จังหวัดสุพรรณบุรี




     สุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 - 4,000 ปี ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบ มีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดทางวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมรวดี ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง อยุธยา จนถึงปัจจุบัน
     สุพรรณบุรีเดิมมีชื่อเรียกว่า  “ ทราวดีศรีสุพรรณภูมิ ” ซึ่งในราว พ.ศ. 700-800 อาณาจักรสุวรรณภูมิ   อันมีเมืองนครปฐมเป็นราชธานี ต้องตกเป็นเมืองออกของวินละ ( เขมร )ต่อมาราว พ.ศ. 1113  พวกไทยเมืองละโว้กู้อิสรภาพได้สำเร็จ อาณาจักรสุวรรณภูมิโบราณนี้ได้กลับมามีความเจริญรุ่งเรืองอีกวาระหนึ่ง และมีชื่อใหม่ว่า“ อาณาจักรทราวดี ” เมืองทราวดี(นครปฐม) เจริญแล้วเสื่อมลงตามความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์บ้าง จากสงครามบ้าง บางคราวถึงกับทิ้งร้างไปนานๆ มาถึงสมัยอู่ทอง พระยาพานได้พยายามบูรณะใหม่ ตั้งแต่น้ำท่าไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนสมัยโบราณ พระยาพานจึงได้แต่ซ่อมเพียงองค์พระปฐมเจดีย์แล้วสถาปนา“ เมืองพันธุมบุรี” ที่บนฝั่งแม่น้ำ(ท่าจีน) ขึ้นแทนระหว่าง พ.ศ. 1420-1425 และได้ครอบครองเมืองนี้ต่อมาจนสวรรคตในราว พ.ศ.1459 พระพรรษาได้ครองราชย์แทน แต่แล้วกลับเสด็จไปครองเมืองอู่ทองซึ่งใหญ่กว่า เมืองอู่ทอง    จึงเป็นราชธานีเรียกว่า   “  เมืองศรีอยุธยา ”   อยู่พักหนึ่งต่อจากนั้นเหตุการณ์ “ เมืองพันธุมบุรี” ได้เงียบหายไปราวสองศตวรรษ มาปรากฏเรื่องราวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้ากาแตเชื้อสายมอญ  ได้เสวยราชย์ในเมืองอู่ทอง    แล้วย้ายราชธานี     กลับมาอยู่ที่ “ เมืองพันธุมบุรี” ได้มอบให้มอญน้อย(พระญาติ) สร้างวัดสนามไชย และบูรณะวัดลานมะขวิด (วัดป่าเลไลยก์) ในบริเวณ  “ เมืองพันธุมบุรี ” เสียใหม่  เมื่อบูรณะแล้ว ข้าราชการได้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา และชวนกันออกบวชถึงสองพันคน จึงได้เรียกชื่อเมืองใหม่ว่า  “ เมืองสองพันบุรี ”
     ในสมัยอู่ทอง เมืองอู่ทองมีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อมา   หลายพระองค์เรียกว่า “ พระเจ้าอู่ทอง” ทั้งสิ้น และพระราชธิดาของพระเจ้าอู่ทองได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าราม โอรสพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ต่อมาพระเจ้ารามขึ้นครองเมืองอู่ทอง แทน(พ่อตา) คนทั่วไปก็เรียกว่า “ พระเจ้าอู่ทอง”  เมื่อขุนหลวงพระงั่ว (พี่มเหสี)  ขึ้นครอง“ เมืองสองพันบุรี ” และได้ย้ายไปครองเมืองอู่ทอง เมืองอู่ทองต้องกลายเป็นเมืองร้าง เพราะแม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินใหม่และตื้นเขิน ซ้ำร้ายยังเกิดห่า(อหิวาตกโรค) อีกด้วย  ขุนหลวงพระงั่วจึงย้ายกลับมาประทับที่ “ เมืองสองพันบุรี ” และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เสียใหม่ว่า  “ เมืองสุพรรณบุรี ”  เมื่อ พ.ศ. 1890 (เมืองสุพรรณบุรีที่สร้างขึ้นในสมัยอู่ทองนั้น ตั้งอยู่ทางขวาของแม่น้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ยังมีคู และกำแพงเมืองปรากฏอยู่จนตราบทุกวันนี้  แต่ตัวเมืองในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยงทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำสันนิษฐานว่าคงย้ายมาเมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในสมัยกรุงธนบุรีกำลังมีศึกพม่าเข้ามาประชิดติดพัน คงไม่มีเวลาว่างที่จะทรงคิดในเรื่องการสร้างบ้านเมืองใหม่ขึ้น)
     สุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอยุธยาด้านตะวันตก และยังเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ  จากการศึกไทยรบกับพม่า 33 ครั้ง ตามประวัติศาสตร์เป็นการรบติดพันใกล้กับเมืองหลวง โดยมีสุพรรณบุรีเป็นสมรภูมิถึง 6 ครั้ง ชาวสุพรรณบุรีจึงเป็นสายเลือดนักรบโดยแท้ การรบที่ดุเดือดและสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชของไทยคือสงครามยุทธหัตถี ที่สมด็จพระนเศวรมหาราช ทรงมีชัยเหนือสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ณ สมรภูมิดอนเจดีย์เป็นมหาวีรกรรม คชยุทธอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ถูกจารึกไว้ และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปีเพื่อเทิดพระเกียรติ
     ในสมัยรัชกาลที่ 5   เมื่อมีการปกครองมณฑล   เทศบาลเมืองสุพรรณบุรีก็ร่วมอยู่ในมณฑลนครชัยศรี ซึ่งประกอบด้วย   เมืองนครชัยศรี  สุพรรณบุรี   และสมุทรสาคร    ในปี พ.ศ. 2438 จนกระทั่ง ในปีพ.ศ. 2456 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเมืองมาเป็นจังหวัด เมืองสุพรรณบุรี จึงเป็น “ จังหวัดสุพรรณบุรี ” ตั้งแต่นั้นมา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย