อ่างทอง

ประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทอง

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
อ่างทองเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่านถึง ๒ สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย เป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ผู้คนจึงนิยมเข้าอยู่อาศัยทำมาหากิน ในสมัยโบราณก่อนกรุงศรี-อยุธยานับแต่สมัยทวารวดีเป็นต้นมา เข้าใจว่ามีคนอาศัยอยู่ในท้องที่ของอ่างทองแล้วและสร้างเป็นเมืองขึ้นด้วยแต่คงจะไม่ใช่เมืองใหญ่โตหรือเมืองสำคัญนักก็ได้ หลักฐานที่เหลือให้เห็นในปัจจุบันที่ส่อแสดงว่าท้องที่ของอ่างทองเคยเป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวาดีก็คือคูเมืองที่มีลำคูล้อมรอบที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ในปัจจุบันอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางเหนือประมาณ ๔ กิโลเมตร คูเมืองที่บ้านคูเมืองซึ่ง นายบาส เชอลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบและสันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ล่วงมาในสมัยกรุงสุโขทัยก็เข้าใจว่ามีคนอาศัยอยู่มากเช่นกัน หลักฐานที่น่าจะยืนยันได้ก็คือวัดร้างที่มีอยู่มากมายในท้องที่ของอ่างทอง มีหลายวัดแสดงว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยและจากการสังเกตลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญ ๆ หลายองค์พบว่ามีลักษณะการสร้างแบบสุโขทัยด้วย เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก อำเภอป่าโมก เป็นต้น นอกจากการสร้างวัดและศิลปะการสร้างพระพุทธรูปแล้ว ลำน้ำโบราณซึ่งปัจจุบันได้ตื้นเขินกลายเป็นลำคลอง ลำห้วย หลายแห่ง โดยมีวัดร้างตั้งอยู่ริมน้ำเก่านี้มากมาย ก็สันนิษฐานว่าจะต้องมีมาเก่าแก่ถึงสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญนั้นไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัด
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เนื่องจากอ่างทองเป็นเขตติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา จึงมีเรื่องราวที่กล่าวถึงท้องที่ในอ่างทองหลายตอนด้วยกัน แต่สมัยอยุธยาตอนต้นนั้นยังไม่ปรากฏชื่อเมืองนี้ เข้าใจว่าจะเป็นเพียงชายเขตแขวงพระนครเท่านั้น แม้กระทั่งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีชื่อเมืองในท้องที่ของอ่างทองเลย หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า เมื่อคราวพม่ายกทัพมาประชิดพระนครในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น ได้มีการเกณฑ์ทัพเพื่อรักษาพระนครจากเมืองใกล้เคียง โดยกล่าวชื่อเมืองใกล้เคียงพระนครหลายเมือง เช่น เมืองสิงห์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองอินทร์บุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองชัยนาท เมืองลพบุรี เมืองนครนายก เป็นต้น ไม่เคยกล่าวถึงเมืองอ่างทองหรือชื่อเมืองวิเศษชัยชาญอันเป็นชื่อเก่าของเมืองอ่างทองเลย เพียงแต่กล่าวไว้ตอนที่พม่ายกทัพเข้ามาว่า “…พม่าก็ยกตามเข้ามาทาง ลำ สามโก้ ป่าโมก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแถวบางโผงเผง เข้ามาชานพระนครทางทุ่งลุมพลีข้างด้านเหนือ” ลำสามโก้ปัจจุบันเป็นชื่อตำบลอยู่ในอำเภอสามโก้ ป่าโมกก็เป็นชื่อตำบลอยู่ในอำเภอป่าโมกเช่นกัน ส่วนบางโผงเผงนั้นอยู่ในท้องที่อำเภอป่าโมก พระราชพงศาวดารมิได้กล่าวว่าตำบลทั้งสามขึ้นกับเมืองใด สันนิษฐานว่าแต่ก่อนอาจจะรวมอยู่ในแขวงพระนครหลวง ยังไม่ยกฐานะเป็นเมือง เพราะอยู่ใกล้พระนครหลวงมาก
ราว พ.ศ. ๒๑๒๒ ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ท้องที่ของอ่างทองก็ถูกกล่าวไว้ในพงศาวดารอีกตอนหนึ่งว่า “ในปีนั้นเกิดกบฏญาณพิเชียรเป็นจลาจลในจังหวัดแขวงหลวง และญาณพิเชียรนั้นเรียนคุณโกหก กระทำการอัมพิปริตสำแดงแก่ชาวชนบทประเทศนั้น และซ่องสุมเอาเป็นพวกได้มาก ญาณพิเชียรก็ซ่องคนในตำบลบ้านยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวงส่งข่าวกบฏนั้นเข้ามาถวายถึงสมเด็จพระบรมบพิตร พระพุทธเจ้าหลวง ก็มีพระราชโองการ ตรัสใช้เจ้าพระยาจักรีให้ยกพลทหารออกไปจับญาณพิเชียรซึ่งเป็นกบฏ เจ้าพระยาจักรีและขุนหมื่นทั้งหลายยกออกไปตั้งทัพในตำบลบ้านมหาดไทย” ตำบลที่ถูกกล่าวถึงมี ๒ ตำบลคือ ตำบลบ้านยี่ล้น ปัจจุบันเป็นตำบลยี่ล้น ขึ้นกับอำเภอวิเศษชัยชาญ และตำบลบ้านมหาดไทยปัจจุบันเป็นตำบลมหาดไทย ขึ้นกับอำเภอเมืองอ่างทอง มีเขตติดต่อกับอำเภอวิเศษชัยชาญ ซึ่งสมัยนั้นก็ยังไม่ได้กล่าวอ้างว่าเป็นแขวงเมืองใด เป็นแต่กล่าวว่า “…ญาณพิเชียรเป็นจลาจลในจังหวัดแขวงหลวง…” จึงสันนิษฐานว่าท้องที่อ่างทองในขณะนั้นคงจะเป็นอาณาเขตที่ขึ้นกับพระนครหลวง
ต่อมาราว พ.ศ. ๒๑๒๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาเช่นกัน พระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษชัยชาญเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพไปรบกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งปรากฏดังนี้ “…ครั้นถึงเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยาไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิ ฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษชัยชาญอันเป็นที่ประชุมพล…” เมืองวิเศษชัยชาญก็คือเมืองอ่างทองเก่านั้นเอง ส่วนจะยกฐานะขึ้นเป็นเมืองวิเศษชัยชาญเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร เข้าใจว่าจะต้องเป็นช่วงเวลาระยะ พ.ศ. ๒๑๒๒-๒๑๒๗ (น่าจะเป็นปี พ.ศ. ๒๑๒๗ หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรกลับจากประกาศอิสรภาพแล้ว พระมหาธรรมราชามอบหมายการป้องกันพระนครให้สมเด็จพระนเรศวร และยังได้อพยพครัวเรือนจากเมืองพิษณุโลกเข้ามาในพระนคร และได้ตั้งเมืองวิเศษชัยชาญขึ้นเพื่อเป็นจุดรวมกำลังเสบียงอาหาร และเป็นเมืองหน้าด่านของพระนคร)
นับแต่เริ่มปรากฏชื่อเมืองวิเศษชัยชาญในพระราชพงศาวดารแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองวิเศษชัยชาญและท้องที่อ่างทองที่ขึ้นกับแขวงวิเศษชัยชาญในสมัยนั้น ก็ถูกกล่าวในพระราชพงศาวดารบ่อยครั้ง เช่น ป่าโมก ชะไว สระเกษ บางแก้ว เอกราช ฯลฯ ซึ่งจะกล่าวโดยลำดับไปดังนี้
พ.ศ. ๒๑๒๗ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับคราวที่รบกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณบุรีนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่ากองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมาก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกา-ทศรถ ไปตั้งทัพหลวงอยู่ที่บ้านชะไว แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ปัจจุบันบ้านชะไวเป็นตำบลชะไว ขึ้นกับอำเภอไชโย
พ.ศ. ๒๑๒๘ พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาแก้แค้น ยกทัพมาตั้งอยู่ที่บ้านสระเกษในแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกับกองทัพพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวนดูก่อน กองทัพพระราชมนูไปปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยลงมา แล้วพระองค์กับพระอนุชาก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจัดกระจายไป ปัจจุบันนี้บ้านสระเกษ เปลี่ยนเป็นตำบลไชยภูมิ ขึ้นอยู่กับอำเภอไชโย สำหรับบ้านบางแก้วและบ้านแห ก็เป็นตำบลในอำเภอเมืองอ่างทอง
พ.ศ. ๒๑๓๐ ท้องที่อำเภอป่าโมกก็เป็นสนามรบในคราวที่พระเจ้ากรุงหงสาวดีล้อมกรุงศรีอยุธยา คราวนี้ทัพไทยเอาปืนใหญ่ลงในเรือสำเภาขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหง -สาวดีทนอยู่ไม่ได้ก็ต้องรีบถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งอยู่ที่ป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอ- กาทศรถเสด็จโดยขบวนทัพเรือ ตีตามกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมกจนพม่าเลิกทัพกลับไป
พ.ศ. ๒๑๓๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกทัพจากกรุงศรอยุธยาไปตั้งอยู่ที่ทุ่งป่าโมก แล้วเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรีผ่านบ้านสามโก้ ไปกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ที่ตำบลกะพังตรุ จังหวัดสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะในครั้งนั้น
พ.ศ. ๒๑๔๗ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกทัพไปตีเมืองอังวะ ก็เสด็จพักพลที่ป่าโมกอีก ตามพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า “…ก็มีพระราชโองการตรัสให้แต่งตำหนักในตำบลป่าโมก ครั้นเสร็จก็เสด็จด้วยพระชลวิมานโดยทางชลมารค เสด็จเข้าพักพลในตำหนักป่าโมกนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จกลับพยุหยาตรา จากตำบล ป่าโมกเสด็จโดยชลมารคขึ้นเหยียบชัยภูมิในตำบลเอกราช ให้ขุนแผนสะท้านฟันไม้ข่มนามโดยการพิธีพิชัยสงคราม…” (ปัจจุบันนี้ตำบลเอกราชเป็นตำบลหนึ่งขึ้นกับอำเภอป่าโมก และมีเขตติดต่อกับตำบลป่าโมก) สำหรับการสงครามครั้งนี้เป็นครั้งหลังสุดของสมเด็จพระนเรศวร เพราะพระองค์ได้สวรรคตเสียที่เมืองหาง หรือเมืองห้างหลวง ยังมิทันเสด็จถึงเมืองอังวะ สมเด็จพระเอกาทศรถได้เชิญพระบรมศพกลับคืนมายังพระนครศรีอยุธยา
ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) พระเจ้าเสือได้เสด็จปลอมพระองค์ไปกับมหาดเล็กเที่ยวในงานฉลองพระอาราม และได้ทรงชกมวยกับนักมวยได้ชัยชนะถึง ๒ คน ที่ที่เสด็จไปคือบ้านประจันตชนบทแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ดังข้อความในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า “…ขณะนั้นข้าราชการผู้มีชื่อคนหนึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้าว่า ณ บ้านประจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เพลาพรุ่งนี้ชาวบ้านจะทำการฉลองพระอาราม มีมหรสพงานใหญ่…” และอีกตอนหนึ่งว่า “…ครั้งรุ่งขึ้นจึงเสด็จพระชลพาหนะแวดล้อมไปด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงไปตามลำดับชลมารค ถึงตำบลบ้านตลาดกรวดจึงหยุดประทับเรือพระที่นั่งเสด็จขึ้นบกในที่นั้น…” ปัจจุบันตำบลบ้านตลาดกรวดก็คือ ตำบลตลาดกรวด อำเภอเมืองอ่างทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนบ้านประจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษชัยชาญนั้น ก็คือหมู่บ้านชนบทที่อยู่นอกพระนครหลวงนั่นเอง มีผู้ให้ความเห็นว่าวัดที่เป็นพระอารามซึ่งมีการมหรสพในสมัยนั้นอาจจะเป็นวัดโพธิ์ถนน หรือวัดถนนก็ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นวัดร้างอยู่ในตำบลตลาดกรวดนั่นเอง
ในแผ่นดินของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) ปี พ.ศ. ๒๒๖๙ พระเจ้า ท้ายสระได้เสด็จไปควบคุมการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ณ วัดป่าโมก ตำบลป่าโมก เพราะเหตุว่าน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเข้าไปถึงพระวิหาร ถ้าไม่ย้ายที่แล้วอาจพังลงน้ำก็ได้ เมื่อชะลอพระพุทธไสยาสน์เสร็จแล้ว พระเจ้าท้ายสระได้ทรงสร้างพระวิหาร อุโบสถ พระเจดีย์ หอไตร โดยปฏิสังขรณ์พร้อมกับสร้างขึ้นใหม่ด้วย
ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศจะได้ครองราชสมบัตินั้น พระเจ้าท้ายสระได้มอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย พระเจ้าบรมโกศไม่เต็มพระทัยให้ราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย เมื่อพระเจ้าท้ายสระสวรรคต พระเจ้าบรมโกศกับเจ้าฟ้าอภัยจึงรบกันกลางพระนคร เจ้าฟ้าอภัยแพ้จึงหนีไปกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ โดยลงเรือพระที่นั่งไปทางป่าโมก ครั้นถึงบ้านเลน จึงเสด็จขึ้นเรือหนีไปทางบกจนถึงบ้านเอกราช ผลสุดท้ายถูกจับที่บ้านเอกราชและถูกประหารชีวิตทั้ง ๒ พระองค์ และขณะที่เสวยราชสมบัติอยู่ในเวลาต่อมายังได้เคยเสด็จไปฉลองวัดป่าโมก และขึ้นไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ พระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี และวัดขุนอินทประมูล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทองด้วย
ต่อมาราว พ.ศ. ๒๒๘๗ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้มีพระราชดำรัสให้นิมนต์พระอาจารย์วัดพันทาบ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ให้เข้านั่งสมาธิช่วยห้ามฝนตก สำหรับวัดพันทาบนั้นในปัจจุบันนี้ยังสำรวจไม่พบว่าอยู่ ณ ที่ใด ได้ดูจากรายชื่อวัดในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่มที่ ๒๒ ภาคพิเศษก็ไม่มีชื่อวัดนี้ และดูจากบัญชีวัดร้างในจังหวัดอ่างทองจากหนังสือทำเนียบวัดในราชอาณาจักรไทยฉบับกรมการศาสนา พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็ไม่มีชื่อวัดนี้เช่นกัน อาจจะตกสำรวจหรืออาจจะเปลี่ยนชื่อวัดเสียแล้วก็ได้
ในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือ กรมขุนพรพินิต หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ได้เสด็จออกทรงผนวช ณ วัดโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด และทรงสร้างตึกประทับร้อนเรียกว่า ตึกคำหยาดขึ้นด้วย ปัจจุบันวัดโพธิ์ทองและตึกคำหยาด ก็ยังมีอยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง
และในแผ่นดินของสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์นี้เอง กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า ก่อนที่จะเสียกรุงแก่พม่านั้น พม่าได้ยกทัพมาตั้งค่าย ณ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญด้วย ซ้ำพม่ายังเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนของเมืองวิเศษชัยชาญอีก และตอนนั้นเองที่เกิดมีวีรบุรุษที่เป็นคนในท้องที่ของอ่างทองหลายคน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ทั้ง ๔ คนนี้เป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าบ้านสีบัวทองนั้นขึ้นกับแขวงเมืองสิงห์ แต่ปัจจุบันนี้ บ้านสีทองเป็นตำบลหนึ่งขึ้นกับอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง) และมีนายดอก ชาวบ้านกลับ นายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิทะเล ทั้งสองคนเป็นชาวเมืองวิเศษชัยชาญได้ร่วมกับชายฉกรรจ์กว่า ๔๐๐ คน ตั้งค่ายบางระจันขึ้นเพื่อต่อสู้พม่า และมีหัวหน้าอีก ๕ คน คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่ โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติมาอยู่เป็นกำลังใจและให้การคุ้มครองด้วย การต่อสู้กับพม่าในครั้งนั้นได้ต่อสู้กันถึง ๘ ครั้ง เนื่องจากกำลังของทางฝ่ายไทยน้อยกว่า ค่ายบางระจันจึงแตก และสนามรบที่ต่อสู้กันส่วนใหญ่ก็คือท้องที่อำเภอแสวงหาในปัจจุบันนั่นเอง วีรกรรมของคนไทย ครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือและเป็นสิ่งเตือนใจคนรุ่นหลังอยู่เสมอว่าคนไทยนั้นกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เมื่อถึงคราวคับขันไม่เอาตัวรอด ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อชาติพลี ดังนั้นชื่อเสียงและเกียรติคุณของบุคคลดังกล่าวจึงได้ถูกจดจำและกล่าวขวัญกันอยู่เสมอ และคนรุ่นหลังได้สร้างอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญดังกล่าวเป็นสิ่งเตือนใจไว้ในค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว วีรชนของเมืองวิเศษชัยชาญไว้ที่หน้าโรงเรียนวัดวิเศษชัยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญในปัจจุบัน
สมัยกรุงธนบุรี
เข้าใจว่าในตอนปลายสมัยกรุงธนบุรีนี้เอง ที่ได้มีการย้ายเมืองวิเศษชัยชาญมาตั้งใหม่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกะเชา) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองในปัจจุบันนี้และการย้ายเมืองครั้งนั้นก็เปลี่ยนชื่อจากเมืองวิเศษชัยชาญมาตั้งชื่อใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” สาเหตุที่ย้ายเข้าใจว่าเมืองวิเศษชัยชาญเดิมนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ในขณะนั้นแม่น้ำน้อยคงตื้นเขิน ฤดูแล้งเรือเดินไม่ได้ จึงย้ายมาตั้งที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
อย่างไรก็ตาม หลักฐานในพระราชพงศาวดารก็ไม่ได้กล่าวไว้เลยว่า การย้ายเมืองวิเศษ ชัยชาญมาตั้งใหม่และเปลี่ยนชื่อใหม่นั้นเมื่อใดตอนไหน แต่ในสมัยกรุงธนบุรีนี้ก็มีข้อความเกี่ยวกับเมืองวิศษชัยชาญอยู่ตอนหนึ่งในราว พ.ศ. ๒๓๑๗ เมื่อคราวรบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี คือ ก่อนสิ้น รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ๘ ปี พระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองวิเศษชัยชาญ ได้คุมกองทัพไปช่วยพระยา ยมราชรบกับพม่าที่แขวงเมืองราชบุรี มีผู้ให้ความเห็นว่าการย้ายเมืองครั้งนั้นน่าจะเกี่ยวข้องด้วยในระหว่างระยะเวลาที่กล่าวนั้น และเพื่อความสะดวกสบายในการส่งกำลังรบจากพระนครขึ้นไปยังเมืองฝ่ายเหนือการใช้เรือลำเลียงทางแม่น้ำน้อยอาจขลุกขลักในฤดูแล้งความสะดวกสู้ทางแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ จึงได้ย้ายเมืองเสีย แต่ถ้าหากไม่ใช่ย้ายตอนปลายสมัยกรุงธนบุรีก็คงจะย้ายตอนต้นสมัยกรุงรัตน-โกสินทร์ คือช่วงระยะเวลาจาก พ.ศ. ๒๓๑๗ (ซึ่งได้กล่าวถึงเมืองวิเศษชัยชาญเป็นครั้งสุดท้ายในพระราชพงศาวดาร) จนถึง พ.ศ. ๒๓๕๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะตอนนี้พระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงการทำทำนบกั้นน้ำที่เมืองอ่างทอง (เป็นการกล่าวชื่อเมืองอ่างทองครั้งแรกในตอนนี้) และก็ยังมีผู้รู้สันนิษฐานกันอีกว่า การย้ายเมืองนั้นอาจจะย้ายคราวเดียวกับเมืองสิงห์บุรีก็ได้
สำหรับการตั้งชื่อใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” โดยเปลี่ยนชื่อจากเมืองวิเศษชัยชาญนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับชื่อเมือง ไว้ว่า
“ข้อที่จังหวัดนี้เดิมชื่อเมืองอ่างทองนั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าน่าจะมาจากชื่อบางทองคำด้วยมีคำโคลงนิราศตอนนี้ว่า
ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง
น้ำป่วนบึงเป็นฟอง กว่างกว้าง
แลลาญรำจวนสยอง พึงพิศ
เร่งรีบพายพลกว้าง แม่น้ำ ฟองสินธุ์
(นิราศนี้แต่งตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์)
อนึ่ง ทางที่แยกแม่น้ำสายหลังศาลากลางนั้น ราษฎรก็ยังเรียกว่าปากแม่น้ำประคำทอง ส่วนในเข้าไปเรียกแม่น้ำสายทองจนทุกวันนี้ แต่ว่าน้ำตื้นเขินใช้การไม่ได้แล้ว”
อีกกระแสหนึ่ง ตามคำบอกเล่าของผู้รู้บางท่านเล่าว่า ที่ตั้งชื่อว่าเมืองอ่างทองนั้น เพราะเป็นเมืองอยู่ในที่ลุ่ม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ สมัยโบราณถือกันว่าดินแดนใดก็ดี ถ้าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารก็เปรียบเหมือนขุมทรัพย์ ถือกันว่าเป็นเมืองเงินเมืองทอง ดังนั้นชื่อจังหวัดอ่างทองก็คืออ่างที่เต็มไปด้วยทองนั่นเอง นับว่ามีเหตุมีผลน่าฟังอยู่
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยนี้มีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองอ่างทองหลายตอนด้วยกันกล่าวคือ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เป็นแม่กองเกณฑ์คนเมืองนครราชสีมา ตลอดจนเมืองเวียงจันทน์ และหัวเมืองฝ่ายตะวันออกนอกเหนือนครราชสีมาออกไป เข้ามาระดมกันทำทำนบกั้นลำน้ำที่เมืองอ่างทองเพื่อจะให้สายน้ำไหลเข้าทางคลองบางแก้วซึ่งตื้นเขินขึ้น ให้กลับใช้เรือเดินได้ตลอดปีดังแต่ก่อน แต่ทำนบต้องพังทลายลงเพราะทานกำลังน้ำไม่ไหว เมื่อทำไม่สำเร็จจึงได้ย้ายตัวเมืองอีกครั้งหนึ่งจากตำบลบ้านแห ที่วัดไชยมงคล ไปตั้งที่ตำบลบางแก้ว ใต้ปากคลองบางแก้วฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงทุกวันนี้ คลองบางแก้วที่กล่าวถึงนี้เป็นคลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่เหนือศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ กล่าวกันว่าเดิมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อขุดคลองหน้าเมืองอ่างทองที่กลายเป็นแม่น้ำในขณะนี้ขึ้นในรัชกาลสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระไปบรรจบลำแม่น้ำน้อยทางทิศตะวันออกของวัดป่าโมก อำเภอป่าโมก เนื่องจากป้องกันน้ำเซาะองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกเป็นมูลเดิมแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้ตื้นเขินกลายสภาพเป็นคลองบางแก้วไป
เรื่องปิดลำน้ำและคลองบางแก้วนี้ มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ๑ พระองค์ท่านทรงอธิบายไว้ดังนี้
“เนื้อความที่กล่าวในพระราชพงศาวดารตรงนี้ผู้ที่ไม่ได้ทราบเรื่องทางน้ำในประเทศนี้แต่โบราณมา แม้จะไปดูที่คลองบางแก้วในเวลานี้น่าจะประหลาดใจว่า ทำไมจึงเกณฑ์คนเข้ามาทำทำนบปิดลำแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนั้น อันความจริงที่เป็นมาแต่เดิมนั้น ลำแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ลงมาทางหน้าเมืองอ่างทองทุกวันนี้ ลำน้ำเข้าทางบางแก้ว มาทางคลองเมืองกรุงเก่าลงมาทางวัดพุทไธสวรรย์มาออกตรงป้อมเพชร แม่น้ำตอนใต้คลองบางแก้วเดิมเป็นคลองขุดมาต่อลำแม่น้ำน้อย แต่สายน้ำมาเดินเสียทางคลองขุดนี้ กัดแผ่นดินกว้างลึกออกไปเป็นลำแม่น้ำ ทางบางแก้วจึงตื้นเขินขึ้นทุกที จนใช้เรือไม่ได้ในฤดูแล้งด้วย เหตุนี้จึงไปทำนบปิดทางใหม่ซึ่งน้ำกัดประสงค์จะให้สายน้ำกลับไปเดินทางบางแก้วซึ่งเป็นลำแม่น้ำเดิม แต่ทำนบที่ทำเมื่อปีระกา เบญจศกนั้นทานน้ำไม่อยู่ ถึงฤดูน้ำเหนือหลากทำนบก็พังไม่ได้ประโยชน์ดังคาด สายน้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาจึงลงทางเมืองอ่างทองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้”
เฉพาะที่ตำบลบางแก้วตอนเหนือศาลากลางจังหวัดขึ้นไปเล็กน้อยตรงที่ทำทำนบนั้นยังมีหมู่บ้าน ๆ หนึ่งเรียกว่า “บ้านรอ” จนทุกวันนี้ ผู้รู้กล่าวกันว่าน้ำเบญจสุทธคงคาในแม่น้ำสำคัญทั้ง ๕ ในราชอาณาจักรไทย ซึ่งแต่งเป็นน้ำสรงพระมรุธาภิเษกสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณนั้น น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตักที่ “ตำบลบางแก้ว” ก็เป็นน้ำเบญจสุทธคงคาในแม่น้ำสำคัญทั้ง ๕ ในราชอาณาจักรไทยด้วยแห่งหนึ่ง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร ก็ได้สร้างพระโตขึ้นที่วัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย และได้รับการปฏิสังขรณ์ในเวลาต่อมา พระที่สร้างนั้นมีชื่อเสียงมากเรียกว่า หลวงพ่อโต หรือพระมหาพุทธพิมพ์
ในรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชอัธยาศัยโปรดฯ ในการเสด็จประพาส และได้เคบเสด็จเมืองอ่างทองและท้องที่ของอ่างทองหลายแห่ง ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๒๑ เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ได้เสด็จวัดไชโย อำเภอไชโย วัดขุน- อินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และวัดป่าโมก อำเภอป่าโมก
พ.ศ. ๒๔๔๔ คราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ได้เสด็จเมืองอ่างทอง ซึ่งมีข้อความตามพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “…จนถึงพรหมแดนเมืองอ่างทอง พระวิเศษชัยชาญ ผู้ว่าราชการเมือง นำดอกไม้ธูปเทียนมาต้อนรับ เปลี่ยนลงเรือมาด้วยจนถึงพลับพลาเหนือเมืองเลี้ยวหนึ่งประมาณบ่าย ๔ โมง ได้ขึ้นไปยังโรงพิธีซึ่งมีพระสงฆ์ ข้าราชการ และราษฎรคอยพร้อมอยู่ในที่นั้น ผู้ว่าราชการเมืองอ่านคำต้อนรับฉันได้มอบพระแสงราชาวุธเสร็จแล้ว…” วันรุ่งขึ้นเสด็จถึงวัดไชโย และต่อไปยังเมืองสิงห์บุรี ตอนเสด็จกลับก็ผ่านเมืองอ่างทองได้มนัสการพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกด้วย
พ.ศ. ๒๔๔๙ ในการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ได้นมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก รุ่งขึ้นเสด็จเมืองอ่างทอง และเสด็จต่อไปถึงวัดไชโยในวันเดียวกัน
พ.ศ. ๒๔๕๑ คราวเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ได้เสด็จไปอำเภอวิเศษชัยชาญ ตึกคำหยาดและวัดขุนอินทประมูลด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้เสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ คราวนี้พระองค์ผ่านปลายเขตอำเภอป่าโมก ประทับร้อนที่วัดท่าสุวรรณ (วัดวิเศษชัยชาญในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ใต้ที่ว่าการอำเภอวิเศษชัยชาญเดิมแล้วเสร็จขึ้นไปประทับแรมที่พลับพลาหน้าวัดเกาะ หน้าที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทอง (เดิม) รุ่งขึ้น เสด็จประพาสบ้านโพธิ์ทอง แล้วเสด็จกลับประทับแรมพลับพลาหน้าวัดเกาะอีกจากนั้นได้เสด็จต่อไปยังสิงห์บุรีและชัยนาท เที่ยวกลับได้เสด็จล่องทางแม่น้ำเจ้าพระยาทรงประทับร้อนวัดไชโยแล้วเสด็จมาประทับแรมพลับพลาหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
สำหรับการจัดระเบียบการปกครองนั้น ในราว พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดระเบียบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมืองอ่างทองได้ขึ้นอยู่ในปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลอยุธยา ซึ่งมีเมืองต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับมณฑลอยุธยาถึง ๘ เมืองด้วยกัน ขณะนั้นเมืองอ่างทองแบ่งการปกครองเป็นอำเภอมี ๔ อำเภอด้วยกันคือ อำเภอเมือง อำเภอไชโย อำเภอไผ่จำศีล และอำเภอโพธิ์ทอง (ส่วนอำเภอป่าโมกนั้น ยังไม่จัดเป็นอำเภอแต่รวมอยู่กับอำเภอเมืองอ่างทอง และอำเภอไผ่จำศีลนั้นก็คืออำเภอวิเศษชัยชาญนั่นเอง) ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้ตั้งอำเภอป่าโมกขึ้นโดยแยกไปจากอำเภอเมืองอ่างทอง และปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอไผ่จำศีล เป็นอำเภอวิเศษชัยชาญ ตามชื่อแขวงเมืองวิเศษชัยชาญเดิม
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการยุบเลิกมณฑล เมืองอ่างทองก็เปลี่ยนเป็นจังหวัดอ่างทอง ไม่ขึ้นกับมณฑลอยุธยาอีกต่อไป
พ.ศ. ๒๔๙๑ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอแสวงหา และยกฐานะเป็นอำเภอแสวงหา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙
พ.ศ. ๒๕๐๕ ประกาศตั้งกิ่งอำเภอสามโก้ และยกฐานะเป็นอำเภอสามโก้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘
ดังนั้นจังหวัดอ่างทองจึงมีอำเภอ ๗ อำเภอตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
หวน พินธุพันธุ์ ได้เขียนไว้ในหนังสืออ่างทองของเราตอนหนึ่งว่า “เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือว่า ชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และรวมไปถึงวัดในจังหวัดอ่างทองปัจจุบันนี้ หลายชื่อมีคำว่า “ชัย” หรือ “ไชย” อยู่ด้วย ก็แสดงว่าท้องที่นั้น ๆ จะต้องมีความหมายเกี่ยวกับชัยชนะจากการสงครามอย่างแน่นอนเพราะท้องที่ของอ่างทองเคยเป็นสนามรบในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีบ่อยครั้งที่สุด ผู้ที่ตั้งชื่อขึ้นมาจะต้องเอาความหมายจากชัยชนะอย่างไม่มีปัญหา ชื่อที่มีคำว่า “ชัย” หรือ “ไชย” อยู่ด้วยนั้น เป็นอำเภออยู่ ๒ ชื่อ คือ อำเภอไชโย และอำเภอวิเศษชัยชาญ เป็นตำบล ๓ ชื่อ คือ ตำบลไชโย ตำบลไชยภูมิ และตำบลชัยฤทธิ์ ซึ่งทั้ง ๓ ตำบลนี้อยู่ในท้องที่อำเภอไชโยทั้งสิ้น และยังมีวัดอยู่อีก ๓ วัด คือ วัดไชยสงคราม วัดไชยมงคล วัดสนามชัย ทั้ง ๓ วัดนี้อยู่ใกล้ ๆ กัน ซึ่งขึ้นกับอำเภอเมืองอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีตำบลหนึ่งชื่อตำบลตรีณรงค์ ขึ้นกับอำเภอไชโยมีความหมายเกี่ยวกับสงครามเช่นกัน”
นอกจากนี้แล้ว ชื่อตำบล หมู่บ้าน ในจังหวัดอ่างทอง ยังไปปรากฏอยู่ในหนังสือวรรณคดีมีชื่อของเมืองไทยเล่มหนึ่ง นั้นคือ เสภาขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในตอนที่ ๔๓ ของบทเสภาซึ่งตอนท้ายสุดกล่าวถึงจระเข้เถรกวาด ตามตำนานเสภาว่าเป็นบทแต่งแทรกในรัชกาลที่ ๓ ผู้แต่งคือครูแจ้งได้แต่งเกี่ยวกับเรื่องเถรกวาดคิดจะแก้แค้นพลายชุมพล ที่กรุงศรีอยุธยา จึงได้แปลงร่างเป็นแร้งบินจากเชียงใหม่มาถึงอ่างทองแล้วแปลงร่างเป็นจระเข้เที่ยวจับคนตามตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ ในท้องที่ไชโย อ่างทอง และป่าโมก ดังบทเสภา ดังนี้
“โผลงตรงลงเหนือเมืองอ่างทอง
พอเยื้องคลองบางแมวเป็นแนวป่า
แร้งหายกลายรูปเป็นหลวงตา
ลงนั่งนิ่งภาวนาร้อยแปดที
เสกไม้เท้าต่อหางที่กลางตัว
แล้วเอาบาตรสวมหัวเข้าเร็วรี่
เผ่นโผนโจนผางกลางนที
ก็กลายเป็นกุมภีล์มหึมา
เขี้ยวขาวยาวออกนอกปากโง้ง
ฟาดโผงร้องเพียงเสียงฟ้าผ่า
โตใหญ่ตัวยาวสักเก้าวา
ขึ้นวิ่งร่าหลังน้ำด้วยลำพอง
ท่านผู้ฟังถ้วนหน้าอย่าสงสัย
เดิมจะได้ตั้งย่านเป็นบ้านช่อง
เพราะเถรกวาดแปลงกายร้ายคะนอง
จึงเรียกบ้านจระเข้ร้องแต่นั้นมา
เดี๋ยวนี้มีหลักแหล่งแขวงอ่างทอง
บ้านช่องปึกแผ่นยังแน่นหนา
ตั้งนามตามนิทานเพราะขรัวตา
จึงได้ปรากฏตำบลจนทุกวัน”
ในปัจจุบันบ้านจระเข้ร้องเป็นตำบลจรเข้ร้อง ขึ้นกับอำเภอไชโยและเป็นตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอไชโยด้วย
อีกตอนหนึ่งของเสภามีว่า
“พ้นบ้านตลาดกรวดรวดเร็วมา
ควายช้างขวางหน้าเข้าไม่ได้
ฟาดฟันกัดตายก่ายกันไป
เลยไล่ล่องน้ำร่ำลงมา
ครู่หนึ่งถึงหน้าเมืองอ่างทอง
โบกหางครางร้องคะนองร่า
พอชาวบ้านลงตะพานมาล้างปลา
เข้าคาบคร่าลงน้ำแล้วดำทวน”
บ้านตลาดกรวดนั้นปัจจุบันเป็นตำบลตลาดกรวดขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองอ่างทองอีกตอนหนึ่งของเสภากล่าวว่า
“ถึงบ้านแหแร่ร้องก้องกระหึม
รางควานพึมพูดกันสนั่นอื้อ
ครั้นมาถึงหัวย่านบ้านสะตือ
ก็มุดน้ำดำทื่ออยู่ใต้น้ำ”
ในปัจจุบันนี้ บ้านแหเป็นตำบลบ้านแห อยู่ในท้องที่อำเภอเมืองอ่างทอง และบ้านสะตือเป็นหมู่บ้านในอำเภอเมืองอ่างทอง เสภาตอนต่อมาก็กล่าวถึงท้องที่ของอ่างทองอีก เช่น
“ เที่ยวท่องล่องโร่มาโพธิสระ
ปะหลวงตาบิณฑบาตฟาดดังผึง
ขบกัดสะบัดเถรขึ้นเลนตึง
บนตลิ่งวิ่งอึงทั้งหญิงชาย
เรือแพใหญ่น้อยถอยเข้าคลอง
ไม่อาจล่องลอยน้ำระส่ำระสาย
พ่วงกันพันพัวด้วยกลัวตาย
จระเข้ร้ายถึงย่านบ้านระกำ”
ปัจจุบันบ้านโพธิสระคือตำบลโพสะ อยู่ในเขตอำเภอเมืองอ่างทอง ส่วนบ้านระกำเป็นหมู่บ้านอยู่ในอำเภอป่าโมก
อีกตอนหนึ่งของเสภากล่าวว่า
“มาถึงบางเทวาท้ายป่าโมก
จระเข้โบกหางหันเข้าแฝงฝั่ง
ที่นั่นน้ำลึกนักตระพักพัง
เข้าเฟือยฟังแยบคายอยู่ท้ายวัด”
วัดที่กล่าวถึงเข้าใจว่าจะเป็นวัดป่าโมก ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา หน้าวัดน้ำลึกและตลิ่งพังอยู่เสมอ เพราะน้ำไหลพุ่งเข้าหาตลิ่งอยู่ตลอดเวลา
สันนิษฐานว่าผู้แต่งเสภาขุนช้างขุนแผนตอนนี้คงจะคุ้นเคยกับสภาพเมืองอ่างทอง อาจจะเป็นคนแถบนี้หรือเคยเดินทางผ่านบ่อย ๆ ก็เป็นได้
ได้กล่าวแล้วว่า เนื่องจากอ่างทองเป็นเมืองที่อยู่ใกล้พระนครหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีเรื่องราวที่เกี่ยวพันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการศึกษาสงครามป้องกันพระนคร พระเจ้าแผ่นดินของไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จอ่างทองเพื่อทรงประกอบพระราชภารกิจต่าง ๆ แม้ว่าปัจจุบันจะได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครแล้วก็ตาม จังหวัดอ่างทองก็ยังถือว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ไกลจากเมืองหลวงนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ในราชวงศ์จักรีก็ได้เคยเสด็จอ่างทองเช่นกัน โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ได้เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตจังหวัดอ่างทอง และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชภารกิจ ทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ในวาระต่าง ๆ บ่อยครั้ง อาทิ เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ที่วัดศีลขันธาราม อำเภอโพธิ์ทอง วัดเขียน อำเภอวิเศษชัยชาญ วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง เสด็จนมัสการหลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย เสด็จเยี่ยมสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว อำเภอป่าโมก ฯลฯ เป็นเหตุให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชา-ชนในจังหวัดอ่างทองปลาบปลื้มใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ระบบการปกครองส่วนภูมิภาคของเมืองไทยก่อนหน้าที่จะวิวัฒนาการในรูปของจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคมาหลายยุคหลายสมัยหลายขั้นตอนด้วยกัน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองทั้งหลายออกเป็นเมืองราชธานี เมืองลูกหลวง (หรือเมืองหน้าด่านรอบราชธานีทั้ง ๔ ด้าน) เมืองพระยามหานคร (หัวเมืองชั้นนอก) และเมืองประเทศราช โดยเมืองแต่ละประเภทจะมีลักษณะความสัมพันธ์และระดับความใกล้ชิดกับเมืองแม่หรือราชธานีมากน้อยลดหลั่นกันไปตามระยะทางจากเมืองหลวง ตลอดจนความคล้ายคลึงทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างในกรณีของเมืองประเทศราชเป็นต้น ครั้นถึงต้นสมัยกรุงศรี อยุธยาเป็นราชธานีในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ก็ยังมิได้ทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เท่าใดนัก การปกครองอาณาเขตก็ใช้ทำนองเดียวกันกับครั้งสมัยกรุงสุโขทัย โดยแบ่งเป็นราชธานีมีเมืองหน้าด่านชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่า เมืองป้อมปราการ นอกจากนั้นก็เป็นหัวเมืองชั้นใน เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราช เช่นเดียวกับสมัยกรุงสุโขทัย การจัดระเบียบการ ปกครองหัวเมืองของกรุงศรีอยุธยาเป็นดังที่กล่าวมานี้จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงหลายประการด้วยกัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองที่สำคัญในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ คือ การแยกการทหาร และการพลเรือนออกจากกัน ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “ทรงตั้งตำแหน่งเสนาบดีเอาทหารเป็นกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก” งานจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ซึ่งถือว่าเป็นงานฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบเหนือจตุสดมภ์อีกชั้นหนึ่ง เทียบได้กับอัครมหาเสนาบดี ส่วนการงานที่เกี่ยวกับการทหารหรือการป้องกันประเทศ เช่น กรมม้า กรมช้าง และกรมทหารราบก็มีสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ การจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองในสมัยนี้ มีลักษณะของการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือ ราชธานีเพิ่มมากขึ้น โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงวางหลักการปกครองหัวเมืองให้เป็นแบบเดียวกันกับราชธานี คือ ทรงให้ใช้วิธีการปกครองฝ่ายพลเรือนที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ตามหัวเมืองด้วย ส่วนฝ่ายทหารนั้น มีอำนาจครอบคลุมกิจการทหารทั่วราชอาณาจักรอยู่แล้ว ในด้านการปรับปรุงหัวเมืองที่อยู่รายรอบ อันได้แก่ บรรดาหัวเมืองชั้นในแต่เดิม นอกจากนั้นไปก็เป็นเมืองพระยามหานคร ซึ่งกำหนดเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี โดยลำดับกันตามความสำคัญของเมือง ผู้ ปกครองเมืองจะได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามแต่จะทรงเห็นสมควร ส่วนเมืองประเทศราชนั้นยังคงให้เจ้านายชนชาตินั้นปกครองตามจารีตประเพณี กรุงศรีอยุธยามิได้ควบคุมการบริหารโดยตรง เป็นแต่ว่าต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ และถ้าผู้ใดจะเป็นเจ้าเมืองจะต้องทูลขอให้พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงแต่งตั้ง
การจัดระเบียบการปกครองราชธานีและหัวเมืองในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้ทรงแบ่งหัวเมืองออกเป็น ๒ ภาค คือ หัวเมืองทางภาคเหนือ มอบให้สมุหนายกว่าการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ส่วนหัวเมืองทางภาคใต้มอบให้สมุหกลา-โหมดูแลทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนเช่นกัน เว้นแต่หัวเมืองที่อยู่ตามปากอ่าวมอบให้อยู่ในหน้าที่ของกรมคลัง เพราะเกี่ยวกับการค้าขายต่างประเทศ
วิธีจัดการปกครองส่วนภูมิภาคปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ใช้กันต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. ๒๓๒๕ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในส่วนที่สำคัญแต่อย่างใด เว้นแต่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงแบ่งหัวเมืองเสียให้เป็น ๓ ประเภท คือ หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นกลาง และหัวเมืองชั้นนอก ตามระยะทางใกล้ไกลจากกรุงเทพฯ หัวเมืองแต่ละประเภทในแต่ละภาคยังคงอยู่ในความควบคุมดูแลของสมุหนายก สมุหกลาโหม และเสนาบดีคลังเช่นเดิม
การปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระลจอมเกล้าฯ
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ ประเทศไทยมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวต่างประเทศทางตะวันตกกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย และอิทธิพลในการแสวงหาเมืองขึ้นของชาติตะวันตกก็กำลังแพร่มาถึงชาวเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้ขยายอำนาจคุกคามเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยอย่างรุนแรง เหตุการณ์ในระยะนั้นเป็นพลังผลักดันให้เกิดความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงการปกครองประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงานหัวเมืองและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติให้เพียงพอที่จะต้านทานการคุกคามของมหาอำนาจชาติตะวันตกได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงทรงเริ่มปรับปรุงระบบการปกครองประเทศให้ทันสมัย พระองค์ทรงดำริว่า “ จะนิ่งอยู่โดดเดี่ยวเช่นที่เป็นมาแล้วแต่โบราณหาได้ไม่เพราะเป็นสมัยของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้ายุคใหม่ จะต้องเผชิญกับชาวต่างประเทศที่เขาเจริญแล้วที่อาณานิคมอยู่ใกล้ชิดติดกับประเทศไทย และเขากำลังแสดงและจัดการปกครองอาณานิคมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ฉะนั้นประเทศไทยจะต้องเร่งรีบลงมือจัดการทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับกาลสมัย จึงจะรักษาเอกราชไว้ได้” โดยเหตุนี้ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการยกเลิกระเบียบการปกครองแต่เดิม และประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ขึ้น ๑๒ กระทรวง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยจัดสรรอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน อาทิเช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น บรรดาหัวเมืองที่แบ่งเป็นฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ก็ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราพระราชสีห์ของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗)
เมื่องานปกครองหัวเมืองที่เคยแยกไปอยู่ในอำนาจของกระทรวงกลาโหมก็ดี กระทรวงการต่างประเทศหรือกรมท่าก็ดี ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว กระทรวงมหาดไทยจึงมีฐานะเป็นศูนย์กลางบัญชีการงานปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยไปโดยปริยาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยครั้งแรกที่เสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองได้ทรงพบข้อขัดข้องหลายประการในการปกครองหัวเมือง ประการแรก คือ มีหัวเมืองมากเกินไป แม้แต่หัวเมืองชั้นในก็หลายสิบเมือง ทางคมนาคมกับกรุงเทพฯ จะไปถึงก็ล่าช้า เช่นจะไปเมืองพิษณุโลกต้องเดินทางไปกว่า ๑๐ วันจึงจะถึง หัวเมืองก็อยู่หลายทิศทาง จะจัดการอันใดก็พ้นวิสัยที่เสนาบดีจะออกไปจัดหรือตรวจการได้เอง ได้แต่มีห้องตราสั่งข้อบังคับและแบบแผนส่งออกไปในแผ่นกระดาษให้เจ้าเมืองจัดการ เจ้าเมืองก็มีหลายสิบคนด้วยกันจะเข้าใจคำสั่งต่างกันอย่างไร และใครจะทำการซึ่งสั่งไปนั้นอย่างไรก็ยากที่จะรู้ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงดำริจัดตั้งระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
การจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองแบบมณฑลเทศาภิบาลนี้เป็นการจัดตั้งหน่วย ราชบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยอย่างแท้จริง เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงขอนำคำจำกัดความของ “เทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย มากล่าวไว้ ณ ที่นี้
“…การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาคของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาล ซึ่งอยู่ในราชธานีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากรเพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติฯ จึงแบ่งเขตการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้นอันดับกันดังนี้คือ ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมือง คือ จังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง ทบวง กรม ในราชธานี และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญาความประพฤติดีให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน…"
การปกครองหัวเมืองในสมัยก่อนใช้ระบบเทศาภิบาลนั้น อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่น หัวเมือง หรือประเทศราช ยิ่งไกลจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระมากขึ้นเท่านั้น หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัว-เมืองใกล้ ๆ ส่วนหัวเมืองอื่นที่ไกลออกไปมักจะมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมือง และมีอำนาจอย่างกว้างขวาง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงพยายามที่จะจัดให้อำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน โดยจัดตั้งระบบเทศาภิบาลซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการไปบริหารราชการในท้องที่ต่าง ๆ แทนที่ส่วนภูมิภาคจะจัดการปกครองกันเองเช่นแต่ก่อน อันเป็นระบบกินเมือง ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางและริดรอนอำนาจเจ้าเมืองตามระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมหัว-เมืองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นตลอดจนเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเสนาบดี จึงได้รวมหัวเมืองเข้าเป็นแบบมณฑล ๆ ละ ๕ เมืองหรือ ๖ เมือง ในขนาดท้องที่ที่ผู้บังคับบัญชาการมณฑลอาจจะจัดการและตรวจตราได้เองตลอดอาณาเขตเรียกว่า “มณฑลเทศาภิบาล” มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา หัวเมืองทั้งปวงในเขตมณฑลของตน
การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนี้รัฐบาลมิได้ดำเนินการในทีเดียวทั้งประเทศ แต่ได้จัดตั้งเป็นระยะ ๆ ไป โดยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ภายหลังการปฏิรูปการบริหารส่วนกลาง ทั้งนี้ถือลำน้ำซึ่งเป็นทางคมนาคมหลักในสมัยนั้นเป็นเครื่องกำหนดเขตมณฑล มณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นในคราวแรกมี ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน และมณฑลนครราชสีมา ต่อมาเมื่อมีการโอนหัวเมือง ทั้งหมดซึ่งเคยอยู่ในกระทรวงกลาโหมมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว จึงได้รวมหัวเมืองฝ่ายใต้จัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง จากนั้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ถึง ๒๔๕๘ ก็ได้มีการจัดตั้งยุบเลิกและเปลี่ยนเขตการปกครองมณฑลเทศาภิบาลอยู่ตลอดเวลาตามความเหมาะสม
จังหวัดอ่างทองนั้นถูกรวมอยู่ในมณฑลเทศาภิบาลกรุงเก่าซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยรวมกรุงศรีอยุธยา เมืองอ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทบุรีเข้าด้วยกัน โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ ต้นราชสกุล วัฒนวงศ์) ทรงเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกของมณฑลนี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยาและยุบเลิกไปภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
การจัดรูปการปกครองของมณฑลเทศาภิบาล
ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามณฑลเทศาภิบาลมีลักษณะเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด โดยมีอาณาเขตรวมหลาย ๆ เมืองเข้าด้วยกันมากบ้างน้อยบ้างตามความเหมาะสม ในมณฑลเทศาภิบาลแต่ละมณฑลมีข้าราชการคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าหลวงเทศาภิบาล ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง เลขานุการข้าหลวงเทศาภิบาล และแพทย์ประจำมณฑล ข้าราชการบริหารมณฑลจำนวนนี้เรียกว่า “กองมณฑล” เจ้าหน้าที่ ๖ ตำแหน่งดังกล่าวนี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มีขึ้นสำหรับบริหารงานมณฑล ๆ ละ ๑ กอง เป็นข้าราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น กระทรวงคลังข้าราชการในตำแหน่งยุติธรรมและการคลังของมณฑล จึงเปลี่ยนไปสังกัดกระทรวง ทบวง กรมตามสายงานของตน
ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบปกครองมณฑลมีอำนาจสูงสุดในมณฑลเหนือ ข้าราชการพนักงานทั้งปวง มีฐานะเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงมอบความไว้วางพระราชหฤทัยโดยคัดเลือกจากขุนนางผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ออกไปปฏิบัติราชการมณฑลละ ๑ คน หน่วยปกครองมณฑลเทศาภิบาลนี้ทำหน้าที่เสมือนสื่อกลางเชื่อมโยงรัฐบาลกลางกับหน่วยราชการส่วนภูมิภาคหน่วยอื่น ๆ เข้าด้วยกัน ข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลมีอำนาจที่ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการได้เอง ยกเว้นเรื่องสำคัญซึ่งจะต้องขอความเห็นมายังกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นอันมาก มณฑลเทศาภิบาลนับว่าเป็นวิธีการ ปกครองที่ทำให้รัฐบาลสามารถดึงเอาหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ อย่างแท้จริงผู้ว่าราชการเมืองของแต่ละเมืองในมณฑลต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาลอีกชั้นหนึ่ง โดยมิได้ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ต่อมากระทรวงมหาดไทยยังได้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการมณฑลขึ้นอีก เพื่อแบ่งเบาภาระข้าหลวงเทศาภิบาลเช่น ตำแหน่งปลัดมณฑล มีอำนาจหน้าที่รองจากข้าหลวงเทศาภิบาล เสมียนตรามณฑลเป็นเจ้าพนักงานการเงินรักษาพัสดุและดูแลรักษาการปฏิบัติราชการมณฑล และมหาดเล็กรายงานมีหน้าที่ออกตรวจราชการตามเมืองและอำเภอต่าง ๆ ตลอดมณฑล เป็นต้น

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
วิวัฒนาการของการจัดระเบียบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในส่วนปลีกย่อยเป็นครั้งคราวอาทิเช่น ข้าหลวงเทศาภิบาล บางครั้งก็เรียกว่า สมุห-เทศาภิบาล มณฑลบางแห่งก็ถูกยุบเลิก บางแห่งก็ถูกจัดตั้งเป็นเขตการปกครองพิเศษ เช่น มณฑลกรุงเทพฯ มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งรวมบริเวณ ๗ หัวเมืองอิสลามปักษ์ใต้เข้าไว้ ฯลฯ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับกาลสมัยและความจำเป็นในทางปกครองหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ แทนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ และมีการรวมมณฑลหลายมณฑลเข้าเป็นภาค และมีอุปราชเป็นหัวเมืองปกครองภาค ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทำให้ภาคเป็นหน่วยการ ปกครองใหญ่เหนือมณฑลขึ้นไปอีก ตลอดจนให้เปลี่ยนชื่อที่ใช้เรียกหน่วยการปกครองระดับต่ำจากมณฑล จาก “เมือง” เป็น "จังหวัด” โดยประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ “คณะราษฎร์” ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จากผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครองหรือการบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่ โดยมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งแบ่งหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคเป็น จังหวัด และอำเภอ โดยมิได้บัญญัติให้มีมณฑล ตามนัยดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการยกเลิกมณฑลไปโดยปริยาย แต่ได้จัดแบ่ง “ภาค” ขึ้นใหม่และให้มีข้าหลวงตรวจการสำหรับทำหน้าที่ตรวจ ควบคุม แนะนำ ชี้แจง ข้อราชการแก่หน่วยราชการส่วนภูมิภาคเท่านั้น โดยมิได้มีหน้าที่บริหารราชการทั่วไปเหมือนอย่างมณฑลเทศาภิบาล ดังนั้นจังหวัดกับส่วนกลางจึงสามารถติดต่อกันได้โดยตรงมิต้องผ่านภาคแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลก็ได้ประกาศพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เสีย และจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นภาค จังหวัดและอำเภอ โดยให้มีผู้ว่าราชการภาคคนหนึ่งเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาราชการบริหารส่วนภูมิภาคภายในเขต มีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงสมุหเทศาภิบาลในสมัยก่อน ครั้นต่อมาก็ได้มีการยกเลิกภาคอีกโดยสิ้นเชิงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๙ เหลือแต่เพียงหน่วยการปกครองจังหวัด และอำเภอ ตามเดิม
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ใช้มาอีกเป็นเวลานาน จนกระทั่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๑๕๑๕ เป็นต้นไป ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ จึงเป็นกฎหมายในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคมาจนถึงทุกวันนี้
พิจารณาตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ประกอบกับพระราชบัญญัติลักษณะ ปกครองท้องที่ พ.ศ. ๑๔๕๗ แล้ว หน่วยการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของไทยจะแบ่งออกได้ ดังนี้
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ (และกิ่งอำเภอ)
๓. ตำบล
๔. หมู่บ้าน
จังหวัดเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด แต่ละจังหวัดแบ่งเขตการ ปกครองหรือการบริหารราชการออกเป็นอำเภอ อำเภอแบ่งออกเป็นกิ่งอำเภอถ้ามีความจำเป็นในการ ปกครองแต่ตามปกติอำเภอแบ่งออกเป็นตำบลเลยทีเดียว และตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดในราชการบริหารส่วนภูมิภาค
จังหวัดตั้งโดยพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ในการบริหารราชการของจังหวัดหนึ่ง ๆ นั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยคนหนึ่งเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดา ข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ ผู้ว่าราช-การจังหวัดมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัดเป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการ และมีคณะกรมการจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
อำเภอจัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ในอำเภอหนึ่งให้มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชา มีปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ส่งมาประจำ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ มิได้กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งประจำอยู่ในอำเภอเป็นกรมการอำเภอเหมือนในระดับจังหวัด ดังนั้นนายอำเภอจึงมีอิสระในการที่จะใช้ดุลพินิจตัดสินปัญหาเรื่องราวต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องรับผิดชอบในผลดีผลเสียอันเกิดจาการกระทำของตนเป็นเงาตามตัวด้วย
จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเดิมเป็นเมืองอ่างทองอยู่ในมณฑลเทศาภิบาลกรุงเก่า และต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นทางการจากเมืองอ่างทองมาเป็นจังหวัดอ่างทอง โดยประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ปัจจุบันนี้แบ่งเขตการปกครองเป็น ๗ อำเภอด้วยกัน คือ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอไชโย อำเภอสามโก้ และอำเภอแสวงหา





ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอ่างทอง. สระบุรี : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๔๒๗.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย