วัดทางสาย


       วัดทางสาย นั้นตั้งอยู่ริมทะเลบ้านกรูด ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เป็นแหล่งเรียนรู้ในด้าน สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ศาสนา และแหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยามี ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ ในวัดนี้ ประกอบด้วย  พระพุทธกิติสิริชัย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางสมาธิแบบศิลปะคันธาระ หันพระพักตร์ออกทะเล พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ หรือ พระมหาเจดีย์เก้ายอด  พระปรางค์ จัตุรมุขสูงสามชั้น สามารถมองเห็นได้แต่ไกล พระตำหนักกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาปักธงชัย ซึ่งเป็น จุดชมวิวที่สวยงามสามารถมองเห็นชายหาดบ้านกรูด เวิ้งอ่าวและทิวมะพร้าวสุดสายตา เหมาะสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก  


1. พระพุทธกิติสิริชัย
ชาวบ้านมักเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่เป็น พระพุทธรูปปางสมาธิแบบศิลปะคันธาระหันพระพักตร์ออกทะเล ชาวบางสะพานสร้างขึ้น เพื่อ น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5  รอบ พระพุทธกิติสิริชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่หน้าตักกว้าง 5 วา อันเปรียบได้กับขันธุ์ทั้ง 5 มีความสูงพร้อมฐาน 9 วา อันเปรียบได้กับนวโลกฤตตรธรรม 9 (มรรค 4 ผล 4 นิพาน 1) ฐานกว้างโดยรอบ 16 วา อันเปรียบได้กับ โสฬสญาณ คือญาณ 16  มีศาลาพัก 3 หลัง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทางเดินขึ้น 2 ข้างเปรียบได้กับ สมถะและวิปัสสนา อันเป็นวิถีทางเดิน รูปทรงแบบ คันทาราช (ปางตรัสรู้) ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิดอกบัว ฐานผ้าทิพย์มีพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. พระพุทธกิติสิริชัยได้ทำพิธีสมโภช และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็น องค์ประธาน ในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงวางศิลาฤกษ์พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ


2. พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ มีความสวยงามวิจิตรตระการตาตามแบบไทยแท้ อันหาดูได้ยากยิ่งคณะสงฆ์และ พสกนิกรผู้จงรัก ภักดีใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศความภักดีดยร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าถวาย เป็นพระราชกุศล เนื่องใน วโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์เป็นปีที่ห้าสิบ ออกแบบโดยม.ร.ว มิตรารุณ เกษมศรี นายช่างถานปนิกประจำสำนักพระราชวัง โดยฝีมือการออกแบบและก่อสร้างอย่างวิจิตรบรรจง ทรงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมไทยอันยอดเยี่ยม.ปูชนียสถานแห่งนี้เป็นความ ภาคภูมิใจของชาวบ้านกรูดและประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ ที่ทุกคนควรหาโอกาสมาเยี่ยมชม เพื่อประจักษ์ถึงความงดงามของ ศิลปไทยและประกาศความจงรักภักดี ต่อองค์พระประมุขของชาติ มีทั้งหมด 5 ชั้นดังนี้

ชั้นที่ 1 ชั้นใต้พื้นดินเป็นที่เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่
พื้นที่ในส่วนนี้ เป็นถังเก็บน้ำ และมีห้องเก็บของ โดยอยกออกเป็น 2 ปีก ทางด้านมุขทิศตะวันออกและมุขทิศตะวันตก

ชั้นที่ 2 เป็นโถงอเนกประสงค์และสำนักงานมูลนิธิ เพื่อพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
พื้นที่ในชั้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่คือ พื้นที่ภายในอาคาร และพื้นที่ลานประทักษิณด้านนอก ซึ่งบนลานประทักษิณนั้น มีบันได เชื่อมสู่ชั้นที่ 2 และเป็นที่ตั้งของ หอกลอง หอระฆัง และศาลารายอีก 4 หลัง และที่บริเวณมุมของฐานชั้นนี้เป็น ที่ตั้งของใบเสมา รวมทั้งหมด 8 ใบ ส่วนพื้นที่ภายในอาคารนั้นเป็นโถงโล่งขนาดใหญ่สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ ส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นถูกกัน ไว้สำหรับเป็นห้องเครื่องปั๊มน้ำ และห้องเก็บของ

ชั้นที่ 3 เป็นวิหาร บริเวณใจกลางเป็นแท่นประดิษฐาน พระพุทธรูปปางอิริยาบถสี่ จำนวน 4 องค์
ทางเข้าภายในวิหารเป็นซุ้มทำด้วยไม้สักทองแกะสลัก แท่นและซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ทำด้วยหินอ่อน ผนังโดยรอบ เขียนจิตรกรรมภาพ 5 ธันวามหาราช 1 ภาพ พระราชพิธีสิบสองเดือน 12 ภาพและประเพณีท้องถิ่นภาคต่างๆ ของประเทศไทยอีก 50 ภาพ

ชั้นที่ 4 เป็นอุโบสถ
ซึ่งประดิษฐานพระประธาน มีชื่อว่า"พระพุทธลีลากาญจนวบพิตร" พระประธานในอุโบสถจัดสร้างโดยยึด ถือรูปแบบพุทธลักษณะ ปางลีลาโดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยกรุงสุโขทัยซึ่งมีอายุกว่า 800 ปี ที่มีความงดงาม อ่อนล้อยถึงพร้อม ด้วยคุณค่า แห่งพุทธศิลปะโดยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่งามที่สุดในโลก

ด้านหลังพระประธานเขียนจิตรกรรม ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาววดึงส์อยู่ภายในกรอบ 12 นักษัตรด้านหน้า พระประธานตอนบน เขียนพระพุทธเจ้าเสด็จประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะโปรดพระพุทธมารดา มีต้นปาริชาติ และพระจุฬามณี ส่วนตอนล่าง ตามช่องหน้าต่างเขียนพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนกบนกระจกสีโปร่งแสงสเตน กล๊าส ส่วนบนเป็นพระปรมาภิไธย ย่อ "ภปร" และ ตราพระราชสัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 จำนวน 20 ภาพ บานประตูเขียนสีปิดทองเป็นรูปทวารบาล เทวดายืน แท่นมียักษ์แบก

ชั้นที่ 5 บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้สัก แกะสลักปิดทองตั้งอยู่บนฐานทรงสูง ทำด้วยหินอ่อนมีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน ใจกลางประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ปางประจำพระชนมวาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยะเดชมหาราช

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์

สะพานพระราม 8

อำเภอเวียงชัย