นครสวรรค์

ประวัติศาสตร์จังหวัดนครสวรรค์

นครสวรรค์เป็นเมืองโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีปรากฏชื่อในศิลาจารึกเรียกว่า “เมืองพระบาง” เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองดั้งเดิมตั้งแต่อยู่ในที่ตอนบริเวณเชิงเขาขาด (เขาฤาษี) จรดวัดหัวเมือง (วัดนครสวรรค์) ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวปรากฏอยู่ เมืองพระบางต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น”เมืองชอนตะวัน” เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และหันหน้าเมืองไปทางแม่น้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องเข้าหน้าเมืองตลอดเวลา แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “เมืองนครสวรรค์” เพื่อเป็นศุภนิมิตอันดี
นครสวรรค์ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่เดิมว่า “ปากน้ำโพ” โดยปรากฏเรียกกันมาแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติศาสตร์ในคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกไปรับทัพข้าศึกที่ปากน้ำโพ แต่ต้านทัพข้าศึกไม่ไหว จึงล่าถอยกลับไป
ที่มาของคำว่า “ปากน้ำโพ” สันนิษฐานได้ ๒ ประการคือ อาจมาจากคำว่า “ปากน้ำโผล่” เพราะเป็นที่ปากน้ำแคว ยม และน่าน มาโผล่รวมกันเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออีกประการหนึ่งคือมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ตรงปากน้ำ ในบริเวณวัดโพธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูในปัจจุบันจึงเรียกกันว่า “ปากน้ำโพธิ์”ก็อาจเป็นได้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงนำพระพุทธรูปชื่อ “พระบาง” ไปคืนให้เมืองเวียงจันทน์ แต่ติดศึกพม่าต้องเอาพระพุทธรูป "พระบาง" มาค้างไว้ที่เมืองนี้ ต่อมาไทยรบทัพจับศึกกับพม่า และปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือที่แข็งเมือง ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงเทพฯ กองทัพไทยได้ยกเคลื่อนที่ขึ้นมาเลือกนครสวรรค์ (ที่เคยเป็นโรงทหารเก่าหลังโรงเหล้าเดี๋ยวนี้) เป็นที่ตั้งทัพหลวงแล้วดัดแปลงขุดคูประตูหอรบ จากตะวันตกตลาดสะพานดำไปบ้านสันคูไปถึงทุ่งสันคู เดี๋ยวนี้ยังปรากฏแนวคูอยู่ เมื่อข้าศึกยกลงมาจากทุ่งหนองเบน หนองสังข์ สลกบาตร และตะวันออกเฉียงใต้ของลาดยาวมาเหนือทุ่งสันคู เมื่อฤดูแล้งเป็นที่ดอนขาดน้ำ ถ้าฝนตกน้ำก็หลากเข้ามาอย่างแรงท่วมข้าศึก ไทยยกทัพตีตลบหลังพม่าวิ่งหนีผ่านช่องเขานี้จึงได้ชื่อว่า "เขาช่องขาด" มาจนบัตหนี้
เนื่องจากเมืองนครสวรรค์เป็นหัวเมืองชั้นตรี ซึ่งปรากฏอยู่ตามกฎหมายเก่า ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ราว พ.ศ. ๒๑๐๐ ว่าด้วยเรื่องดวงตราประทับหนังสือที่ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงใช้ในราชการ ดังนั้นเมืองนครสวรรค์ จึงมิได้มีบทบาทที่ถูกกล่าวถึงไว้ในประวัติศาสตร์สำคัญของไทยเท่าใดนัก
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงพระราชดำริที่จะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคง จึงทรงริเริ่มจัดรูปการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยให้รวมหัวเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑล มีผู้ปกครองมณฑลขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว
ครั้งแรกได้ทรงเริ่มจัดตั้งมณฑลขึ้น ๔ มณฑล คือ มณฑลกรุงเก่า มณฑลปราจีน มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลพิษณุโลก แต่ตั้งเป็นมณฑลสมบูรณ์มีข้าหลวงเทศาภิบาลปกครองถูกต้องเพียง ๒ มณฑล ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ คือมณฑลปราจีน และมณฑลพิษณุโลก ส่วนอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลกรุงเก่า และมณฑลนครสวรรค์มาจัดตั้งสำเร็จในปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ (พระองค์เจ้าวัฒนานุวงค์ ต้นราชสกุล วัฒนวงค์) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าและให้พระยาดัสกรปลาศ (อยู่) ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์
ในการจัดตั้งมณฑลนครสวรรค์ ได้รวมเอาหัวเมืองทางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำปิงเข้าด้วยกัน ๘ เมือง คือเมืองชัยนาท เมืองสรรคบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัยธานี เมืองพยุหะคีรี เมืองนครสวรรค์ เมืองกำแพงเพชร และเมืองตาก ตั้งที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ การจัดรูปปกครองในลักษณะมณฑลได้ดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุบมณฑลและระเบียบเทศาภิบาลของเก่าไปให้คงไว้แต่หัวเมืองและอำเภอ โดยให้ทุกเมืองมีฐานะเท่าเทียมกัน ปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อเจ้ากระทรวง และรับคำสั่งจากเจ้ากระทรวงโดยตรง
การจัดรูปการปกครองสมัยปัจจุบัน
ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยการยุบเลิกมณฑลตามระเบียบเทศาภิบาลแบบเก่าไปแล้ว ได้มีการจัดระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ ครั้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดฐานะจังหวัดเป็นนิติบุคคล และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจังหวัดแต่เพียงบุคคลเดียว โดยมีคณะกรมการจังหวัดเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
การปกครองรูปจังหวัดในปีปัจจุบัน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ซึ่งจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติในจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งคน เป็นผู้รับนโยบายของทางราชการมาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและประชาชน เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร และส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทั้ง ๒ ตำแหน่ง เป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ในการบริหารราชการแผ่นดินให้มีคณะกรมการจังหวัด เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดนครสวรรค์. นครสวรรค์ : ไพศาลการพิมพ์, ๒๕๒๙.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย