ยโสธร

ประวัติศาสตร์จังหวัดยโสธร

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ยโสธรเป็นเมืองเก่าแก่พอๆ กับเมืองอุบลราชธานี กล่าวคือหลังจากท้าวทิดพรหม ท้าวคำผง ขอพระราชทานตั้งบ้านดอนมดแดงขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานีแล้ว บริวารอีกส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามลำน้ำชี ถึงบริเวณป่าใหญ่ที่เรียกว่า "ดงผีสิงห์" หรือ "ดงโต่งโต้น" เห็นว่าเป็นที่มีทำเลดีเพราะอยู่ใกล้ลำน้ำชี ประกอบกับมีวัดร้างและมีรูปสิงห์ จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด และตั้งหมู่บ้านขึ้น เรียกชื่อว่า "บ้านสิงห์ท่า"
ในปีจุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๕๗) เจ้าพระยาวิไชยราชขัตติยวงศา ขอพระราชทานตั้งบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมือง พระราชทานนามว่า "เมืองยศสุนทร" หรือยโสธร มีเจ้าเมืองปกครองมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการจัดแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอ เมืองยศสุนทรจึงถูกลดฐานะมาเป็นอำเภอ ชื่ออำเภอยโสธร ตามชื่อที่ชาวเมืองนิยมเรียกกันมา ขึ้นตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่นั้นมา จนเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๕ จึงได้มีการแยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานีและตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
ปัจจุบัน จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองเป็น ๘ อำเภอ คือ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอ เลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอกุดชุม อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอค้อวัง และอำเภอทรายมูล มีประชากรประมาณ ๔๘๕,๐๐๐ คน พื้นที่๔,๘๕๐ ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๕๗๘ กิโลเมตร
ชาวยโสธรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เป็นผู้ยึดมั่นในจารีตประเพณี ชอบทำบุญให้ทาน ซื่อสัตย์สุจริต มีสัมมาคารวะ และมีอุปนิสัยใจคอโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สิ่งที่เชิดหน้าชูตาของชาวยโสธร คือ รักความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมีสถิติสูงสุดของประเทศ เป็นเมืองที่อนุรักษ์ประเพณี "แห่บั้งไฟ" ซึ่งมีชื่อเสียงไปถึงต่างประเทศ เป็นแหล่งผลิตหมอนขิด ปลูกแตงโมหวาน ผลิตข้าวจ้าวมะลิส่งไปขายทั่วประเทศ จนได้รับสมญาว่า "เมืองประชาธิปไตย บั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ" นอกจากนี้ยังมีคำเล่าลือเป็นคำจำกัดความที่แสดงถึงจุดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละอำเภอทั้ง ๘ อำเภอ ของจังหวัด อันไพเราะ สอดคล้องและสมจริง อีกว่า "คนงามมหา คนก้าวหน้ากุดชุม คนสุขุมค้อวัง คนดังลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) คนสนุกเมืองยศ (เมืองยโสธร) คนทรหดเลิงนกทา คนมีค่าทรายมูล และคนคูณป่าติ้ว"

สถานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้แก่
พระธาตุอานนท์ เป็นพระธาตุบรรจุอัฐิและอังคารของพระอานนท์ ซึ่งชาวยโสธรถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดยโสธร ตั้งอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ อำเภอเมืองยโสธร
พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ จากตำนานที่เล่าลือสืบกันมาว่า นายบุญมาซึ่งเป็นชาวนา ทำนาอยู่กลางทุ่งตั้งแต่เช้าจนสาย ถึงเวลาที่แม่ต้องเอาข้าวเที่ยงมาส่งก็ยังไม่มา นายบุญมาหิวจนตาลาย เมื่อแม่เอาข้าวมาส่งเห็นก่องข้าวเล็กกลัวจะกินไม่อิ่ม ด้วยความโมโหจึงได้ทำร้ายแม่จนตาย แต่เมื่อกินข้าวอิ่มปรากฏว่าข้าวยังเหลือ จึงสำนึกได้และได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อย เพื่อล้างบาป ตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร
วนอุทยานภูหมู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา ติดต่อกับเขตอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
สวนสาธารณพญาแถน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่ริมลำห้วยทวนมีทิวทัศน์ และธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองยโสธร
บ้านศรีฐาน เป็นแหล่งผลิตหมอนขิดที่มีชื่อเสียง ส่งไปจำหน่ายแทบทุกจังหวัด
บ้านนาสะไมย์ เป็นแหล่งผลิตกระติบข้าวเหนียว ทำกันทุกหลังคาเรือนส่งไปจำหน่ายในตัวเมืองจังหวัดยโสธร และจังหวัดใกล้เคียง

ขนบธรรมเนียมประเพณีงานบุญ
จากการขุดค้นพบใบเสมาหินที่บ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ของคณะสำรวจโบราณคดี กรมศิลปากร มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนชาวจังหวัดยโสธร มีวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่และดั้งเดิม ตามแบบฉบับของชาวอีสานอย่างแท้จริง ซึ่งได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจาก บรรพบุรุษนับเป็นเวลากว่าพันปีแม้ว่าในสภาพของสังคมยุคปัจจุบันขนบธรรมเนียมประเพณีอันเก่าแก่นี้ ในบางท้องที่จะเลือนหายไป แต่ชาวจังหวัดยโสธรส่วนใหญ่ยังคงยึดถือและปฏิบัติอย่างสืบเนื่องต่อกันมาหลายชั่วอายุคน การยึดมั่นในการประกอบคุณงามความดีของชาวเมืองยโสธรนี้ จะพบได้ทุกหนแห่งและฤดูกาล และกระทำกันมิได้ขาดทุกเดือน แสดงให้เห็นถึงว่าชาวจังหวัดยโสธร เป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารี มีความสามัคคี เสียสละซื่อสัตย์ ชอบสนุกสนานและทำบุญทำทาน ประเพณีงานบุญ ที่ประชาชนชาวจังหวัดยโสธร ถือปฏิบัติมาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยไม่เปลี่ยนแปลงคืองานบุญ ๑๒ เดือน ดังต่อไปนี้
บุญเดือนอ้าย ทำบุญคูณลาน ข้าวเม่า ข้าวหลาม จะทำกันหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จใหม่ เป็นการฉลองลานนวดข้าว
บุญเดือนยี่ ทำบุญฉลองกองข้าว บุญคุ้มข้าวใหญ่ ทำหลังจากนวดข้าวเสร็จกองไว้ที่ลานข้าว เพื่อฉลองกองข้าวที่อุดมสมบูรณ์
บุญเดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ บางบ้านเรียกว่า " บุญคุ้ม " แต่ละคุ้มจะกำหนดวันบุญเลี้ยงพระกลางบ้าน ตอนเย็นก็จัดเตรียมข้าวปลา อาหารไว้รับเลี้ยงพี่น้องและเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมพบปะสังสรรค์ร้องรำทำเพลง บางคุ้มก็เรี่ยไรเงินถวายวัดต่าง ๆ หรือบางคุ้มก็จัดมหรสพตอนกลางคืน เป็นที่สนุกสนานครึกครื้นยิ่ง
บุญเดือนสี่ ทำบุญมหาชาติหรือบุญพระเวส จัดทำทุกวัดตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีการเทศน์มหาชาติ โดยนิมนต์พระจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาเทศน์ตามกัณฑ์ที่นิมนต์ไว้
บุญเดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ บางที่เรียกว่า "บุญเนา" สรงน้ำพระ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ บ้างก็รวมกลุ่มสาดน้ำตามคุ้มต่างๆ บางกลุ่มก็จัดข้าวปลาสุราอาหารไปรับประทานกันตามชายทุ่ง ชายป่า หรือบริเวณหาดทรายริมแม่น้ำ ร้องรำทำเพลง ลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน
บุญเดือนหก ทำบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญประเพณีอันเก่าแก่ของชาวอีสาน มีมาแต่โบราณกาล เป็นพิธีสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีบนดาวดึงส์พิภพ และถือว่าเป็นพิธีขอฝนจากพญาแถนให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวนาจะได้ลงมือทำนาทำไร่ พอถึงเดือนนี้ของทุกปี ในท้องถิ่นจะจัดงานบุญบั้งไฟต่อเนื่องกันมา ถือเป็นประเพณีอันสำคัญของหมู่บ้าน โดยเฉพาะการจัดงานที่จังหวัดถือว่าเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟระดับชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวจากทุกภาคของประเทศตลอดจนชาวต่างประเทศมาร่วมชมงานนี้เป็นจำนวนมาก
บุญเดือนเจ็ด ทำบุญบวชนาค ชาวจังหวัดยโสธรนิยมให้บุตรหลานของตนอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย อันเป็นหลักปฏิบัติตนให้เป็นคนดี และเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ ในปีหนึ่งๆ จะมีการบวชนาคตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก
บุญเดือนแปด ทำบุญปุริมพรรษาชาวบ้านในทุกคุ้ม และทุกหมู่บ้านจะจัดทำเทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝน น้ำมัน ยารักษาโรค และจตุปัจจัยอื่นๆ เพื่อนำไปถวายพระตามวัดต่างๆ ในหมู่บ้าน
บุญเดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม ๑๕ ค่ำ เพื่อบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่ ล่วงลับไปแล้วในวันนี้ ทุกบ้านเรือนจะจัดทำข้าวต้มมัด ขนม เพื่อใส่บาตรพระในตอนเช้า
บุญเดือนสิบ ทำบุญข้าวกระยาสาตร เป็นการประกอบบุญกุศลเป็นทานมัยบุญกิริยาวัตถุ คือบุญที่สำเร็จขึ้นด้วยการทานอย่างหนึ่ง ทุกบ้านเรือนจะจัดทำข้าวต้มมัด ขนม ใส่บาตรพระ จัดอาหารทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
บุญเดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษาในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะจัดหาอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญร่วมกัน ตกกลางคืนทำดอกไม้ธูปเทียนหากวัดหมู่บ้านใดที่อยู่ริมน้ำก็มีการลอยกระทงหรือปล่อยเรือไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา
บุญเดือนสิบสอง ทำบุญมหากฐิน และบุญแข่งเรือ ทุกวัดในหมู่บ้านต่างๆ ที่มีพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ ชาวบ้านจะทำกฐินทอดถวายทุกปีมิได้ขาด และเนื่องจากยโสธรตั้งอยู่ริมแม่น้ำชีมีประเพณีที่จัดทำเป็นประจำทุกปี เมื่อคราวออกพรรษาแล้วด้วยการแข่งเรือยาวของแต่ละคุ้มและ เชิญเรือยาวจังหวัดข้างเคียง มาร่วมแข่งขัน

ทำเนียบผู้บริหาร (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ปัจจุบัน)
๑. นายชัยทัต สุนทรพิพิธ พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙
๒. นายพีระศักดิ์ สุขะพงษ์ พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๒
๓. นายกาจ รักษ์มณี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๒
๔. นายอรุณ ปุสเทพ พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๓
๕. นายนพรัตน์ เวชชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖
๖. นายจรวย ยิ่งสวัสดิ์ พ.ศ. ๒๕๒๖-ปัจจุบัน
รองผู้ว่าราชการจังหวัด
๑. ร.ต. วัฒนา สูตรสุวรรณ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๖
๒. ร.ท. บันเทิง ศรีจันทราพันธุ์ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๘
๓. นายโสภณ ชวาสกุล พ.ศ. ๒๕๒๘-ปัจจุบัน
ปลัดจังหวัด
๑. นายณัฐพล ไชยรัตน์ พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๖
๒. นายไพบูลย์ วัฒนาพานิช พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๘
๓. นายนพรัตน์ เวชชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙
๔. นายมนูญ บุญยะประภัศร พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๑
๕. นายเสถียร หุนตระกูล พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๓
๖. ร.อ. สถาพร เอมะสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕
๗. นายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๖
๘. นายอุดม รอดชมภู พ.ศ. ๒๕๒๗-ปัจจุบัน


ที่มา : บรรยายสรุปข้อราชการจังหวัดยโสธร. ยโสธร : สำนักงานจังหวัดยโสธร, ๒๕๒๙.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย