังเก่า ในท้องที่ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมืองเก่าของปัตตานีที่ “บ้านประแว” แห่งนี้ได้รับการเชื่อถือมากที่สุดว่าคือ “เมืองลังกาสุกะ” เนื่องจากที่ตั้งใกล้เคียงกับที่ได้รับการจดบันทึกในจดหมายเหตุของประเทศต่างๆ ตลอดจนได้พบหลักฐานจำนวนมาก รวมทั้งศาสนสถานทั้งของศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และอื่นๆ อายุ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๐๐ – ๑๔๐๐ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหลักฐานที่เน้นถึงความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของอาณาจักรลังกาสุกะ
การเคลื่อนย้ายครั้งที่ ๓ ได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ที่บ้าน “กรือเซะ” อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี อยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๔ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเมืองนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อเมืองปัตตานี และชื่อเมือง “ลังกาสุกะ” ก็จางหายไปจากหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์
ลักษณะบ้านเมืองและการเป็นอยู่ จากหนังสือ “ความสัมพันธ์ของจีนกับหมู่เกาะทะเลจีนตอนใต้” กล่าวถึงจดหมายเหตุ เหลียง-ซู เล่มที่ ๕๔ ว่ามีข้อความเอ่ยถึงเมืองลังกาสุกะว่า เป็นอาณาจักรที่มีพืชผลและภูมิอากาศคล้ายคลึงกับฟูนัน มีเครื่องเทศมาก ประชาชนทั้งหญิงและชายไว้ผมยาวประบ่า สวมเสื้อผ้าไม่มีแขน กษัตริย์และขุนนางใช้ผ้ายกทองสีแดงคลุมเครื่องแต่งกาย ใส่ตุ้มหูทอง ผู้หญิงมีผ้าคลุมและใส่สร้อยสังวาล กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ มีประตูเมืองหลายชั้น เมื่อกษัตริย์เสด็จออกจากวังจะประทับบนหลังช้าง หลังคากูบเป็นผ้าขาว หน้าขบวนมีพลกลอง และมีทหารถือธงล้อมรอบ ชาวเมืองนี้กล่าวว่าเมืองนี้ได้ตั้งเมืองมากว่า ๔๐๐ ปีแล้ว เมืองลังกาสุกะในสมัยพระเจ้าภัคทัตต์ได้ส่งทูตไปเมืองจีน (พ.ศ. ๑๐๕๘) เพื่อเจริญราชไมตรี๑
จากข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรลังกาสุกะ ความอยู่เย็นเป็นสุข และเศรษฐกิจที่ดี แต่เมื่อรุ่งเรืองถึงขีดสุดแล้ว อาณาจักรลังกาสุกะก็เริ่มทรุดลงในศตวรรษที่ ๑๔ และ ๑๕ โดยตกไปเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย จนถึง พ.ศ. ๑๘๓๖ อาณาจักรศรีวิชัยหมดอำนาจ กองทัพของกรุงสุโขทัยซึ่งลงมาอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชร่วมกับกำลังกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชรุกเข้าไปในรัฐต่างๆ บนแหลมมลายูตอนใต้ จนยึดได้ตลอดสุดแหลมเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๘ ดังข้อความที่จารึกไว้ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงเขตแดนทิศใต้ของอาณาจักรสุโขทัยว่า : -
“… เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ฝั่งสมุทร เป็นที่แล้ว …”
ครั้นเมื่ออำนาจของกรุงสุโขทัยอ่อนกำลังลง เมืองนครศรีธรรมราชก็ตรามาเป็นประเทศราชอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเมืองตานีที่พญาศรีธรรมราช (พระพนมวัง) เป็นผู้สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่านั้น บรรดาหัวเมืองปักษ์ใต้พากันกระด้างกระเดื่อง หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพสำเร็จจึงเสด็จพระราชดำเนินลงไปปราบเมืองนครศรีธรรมราช และได้เมืองนครศรีธรรมราชกลับคืนมาอยู่ภายในราชอาณาจักรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยกกองทัพไปตีเมืองตานีได้จากสุลต่านโมหะหมัดในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ และโปรดเกล้าให้ตวนกูลัมมิเด็นเป็นรายาตานี
ปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ตวนกูลัมมิเด็นคบคิดกับแขกเมืองเซียะ (ในเกาะสุมาตรา) ยกทัพไปตีเมืองสงขลา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงให้พระยากลาโหมเสนาเป็นแม่ทัพนำทัพเรือยกไปตีเมืองตานีและมีชัยชนะ พระยากลาโหมราชเสนาได้ขอพระราชทานโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ระตูปะกาลันเป็น รายาตานีคนต่อไป
ปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ระตูปะกาลันได้ก่อความไม่สงบขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยกกองทัพกรุงออกไปสมทบกับกองทัพเมืองสงขลา พัทลุง จะนะ มอบให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี๋ยนจง) เป็นแม่ทัพนำทัพไปตีเมืองตานีจับระตูปะกาลันได้ และได้นำตัวมาไว้ ณ กรุงเทพมหานคร
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบรมราโชบายให้แยกเมืองตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์ แต่งตั้งให้นายขวัญซ้าย (มหาดเล็ก) เป็นผู้ว่าการเมืองปัตตานีคนแรก และมีผู้ว่าการต่อมา ดังนี้
นายพ่าย
ตวนกูสุหลง
นายทองอยู่
หนิยุโซะ
ตวนกูเปาะสา
พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูปุเตะ)
พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูตีมุน)
พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูมอซู หรือตวนสุไลมาน)
พระยาวิชิตภักดีฯ (ตวนกูอับดุลกาเดร์)
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๓ - ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองทั้ง ๗ อันเป็นการปกครองแบบเก่าคือ ระบบกินเมืองมาเป็นระบบเทศาภิบาล ทรงดำเนินการไปทีละขั้นตอนโดยไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อการปกครองของเจ้าเมืองทั้ง ๗ หัวเมือง ทั้งนี้เนื่องจากว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างเอกภาพให้แก่ประเทศ ทรงให้เลิกการแยกการปกครองตามเชื้อชาติที่ปรากฏในเมืองประเทศราชต่างๆ เพื่อรวมอำนาจการปกครองทั่วประเทศมาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย และให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการปกครองโดยการกระจายระบบการบริหารไปสู่ท้องถิ่นตามแบบเทศาภิบาล
ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นมณฑลแรกในภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่ปกครองหัวเมือง ๑๐ เมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตานี ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก ยะลา ระแงะ และรามันห์
ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดให้แยกหัวเมืองทั้ง ๗ ออกจากมณฑลนครศรีธรรมราชมาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี พร้อมทั้งเปลี่ยนฐานะเมืองเป็นอำเภอและจังหวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ยุบเลิกมณฑลปัตตานี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ รัฐบาลจำต้องตัดทอนรายจ่ายให้น้อยลงเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไว้
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ให้จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร ก่อนสมัยเปลี่ยนการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย ดังนั้นเมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบ ราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย สาเหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒. เพื่อความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓. เนื่องด้วยเห็นว่า การดำเนินงานของหน่วยงานมณฑลซ้ำซ้อนกับหน่วยงานจังหวัดอันก่อให้เกิดความล่าช้าไม่คล่องตัวเท่าที่ควร
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบเลิกมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกนัยหนึ่ง อันมีผลให้ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีการเปลี่ยนเปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล
๒. อำนาจในการบริหารจังหวัดแต่เดิมนั้นตกอยู่กับคณะบุคคลคือ คณะกรรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนมาอยู่กับบุคคลเพียงคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. คณะกรรมการจังหวัดแต่เดิมมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๐๕ โดยจัดระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นได้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่า ราชการจังหวัดในการบริหารแผ่นดินในจังหวัดนั้นๆ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย